เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 15856 ความรู้ในลิ้นชัก
kui045
มัจฉานุ
**
ตอบ: 94


ความคิดเห็นที่ 285  เมื่อ 16 ก.ย. 21, 17:31

ต่อเรื่องความอยากรู้ของผมครับ

ก็มาดูเรื่องทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ซึ่งจะขอกล่าวถึงอย่างง่ายๆเท่าที่พอจะมีความรู้ว่า    พระเจ้าอโศกฯส่งธรรมทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนา (ช่วงครองราชย์ ประมาณ พ.ศ. 200-300)  พระธรรมทูตสายที่ 8 ออกเดินทางโดยมีพื้นที่เป้าหมายในย่านแหลมทองรวมทั้งอินโนีเซีย   ศาสนาพุทธในจีนเริ่มอย่างจริงจังเมื่อประมาณ พ.ศ.800 แต่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเมื่อประมาณ พ.ศ.1200 (สมัยราชวงค์ถัง)  เซอรามิกส์ Blue & White เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในช่วง พ.ศ.1300++   อินโดนีเซียเริ่มหันไปนับถือศาสนาอิลามในช่วงประมาณ พ.ศ.1400    อาณาจักรทวาราวดีมีอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.1100 -1500  เขาพระวิหารเกิดขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.1500  อาณาจักรสุโขทัยเกิดขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.1700

ในภาพที่ได้กล่าวถึงนี้ จะเห็นว่า มีอิทธิพลของศาสนาฮินดูเป็นบริเวณจำเพาะอยู่ในพื้นที่อิสาน เขมร และภาคกลางของไทยในช่วงเวลาหนึ่ง ในขณะที่ในพื้นที่รอบๆอื่นใดอยู่ในอิทธิพลของศาสนาพุทธ  ต่อมาในพื้นที่ทางใต้รวมทั้งอินโดนีเซียก็มีการหันไปนับถือศาสนาอิสลาม

ประเด็นที่เป็นความสนใจของผมก็คือ เราพอจะรู้เส้นทางของการเดินทางเชื่อมต่อทางสังคมและวัฒนธรรมว่า ทางหนึ่งใช้เส้นทางบก อีกทางหนึ่งใช้เส้นทางทะเล แต่ดูเหมือนจะไม่มีสิ่งตกค้างทางวัตถุและวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่างๆให้ได้เห็นกันตามพื้นที่ๆน่าจะเป็นเส้นทางที่พึงใช้กัน  ดูจะมีแต่อาหารเท่านั้นที่พอจะบ่งบอกที่มาที่ไปได้บ้าง ว่าลงมาจากทางเหนือ หรือขึ้นไปจากทางใต้ หรือมาจากแดนไกล ซึ่งก็อาจจะพอเดาต่อไปได้ถึงเส้นทางที่ใช้กันในการเดินทางของผู้คนในอดีตได้   หากเป็นการมโนที่ล่องลอยมากจนเกินไปก็ต้องขออภัยด้วยครับ 

ที่จริงแล้วเส้นทางสมัยโบราณก็น่าจะพอปะติดปะต่อได้จากวัตถุทางโบราณคดีที่ขุดค้นได้ตั้งแต่สมัยทวาราวดี
เป็นต้น ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีพวกลูกปัด ที่มาจากตะวันออกกลาง ที่ส่วนตัวคาดว่าเดินทางเข้ามาจากทางมอญ พม่า
ย้อนไปตอนต้น ที่พุทธศาสนาแพร่มาสู่ สุวรรณภูมิ ก็คาดว่าน่าจะขึ้นฝั่งทางพม่า จนแพร่มาถึง นครปฐม มีการสร้างพระปฐมเจดีย์ที่มีการบูรณะมาเรื่อยๆ
ส่วนทางใต้ ก็มีเจดีย์ที่นครศรี ไม่แน่ใจว่าที่ไหน จะสร้างก่อนกัน

ส่วนการเดินทางเส้นอื่น ก็คงมีการเดินทางจากทางบกที่ลัดจากฝั่งอันดามันมาอ่าวไทย
มีจุดหนึ่งที่คลองท่อม จ.กระบี มีวัตถุพยาน คือลูกปัดสุริเทพ
 
บางส่วน ก็คงแล่นเรืออ้อมแหลมมลายูมาขึ้นฝั่งที่เขมร นำศาสนาพราหณ์ฮินดูมา โดยมีอิทธิพลมากช่วงจักรวรรด์ขอม
ส่วนยุคต่อๆ มาก็อาศัยสืบจากศิลาจารึก สมัยสุโขทัย เริ่มสมัยพ่อขุนรามที่รับศาสนาพุทธลังกาวงศ์ โดยมาจากนครศรีธรรมราช
ในยุคต่อๆ มา อาณาจักรสุโขทัย ก็เคย แผ่อิทธิพลไปถึงพม่า (เมาะตะมะ,เมาะลำเลิง เดินเข้าทาง แม่สอด เมืองฉอด เมืองตาก ก่อนเข้าสุโขทัย)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 286  เมื่อ 16 ก.ย. 21, 18:22

ขอบคุณที่ช่วยขยายความครับ     ธาตุโคบอลท์นี้ได้มาจากแร่ Lapis Lazuli ที่เอามาทำเป็นเครื่องประดับกันตั้งแต่ยุคหิน แหล่งผลิตที่สำคัญตั้งแต่โบราณอยู่ในอัฟกันนิสถานตอนเหนือ    สำหรับปี พ.ศ. 1300++ ที่ผมว่าแพร่หลายนั้น ผมแปลงจาก ค.ศ. (โดยบวก 543 เข้าไป)   ด้วยเมื่อประมาณ ค.ศ. 800 จะเป็นประมาณช่วงเวลาที่เตาเผาจีนกำลังแข่งขันกันพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด เป็นที่พอใจที่สุดตามนิยมของจักรพรรดิ์  ที่เขียนไปว่ารู้จักกันอย่างกว้างขวางนั้น ก็มีประสงค์จะสื่อในความหมายนี้   ก็คงบอกเล่าไปไม่ชัดเจน แต่ก็ยังอาจจะผิดอยู่อีกก็ได้  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 287  เมื่อ 16 ก.ย. 21, 19:55


ที่จริงแล้วเส้นทางสมัยโบราณก็น่าจะพอปะติดปะต่อได้จากวัตถุทางโบราณคดีที่ขุดค้นได้ตั้งแต่สมัยทวาราวดี
เป็นต้น ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีพวกลูกปัด ที่มาจากตะวันออกกลาง ที่ส่วนตัวคาดว่าเดินทางเข้ามาจากทางมอญ พม่า
ย้อนไปตอนต้น ที่พุทธศาสนาแพร่มาสู่ สุวรรณภูมิ ก็คาดว่าน่าจะขึ้นฝั่งทางพม่า จนแพร่มาถึง นครปฐม มีการสร้างพระปฐมเจดีย์ที่มีการบูรณะมาเรื่อยๆ
  ส่วนทางใต้ ก็มีเจดีย์ที่นครศรี ไม่แน่ใจว่าที่ไหน จะสร้างก่อนกัน
  ส่วนการเดินทางเส้นอื่น ก็คงมีการเดินทางจากทางบกที่ลัดจากฝั่งอันดามันมาอ่าวไทย
  มีจุดหนึ่งที่คลองท่อม จ.กระบี มีวัตถุพยาน คือลูกปัดสุริเทพ
  บางส่วน ก็คงแล่นเรืออ้อมแหลมมลายูมาขึ้นฝั่งที่เขมร นำศาสนาพราหณ์ฮินดูมา โดยมีอิทธิพลมากช่วงจักรวรรด์ขอม
  ส่วนยุคต่อๆ มาก็อาศัยสืบจากศิลาจารึก สมัยสุโขทัย เริ่มสมัยพ่อขุนรามที่รับศาสนาพุทธลังกาวงศ์ โดยมาจากนครศรีธรรมราช
ในยุคต่อๆ มา อาณาจักรสุโขทัย ก็เคย แผ่อิทธิพลไปถึงพม่า (เมาะตะมะ,เมาะลำเลิง เดินเข้าทาง แม่สอด เมืองฉอด เมืองตาก ก่อนเข้าสุโขทัย)

ครับ ผมเห็นด้วยว่าทางบกก็ต้องมาจากชายฝั่งของรัฐมอญ จุดเริ่มต้นก็คงจะหนีไม่พ้นไปจากเมืองที่อยู่ตามปากแม่น้ำ  การเดินทางข้ามมาฝั่งอ่าวไทยก็คงจะไม่เลือกทางเดินขึ้นเขาหรือข้ามเขาสูง   ก็จะต้องเป็นเส้นทางตามร่องเขาที่ค่อนข้างจะราบซึ่งก็จะมีอยู่ไม่มากนัก    เดาเอาตามประสาคนเดินทำงานในพื้นที่ป่าดงว่า เมื่อโผล่ถึงที่ราบแล้ว ตามลักษณะนิสัยของคนเดินทางหรือนักสำรวจก็จะต้องมองหาจุดที่เป็น landmark    ในภาพนี้ก็เลยดูจะพอจำกัดร่องเขาได้อีกพอสมควร ทำให้พอเดาต่อไปได้อีกว่า น่าจะเป็นเมืองใดในปัจจุบันนี้ที่มี landmark ที่พอจะมองเห็นได้ตลอดเวลา   แล้วก็คงจะต้องผนวกเรื่องของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยเมื่อ 1000+ ปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าระดับในปัจจุบัน น้ำทะเลระดับนี้ทำให้ชุมชนนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี อยู่ติดชายทะเล...
 
บันทึกการเข้า
Namplaeng
ชมพูพาน
***
ตอบ: 183


ความคิดเห็นที่ 288  เมื่อ 17 ก.ย. 21, 13:21

อ้างถึง
ธาตุโคบอลท์นี้ได้มาจากแร่ Lapis Lazuli ที่เอามาทำเป็นเครื่องประดับกันตั้งแต่ยุคหิน แหล่งผลิตที่สำคัญตั้งแต่โบราณอยู่ในอัฟกันนิสถานตอนเหนือ    สำหรับปี พ.ศ. 1300++ ที่ผมว่าแพร่หลายนั้น ผมแปลงจาก ค.ศ. (โดยบวก 543 เข้าไป)

ขอโทษนะครับ

1. White & Blue เป็นเครื่องเคลือบที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ต่างจากเครื่องเคลือบจีนยุคอื่นมังครับ

2. Lapis Lazuli กับ สีวาดลายเครื่อง White & Blue เป็นคนละชนิดกันครับ

...

lapis lazuli is lazurite. ....

lazurite เป็นแร่ที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ Sodium และ Silicate มีชื่อทางเคมีว่า Sodalite  ครับ

.

ส่วนสี ที่ใช้วาดเครื่อง White & Blue ที่จีนสมัยหยวนรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเปอร์เซีย ท่านได้จากการบดแร่ Smalt 

แร่ Smalt มีองค์ประกอบคือ potassium cobalt silicate ครับ

...

อ่าน Cobalt blue ที่

https://web.facebook.com/photo/?fbid=2685047848411680&set=a.1443756242540853
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 289  เมื่อ 17 ก.ย. 21, 19:33

 อายจัง   ขอบคุณครับที่ท้วงติงมา  ขอบคุณที่ช่วยกระตุกขาไก่ตัวใหญ่ที่กำลังวิ่งออกจากเล้า ก็เพลิดเพลินและเผอเรอไปอย่างไม่น่าจะให้อภัย  มัวแต่ไปนึกถึงแร่ที่มีสี deep blue  และวิธีการทำสีเคลือบแบบโบราณที่เอาวัสดุให้สีมาตำให้ละเอียดแล้วผสมลงไป  ก็เลยเขียนเพลินไป

ขอเสริมก็แล้วกันว่า Lazurite เป็นแร่น้ำเงินเข้มที่เกิดในหินแปร  จัดอยู่ในกลุ่มแร่ที่เรียกว่า Sodalite

สำหรับ Smalt นั้น คงไม่จัดให้เป็นแร่ตามธรรมชาติ หากแต่เป็นแก้วสีน้ำเงินที่ได้มาจากการทำแก้วที่มีส่วนผสมของธาตุ Potassium  Cobalt และ Quartz       

แก้วได้มาจากการนำทรายมาหลอมละลายแล้วทำให้เย็นตัวลงด้วยควมรวดเร็ว   ทรายโดยทั่วๆไปจะมีเม็ดทรายเกือบทั้งหมดเป็นแร่ Quartz  ส่วนที่เหลือก็มักจะเป็นแร่ Feldspar   ซึ่งแร่ Feldspar นั้น มีอยู่สองชนิดที่พบมากในทราย ชนิดหนึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นธาตุ Potassium และอีกชนิดหนึ่งเป็น Sodium   เป็นอันว่าการทำแก้วให้ได้สีน้ำเงินก็จะขาดส่วนผสมที่เป็นธาตุ Cobalt    ตัวแร่โคบอลท์เป็นแร่หายาก พบอยู่ไม่กี่แห่งในโลก  แต่ธาตุโคบอลท์พบเป็นส่วนผสมอยู่ในแร่บางชนิดในกลุ่มแร่ Sulfide ที่รวมกลุ่มกันอยู่เป็นแหล่งแร่ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ซึ่งเป็นแหล่งแร่ที่สามารถขุดมาถลุงเพื่อเอาโลหะเงินและทองคำ ซึ่งหากกรรมวิธีถูกต้องก็อาจจะได้ Cobalt และ Bismuth ในตะกรัน หรือ.??    โลหะทองคำและโลหะอื่นๆที่เกิดเองตามธรรมชาติ ก็เกิดได้ในแหล่งแร่เช่นนี้    ก็เป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ว่าคนโบราณก่อนคริสกาลเขาได้ Cobalt มาจากวัสดุใดหรือด้วยวิธีการใด     Cobalt และ Bismuth ให้สีน้ำเงินเหมือนกัน   

     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 290  เมื่อ 17 ก.ย. 21, 20:26

อ่าน comment ของคุณ Namplaeng แล้ว  ก็มีสิ่งบอกเหตุว่าเป็นผู้มีความรู้ที่ลึกซึ้งและมีความสันทัดกรณีเกี่ยวกับเรื่องของเครื่องปั้นดินเผาเอามากๆทีเดียว  ก็เลยจะขอให้ช่วยขยายความรู้เรื่อง pottery wares ต่างๆ เช่น earthenware  stoneware  porcelain ..   และโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับด้านของคุณสมบัติเฉพาะตัวของงานในแต่ละช่วงเวลาของวัตถุโบราณต่างๆ   หรือจะตั้งเป็นกระทู้ใหม่เล่าความก็น่าจะเป็นบันทึกที่น่าสนใจยิ่ง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 291  เมื่อ 18 ก.ย. 21, 18:56

ต่อเรื่องให้จบกระทู้นี้นะครับ  ช่องทางเดินตัดจากฝั่งทะเลอันดามันมาอ่าวไทย    ตามวัตถุทางโบราณคดี ก็น่าจะเริ่มที่คลองท่อม ใช้เส้นทางไปสู่พื้นที่ทุ่งสง หรือห้วยยอด แล้วเข้าช่องเขาไปโผล่นครศรีธรรมราช     อีกเส้นทางหนึ่งที่เป็นไปได้ก็อาจจะเริ่มแถวปากคลองปะเหลียน จ.ตรัง ไปทางห้วยยอด ตัดช่องเขาเข้าสู่พื้นที่พัทลุง ใช้เขาทะลุเป็น landmark  แล้วขึ้นเหนือไปนครศรีธรรมราช     และอีกเส้นทางที่เป็นไปได้อาจจะเริ่มต้นจากปากคลองท่าจีน จ.สตูล ตัดช่องเขาไปสู่พื้นที่ อ.รัตนภูมิ และทะเลสาบสงขลา

จากมุมมองในกรณีที่ไม่ใช้ใช้เส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณคลองท่อม  ก็พอจะเห็นว่าปลายทางทั้งหลายอยู่ในพื้นที่ของ จ.พัทลุง ก่อนที่จะเดินขึ้นเหนือต่อไปยังนครศรีธรรมราช    ซึ่งก็พอจะมีอะไรที่จะใช้สนับสนุนการมโนของผมอยู่บ้าง  พัทลุงมีอะไรๆที่มีความต่างกับพื้นที่รอบๆตัว ก็คือลักษณะโครงสร้างและใบหน้าของบุคคลชาวถิ่น  เรื่องของ school of thought   เรื่องของความนิยมในการผลิตและบริโภคข้าวบางสายพันธุ์ (เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวเล็บนก..) และเรื่องของอาหาร (เช่น สาคูจากต้นสาคู) และการถนอมอาหาร (เช่น ปลาดุกร้า)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 292  เมื่อ 18 ก.ย. 21, 20:27

ก็ยังมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องทางประวัติศาสตร์/โบราณคดีเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อีก แต่จะไม่กล่าวถึงต่อไป   

ผมรู้สึกตัวเองว่าเข้าสู่วัยช้า คิดช้า สับสนง่าย หลงลืม ความแม่นยำในความรู้ทางวิชาการแต่เดิมลดน้อยลงไป   ก็คงจะสังเกตเห็นว่า ผมใช้เวลานานอยู่ในกระทู้ แต่เขียนแสดงความเห็นได้เพียงหนึ่งหรือสองความเห็นเท่านั้น ก็ช้าทั้งการประมวลให้เป็นประโยคที่อ่านเข้าใจได้ ช้าทั้งการตรวจสอบการเขียนให้ถูกหลักภาษา (พอสมควร) ตรวจการสะกดให้ถูกต้อง แถมยังช้าที่ต้องอ่านทบทวนและต้องแก้ไข้การพิมพ์ผิดพิมพ์ถูกอีกด้วย  ประกอบกับเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ มีเชิงวิชาการมาเกี่ยวข้องบ้าง หลายๆเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถจะกล่าวถึงหรือเล่าความได้เลย   ยากขึ้นไปอีกหน่อยเพราะเป็นเรื่องในลักษณะก่อ มิใช่ในลักษณะขยายความต่อ    เคยคิดจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับการทำงานระบบใน UN จากประสบการณ์ 4 ปีของตนเอง  แล้วปิดท้ายด้วยกระทู้เรื่องประสาคนสูงวัย แต่ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ    ก็เลยคิดว่าจบจากเรื่องของกระทู้นี้แล้ว ก็คงจะต้องลงจากเวทีนี้แล้วละครับ     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 293  เมื่อ 19 ก.ย. 21, 08:58

อ้างถึง
เคยคิดจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับการทำงานระบบใน UN จากประสบการณ์ 4 ปีของตนเอง  แล้วปิดท้ายด้วยกระทู้เรื่องประสาคนสูงวัย แต่ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ    ก็เลยคิดว่าจบจากเรื่องของกระทู้นี้แล้ว ก็คงจะต้องลงจากเวทีนี้แล้วละครับ   

อย่าเพิ่งลงจากเวทีเลยค่ะ   อยากรู้เรื่องการทำงานใน UN   เป็นประสบการณ์ที่หายากมาก   
เรื่องประสาคนสูงวัย ก็อยากอ่านค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 294  เมื่อ 19 ก.ย. 21, 18:05

ขอบคุณอาจารย์มากครับ   ทำให้ได้ย้อนคิดไปถึงความตั้งใจแต่เดิมว่า ตัวเองมีโอกาสและมีหลากหลายประสบการณ์ที่น่าจะได้ถ่ายทอดเป็นตัวอักษร ซึ่งจะกระจายได้มากกว่าการบอกเล่าด้วยปากเปล่าในกลุ่มคนเล็กๆ  เผื่อว่าอาจจะมีเพียงเกล็ดเล็กๆน้อยๆที่มีประโยชน์ หรืออาจจะพอมีอะไรๆที่สะกิดใจสำหรับผู้คนรุ่นหลังให้ใด้นำไปคิดและพัฒนาอะไรๆใหม่ๆขึ้นมาเพื่อประโยชน์สำหรับตนหรือแก่สังคม   

คิดเองเออเองว่า knowledge ได้มาจากการเรียนรู้เรื่องราวทางตำรา แต่ wisdom นั้นได้มาจากการเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องราวทางประสบการณ์    ก็ยินดีที่จะเล่าทั้งสองเรื่องนั้นเพื่อความเป็นประโยชน์ต่างๆ ครับ   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 295  เมื่อ 19 ก.ย. 21, 19:01

ขอบคุณที่จะอยู่ต่อค่ะ   คุณตั้ง
ความรู้ในตำราอาจขวนขวายหาอ่านได้  แต่ความรู้จากประสบการณ์เป็นสิ่งหายากกว่า ถ้าเจ้าตัวไม่ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รู้ บางทีก็อาจจะสูญหายไปอย่างน่าเสียดายมาก    เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนเป็นเรื่องเฉพาะตัว  ไม่ได้มีกันหลายเล่มอย่างตำรา
ในเรือนไทยยังไม่มีใครเคยเป็นทูตอุตสาหกรรมอย่างคุณตั้ง   ดิฉันเองก็ไม่ค่อยรู้ว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง  ทราบแต่ว่าเคยประจำอยู่หลายประเทศ
ถ้าจะถ่ายทอดเป็นวิทยาทานก็จะมีประโยชน์แก่คนรุ่นหลังอย่างมากค่ะ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 296  เมื่อ 19 ก.ย. 21, 19:36

สำหรับเส้นทางธรรมทูตที่เกี่ยวเนื่องกับองค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐมนั้น ก็มีความเป็นไปได้ทั้งด้วยการใช้เส้นทางเรือเลาะชายฝั่งและเส้นทางบก แต่ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นการใช้ทางเรือ เพราะการเดินจากชายฝั่งพม่ามาชายฝั่งไทยจะต้องเดินข้ามเทือกเขาตะนาวศรี ป่าในสมัยนั้นไม่ใช่เดินได้ง่ายๆ   ผมมโนเรื่องเปื่อยไปว่า พระปฐมเจดีย์อาจจะเป็นหลักเขตสัญลักษณ์ที่พระพุทธศาสนาได้แพร่มาถึง (คล้ายเจดีย์สามองค์) แต่สถานที่ๆเป็นที่ตั้งของชุมชนอาจจะเป็นที่เพชรบุรี เพราะมีแม่น้ำเพชรฯเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้  เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีชุมชนพราหมณ์ พัทลุงก็ดูจะมีผู้คนเชื่อสายพราหมณ์เช่นกัน (? จำได้ไม่แม่นแล้ว)

ก็จะขอออกจากเรื่องนี้เพียงเท่านี้   ท่านที่อ่านก็อย่าเชื่อเรื่องที่ผมมโนมานี้นะครับ  คิดเสียว่าอ่านเรื่องของคนที่รู้น้อยก็แล้วกัน  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 297  เมื่อ 20 ก.ย. 21, 18:51

อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ ก็มีความน่าสนใจ จัดเป็นเมืองเก่า จัดเป็นเมืองท่า(เรือ) และมีการแต่งตั้งเจ้าเมือง   หากเดินทวนน้ำคลองบางสะพานขึ้นไปก็จะข้ามช่องเขาลงสู่ห้วยในเขตพม่า ซึ่งจะนำพาไปสู่ชายฝั่งทะเลอันดามันย่านเมืองมะริดของพม่า

ที่บางสะพานนี้มีทองคำบริสุทธิ์ มีชื่อโด่งดังมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ผมไม่เคยเข้าไปดูสถานที่ๆเขาทำการขุดทองกัน เคยแต่ได้เห็นตัวทองคำของแหล่งนี้ และรู้แต่ว่าแหล่งขุด/เลียงทองคำอยู่ในบริเวณพื้นที่ของห้วยจังหัน ในเขต ต.ร่อนทอง ของ อ.บางสะพาน  ในปัจจุบันนี้คงจะหมดไปแล้ว หากจะมีก็คงจะน้อยมากจนได้ทองไม่คุ้มค่ากับการไปนั่งเปียกน้ำเลียงร่อนกันทั้งวัน  ต่างกับที่ทองที่บ้านโต๊ะโม๊ะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่ยังทำกันเมื่อยามว่างจากงานสวน    เมื่อครั้งไทยเสียดินแดนให้อังกฤษนั้น อังกฤษอาจจะคำนึงถึงศักยภาพของแหล่งแร่ทองคำจากต้นกำเนิดแถวทิวเขาบริเวณนี้ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตของสองฟากฝั่งทะเลก็เป็นได้  เลยลากเส้นแบ่งเขตตั้งแต่ปากคลองกระ(บุรี) ตามน้ำขึ้นไป    ผมเคยได้ยินชาวบ้านซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เล่าเรื่องเล่าของผู้เฒ่ารุ่นปู่ย่าตายายของเขาว่า เส้นแบ่งแดนที่ควรจะเริ่มต้นที่ปากแม่น้ำสาละวินนั้น ถูกฉ้อฉลไป(เริ่มต้นที่คลองกระ)  จึงเป็นเหตุให้มีหมู่บ้านคนไทยตกค้างอยู่ในเขตพม่า ก็เป็นเรื่องที่น่าจะได้ยินไว้ จะจริงเท็จเช่นใดก็สุดแท้แต่จะพิจารณากัน

ทะเลแถบบางสะพาน อยู่ในลักษณะของทะเลเปิด มีคลื่นลมดี ออกไปทางแรง  ทำให้มีการหมุนเวียนของ plankton และสัตว์ทะเลตัวเล็กๆที่เป็นอาหารหนุนเข้ามาเสริมอยู่ตลอดเวลา ก็จึงไม่แปลกที่จะมีฉลามวาฬแวะเวียนเข้ามา พวกแมงกะพรุนก็มีมากเช่นกัน    ของดีจากทะเลก็เลยดูจะไม่พ้นพวกที่เนื้อแน่นเต่งตึง แต่ในปัจจุบันนี้มีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุเรียน  ก็ดีมากพอที่ tag ได้ว่าเป็นทุเรียนบางสะพาน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 298  เมื่อ 20 ก.ย. 21, 20:06

ขอเสริมอีกนิดนึงว่า ในพื้นที่ชายฝั่งย่านบางสะพานนี้ ในแต่ละปี หลังฤดูมรสุม จะมีพวกทรายจากก้นทะเลลึกถูกพัดพาขึ้นมาสะสมอยู่บนชายหาด เป็นเม็ดทรายที่เป็นเม็ดแร่บางชนิดที่มีน้ำหนักต่อหน่วย(ถ.พ.)มากกว่าเม็ดทราย(quartz)ตามปกติ  ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการ upwelling ของน้ำทะเล มีการพัดพาเอาสารอาหารจากใต้ท้องน้ำขึ้นมาสู่ผิวน้ำ (phosphate....)  ซึ่งเป็นอาหารชั้นดีและหายากของสัตว์ทะเลที่หากินใกล้ผิวน้ำ     

แล้วก็ "บางเบิด"  ซึ่งสำหรับผู้ที่ทำสวนและนักกินแตงโมน่าจะรู้จักดี    บางเบิดเป็นขื่อสถานที่แรกปลูกของแตงโมสายพันธุ์หนึ่ง ต่อมามีการนำสายพันธุ์นี้ไปปลูกในหลายๆพื้นที่ทั่วไทย เลยเรียกกันว่าแตงโมบางเบิด มีเนื้อในเป็นสีแดงสด แกนกลางเป็นเนื้อทราย ใส้ไม่ล้ม กัดกินแล้วหอมฉ่ำชื่นใจ สำหรับประวัติที่มาที่ไปนั้นสามารถค้นหาได้ในเว็ปครับ
   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 299  เมื่อ 21 ก.ย. 21, 18:50

จกบางสะพานก็เข้าสู่พื้นที่ตั้ง จ.ชุมพร  ซึ่งเป็นพื้นที่ๆต่อแดน เริ่มต้นทางวัฒนธรรมของความเป็นภาคใต้อย่างสมบูรณ์ทั้งในเชิงของภาษาและสำเนียง และอาหาร ดังเช่น เครื่องแกงที่ใส่ขมิ้น  แต่ก็ยังคงมีลักษณะบางอย่างที่เป็นลักษณะของภาคกลางติดอยู่บ้าง เช่น รสของอาหารที่ยังมีความนุ่มนวลแฝงอยู่ ยังไม่มีความฉูดฉาดร้อนแรงและเข้มข้นดังเช่นของจังหวัดที่อยู่ใต้ๆลงไป     

ชุมพรเป็นเมื่อเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา (อาจจะตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย ??) มีเรื่องราวเกี่ยวกับชาวจามมาเกี่ยวข้องด้วย  จึงเป็นเมืองที่น่าสนใจอีกเมืองหนึ่งสำหรับผู้ที่ชอบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 20 คำสั่ง