เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 4451 Downton Abbey ศักดินาชนชั้นของอังกฤษ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 16 ก.พ. 22, 15:27

ศักดินาฝรั่งที่คุณเพ็ญชมพูไปหามา  ไม่เกี่ยวกับ DA เท่าไรนะคะ  เป็นคำอธิบายบรรดาศักดิ์ชนชั้นของยุคกลางเสียมากกว่า
แต่ดูคลิปไว้ก็ดี เป็นความรู้   


พูดถึงคำว่า Lord อีกที  ก็คล้ายๆกับไทยเราเรียกเจ้าพระยาและพระยาอย่างไม่เป็นทางการ  ว่า "เจ้าคุณ" 
เจ้าพระยารามราฆพ = เจ้าคุณราม(ราฆพ)
พระยาทรงสุรเดช    = เจ้าคุณทรง(สุรเดช)
แต่ของไทยเราหยุดแค่นั้น  ไม่เรียกรวมไปถึงพระ หลวง และขุน   ส่วนของอังกฤษ เรียกรวมไปถึง Baron

ส่วนบรรดาศักดิ์อีกอย่างที่แพร่หลาย เป็นของคนดังๆในอังกฤษ  คือ Sir  ภรรยาของ Sir  เป็น Lady  แต่เป็น Lady คนละพวกกับภรรยาขุนนางพวกข้างบนโน้น

Sir เป็นตำแหน่งที่ไม่สืบตระกูล   เป็นคำนำหน้าชื่อของผู้ชายที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับสูง  เช่น  Knight Commander of the Most Excellent Order of the British Empire (KBE)  เพราะทำความดีความชอบให้แก่สังคม     อย่างเช่นเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลส์  อดีตนายกฯของอังกฤษ
ส้วนผู้หญิงที่ได้รับเครื่องราชฯชั้น Dame Commander of the Most Excellent Order of the British Empire (DBE)ก็จะมีคำนำหน้าว่า Dame   อย่างอดีตนายกฯหญิงของอังกฤษ เดม มาร์กาเร็ต แธตเชอร์

 


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 16 ก.พ. 22, 18:24

    และมีท่านเซอร์ - CBE Commander of the Order of British Empire แบบนี้แต่งตั้งให้กับ ศิลปิน,นักวิทยาศาสตร์,ผู้ทำงานการกุศลสาธารณะ
    กูเกิ้ลบอกว่า Earl และ Count นั้น equivalent or synonym กัน, Earl รากศัพท์แปลว่า เจ้าของที่ดิน ซึ่งความหมายเหมือนกับ Count ภรรยาของทั้งสองเรียก Countess เหมือนกัน
    หากจะเรียกภรรยาท่านเอิร์ลโดยการต่อท้ายด้วย _ess แต่การสะกดจะกลายเป็นพ้องคำว่า ไร้หู - earless

ปล. ไม่ทราบว่าบรรทัดสุดท้ายนี้เป็นมุก(ข) ตลกหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 16 ก.พ. 22, 19:17

Count  เป็นบรรดาศักดิ์ของฝรั่งเศส ค่ะ สะกดว่า Comte  ถ้าแปลเป็นอังกฤษใช้คำว่า Count    
นิยายชื่อดังของนักเขียนฝรั่งเศส อาเลกซองดร์ ดูมาส์  คือ Count of Monte Cristo ทำเป็นหนังมาหลายครั้ง  
ชื่อเดิมเรียกว่า Le Comte de Monte-Cristo

ส่วนท่านเซอร์ของอังกฤษ ที่คนไทยรู้จักดีก็เช่นเซอร์คลิฟ ริชาร์ด   เซอร์ฌอน คอนเนอรี่  เซอร์แอนโธนี ฮอปกิ้นส์  เซอร์โรเจอร์ มัวร์  เซอร์ ริชาร์ด สตาร์คีย์ จูเนียร์ (ริงโก สตาร์แห้งวงสี่เต่าทอง)
พวกนี้ได้เครื่องราชฯชั้นท่านเซอร์ทั้งนั้น
ส่วนเดมก็ดังไม่น้อยหน้าท่านเซอร์ข้างบนนี้   เช่นเดมจูลี่ แอนดรูว์  เดมแม็กกี้ สมิธ   เดมไดอาน่า ริกก์ เดมเฮเลน มิร์เรน  เดมจูดี้ เดนช์  เดมโอลิเวีย เดอ ฮาวิลแลนด์  และเดม เอลิซาเบธ เทเลอร์

เมื่อปี 2018  เอมม่า ธอมป์สันก็ได้เป็นเดมเหมือนกัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 ก.พ. 22, 08:45

เล่าถึงศักดินาอังกฤษมามากพอแล้ว   ทีนี้จะมาถึงชนชั้นไม่มีศักดินาบ้าง
นั่นก็คือ "คนรับใช้"  ในเรื่องเรียกตรงตัวว่า "servants"  คนเหล่านี้เมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ๋ในบ้านของนาย เรียกรวมกันว่า household stuff

ย้อนกลับไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1   และอีกหลายศตวรรษก่อนหน้านี้    แรงงานของเครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงในบ้านยังไม่มี   ก็ต้องอาศัยแรงงานคนนี่แหละขับเคลื่อนชีวิตประจำวันให้เจ้าของบ้าน  ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร  เก็บกวาดทำความสะอาด  ซักรีดผ้า  เลี้ยงเด็ก
บ้านใหญ่มากเท่าไหร่  จำนวนแรงงานคนก็ต้องมากขึ้นเท่านั้น   อย่างในคฤหาสน์ดาวตันแอบบีย์ ซึ่งควรเรียกว่าปราสาทมากกว่า  แรงงานคนดูแลก็ต้องมากมายเป็นสิบขึ้นไป
ถ้าถามว่าหาได้จากไหน คำตอบคือจากชาวบ้านทั่วไปในหมู่บ้าน ใกล้ๆที่ดินที่คฤหาสน์ตั้งอยู่

ตำแหน่งคนรับใช้ในคฤหาสน์เป็นตำแหน่งไม่ใช่เล็กน้อย  เรียกว่ามีหน้ามีตา  บ้านไหนมีลูกชายลูกสาวได้ไปทำงานเป็นคนรับใช้  พ่อแม่จะภูมิใจอวดเพื่อนบ้านได้อย่างเบิกบานทีเดียว   เพราะไหนจะได้ชื่อว่าทำงานกับคนใหญ่คนโต  ไหนจะได้ค่าแรงซึ่งสมัยนั้นถือว่ามากเอาการสำหรับชาวบ้าน  ไหนจะได้แต่งเครื่องแบบโก้ดูดี ไม่เก่าปอนอย่างเสื้อผ้าชาวบ้านทั่วไป


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 ก.พ. 22, 09:10

          รอดู ตำแหน่งลำดับชั้นชนคนรับใช้ในคฤหาสน์ของท่านลอร์ด

รูปเล็ก รอขยาย(ความ)โดยอ. ต่อไป


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 18 ก.พ. 22, 08:09

คุณหมอ SILA ชงภาพมาให้แล้ว  ก็จะเริ่มเล่าถึงชนชั้นไร้ศักดินากันเสียที

คฤหาสน์ใหญ่ๆของอังกฤษ มีจำนวนห้องหับมากมายเป็นร้อยห้อง   แค่ห้องนอนก็อาจจะปาเข้าไป 30-40 ห้องแล้ว 
(ห้องพวกนี้บางทีก็ปิดไว้เฉยๆ เพราะเจ้าของบ้านเองมีแค่ 3-4 คน)
ในเมื่อห้องมาก  เจ้าของบ้านจึงต้องมีบริวารจำนวนพอๆกับห้องเอาไว้ดูแลบ้าน    คือนี่หมายถึงคนรับใช้ที่อาศัยอยู่ใต้ชายคาบ้านเท่านั้นนะคะ   อีกกองทัพหนึ่งที่อาศัยอยู่นอกบ้านในบริเวณคฤหาสน์ อันได้แก่คนขับรถ คนทำสวน และคนดูแลสัตว์  ไม่นับค่ะ
ใน DA  ก็มีบริวารประเภทนอกตัวบ้านอยู่ให้เห็นแวบๆในหลายฉาก แต่ไม่มีบทบาท  เลยขอข้ามไปไม่กล่าวถึง 
ถ้าท่านผู้อ่านเรือนไทยท่านใดสนใจอยากให้เล่า ก็จะเล่าในตอนหลังก็แล้วกัน

ขอให้กลับไปดูรูปที่คุณหมอ SILA นำมาให้ดูอีก  จะเห็นว่าบริวารภายใต้ชายคาบ้าน แบ่งได้เป็น 3 ฝ่ายใหญ่ๆ
แบ่งง่ายๆก่อนคือฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง
ฝ่ายชาย มีหัวหน้าเรียกว่า Butler  ภาษาไทยแปลว่า หัวหน้าคนรับใช้  หรือบางทีก็เรียกว่า พ่อบ้าน 
ฝ่ายหญิง  มีหัวหน้าเรียกว่า Housekeeper  ภาษาไทยแปลวา่ แม่บ้าน  หน้าที่คือหัวหน้าหญิงรับใช้

ภาพประกอบข้างล่างคือนักแสดงที่เล่นเป็น butler และ housekeeper ในเรื่องนี้    เป็นดารามีระดับของอังกฤษทั้งคู่  ไม่ใช่ตัวประกอบกระจอกๆ




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 18 ก.พ. 22, 08:36

งาน butler เป็นงานมีเกียรติที่สุดของคนที่ก้าวเข้าสู่อาชีพคนรับใช้  เรียกว่าเป็นระดับอธิบดีของอาขีพนี้ก็ว่าได้   เพราะหน้าที่ของ butler นับว่าสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนงานประจำวันในคฤหาสน์   เขาจะต้องผ่านการทำงานฝึกฝนหน้าที่คนรับใช้มายาวนานนับสิบๆปีกว่าจะเลื่อนขึ้นมาถึงตำแหน่งนี้  ไม่ใช่ว่าพอสมัครงานแรกก็ได้ทำหน้าที่นี้เลย
เขาต้องมีประสบการณ์สูง  มีความสุขุมรอบคอบ รู้งานในหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทุกด้านของคฤหาสน์   จะมีเหตุขลุกขลักใดๆให้เสียหน้าเจ้าของบ้านไม่ได้เลย  
เขาต้องรู้วิธีพูดภาษาอังกฤษอย่างชัดเจนถูกต้องแบบผู่้ดีเวลาพูดกับนายและแขกของนาย   ถ้าพูดกับคนรับใช้ด้วยกันก็ไปอีกอย่าง    
เขาใช้ศัพท์ต่างๆ ได้เป๊ะไม่ผิดพลาด  รู้กาลเทศะอย่างดี   ต้อนรับและบริการแขกสำคัญได้อย่างเรียบร้อยไม่บกพร่อง   ห้ามผิดพลาดแม้แต่น้อย   เขาต้องรู้จักการเลือกไวน์  อาหาร  ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยเช่นเครื่องเงินและแก้วไวน์ที่โต๊ะอาหาร   ว่าอะไรใช้ตอนไหน รู้จักของดีของปานกลาง ต้องเลือกได้ไม่ผิดพลาด
เขามีหน้าที่ดูแลของมีค่า เช่นเครื่องเงินบนโต๊ะอาหาร และไวน์ราคาแพง ซึ่งเก็บไว้ในห้องใส่กุญแจที่เขาเท่านั้นมีสิทธิ์ไข
นอกจากนี้เขามีหน้าที่คัดเลือกรับคนใช้ใหม่เข้ามาทำงาน  จะไล่ใครออกหรือเลื่อนตำแหน่งให้คนใช้คนไหนก็เป็นสิทธิ์ของเขา  เขาจะร่างจดหมายรับรองให้คนใช้เวลาลาออกไปอยู่ที่อื่น   แล้วให้นายเซ็นชื่อ  จดหมายรับรองนี้มีค่าเหมือนปริญญาบัตร  คนใช้คนไหนออกไปโดยไม่มีใบรับรองจากนายเก่า  จะไม่มีนายใหม่คนไหนรับเข้าทำงาน  เท่ากับอนาคตดับไปเลย

butler ที่ดีจะเป็นหน้าตาของนาย และเป็นความประทับใจของแขกเหรื่อที่มาพักหรือมาเยี่ยมเยียน

ในเมื่อต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้  butler จึงเป็นชายกลางคนหรือสูงวัย ไม่ใช่หนุ่มวัยฉกรรจ์   ยกเว้นรับใช้ในบ้านขนาดเล็กหรือกลางๆ มีคนใช้แค่ 2-3 คน บัตเลอร์อาจเป็นชายหนุ่มได้เพราะหน้าที่รับผิดชอบไม่มาก
butler จะมีท่าทางสง่าภูมิฐาน สมกับตำแหน่งหน้าที่  กิริยามารยาทต้องระมัดระวังให้ถูกต้องมีระเบียบเรียบร้อยเสมอ  วางตัวน่าเกรงขามให้คนรับใช้อื่นๆยำเกรง
butler บางคนวางตัวเป็นผู้ดีได้สมเหตุสมผลเสียจนบางทีก็แทบแยกไม่ออกว่าเป็นคนรับใช้หรือท่านชายของคฤหาสน์กันแน่    
ในเรื่อง DA  Jim Carter ดาราอาวุโสของอังกฤษรับบท Charles Carson หัวหน้าคนรับใช้ได้เนียนมาก  ยิ่งแต่งเครื่องแบบคนรับใช้( ที่ดูเป็นพิมพ์เดียวกันกับทักซีโดของนาย) แล้ว คนดูที่เพิ่งเปิดทีวีดูไม่รู้เรื่องรู้ราวอาจจะนึกว่าแกเป็นท่านลอร์ดซะเอง

คนรับใช้อื่นๆเวลาเรียกชื่อ butler  คือต้องเรียกว่า Mr. นำหน้า ต่อด้วยนามสกุล  แสดงความเคารพนับถือ  ใน DA คนรับใช้ทุกคนต้องเรียกเขาว่า Mr.Carson   มีนายเท่านั้นที่เรียกเขาว่า Carson เฉยๆ  แต่จะไม่เรียกชื่อต้นว่า Charles   การเรียกชื่อต้นของผู้ชายสงวนไว้สำหรับคนระดับเดียวกันเท่านั้น


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 18 ก.พ. 22, 10:34

         บท butler ในตำนาน, โดดเด่นโดนรางวัลนักแสดงสมทบชายจากหนังเรื่อง Arthur
สวมบทโดยนักแสดงใหญ่ Sir John Gielgud


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 18 ก.พ. 22, 10:59

เรื่องนี้ไม่เคยดู เลยเล่าไม่ได้ว่าบทบาทบัตเลอร์เป็นยังไง

อาชีพบัตเลอร์ยังมีมาถึงจนทุกวันนี้ แต่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนใน DA  มีโรงเรียนผลิตบัตเลอร์ด้วยค่ะ
พวกนี้ทำงานเซอร์วิสได้หลายแห่ง ทั้งในบ้านคนใหญ่คนโต   ทั้งในโรงแรม และรับจัดอีเว้นท์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 19 ก.พ. 22, 08:37

ถ้าท่านผู้อ่านท่านไหนเกิดอยากแสวงหารักแท้ด้วยการปลอมตัวไปเป็นคนใช้ในคฤหาสน์  ก็จะต้องเตือนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะการคัดเลือกคนเหล่านี้ ไม่เหมือนเลือกตัวประกอบในหนังหรือละคร    เขากำหนดคุณสมบัติหลายอย่างและขั้นตอนที่จะทำให้หมดความอยากไปเลย

อย่างแรกคือถ้าจะสมัคร ก็ต้องไต่ระดับตั้งแต่ขั้นแรก คือคุณต้องเป็นเด็กหนุ่มอายุ 14-16  ปีเสียก่อน  เพื่อจะไปรับงานขั้นแรกคือเป็น Hall boy (หรือบางทีสะกดติดกันว่า hallboy)  บางบ้านก็อาจรับเป็น tea boy  
งานเหล่านี้คืองานขั้นแรก และล่างสุดของคนรับใช้  คือเป็นลูกมือรับใช้เทกระโถนคนรับใช้ระดับสูงอีกทีหนึ่ง   คำว่าเทกระโถนนี่ของจริง เพราะสมัยนั้นการขับถ่ายของคนรับใช้ยังใช้กระโถนกันอยู่  นายๆเท่านั้นถึงจะมีห้องน้ำและชักโครกใช้ งานอื่นๆก็คือคอยเสิฟอาหารให้คนรับใช้อื่นๆ  ทำงานจิปาถะแล้วแต่คนรับใช้ผู้ใหญ๋จะสั่ง  เท่ากับเป็นการเรียนรู้งานไปด้วยในตัว
แต่เด็กหนุ่ม hall boy  ไม่ต้องดักดานอยู่จนตาย   เมื่ออายุเข้าสู่วัยหนุ่ม เขาก็อาจจะได้เลื่อนขึ้นเป็น footman  คือเป็นคนรับใช้ทั่วไป

อ้อ  ลืมบอกไปว่าการสมัครเป็น hall boy  เขาคัดเลือกกันพิถิพิถันเหมือนกัน  คือคุณต้องมีร่างกายแข็งแรง  สูงได้ส่วนสัด คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง  และหน้าตาดีด้วย   ถ้าอ้วนไปผอมไป นายก็ไม่เอา เพราะต้องทำงานประมาณวันละ 16 ชม.  ถ้าร่างกายไม่ดีอาจทำงานได้ไม่แข็งขันพอ  

ส่วนหน้าตาดี เป็นคุณสมบัติอีกอย่างของคนรับใช้ในคฤหาสน์   ข้อนี้เดี๋ยวค่อยเล่านะคะว่าทำไม

ภาพนี้คือตัวอย่าง hall boy  ในหนัง DA


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 19 ก.พ. 22, 09:06

ระดับคนใช้ขั้นต่อไปจาก hall boy  คือ Footman  ยังหาไม่เจอว่ามีศัพท์แปลเฉพาะตัวว่าอะไร ในที่นี้ขอเรียกว่า คนรับใช้ทั่วไป ไว้ก่อน

ฟูตแมนอาจจะไต่ระดับมาจากฮอลบอย หรือว่าสมัครเข้ามาเป็นเลยก็ได้  แต่ต้องไต่จากระดับล่างสุดของฟูตแมนก่อน  อธิบายเพิ่มหน่อยว่า ฟูตแมนมีหลายระดับ เรียกว่า First footman, second footman  คฤหาสน์ใหญ่ๆคนใช้เยอะๆอาจะมี third  และ fourth ก็ได้    นับระดับสูงต่ำจากน้อยไปมาก   คือ First footman สูงสุด  สอง สาม สี่ ก็รองๆลงมา

หน้าที่ฟูตแมนคือรับใช้ทั่วไปในบ้าน   นับแต่เปิดประตูรถให้นายและแขกของนาย  จัดโต๊ะอาหาร เสิฟอาหารให้นาย  ยืนระวังตรงอยู่ด้านหลังเวลานายรับประทานอาหารในห้องอาหาร   เก็บอาหารเมื่อนายอิ่มแล้ว เสิฟของหวาน  เสิฟไวน์ในตอนค่ำ หลังอาหาร    เสิฟเครื่องดื่มให้แขกที่มาถึง   ทั้งหมดนี้แล้วแต่บัตเลอร์จะสั่งให้ใครทำอะไรตอนไหน
  
นอกจากนี้ถ้ามีแขกมาหา หรือมาพักด้วยหลายวัน   ฟูตแมนระดับหนึ่งอาจได้รับมอบหมายให้ไปเป็นคนรับใช้ประจำตัวแขกท่านนั้น หากว่าแขกไม่ได้นำคนรับใช้ประจำตัวมาด้วย

การคัดเลือกฟูตแมนเข้ามาทำงาน นอกจากดูประสบการณ์ว่าเคยทำงานที่ไหนมาแล้วบ้าง ยังต้องดูรูปร่างหน้าตาด้วย  เพราะฟูตแมนเป็นคนรับใช้ที่จะต้องปรากฏตัวให้มิตรสหายแขกเหรื่อเจ้าของบ้านเห็น   ถ้าบุคลิกดีหน้าตาดี ก็ถือเป็นหน้าเป็นตาของนาย   แสดงบารมีเจ้าของบ้านไปด้วยในตัวว่ารู้จักคัดเลือกบริวารได้เหมาะสมกับความโอ่อ่าของตน
เพราะฉะนั้น  ฟูตแมนจึงมักเป็นชายหนุ่มรูปร่างสูงสง่า  หน้าตาคมสัน มาดดี กิริยาดี   ยิ่งสูงยิ่งได้เปรียบกว่าคนเตี้ย   ผู้ชายหน้าเหมือนโจร หรือขี้ริ้วขี้เหร่พิกลพิการ อย่าหวังว่าจะได้เป็นฟูตแมน  

รูปนี้คือฟูตแมนในเรื่อง  คนขวาที่หัวล้าน เป็นตัวตลกของเรื่อง ก็เลยเลือกคนไม่หล่อมาเล่นค่ะ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 19 ก.พ. 22, 09:07

ผู้สร้างหนัง DA จึงต้องเลือกดารารูปหล่อมาเล่นบทนี้   ได้   Robert James-Collier  ผู้เป็นนายแบบของ Argos  และได้รางวัลความหล่อรับประกันหน้าตามาหลายรางวัล คือ รางวัล the Sexiest Male award ปี 2007 . 2008 British Soap Awards และ Sexiest Male and Best Newcomer at the 2007 Inside Soap Awards.

หนุ่มรายนี้แต่งเครื่องแบบคนรับใช้ขึ้นมาก   ดูหล่อโก้เกินหน้าเกินตาบรรดาคุณชายท่านชายทั้งหลายในเรื่อง  แถมยังได้รางวัลจากบทนี้อีกด้วย  คือ the Screen Actors Guild Award for Outstanding Performance by an Ensemble in a Drama Series
 


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 19 ก.พ. 22, 10:13

        นิยายไฮโซ ของ Jane Austen (1775 – 1817) มีกล่าวถึงฟูทแมน คอยเฝ้าประดับบารมีและคอยรับใช้
ทำกิจกรรม,คำสั่งของคุณท่าน ดังนั้นจึงต้องพร้อมทั้งหน้าตาและรูปร่างสูงสวมเครื่องแบบขึ้น (คนตัวสูงกว่าจะได้
ค่าจ้างสูงกว่า) และ จะยิ่งเชิดหน้าบารมีคุณท่านมากขึ้นไปอีก หากได้ฟูทแมนคู่ที่ดูเข้ากันพอดีทั้งหน้าตาและความสูง
มายืนประดับฉากหลังทั้งสองข้าง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 19 ก.พ. 22, 10:17

คงเหมือนได้แจกันที่เข้าคู่กันเป๊ะมาวางประดับห้องน่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 19 ก.พ. 22, 10:45

หลังจากทำงานเป็นฟูตแมน ไต่ระดับมาจนถึง First footman แล้ว  ขั้นต่อไปก็อาจจะได้เลื่อนเป็น Valet
คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศส อังกฤษรับมาออกเสียงคล้ายกันว่า "วาเล่"  T ไม่ออกเสียง 
พูดถึงวาเล่ในไทย อาจจะนึกถึงบริการจอดรถในห้างสรรพสินค้า   แต่ในอังกฤษ และใน DA  คำนี้หมายถึงคนรับใช้ประจำตัวนายผู้ชายของคฤหาสน์

ตอนต้นของเรื่อง DA  คฤหาสน์ดาวน์ตัน แอบบีย์มีนายผู้ชายคนเดียวคือท่านลอร์ดกรานธัมเจ้าของบ้าน  ก็เลยมีวาเล่คนเดียว   แต่ถ้าเป็นบ้านที่นายมีลูกชายอีก  5 คน  วาเล่ก็จะมีทั้งหมด 6 คน 
หน้าที่ของวาเล่คือดูแลนายผู้ชาย โดยมากจะเน้นดูแลการแต่งกาย  จัดเสื้อผ้าให้สวมตามวาระต่างๆ เพราะยุคนั้นต้องเปลี่ยนเสื้อผ้ากันสารพัดตามโอกาส  ไม่ใช่ชุดเดียวใส่ได้ตั้งแต่เช้ายันเข้านอนเหมือนเดี๋ยวนี้    ตื่นมาอยู่บ้านก็แต่งกายแบบหนึ่ง  ถ้าออกไปธุระในเมืองก็อีกแบบ  ไปประชุมสภาขุนนางก็อีกแบบ   ไปเล่นกีฬาออกกำลังกายหรือล่าสัตว์ก็ต้องมีชุดเป๊ะๆตามกิจกรรมนั้นๆ   ตกค่ำมากินดินเนอร์แม้ว่ากินกันเองในบ้านพร้อมลูกเมียก็ต้องแต้งชุดดินเนอร์เต็มยศ   ถ้าหากว่ามีงานเลี้ยงหรูหราตอนค่ำก็ต้องแต่งชุดตามงานนั้นๆ   วาเล่ต้องจำให้ได้หมดเมื่อจะจัดและช่วยแต่งตัวให้ไม่ผิดพลาด
วาเล่จะต้องจัดเสื้อผ้าและองค์ประกอบเช่นโบไทผูกคอเสื้อ รองเท้า ถุงมือ(ถ้าจำเป็นต้องมี) ให้เข้าชุดกันถูกต้องไม่มีข้อตำหนิ   จัดเสื้อผ้าลงกระเป๋าเดินทางถ้านายไปพักบ้านญาติหรือเพื่อน แล้วหิ้วขึ้นลงห้อง โดยตัวเองต้องติดตามไปด้วย   ถ้านายไปพักที่ไหน วาเล่ก็ต้องไปจัดเตรียมห้องหับให้เรียบร้อยล่วงหน้า
นอกจากนี้ยังรับหน้าที่ส่วนตัวต่างๆแล้วแต่นายจะสั่ง  เช่นรับคำสั่งนายไปบอกนายหญิง   ถือสารไปให้คนอื่นๆในบ้านหรือนอกบ้าน    รวมทั้งคำสั่งจุกจิกต่างๆ
วาเล่จะต้องมีประสบการณ์รับใช้ผู้ดีมาก่อน   มีกิริยามารยาทเรียบร้อย บุคลิกดี  พูดภาษาอังกฤษแบบผู้ดี  การแต่งกายอาจไม่จำเป็นต้องแต่งฟอร์มคนรับใช้ก็ได้  แต่ต้องแต่งกายอย่างสุภาพบุรุษ   เป็นคนละเอียดมีไหวพริบรู้ใจนาย รับใช้ได้คล่องแคล่วไม่งุ่มง่ามเงอะงะ  ที่สำคัญคือต้องเก็บความลับของนายให้ได้  จะดีจะชั่วยังไงไม่ต้องปากโป้งเด็ดขาด

งานของวาเล่สบายกว่าฟูตแมนมาก  เพราะรับใช้นายคนเดียว  เป็นงานรับใช้ระดับสูง   เรียกว่ารองลงมาจากบัตเลอร์
คนที่เป็นวาเล่  จะได้รับคำเรียกชื่อจากคนรับใช้อื่นๆว่า "มิสเตอร์" ต่อด้วยนามสกุล  ถือเป็นการให้เกียรติ   ส่วนนายจะเรียกนามสกุล เฉยๆ ไม่มีมิสเตอร์  และไม่เรียกชื่อตัว

ใน DA  วาเล่ชื่อ John Bates ได้รับตำแหน่งนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง