เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 15915 ความรู้ในลิ้นชัก
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 23 ก.ค. 21, 18:46

เจาะจงลงไปอีกเล็กน้อยถึงพวกขาลุยแบบพอให้เกิดความเพลิดเพลิน     รถที่เลือกใช้ก็คงจะเป็นพวกรถ SUV ซึ่งมีใต้ท้องรถสูงกว่ารถเก๋ง มีให้เลือกประเภทขับเพียง 2 ล้อหลัง   ประเภทขับ 4 ล้อเมื่อต้องการ (4x4) ซึ่งรถแบบนี้จะมีเกียร์กำลังที่เรียกว่าเกียร์สโลว์อยู่ด้วย   และประเภทขับ 4 ล้อตลอดเวลา (AWD หรือ 4WD)  ยางที่ใช้กับรถพวกนี้ควรจะเป็นพวกที่มีอักษร AT (All Terrain) ซึ่งจะมีดอกยางที่หยาบและขวางไปขวางมามากกว่าพวกยางที่ใช้บนถนนเรียบๆซึ่งโดยทั่วๆไปจะมีอักษร H หรืออื่นๆ เช่น V กำกับต่อจากตัวเลขที่บอกขนาดของยาง

เมื่อใช้รถประเภท SUV ก็ย่อมมั่นใจที่จะขับลงไปบนถนนลูกรัง หรือขับในถนนที่ไม่มีการบดอัดที่ใช้เข้าไร่เข้าสวนต่างๆ  ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดกรณีรถลื่นไถลหรือติดหล่มได้ในบางฤดูกาล  ซึ่งกรณีเกือบทั้งหมดจะเป็นเรื่องของล้อรถหมุนฟรี   

หลักการพื้นฐานที่จะเอารถขึ้นจากหล่มก็คือ กระทำใดๆก็ได้เพื่อให้ล้อที่หมุนฟรีนั้นมันมี friction กับพื้นดิน (มันเป็นกลไกการทำงานขับเคลื่อนของล้อรถยนต์ ที่ทั้งสองล้อจะต้องมี friction กับพื้นผิว)  เมื่อเกิดกรณีขึ้น ความคิดแรกสุดของเราก็คงจะหนีไม่พ้นจากการช่วยกันเข็นรถ   ตามมาด้วยการหาวัสดุมาใส่ใต้ล้อที่หมุนฟรี และสุดท้ายก็จะนึกถึงการลาก     ก็อยากจะให้ลองอีกวิธีการหนึ่งแทนการออกแรงเข็นรถโดยตรง ลองใช้วิธีการโยกรถเพื่อให้ล้อที่หมุนฟรีอยู่นั้นมันมีโอกาสกดลึกเข้าไปในดินเป็นช่วงๆ เพื่อให้ล้อได้มีกำลังฉุด

วิธีการโยกรถนี้ มีการใช้กันค่อนข้างมากในสมัยก่อนโน้นในพื้นที่ๆมีการขุดพลอยของ จ.จันทบุรี และตราด    ด้วยที่เส้นทางคมนาคมระหว่างแหล่งขุดพลอยเป็นถนนที่เละเต็มไปด้วยโคลน คนที่ใช้รถเข้าออกพื้นที่ต่างรู้กันอยู่ว่าเมื่อใดที่ล้อรถเริ่มหมุนฟรี เขาก็จะช่วยกันขย่มรถเพื่อให้มีน้ำหนักกด             
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 23 ก.ค. 21, 19:26

เมื่อกรณีไปถึงจุดที่ต้องใช้วิธีการลาก  ก็มีเรื่องที่จะต้องมีความระวังเป็นอย่างมากๆ เนื่องมาจากอาจจะเกิดกรณีสายลากขาดในระหว่างที่มีการดึงอย่างเต็มกำลัง (สายที่ใช้ลากนั้นคงจะไม่หนีไปจากเชือก ลวดสลิงทั้งแบบไม่มีใส้และมีใส้ใช้เชือก สลิงใยสังเคราะห์ และโซ่)    การขาดของสายลากในขณะที่ใช้กำลังดึงอย่างเต็มที่นั้น ทำให้เกิดการตวัดอย่างแรงมากๆของช่วงปลายสายที่ขาด หากถูกเราก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บและเกิดบาดแผลที่ฉกรรจ์ได้

ก็จึงเป็นข้อที่ต้องพึงระลึกถึงอยู่เสมอว่า เมื่อใดที่มีการลากรถ มีการใช้สายลากรถเมื่อรถติดหล่ม  ก็ควรจะต้องไปหาจุดยืนที่เห็นว่าพอจะเป็นที่กำบังจากการตวัดของปลายสายลากที่ขาดนั้นได้   เสมือนกับหลบหลีกการถูกตวัดด้วยแส้หนังหรือแส้หางกระเบน   เป็นเรื่องที่น่ากลัวและอาจจมีอันตรายถึงชีวิตได้ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 24 ก.ค. 21, 18:27

ทีแรกว่าจะต่อไปในโซนของเรื่อง off road และ off grid  แต่เกรงว่าจะน่าเบื่อก็เลยจะเว้นวรรคไปสักช่วงหนึ่ง 

เมื่อเราจะเดินทางไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ  การเตรียมตัวของเราเรื่องหนึ่งก็คือการหาความรู้ในวงกว้างอย่างคร่าวๆเกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ จากนั้นก็มักจะเจาะจงลงไปถึงเรื่องของดีประจำถิ่นและแหล่งจับจ่ายซื้อขายของต่างๆ บ้างก็ลงไปถึงระดับชื่อร้านและสถานที่ตั้งเลยก็มี (เช่น ตัวผมเอง  ยิงฟันยิ้ม)   แต่ผมชอบที่จะหาอ่านข้อมูลในวงกว้างที่ละเอียดลึกลงไปก่อนที่จะเดินทางไป  (ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม ผู้คน วิถิชีวิต ความเป็นอยู่ อาหารการกินที่นิยมของชาวถิ่น ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ขึ้นชื่อของท้องถิ่น ...เหล่านี้เป็นต้น)  ซึ่ง สำหรับตัวผมแล้ว เห็นว่ามันเป็นอะไรๆที่ช่วยเพิ่ม/เติมเต็มให้กับการเดินทางในครั้งนั้นๆ  คือมิไช่เพียงแต่เพื่อให้มีภาพของตนกับฉากหลังว่าได้เคยไปยังพื้นที่นั้นๆแล้ว     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 24 ก.ค. 21, 19:38

ก็มีข้อเสนอเพื่อลองทำให้การเดินทางไปเที่ยวในต่างจังหวัดของเราดูมีความน่าสนใจมากขึ้น   

เรื่องหนึ่งก็คือ ชื่อของพื้นที่ต่างๆมันสื่ออะไรบ้าง  เมื่อออกจากบ้าน ดูแผนที่ก็จะรู้ว่าต้องนั่งรถผ่านจังหวัดใดบ้าง อำเภอใดบ้าง  เมื่อขับหรือนั่งรถไป เราจะเห็นป้ายข้างทางถนนหลวงบอกชื่อสถานที่ต่างๆเป็นระยะๆ  แต่ที่น่าสนใจก็คือสะพานที่มีป้ายบอกชื่อคลอง  คลองเหล่านั้นสวนมากจะเป็นคลองที่เป็นลำน้ำตามธรรมชาติ หรือไม่ก็เป็นคลองที่มีการขุดขึ้นมาเพื่อการใดการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชุมชน ต่อเศรษฐกิจ หรือต่อความมั่นคง  ก็คือมักจะมีประวัติและเรื่องเล่าเกี่ยวกับคลองเหล่านั้น  เช่น คลองมะขามเฒ่า (หลวงปู่ศุข) คลองตะเคียน (พระกริ่ง) คลองพระยาบรรลือ (ชลประทาน)   
สำหรับถนนสายรองที่เชื่อมระหว่างอำเภอ ที่น่าสนใจก็จะเป็นเรื่องของชื่อตำบลหรือชื่อหมู่บ้านว่ามันสื่ออะไร  หากต้องเดินทางไปในภูมิภาคต่างๆค่อนข้างมากก็จะพอเห็นว่า ชื่อหมู่บ้านที่นำด้วยคำว่า_นา_นั้น มันให้ภาพของสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในสมัยก่อนโน้นค่อนข้างมาก 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 25 ก.ค. 21, 18:27

เช่น

บ้านนาไร่เดียว เป็นชื่อที่พบมากในภาคเหนือ  บอกถึงสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ๆเป็นหุบเขาแคบๆ แต่มีห้วยที่ให้น้ำได้ในปริมาณที่ค่อนข้างดีและต่อเนื่องนานพอสมควร  แต่แรกเริ่มก็คงมีพื้นที่ถูกถากถางปรับให้เป็นพื้นที่ทำนาได้เพียงเล็กน้อย ต่อมาก็มีการขยายพื้นที่และมีการทำระบบทดน้ำเพื่อส่งน้ำเข้าผืนนาต่างๆ      บ้านนากลาง เป็นชื่อที่พบอยู่ในทุกภาค โดยความหมายของชื่อก็น่าจะบ่งชี้ถึงลักษณะของสังคมและการอยู่ร่วมอย่างสันติสุข

หลายชื่อบ่งบอกถึงลักษณะของพื้นที่และป่าดงดั้งเดิม เช่น นาต้นวิ้ว นาบอน นาป่าหนาด นาป่าพง นาป่าแฝก นาหวาย นามะเฟือง นาบัว ฯลฯ    หลายชื่อบ่งบอกถึงผู้บุกเบิกหรือเจ้าของ เช่น นายายอาม นาตาผาง ฯลฯ    หลายชื่อน่าจะบ่งบอกถึงนาของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น นามอญ นาลาว ฯลฯ     ก็มีหลายๆชื่อที่เดาไม่ออก เช่น นาสาร (จ.สุราษฎร์ธานี) นาทวี (จ.สงขลา) นาบ่อคำ (จ.กำแพงเพชร) นาหม่อม (พิจิตร และ สงขลา)    แล้วก็มีประเภทชื่อที่น่าจะมาจากคำกริยา เช่น นาคาย ซึ่งอาจจะมาจากพืชพรรณไม้ที่ทำให้เกิดการระคายผิวบางอย่าง (ไม้ไผ่บงชนิดที่มีขน_บงคาย  หญ้าคา  สาบเสือ  ฯลฯ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 25 ก.ค. 21, 19:23

ในมุมหนึ่ง ก็จะพอสังเกตเห็นว่า ชื่อตำบลและอำเภอที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "นา" นั้นมีอยู่ทั่วประเทศ  แต่ละแห่งก็ดูล้วนแต่จะเป็นชุมชนใหญ่ที่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจของพื้นถิ่นย่านนั้นๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นเวลามาช้านานแล้ว จึงได้มีการปรับตั้งให้มีความสำคัญในทางการปกครอง มีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคให้ดีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้ก็พอจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าน่าจะต้องมีของดีอะไรๆแต่เก่าก่อนซ่อนเร้นอยู่      เมื่อเดินทางไปเที่ยวบนเส้นทางที่ต้องผ่านตำบลหรืออำเภอเหล่านี้ ก็น่าจะลองขับผ่านตัวเมืองหรือลองแวะเข้าไปเดินชมเมืองหรือตลาดของเขาเท่าที่เวลาจะพอเอื้ออำนวย   อาจจะได้เห็นอะไรๆที่เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่น่าสนใจ แม้กระทั่งอาหารตามปกติที่เราคุ้นเคยกินกันที่ใช้เครื่องปรุงเหมือนกัน แต่วิธีการทำหรือการปรับแต่งใส่บางอย่างเพิ่มเติมลงไปได้ทำให้อาหารจานนั้นๆมีความรู้สึกที่อร่อยแตกต่างกันออกไปเลย     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 26 ก.ค. 21, 18:51

ชื่ออื่นๆของหมู่บ้านและตำบล ก็มีที่บอกเรื่องราวเสี้ยวหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเช่นกัน   ซึ่งหลายแห่งได้ถูกเปลี่ยนชื่อไป จะด้วยความตั้งใจหรือด้วยเหตุอื่นใดก็ไม่ทราบได้ เพราะหลายๆชื่อมิใช่เป็นชื่อที่พึงใช้ตามภาษาถิ่น เช่น บ้านประตูล้อ ใกล้ตัวเมืองเชียงราย ซี่งแต่เดิมเรียกว่า บ้านท่าล้อ  สถานที่นี้ ตามประวัติก็คือเป็นที่พักค้างแรมของพวกเกวียน(ล้อ)ที่เดินทางระหว่างเชียงรายกับเชียงใหม่ เป็นพวกพ่อค้าชาวไทยใหญ่ (ยังมีเชื้อสายตกค้างอยู่ในปัจจุบันนี้) โดยออกจากเมืองเชียงรายทางประตูเชียงใหม่ ผ่านเขต อ.แม่สรวย  อ.เวียงป่าเป้า อ.ดอยสะเก็ด ?? (หรือตัดไปทาง อ.วังเหนือ ??) เข้าเชียงใหม่ทางประตูท่าแพ ??    เส้นทางนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินทัพสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯอีกด้วย     

ในบางกรณีก็ชวนให้เกิดความน่าสนใจต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติม เช่น ที่ตัวเมืองเชียงใหม่เองก็มี ประตูเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประตูทางเข้า-ออกของเส้นทางเชื่อมระหว่าง เชียงใหม่ กับ ลำพูน    ฮืม จะเป็นการสื่อหมายความหรือไม่ว่า ที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่แต่แรกเริ่มนั้นอาจจะใช้พื้นที่ของเมืองลำพูนหรือพื้นที่ของเวียงกุมกาม (อยู่บนเส้นทางเดียวกัน) ด้วยว่าเมืองเชียงใหม่อยู่ในระหว่างการสร้าง  หรือในอีกมุมหนึ่ง เมืองเชียงใหม่มีชื่อเดิมอีกชื่อหนึ่ง   ครับ..ก็คงพอจะช่วยให้เห็นช่องของการคิดแบบประหลาดๆในระห่างการเดินทาง ก็แก้ง่วงและช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดแล่นไปกับสิ่งที่ได้พบเห็นตามเส้นทาง 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 27 ก.ค. 21, 18:31

ก็มีชื่อหมู่บ้านที่ถูกเปลี่ยนไปในลักษณะของการเข้าใจเอาเอง ซึ่งบางกรณีก็ทำให้ความหมายและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องสูญหายไป  เช่น บ้านวังปะโท่ ของ อ.ทองผาภูมิ กาญจนบุรี  มาจากภาษากะเหรี่ยงที่หมายถึง ตลิ่ง(ลำน้ำ)ที่สูงชัน  ในแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกแสดงชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านตำรองผาโท้  ชาวถิ่นและคนในหมู่บ้านเองเรียกว่าบ้านวังปาโท่ เพราะมีคุ้งน้ำใหญ่ มีน้ำลึก(วังน้ำ) ก็เลยเอาคำในภาษากะเหรี่ยงคำว่า พาโด๊ะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเดิมของสถานที่นั้นมาต่อท้าย แต่ออกเสียงเพี้ยนๆไปเป็น(ปาไท่) ชื่อก็เลยกลายเป็น วังปาโท่   ในช่วงก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม มีการเรียกชื่อที่ปรากฎตามป้ายต่างๆกัน (วังปลาโท่ วังปาโท้) จนในปัจจุบันกลายเป็น วังปะโท่  สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม     

ก็เลยมีบางเรื่องราวที่น่าสนใจ เพราะว่าหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพของไทยและพม่าในการสงครามต่างๆระหว่างกัน  มีอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้นๆฝังอยู่เป็นหย่อม หรือเป็นเศษกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป   แม้กระทั่งสิ่งของและอะไรๆต่างๆในสมัยการสร้างทางรถไฟสายมรณะก็มี  ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ ในปัจจุบันนี้อยู่ใต้น้ำในอ่างน้ำของเขื่อนเขาแหลม   

เรื่องหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดความน่าสนใจก็คือ ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่แถบนี้เป็นพวกที่ใช้ภาษาและสำเนียงต่างไปจากพวกที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ   คำว่า พาโด๊ะ เป็นภาษา/สำเนียงที่ใช้กันในชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือ ชาวกะเหรี่ยงภาคกลางและใต้ใช้ว่า พาดู๊   ก็อาจเป็นชนวนชวนให้คิดที่จะไปหาอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมว่าแล้วมันมาเป็นชื่อที่ใช้เรียกสถานที่นี้ได้อย่างไร อาจจะเริ่มค้นด้วยชื่อ พระศรีสุวรรณคีรี หรือ อำเภอสังขละบุรี  หรือจะต้องไปเที่ยวเพื่อพบปะพูดคุยกับลูกหลานของพระศรีสุวรรณคีรีก็ได้ มากกว่าที่จะรู้สึกว่าเมืองนี้มีแต่ชาวมอญ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 27 ก.ค. 21, 19:13

ต้องไม่ลืมอยู่เรื่องหนึ่งว่าในปัจจุบันนี้ หลายหมู่บ้าน หลายตำบล หลายอำเภอ มิได้ตั้งอยู่บนพื้นที่ดังเดิม ด้วยที่ถูกย้ายไปตั้งเป็นพื้นที่ชุมชนใหม่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ     หากเราได้ศึกษาข้อมูลของพื้นที่ต่างๆในมุมนี้ก่อนจะเดินทางไปเที่ยวก็เป็นการดีเช่นกัน  ชุมชนที่ต้องย้ายไปอยู่พื้นที่ใหม่/บ้านใหม่เหล่านี้ส่วนมากจะต้องปรับวิถีการดำรงชีพ ซึ่งโดยมากก็จะต้องเปลี่ยนจากหาเลี้ยงชีพด้วยการทำนาไปเป็นการทำเกษตรกรรมในรูปแบบผสมผสานอื่นๆที่น่าสนใจ  ยังผลทำให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมต่างๆของชาวบ้านเพื่อการเอาตัวรอดได้ปรากฎออกมา   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 28 ก.ค. 21, 18:26

ชื่อสถานที่ต่างตลอดลำน้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี ก็มีความน่าสนใจค่อนข้างมาก  อาจจะเป็นเพราะเคยเป็นพื้นที่ๆมีการเดินทัพผ่าน เป็นพื้นที่ๆมีทหารหลายชาติพันธุ์อยู่ในการรบ  มีการตั้งแคมป์พักแรมเป็นระยะๆ  มีการใช้เส้นทางท้้งทางบกและทางน้ำโดยเรือแพ 

ลองสำรวจดู  ชื่อ อ.สังขละบุรี จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าชาวบ้านคนไทยที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่ห้วยมาลัย (เป็นหมู่บ้านคนไทย) และชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ละแวกนั้น บอกว่าชื่อดั้งเดิมนั้นดูจะเป็นชื่อภาษาไทยว่าเรียกพื้นที่นี้ว่า สามแคว หรือ สามสบ คือเป็นจุดบรรจบของน้ำ 3 สาย ได้แก่ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี  น้ำทั้ง 3 สายนี้คือจัดให้เป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำแควน้อย แม้ว่าห้วยบีคลี่จะเป็นทางน้ำสายหลักที่มีท้องน้ำลึกและมีน้ำไหลตลอดทั้งปีก็ตาม จุดบรรจบของน้ำสามสายนี้ชาวมอญนิยมเรียกว่า สามแคว แต่พูดได้ไม่ชัด ออกเสียงเป็น แซงแคล แล้วก็เลยกลายเป็น สังขละ  ก็มีความเป็นไปได้เพราะว่าพื้นที่ในย่านของเจดีย์สามองค์นั้นอยู่ในเขตทางสังคมและวัฒนธรรมของคนชาติพันธุ์มอญ (เมืองทะวายและเย)

หากเป็นนักนิยมท่องไพร  เส้นทางเดินเลาะลึกๆเข้าไปตามลำห้วยบีคลี่ก็ไม่เลวนัก มีลำน้ำที่กว้างและไหลเอื่อยๆ มีคุ้งน้ำที่นิ่งสงบ มีป่าที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติ อาจจะได้พบสัตว์บางอย่างที่ไม่ค่อยจะได้เห็นกัน คือ หมีขอ    ก็ยังนึกถึงการเดินไปทำงานลึกเข้าไปตามห้วยเมื่อครั้งกระโน้นอยู่เลยครับ แถวๆ พ.ศ.2525 +/-   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 28 ก.ค. 21, 18:58

เพิ่งเคยได้ยินคำว่า "หมีขอ" ต้องรีบไปค้นดูว่าเป็นตัวอะไร


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 28 ก.ค. 21, 19:19

เพลินไปหน่อย นึกขึ้นได้ว่า ห้วยบีคลี่ถูกน้ำในอ่างน้ำของเขื่อนเอ่อท่วมไปแล้ว สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันน่าจะมีการพัฒนาเป็นชุมชนเกษตรกรรม รีสอร์ทที่พัก และชุมชนเมืองไปแล้ว  

ในพื้นที่ไม่ไกลไปจากที่ตั้งของตัวอำเภอสังขละบุรีนัก จะมีชื่อ เช่น ไล่ไว่ วังกะ รันตี ซองกาเลีย หนองลู ปรังเผล่ ทิไร่ป่า กองม่องทะ ฯลฯ     ลงมาตามน้ำแควน้อยก็จะมี เช่น บุ(โบ)อ่อง ห้วยเขย่ง วังปะโท่ ปรังกาสี ทุ่งก้างย่าง ลิ่นถิ่น หินดาด กุยมั่ง (เป็นจุดมีพุน้ำร้อนที่ทหารญี่ปุ่นลงไปแช่ในสมัยสงคราม) จันเดย์ ฯลฯ     หากเป็นชุมชนชายน้ำก็มักจะมีชื่อที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ท่า(ท่าน้ำ ท่าลงสินค้า) หรือไม่ก็ด้วยคำว่า วัง (คุ้งน้ำที่มีน้ำลึก มีปาชุกชุม)  พอจะเห็นได้ว่า ชื่อเหล่านี้มีทั้งที่เป็นภาษาไทย ภาษามอญ และภาษากะเหรี่ยง  บ้างก็เดาไม่ออกว่าเป็นภาษาอะไร

เมื่อลงมาถึงแถวน้ำตกไทรโยค ชื่อของสถานที่ก็เริ่มมีความเป็นภาษาไทยเกือบทั้งหมดหรือไม่ก็ผสมกัน(พุองกะ พุถ่อง)  แล้วก็มาเป็นชื่อในภาษาไทย  แต่ก็มีที่ไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไร เช่น ลุ่มสุ่ม ส้มสุ่ย เป็นต้น

ก็คจะพอจะเป็นตัวอย่างนำพาให้การเดินทางบนเส้นทางนี้ไม่รู้สึกว่าเบื่อลงไปได้บ้าง    
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 28 ก.ค. 21, 19:39

เพิ่งเคยได้ยินคำว่า "หมีขอ" ต้องรีบไปค้นดูว่าเป็นตัวอะไร

ในประสบการณ์ของผม เคยพบเห็น "หมีขอ" เฉพาะแต่ในพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรี ในเขตของ จ.กาญจนบุรี  พบที่บริเวณใกล้สันเขาที่มีความชื้นและมีต้นไม้ค่อนข้างหนาแน่น  เคลื่อนไหวคล่องแคล่วแต่ไม่เร็วปรู๊ดปร๊าด ไม่แสดงอาการตื่นกลัวคน  เมื่อเห็นกันแล้วก็ยังทำอะไรๆของเขาอย่างสบายๆต่อไปเรื่อยๆ ดูน่ารักดีครับ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 29 ก.ค. 21, 18:41

ต่อเรื่องไปอีกสักหน่อย ครับ  อาจจะมีแง่มุมให้คิดในเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว การตั้งหน่วย การจัดกำลังของกองกำลังในสมัยที่ไทยกับพม่ายังมีการสงครามระหว่างกัน 

เมื่อล่องลงมาจากสังขละบุรีมาถึงแถวน้ำตกไทรโยค ชื่อสถานที่ก็มีความเป็นไทยมากขึ้น ฝั่งตรงข้ามของน้ำตกไทรโยคมีลำน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปี เรียกกันว่า แม่น้ำน้อย เป็นชื่อลักษณะของภาษาไทยภาคกลาง   เหนือขึ้นไปไม่มากนักติดชายแดนก็จะเป็นบ้านเต่าดำ ซึ่งเคยเป็นจุดเดินข้ามสันเขาระหว่างไทยกับพม่า เป็นจุดที่เรียกชื่อกันแต่เดิมว่า ด่านเต่าดำ  แต่..ด้วยที่พื้นที่ี้นี้เคยเป็นจุดทำเหมืองแร่ ก็เลยนิยมเรียกกันว่าเหมืองเต่าคำ    ใต้ลงมาจากแม่น้ำน้อยก็มี ห้วยบ้องตี้ และมีพื้นที่ราบเรียกว่า ทุ่งมะซัยย่อ    ก็คงนึกออกถึงชื่อด่านบ้องตี้ ซึ่งเป็นด่าน(เส้นทาง)ใหญ่ที่พม่าใช้ในการเดินทัพเข้าไทย  ผมเข้าใจเอาเองว่าทุ่งมะซัยย่อน่าจะเป็นจุดพักทัพ  ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกันว่า ทุ่ง เป็นคำในภาษาไทย  มะซัยย่อ น่าจะเป็นภาษาพม่า  แต่ที่หมู่บ้านนี้ ผู้ที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลาช้านานแล้วเป็นชาวกะเหรี่ยงกลุ่มที่ไม่ใช้ภาษาแบบชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 29 ก.ค. 21, 19:40

จากน้ำตกไทรโยคใหญ่ หากมาทางน้ำก็จะต้องผ่านถ้ำกระแซ (จุดที่รถไฟเลาะหน้าผา) หากใช้ทางบกก็จะต้องผ่านพื้นที่ๆเรียกว่าเขาสามชั้น  จากนั้นก็จะเป็นที่ราบ จากนั้นก็จะมีทางลัดไปออกแควใหญ่ ผ่านทางบ้านทับศิลา ซึ่งเมื่อล่องไปตามแนวของแควใหญ่ไม่ไกลนักก็จะเห็นเขาชนไก่  ก็จะเป็น land mark ที่ดีในเชิงของการยุทธต่างๆ เช่น เป็นจุดรวมพลหรือจุดสะสมเสบียงของพม่าในสมัยอยุธยา  หรือเป็นจุดตั้งรับของฝ่ายไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ....ฯลฯ

ชื่อของสถานที่ทางแควใหญ่นี้ เท่าที่ผมทำงานในพื้นที่นี้มา ชื่อที่เหลือเป็นชื่อเกี่ยวกับพม่าก็ดูจะมีอยู่เพียงที่เดียว คือ ห้วยตาม่องไล่และแก่งตาม่องไล่   ซึ่งก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกขานกันเมื่อประมาณ 60+/- ปีมานี้เอง  เป็นชื่อ เอราวัณ ก็คือห้วยที่มีน้ำตกเอราวัณนั่นเอง   แต่ก่อนนั้นแก่งตาม่องไล่จัดว่าเป็นแก่งที่ค่อนข้างจะอันตราย เพราะมีน้ำที่ไหลแรงจากห้วยลงมาผนวกด้วย แต่ความอันตรายได้หายไปหมดแล้ว ตั้งแต่มีเขื่อนเจ้าเณร ตามมาด้วยเขื่อนท่าทุ่งนา

ทางฝั่งตะวันตกของเขื่อนท่าทุ่งนาจะมีหน้าผาของเขาหินปูนที่มีภาพเขียนติดผนังหินของคนในยุคก่อน (ผมนึกชื่อของสถานที่ไม่ออก)  ผมชอบที่จะเรียกภาพวาดนี้ว่า สี่คนหามสามคนแห่  เป็นภาพที่สื่อความหมายคล้ายๆกับการฉลองความสำเร็จบางอย่างอย่างมีความสุข คล้ายๆกับการเดินแห่เป็นขบวน   ก็ไม่รู้ว่า ในปัจจุบันนี้ได้มีการจัดการในเชิงของงานทางโบราณคดีไปแล้วเช่นใดบ้าง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง