เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 15953 ความรู้ในลิ้นชัก
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 17 ก.ค. 21, 18:18

ทำให้นึกถึงอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราเอารถไปเปลี่ยนยาง ร้านก็มักจะถามว่าจะตั้งศูนย์ด้วยหรือไม่ ซึ่งส่วนมากก็จะตอบว่าไม่  ก็เป็นคำตอบที่ควรจะใช่และไม่ใช่   เรื่องก็มีอยู่ว่า ในการตั้งศูนย์ล้อนั้น ช่างจะต้องตรวจดูความหลวมของลูกหมาก(ball joint)ต่างๆก่อนที่จะทำการตั้งศูนย์ เมื่อรถของเรามีอายุการใช้งานมากกว่า 5++ ปีขึ้นไป ลูกหมากหลวมก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะจุดที่เรียกกันว่าลูกหมากปีกนก ซึ่งมีสองตัว(บนและล่าง)  แต่ช่างส่วนมากมักจะให้ความสนใจตรวจดูพวกลูกหมากคันชักคันส่งเสียมากกว่า (ระบบเชื่อมการบังคับล้อคู่หน้าให้ขยับไปมาพร้อมๆกัน)   การเสื่อมและหลวมของพวกลูกหมากเหล่านี้ เรามักจะเชื่อว่าอู่ขาประจำหรือศูนย์จะตรวจสอบและเปลี่ยนของแท้ให้มากกว่าที่จะให้ทำโดยร้านขายยางรถ  จึงเกิดความขัดแย้งในความเชื่อมั่นและความใว้ใจระหว่างการให้ช่างที่มีประสบการณ์และมีความสันทัดกรณีต่างกันฝ่ายใดเป็นผู้ดำเนินการ

ตัวผมเอง ด้วยที่พอจะมีความรู้เล็กน้อยๆทางช่าง เลือกที่จะใช้อู่ที่มีความคุ้นเคยกันมากๆให้เป็นฝ่ายดำเนินการ  เลือกเขาเพราะเขามีความละเอียดในการทำงาน มีการใช้เครื่องมือที่ตรงกับเรื่องที่ต้องทำ มิใช่มีแต่จะคิดตะบันด้วยการตอก/ตีด้วยฆ้อน         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 17 ก.ค. 21, 19:09

ก็มาถึงเรื่องน้ำมันเกียร์  ซึ่งมีเรื่องค่อนข้างจะสำคัญมากที่พึงทราบสำหรับคนที่ใช้รถเกียร์อัตโนมัติ  และเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราจะเป็นผู้ที่ต้องลงมือเอง

ตามหลักการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันของพวกรถเกียร์อัตโนมัติ คือ ปล่อยออกมาเท่าใดก็ใส่ของใหม่กลับคืนเข้าไปเท่านั้น   แต่ในการดำเนินการจริงของช่างต่างๆ เราจะไม่เห็นว่ามีการดำเนินการตามหลักการนี้เลย   ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องตามมาก็จะมีเช่น น้ำมันมากไปหรือน้อยไปต่างก็ทำให้ประสิทธิภาพของการขับเคลื่อน(ถ่ายกำลัง)ลดลง  มีเรื่องของโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเกียร์อย่างรวดเร็ว  มีเรื่องของความไม่สะดวกในการวัดระดับความพอดีของน้ำมัน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำมัน และการวัดระดับความพอดีจะต้องทำในระหว่างที่เครื่องยนต์กำลังเดิน(ติด)อยู่     ก็มีรถของบางผู้ผลิตที่ออกแบบอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 17 ก.ค. 21, 19:35

ใช้รถเกียร์ออโต้มันก็มีความยุ่งยากของมัน แต่หากเราใช้ตามถนนหนทางในเมืองหรือระหว่างเมืองก็ไม่ต้องไปมีความกังวลใดๆ   ที่จะต้องมีความพิถีพิถันกับเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำมันเกียร์ออโต้มากหน่อยก็จะเป็นพวกรถที่ใช้เดินทางไกลบ่อยๆ และที่ใช้ขึ้นภู/ขึ้นดอยไปเที่ยวตามรีสอร์ทต่างๆ ซึ่งอาการที่มักจะพบกันก็คือไฟแสดงความร้อนของน้ำมันเกียร์  ก็ดูจะมาจาก 3 เรื่องเป็นหลัก คือ ระบบการระบายความร้อนไม่ดี (น้ำยาที่ผสมน้ำใส่ในหม้อน้ำเสื่อม?  หรือไม่ได้ใส่ผสมเข้าไป? หรือแผงระบายความร้อนของระบบน้ำมันไฮดรอลิกส์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ?)  เรื่องของลักษณะการขับขี่ในพื้นที่ลาดชัน (ใช้วิธีการเร่งเข้าไป อัดเข้าไป เอาไว เอาเจ๋งเข้าว่า)  และเรื่องของความไม่พอดีของปริมาณน้ำมันเกียร์ (วิธีการวัดไม่ถูกต้อง)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 18 ก.ค. 21, 18:01

ก็ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ที่น่ารู้หรือน่าจะทบทวนความจำอีกพอควร แต่คงจะเริ่มไม่สนุกกับเรื่องราวกันแล้ว   เอาเป็นว่ารถพร้อมแล้ว ออกเดินทางกันได้

ก็มีเรื่องเล็กๆน้อยๆที่จะเล่าความจากนี้ต่อไป เป็นเรื่องที่ได้เรียนรู้มาทั้งจากที่ได้รับการถ่ายทอดและที่ได้ประสบด้วยตนเอง  คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ควรแก่กรเก็บไว้ในลิ้นชักความรู้บ้าง   

เรื่องแรก เมื่อแรกติดเครื่องยนต์ในตอนเช้า ก็พึงทิ้งให้เครื่องยนต์มันติดแบบไม่ต้องเหยียบคันเร่งสักสองสามนาทีก่อนที่จะใส่เกียร์ขับรถออกไป อย่างน้อยสักหนึ่งนาทีก็ยังดี  เหตุผลก็เพียงเพื่อให้น้ำมันเครื่องได้ถูกสูบฉีดเข้าไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆได้เต็มที่ทั้งหมดแล้วหรือพอสมควรแล้ว  ที่จริงแล้วเรารู้ว่าการหล่อลื่นมันพร้อมแล้วได้จากการฟังเสียงและจากอาการสั่นหรือสะดุดของเครื่องยนต์
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 18 ก.ค. 21, 19:03

เมื่อจะเดินทางไกล ก็พึงต้องปรับแต่งเบาะนั่งให้อยู่ในท่านั่งขับที่สบายที่สุด ปรับกระจกมองหลังในรถและกระจกมองข้างรถให้สามารถมองเห็นภาพได้ในมุมมองที่กว้างที่สุด  แล้วเช็ดกระจกทั้งหมดเหล่านั้นให้สะอาด

กระจกหน้ารถควรจะมีการล้างและเช็ดให้สะอาดก่อนการเดินทางใดๆ    กระจกหน้าและหลังของรถที่ใช้งานมานานแล้วจะมีคราบน้ำมันและ Hydrocarbon ต่างๆติดทับถมกันอยู่  อาการสำคัญที่บอกถึงสภาพก็คือ ปัดน้ำฝนปัดไปปัดมาแบบฝืดๆ    ซึ่งการแก้ไขในปัจจุบันนี้จะทำด้วยการใช้น้ำยาที่มีอยู่มากมาย   

ผมใช้ผงซักฟอกผสมน้ำ ใช้ผ้าฝ้ายเนื้อหยาบหรือผ้าขนหนูขัดถู ทำแบบเร็วๆแล้วฉีดน้ำล้างมากๆ ทำซ้ำสองสามครั้ง ก็จะได้กระจกที่ใสสะอาด  จากนั้นก็ใช้พวกสารเคลือบกระจกที่มีวางขายกันทั่วไปเช็ดซ้ำสักสองครั้ง เราก็จะได้กระจกที่ดูใหม่และใสสว่าง   แต่ที่ผมทำบ่อยๆเมื่อไม่มีเวลาจะพิถีพิถันมากนักก็คือ ใช้น้ำยาเช็ดรถผสมน้ำแล้วเช็ด  ก็ใช้ได้ดีพอสำหรับกรณีฝนตกตามรายทางสามสี่ครั้ง

สมัยก่อนนั้น น้ำยาเคลือบกระจกรถยนต์ยังไม่มีขาย หรือจะมี(?)ก็คงจะมีราคาสูงมาก  การแก้ไขปัญหาเรื่องปัดน้ำฝนฝืด หรือปัดแล้วก็ยังมองได้ไม่ดีเพราะกระจกเป็นคราบ ฯลฯ  วิธีแก้ที่ใช้กันก็คือ ใช้บุหรี่หรือยาฉุน ขยี้กับน้ำแล้วขัดถูผิวกระจก ซึ่งก็จะทำให้การปัดน้ำฝนทำได้ดีมากขึ้น คือ ลื่นและสะอาด   นอกจากนั้นก็มีการใช้ยาสีฟันกับผ้าขนหนูขัดเช็ดอีกเช่นกัน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 18 ก.ค. 21, 19:26

ปรับแต่งสภาพการนั่งขับแล้วก็ไม่ควรจะลืมสภาพความพร้อมของสิ่งของที่ตนเองต้องใช้   ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่หยิบฉวยได้ง่ายในระหว่างที่ทำการขับรถ  คนที่นั่งคู่กับเราด้านหน้ารถ หากไม่มีอะไรข้างทางน่าสนใจที่จะดู ไม่มีการสนทนาระหว่างกัน...ฯลฯ   สักพักก็มักจะหลับ ซึ่งจะทำให้เราต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น การทำให้เกิดความพร้อมสำหรับตัวของเราเองจึงมีความสำคัญ ก็จะมีอาทิ แว่นตากันแดด น้ำ กาแฟ ผ้าเช็ดหน้า  ยาอม ขนมขบเคี้ยว โทรศัพท์ การตั้งเครื่องเสียง / ระบบ GPS ไว้ล่วงหน้า ...ฯลฯ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 19 ก.ค. 21, 18:23

ขับรถออกจากบ้านแล้วก็อย่าลืมดูน้ำมันด้วย  น้ำมันรถควรจะมีอยู่เต็มถังเมื่อออกเดินทางไกล และควรจะมีอยู่ในถังไม่น้อยกว่าประมาณหนึ่งในสี่ของความจุของถังน้ำมันเสมอ    เป็นเรื่องของการพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นมาแบบมิได้คาดคิดไว้    น้ำมันปริมาณนี้ทำให้เราสามารถเดินทางได้ในระยะทางไม่น้อยกว่า 100 กม. ซึ่งหมายความว่า ณ ตำแหน่งใดๆก็ตาม เรามีขีดความสามารถที่จะเดินทางไปยังจุดใดๆก็ได้ที่อยู่ในระยะทางประมาณ 100 กม.  ก็เป็นเรื่องของการลดขีดจำกัดและการช่วยทำให้เรามีความคล่องตัวมากขึ้นในตัดสินใจปรับแผนเปลี่ยนแผนในระหว่างการเดินทางของเรา

สำหรับผู้ที่นิยมทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่รถในพื้นที่ทุรกันดารนั้น ต้องคิดในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ น้ำมันที่เติมเต็มถังก่อนเข้าพื้นที่นั้น หมายถึงเป็นน้ำมันที่ควรจะใช้ได้ทั้งขาเข้าไปและออกมา น้ำมันอะไหล่ที่มีติดรถเข้าไปนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะต้องใช้เพื่อให้ครอบคลุมระยะทางเข้า-ออก แต่ก็จะต้องมีให้มากพอที่จะเผื่อไว้สำหรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด      ในประสบการณ์ของผม การเดินทางในพื้นที่ค่อนข้างโหดระยะทางประมาณ 150 กม.  น้ำมัน 70 ลิตร สำหรับรถแลนด์ฯที่กินน้ำมันประมาณ 5 กม.ต่อ 1 ลิตร ใช้ไปเกือบหมดเลยครับ  ดีที่เตรียมสำรองเป็นอะไหล่ แบบทำเพิ่มถังพิเศษใต้เบาะคนขับ 40 ลิตร กับใส่ถังสำรอง 2 ถังละ 20 ลิตร  กะว่าจะลุยให้ไกลตามทางรถป่า กลายเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการตั้ง base camp แล้วเดินเอา ก็ดีครับ ได้รายละเอียดมากขึ้นแม้พื้นที่พึงสัมผัสจะลดลง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 19 ก.ค. 21, 19:32

ขับรถขึ้นถนนหลวง ใช้ความเร็วแล้ว ก็มีข้อพึงปฏิบัติที่พึงทำอยู่หลายเรื่อง  เรื่องหนึ่งก็คือ พึงคิดและปฎิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลายว่า เราขับรถไปเที่ยวเพื่อการผ่อนคลายทางอารมภ์และจิตใจ  เช่นนั้นแล้วเราจะต้องไปเข้าสนามแข่งขันของความรีบเร่งอีกทำไม    เราสามารถกำหนดได้คร่าวๆว่าควรจะไปถึงจุดใหน ที่ใด เมื่อใด ก็ให้กำหนดเหล่านั้นมันเป็นเพียงการประมาณการอย่างหยาบๆ  ให้มันอยู่ในระดับเพียง accuracy ก็พอ ไม่ต้องไปถึงระดับ precise ที่ต้องเป๊ะไปเสียทุกอย่าง     เดินทางให้มีความสุขกับสิ่งต่างๆที่ได้เห็นตามรายทางและข้างทาง   ในแต่ละปี แต่ละฤดูกาล บนเส้นทางเส้นเดิมๆมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เล็กน้อยบ้างหรือเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงบ้าง  บางอย่างก็น่าสนใจที่จะแวะชม หรือแวะช่วยซื้อของท้องถิ่นเพื่อช่วยหมุนเศรษฐกิจของชาวบ้าน      หากได้ทำการบ้านล่วงหน้าบ้าง ก็อาจจะได้พบเห็นของดีๆ ของแบบ original  และพวก unseen หลายๆอย่างตามเส้นทาง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 20 ก.ค. 21, 18:25

การขับรถเดินทางไกลภายใต้ความกดดันของตัวเองในลักษณะของการเป็นภารกิจหนึ่งเดียวที่ต้องทำ คือออกจากจุดหนึ่งก็จะต้องรีบไปให้ถึงอีกจุดหนึ่งเพื่อจะได้ทำอีกเรื่องหนึ่งนั้น ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดแก่ผู้คนจำนวนค่อนข้างมาก  ก็เลยทำให้เกิดความนิยมที่จะไปใช้เครื่องบินแทน ด้วยเหตุผลในทำนองว่าประหยัดเวลา(หรือจะให้เสียเวลาเดินทางไปทำไม)     

ผมมองในมุมว่า สิ่งที่เราได้เห็นและได้สัมผัสในลักษณะเป็นจุดๆกระโดดไปกระโดดมาจากการเดินทางในลักษณะนี้ ดูจะไม่ต่างไปจากการนั่งดูภาพถ่าย หรือดูวีดิทัศน์ หรือการไปดูการแสดง หรือไปกินอาหารมื้อใหญ่กันที่ร้านหนึ่งใด   ก็อาจจะกล่าวได้ในลักษณะว่า ก็เพียงได้เห็น ได้รู้จักแต่ไม่เข้าใจในเชิงของสหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างสิ่งต่างๆที่ได้เจอะเจอเป็นจุดๆเหล่านั้น  ความเข้าใจในเชิงของสหสัมพันธ์จะช่วยสร้างให้เกิดความรู้ในเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกัน จดจำไปได้อีกนาน ก็คือมี sentimental value

ขับรถทางไกลควรจะอยู่ในอารมภ์ที่ผ่อนคลายตลอดเวลา เพื่อลดความเครียดและอุบัติเหตุ   ซึ่งก็มีข้อชี้แนะที่ได้รับถ่ายทอดมาที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ค่อนข้างมาก แม้ว่าจะใช้กันในสมัยหลายสิบปีมาแล้วก็ตาม     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 20 ก.ค. 21, 19:29

เมื่อประมาณปี 2510+นั้น (?)   ระบบดิสเบรคได้เริ่มมีใช้เป็นมาตรฐานสำหรับรถนั่งจากผู้ผลิต แต่อุปกรณ์ช่วยทุ่นแรงในการเหยียบเบรค(หม้อลม) ยังไม่มี (สำหรับรถนั่ง) ถนนสายหลักยังคงเป็นระบบสองทางวิ่งสวนกัน มีการลาดยางและมีใหล่ถนนกว้างมากขึ้น สะพานต่างๆส่วนมากยังคงเป็นแบบรุ่นเก่า(คือไม่มีไหล่ทาง)  ความเร็วเดินทางสำหรับรถต่างๆบนเส้นทางระหว่างจังหวัด อยู่ระหว่างประมาณ 60 - 100 กม.ต่อชั่วโมง 

ก็เลยมีข้อพึงทำที่น่าสนใจในการขับรถบนทางหลวง  เรื่องหนึ่งก็คือ ทุกๆความเร็วแต่ละ 10 กม.ต่อ ชม. เราควรจะต้องเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าประมาณหนึ่งช่วงความยาวของรถของเรา ดังนั้น ที่ความเร็วเดินทาง 80 กม.ต่อ ชม. ก็ควรจะเว้นระยะห่างประมาณ 8 ช่วงรถของเรา หรือประมาณ 25 เมตรเป็นอย่างน้อย    แม้ว่าในปัจจุบันนี้ประสิทธิภาพของเบรครถจะดีมากแล้วก็ตาม การเว้นห่างรถคันหน้าในระยะประมาณดังที่กล่าวก็ยังดูจะเหมาะสมอยู่  มันช่วยให้เรามีเวลาในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทันหันใดๆได้มากพอสมควร     

ผมก็ยังใช้หลักนี้ในการขับรถทางไกลมาตลอดจนปัจจุบัน  ยิ่งอายุมากขึ้น ความว่องไวต่างๆก็ย่อมลดลง การมีช่วงเวลามากพอให้ได้คิดตอบสนองต่อเหตุการณ์อันตรายต่างๆก็จึงมีความสำคัญ     

ขับบน Autobahn ด้วยความเร็ว 130-150 กม.ต่อ ชม. หลักนี้ก็ยังดูใช้ได้ดีอยู่  แต่เมื่อไปถึงระดับ 170+ กม.ต่อ ชม.แล้ว ก็ชักจะไม่มั่นใจในหลักนี้แล้ว ทั้งจากระบบพวงมาลัย ยาง และเบรค    (ช่วงของถนนที่เขาปล่อยฟรีนั้น 170+ ยังต้องอยู่เลนในสุดเลย  เขาแซงกันฉิวๆ คงจะต้องมากกว่า 200 กม.ต่อ ชม.)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 21 ก.ค. 21, 18:40

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อจะแซงรถ ก็จะต้องมองเห็นถนนข้างหน้าว่าว่างเป็นระยะทางไกล เปิดไฟเลี้ยวบอกว่าจะขับข้ามเลน เร่งเครื่องแซงให้พ้นอย่างรวดเร็ว พ้นไปจนเห็นรถที่เราแซงมาได้ทางกระจกส่องหลัง(ภายในรถ) แล้วจึงยกไฟเลี้ยวบอกว่าจะขับกลับเข้าเลนเดิม  ข้อพึงกระทำเหล่านี้ผมได้ไปประสบว่าเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบความรู้เพื่อการมีใบขับขี่รถใน ตปท.ด้วย แม้ว่าเหตุผลของการพึงกระทำในการแซงรถที่ผมรู้มาแต่ก่อนโน้นจะต่างออกไป แต่ดูจะยังเป็นเรื่องที่ทันสมัยอยู่ในปัจจุบัน   การเร่งเครื่องแซงให้พ้นโดยเร็วก็เพื่อเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายๆกรณี หากไม่เร่งเครื่องแซงให้พ้น การแซงนั้นก็จะอยู่ในรูปของการขับรถแบบคู่ขนาน (ตีคู่)  หากรถคันที่เราจะแซงหรือรถเราเองต้องหลบอะไรบางอย่างๆกระทันหัน (สุนัข ก้อนหิน หลุมบ่อ มีอะไรโผล่ขึ้นมาจากข้างทางอย่างรวดเร็ว ...) ก็จะไปกระทบอีกคันหนึ่ง    ซึ่งเมื่อต่างฝ่ายต่างก็ระวังไม่ให้เกิดการเบียดกัน แต่แรกต่างก็พอจะบังคับรถให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ แต่ด้วยความต่างของความเร็ว ลักษณะของรถ น้ำหนักรถ ความสามารถของผู้ขับ ...ฯลฯ  การกลับเข้ามาในลู่ใหม่ต่างก็จะไม่ค่อยนุ่มนวล/ราบเรียบ ก็จะเกิดการกระทบกันเกิดเป็นอุบัติเหตุได้ง่ายๆ และก็ดูจะเป็นในลักษณะของการกระเด็นไปคนละทิศละทาง 

ในหลายๆกรณี ก็เปลี่ยนสภาพจากขับรถแซงกันไปเป็นการขับรถแข่งกัน  เป็นการแกล้งกัน เป็นการประลองความสามารถ จบด้วยเรื่องการปาดหน้ากันแล้วมีเรื่องกัน    ก็ขับรถด้วยใจที่เย็นนะครับ ไม่จำเป็นต้องไปรับเอาความโกรธใดๆจากคนที่ขับรถคันอื่นๆ เอามาเป็นสาระให้เราต้องร่วมไปมีอารมภ์ร่วมในความโกรธนั้นๆของเขา  อยู่ในรถคนละคัน เขาจะพูดเช่นใดอย่างไรเราก็ไม่ได้ยิน เป็นเรื่องทุกข์ของเขา ไม่จำเป็นต้องกระเสือกกระสนเอาเข้ามาให้เป็นทุกข์ของเรา 

เรื่องของการแซงรถนี้ ในบางครั้งก็เป็นเรื่องของดวง ช่วยไม่ได้จริงๆ  ผมเคยขับรถแซงรถบรรทุกอ้อย พอรถขึ้นแซงเทียบเสมอกัน ยางของรถอ้อยก็ระเบิดตูมเลย  บนถนนลูกรังที่ไม่สามารถจะใช้ความเร็วได้ แถมรถของเราเองก็ยังหนักและมีอัตราเร่งค่อนข้างต่ำมาก  ในหัวนึกได้อย่างเดียวว่า อย่าล้มมาทางเรานะ ก็ได้เพียงเท่านั้นเอง     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 21 ก.ค. 21, 19:34

การแซงรถบนสะพานก็เป็นเรื่องที่ไม่พึงทำ  แต่ก่อนนั้นก็เป็นเรื่องของความแคบของสะพาน และที่บริเวณคอสะพานมักจะเป็นที่ขึ้น-ลงของสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย (วัว ควาย สุนัข) รวมทั้งการใช้ของพวกจักรยาน มอเตอร์ไซด์ และเครื่องจักรกลการเกษตร   ในยุคสมัยที่เก่าแก่กว่านั้น บริเวณคอสะพานโดยส่วนมากจะเป็นที่ขึ้นลงของเกวียนซึ่งเขามีเส้นทางขนานไปตามถนนหลวงต่างๆ    การขับรถในสมัยก่อนนั้นจึงต้องมีการชะลอความเร็วเมื่อจะต้องข้ามสะพาน ประกอบกับการที่มีตะพักรอยต่อระหว่างถนนกับคอสะพานที่มีระดับต่างกันค่อนข้างมากอีกด้วย สภาพเหล่านี้ทำให้ต้องมีการชะลอรถเมื่อต้องข้ามสะพาน การแซงรถบนสะพานจะต้องมีความระวังอย่างสูง ก็คงทำให้ไม่เป็นการดีนักหากบริเวณสะพานจะมีรถสองคันมะรุมมะตุ้มกันอยู่ โดยเฉพาะในถนนหลวงที่มีรถวิ่งไปมาด้วยความเร็ว

แท้จริงแล้ว ในปัจจุบันนี้ ภาพดังกล่าวของการใช้สะพานแต่ดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่พื้นผิวของสะพานมีความกว้างมากขึ้น มีใหล่ทางบนสะพาน  และมีคอต่อระหว่างถนนกับสะพานที่ต่อเชื่อมกันอย่างราบเรียบ  กระนั้น พื้นที่ๆมีสะพานก็ยังคงเป็นบริเวณที่มีการข้ามฝั่งถนนของชาวบ้านและกิจกรรมทางเกษตรกรรมที่ต้องมีการข้ามถนน เพราะว่าพื้นที่เกษตรกรรมผืนเดิมถูกผ่าออกไปโดยเส้นทางถนน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 22 ก.ค. 21, 17:33

เรื่องไหล่ถนนที่ได้กล่าวถึงนั้น  แต่ก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจในการระวังค่อนข้างมาก เพราะมักจะมีอะไรพรวดพราดออกมาค่อนข้างจะบ่อย เช่น สุนัข วัว ควาย เด็กวิ่งเล่น จักรยาน และการข้ามถนนต่างๆ เป็นต้น   ในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจอยู่ดี แต่จะเป็นเรื่องของการข้ามถนนเป็นหลัก  ก็ต้องคอยสังเกตดูบริเวณข้างทางส่วนต่อระหว่างไหล่ทางที่ลาดยางกับพื้นดินที่มีสีอ่อนๆหรือขาวเด่นออกมา เพราะจะเป็นจุดที่ชาวบ้านเขาใช้ข้ามทาง ซึ่งก็จะต้องให้การระวังให้มากเป็นพิเศษในบางช่วงเวลา ก็จะมีในตอนเช้าช่วงเด็กไปโรงเรียนและมีการติดตลาดสดยามเช้า  จะมีในช่วงเวลาโรงเรียนในช่วงตอนบ่าย นักเรียนกลับบ้านกัน  และก็ในช่วงเวลากลับจากงานทำสวนทำนาของชาวบ้านในตอนเย็น 

ข้อสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ ความเร็วของการเคลื่อนที่ระหว่างรถของเรากับสิ่งที่เราเห็นว่ามันเคลื่อนที่อยู่ข้างทางนั้นมันค่อนข้างจะหลอกตา ซึ่งจะทำให้การตอบสนองของเราต่อเหตุการณ์ใดๆที่ควรจะเป็นเรื่องที่นุ่มนวลตามปกติ แปรไปเป็นเรื่องในลักษณะของการต้องตอบสนองแบบกระชั้นชิด เฉียดฉิว 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 22 ก.ค. 21, 18:46

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะต้องบันทึกไว้ในความจำ คือเรื่องของการใช้เบรครถ     

ระบบการชะลอความเร็วของรถ โดยหลักการก็คือการเปลี่ยนพลังงานจลไปเป็นพลังงานความร้อน    อุปกรณ์สำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะมี จานเบรค ทำด้วยเหล็กหล่อ(โลหะผสม)   มีผ้าเบรค ซึ่งทำมาจากวัสดุผสมหลายชนิด   และก็มีน้ำมันเบรคที่ต้องมีคุณสมบัติทนความร้อนได้สูงมาก   ที่สำคัญก็คือ ผ้าเบรคจะสึกหรอได้มากกว่าจานเบรคมากๆ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ประกอบมันขึ้นมาก็สามารถจะหลอมรวมกันได้เมื่อได้รับความร้อนที่สูงพอ   

ดังนั้น ในกรณีขับรถลงพื้นที่ลาดชันมาก หรือการลงเขาค่อนข้างชัน หรือการลงในระยะทางที่ยาว  หากเราเหยียบเบรคตลอดเวลาเพื่อการชะลอความเร็ว มันก็จะยังผลให้ส่วนผสมของผ้าเบรคส่วนที่เป็นหน้าสัมผัสกับจานเบรคหลอมเข้าด้วยกัน มีลักษณะคล้ายกระเบื้องเคลือบ ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเปลี่ยนถ่ายพลังงาน ภาษาทางช่างเรียกกันว่าผ้าเบรคใหม้ เพราะจะได้กลิ่นใหม้โชยออกมาด้วย  ประสิทธิภาพของการเบรคจะลดลงค่อนข้างมากเลยทีเดียว    ทั้งนี้ การใช้เบรคในระหว่างการลงทางลาดชันจะทำให้เกิดความร้อนที่กระทะล้อสูงมากเสมอ ซึ่งสำหรับรถรุ่นใหม่ๆก็ไม่มีเรื่องอะไรจะต้องไปกังวลนัก  ต่างกับสมัยก่อนที่เมื่อขับลงเขาเรียบร้อยแล้วก็มักจะต้องหาที่หยุดพักเพื่อให้จานเบรคได้คลายความร้อน   

ก็มีวิธีการที่พึงกระทำเพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่ยังมีความเป็นจริงอยู่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 22 ก.ค. 21, 19:21

หลักก็มีอยู่ว่า ลงเขาด้วยความเร็วต่ำ ใช้เบรคในลักษณะ เหยียบปล่อย เหยียบปล่อย   พร้อมๆไปกับการใช้เกียร์ต่ำ  ซึ่งสำหรับรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติที่ไม่ใช้ระบบเกียร์แบบ CVT ก็อาจจะดึงคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง 3 หรือ L หรือ L1 หรืออื่นใด   สำหรับรถที่ใช้ระบบเกียร์แบบ CVT นั้น บางผู้ผลิตก็จัดให้สามารถเลือกใช้ระบบในลักษณะของเกียร์ธรรมดาหรือในระบบอัตโนมัติ     ก็เลือกใช้ตำแหน่งของเกียร์ไปตามความเหมาะสมกับเส้นทาง   ทั้งหลายทั้งปวงของการกระทำใดๆก็เพียงเพื่อให้เบรครถยังคงอยู่ในสภาพที่มีประสิทธิภาพเต็มตามที่มันพึงมี เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ต่อๆไป

มีข้อแนะนำเพียงว่า เมื่อใดที่ได้เคยได้กลิ่นใหม้ของผ้าเบรคของรถของเรา หรือเมื่อใดที่ได้ใช้รถขึ้นลงเขา/ดอยที่สูงชันต่างๆบ่อยครั้ง เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว การนำรถเข้าไปอู่เพื่อตรวจสอบสภาพของผ้าเบรคก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี           
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง