เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 26 27 [28] 29
  พิมพ์  
อ่าน: 15701 ความรู้ในลิ้นชัก
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 405  เมื่อ 25 ต.ค. 21, 19:05

ก็มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของการใช้เบรค

หลักพื้นฐานของการเบรครถเรื่องหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนพลังงานจลน์ไปเป็นพลังงานความร้อน  ระบบเบรคของรถได้ถูกออกแบบมาให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานตามสมรรถนะของรถ และในสภาพภูมิประเทศที่ไม่ extreme จนเกินไป    ในกรณีขับรถลงเขา ก็คงต้องมีการเหยียบเบรคเพื่อชะลอความเร็ว ข้อสำคัญที่ต้องคำนึงก็คืออย่าเหยียบเบรคแช่ ควรใช้วิธีเหยียบย้ำแล้วปล่อย เพื่อให้เบรคสามารถระบายความร้อนได้ทัน  การเหยียบแช่ไว้จะทำให้เกิดความร้อนจัดจนผิวหน้าของผ้าเบรคใหม้ ขาดคุณสมบัติในการถ่ายเทพลังงาน ทำให้เบรครถไม่อยู่ ไม่สามารถชะลอความเร็วรถได้   การขับรถลงเขาที่ค่อนข้างชันจึงควรจะต้องใช้เกียร์ต่ำช่วยด้วย

ก่อนจะพอเรื่องของเบรค ก็จะขอไปเรื่องของคลัชสำหรับผู้ที่ใช้รถเกียร์ manual   นิดเดียวเกี่ยวกับการขับรถลุยน้ำท่วม คือว่า ในระหว่างการขับลุยน้ำนั้น ควรจะต้องมีความใจเย็น ขับไปช้าๆเรื่อยๆ ซึ่งส่วนมากก็มักจะใช้เกียร์ 2 กัน   การเปลี่ยนเกียร์ไปมาในระหว่างลุยน้ำทำให้อาจจะพบกับสภาพคลัชลื่นจนลดกำลังการขับเคลื่อนรถ  หากยิ่งแช่น้ำนานมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถเคลื่อนรถได้เลย    เบรคของรถก็เช่นกัน สมรรถนะจะลดลงและอาจจะหายไปจนเกือบหมดเลยก็ได้ ก็คือเข้าใกล้สภาพของการขับรถแบบไม่มีระบบเบรค     สำหรับพวกที่ใช้รถพื้นที่ป่าเขาจะพบกับเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ  ก็เลยมีวิธีการขับรถที่มีลักษณะเฉพาะต่างออกไปจากปกติทั่วไป เห็นแล้วก็พอจะรู้กันได้ไม่ยาก   

เรื่องของเบรคก็น่าจะพอเพียงนี้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 406  เมื่อ 27 ต.ค. 21, 18:50

เมื่อวานนี้เว้นว่างไปพบหมอเพื่อ follow up เรื่อง Lymphoma มาครับ  นั่งรอคิวอยู่ก็เกิดนึกเรื่องเกี่ยวกับเบรครถออกอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับระยะเบรคของรถ  ผู้ผลิตรถเขาต่างก็มีวิจัยเกี่ยวกับระยะของการเบรครถให้หยุดที่ผันแปรไปตามความเร็ว บ้างก็บอกกล่าวถึงในเชิงของความสมรรถนะของระบบเบรคของเขาที่สามารถสู้กับเครื่องยนต์ที่มีกำลังแรงม้าระดับใด....   เราโดยส่วนมากก็ดูจะไม่ได้สนใจในเรื่องนี้นัก  แล้วก็น่าจะเกีอบไม่เคยขับรถในความเร็วเต็มพิกัดกำลังม้าของรถคันนั้นๆ     

ผมได้รับรู้หลักการสำคัญจากรุ่นพี่คนหนึ่งตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานงาน (งานของผมเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตส่วนหนึ่งกับการเดินทางไกลไปบนถนนหลวงสายต่างๆ) ว่าเมื่อขับรถทางไกล ทุกๆความเร็วของรถที่ประมาณ 10 กม.ต่อ ชม. เราควรจะต้องเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าประมาณ 1 ช่วงความยาวรถ  ดังนั้นที่ความเร็ว 80 กม. ต่อ ชม. ก็ควรจะต้องเว้นระระห่างประมาณ 8 ช่วงรถ   ระยะของการเบรครถแบบกระทันหันที่สามารถเอาอยู่นั้น จะใช้ระยะทางในการเบรคให้หยุดประมาณนี้   สมัยนั้นรถใช้ drum break เป็นหลัก สมัยนี้ก็อาจจะปรับระยะห่างให้น้อยลงไปได้ เพราะรถใช้ disk break ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า 

ผมเห็นว่าเรื่องระยะห่างนี้เป็นหลักการที่ดี  ผู้ที่เดินทางไกลบ่อยๆ อาจจะเคยสังเกตเห็นว่า รถที่ขับกันบนถนนที่แต่ละช่วงของจุดพักรถสำคัญๆอยู่ห่างกันไกลๆนั้น เราเกือบจะไม่เคยเห็นว่ามีการขับรถจี้ตูดกันเลย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 407  เมื่อ 27 ต.ค. 21, 19:28

ก็มีข้อพึงระวังมากๆเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับน้ำมันเบรค   มันเป็นของเหลวที่กัดสีรถ ชนิดที่กัดลึกลงไปในเนื้อของสีรถเลยทีเดียว มิใช่เพียงแต่ทำให้เป็นคราบเท่านั้น  แก้ไขอะไรไม่ได้เลยเว้นแต่จะต้องทำสีรถใหม่   

คนที่ใช้รถทำงานในพื้นที่ทุรกันดารในอดีตนั้น จะต้องจะมีน้ำมันเบรคสำรองไว้ในรถเป็นอะไหล่ 1 กระป๋องเสมอ  เพื่อใช้ในกรณีต่างๆ เช่น เบรคหรือคลัชรั่วซึม การไล่ลมเบรคหรือคลัช ใช้หยอดกัดสนิมเพื่อคลายน็อตต่างๆ

โดยหลักพื้นฐานแล้ว เมื่อใช้น้ำมันเบรคของยี่ห้อใด ก็ควรจะใช้ยี่ห้อนั้นในการเติมเมื่อน้ำมันเบรคพร่องลงไป  แต่หากเป็นในสภาวะจำเป็น จะใช้ยี่ห้อใด็ได้ เพียงแต่หลังจากนั้นก็ควรหาโอกาสเปลี่ยนถ่ายของที่อยู่ในระบบทิ้งไปให้หมด แล้วเลือกใช้ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเพียงยี่ห้อเดียว     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 408  เมื่อ 28 ต.ค. 21, 17:53

เกือบลืมเรื่องของระบบเบรคที่เรียกว่า ระบบ ABS (Anti-lock Breaking System) ระบบนี้ช่วยทำให้รถไม่แฉลบไปซ้ายหรือขวาเมื่อทำการเบรดรถบนถนนที่ลื่นจากน้ำ ฝน หรือหิมะ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะที่ล้อทั้งสองฝั่งอยู่บนพื้นผิวถนนที่แห้งหรือเปียกลื่นต่างกันก็ตาม   แต่เท่าที่ผมได้พบเห็นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูที่มีหิมะตก  ก็ดูแปลกที่มักจะเห็นอุบัติเหตุเกิดเฉพาะกับพวกรถเก๋งที่ขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง ซึ่งรถทุกยี่ห้อและเกือบจะทุกคันล้วนมีการใช้ระบบเบรคแบบ ABS   ก็เป็นเพียงข้อสังเกตที่เห็นค่อนข้างจะชินตา

การใช้รถที่มีระบบ ABS นี้  หากเราเปลี่ยนรถใหม่เป็นรถคนละรุ่นหรือต่างผู้ผลิตกัน เมื่อขับๆไปในบางโอกาสที่ต้องมีการเบรคที่ค่อนข้างกระชั้นชิด เราอาจจะรู้สึกอาการเบรครถไม่อยู่ (เบรคลื่น)  ความรู้สึกนี้อาจจะเกิดจากความไม่คุ้นเคยกับรถใหม่อย่างเต็มที่  แต่หากยังรู้สึกไม่ชอบอาการเช่นนั้นอยู่ก็อาจจะพอปรับแก้ได้บ้างด้วยการเปลี่ยนผ้าเบรคไปใช้ของที่มิใช่อะไหล่แบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) เป็นเพียงของที่ส่วนผสมของเนื้อผ้าเบรคต่างกันไป ซึ่งช่างทำเบรคมักจะจำแนกง่ายๆว่าเป็นผ้าเบรคแข็งหรือผ้าเบรคอ่อน และอื่นใด...   

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 409  เมื่อ 28 ต.ค. 21, 19:35

ในเรื่องของการขับขี่รถเดินทางในพื้นที่ต่างจังหวัด  ก็มีเรื่องที่พึงจะต้องระวังเพื่อลดสภาพที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ (นอกเหนือไปจากที่รู้ๆกันอยู่โดยทั่วไปแล้ว)

ก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับความต่างระดับระหว่างถนนกับสะพาน (คอสะพานต่างๆ)  สภาพนี้มีมาตลอดตั้งแต่สมัยหลายๆสิบปีที่แล้วจนถึงในปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคการใช้ไม้ซุงทำสะพานจนถึงสะพานคอนกรีต     ลักษณะเด่นของสะพานไม้ซุงก็คือ ถนนทั้้งสองฝั่งสะพานจะมีผิวการจราจรที่ค่อนข้างกว้าง จะถูบีบให้ลดลงอย่างทันทีที่บริเวณคอสะพาน รถข้ามได้ครั้งละคัน ไปหรือมา การขับรถข้ามสะพานจะอยู่ในลักษณะของคำพูดว่า ขึ้นสะพาน ลงสะพาน และไต่สะพาน      เมื่อถนนมีการพัฒนามากขึ้น สะพานเปลี่ยนไปเป็นสะพานคอนกรีต ผิวการจราจรบนสะพานก็กว้างเพียงพอให้รถพอจะสวนกันบนสะพานได้  แต่ผิวการจราจรของถนนก็ยังคงกว้างกว่าบนสะพาน กว้างมากพอที่รถจะวิ่งสวนกันได้ด้วยความเร็วอย่างสบายๆ แต่จะต้องลดความเร็วลงบนสะพาน      พัฒนาการต่อมาก็คือลักษณะที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันในถนนสายหลักต่างๆ ถนนมีการสร้างแบบมีมาตรฐาน มีการลาดยาง มีไหล่ทาง บนสะพานก็มีไหล่ทางที่ยกระดับขึ้นมาด้วย รถสามารถวิ่งสวนกันบนสะพานได้ด้วยความเร็ว เกือบจะไม่มีปัญหาถนนต่างระดับที่บริเวณคอสะพาน

ขยายความออกมาเพื่อจะบอกกล่าวว่า จะอย่างไรก็ตามก็ยังคงจะต้องมีการเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อจะขับรถข้ามสะพาน จะต้องมีการประเมินสถานะการณ์ทุกครั้ง สะพานมีการใช้ทั้งคน สัตว์ เครื่องจักรกลเกษตรเคลื่อนที่ช้า...ฯลฯ  ซึ่งล้วนแต่สามารถจะโผล่ขึ้นมาบริเวณคอสะพานได้อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย โดยเฉพาะในช่วงเวลาแดดร่มลมตกเมื่อชาวบ้านเดินกลับบ้านจากการทำไร ทำนา ทำสวน     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 410  เมื่อ 29 ต.ค. 21, 17:58

ต่อจากช่วงเวลาแดดร่มลมตกก็จะเข้าสู่ยามโพล้เพล้ ซึ่งในบางพื้นที่หรือบางบริเวณ ลักษณะของภูมิประเทศก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว  ก็มีข้อควรระวังและพึงปฏิบัติอยู่หลายเรื่องที่ได้มีการสั่งสอนถ่ายทอดส่งต่อๆกันมาว่า หากมีจุดที่สามารถหยุดพักรถได้ก็ควรจะต้องหยุด แวะเพื่อยืดเส้นยืดสาย ทำตัวเองให้สดชื่น เตรียมตัวสำหรับการขับรถในตอนกลางคืน(ซึ่งจะมีความเครียดมากกว่าตอนกลางวัน) เช่น ล้างหน้า ดื่มน้ำ กินของว่างหรืออาหารเย็น ตรวจสภาพรถ เติมน้ำมัน... ฯลฯ การเดินทางในเวลากลางคืนควรจะเป็นการเดินทางแบบต่อเนื่อง ไม่ควรจะมีเรื่องใดๆที่จะต้องหยุดหรือจอดรถข้างทาง

สมัยก่อนนั้น ใช่วงยามโพล้เพล้ สิ่งที่จะเห็นจนชินตาก็จะมีบรรดารถไถพรวนดินที่ยังมีชุดไถพรวนติดอยู่ท้ายรถ มีพวกรถไถนาในกลุ่มที่เรียกกว่าควายเหล็ก อีต๊อก อีแต๊ก... และชุดพ่วงลากของมัน  เครื่องจักรกลพวกนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ช้ามาก (10-20 กม./ชม.) ไฟท้ายก็ไม่มี หรือที่มีก็ไม่สว่าง     ในช่วงเวลาตอนเย็นมากๆใกล้มืดนี้ kelvin temperature ของแสงตามธรรมชาติกับแสงไฟจากหลอดไฟของรถจะไม่มีความต่างกันมากพอที่ทำให้สามารถจำแนกสิ่งต่างๆในเชิงเปรียบเทียบกันได้อย่างดี  ก็จึงมักจะพบประสบกับอะไรๆในระยะที่กระชั้นชิดเสมอๆ ซึ่งในบางสถานการณ์ก็เกือบจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย   การขับรถในช่วงโพล้เพล้จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง และก็ควรจะต้องไม่ใชความเร็วที่สูงมากอีกด้วย สภาพกิจกรรมตามไหล่ทางของถนนหลวงสายต่างๆในยามโพล้เพล้ในปัจจุบันนี้ ก็ยังคงมีสิ่งที่ได้กล่าวมาให้ได้พบเห็นอยู่ไม่น้อย     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 411  เมื่อ 29 ต.ค. 21, 18:44

แต่ก่อนนั้น เรามักจะเห็นฝูงวัว-ควายเดินข้ามถนน  ในปัจจุบันนี้ ในถนนสายหลักคิดว่าคงไม่มีอีกแล้ว แต่ตามถนนสายรองที่เชื่อมระหว่างอำเภอหรือระหว่างตำบลจะยังคงพบเห็นได้อยู่    ก็มีหลักที่พึงกระทำในการรับเหตุการณ์กระชั้นชิดนี้   เมื่อจ๊ะเอ๋กับฝูงวัว-ควายที่โผล่ออกมาจากข้างทางแล้วพรวดพราดข้ามถนน  หลักที่ถ่ายทอดกันมาก็คือ เหยียบเบรคลดความเร็วลดลงให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยก็ให้ได้ที่ประมาณ 60 กม./ชม. ซึ่งที่ความเร็วระดับนี้ เราสามารถจะหักหลบวัว-ควายเหล่านั้นได้โดยที่ยังมีความสามารถจะควบคุมรถได้ดีพอสมควรอยู่   หากจะชนก็ชนแบบตรงหน้าไปเลย เพราะการชนตรงในความเร็วขนาดประมาณนี้ จะไม่ทำให้ถึงกับเสียชีวิต   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 412  เมื่อ 29 ต.ค. 21, 18:59

 ใ
ฝฟ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 413  เมื่อ 29 ต.ค. 21, 19:27

มัวแต่เขี่ยของที่ตกหล่นลงในคีย์บอร์ด เครื่องก็เลยส่งอะไรไปก็ไม่รู้ครับ ขออภัย ครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 414  เมื่อ 30 ต.ค. 21, 17:57

น่าจะพอสำหรับเรื่องของเบรครถ  สำหรับคนที่ใช้รถในพื้นที่ป่าเขาหรือที่เรียกกันว่าทางป่านั้น ก็จะมีเรื่องของวิกฤติเกี่ยวกับเบรครถคุยกันอย่างสนุกสนานเมื่อผ่านเหตุการณ์นั้นๆมาได้ ในมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนกลวิธีในการเอาตัวรอดในภาวะคับขันต่างๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคก็ล้วนมีแตกต่างกันไป 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 415  เมื่อ 30 ต.ค. 21, 19:04

ไปต่ออีกเรื่องเกี่ยวกับระบบถ่ายกำลังเพื่อขับเคลื่อนรถ (ระบบเกียร์และเฟืองขับเพลาล้อ)  ก็พอจะจำแนกได้เป็น 2 ระบบ คือ ระบบเกียร์ที่ต้องมีการเหยียบคลัชเพื่อการเปลี่ยนเกียร์ (Manual Transmission) เรียกกันสั้นๆว่าเกียร์แมนนวล ย่อๆว่า MT    กับอีกอีกระบบหนึ่งที่ไม่ต้องมีการเหยียบ คลัชเพื่อการเปลี่ยนเกียร์ (Automatic Transmission) เรียกันสั้นๆว่า เกียร์ออโต้ ย่อๆว่า AT    ซึ่งแยกออกไปอีกเป็น 2 ระบบ คือระบบที่ใช้เฟืองเกียร์ตามหลักของ MT แต่ไม่ต้องมีการเหยียบคลัช   กับระบบในหลักการคล้ายกับของมอเตอร์ไซด์เกียร์ออโต้ เรียกว่าระบบเกียร์แบบ CVT (Continuous Variable Transmission) 

ออกตัวเสียก่อนว่า ผมเกือบจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเกียร์ระบบ CVT  เคยแต่ใช้และก็ยังใช้รถที่ใช้เกียร์ระบบ CVT อยู่ ยังไม่เคยเห็นตับไตใส้พุงข้างในของมันเลย จึงจะขอเว้นไม่กล่าวถึงจากนี้ต่อไป

เรื่องที่จะกล่าวถึงแรกเริ่มเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำมันเกียร์  นำมันเกียร์จะต้องมีการถ่ายเปลี่ยนเมื่อถึงระยะเวลาตามกำหนด ซึ่งก็ควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเฟืองท้ายพร้อมกันไปด้วย   ในระบบเกียร์แบบ MT นั้น เมื่อถ่ายของเก่าออกไปแล้ว ปริมาณของใหม่ที่ใส่ลงไปจะใช้ระบบเติมจนล้นไหลออก เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อให้ได้มีปริมาณน้ำมันในระบบเพียงพอสำหรับการใช้งานไปจนถึงวาระต้องเปลี่ยนถ่ายในครั้งต่อไป (กรณีไม่มีการรั่วซึมใดๆ) 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 416  เมื่อ 30 ต.ค. 21, 19:31

ระบบ AT   ระบบนี้ก็ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเช่นกัน แต่เป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติเป็นการเฉพาะ เรียกกันง่ายๆว่า น้ำมันไฮดรอลิกส์ ซึ่งมีอยู่หลายชนิดสำหรับการใช้ในเรื่องต่างๆกัน  ที่ใช้กับเกียร์ออโต้จะมีตัวอักษรบอกไว้ชัดเจนว่า AFT (Automatic Transmission Fluid) ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้ในระบบพวงมาลัยพาวเวอร์ (Power steering) ได้ด้วย   น้ำมัน ATF นี้ก็จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายเมื่อถึงเวลาอันควรตามกำหนด หากแต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องมีความเข้าใจในการดูแลด้วย  เพราะมันเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำพาไปสู่ความเสื่อมและความเสียหายของระบบเกียร์ออโต้ ซึ่งมีค่าช่อมที่แพงเอามากๆเลยทีเดียว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 417  เมื่อ 31 ต.ค. 21, 18:52

การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ออโต้มีหลักการสำคัอยู่ว่า  ปริมาณน้ำมันของใหม่ที่ใส่ลงไปควรจะต้องมีปริมาณเท่ากับของเก่าที่ถ่ายออกมา   ฟังดูแล้วอาจจะงงๆ ??  เหตุผลก็คือ มันจะยังคงมีน้ำมันที่ตกค้างอยู่ในระบบอีกพอสมควร ปริมาณน้ำมันใหม่ที่ใส่ลงไปนั้นอาจมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ได้ ซึ่งจะทำให้น้ำมันเกียร์ในชุดเกียร์มากจนเกินไปหรือน้อยจนเกินไป ทั้งสองกรณีนี้ล้วนทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเกียร์ได้  อาการเตือนว่าน้ำมันเกียร์นั้นมีมากหรือน้อยเกินไปที่สำคัญก็มีอาทิ การออกตัวรถช้า การเปลี่ยนเกียร์ต่างๆเป็นไปค่อนข้างช้าและมีอาการกระตุกหรือกระชาก ความร้อนของน้ำมันเกียร์ร้อนจัด(มีไฟเตือน)เมื่อรถต้องใช้กำลังสูงอย่างต่อเนื่อง...   

อาจจะเป็นเรื่องที่ดูน่ากังวล แต่คงจะไม่ต้องไปกังวลอะไรกับมันมากนัก   แก้ความกังวลด้วยการเอารถเข้าศูนย์ให้ช่วยดำเนินการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์เก่าทิ้งไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีที่มีการซื้อรถมือสองมา    แก้กังวลอีกอย่างหนึ่งด้วยการวัดระดับน้ำมันเกียร์ด้วยตัวเอง เรื่องนี้อาจจะยุ่งยากนิดนึง คือจะต้องวัดในขณะที่เครื่องยนต์กำลังทำงาน และอุณหภูมิของน้ำมันเกียร์ควรจะต้องอยู่ในเกณฑ์ใช้งาน ซึ่งก็สามารถทำได้ไม่ยากนักด้วยการขับรถไปวนที่ใหนสักรอบหนึ่ง กลับมาบ้าน ไม่ต้องดับเครื่อง ดึงก้านวัดระดับน้ำมันเกียร์ออกมาดู  ที่ก้านน้ำมันเกียร์จะมี mark ให้เห็นอยู่ 4 จุดหรือขีด คู่บนอาจจะมีอักษร H (hot) กำกับไว้ด้วย ระดับน้ำมันเกียร์ควรจะอยู่ที่ระหว่างคู่บนนี้  หากอยากจะเติมให้เต็มถึงขีดบน ก็จะต้องเติมในลักษณะเป็น shot เล็กๆ (ครั้งละ 50-100 cc.) แล้วค่อยๆวัดไป    แต่หากไม่อยากเอารถออกไปวิ่ง ก็จะต้องติดเครื่องรถให้ร้อนจนถึงระดับการใช้งาน จากนั้นก็เหยียบเบรคแล้วขยับเกียร์ ค่อยๆไล่ไปทีละเกียร์ แล้วจึงลงมาทำการวัดระดับน้ำมัน

วิธีการของผมเพื่อความสบายใจของตนเอง ผมให้ศูนย์เป็นผู้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ แต่จะทำการปรับแต่งปริมาณให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ด้วยตัวเองที่บ้าน (ที่ศูนย์ทำมานั้น มีทั้งแบบที่น้อยไปและมากไป) เพราะผมใช้รถเดินทางไกลและมีรถที่ใช้เพื่อการขึ้นเขาลงห้วยด้วย       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 418  เมื่อ 31 ต.ค. 21, 20:14

รถที่ใช้ในพื้นที่ป่าเขาและที่ทุรกันดารจริงๆควรจะเป็นรถที่ใช้เกียร์ MT  เพราะเราสามารถจะควบคุมหรือบังคับให้พาหนะนั้นๆปฎิบัติได้ตามใจและตามกลวิธีที่เราต้องการได้ในทันที ไม่จำเป็นจะต้องรอการปฎิบัติตาม algorithm ของระบบอัตโนมัติ

คงจะเคยมีการสังเกตและเคยมีความรำคาญกับการขับรถที่ต้องมีการเบิ้ลเครื่องยนต์เมื่อมีการเปลี่ยนเกียร์ (double clutching)  ก็มีอยู่สามสาเหตุหลักๆ คือ การทำเพื่อการเปลี่ยนเกียร์สำหรับชุดเกียร์ที่ไม่มี synchromesh ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค   การทำเพราะความเคยชิน   และการทำเพราะเห็นว่าเท่ห์

คนรุ่นเก่าที่ขับรถป่าทั้งหลายแต่ก่อนนั้น ล้วนจะต้องรู้จักและเคยทำการเบิ้ลเครื่องพร้อมๆไปกับการเปลี่ยนเกียร์รถ    หากเป็นการเปลี่ยนจากเกียร์ต่ำไปเป็นเกียร์สูงก็อาจจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์กระหึ่มดัง   หากเป็นการเปลี่ยนจากเกียร์สูงไปเป็นเกียร์ต่ำตามขั้นบันได (เช่น จากเกียร์ 3 ไปเป็นเกียร์ 2) ก็จะได้ยินเสียงกระหึ่มไม่ยาวนักและเสียงเครื่องยนต์ไม่ดังนัก   แต่หากเป็นเสียงเครื่องยนต์ที่กระหึ่มดังยาวสองสามครั้ง ก็มักแสดงว่าเป็นการเปลี่ยนเกียร์ข้ามขั้นบันได (เช่น จากเกียร์ 4 ไปเป็นเกียร์ 2)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 419  เมื่อ 01 พ.ย. 21, 18:41

น่าจะพอในเรื่องหลักๆที่สำคัญเกี่ยวกับเกียร์ของรถยนต์   

ก็มาถึงเรื่องของเฟืองขับเพลาล้อรถที่เรียกกันว่าเฟืองท้าย  สำหรับรถที่ใช้ขับบนถนนทั่วๆไปก็จะมีแต่เพียงเฟืองท้ายลูกเดียว  ส่วนรถขับเคลื่อนล้อหน้านั้น ชุดเฟืองขับเพลาล้อจะถูกออกแบบให้กลมกลือนไปกับระบบเครื่องยนต์    พวกรถที่ออกแบบมาให้ใช้ในทางสมบุกสมบันก็จะมีทั้งเฟืองหลังและเฟืองหน้า  ซึ่งมีชื่อเรียกที่ทำให้งงและสับสนอยู่บ้าง  แต่ก่อนนั้น ภาษาไทยจะเรียกรถที่สามารถขับเคลื่อนทั้ง 4 ล้อว่า รถขับเคลื่อน 4 ล้อบ้าง  รถ 2 เพลาบ้าง  รถมีเกียร์สโลว์บ้าง  หรือรถ 4x4 บ้าง   จนกระทั่งมีการผลิตรถที่ขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลาออกมาจำหน่าย  ก็จะมีการเรียกรถพวกนี้ว่า รถขับเคลื่อนสี่ล้อบ้าง รถระบบขับเคลื่อนสี่ล้อบ้าง  หรือรถ AWD (All Wheel Drive) บ้าง   ที่จริงแล้วก็ยังมีรถระบบ 4x4 ที่มีเกียร์ที่สามารถใช้ปรับให้เป็นการใช้แบบล้อทั้งสี่(หรือมากกว่านั้น)หมุนตะกุยดินไปพร้อมๆกันทุกล้ออีกด้วย  (การหมุนของล้อรถยนต์ตามปกติ ทั้งสองข้างจะหมุนไปในทิศทางที่สวนกัน จะทำให้เกิดสภาพคล้ายกับช่วยกันผลักช่วยกันดันซ้ายทีขวาที)     

จำแนกแบบง่ายๆก็คือ มีกลุ่มรถที่มีชุดเกียร์ทดกำลังพิเศษ (4x4 มีเกียร์สโลว์)  กับกลุ่มรถที่ล้อทั้งสี่มีกำลังตลอดเวลาในการฉุดรถให้รถเคลื่อนที่ (AWD)    แน่นอนว่า รถทั้งสองกลุ่มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานในสภาพพื้นที่และถนนที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตาม รถทั้งสองประเภทนี้ต่างก็ต้องเคยอยู่ในสถานการณ์ขับลุยน้ำ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 26 27 [28] 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง