เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 14 15 [16] 17 18 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 15925 ความรู้ในลิ้นชัก
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 225  เมื่อ 22 ส.ค. 21, 20:24

ผมมีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการใช้ขิงในการทำอาหารต่างๆ ว่า อาหารจีนส่วนมากจะมีการนำขิงเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการปรุงต่างๆ และคนจีนมีการนำมาใช้ในในชีวิตประจำบันเป็นบางส่วน     เห็นว่าสมุทรสงครามดูจะเป็นพื้นที่เขตต่อของความนิยมในการใช้ขิงกับพื้นที่ๆไม่นิยมที่มีต่อเนื่องลงไปตลอดพื้นที่ทางภาคใต้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 226  เมื่อ 23 ส.ค. 21, 18:21

ขยับต่อไปดูพื้นที่ชายฝั่งไนเขต จ.เพชรบุรี     

พื้นที่ชายทะเลจากปากอ่าวแม่กลองไปถึงเพชรบุรีจะค่อยๆมีสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป  บ้างก็อยู่ในอิทธิพลจากลักษณะการไหลของกระแสน้ำชายฝั่งที่ไหลในบริเวณที่เป็นชายฝั่งหักศอกของอ่าวไทยตอนบนด้านตะวันตก  บ้างก็ด้วยอิทธิพลของน้ำและตะกอนทั้งหลายของแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลมาโผล่ที่บางตะบูน  ผนวกกับฤดูกาลที่ทำให้ของคุณภาพของน้ำในบริเวณนี้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกายภาพและด้านเคมี (ความเค็ม ความขุ่นข้น อุณหภูมิ แร่ธาตุและสารอาหาร) ที่มีความพอเหมาะพอดีสำหรับการเจริญเติบโตของ plankton และพวกสัตว์ลูกอ่อนทั้งหลาย    เหล่านี้ดูจะเป็นผลทำให้แม่กลองและเพชรบุรีมีความต่างกันที่พอจะเห็นได้ในเชิงของๆที่มีอยู่ในทะเลและที่จับมาได้จากทะเล   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 227  เมื่อ 23 ส.ค. 21, 19:04

เมื่อเข้าไปเดินตลาดสด เปรียบเทียบระหว่างตลาดสดของแม่กลองกับตลาดสดของเพชรบุรี เราจะเห็นความแตกต่างในสินค้าค่อนข้างจะมาก  แต่ทั้งสองตลาดนี้ก็มีลักษณะเหมือนกันในเรื่องของๆทะเลที่มีความสดจริงๆ  ของทะเลสดที่เป็นของสดใหม่จริงๆของทั้งสองตลาดนี้จะมีวางขายก็เมื่อมีเรือประมงเข้ามาเทียบท่า หมายความว่า ของสดจริงๆในแต่ละวันนั้นจะมีมาวางขายในตลาดสดในช่วงใดของเวลากลางวันก็ได้  มิได้หมายความว่าของนั้นๆจะต้องมีวางขายอยู่แต่เฉพาะในเวลาเช้ามืดดังเช่นพวกเนื้อสัตว์บกและพืชผักต่างๆ  ลักษณะดังกล่าวนี้ก็ยังมีอยู่ในปัจจุบันแต่จะรู้กันในหมู่ผู้คนชาวถิ่น   

เมื่อตลาดสดได้กลายเป็นแหล่งซื้อของทะเลสดก่อนการเดินทางกลับจากการท่องเที่ยว ก็จำเป็นต้องมีของทะเลสดวางขาย ของทะเลสดหลายอย่างที่เป็นพวกจับได้ในทะเลลึกและในน่านน้ำอื่น เป็นพวกของที่ผ่านการแช่แข็งและผ่านการทำให้ละลายแล้ว (thawing) ซึ่งกระบวนการ thawing นี้ หากทำไม่ถูกวิธีก็จะทำให้สัมผัสที่เป็นธรรมชาติหายไป ซึ่งหากขายไม่หมดแล้วเอาแช่น้ำแข็งเพื่อนำไปขายต่อในวันรุ่ง สัมผัสแะรสก็จะยิ่งแย่ลงไปอีกเป็นทวีคูณ   หากเห็นของสดๆ ตัวขนาดเท่าๆกัน ของเหล่านี้บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นของที่มาจากการเลี้ยงในฟาร์ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 228  เมื่อ 23 ส.ค. 21, 19:38

ท่านที่ไปเที่ยวหัวหินในสมัยที่ไปเป็นแบบครอบครัว ต้องเช่าบังกาโลอยู่นั้น คงจะนึกออกว่า ผู้ใหญ่จะต้องมีคำถามกับชาวบ้านว่า เรือประมงจะเข้าเทียบท่าเวลาใหน  เมื่อถึงช่วงเวลาประมาณนั้นก็จะแห่กันไปที่สะพานปลาเพื่อขอแบ่งซื้อของสดๆจากชาวประมงแล้วเอามาทำกินเอง   นั่นแหละครับ ของสดจริงๆ   หากไปบางแสน ก็จะต้องไปหาซื้อของสดที่อ่างศิลา     

น่าเสียดายที่การณ์เปลี่ยนไป  ที่หัวหินเกือบจะหาจุดลงหาดที่ไม่มีการแสดงออกโดยนัยว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว  ดูจะถูกบังคับโดยนัยว่าควรจะต้องอยู่โรงแรมเพียงเท่านั้น  เช่นเดียวกันกับที่พัทยาและเกาะสมุย    แต่ที่บางแสนยังมีความต่างออกๆป มีบังกาโลให้เช่าและสามารถเข้าถึงชายหาดบริเวณใดๆก็ได้

คิดว่าคนที่ไปหัวหินรุ่นเก่าน่าจะยังคงนึกถึงข้าวต้มปลาหมึกกับหมูสับและปลากระบอกทอด  ที่ไปบางแสนก็น่าจะนึกถึงพล่าปลากุแลและหอยนางรมสด บีบมะนาว เหยาะด้วยหอมเจียว หยอดใส่ปากแล้วเคี้ยวยอดกฐินตามไป   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 229  เมื่อ 24 ส.ค. 21, 18:15

เมื่อจะไปพักผ่อนและค้างแรมที่ชะอำหรือหัวหิน ผมคิดว่าคงจะมีไม่มากนักที่คิดจะใช้เส้นทางเลาะชายทะเล ผ่านบางตะบูน เข้าเมืองเพชรบุรี ผ่านเมืองไปใช้ถนนเพชรเกษมต่อไป  และก็จะยิ่งน้อยมากเข้าไปอีกที่จะเลือกใช้เส้นทางเลาะชายทะเลต่อไป ผ่านแหลมผักเบี้ย หาดเจ้าสำราญ หาดปึกเตียน แล้วก็ชะอำ   

หากใช้ถนนหลัก(ถนนเพชรเกษม)ในการเดินทางไปหัวหิน ก็จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ออกจากบ้านให้เช้าหน่อยก็จะถึงหัวหินใกล้เวลาอาหารกลางวัน    หากใช้เส้นทางเลาะชายทะเลก็จะใช้เวลาไม่ต่างกัน หากแต่จะมีโอกาสได้แวะกินอาหารกลางวันที่ทำจากของสดๆใหม่ๆที่ได้มาใหม่จากทะเลแถวๆนั้น ซึ่งจะมีตามร้านอาหารตั้งแต่ในพื้นที่ปากอ่าวบางตะบูนเป็นต้นไป ของทะเลหลายๆอย่างที่ใช้ในการทำอาหาร ได้มาจากการทำประมงพื้นบ้านของชาวบ้านแถวนั้น ดูได้จากเรือทำประมงประเภทที่ใช้เครื่องหางยาวที่จอดอยู่แถวนั้น   แวะนั่งกินแบบไม่ต้องเร่งรีบ เพราะสามารถจะแวะพักค้างคืนย่านหาดเจ้าสำราญหรือหาดปึกเตียนซึ่งอยู่ไม่ห่างไปนักก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องให้เวลาและความวิลิศมาหรามาเป็นข้อจำกัดหรือเป็นข้อที่ทำให้เราต้องเร่งรีบ ละเลย หรือละเว้นไปเสียทุกเรื่อง  ที่สำคัญก็คือ จะได้มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งต่างๆที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของธรรมชาติ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ปรัชญาแนวคิดของเขา อัธยาศัยไมตรี  อาหาร... ฯลฯ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 230  เมื่อ 24 ส.ค. 21, 19:20

ในเชิงทางกายภาพของพื้นที่  หากได้มีโอกาสขับรถตามถนนที่ตัดเข้าไปสู่ชายทะเลเป็นระยะๆ ก็จะสังเกตเห็นว่าความเป็นชายหาดโคลนจะค่อยๆหายไป เปลี่ยนไปเป็นชายหาดที่เป็นทรายละเอียด และในที่สุดก็เป็นชายหาดที่เป็นทรายล้วนๆ   ชายหาดที่เป็นเนื้อทรายเม็ดทรายค่อนเล็ก ที่ดูสะอาด  และที่เริ่มเป็นลักษณะที่ชายหาดที่เหมาะสมเพื่อการเล่นน้ำ เดินเล่น.... ดูจะเริ่มที่หาดเจ้าสำราญของเพชรบุรี

ในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพ  เรื่องนี้น่าสนใจ

โดยหลักพื้นฐาน ชายทะเลที่เป็นโคลนหรือที่มีพื้นที่ชายหาดที่กว้างมากๆเมื่อน้ำลง แสดงว่าความลาดเอียงของพื้นที่จะมีน้อยตั้งแต่บนแผ่นดินลงไปในผืนทะเล ซึ่งหมายความว่า ต้องออกไปไกลกว่าจะถึงบริเวณที่มีน้ำลึก หากเป็นหาดทรายที่ไม่กว้าง ก็จะแสดงว่าความลาดเอียงของพื้นที่มีระดับไปในทางสูงชันตั้งแต่ในแผ่นดินลงไปในทะเล ซึ่งหมายความว่า จากชายหาดลงไปไม่ไกลก็จะถึงบริเวณที่มีน้ำลึก     โดยลักษณะทางกายภาพดังกล่าวนี้ เมื่อนำไปผนวกกับเรื่องของการไหลของน้ำทะเลที่เข้ามาเกี่ยวข้องแบบ 3 มิติ (ทางราบและทางตั้ง) จะทำให้เกิดสภาพที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป   ซึ่งพอจะรู้ได้ว่ามีอะไรบ้าง ก็จากการสังเกตของทะเลที่เอามาวางขายกันในตลาดสด 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 231  เมื่อ 24 ส.ค. 21, 20:14

สำหรับร้านอาหารตลอดเส้นทางเลาะชายทะเลผ่านบางตะบูนนี้  ผมเห็นว่าทุกร้านก็คงมีฝีมือในเชิงของการทำอาหารให้เกิดความอร่อยไม่ต่างกันนักเพราะผู้ทำอาหารยังเป็นแม่ครัวชาวถิ่นอยู่   เดินทางผ่านไปหลายเที่ยวก็ลองแวะดูนั่งกินร้านต่างๆที่คิดว่าดูดีพอใจเรา    น่าจะสังเกตได้ว่าการปรุงอาหารแบบพื้นๆที่ใช้เครื่องปรุงไม่ต่างกัน แต่จะต่างกันด้วยสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เป็นมรดกตกทอดทางฝีมือของแม่ครัวแต่ละร้านที่ทำให้อาหารอร่อยจนตัดสินใจได้ค่อนข้างยากว่าร้านใหนจะอร่อยกว่าร้านใหน   ข้อสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ไม่ควรจะไปลองเมนูอาหารแบบเหลาชั้นดีและของที่ใช้ของนอกพื้นที่ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 232  เมื่อ 25 ส.ค. 21, 17:43

ตามเส้นทางชายทะเลก่อนจะถึงหาดเจ้าสำราญก็จะต้องผ่านแหลมผักเบี้ยซึ่งเป็นย่านที่มีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น   มีโอกาสก็น่าจะลองแวะร้านอาหารสั่งมาทานสักเมนูหนึ่ง   ผมกินครั้งแรกที่เกาะโอกินาวา ไม่เคยเห็นในโตเกียวมาก่อนหน้านั้นเลยแม้กระทั่งในเรือนรับรองของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ  เปิดเว็ปหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงทราบว่า คนญี่ปุ่นเรียกว่า Lato    ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sea grapes   

เมื่อเพาะเลี้ยงได้ในเมืองไทยมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว คิดว่าก็น่าจะต้องมีวิธีนำไปทำอาหารแบบไทยๆอยู่หลายเมนู ตามประสาคนไทยที่ชอบดัดแปลงอาหาร    ผมยังกินน้อยครั้งอยู่ จึงไม่สามารถจะให้ข้อมูลที่น่าสนใจใดๆได้ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 233  เมื่อ 25 ส.ค. 21, 19:02

ลองเข้าไปสำรวจตลาดสดในเมืองเพชรบุรีเพื่อดูว่ามีสินค้าทะเลอะไรบ้าง จะเห็นว่าของที่มีวางขายค่อนข้างจะชินตาก็จะมี อาทิ ปลากุแล ปลากระบอก ปลาดุกทะเล ปลาใส้ตัน (ปลากะตัก) แมงดาทะเล ปลากระเบนที่เรียกว่าปลายี่สน(ยี่สุ่น ?) เป็นต้น  กลุ่มปลาเหล่านี้ค่อนข้างจะบ่งบอกถึงความคุ้นเคยในการบริโภคมาแต่ดั้งเดิมของผู้คน ปลาเหล่านี้เป็นปลาที่พบอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งที่มีน้ำทะเลค่อนข้างจะไปทางใสและมีคลื่นลมดี ซึ่งเป็นลักษณะของชายหาดของเพชรบุรี  ทั้งหลายนี้ก็เป็นภาพของความเป็นธรรมชาติในมุมหนึ่งของพื้นที่ชายทะเลย่านนี้

เมื่อเอาภาพของธรรมชาติที่เล่ามาแบบกระท่อนกระแท่นตั้งแต่ฝั่งชลบุรี เลาะชายฝั่งต่อเนื่องมาจนถึงเพชรบุรี ผ่านปากแม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง คลองบางตะบูน  ก็จะเห็นภาพรวมของความเหมาะสมทางธรรมชาติที่ทำให้เป็นพื้นที่เพื่อการเจริญพันธุ์และพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลต่างๆที่มีวิถีการดำรงชีพแตกต่างกัน     หากจะมองในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ว่ามีมากน้อยเพียงใด ก็คงจะต้องย้อนไปดูว่า ในอ่าวไทยตอนบนที่เป็นลักษณะเป็นตัวอักษร ก.ไก่ นี้ ก็มีความสมบูรณ์ดีมากพอที่จะมีสัตว์น้ำนอกถิ่นแวะเวียนเข้ามาหาอาหาร เช่น วาฬบรูด้า ใต้ลงไปแถวประจวบฯ ก็มีฉลามวาฬ เป็นต้น 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 234  เมื่อ 25 ส.ค. 21, 20:25

อาจจะมีคำถามว่า แล้วความสมบูรณ์นั้นหดหายไปหรือยัง 

เท่าที่พอจะมีความรู้  ความหมายของคำว่า 'ความสมบูรณ์'  วัดกันได้ในหลายรูปแบบ ทั้งในเชิงที่จับต้องได้และในเชิงที่จับต้องไม่ได้ (คุณค่าทางใจ)  ความสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยทั่วไปมักจะวัดกันที่ขนาดหรือปริมาณ   แต่เมื่อเป็นทรัพยากรที่มีการเกิด การตาย และการเคลื่อนที่ทดแทนกันไปมา (เช่น ปลาในทะเล) ความสมบูรณ์ก็มักจะวัดกันที่ yield คือความสามารถในการดึงเอาออกมาจากระบบ เอามาใช้ได้สูงสุดเท่าที่มันยังสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้   

yield ของทรัพยากรในทะเลในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน หัว ก.ไก่ ที่นำเอามาเป็นอาหารได้นี้ จะเป็นตัวเลขเช่นใดผมก็ไม่ทราบ  ผมประมวลจากสิ่งที่ได้เห็นจากวางขายอยู่ในตลาดสดของท้องถิ่น ว่ามีสัตว์หลายอย่างไม่มากนักที่น่าจะถูกกวาดจับเอามาจนเกิน yield  แต่ก็ยังน่าจะอยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะขาดความสมดุลย์มากนัก สังเกตได้จากขนาดของสัตว์ที่จับมา โดยสภาพรวมๆก็คือโตขึ้นมาทดแทนเกือบจะไม่ทัน(อยู่แล้ว)  แต่ก็ยังน่าจะ OK อยู่ เพราะมีการเพาะเลี้ยงทั้งในเชิงของการอุตสาหกรรมและในของชาวบ้านที่เข้ามาทดแทนได้อยู่พอสมควร   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 235  เมื่อ 26 ส.ค. 21, 18:12

ขอออกนอกเส้นทางเพื่อลองขยายความเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรสักเล็กน้อย

คำภาษาไทยใช้คำว่า ทรัพยากร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า resource   โดยนัยแล้ว สรรพสิ่งทุกอย่างในโลกจะเป็นทรัพยากรก็เมื่อเรานำใช้แล้วกำหนดให้มันเป็น มันก็เลยมีเรื่องของเวลา ความมีค่า ความสำคัญ ความต้องการ ปริมาณ คุณภาพ และอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง  ตัวอย่างที่พอจะยกให้เห็นภาพได้ชัดๆก็เช่นกรณีของเปลือกหอย cowry หรือหอยหมูสีขาวตัวเล็กที่มนุษย์ในยุคก่อนใช้ในลักษณะเป็นเงินตรา    อีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น ฝักของต้นโกโก้และพวกเครื่องเทศหลายชนิด ผลผลิตของพืชพวกนี้ แต่ดั้งเดิมก็มิได้มีลักษณะของความเป็นทรัพยากรของผู้คนชาวถิ่นแต่อย่างใด ในขณะที่มันเป็นของที่เป็นความต้องการของฝรั่งชาวตะวันตก ถึงขนาดต้องมีความพยายามมาทำธุรกิจ ทำการค้า และแย่งกันครอบครองแหล่งผลิต มันก็เลยมีสภาพไปเป็นทรัพยากร เป็นของมีค่า มีความสำคัญ เป็นที่ต้องการทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ   ซึ่งในภายหลังความเป็นทรัพยากรที่สำคัญของฝรั่งก็กลับกลายมาเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศผู้ผลิต     ก็เลยต้องเพิ่มลักษณะของความเป็นทรัพยากร 'ของใคร' เข้าไปอีกด้วย 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 236  เมื่อ 26 ส.ค. 21, 19:08

ทรัพยากร  เมื่อนำเอามาใช้ มันก็จะต้องร่อยหรอไป  เมื่อทรัพยากรเป็นของมีค่า ไม่ว่าจะเป็นในเชิงทางเศรษฐกิจหรือเชิงของจิตใจ มันก็ควรจะต้องรู้ว่าทรัพยากรนั้นๆจะมีปริมาณเท่าใดในแต่ละคุณภาพของมัน เรียกกันในคำรวมๆว่า Reserve     

ซึ่งหากเป็นทรัพยกรพวกที่ไม่มีชีวิตเช่นแร่ธาตุ ก็จะมักจะบอกในรูปของน้ำหนักของสินแร่ หรือในรูปของตัวทรัพยากรที่สามารถจะสกัดออกมาได้ ณ ความสามารถทางเทคโนโลยีในวันที่ให้ข่าวสาร  ก็จึงทำให้ปริมาณของ Reserve หรือที่เรียกว่าปริมาณสำรองนั้นจะมีมากหรือน้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินบนฐานของเทคโนโยีที่จะนำมาใช้   ทั้งนี้ Reserve ก็ยังไปขึ้นอยู่กับราคาของทรัพยากรที่ขายกันอยู่ในตลาดอีกด้วย ซึ่งราคาในตลาดและความขาดแคลนก็ไปมีผลทำให้สินแร่ที่มีความสมบูรณ์ต่ำ (เปอร์เซ็นต์ต่ำ) ที่เคยถูกตัดออกไปจากการคำนวณ (cutoff grade) ก็กลับมากลายเป็นสินแร่ที่มีค่าขึ้นมา ทำให้ปริมาณสำรองในพื้นที่เดิมนั้นเพิ่มขึ้น 

ต่างไปจากทรัพยากรที่มีชีวิต ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีวัฎจักรของการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย   บางอย่างก็มีชีวิตติดอยู่กับที่ตั้งแต่เติบโตขึ้นมา  บางอย่างก็มีชีวิตที่ต้องเคลื่อนย้ายที่อยู่  อยู่ไม่เป็นที่ไปตลอดทั้งชีวิต   ประเด็นก็จึงไปอยู่ที่ว่า แล้วเราจะรู้ปริมาณสำรองของมันได้เช่นใด   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 237  เมื่อ 26 ส.ค. 21, 20:07

เมื่อความหมายของคำว่าปริมาณสำรองอยู่ในความหมายของการมีของอยู่  ก็จึงดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ต่างไปมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการขายสินค้าเฉพาะอย่างของร้านขายปลีกต่างๆ  เมื่อของที่วางขายหน้าร้านขายออกไปแล้วก็หยิบเอาของที่อยู่หลังร้านมาวางให้เต็มใหม่ เมื่อขายดีจนเกินปกติ ของที่สั่งมาขายในปริมาณและระยะเวลาตามปกติที่เคยทำมาก็หมดไป ก็ต้องรอจนกว่าจะมีของมาส่งให้ใหม่

การบริหารทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตเพื่อให้มีความพอเพียงในการนำไปใช้ประโยชน์ โดยที่ไม่ไปรบกวนหรือขัดขวางจนวัฏจักรของการมีเข้ามาทดแทน(replenish)ถูกตัดขาดนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญและค่อนข้างยาก จำเป็นจะต้องมีข้อมูลและความรู้มากมายทั้งฝ่ายเขา(ตัวทรัพยากร)และรู้ทั้งฝ่ายเรา(ผู้บริโภค) 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 238  เมื่อ 27 ส.ค. 21, 18:32

ทรัพยากรที่มีความสามารถในการกำเนิดขึ้นมาทดแทนของเดิมที่ล้มหายตายจากไปที่กล่าวถึงนี้ เป็นประเภทที่เรียกกันว่า renewable resources ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว  แต่ด้วยที่โลกมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา บ้างก็เป็นในรอบหลายๆปี บ้างก็เป็นในรอบปีเดียว บ้างก็เปลี่ยนไปแบบถาวร และอื่นๆ เช่น โดยการกระทำของมนุษย์...   ทรัพยากรประเภทนี้ก็จะมีการปรับตัว/เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งในเชิงของการมีมากขึ้นหรือมีน้อยลง และในเชิงของคุณภาพอีกด้วย  การไปดึงเอามันออกมาใช้อย่างมีสมดุลย์โดยไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบ ให้มีความสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ก็จะทำให้เราสามารถที่จะแสวงประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืน (sustainable exploitation)   ซึ่งก็คือ การอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ (living in harmony with nature)

แต่เมื่อสินค้าที่เป็นทรัพยากรเหล่านั้นเป็นที่ต้องการมากขึ้น ด้วยความรู้และเทคโนโลยีก็ทำให้สามารถเพิ่มทรัพยากรเหล่านั้นได้ด้วยการเพาะเลี้ยง  จากขนาดเล็กๆก็ขยายไปเป็นลักษณะของอุตสาหกรรม   ซึ่งก็จะต้องไม่ไปทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ  ก็เลยเข้าไปสู่เรื่องของการพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) 

 รูดซิบปาก รู้สึกว่าจะเลยเถิดนอกเรื่องมากเกินไปแล้ว ก็จะต้องขอตัดใว้เพียงเท่านี้  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 239  เมื่อ 27 ส.ค. 21, 19:19

เรื่องที่ออกนอกลู่ไปจนถึง sustainable development นั้น  ในมุมหนึ่งก็มีเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (conservation) เข้ามาเกี่ยวข้อง   ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ดูจะมีอยู่ในสำนึกของชาวไทย     

มาตรการหรือปฎิบัติการที่นิยมใช้ในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติเมื่อสักสี่สิบปีก่อนนั้น มีอยู่ 7 อย่าง (หากยังจำถูกต้องอยู่) คือ Minimized นำออกมาใช้ให้น้อย  Maximized เอาออกมาแล้วใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด  Recycle เอาวัสดุจากของเก่ามาใช้ทำของใหม่  Reuse เอาของที่ใช้แล้วนำมาปรับปรุงใช้ใหม่  Substitution เอาของอื่นมาใช้ทดแทนกัน  Integration เอามาใช้อย่างหลากหลายประโยชน์   อีกอย่างหนึ่งนึกไม่ออกครับ ไม่แน่ใจว่าจะเป็น Replenish หรือเปล่า?      ในปัจจุบันนี้ ดูจะไปใช้หลักการของ 3R  คือ Reduce  Reuse และ Recycle   

ผมมีข้อสังเกตว่า คนไทยชาวถิ่นที่อยู่ตามพื้นที่ชายฝั่งของอ่าวไทยดูจะมีสำนึกในเรื่องของ conservation ค่อนข้างจะมากมาเป็นเวลานานแล้ว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 14 15 [16] 17 18 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง