ก็น่าจะพอกับเรื่องราวของการสัมปทานและ PSC ที่ขยายความมา สั้นๆแต่ก็น่าจะได้แก่นของเรื่อง ผมมิใช่เป็นผู้ที่มีความสันทัด เพียงแต่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่เล็กๆน้อยๆ(แต่เป็นเรื่องใหญ่พอได้อยู่

)พอประมาณ
จะออกจากเรื่องนี้ ก็เกิดนึกขึ้นมาได้อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเพียงประสบการณ์ที่อาจจะน่าสนใจ
สัญญาเป็นเรื่องของความตกลงกันระหว่างสองฝ่าย ก็น่าจะเคยสังเกตเห็นในสัญญาของไทยต่างๆว่า จะเริ่มด้วยแต่ละฝ่ายคือใคร ทำสัญญานี้ในเรื่องอะไร จากนั้นก็จะเป็นเรื่องราวในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งมักจะมีฐานะทางนิตินัยสูงกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ทรงสิทธิและอำนาจในการบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญานั้นๆ ท้ายๆสัญญาก็จะเกี่ยวกับเรื่องการชดใช้ค่าเสียหาย ในมุมที่ผมมองก็คือ มันอยู่บนฐานของ superior right มากกว่า equal right และหากเกิดกรณีผิดสัญญาก็จะอยู่บนฐานของการตัดสินโดยศาล คือว่ากันตามตัวอักษรตามที่เขียนไว้ในกฎหมาย
ในร่างสัญญาที่ยกร่างโดยต่างชาติ ที่นำเสนอเพื่อให้ฝ่ายไทยพิจารณาแทนร่างที่ไทยยกร่างเป็นตุ๊กตาให้เขาพิจารณา ที่ผมเคยเห็นนั้น มีความต่างออกไปทั้งในเชิงของ right และแนวคิดพื้นฐาน (conceptual) คือตั้งอยู่บนฐานของความเสมอภาคกัน มีการระบุลงไปเลยถึงขอบเขตของสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ และเมื่อเกิดกรณีพิพาทกัน ก็จะหาทางออกด้วยการพูดคุยกันบนพื้นฐานของการประณีประนอม (compromise) ตามสถานะการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งนั้นๆ โดยใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ ก็มีข้อหนึ่งที่ต้องพูดคุยกันมาก คือเรื่องของเหตุสุดวิสัย เพราะว่าสามารถใช้เป็นข้อหลีกเลี่ยงได้ในกรณีการผิดสัญญา เหตุสุดวิสัยนั้นเกิดได้จากหลายเรื่อง อาทิ ที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่เกิดจากการกระทำที่ไม่มีการป้องกันอย่างรัดกุม ที่เกิดจากเหตุการณ์ทางการเมือง....ฯลฯ