เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 15703 ความรู้ในลิ้นชัก
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 30 ก.ค. 21, 18:58

ในพื้นที่ของแควใหญ่เกือบจะไม่มีชื่อสถานที่แบบพม่าดังที่กล่าวถึงแล้ว แต่ก็มีชื่อสถานที่ๆเป็นภาษามอญตกค้างอยู่หลายแห่ง เช่น ห้วยองคต  เขา/ห้วยอุ้ง(อง)หลุ  เขา/ห้วยองทั่ง ถ้ำองจุ เป็นต้น

เมื่อนึกดู เส้นทางเดินทัพทั้งหมดทั้งของไทยและพม่าน่าจะอิงตามลำน้ำแควน้อยเท่านั้น  แต่ในแควใหญ่เราก็มีเมืองด่านท่ากระดานซึ่งตั้งอยู่ตอนล่างของแคว แล้วเรามีเมืองด่านศรีสวัสดิ์ ตั้งอยู่ตอนบนของแคว  ผมก็เลยเกิดความสนใจในประเด็นว่า ตั้งเมืองด่านศรีสวัสดิ์ไว้ด้วยเหตุใด เพราะว่าเหนือจากศรีสวัสดิ์ขึ้นไปเป็นพื้นที่ป่าใหญ่และเขาสูงชันจริงๆ   ผมเคยเดินทำงานอยู่ในพื้นที่ด้านเหนือของศรีสวัสดิ์ ไม่เคยเห็นว่ามีช่องทางเดินลัดไปหาแควน้อยเลย มีแต่ช่องทางที่เดินขึ้นเหนือไปตามห้วยขาแข้งเท่านั้น     

จะเป็นเช่นใดก็ตาม คำว่าท่ากระดานดูจะมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวถึงตลอดมาจนถึงในปัจจุบัน  ก็คือ พระเครื่องท่ากระดาน เศียรคด สนิมแดง     จำได้ว่าเคยเห็นพระเครื่องทรงนี้ที่ทำด้วยดินเผา เป็นพระเก่าของคนพม่าคนหนึ่ง       

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 30 ก.ค. 21, 20:10

ตลอดลำน้ำแควใหญ่ตั้งแต่ตัว จ.กาญจนบุรีขึ้นเหนือน้ำไปเรื่อยๆจนถึง อ.ศรีสวัสดิ์ (ปัจจุบันนี้ อ.ศรีสวัสดิ์เก่า อยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนเจ้าเณร) พบว่ามีแต่ชื่อสถานที่ๆเป็นภาษาไทยทั้งนั้น (ยกเว้นตาม่องไล่ที่ได้กล่าวถึงแล้ว)  แล้วก็ยังดูคล้ายกับจะมีการใช้เส้นทางบนบกที่ใช้ในการสัญจรด้วย โดยเริ่มแยกออกจากแควใหญ่แถวๆท่ากระดาน (อยู่ใต้น้ำแล้วเช่นกัน) ไปดงเสลา เตาเหล้า แล้วก็เข้าด่านศรีสวัสดิ์   (สมัยก่อนจำชื่อสถานที่กันในเชิงชื่อพ้องกันของเส้นทางนี้ว่า ลำสะด่อง ช่องสะเดา ดงเสลา เตาเหล้า)

จากศรีสวัสดิ์ก็มีเส้นทางเดินไปทางทิศตะวันตกไปสู่พื้นที่ของแควน้อยใกล้ตัว อ.ทองผาภูมิ    ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกันว่า ในพื้นที่ราบเป็นหย่อมๆบนเขาสูงที่กั้นระหว่างแควใหญ่กับแควน้อยนี้ ไม่ปรากฎว่ามีชื่อสถานที่ในภาษาอื่นใดเลย นอกจากชื่อในภาษากะเหรี่ยง  จนกระทั่งลงสู่พื้นที่ึบึงเกริงกราเวียในที่ราบของแควน้อย โดยใช้เส้นทางลงใต้ผ่านห้วยอู่ร่อง (บ้านอู่ล่อง) เข้าสู่ อ.ทองผาภูมิ

ใกล้ๆจะไม่เป็นเรื่องเข้าไปแล้ว  ก็เลยขอสรุปสั้นๆในชั้นนี้ว่า ด่านศรีสวัสดิ์นั้นไม่น่าจะเป็นด่านที่เน้นเพื่อการใช้กำลัง ดูน่าจะเป็น outpost เพื่อการหาข่าวต่างๆและเพื่อการจัดหาทรัพยากรที่มีความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศในด้านต่างๆ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 31 ก.ค. 21, 19:02

ทิวเขาที่กั้นระหว่างแควใหญ่กับแควน้อยนั้น เป็นทิวเขาสูงที่มีที่ราบเป็นหย่อมๆ มีเชิงเขาทั้งสองฝั่งสูงชัน   ซึ่งในพื่้นที่ช่วงตัดตรงระหว่าง อ.ศรีสวัสดิ์ กับ อ.ทองผาภูมิ ก็มีแหล่งแร่ตะกั่วที่มีการทำเหมืองแต่โบราณแล้ว     สรุปข้อมูลเท่าที่ประมวลได้จากเอกสารฝ่ายไทยและการพูดคุยกับฝ่ายเยอรมันที่เข้ามาร่วมลุงทุนทำเหมืองตั้งแต่ประมาณ พศ.2485  พบว่าแหล่งแร่นี้เคยมรการทำเหมืองมาแล้วหลายช่วงเวลา การหาอายุจาก ธาตุคาร์บอน 14 (C14) พบว่า เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 800 ปีมาแล้วครั้งหนึ่ง ช่วงประมาณ 400 ปีอีกครั้งหนึ่ง   และจากบันทึกของไทยระบุว่าในช่วง ร.3 ก็มีการผลิตตะกั่วส่งออกไปขายเมืองจีน  ในปัจจุบัน การเริ่มฟื้นฟูเริ่มขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.2485 เป็นต้นมา (ปัจจุบันนี้ยุติการทำเหมืองทั้งหมดแล้ว)
ก็เลยทำให้มองในอีกมุมได้ว่า ด่านศรีสวัสดิ์อาจจะตั้งขึ้นมาส่วนหนึ่งก็เพื่อการเฝ้าระวังการลักลอบผลิตตะกั่วขายฝ่ายศัตรู และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อการจัดการนำส่งตะกั่วเพื่อเอาไปทำเครื่องกระสุนและอาวุธต่างๆ ก็เป็นได้ หากดูจากช่วงเวลาแล้ว กิจกรรมเช่นนี้ก็อาจจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว     

ที่ลานแหล่งแร่ตะกั่วในพื้นที่ด้านเหนือของหมู่บ้านคลิตี้ มีการพบเศษจาน/ชามที่เป็นเครื่องเคลือบแบบศิลาดล (ซึ่งพอจะเทียบเคียงกันได้ว่าไม่ต่างไปจากกับที่พบในจุดที่ฝังเครื่องศาสตราวุธและอุปกรณ์ที่ใช้กับสัตว์ต่างที่พบอยู่ในพื้นที่บ้านวังปาโท่ทางแควน้อย)  ที่พบเครื่องเคลือบแบบ Blue and White ก็มีบ้าง   แล้วก็มีที่พบอุปกรณ์/เครื่องใช้ในการกินหมาก โดยเฉพาะตะบันหมาก และก็ยังพบเสี้ยวของจานที่ทำด้วยตะกั่วอีกด้วย   

ผมคงจะไม่ขอออกความเห็นว่าคิดเป็นเรื่องราวเช่นใดกับข้อมูลแบบสะเปะสะปะโน่นนิดนี่หน่อยตามที่ได้เล่าความมา
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 01 ส.ค. 21, 18:10

ก็มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับชื่อสถานที่ในพื้นที่ราบติดทิวเขาตั้งแต่เขตของ จ.ราชบุรี ต่อเนื่องถึง จ.อยุธยา   ซึ่งชื่อเหล่านั้นดูจะบ่งบอกถึงลักษณะของการมีผู้คนต่างชาติพันธุ์/ต่างถิ่นมาอยู่กันเป็นกลุ่มๆในพื้นที่ราบย่านนี้  ซึ่งอาจจะเนื่องมากจากการรวมพลเพื่อการสงครามหรือจากการย้ายถิ่นฐานด้วยการอพยพใดๆก็ได้

ชื่อที่บอกเรื่องราวที่น่าสนใจจะเป็นชื่อของทางน้ำสายต่างๆที่ใช้คำนำหน้าชื่อว่า แม่น้ำ...  น้ำแม่...  แคว...  ลำ...  คลอง...

ผมมีข้อสังเกตว่า  ชื่อทางน้ำที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "แม่น้ำ..." เป็นคำที่ใช้กันในหมู่คนไทยในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ใช้กับทางน้ำสายใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี   คำว่า "น้ำแม่..." ใช้กันในหมู่ผู้คนที่ใช้ภาษาเหนือและกลุ่มผู้คนที่เราเรียกว่า ลาว ใช้กับทางน้ำที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี   คำว่า "แคว..." ใช้กันในหมู่คนไทยภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะในพื้นที่ๆเชื่อมต่อกับภาคอิสาน ใช้กับทางน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปี     คำว่า "ลำ..." ใช้กันในหมู่คนอิสาน ใช้กับทางน้ำที่มีน้ำตลอดปี   และคำว่า "คลอง..." ซึ่งใช้กันในหมู่คนไทยภาคกลางทั้งหมด ใช้กับทางน้ำที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และ/หรือใช้สัญจรทางเรือได้     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 01 ส.ค. 21, 19:02

ลองสำรวจดูก็พบว่า เรามีชื่อแควใหญ่ แควน้อย เมื่อทั้งสองแควมาบรรจบกันที่ตัวเมือง จ.กาญจนบุรี จากนั้นถูกเรียกว่า น้ำแม่กลอง แต่ในการเรียกชื่อที่เป็นทางการจะใช้คำว่าแม่น้ำแม่กลอง   ในพื้นที่ จ.ราชบุรี  มี ลำภาชี  เหนือขึ้นมาจากลำภาชีก็มี ห้วยบ้องตี้   มาถึงลาดหญ้า(กาญจนบุรี) ก็มี ลำสะด่อง ลำตะเพิน เหนือขึ้นไปอีกหน่อยก็มี ลำอีซู  แล้วจึงมีชื่อแบบไทยเข้ามาแซมมากขึ้นเช่น ช่องด่าน หลุมรัง หนองรี หนองปรือ ห้วยกระเจา เลาขวัญ ด่านช้าง  มันจะบอกเรื่องราวอะไรได้บ้างใหม ?

เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติม  เขาอึมครึมในพื้นที่ของ ต.หนองรี อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี เป็นแหล่งแร่เหล็ก แต่มีปริมาณไม่มากพอในเชิงเศรษฐกิจปัจจุบัน  ผมไม่มีความรู้ว่าในอดีตนั้นมีการขุดเอาไปถลุงเป็นเหล็กเพื่อใช้ประโยชน์ใดๆหรือไม่   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 02 ส.ค. 21, 18:20

ก็มีเรื่องเกี่ยวกับสำเนียงที่พูดกันที่น่าสนใจในพื้นที่ๆกล่าวถึงนี้อีกด้วย   สำเนียงแบบสุพรรณบุรีที่เหน่อมากที่สุด เหน่อมากจนถึงระดับฟังไม่ออกว่าพูดว่าอะไรก็มี ซึ่งผมเคยพบด้วยตนเอง  จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่มีความคุ้นเคยกัน เขาบอกว่าบ้านห้วยกระเจา (ปัจจุบัน_อ.ห้วยกระเจา)เป็นจุดที่มีสำเนียงแบบสุพรรณฯเหน่อมากที่สุด ชาวบ้านเขาก็รู้ตัวเอง ไม่รู้สึกโกรธ และก็พร้อมจะอธิบายขยายความให้เราเข้าใจ จัดว่าเป็นชาวบ้านแห่งหนึ่งที่มีนิสัยน่ารักมาก โดยทั่วๆไปจะเป็นคนอารมภ์ดี มีอารมภ์ขัน ตลก ซึ่งก็คงเป็นลักษณะพื้นฐานของผู้คนในกลุ่มที่พูดสำเนียงนี้ ที่เรียกกันว่าชาวสุพรรณฯ

เคยมีพนักงานขับรถชาวห้วยกระเจา ขับรถสิบล้อขนแร่ดีบุกไปส่งที่ จ.ภูเก็ต  ซึ่งด้วยสำเนียงที่เหน่อสุดๆนั้นทำให้คนทางใต้คิดว่าเขาเป็นคนใต้ จึงพูดภาษาใต้แบบแท้ๆกับเขา เขาฟังไม่ออก ก็อธิบายกันไปมาจนเข้าใจกัน  ในระยะหลังเมื่อขับรถไปส่งแร่ เขาจึงพยายามพูดให้น้อยที่สุด  เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งผมได้มีโอกาสพูดคุยกับพนักงานขับรถผู้นั้นโดยตรงด้วย ก็เป็นเรื่องสนทนาที่หัวเราะครื้นเครงกันไป 

เป็นเรื่องชวนให้คิดอยู่เหมือนกันว่า สำเนียงเหน่อๆนี้ดูมันจะมีความสอดคล้องกันระหว่างภาคกลางกับภาคใต้       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 02 ส.ค. 21, 19:26

ผมมีข้อสังเกตว่า สำเนียงของภาษาไทยในพื้นที่ราบด้านตะวันตกติดชายเขาตั้งแต่ประมาณประมาณ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ลงมาจนถึงประมาณ จ.ราชบุรี  มีการออกเสียงในหลายๆคำที่พอจะกล่าวได้ว่าดูจะคล้ายๆกัน  ซึ่งดูจะเป็นพวกคำที่เกิดจากการเปล่งเสียงออกมาในลักษณะของการตะโกนหรือตะเบ็งเสียงคำนั้นๆ เช่นคำว่า ยืน ที่จะออกเสียงไปคล้ายกับ ยื้น ฯลฯ  เมื่อเอาคำเหล่านี้มาร้อยเรียงเป็นประโยคแล้วพูดออกไป ก็เลยได้การออกเสียงที่ไปเป็นสำเนียงแบบเหน่อๆ     ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยไปว่า สำเนียงของภาษากลางแบบกรุงเทพฯนี้ ดูจะเป็นสำเนียงของภาษาไทยแบบไม่มีการตะโกนหรือตะเบ็งเสียงนั่นเอง ซึ่งน่าจะสื่อความต่อไปว่า เป็นสังคมที่มีความสงบ มีการดำรงชีวิตที่ไม่ต้องเร่งรีบ มีความเป็นชุมชนแบบบ้านใกล้เรือนเคียงกัน ...   

ก็เป็นความเห็นส่วนตัวที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานทางวิชาการใดๆ อาจจะพอมีประโยชน์เป็นจุดเล็กๆสำหรับ Hypothesis อื่นใดในทางวิชาการ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 03 ส.ค. 21, 18:31

เคยได้ยินจากผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาว่าสำเนียงของภาษาไทยแท้แต่ดั้งเดิมนั้นเป็นสำเนียงแบบสุพรรณฯ ซึ่งจะมีการออกเสียงหนักเบาต่างกันในที่พื้นที่ต่างๆ  ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีเหตุผลพอที่จะชวนให้คิดว่าก็อาจจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ 

ตัวผมเองเห็นว่าผู้คนที่พูดสำเนียงในลักษณะนี้ ล้วนมีรูปแบบของการใช้ประโยคคำพูดที่มีสำนวนเฉพาะ แม้จะต่างกันในแต่ละท้องถิ่น แต่ก็มักจะมีลักษณะที่แฝงไว้ด้วยตรรกะและปรัชญาในรูปที่ไม่ทำให้การสนทนาเกิดความเครียด การสนทนาต่างๆจึงมักจะเป็นไปในลักษณะที่ผ่อนคลายและสนุกสนาน  การไปเที่ยวสถานที่ต่างๆของสุพรรณจึงเป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายจริงๆ     

ผมมีข้อสังเกตว่า ในเรื่องของการกล่าวถึงหรืออ้างถึง รวมถึงการแสดงเชิงประจักษ์ของมรดกตกทอดทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆของไทยภาคกลาง ส่วนมากจะอยู่บนฐานของมรดกตกทอดรุ่นต่อรุ่นของชาวสุพรรณ อาทิ ในเรื่องของเพลงพื้นบ้านหลากหลายรูปแบบ (เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงขอทาน ...)  เรื่องของวรรณคดี (ขุนช้าง ขุนแผน...)  เรื่องของเครื่องรางของขลัง (พระผงสุพรรณ พระขุนแผน....)  เรื่องของอาหาร  (ปลาม้า แกงสับนก แกงคั่ว  แกงเผ็ดต่างๆ ...)    ก็จึงคงจะไม่ผิดเพี้ยนมากนัก หากจะกล่าวว่า  สุพรรณฯน่าจะเป็นพื้นที่ต้นทางของลักษณะวิถีชีวิต โครงสร้างทางสังคม และวัฒนธรรมของไทยที่ถ่ายทอดส่งต่อกันมาจนถึงในปัจจุบัน

จำได้ว่า เคยมีความเห็นจากหน่วยงาน ตปท.ที่ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยว่า  สุพรรณบุรี น่าจะมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นศูนย์ (เมือง/พื้นที่) ในด้านการศึกษา
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 03 ส.ค. 21, 19:32

ก็มาถึงเรื่องของอาหารที่ผมมีความเห็นว่า สำหรับในพื้นที่ราบทางตะวันตกของภาคกลาง ต่างก็มีลักษณะเฉพาะ

อาหารไทยที่เราคุ้นเคยกันก็จะมี แกงเผ็ด แกงส้ม แกงคั่ว แกงเขียวหวาน ต้ม ลาบ ย่าง/เผา ผัดเผ็ด น้ำพริก หมก ...   แล้วก็มีแกงแบบโบราณอีกสองสามอย่าง   ด้วยที่เครื่องปรุงพื้นฐานเกือบจะไม่มีความต่างกัน จะต่างกันก็แต่ในเชิงของปริมาณเปรียบเทียบ (relative amount)ระหว่างชนิดของเครื่องปรุง  จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะจำแนกความต่างหรือความเด่นของอาหารพื้นบ้านที่ทำต่างกันระหว่างที่ต่างๆ 

ก็จะลองพยายามหาลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารของแต่ละพื้นที่ดูว่าจะพอไหวใหมนะครับ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 04 ส.ค. 21, 18:33

เป็นข้อเท็จจริงที่ทราบกันอยู่แล้วว่า  ระดับละติจูด ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ และลักษณะ/คุณสมบัติของดิน ล้วนส่งผลให้เกิดควมแตกต่างของพืชพรรณไม้และสัตว์ต่างๆ    สำหรับประเทศไทย เท่าที่ผมพอจะรู้จากการเดินทางไปทำงานในพื้นที่ต่างๆและจากการสอบถามพูดคุยกับชาวบ้านในสมัยที่การเกษตรต่างๆยังไม่ได้ก้าวหน้าไปดังในปัจจุบัน ก็จะมีเช่น มะพร้าวจะปลูกไม่ขึ้นเมื่อเลยจากพื้นที่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ขึ้นไปทาง จ.เชียงราย    ตัวแย้ (สัตว์)พบได้เหนือสุดในแอ่ง จ.ลำปาง  แย้ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนจะพบมากในพื้นที่ จ.ตาก    ส่วนในพื้นที่ราบภาคกลางตอนล่างก็จะพบได้ในพื้นที่ราบติดทิวเขาตั้งแต่ จ.อุทัยธานี เรื่อยลงมาถึงประมาณ จ.ราชบุรี     ต้นสะระแหน่พันธุ์ใบเล็กและบาง พบได้ในภาคเหนือ ส่วนพวกพันธุ์ใบกลมและหนา พบในภาคกลาง (ซึ่งน่าเสียดายที่น่าจะ หรือเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว)  ทั้งสองพันธุ์นี้ได้กลิ่นหอมชวนกินเป็นพื้นฐานและไม่ออกรสซ่า  ต่างไปจากพวกใบรีหรือที่ปลายใบใกล้ๆจะแหลมที่วางขายกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีรสซ่าของ menthol ปะปนอยู่    สะระแหน่พันธุ์ใบกลมและหนานี้เป็นของอย่างหนึ่งที่ผมหาเพื่อนำมาปลูกขยายพันธุ์  ที่จริงก็พอจะรู้อยู่ว่ามีปลูกอยู่ที่บ้านพักของคนทำเหมืองในพื้นที่ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ น่าจะยังพอจะนำมาขยายพันธุ์ต่อไปได้    แต่ผมก็ยังมีความสุขและเพลิดเพลินไปกับการเดินตลาดสดยามของชาวบ้าน ได้พูดคุยสอบถามแม่ค้า ผนวกไปกับการหาพวกพืชผักพื้นบ้านที่หากินได้ยาก เช่น ยอดหวาย(หางหวาย) ใบจิก(กระโดน) ฝักมะริดไม้(ลิ้นฟ้าหรือเพกา) ผักก้านจอง(ผักพายใหญ่) ลูกอ้อยสามสวน(ลูกชะเอม) ผักเชียงดา ผักคาวตอง  ผักขี้หูด เพียงเอามาเผา มาต้ม นึ่ง หรือลวก กินกับน้ำพริก(ที่ไม่ใช่น้ำพริกกะปิ) หรือบางอย่างก็เอามาผัดน้ำมันหอย เช่น ผักก้านจอง  หรือเอาไปผัดกับไข่ เช่น ใบเหลียง ฝักเพกา  หรือเอาไปแกง เช่นยอดต้นส้มป่อยแกงกับปลา  หรือเอาไปยำ เช่น ยอดต้นผักปู่ย่า   ฯลฯ   ล้วนแต่อร่อยทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 04 ส.ค. 21, 19:34

ว่าจะนำเสนอข้อสังเกตเกี่ยวกับอาหารในพื้นที่ราบติดทิวเขาทางภาคตะวันตกของภาคกลาง  กลายเป็นการปูทางที่เลยเถิดไปไกล  ยิงฟันยิ้ม

ข้อสังเกตที่เด่นออกมาก็คือ เรื่องของอาหารพวกแกงที่เข้ากะทิและไม่เข้ากะทิ พวกที่เรียกว่าต้ม และพวกยำ

เริ่มด้วยการลองสังเกตดูพวกแกงเข้ากะทิต่างๆที่เราเห็นอยู่ตามตลาดขายอาหารในปัจจุบัน จะเห็นว่า มีอยู่สองภาพ คือ แกงที่มีน้ำมันลอยอยู่ที่ผิวหน้าจนเห็นชัด และแกงที่ดูมีเนื้อแกงขุ่นข้นมีน้ำมันลอยที่ผิวหน้าเล็กน้อย     สำหรับแกงที่ไม่เข้ากะทิก็จะมีสองภาพเช่นกัน คือ แบบเครื่องปรุงหั่นหยาบแต่บุบให้แหลก กับแบบตำเครื่องปรุงให้แหลกหยาบๆ    สำหรับพวกยำนั้นก็เช่นกัน คือ มีในรูปของยำผักใส่เนื้อสัตว์ กับยำเนื้อสัตว์ล้วนๆ         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 05 ส.ค. 21, 18:27

แกงเข้ากะทิในพื้นที่นี้ มักจะเป็นแกงประเภทที่มีน้ำมันลอยอยู่ที่ผิวหน้าน้อยมาก  ซึ่งผมเห็นว่าเกิดจากวิธีการทำที่ยังคงใช้วิธีทำแบบโบราณ คือการใช้กะทิที่ได้จากใช้วิธีคั้นจากเนื้อ(ผง)มะพร้าวขูดที่ได้จากการขูดเนื้อมะพร้าวห้าว เอามาใส่น้ำอุ่นเล็กน้อยพอฉ่ำน้ำ ขยำๆแรงๆสักสี่ห้าครั้ง แล้วเอาใส่กระชอน(ตะแกรง)ไม้ไผ่สานละเอียด บีบคั้นเพื่อกรองเอาแต่น้ำกะทิ  ทำเช่นนี้ซ้ำสักสองสามครั้งแล้วแยกน้ำกะทิเก็บไว้ เรียกว่า หัวกะทิ  คั้นกระทิต่อไปเพื่อเอาหางกะทิ คะเนเอาว่าได้ปริมาณหางกะทิพอหม้อแกงแล้วก็พอ   เมื่อจะทำแกง ก็เอากระทะมาตั้งบนเตาให้ร้อน เอาหัวกะทิปริมาณไม่มากใส่ลงไป เคี่ยวจนเริ่มแตกมัน (ได้น้ำมันมะพร้าว) จึงเอาเครื่องแกงลงไปผัดให้สุกหอม เติมหางกะทิลงไปเล็กน้อยพอขลุกขลิก ใส่เนื้อสัตว์ลงไปผัด ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาลตะโนด ผัดพอสุก ใส่ผักลงไป เติมหางกะทิลงไป ปรุงรสให้ถูกปากอีกครั้งหนึ่งแล้วปิดฝาครอบ เร่งไฟแรงให้เดือด ทันทีเมื่อเดือดก็เปิดฝาครอบ ใส่มะเขือเปราะ มะเขือพวง ผักโรยหน้าที่เป็นเครื่องหอมลงไป(โหระพา...) ปิดฝาแล้วยกลงจากเตา

ในปัจจุบันนี้ กะทิที่ใช้ในการทำแกงเข้ากะทิเกือบทั้งหมดน่าจะเป็นการใช้กะทิสำเร็จรูป ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะนำมาทำอาหารตามวิธีเช่นเดียวกันกับวิธีข้างต้นได้หรือไม่ โดยเฉพาะหากเป็นกะทิสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการ homogenized             
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 05 ส.ค. 21, 18:38

กากมะพร้าวที่ใช้แล้วจากการคั้นเอากะทิก็เอามาทำเป็นของกินอย่างอื่นและของหวานได้อีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมมีความรู้อย่างจำกัดมากจริงๆ แล้วค่อยว่ากันต่อไป
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 05 ส.ค. 21, 19:34

กล่าวถึงวิธีการใช้กะทิในการทำอาหาร ทำให้นึกถึงความเป็นจำเพาะของอาหารอีกจานหนึ่ง คือ ฉู่ฉี่ปลา แต่ก่อนนั้นดูจะจำกัดเฉพาะการทำกับปลาปลาน้ำจืดเช่นปลาหมอ ปลากราย ปลาสวาย ปลาเนื้ออ่อน...   ฉู่ฉี่ปลาเป็นอาหารที่เกือบจะไม่เคยได้ยินว่ามีการทำกินกันในพื้นที่อื่นใด ยกเว้นแต่เฉพาะในพื้นที่ภาคกลางฝั่งตะวันตกตอนกลาง 

ต้มข่าไก่ ก็เป็นอีกเมนูอาหารหนึ่งที่เป็นอาหารประเภทข้าวราดแกงมื้อเช้าที่พบเห็นได้มากที่สุดในละแวกพื้นที่ฝั่งตะวันตก   ในประสบการณ์ของผม ได้เริ่มเห็นมีเมนูต้มข่าไก่กระจายอยู่ตามร้านขายข้าวแกงมื้อเช้าและมื้อกลางวันในเกือบจะทุกพื้นที่ๆมีการการทำไร่อ้อย (ประมาณ พ.ศ.2520+)  ซึ่งทำอร่อยได้ไม่ต่างกันโดยเฉพาะเมื่อเหยาะด้วยน้ำปลาพริกขี้หนูที่ใส่หอมแดงซอย     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 06 ส.ค. 21, 17:16

แกงที่ไม่เข้ากะทิก็เป็นอาหารประจำถิ่นในพื้นที่นี้เช่นกัน  ในความเห็นของผมที่เคยสัมผัสมาไม่มากนัก แต่เป็นช่วงเวลาก่อนที่อุตสาหรรมอ้อยและน้ำตาลจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว เห็นว่า โดยพื้นฐานก็คือแกงที่เราเรียกว่า แกงป่า ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกงที่ใช้ปลาหนัง รวมทั้งพวกกบ เขียด และปลาไหลด้วย  โดยนัยก็คือแกงที่ทำกับสัตว์ที่มีกลิ่นคาว จึงเป็นแกงที่มีการใส่กระชายเพื่อการดับกลิ่นคาว และมักจะมีการใส่ใบกระเพราหรือไม่ก็ดอกกระเพราโขลกรวมไปในน้ำพริกแกง    สำหรับแกงป่าที่ใช้เนื้อสัตว์บกอื่นๆนั้น ในพวกคนเดินป่าเดินดงค่อนข้างจะหมายถึงการเอาเนื้อสัตว์ไปผัดกับเครื่องแกงหรือพริกแกง(จะหยาบ หรือละเอียด หรือจะซอยหยาบแล้วบุบก็ได้) ใส่น้ำขลุกขลิกมากพอสำหรับการคลุกข้าว ผักที่จะใส่ก็สุดแท้แต่จะมี ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นมะเขือขื่น(มะเขือเหลือง) มะเขือพวง และมะเขือเปราะ 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 20 คำสั่ง