เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 25
  พิมพ์  
อ่าน: 38033 สมบัติเจ้าคุณตา
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 19 เม.ย. 21, 13:53

นี่เป็น ปั้นชา ชิ้นที่ 2 

ชิ้นนี้เป็นของคุณตา (ชิ้นก่อนของคุณยาย)  แม่เป็น 'ลูกคุณตา'  พอคุณตาตาย  แม่ก็เลยเก็บปั้นนี้  ซึ่งผมไม่รู้เรื่องมาก่อน (คุณตาตายก่อนผมเกิด)  แม่เพิ่งให้มาเมื่อปีกว่ามานี้เอง  แม่บอก 'ชั้นก็คงอีกไม่นาน  เอาไปเก็บต่อก็แล้วกัน'

ดูจากสีสันแล้วน่าจะร่วมรุ่นกับชิ้นแรก  สภาพแจ๋วแหวว  ผมติดใจตรงถังใส่  ดูจากลวดลายแล้ว  ไทยแท้  แต่พอหงายดูก้น  เห็นตัวหนังสือจีน  หมายความว่าไงหนอ

อยากรู้ว่าแปลว่าอะไร  รวมถึงตัวหนังสือจีนใต้ปั้นด้วยครับ













บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 19 เม.ย. 21, 13:59

เทียบลวดลายแล้ว ของเจ้าคุณตาจขกท. งานละเอียดชัดเจนมากกว่า - อาจจะเป็น ของพม่า หรือ
ของไทยระดับงานฝีมือ


แฝดคนละขัน  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 19 เม.ย. 21, 15:40

ปั้นชาที่เข้ามาในสยามจำนวนมาก มีตรา 貢局 (Gòng jú) คนแต้จิ๋วในไทยเรียกว่า “กงเก็ก” สำเนียงจีนกลางว่า “กงจวู่” นอกจากนั้นยังพบปั้นชาที่เขียนภาษาไทยไว้ใต้ก้นปั้นว่า “กงเกยีค์” ตรากงเก็กอาจพบได้ในหลายตำแหน่ง ได้แก่ ลิ้นปั้น ฝาปั้น ก้นปั้น หรืออาจมีทั้งที่ก้นและที่ฝาก็ได้ นอกจากนั้นยังอาจพบตรากงเก็กประกอบกับชื่อช่างปั้น ชื่อโรงงาน ตรามังกร และบทกวี ส่วนลักษณะของตัวอักษรก็มีทั้งการแกะด้วยมีด และการประทับตราแบบต่าง ๆ

มีการกล่าวถึงปั้น “กงเก็ก” ในหนังสือเรื่อง “ปั้นชาและถ้วยชาจีน” ของมัตตัญญู ว่ามีการสั่งผลิตจากเตากงเก็กตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นปั้นหลวงชั้นดี ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ มีการกลึงหุ่นไม้จากไทยส่งไปและยังส่งคนไปกับราชฑูตเพี่อควบคุมดูแลการผลิตด้วย โดยปั้นสมัยรัชกาลที่ ๒ นี้มีเนื้องามที่สุด แม้ในสมัยหลังจะสั่งทำอีกก็ไม่สามารถทำให้งามเท่ากับสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้

หนังสือเรื่อง “กระเบื้องถ้วยกะลาแตก” ของคุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร กล่าวถึงปั้นกงเก็กว่าเป็น “สินค้าสำเภากรมท่าซ้าย” ที่คณะฑูตบรรณาการจากสยามสั่งผลิต โดยมีการ “ให้อย่าง” หรือออกแบบให้ผลิต จึงมีการประทับตราดังกล่าวแทนชื่อผู้ผลิต ส่วนความเก่าแก่ของปั้นกงเก็กนั้นอาจมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ปั้นกงเก็กส่วนมากผลิตในสมัยปลายราชวงศ์ชิง ตรงกับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

หนังสือเรื่อง “ปั้นชา เสน่หางานศิลป์แห่งดินปั้น” ของคุณนพพร ภาสะพงศ์ กล่าวถึงคำแปลของอักษร “กงเก็ก” ว่า “สำนักงานที่รับเครื่องราชบรรณาการ” แต่กลับไม่เคยพบข้อมูลของของหน่วยงานดังกล่าวในประเทศจีน จึงยากที่จะสืบหาที่มาของตรา “กงเก็ก” แต่ส่วนใหญ่มักเป็นปั้นที่ผลิตในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๗ ถึงกลางศตวรรษที่ ๑๘

หนังสือเรื่อง “ปั้นอี๋ซิง” ของคุณหมอวรวิทย์ วรภัทรากุล กล่าวถึงคำแปลของตรากงเก็กว่า “กรมบรรณาการ” มีการผลิตตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง โดยอ้างอิงจากเอกสารของจีน ว่าจักรพรรดิคังซีมีพระราชโองการให้ผลิตปั้นส่งเข้าราชสำนักโดยใช้ตรา “กงเก็ก” และเมื่อทางราชสำนักของไทยทำการค้าขายกับจีน มีการถวายบรรณาการให้ราชสำนักจีน ทางราชสำนักจีนจึงจัดของไว้ตอบแทนกลับมา หนึ่งในนั้นคือปั้นชาตรา “กงเก็ก” นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวถึงความเห็นจากแหล่งข้อมูลจากไต้หวันว่าตรากงเก็ก เป็นตราทางการค้าทั่ว ๆ ไป ไม่ได้เกี่ยวกับราชสำนักจีน โดยอ้างอิงจากปั้นชากงเก็กในสมัยปลายราชวงศ์ชิง


ในตำรา 阳羡砂壶图考 บรรยายว่าตรากงเก็กหมายถึงตราที่สั่งทำโดยหน่วยงาน 荆溪陶正司 (จิ่งซีเถาเจิ้งซือ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สั่งผลิตของจากอี๋ชิงส่งเข้าวัง ในบันทึกกล่าวว่า ปั้นตรากงเก็กมีเก็บรักษาไว้ในวังด้วย เช่น ปั้นในสมัยคังซีเป็นปั้นจูหนีขนาดเล็กหนึ่งใบแกะตราว่า 康熙贡局 เป็นลักษณะสิงซู (ลายมือกึ่งหวัด) อีกใบหนึ่งเป็นปั้นสายจูหนีแกะตรา 雍正贡局 เป็นลักษณะข่ายซู (ลายมือบรรจง)

รศ.เสนอ นิลเดช ได้กล่าวถึงปั้นชากงเก็ก ไว้ในภาคผนวกของ หนังสือเรื่อง “ปั้นชา เสน่หางานศิลป์แห่งดินปั้น” ของคุณนพพร ภาสะพงศ์ ว่าปั้นดังกล่าวพบมาในรัชกาลที่ ๕ โดยแปลว่า “ราชทูต” ไม่ใช่ปั้นในกรมท่าซ้าย แต่เป็นปั้นที่ราชฑูตสั่งผลิต มักเป็นปั้นสาย มีหลายขนาด

แม้ปั้นกงเก็กจะพบในประเทศไทยเป็นจำนวนมากเพราะมีการสั่งผลิตอย่างต่อเนื่องมาตลอดทุกรัชกาล แต่ปั้นกงเก็ก ก็จัดว่าเป็นปั้นชาที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีน ปัจจุบันเป็นของที่มีคุณค่าควรเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักสืบไป

จาก Kennie Gallery


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 20 เม.ย. 21, 08:25

เรียนคุณ เพ็ญชมพู

ขอบคุณสำหรับความรู้เป็นอย่างมากครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 20 เม.ย. 21, 09:58

ปั้นชาตรากงเก็ก   ใบไม่เล็กแม่ให้มา
สมบัติเจ้าคุณตา    คงมีค่าน่าสนใจ



บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 21 เม.ย. 21, 10:40

คำถามต่อไปครับ

ชิ้นนี้แม่ให้มาพร้อมกับปั้นชา  เป็นนาฬิกาพก  

คำถามคือ นาฬิกายี่ห้ออะไร

พอพลิกด้านหลังดู  ก็พบปริศนาลึกลับ  ทำไมเป็นแบบนี้  เกิด 'ดราม่า' ระหว่างคุณตากับใครรึเปล่า  ถึงขนาดขีดฆ่าทำลายของลงไปเลย

ถามแม่แต่ไม่ได้รับคำตอบ  แม่บอก  ดูไม่ดีเลย  อย่าเอาไปให้ใครเค้าดู  ผมไม่ได้รับปาก  เอาแผ่ในนี้จึงไม่ถือว่าผิดศีล (4)  

พยายามแกะคำที่โดนขีดฆ่าว่าเป็นชื่อใคร  แต่ไม่ประสบผล

เรียนนักสืบช่วยไขปัญหาครับ




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 21 เม.ย. 21, 11:58

คุณ nathanielnong  พุ่งความสนใจไปที่รอยขีดทับชื่อบุคคล    ดิฉันกลับไปตื่นเต้นกับพระปรมาภิไธยด้านบนสุด
นาฬิกาพกนี้เป็นของพระราชทาน(?) ให้บุคคลหนึ่ง  เนื่องในวันเกิดที่เขาผู้นั้นอายุครบ ๑๙ ปีในพ.ศ. ๒๔๕๓ แปลว่าเขาเกิดในพ.ศ. ๒๔๓๔  ในรัชกาลที่ ๕

ทีนี้ ขอแกะรอยว่าเจ้าของนาฬิกาพกพระราชทานนี้เป็นใคร
๑  เขาน่าจะเป็นใครคนหนึ่งที่ปฏิบัติราชการในวังหลวง ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในฐานะข้าราชบริพาร    จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานของขวัญในวันเกิด    
๒  เขาเป็นสามัญชน ไม่ใช่เจ้านาย  สังเกตจากการใช้คำว่า "อายุ" อย่างธรรมดา
๓  เขาทำงานถวายมาตั้งแต่ก่อนอายุ ๑๙ แน่นอน  จะอายุ ๑๘ ๑๗ ๑๖  หรือน้อยกว่านั้นก็ตาม    ก็คงจะทำงานมาหลายปี  จึงอยู่ในข่ายได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานของขวัญเป็นส่วนตัวในวันเกิด   ไม่ใช่ของพระราชทานเนื่องในโอกาสสำคัญ อย่างเลื่อนยศ หรือในพระราชพิธีต่างๆ
๔  สามข้อข้างบนนี้ทำให้เดาว่าเป็นมหาดเล็กหลวง   น่าจะเป็นมหาดเล็กถวายงานใกล้ชิดอย่างที่โต๊ะเสวย หรือตามเสด็จไปในที่ต่างๆ
หรือไม่  ดิฉันนึกไปถึงพวกฝึกโขนละครหลวงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รับสมัครเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕  เมื่อทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

ทีนี้ มาถึงเรื่องขีดฆ่าชื่อออก
ดิฉันไม่เชื่อว่าคุณตาขีดฆ่าชื่อออกเพราะเกิดดราม่าระหว่างท่านกับเจ้าของนาฬิกาพกเรือนนี้    คนเราถ้าโกรธกันขนาดเห็นชื่อไม่ได้ จะไปเอาของใช้ส่วนตัวเขามาเก็บรักษาไว้ทำไมตั้งยาวนานตลอดชีวิตของท่าน  ยกให้ใครไปให้พ้นหูพ้นตา หรือเอาไปขายให้หมดเรื่องหมดราว ไม่ดีกว่าหรือ
ดิฉันคิดว่าสาเหตุการขีดฆ่าชื่อออก  คือคุณตาไม่ใช่คนที่ได้รับพระราชทานนาฬิกาพก     แต่คุณตาได้ครอบครองนาฬิกาเรือนนี้ในฐานะเจ้าของ  
ทีนี้  ตามแบบของคนโบราณที่ได้ครอบครองของคนอื่น  โดยเฉพาะของพระราชทาน  ท่านก็กระอักกระอ่วนใจที่จะให้ใครเห็น  ในเมื่อของนั้นมีหลักฐานว่าเป็นของคนอื่น     จะต้องมาชี้แจงกับคนที่ตาไว เกิดเห็นชื่อขึ้นมา ท่านก็คงลำบากใจจะต้องอธิบายแล้วอธิบายอีก   หรือถ้านาฬิกาตกทอดไปถึงลูกหลานที่ไม่รู้จักเจ้าของชื่อ  ถามขึ้นมาว่าสมบัติชิ้นนี้ของใคร  ก็ลำบากที่จะต้องสืบสาว
ดิฉันคิดว่าเป็นได้สองทาง  คือ
๑  เจ้าของนาฬิกาพกเป็นญาติของคุณตา    แล้วเป็นมรดกตกทอดถึงคุณตา
๒  คุณตาซื้อนาฬิกาพกเรือนนี้มาในเวลาภายหลังรัชกาลที่ ๖ นานหลายสิบปี  อาจจะจากร้านค้า หรือลูกหลานเจ้าของนาฬิกานำมาขายเมื่อเจ้าของล่วงลับไปแล้ว  
ท่านคงรู้จักเจ้าของนาฬิกา ก็เลยไม่อยากเล่าให้ใครรู้ว่า ลูกหลานไม่รักษาของ  หรือไม่ก็ลำบากยากจนต้องเอามาขาย

ใจจริงดิฉันคิดว่าเป็นข้อ ๒ มากกว่าข้อ ๑   เพราะถ้าเป็นของญาติ  คุณแม่คุณโหน่งคงได้รับคำบอกเล่าแล้วว่าเป็นของคุณลุงคุณอาคนไหน    ไม่ใช่เรื่องไม่ดีอะไร  
การที่คุณแม่ไม่รู้  ก็แสดงว่าคุณตาอาจไม่บอกท่าน หรือบอกแล้วว่าเป็นใครแต่คุณแม่ไม่อยากเล่า  จึงตอบคุณโหน่งมาแบบนั้น

เจ้าของนาฬิกานี้เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔  อายุต่างจากคุณตาคุณโหน่งมากน้อยแค่ไหนคะ
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 21 เม.ย. 21, 14:09

คุณ nathanielnong  พุ่งความสนใจไปที่รอยขีดทับชื่อบุคคล    ดิฉันกลับไปตื่นเต้นกับพระปรมาภิไธยด้านบนสุด
นาฬิกาพกนี้เป็นของพระราชทาน(?) ให้บุคคลหนึ่ง  เนื่องในวันเกิดที่เขาผู้นั้นอายุครบ ๑๙ ปีในพ.ศ. ๒๔๕๓ แปลว่าเขาเกิดในพ.ศ. ๒๔๓๔  ในรัชกาลที่ ๕

เจ้าของนาฬิกานี้เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔  อายุต่างจากคุณตาคุณโหน่งมากน้อยแค่ไหนคะ

อาจารย์วิเคราะห์เหมือนหนังสือนักสืบของ Agatha Christie เลยครับ  อ่านสนุก

คุณตาเกิด 2440 ครับ
บันทึกการเข้า
ธสาคร
พาลี
****
ตอบ: 248


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 21 เม.ย. 21, 14:50

- ร่องรอยอักษรเดิม จาง ไม่ลึก , อาจไม่ได้ถูกสลักมาพร้อมกับข้อความหลัก
- รูปเล็กไป เพ่งไม่ไหวครับ
- จำนวนตอบกระทู้ของคุณ nathanielnong ยังเป็น 0 อยู่ , เรียนท่านเจ้าเรือน . . ระบบเรือนไทยขัดข้องหรือไม่ครับ
บันทึกการเข้า
ธสาคร
พาลี
****
ตอบ: 248


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 21 เม.ย. 21, 14:51

จำนวนการตอบกระทู้ของผมก็ไม่กระดิก , ยังคง 239 เท่าเดิม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 21 เม.ย. 21, 18:04

- จำนวนตอบกระทู้ของคุณ nathanielnong ยังเป็น 0 อยู่ , เรียนท่านเจ้าเรือน . . ระบบเรือนไทยขัดข้องหรือไม่ครับ 
  น่าจะเป็นที่ระบบค่ะ   เรื่องนี้ต้องรอคุณม้ามาแก้ไข   ดิฉันทำไม่เป็น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 21 เม.ย. 21, 18:18

เจ้าของนาฬิกาพกอายุมากกว่าคุณตา 6 ปี     แปลว่าอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน
ในรัชกาลที่ 6  สังคมกรุงเทพยังแคบมาก   ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวข้าราชการ แม้จะอยู่คนละกระทรวงคนละกรม ก็รู้จักกันได้ไม่ยาก   ถ้าไม่รู้จักสนิท  ก็รู้จักแบบห่างๆ
เป็นได้ว่าคุณตาไปเจอนาฬิกาพกเรือนนี้ ในวัยที่ท่านเป็นผู้ใหญ่มากแล้ว  รู้ว่าคนได้รับพระราชทานเป็นใคร  ก็เลยซื้อมาไว้เป็นที่ระลึกถึงเจ้าของซึ่งอาจล่วงลับไปแล้ว  แต่ท่านก็คงจะใช้นาฬิกาเรือนนี้ด้วย  ไม่ได้เก็บเข้าตู้ไว้เฉยๆ   เลยขีดชื่อเจ้าของออกไป

ที่สันนิษฐานอย่างนี้เพราะดิฉันเคยได้เป็นเจ้าของของพระราชทานชิ้นหนึ่ง  จากเจ้าของเดิมซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว
พอจะนำมาใช้    เกิดสงสัยว่าจะใช้ได้ไหมเพราะเราไม่ใช่ผู้รับพระราชทาน ก็เลยเรียนถามท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง    ท่านตอบว่าของพระราชทานนั้นถ้าเราไม่ใช่คนได้รับพระราชทานก็ไม่ควรใช้   ท่านเองมีของตกทอดมาเป็นสมบัติของท่าน ท่านยังไม่เคยใช้เลย
คงเป็นเพราะถือกันอย่างนี้กระมัง  คุณตาซึ่งเป็นคนรุ่นเก่า คงเคยรู้ธรรมเนียมนี้   เมื่อท่านไม่อยากซื้อมาเก็บไว้เฉยๆ แต่อยากนำมาใช้ให้คุ้มราคา  ท่านก็เลยขีดชื่อเจ้าของเดิมออก

หรือไม่  มีอีกทางหนึ่งคือ  ตอนลูกหลานเจ้าของนาฬิกาพกนำออกขาย  ไม่อยากให้ใครรู้ เลยขีดชื่อบรรพบุรุษออกไป    คุณตาไปเจอนาฬิกาในร้านของเก่า ถูกชะตาขึ้นมาก็เลยซื้อมา

นาฬิกาเรือนนี้เป็นเรือนทองหรือเปล่าคะ  น่าจะใช่นะ  ของพระราชทานคงไม่ใช่เงินหรือนาก  

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 22 เม.ย. 21, 08:56

ยี่ห้อนาฬิกา         อะไรหนาขอทราบที
อีกชื่อเจ้าของนี้      หากขยายอาจได้ความ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 22 เม.ย. 21, 10:08

ขยายเต็มที่แล้วยังไม่เห็นค่ะ    ช่างที่ขีดลบชื่อคงได้รับคำกำชับให้ปิดชื่อมิดชิดจริงๆ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 22 เม.ย. 21, 10:24

ถ่ายชื่อระยะใกล้          ด้วยการใช้โหมดมาโคร
และแล้วส่งมาโชว์        อาจใช้สืบคืบหน้าพลัน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 25
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 20 คำสั่ง