เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 1698 ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องคำว่าไทกับคำว่าไตหน่อยค่ะ
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


 เมื่อ 03 ก.ย. 21, 13:57

คือดิฉันมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคำว่าไทกับคำว่าไตเลยอยากจะมาข้อคำแนะนำจากท่านผู้รู้เกี่ยวความหมายของสองคำนี้ค่ะ

1 คำว่าไตกับคำว่าไทถือเป็นคำเดียวกันความหมายเดียวกันไหมคะ เพราะเห็นมีบางท่านว่าคำเดียวกัน ความหมายเดียวกันกันแต่ต่างสำเนียงในการออกเสียง บางท่านก็ว่าคนละคำ คนละความหมายกันเลย

2 คำว่าไทมีอยู่จริงไหมคะ เห็นมีบางท่านเขาว่าคำว่าไทไม่มีอยู่จริงที่จริงต้องออกเสียงว่าไต แล้วรัฐไทยสยามไปกำหนดใหม่ให้มีคำว่าไทบังคับให้ทุกภาคออกเสียงว่าไททั้งที่ความจริงต้องออกเสียงคำนี้ว่าไต

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 03 ก.ย. 21, 15:50

เข้าไปใน google  แล้วพิมพ์คำว่า  " ไท กับไต ต่างกัน อย่างไร"  นะคะ  มีเว็บให้อ่านเป็นจำนวนมาก  คุณอ่านแล้วคงสรุปได้เองค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 04 ก.ย. 21, 09:50

คำว่าไตกับคำว่าไทถือเป็นคำเดียวกันความหมายเดียวกันไหมคะ

ไต กับ ไท เป็นคำเดียวกัน ต่างกันเพียงสำเนียงการออกเสียง

การออกเสียงของ "คนไต" ทางเหนือ  สำเนียงจะต่างจาก "คนไทย" ภาคกลาง ขอให้สังเกตตาม ตารางการจัดวรรคแบบอักษรเทวนาครี ข้างล่างนี้

ในแต่ละวรรค ถ้าภาคกลางออกเสียงพยัญชนะแถวที่ ๓ (อักษรต่ำคู่) ทางเหนือจะออกเสียงเป็นพยัญชนะแถวที่ ๑ (อักษรกลาง)

ค --> ก เช่น คิด เป็น กึ้ด, เคี้ยว เป็น เกี้ยว
ช --> จ เช่น ช้าง เป็น จ้าง, ชาย เป็น จาย
ท --> ต เช่น ทุกข์ เป็น ตุ๊ก, ไท เป็น ไต
พ --> ป เช่น พ่อ เป็น ป้อ, พี่ เป็น ปี้


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 ก.ย. 21, 18:20

คุณดาวไม่สงสัยบ้างหรือว่า "ไท" กับ "ไทย" เป็นคำเดียวกันหรือไม่

เรื่องนี้มีกล่าวไว้ในกระทู้ สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ จิตร ภูมิศักดิ์ให้ความเห็นดังนี้

ปัจจุบันนี้ชื่อคนไทย ประเทศไทย ภาษาไทย ทำไมจึงต้องมี ย พ่วงท้ายด้วย ?

ข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่า เกิดขึ้นจากความเฟื่องในภาษาบาลีและสันสกฤต

ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเขียน ไท เฉย ๆ ไม่มี ย แต่พอถึงจารึกสมัยพญาลือไท เราก็ได้พบว่าเริ่มเขียน ไทย ขึ้นปะปนกับ ไท เป็นสองรูป สาเหตุก็เพราะไทยยุคพญาลือไทนั้นกำลังเฟื่องภาษาบาลี ภาษาบาลีนั้นไม่มีสระ ไอ เมื่อจะเขียน ไท ด้วยภาษาบาลี ก็ต้องแผลงเป็น เทยฺย อย่างชื่อพญาลือไทย ก็เขียนเป็น ลีเทยฺย (ซึ่งเดี๋ยวนี้เราถอดออกมาเป็นลิไท ไม่รู้ว่าจะยอมเพ้อคลั่งบาลีกันไปด้วยถึงไหน) ฉนั้นเวลาเขียนเป็นภาษาไทยก็เลยเอา ย พ่วงท้ายเข้าให้ด้วยเป็น ไทย  แต่ที่บางแห่งในจารึกหลักเดียวกันนั้นเองก็ยังเขียน ไท, ลืมใส่ ย ของสำคัญเสียก็มี ! จารึกรุ่นหลัง ๆ ลงมาที่แก่วัดมาก ๆ ถึงกับใช้ เทยฺย ปนกับ ไทย ก็มี เช่นจารึกวัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน พ.ศ. ๒๐๙๑ เขียนว่า :

"จุลศักราชได้ ๙๑๐ ตัว ในปีวอกขอมภิเสยฺย, เทยฺยภาสาว่าปีเปลิสัน, ในเดือนมาฆะ ไทย ว่าเดือน ๕....."

(วารสารศิลปากร ปีที่ ๔ เล่ม ๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ หน้า ๕๓)

ความคลั่งไคล้ภาษาบาลีเช่นนี้เอง จึงทำให้ ไทย เขียนมี ย ติดมาจนถึงทุกวันนี้

จาก หนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" โดย จิตร  ภูมิศักดิ์ หน้า ๖๑๐-๖๑๑


บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 05 ก.ย. 21, 08:05

ขอบพระคุณคุณเทาชมพู คุณเพ็ญชมพู สำหรับความรู้ คำแนะนำมากๆค่ะ ดิฉันจะนำกลับไปศึกษาดู
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 05 ก.ย. 21, 11:23


ปัจจุบันนี้ชื่อคนไทย ประเทศไทย ภาษาไทย ทำไมจึงต้องมี ย พ่วงท้ายด้วย ?

ข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่า เกิดขึ้นจากความเฟื่องในภาษาบาลีและสันสกฤต

ความคลั่งไคล้ภาษาบาลีเช่นนี้เอง จึงทำให้ ไทย เขียนมี ย ติดมาจนถึงทุกวันนี้

        เห็นบางคนเรียกว่าเป็น "การบวช" ให้คำไทย, นอกจาก ลงท้าย ย แล้วก็ยังมี การทรงเครื่อง ทำให้ ปิง กลายเป็น พิงค์

        http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1327.0

        มีวิธีบวชอย่างอื่นอีกไหม,คุณเพ็ญ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 ก.ย. 21, 20:13

มีวิธีบวชอย่างอื่นอีกไหม,คุณเพ็ญ

หัวเมืองทางอีสานในสมัยก่อนหลายเมืองมีการตั้งชื่อใหม่อย่างไพเราะเพราะพริ้ง โดยเจ้าหน้าที่ราชสำนักจากกรุงเทพ แปลงชื่อจากภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาบาลี ในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ เช่น

บึงหม้อ  ---> กุมภวาปี
เมืองเสือ ---> พยัคฆภูมิพิสัย
กุดลิง    ---> วานรนิวาส

วิธีนี้อาจถือเป็นการบวช 'คำไทย' ให้เป็น 'คำบาลี' อีกวิธีหนึ่ง  สองชื่อแรกเป็นการบวชชั้นเดียว โดยแปลชื่ออย่างตรงไปตรงมา แต่ชื่อหลังถือเป็นการบวช ๒ ชั้น ทั้ง ๒ ชั้นเป็นการบวชชื่อด้วยความเข้าใจผิด

เจ้าหน้าที่ราชสำนักบวชคำว่า กุด เป็น กุฏิ (อ่านว่า กุด) ทั้ง ๆ ที่ภาษาอีสาน กุด หมายถึง ลำน้ำที่ปลายด้วน คนละความหมายกับ กุฏิ  จากนั้นบวชคำว่า กุฏิลิง เป็น วานรนิวาส ด้วยความเข้าใจผิดว่า ลิง เป็น สัตว์ แต่แท้จริงแล้ว ลิง ในที่นี้เป็น พืช คือ ต้นหูลิง (Hymenocardia punctata) ที่มีขึ้นอยู่มากในบริเวณนั้น

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 06 ก.ย. 21, 08:30

การจับบวชคำว่า "กุด" อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง อยู่ในกระทู้ ที่มาของชื่อจังหวัดในประเทศไทย

มหาสารคาม มีชื่อเดิมคือ บ้านลาดกุดยางใหญ่ หรืออีกชื่อคือ บ้านลาดกุดนางใย ถ้าว่ากันตามที่มาของชื่อ มหาสารคาม แล้ว คงมาจากชื่อ บ้านลาดกุดยางใหญ่ ซึ่งเป็นชื่อที่แพร่หลายมากกว่า บ้านลาดกุดนางใย

หลักฐานที่คำว่า กุดยางใหญ่ เป็นที่มาของชื่อเมือง คือ สารตราเจ้าพระยาจักรีที่มีมาถึงพระขัติยวงษา เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ลงวันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู สัปตศก ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๘ เรื่องการขนานนามบ้านลาดกุดยางใหญ่ เป็นเมืองมหาสาลคามนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว แนวทางการตั้งชื่อเมืองก็มักจะหาเค้าเงื่อนจากชื่อเดิมบ้าง หรือสิ่งสำคัญของบริเวณนั้นบ้าง แล้วตั้งชื่อใหม่เป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤต ๒-๓ ชื่อ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงเลือกเพียง ๑ ชื่อ แล้วพระราชทานไปยังหัวเมืองใหม่นั้น
 
มหาสาลคาม คำนี้มาจาก มหา = ใหญ่  สาล = ต้นยาง เพราะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานรุ่นเก่า ระบุว่า ต้นสาละคือต้นไม้ยืนต้นประเภทต้นรัง ต้นยาง  และคาม = กุด  แท้จริง กุด หมายความถึงบริเวณที่ลำน้ำไหลมาสิ้นสุด แต่ราชสำนักกรุงเทพฯ เข้าใจว่า กุด คือ กุฏิ หรือที่อยู่อาศัย (ดังกรณีตั้งบ้านกุดลิง เป็นเมืองวานรนิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔) ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็น มหาสารคาม จนถึงทุกวันนี้
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 06 ก.ย. 21, 09:43

          พูดถึง การบวชชื่อจังหวัด คุณเพ็ญกล่าวถึงจังหวัดทางอีสานแล้ว ลองขึ้นไปทางเหนือบ้าง นึกถึง

          เมืองน่าน มาจากชื่อแม่น้ำน่าน ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ตั้งแต่แรกตั้งเมืองใหม่
ต่อมาถึงกาลสมัยที่พุทธศาสนาและภาษาบาลีรุ่งเรืองในล้านนา จึงมีการเรียกชื่อเมืองน่านว่า “นันทบุรี” หรือ
“นันทบุรีศรีนครน่าน” 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 06 ก.ย. 21, 13:02

ชื่อเมืองเชียงใหม่ และอาณาจักรล้านนา ในภาษาบาลีสันสกฤต มีเค้าเงื่อนอยู่ในสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานแด่เจ้าอุปราชผู้รั้งเจ้านครเชียงใหม่

จาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๘ หน้า๑๘๑๑ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๓๐


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 06 ก.ย. 21, 13:07

นพีสี เป็นอีกชื่อหนึ่งของเชียงใหม่

คำนี้มีที่มาค่อนข้างซับซ้อน คือทั้งได้จากชื่อเดิมด้วย และได้จากการผูกศัพท์ตามความหมายของชื่อเมืองด้วย กล่าวคือ

บริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่ เดิมชื่อ “เวียงนพบุรี” แปลว่าเมืองของชาวลัวะทั้งเก้าตระกูล เมื่อพระยามังรายสร้างเมืองใหม่สวมทับเวียงนพบุรี จึงตั้งชื่อเมืองว่า “เชียงใหม่” (เชียงคือเมือง) พ้องกับชื่อเดิมคือ นพบุรี ที่สามารถแปลความหมายได้ว่า คเมืองใหม่ หรือเชียงใหม่ก็ได้

อนึ่ง สถานที่ตั้งดังกล่าว ตามตำนานยังว่าเป็นที่อยู่ของฤาษีเก้าตน จึงมีการผูกศัพท์เป็นภาษาบาลีพ้องคำเดิมว่า “นพีสี” โดยคำว่า “นพ” มาจาก นว แปลว่า เก้า หรือ ใหม่ และคำว่า “อิสี” หมายถึง ฤๅษี หรือนักบวช ซึ่งในภาษาโบราณล้านนาเรียกนักบวชว่า “เชียง” ด้วย

ดังนั้น “นพีสี” จะแปลว่า ฤๅษีทั้งเก้า หรือ เชียงใหม่ ก็ได้ทั้งสองความหมาย

จาก มติชนสุดสัปดาห์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 06 ก.ย. 21, 13:09

คำว่า ทศลักษณเกษตร ในราชกิจจานุเบกษา ที่ถูกต้องต้องเขียนว่า ทศลักษเกษตร เป็นภาษาสันสกฤต บาลีว่า ทสลกขฺเขตตฺ (ปรากฏอยู่ในใบลานจากเมืองน่านและที่อื่น ๆ จำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐ แห่ง) แปลว่า ล้านนา แยกศัพท์ออกมาได้ดังนี้

ทศ = สิบ, ลักษ = แสน, เกษตร = นา

สามารถอ่านคำอธิบายโดย อาจารย์ทองย้อย แสงสินชัย ได้ที่ dhamma.serichon

ล้านนา คู่กับ ล้านช้าง ซึ่งมีชื่อที่ถูกจับบวชแล้วเช่นกัน คือ ศรีสตนาคนหุต

ศรีสตนาคนหุต แยกคำศัพท์ออกมาได้ว่า ศรี = ใช้นำหน้าชื่อเมืองเพื่อยกย่อง เช่นศรีอยุธยา สต = ร้อย นหุต = หมื่น  นาค = ช้าง รวมความแล้ว แปลว่า ล้านช้าง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 06 ก.ย. 21, 13:36

ลักษ = แสน

ชื่อท้องถิ่นที่มีคำว่า แสน ถูกจับบวชเป็น ลักษ  (ไม่มี ณ) มีให้เห็นอยู่ ๒ ชื่อ

กันทรลักษ์ เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ ท้องถิ่นนี้เดิมชื่อบ้าน “ห้วยลำแสน” (กันทร = ห้วย, ลักษ์  = แสน)

ชื่ออำเภอนี้เคยสะกดว่า “กันทรลักษณ์" ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "กันทรลักษ์" (ไม่มี ณ)

ขาณุวรลักษบุรี เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดกำแพงเพชร ท้องถิ่นนี้เดิมชื่อบ้าน “แสนตอ” (ขาณุ = ตอ, ลักษ = แสน)

ชื่ออำเภอนี้เคยสะกดว่า “ขาณุวรลักษณบุรี” (มี ณ) ปัจจุบันตัด ณ ออกแล้วเช่นกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.038 วินาที กับ 19 คำสั่ง