เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 1471 เจ้าต่างกรม vs สมเด็จเจ้าพระยา
Dev Korn
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 06 มี.ค. 22, 12:44

ตอนนี้กำลังสนใจศึกษาเรื่อง กรมขุนสุนทรภูเบศร์ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าต่างกรมพิเศษ ไม่สืบทอดเชื้อเจ้าทางสายเลือด

พอไปประวัติเก่า ๆ เอ้...ทุกคนส่วนใหญ่ที่เป็นพระสหาย หรือได้รับความไว้วางใจส่วนใหญ่ มักจะได้รับตำแหน่งสูงของขุนนางเท่านั้น อาทิเช่น
เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์,เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ที่ได้รับศักดิ์เสมอเจ้าต่างกรม(ผมตีความว่าน่าจะเป็นตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราช)

ที่นี่ผมจึงเกิดคำถามว่า เอ้...แบบนี้ใครมีอำนาจมากกว่า ใครสูงศักดิ์กว่ากัน

๑.  คือเจ้าพระยา ที่ได้ศักดิ์เสมอเจ้าต่างกรม ใครสูงกว่ากันครับ
เพราะเจ้าพระยาอย่างมากก็ศักดินาสูงสุดที่ ๑๐,๐๐๐ คุมมหาดไทยหรือกลาโหม กับ เจ้าต่างกรมที่ในตำแหน่งนาพลเรือนระบุไว้ว่า พระอนุชา นา๒๐,๐๐๐ พระเจ้าลูกเธอ นา ๑๕,๐๐๐ ถ้าทรงกรม นา ๕๐,๐๐๐

๒. สมเด็จเจ้าพระยา ศักดินา ๓๐,๐๐๐ กับ เจ้าต่างกรม ใครสูงกว่ากันครับ

ในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง ใครต้องฟังใครครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 06 มี.ค. 22, 15:15

ขอเล่าถึงประวัติของกรมขุนสุนทรภูเบศร์ให้ท่านผู้อ่านเรือนไทยทราบก่อนค่ะ   ท่านเป็นเจ้านายทรงกรมสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ไม่มีสายเลือดของราชวงศ์จักรี
เดิมท่านเป็นสามัญขนเชื้อสายจีน มีนามว่า "เรือง" บางแห่งเรียกว่า "จีนเรือง"  เป็นเศรษฐีชาวเมืองบางปลาสร้อย (ชลบุรี) ท่านเป็นพระสหายสนิทร่วมสาบานของกรมพระราชวังบวรสุรสีหนาท ในรัชกาลที่ 1   น่าจะคบหากันตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย    และเคยถวายการอุปการะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อครั้งยกทัพไปตีเมืองจันทบุรี
 เมื่อสถาปนากรุงเทพพระมหานคร  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าราชินิกุลด้วยความชอบด้านสงครามว่า มีนามว่า "เจ้าบำเรอภูธร" (บ้างว่า หม่อมเจ้าบำเรอภูธร)
ต่อมาเลื่อนขึ้นทรงกรมเป็นกรมหมื่นสุนทรภูเบศร์"  และท้ายที่สุด เลื่อนขึ้นเป็น "กรมขุนสุนทรภูเบศร์" ตามลำดับ
กรมขุนสุนทรฯ ได้รับพระราชทานวังให้อยู่ปากคลองวัดชนะสงคราม (หรือปากคลองโรงไหม) ตรงข้ามวังหน้า

กรมขุนสุนทรภูเบศร์ สิ้นพระชนม์เมื่อใดไม่ปรากฏ   ทราบแต่เพียงว่าน่าจะสิ้นพระชนม์หลังปี พ.ศ. 2348 เพราะมีหลักฐานว่าในปีนั้นพระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่
หลังการสิ้นพระชนม์ วังปากคลองโรงไหมได้ตกเป็นของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

เชื้อสายของกรมขุนสุนทรภูเบศร์ยังสืบทอดมาจนถึงรัชกาลที่  6   เห็นได้จากได้รับนามสกุลพระราชทานว่า "สุนทรกุล ณ ชลบุรี" เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 4603  ผู้ขอพระราชทานคือหม่อมหลวงจาบ สุนทรกุล ตามราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 35 หน้า 1719 พระราชทานเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2461 สำหรับบรรดาผู้สืบสกุลโดยตรงลงมาจากกรมขุนสุนทรภูเบศร์
ลูกหลานสกุลนี้รับราชการต่อมา มีหลักฐานว่าในปี พ.ศ. 2485 หลวงสุนทรมนูกิจ (ทิพย์ สุนทรกุล ณ ชลบุรี) ได้ขอพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลใหม่ว่า "สุนทรมนูกิจ"  ลูกหลานในสกุลนี้ปัจจุบันก็ยังมีอยู่อีกหลายท่าน

กรมขุนสุนทรฯ น่าจะได้ไปราชการสงครามอยู่หลายครั้งในรัชกาลที่ 1  จึงมีความดีความชอบได้เลื่อนขึ้นทรงกรม และเลื่อนจากกรมหมื่นเป็นกรมขุน    ส่วนลูกหลานบางท่านก็ยังดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า    แต่ไม่เจอหลักฐานว่าท่านเหล่านี้มีตำแหน่งใดบ้างในรัชกาลต่อๆมา 
(ข้อนี้คุณเพ็ญชมพูอาจจะหาเจอ  โปรดรออ่าน)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 06 มี.ค. 22, 15:25


ที่นี่ผมจึงเกิดคำถามว่า เอ้...แบบนี้ใครมีอำนาจมากกว่า ใครสูงศักดิ์กว่ากัน

๑.  คือเจ้าพระยา ที่ได้ศักดิ์เสมอเจ้าต่างกรม ใครสูงกว่ากันครับ
เพราะเจ้าพระยาอย่างมากก็ศักดินาสูงสุดที่ ๑๐,๐๐๐ คุมมหาดไทยหรือกลาโหม กับ เจ้าต่างกรมที่ในตำแหน่งนาพลเรือนระบุไว้ว่า พระอนุชา นา๒๐,๐๐๐ พระเจ้าลูกเธอ นา ๑๕,๐๐๐ ถ้าทรงกรม นา ๕๐,๐๐๐

๒. สมเด็จเจ้าพระยา ศักดินา ๓๐,๐๐๐ กับ เจ้าต่างกรม ใครสูงกว่ากันครับ

ในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง ใครต้องฟังใครครับ

ทางทฤษฎี ศักดินาเป็นเครื่องวัดความสำคัญในตำแหน่ง หรือสถานภาพในสังคมของบุคคล   ขุนนางถ้าศักดินาเท่ากัน ก็ถือว่าสูงเท่ากัน  นี่คือทฤษฎี
ถ้าเจ้านายกับสามัญชน   ถึงศักดินาเท่ากัน  ขุนนางสามัญชนก็ต้องทำความเคารพเจ้านาย

แต่ในทางปฏิบัติ  อำนาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับศักดินาเสมอไป   ขึ้นกับตำแหน่งหน้าที่การงาน ตลอดจนคอนเนคชั่นด้วย  จะเห็นได้จากสมัยต้นรัชกาลที่ 5   สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีอำนาจสูงสุด  แม้แต่บรรดาพระราชโอรสของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ต้องทรงเกรงกลัว   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 06 มี.ค. 22, 15:26

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านหญิงเคยทูลถาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ซึ่งมีเกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับบารมีของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อันเป็นเรื่องที่น่าสนใจจึงขอคัดลอกมาให้อ่านกันดังนี้

"เสด็จลุงกรมราชศักดิ์ ท่านเคยเสด็จมาเยี่ยมเสด็จป้าที่วังเราเสมอ ๆ ข้าพเจ้าชอบไปคุยกับท่านเพราะท่านเป็นคนตรง ๆ และคุยสนุก
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าทูลถามท่านว่า
 "เสด็จลุงทรงจำทูลกระหม่อมปู่ได้ไหมเพคะ?"
ท่านก็เลยทรงเล่าประทานว่า
"ได้ซีวะ ข้าอายุ ๑๑ ปีแล้ว กำลังเป็นเณร เขามาเรียกไปเก็บไว้ในพระที่นั่งกันเป็นแถว พูดถึงสวรรคตเข้าจริงข้าก็ร้องไห้ออกมาทั้งเป็นเณร"
ข้าพเจ้าทูลถามต่อไปว่า
"แล้วอย่างไรต่อไป"
ท่านตรัสว่า
"แล้วยังไง พอสึกจากเณรแล้วข้าก็อยู่กับแม่ ถึงเวลาก็ขึ้นเฝ้าในหลวงทางข้างหน้า แหม เอง เรากลัวเขาจริง พอคลานผ่านที่เขาเอกเขนกอยู่ละก็ เราหมอบกราบกันราบเทียว"
ทูลถามว่า
"เขาน่ะใคร"
ท่านตอบว่า
"ใครล่ะ สมเด็จเจ้าพระยาน่ะซี วันหนึ่งเขาเขยิบตีนไปถูกเอาหัวสมเด็จพระมหาสมณะที่กำลังกราบอยู่เข้า เขาหันมาบอกว่า "ขอโทษทีนะ เจ้า"
ข้าพเจ้าอดไม่ได้ก็แซกขึ้นไปว่า
"ทำไมจะต้องกราบล่ะ เพียงนั่งคุมเท่านั้นไม่พอเทียวรึ"
ท่านทรงพระสรวลแล้วตอบว่า
"มึงอย่าอวดดีไปหน่อยเลย ถ้าเองเกิดทัน เองก็กลัวเขาเหมือนกัน"
ข้าพเจ้าเล่าถวายเสด็จพ่อว่า เสด็จลุงท่านว่าอย่างนี้ เสด็จพ่อเลยตรัสว่า
"จริงของท่านนะ พ่อเคยเห็นคนมามากแล้ว ไม่เห็นใครมีสง่าเหมือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ คนนี้ ถ้าเดินมาในที่ประชุม คนทั้งร้อยก็กลัวทั้งร้อย ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร"
ท่านหญิงพูนยังทรงบันทึกไว้อีกว่า
" เสด็จพ่อทันได้รู้จักสมเด็จเจ้าพระยาฯ คนนี้ และเมื่อเจ็บมากจะถึงอสัญกรรม ท่านก็ได้เสด็จไปเยี่ยม
สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้เรียกเข้าไปหาข้างที่นอน แล้วสั่งสอนว่าให้อุตส่าห์ทำราชการเถิดคงจะได้ดี"
        เรื่องเท้าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต้องพระเศียรสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ พระราชโอรส ใน รัชกาลที่ ๔) นั้น ว่ากันว่าเป็นเรื่องที่ทรงขุ่นเคืองพระทัยมาก ถึงกับทรงปรารภว่าถ้าหากจะได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศแล้ว ขอให้มีศักดินามากกว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ ์(ช่วง บุนาค)
      บรรดาพระองค์เจ้าพระราชโอรส พระราชธิดา ในพระเจ้าแผ่นดินนั้น เป็นพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวง ถือว่าเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก จะออกพระนามลำลองกันว่า "เสด็จ" หากทรงกรมจะออกพระนามว่า "เสด็จในกรม" เจ้านายพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวงที่ทรงกรมหมื่น ขุน หลวง พระ จะทรงศักดินาเพียง ๑๕๐๐๐ เท่ากันทุกชั้นกรม ซึ่งทรงศักดินาต่ำกว่าสมเด็จเจ้าพระยา  เพราะสมเด็จเจ้าพระยาดำรงศักดินาถึง ๓๐๐๐๐ จะมีเพียงพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวงที่ทรง "กรมพระยา" เท่านั้นที่จะทรงศักดินา ๓๕๐๐๐ และออกพระนามลำลองว่า "สมเด็จ ในกรม" แต่ในท้ายที่สุดพระปรารภที่พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพมีไว้ก็เป็นจริง เพราะพระองค์ทรงได้รับการสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวิชิรญาณวโรรส ทรงศักดินา ๓๕๐๐๐ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง