เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 15936 ความรู้ในลิ้นชัก
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


 เมื่อ 17 พ.ค. 21, 18:37

วันนี้คือวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564   เมื่อหลายปีก่อนๆโน้น วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี หรือบวกไปอีกสองสามวัน จะถูกกำหนดให้เป็นวันเปิดเทอมสำหรับการเรียนหนังสือภาคแรกในระบบการศึกษาระดับประถม (ประโยคประถมต้น ประโยคประถมปลาย) ในระดับมัธยม (ประโยคมัธยมศึกษาต้น ประโยคมัธยมปลาย) และในระดับเตรียมอุดมศึกษา  ชื่อต่างๆที่กล่าวถึงนี้เป็นชื่อที่ใช้กันในสมัยก่อนโน้น   ต่อๆมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบอยู่พอประมาณ ทำให้มีชื่อเรียกต่างไปจากเดิมดังปรากฎตามที่มีการเรียกขานกันอยู่ปัจจุบันนี้      ประมาณวันที่ 1 มิถุนายน ก็จะเป็นการเปิดเรียนของภาคอุดมศึกษา ซึ่งดูจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงวันที่และเดือนตลอดมาจนถึงในปัจจุบัน

ก็เกิดความบังเอิญว่า  วันนี้ตรงกับวันจันทร์พอดิบพอดี เหมือนกับหลายๆปีในอดีต  จะต่างกันไปเพียงเล็กน้อยก็คือ วันนี้แทนที่จะมีฝนตกพรำๆ กลับกลายเป็นว่ามีอากาศร้อนอบอ้าว แต่อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมฯได้ประกาศไปแล้วว่า ไทยเราเข้าสู่ฤดูฝนแล้วเมื่อ 15 พค.ที่ผ่านมา ?       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 พ.ค. 21, 19:04

สวัสดีค่ะคุณตั้ง
นึกอยู่เหมือนกันว่า เช้าวันที่ 17 พฤษภาคม ถ้าย้อนหลังไปหลายสิบปีก่อน คือวันที่ต้องตื่นแต่เช้า กินข้าว แต่งตัวเตรียมไปโรงเรียน    ถ้าเป็นตอนเล็กๆ  ปีไหนเครื่องแบบคับรับชั้นเรียนใหม่ ต้องไปซื้อล่วงหน้าที่สมใจนึกบางลำพู  รองเท้าคับก่อนเสื้อผ้าอยู่แล้ว  จัดหนังสือเรียนลงกระเป๋าไว้ตั้งแต่เมื่อวาน ถึงเวลาก็หิ้วตัวเอียงไป  สมัยนั้นไม่มีเป้สะพาย
เปิดเทอม หมายถึงย้ายไปห้องเรียนใหม่  ย้ายที่นั่งใหม่   ได้เพื่อนที่นั่งคู่กันคนละคนกับเมื่อปีก่อน  ครูประจำชั้นคนใหม่ และวิชาใหม่ที่ยากกว่าปีก่อน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 พ.ค. 21, 20:43

ผมเริ่มใช้วลี "ความรู้ในลิ้นชัก" เมื่อครั้งไปเป็น อ.พิเศษ สอนนักศึกษาระดับ Post Grad. เรื่องสิ่งแวดล้อม และในการไปเป็นวิทยากรในเรื่องทางธรณีฯและสิ่งแวดล้อม ให้ความรู้กับคณาจารย์ นักศึกษา นักเรียนระดับการศึกษาต่างๆ ทั้งในรูปของไกด์ทัวร์และ Excursion    ประสบการณ์ที่ได้รับรู้ตลอดมาที่เหมือนๆกันก็คือ เกือบจะทุกคนที่ผมได้สัมผัสล้วนแต่มีความรู้และสิ่งที่ควรรู้ในระดับฐานรากที่ไม่ต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาในต่างจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับการในสถานศึกษาชั้นยอดก็ตาม  โดยสรุปง่ายๆก็คือ มีตรรกะ รู้เท่าๆกัน เหมือนๆกัน   แต่เมื่อได้มีการศึกษาในระดับที่สูงมากขึ้น สิ่งทึ่เคยได้รู้ได้เรียนรู้เหล่านั้น จะค่อยๆถูกเก็บไว้ในลิ้นชักความรู้ หลายคนก็มีการจัดก่อนเก็บ หลายคนก็จัดวางกองทับกันไว้ดูเรียบร้อย หลายคนก็ทำเพียงแต่โกยๆใส่ใว้ในลิ้นชัก      ผมที่ตามมาก็คือ เมื่อมีความจำเป็นจะต้องใช้ก็จึงมีความต่างกันในความใวที่จะสามารถที่จะค้นหาและดึงออกมาใช้ได้    

เมื่อผมต้องไปทำภารกิจดังที่กล่าวมา เรื่องหนึ่งที่ได้ทำเสมอตลอดมาก็คือ ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปนำพา ช่วยดึงลิ้นชักเก็บความรู้ที่เขามีอยู่นั้น นำเอาออกมาใช้เป็นต่อมคิด ต่อมตรรกะเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ แล้วผนวกเพิ่มข้อมูลและความรู้ใหม่ๆทั้งในรูปของความก้าวหน้า/สถานะในปัจจุบันทั้งในรูปของ Experimental approach, Empirical approach และ Theoretical approach   คือเพิ่มเนื้อหาเข้าไปให้เขาเก็บในลิ้นชักความรู้ของเขาให้มากขึ้น      
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 พ.ค. 21, 21:24

สวัสดีครับ อ.เทาชมพู

ตั้งใจะตั้งกระทู้ในลักษณะนี้มานานแล้วครับ  แต่ด้วยที่เป็นกระบวนทัศน์ของตนเองซึ่งเป็นคนนอกวงการการศึกษา ก็จึงใช้เวลาคิดอยู่นานว่าควรจะนำเสนอในรูปแบบใด
บันทึกการเข้า
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 18 พ.ค. 21, 08:14

กราบสวัสดี คุณครูใหญ่ทั้งสองท่านครับ

เมื่อเปิดเทอมเข้าชั้นเรียนใหม่ ผมจะคอยลุ้นตารางสอนใหม่ว่ามีวิชาอะไรบ้าง คุณครูใหม่ว่าท่านจะดุหรือใจดีแค่ไหน ฯลฯ.
ในตอนนั้น ก็จะสนุกตื่นเต้น มีความสุขไปตามประสาเด็กๆ ที่โลกมักจะสว่างไสวจ้า... เมื่อมีสิ่งใหม่ผ่านเข้ามาในชีวิตครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 18 พ.ค. 21, 17:55

สวัสดีครับ คุณ ninpaat
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 18 พ.ค. 21, 19:44

เปิดเทอมใหม่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับนักเรียน/นักศึกษาเกือบจะทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแรกเข้าสู่ระบบ ระดับ หรือการเปลี่ยนสถานศึกษาใดๆ  ยิ่งเมื่อมีอาการตื่นเต้นและอาการทางปิติผสมผสานเข้าไปด้วย ก็พอจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าผู้นั้นน่าจะมีใจใฝ่เรียนอยู่เป็นทุนอยู่ไม่น้อย       อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องนำเอาสิ่งแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้นั้นมาพิจารณาประกอบด้วย  หลายๆคนอาจจะเป็นเรื่องของความดีใจที่ได้ออกไปพ้นบ้านและมีอิสระในช่วงเวลาหนึ่ง ได้พบเพื่อน ได้เล่น ได้เปิดหูเปิดตา ได้ทดลอง ได้ทดสอบ ได้แทรกตัวเข้าไปรับรู้หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสรรพสิ่งที่จับต้องได้และที่จับต้องไม่ได้ที่ปรากฎอยู่ในโลกของเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนในวัยทำงาน   ปรับความนิยมในการเรียนรู้ของตนเองในเรื่องต่างๆไปในรูปแบบทางลัด หรือนิยมการเรียนรู้ในลักษณะของ "ครูพักลักจำ" (emulate ?)   แล้วก็มีความรู้แบบไร้พื้นฐาน

ประเด็นจากภาพที่ฉายมานี้ก็คือ เราต่างก็ได้รับความรู้และมีการจัดเก็บอยู่ในลิ้นชักในกลุ่มของเรื่องของตรรกะเหมือนๆกันเกือบทุกคนว่า การเรียนหนังสือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น   ซึ่งมันได้ถูกจัดไว้เก็บไว้ในสมองของเราตั้งแต่เรายังเด็กมากๆ ไม่ว่าจะจากพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายทั้งหลาย  ก็มีเรื่องน่าเสียดายอยู่เหมือนกันว่า มักจะมีแต่เพียงบอกว่า จำเป็น  แต่ไม่ขยายความต่อไปว่า อย่างไร   คือมีแต่เรื่องสิ่งที่ต้องทำแต่มักจะไม่มีเรื่องของผลที่จะได้รับต่อไปในภายหน้า (consequence ไปจนถึง achievement)
    
แล้วก็ เมื่อเด็กเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็สุดแท้แต่ บิดา มารดา หรือผู้ปกครองเป็นจำนวนไม่น้อยก็จะปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายครู(เกือบจะเป็นฝ่ายเดียว)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 พ.ค. 21, 20:52

ลองสำรวจกันดูว่าความรู้ในลิ้นชักของเรามีอะไรบ้างตั้งแต่เกิดมาและจำความได้

จะมีคำพูดอยู่หลายคำที่ทำให้เราได้เก็บเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำนั้นๆมาเป็นความรู้เก็บไว้ในลิ้นชัก   ที่เด่นๆก็จะมีคำว่า ไม่เอา ไม่ทำ อย่าทำเลอะเทอะ อย่าทำสกปรก ล้างมือ ล้างเท้า ล้างก้น อาบน้ำ สีฟัน ล้างหน้า ได้เวลากินข้าว ถึงเวลานอน ถึงเวลากินข้าว เลิกเล่นได้แล้ว กินน้ำ ไปโรงเรียน ทำการบ้าน ท่องหนังสือ... ฯลฯ   

แล้วลองนึกย้อนดูว่า ในช่วงที่เราเติบโตมาจนถึงวาระที่มีครอบครัวของตนเองว่า เราได้ทำอะไรบ้างหรือไม่ได้ทำอะไรบ้างที่เป็นกิจวัตรประจำวันในแต่ละวันตามช่วงเวลาที่เราได้ยินคำเหล่านั้นเมื่อครั้งยังเป็นเด็กเล็ก 

เมื่อมีครอบครัว กลายเป็นบิดามารดา เป็นปู่เป็นย่าเป็นตาเป็นยาย เราก็ต้องหันกลับมาใช้คำเหล่านี้อีกเช่นเดิมดังที่ได้เคยได้ยินมาแต่เด็ก  กระทั่งเมื่อถึงเวลาเจ็บป่วยเราก็จะได้ยินคำเหล่านี้อยู่อีกพอประมาณไม่ว่าจะจากคู่ชีวิต แพทย์ หรือพยาบาล ... ฯลฯ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 18 พ.ค. 21, 21:41

นั่นดูจะเป็นเรื่องในกลุ่มของการเสริมสร้างอุปนิสัย  ซึ่งหลายๆเรื่องได้ทำให้เกิดสภาวะของ "การรู้เอง"  (intuition) ในการแก้ไขอุปสรรคและปัญหาที่เกี่ยวข้อง

การสอนหนังสือให้ความรู้เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (outcome) สำหรับยุวชนในทุกระดับการศึกษาเพื่อให้เกิดสภาวะดังกล่าวนี้  ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้สอนพึงจะต้องคำนึงไว้เสมอ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 พ.ค. 21, 18:11

คำพูดเหล่านั้น หากออกมาจากปากแล้วแล้วมีวลีหรือคำพูดอื่นใดร่ายยาวต่อท้าย ซึ่งแม้ว่าส่วนมากจะอยู่ในรูปของการบ่น แต่ก็มักจะมีสำนวน คำพังเพย การให้เหตุผล หรือการสอนวิธีอันพึงปฎิบัติหรืออื่นใดปนออกมาด้วย สำหรับคนที่ต้องรับฟังก็จะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อเอามากๆ     ในอีกมุมหนึ่งที่แฝงอยู่โดยที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังอาจจะไม่ได้นึกถึงเลยก็คือ ประเด็นเล็กๆน้อยๆที่กระจายอยู่ในคำว่ากล่าวและการต่อล้อต่อเถียงระหว่างกันนั้น ได้ถูกจัดเก็บไว้ในลิ้นชักในสมองเรียบร้อยแล้วทั้งในรูปของความพึงเป็นหรือไม่พึงเป็นเช่นนั้น ความถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง....    ซึ่งมันจะถูกนำออกมาใช้โดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาต่างของการใช้ชีวิตประจำวัน  อาทิ เรื่องของการพับผ้าห่มเก็บที่นอนเมื่อตื่นนอนแล้ว การล้างช้อนล้างจานเมื่อเสร็จจากการใช้กินอาหารแล้ว การไม่พูดเมื่อมีอาหารอยู่เต็มปาก การหุบปากเคี้ยวอาหารและการไม่เคี้ยวอาหารเสียงดัง การมีสัมมาคารวะที่เหมาะสม การให้อภัย การมีเมตตา แม้กระทั่งสาระในเรื่องของพรหมวิหารสี่ ฯลฯ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 พ.ค. 21, 18:52

ความรู้ที่ได้มาในลักษณะนี้ ดูจะไม่มีระบบในการนำเข้าและมีระเบียบในการจัดเก็บ

ก็มีความรู้อีกลักษณะหนึ่งที่ถูกจัดส่งให้แบบแกมบังคับ เข้ามาอย่างเป็นระบบ อย่างมีระเบียบ มีขั้นมีตอน มีช่วงเวลาในการนำเข้า   มาทั้งในรูปปริมาณและคุณภาพ แถมยังต้องมีการตรวจสอบอีกด้วยว่า ได้รับของนั้นๆไปแล้วจริงๆหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด  ก็คือความรู้ที่จะอยู่ในลิ้นชักไปอีกนานจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

สำหรับระบบดังกล่าวนี้ การนำเข้าความรู้ในแต่ละเรื่องเพื่อเอาไปเก็บไว้ในลิ้นชักความรู้ของแต่ละคนนั้น เกือบทั้งหมดจะเริ่มด้วยการท่องจำ และควรจะต้องจำอย่างขึ้นใจก่อนที่จะนำไปผสมผสานผูกพันกันให้มันสามารถใช้งานอย่างมีคุณค่าได้  ซึ่งโดยทฤษฎีแล้วทุกๆคนควรจะมีความรู้พอๆกันในเรื่องที่เหมือนๆกันที่ได้รับการศึกษามาในระดับเดียวกัน (ซึ่งในความเป็นจริง มิใช่เป็นเช่นนั้น)

 

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 พ.ค. 21, 20:05

เมื่อแรกเรียน เราทุกคนจะต้องท่องและจดจำอักขระต่างๆให้แม่น  เริ่มด้วยพยัญชนะ ก ข ค .....ฬ อ ฮ   ออกเสียงเฉยๆมันจำได้ยาก ก็เลยมีเพลงแต่งขึ้นมาช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น  ต่อมาก็เรื่องของสระ ตามมาด้วยวรรณยุกต์  ตามมาด้วยการผสมกันออกมาเป็นคำ เป็นเสียงต่างๆ ฯลฯ ก็ยังดูเป็นเรื่องสนุกอยู่ เพราะเป็นการเปิดโลกให้แต่ละคนได้ทดลองสะกดคำต่างๆที่ใช้พูดกัน เริ่มอ่านได้ เขียนได้   แต่แล้วก็เริ่มจะไม่สนุกเมื่อเริ่มต้องรับรู้กฎกติกาต่างๆ    ก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนๆกันในกรณีแรกเรียนวิชาที่แปลกปลอมออกไปจากระบบการศึกษาพื้นฐาน

ลองย้อนนึกดูในกรณีที่เราจะต้องเปิดหนังสือพจนานุกรมเพื่อหาความหมายของคำสักคำหนึ่ง ผมเชื่อว่าทุกท่านจะต้องเริ่มด้วยการท่องพยัญชนะเรียงลำดับไปในระหว่างที่เปิดพจนานุกรมเล่มนั้น แล้วก็ไล่เรียงสระอีกด้วย  หากเราไม่มีความรู้อยู่ในลิ้นชักเลย ก็คงจะมีความยุ่งยากเกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย    ในปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกยุค digital เรื่องเช่นนี้ดูน่าจะไม่น่าปรากฎ แต่โดยแท้จริงแล้วมันก็มีแฝงอยู่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 พ.ค. 21, 20:43

ผมนึกไปถึงความยุ่งยากของครูและนักเรียนในชั้นเรียนภาษาไทยในที่ต่างๆ 

   ในภาษาเหนือ ตัว ร ออกเสียงเป็น ฮ    ตัว ช ออกเสียงเป็น จ     
   ในภาษาอีสาน ตัว ช ออกเสียงเป็น ซ   แต่ตัว ซ ออกเสียงเป็น ช   
   ในภาษาใต้ ตัว ง มักจะออกเสียงเป็นตัว ฮ

ยิ่งสนุกเข้าไปอีก เมื่อเสียงที่เปล่งออกมาใช้เรียกตัวพยัญชนะแต่ละตัวตามสำเนียงที่ใช้กันในภาษาถิ่นของภาคนั้น ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติทางเสียง(สูง กลาง ต่ำ)ของตัวอักษรนั้นๆ(บางตัว)ตามมาตรฐานกลางอีกด้วย    ก็จึงไม่ค่อยจะแปลกนักที่เรามักจะเห็นมีการสะกดที่ไม่ถูกต้องปรากฎอยู่ตามป้ายต่างๆ    ก็มีการเปลี่ยนการสะกดให้เป็นไปตามความเห็นว่ามีความถูกต้อง แต่มันก็ทำเกิดการเปลี่ยนเรื่องราวและการสื่อความหมายของสถานที่นั้นๆไปเป็นอะไรก็ไม่รู้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 พ.ค. 21, 18:29

ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ โดยเฉพาะในกรณีคนไทยในพื้นถิ่นของภาคต่างๆสามารถที่จะอ่านข้อเขียนใดๆให้ออกเป็นสำเนียงตามภาษาถิ่นของตนได้  ซึ่งดูจะเป็นการแสดงว่าเขามีลิ้นชักที่เก็บขัอมูลและความรู้ในเรื่องของภาษาไทยที่มีระเบียบจนสามารถดึงออกมาใช้สลับกันไปมาได้โดยเร็วไว แม้ว่าจะเป็นในลักษณะของการนำมาใช้นานๆสักครั้งหนึ่งก็ตาม  ก็มีบ้างในกรณีที่ดึงลิ้นชักออกมาใช้ไม่ทัน หรือหาไม่เจอเพราะสนิมกินหรือผุพังไปแล้ว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นปกติในหมู่ผู้เฒ่าทั้งหลาย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 พ.ค. 21, 19:16

การท่องกลอน (เช่น เรื่องของไม้ม้วน) ก็เป็นวิธีการนำความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยเข้าไปเก็บไว้ในลิ้นชักความรู้ในสมองของเรา  เชื่อว่าเกือบจะทุกท่านยังคงจำได้

สูตรคูณก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นถูกนำเข้าสู่การเก็บไว้ในลิ้นชักในสมองตั้งแต่เยาว์วัย จนแก่เฒ่าใกล้เข้าโลงก็ยังไม่ลืมสูตรคูณแม่ต่างๆเหล่านั้น   เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยทำงานก็อาจจะนึกออกได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องท่องในใจเรียงลำดับก่อนหลังของแม่นั้นๆ แต่หากไม่ได้ใช้บ่อยครั้งมากเข้าก็จะเริ่มถูกสนิมเกาะกินได้เช่นกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.102 วินาที กับ 20 คำสั่ง