การกำหนดวันขึ้นปีใหม่นี้ไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้นไม่มีการนับแบบเก่าหรือนับแบบใหม่แต่อย่างใด ให้ดูว่าอยู่ก่อนหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2483 เป็นสำคัญ ถ้าอ้างวันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ก่อนนั้นแต่ไปบวกปีขึ้น 1 ปีเฉยๆ แล้วบอกว่าเป็นการนับแบบใหม่คือเข้าใจผิดครับ ทำแบบนั้นไม่ได้ สร้างความสับสนเปล่าๆ
ถูกต้องที่ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ แทนวันที่ ๑ เมษายน ไม่มีผลย้อนหลัง การ +๑ ดังกล่าว เป็นเพียงเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าหากเทียบกับการนับในปัจจุบันจะเป็นเช่นไร (หากไม่ต้องการใช้คำว่า นับแบบใหม่ ก็อาจใช้ว่า นับแบบปัจจุบัน หรือนับแบบสากล) ไม่ใช่ไปเปลี่ยน พ.ศ.ในบันทึกเก่า (ซึ่งก็เป็นการนับแบบเก่าจริง ๆ)
การทำแบบนี้ไม่น่าจะสร้างความสับสน มีแต่จะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น วันเวลาที่ สวรรคตและออกพระเมรุ ของรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖
รัชกาลที่ ๕ สวรรคต ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ออกพระเมรุ ๑๖ มีนาคม ๒๔๕๓ และ รัชกาลที่ ๖ สวรรคต ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ออกพระเมรุ ๒๔ มีนาคม ๒๔๖๘
วันเวลาดังกล่าวอาจทำให้สับสนว่า ทำไมวันออกพระเมรุจึงมาก่อนวันสวรรคต หากเขียนว่า
รัชกาลที่ ๕ สวรรคต ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ออกพระเมรุ ๑๖ มีนาคม ๒๔๕๓ (เป็นการนับแบบเก่า หากนับแบบปัจจุบันคือ ๑๖ มีนาคม ๒๔๕๔) และ รัชกาลที่ ๖ สวรรคต ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ออกพระเมรุ ๒๔ มีนาคม ๒๔๖๘ (เป็นการนับแบบเก่า หากนับแบบปัจจุบันคือ ๒๔ มีนาคม ๒๔๖๙)
การเขียนเช่นนี้ น่าจะทำให้เข้าใจได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
