เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 1472 ถนนเย็นอากาศ งามดูพลี นางลิ้นจี่ มีประวัติที่มาอย่างไรครับ
Byrtie
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 01 ก.พ. 22, 22:57

สวัสดีครับ ผมเห็นว่าย่านเหล่านี้ มีชื่อที่น่าสนใจ และอยู่กลางเมืองพอสมควร แต่ไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่า มีที่มาของการตั้งชื่อมาจากไหน รบกวนผู้รู้ช่วยแบ่งปันความรู้ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 ก.พ. 22, 08:50

ประวัติและที่มาของชื่อถนนนางลิ้นจี่ คุณหนุ่มสยามให้คำตอบว่า

ถนนนางลิ้นจี่เป็นถนนที่ถูกตัดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (นับแบบเก่า คือ พ.ศ. ๒๔๗๖ หากนับแบบปัจจุบัน) โดยนางลิ้นจี่ ชยากร ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำการตัดถนนจากสาทรถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวรวม ๘๔ เส้น

จึงได้ว่าจ้างทำสัญญากับนายเสนอ หัยรัตน์ จากสำนักงานสงเคราะห์กรรมกร ซึ่งรวมกรรมกรจากกรมนคราทรที่ว่างงานแล้วออกทำมาหากินว่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง โดยกินอยู่สร้างแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่ก่อสร้างรวมแล้วปีกว่า ก็สร้างถนนเสร็จ

ถนนสายนี้จึงถูกเรียกว่า "ถนนนางลิ้นจี่" เพื่อให้เกียรติกับนางลิ้นจี่ ชยากร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 ก.พ. 22, 09:17

นางลิ้นจี่ เป็นบุตรีของนายเฮ็ง วัฒนา กับ นางเง็ก วัฒนา เกิดที่ตำบลหีบอ้อย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๕ (นับแบบเก่า) ต่อมาได้ติดตามบิดามารดามาอยู่กรุงเทพฯ และสมรสกับนายเชย ชยากร พ่อค้าในตลาดสามเสน เมื่อครั้งที่สามีประมูลได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย ที่จังหวัดอยุธยา และโรงต้มกลั่นสุรา มณฑลราชบุรี นางลิ้นจี่ก็ได้รวมแรงช่วยเหลือในกิจการ ดังนั้น เมื่อนายเชยถึงแก่กรรม นางลิ้นจี่จึงรับเป็นนายอากรสุราแทนสามี ดูแลกิจการต่อมา จนเมื่อรัฐบาลยึดไปดำเนินการเอง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕

ในระหว่างที่ดำเนินกิจการสุรานั้น นางลิ้นจี่ยังเปิดกิจการโฮเตลรมณีย์ ตรงถนนบรรทัดทอง โรงแรมที่ทันสมัยสุด ๆ ในเวลานั้น เพราะมีทั้งไนต์คลับ สถานลีลาศ และลานเล่นสเก๊ต นางลิ้นจี่ยังขยายกิจการไปทำป่าไม้ในเพชรบุรี ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนพัฒนาที่ดินผืนใหญ่บริเวณทุ่งมหาเมฆ ไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ซื้อสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ นางลิ้นจี่คงอาศัยต้นแบบจากโครงการถนนสาทร ถนนสุรวงศ์ และถนนสี่พระยา ที่ใช้วิธีตัดถนน เปิดพื้นที่ แบ่งขายที่ดิน หารายได้เป็นกอบเป็นกำ นางลิ้นจี่จึงวางแผนตัดถนนสายหลัก มีคลองคู่ขนานที่จะไปเชื่อมต่อกับถนนสาทร ที่จะต่อเนื่องกับถนนคอนแวนต์ ไม่ถึงถนนสีลมย่านธุรกิจสำคัญในเวลานั้น แต่ทว่าถนนนางลิ้นจี่ ไม่ได้ไปถึงถนนสาทร เพราะเจ้าของที่ดินบางแปลงไม่ยอมขาย จึงไปได้สุดแค่ซอยสวนพลูเท่านั้น และน่าจะทำให้โครงการพัฒนาพื้นที่ทุ่งมหาเมฆของนางลิ้นจี่ ไม่ประสบความสำเร็จตามแผน

ในบั้นท้ายของชีวิต นางลิ้นจี่ได้หวนกลับไปทำนา จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓ สิริอายุได้ ๘๗ ปี ๒ เดือน ๑๔ วัน

จาก มองบ้านมองเมือง: นักธุรกิจหญิง ชื่อ นางลิ้นจี่ และ หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางลิ้นจี่ ชยากร


บันทึกการเข้า
Byrtie
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 03 ก.พ. 22, 22:47

ขอบคุณมากเลยครับคุณเพ็ญชมพู เป็นความรู้มากเลยครับ พอจะทราบเพิ่มเติมไหมครับ แล้วถนนเย็นอากาศ น่าจะมีความเป็นมาอย่างไรครับผม ขอบคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 ก.พ. 22, 11:38

ภาพจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2475
.
เรื่องกรรมกรก่อสร้างซึ่งมาสร้างถนนนางลิ้นจี่ ซึ่งกรรมกรเหล่านี้ถูกจัดตั้งเป็นสำนัก "สงเคราะห์กรรมกร" สำนักงานที่ 1148 ถนนตะนาว และเดิมเป็นกรรมกรที่เคยทำงานอยู่ในกรมนคราทร


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 ก.พ. 22, 12:08

ภาพจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2475

จาก http://digital.nlt.go.th/items/show/14508




บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 04 ก.พ. 22, 14:55

เนื้อข่าวมีว่า

ตามที่ ได้ทราบกันมาแล้วว่านายเสนอ หัยรัตน์ได้ขออนุญาตตั้งสำนัก "สงเคราะห์กรรมกร" ขึ้น และได้รับอนุญาตแล้วตามพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานจัดหางาน พระพุทธศักราช ๒๔๗๕ แต่เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม สำนักงานตั้งอยู่ที่ตึกเลขที่ ๑๑๔๘ ถนนบ้านตะนาว จังหวัดพระนคร สำนักสงเคราะห์กรรมกรของนายเสนอ หัยรัตน์นี้ มีจุดประสงค์จะสงเคราะห์กรรมกรที่ว่างงานท้่วไปทุกประเภท มีการรับเหมาทำการต่าง ๆ เช่นขุดบ่อ, คูทำถนนตามแบบกองช่าง กรมนคราทร เพราะเหตุที่นายเสนอ หัยรัตน์เคยรับราชการอยู่ในกรมนคราทร มานับจำนวนตั้งสิบกว่าปี กรรมกรของสำนักงานนี้โดยมากล้วนเคยเปนกรรมกรของกรมนคราทรมาแล้วทั้งสิ้น เนื่องแต่งานของกรมนคราทรไม่มีให้ทำ พวกกรรมกรเหล่านี้ก็ว่างงาน นายเสนอ หัยรัตน์จึงได้รับเลี้ยงดูรวบรวมไว้

บัดนี้เปนที่น่ายินดีซึ่งได้ทราบว่า นางลิ้นจี่ ชยากรได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ตัดถนนตั้งแต่ถนนสาทร ผ่านมุ่งมหาเมฆจดริมแม่น้ำเจ้าพระยาสายหนึ่งเปนระยะทางยาว ๘๔ เส้น พระเจนสถลรัถซึ่งเคยรับราชการ อยู่ในกรมนคราทรผู้อุปถัมภ์สำนักสงเคราะห์กรรมกรนี้ กับนายเสนอ หัยรัตน์ ได้ตกลงเปนผู้รับเหมาปรับพื้นอิฐถนนสายนี้ และนางลิ้นจี่ ชยากรก็มีความยินดีที่จะอุดหนุนกรรมกรไทยที่ว่างงาน จึงได้ตกลงทำสัญญาให้คณะนี้รับเหมา และยังจะตัดถนนซอยอีก ๑๐ กว่าสาย ซึ่งจะได้แก่สำนักของนายเสนอหมดทั้งสิ้น เวลานี้นายเสนอ หัยรัตน์ได้รวบรวมกรรมกรว่างงานจากกรมนคราทร มีจำนวน ๒๐๐ คนไปตั้งโรงงานลงมือทำถนนสายนี้แล้ว มีโรงสำหรับพักนอน โรงครัว โรงเลี้ยงอาหารพร้อมเสร็จ เพราะจะต้องตั้งทำกันเปนเวลาแรมปี นอกจากนี้สำนักสงเคราะห์กรรมกรยังได้รับงานทำอยู่ในเวลานี้อีก ๒ แห่ง คือวางท่อประปาถนนวิสุทธิกระษัตริย์ และถนนในวัดหัวลำโพง เวลานี้มึกรรมกรว่างงานตามจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาสมัคร์อยู่เสมอ  นอกจากได้รับค่าแรงพอสมควรแล้ว นายเสนอยังได้เลี้ยงดูให้กินอาหารอีกถึงวันละ ๓ เวลา โดยมิได้คิดมูลค่าเท่าที่สำนักนี้ได้ลงทุนไปแล้ว ซึ่งสร้างที่พัก ซี้อเครื่องมือ และค่าอาหารนับเปนจำนวนเงินร่วมหมื่นบาท

การที่สำนักสงเคราะห์กรรมกรได้งานชิ้นใหญ่รายนี้ก็เพราะความอุปการะของพระเจนสถลรัถ และนางลิ้นจี่ ซยากรผู้อุปถัมภ์บำรุง จึงหวังอย่างแน่นอนว่าสำนักนี้คงจะเปนปึกแผ่นแน่นหนา นับว่าได้ช่วยชีวิตกรรมกรไทยให้มีงานทำ พ้นจากความอดอยาก ซึ่งนับวันก็จะทวีมีจำนวนมาก ๆ ขึ้นเปนลำดับ เพราะตามที่ได้ทราบมานั้นว่า นางลิ้นจี่ ชยากรจะตัดถนนซอยอีกตั้ง ๑๐ สาย แต่เวลานี้ยังติดขัดอยู่ที่บางสายเจ้าของที่ยังไม่ยินยอม แม้แต่ขอซื้อที่โดยให้ราคาก็ยังอิดเอื้อน ซึ่งเราเห็นว่าเปนการถ่วงความเจริญแท้ ๆ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 04 ก.พ. 22, 15:03

           นาม เย็นอากาศ น่าจะมาจากการตั้งชื่อถนน ตามภูมิประเทศ(อากาศ) สิ่งแวดล้อม ที่คนเก่าแก่เล่าว่า
สมัยก่อน ย่านนั้นเป็นท้องทุ่งลมพัดเย็นสบาย เฉกเช่น ชื่อ
           ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเป็นแขวงที่ เย็นอากาศ ทอดผ่าน สมัยก่อน เล่าว่า มีเรือกสวน, ท้องทุ่งนา ท้องฟ้าแล
เห็นเมฆมากมาย คราวสงครามโลกครั้งที่สอง บางครอบครัวในกรุงเลือกใช้เป็นที่อพยพหลบระเบิด


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.031 วินาที กับ 20 คำสั่ง