เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 1233 ขออนุญาตเรียนถามถึงกลุ่มชาติพันธ์ในพื้นที่ภาคกลางของไทยหน่อยค่ะ
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


 เมื่อ 10 ก.พ. 21, 18:57

คือดิฉันได้ไปอ่านข้อมูลมาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธ์ในพื้นที่ภาคกลางของไทยมาค่ะ เลยทำให้ให้เกิดข้อสงสัยเลยอยากจะเรียนถามท่านผู้รู้ในเว็บนี้หน่อยค่ะว่าข้อมูลที่ดิฉันไปอ่านเจอมามีความเป็นไปได้แค่ไหนคะ
 
1 เป็นไปได้ไหมคะว่ากลุ่มชาติพันธ์ไทไม่เคยอพยพจากจีนลงมาถึงในพื้นที่ภาคกลางของไทย (บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ซึ่งกลุ่มชาติพันธ์ในพื้นที่ภาคกลางของไทย (บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา) มีแต่กลุ่มมอญ เขมร ที่ไปทำการซื้อขายของกันจนเกิดการแลกเปลี่ยนภาษา วัฒนธรรม ประเพณีนี้กับกลุ่มชาติพันธ์ไทจนได้มีการรับภาษา วัฒนธรรม ประเพณีมาใช้ จึงทำให้คนไทยสมัยนี้เข้าใจผิดว่ากลุ่มชาติพันธ์ไทเคยอพยพจากจีนลงในพื้นที่ภาคกลางของไทย (บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา) เพราะมีภาษา วัฒนธรรม ประเพณีนี้กลุ่มชาติพันธ์ไทในพื้นที่ภาคกลางของไทย (บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา) แต่จริงๆคือการแลกเปลี่ยน รับภาษา วัฒนธรรม ประเพณีกันมาเฉยๆ

2 เป็นไปได้ไหมคะว่ากลุ่มชาติพันธ์ในพื้นที่ภาคกลางของไทย (บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา) มีแต่กลุ่มมอญ เขมร แล้วตอนสมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ไปทำสงครามกับสงครามกับ พม่า ล้านนา ล้านช้าง ซึ่งมีการเกณฑ์เชลย เกณฑ์แรงงานจากชาติที่ไปทำสงครามที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ไทเข้ามาในอาณาจักรจึงทำให้มีการแลกเปลี่ยนภาษา วัฒนธรรม ประเพณีนี้กับกลุ่มชาติพันธ์ไทจนได้รับภาษา วัฒนธรรม ประเพณีมาใช้ คนไทยสมัยนี้จึงเข้าใจผิดว่ากลุ่มชาติพันธ์ไทเคยอพยพจากจีนลงในพื้นที่ภาคกลางของไทย (บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา) เพราะมีภาษา วัฒนธรรม ประเพณีนี้กลุ่มชาติพันธ์ไทในพื้นที่ภาคกลางของไทย (บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา) แต่จริงๆคือโดนให้อยู่ที่นี่ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีเลยติดมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 ก.พ. 21, 20:15

ยังไม่มีคำตอบชี้ขาดตายตัว  นี่คือคำตอบหนึ่งที่เจอจากการค้นกูเกิ้ลค่ะ

นักโบราณคดีเสนอข้อสรุปว่าแหล่งกำเนิดของชนชาติไทยนั้นก็คือ บริเวณภาคอีสานของไทย และแถบจังหวัด กาญจนบุรีของไทยปัจจุบัน มิได้อพยพมาจากตอนใต้ของประเทศจีนอย่างทฤษฎีเก่าอ้างไว้ แต่ถ้าหากจะมีการอพยพจริงก็ คงจะเป็นการอพยพจากใต้ขึ้นเหนือ เช่น อพยพขึ้นไปอยู่แถบแคว้นสิบสองจุไทย และแคว้น ยูนาน เพราะได้มีการพบ หลักฐานที่นักโบราณคดีขุดค้นหาซากโบราณที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี โดยการใช้ C14 ทดสอบ ทำให้ทราบอายุของโครงกระดูกที่กาญจนบุรี ว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 5-6 พันปี

        นายแพทย์สมศักดิ์ สุวรรณสมบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช ทำการศึกษาความหนาแน่นของ กลุ่มเลือด ได้พบว่ากลุ่มเลือดของคนไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกับคนภาคใต้ในชวา จึงเสนอความเห็นสนับสนุนทฤษฏีว่า ชนชาติไทยอพยพจากใต้ขึ้นเหนือ คือ อพยพจากเกาะชวาขึ้นมาอยู่ที่แผ่นดินใหญ่

        เรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้านั้นก็มีนักทฤษฎีใหม่ชื่อ Frederick Mote เขียนไว้ใน "ปัญหาก่อนประวัติศาสตร์" ว่าชนกลุ่มใหญ่ในอาณาจักรน่านเจ้าไม่ใช่ไทย แต่ไทยนั้นมีแหล่งกำเนิดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อมาถูกขอมและ เขมรรุกรานจึงอพยพขึ้นไปทางเหนือ แต่แบ่งแยกออกเป็นหลายพวก เข้าไปในเวียดนามที่เกาะไหหลำและที่แคว้นยูนนาน

        นอกจากนั้นแล้วนักประวัติศาสตร์จีน 2 คน คือ ตูยูตินและเชนลูฟาน (Tu Yu-tin และ Chen Lu-fan) เขียนบท ความเรื่อง "ชัยชนะของกุบไลข่านเหนือเมืองตาลีโกว (ตาลีฟู)" ได้ทำให้คนไทยจำนวนมากอพยพลงมาทางใต้หรือไม่ โดยศึกษาเอกสารของจีนในราชวงศ์หยวนและเหม็ง พบว่า เมื่อกุบไลข่านยกมาตีน่านเจ้านั้นได้ตกลงกันอย่างสันติวิธี มิได้มี การโจมตีอย่างรุนแรงจนทำให้ไทยต้องอพยพมาครั้งใหญ่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 1924 น่านเจ้าจึงสิ้นสุดลงเมื่อราชวงศ์เหม็ง ยึดอำนาจจากมองโกล ได้รวมน่านเจ้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ตอนนี้เองจึงได้มีการอพยพ ทั้งนี้ได้เสนอว่าคนไทยที่อยู่ น่านเจ้านั้นเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยใน 6 กลุ่ม ถิ่นกำเนิดของชาติไทยแต่เริ่มแรกจึงอยู่ที่ภาคเหนือของไทยปัจจุบันนี้ มิได้ อพยพมาจากจีนตอนใต้ และไทยในน่านเจ้าไม่เคยอพยพลงมาที่ประเทศไทยปัจจุบัน ดังนั้น ไทยในน่านเจ้าและ ไทย ปัจจุบันนี้จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน


https://sites.google.com/site/phumisastr1/khwam-pen-ma-thiy/chnchati-thiy-ma-cak-hin
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 ก.พ. 21, 10:36

พอดีไปเจอใน Facebook  ข้อมูลของคุณ Kornkit Disthan (กรกิจ ดิษฐาน)  อ้างหลักฐานจากแผนที่จีนโบราณ น่าสนใจ  จึงนำมาลงเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งค่ะ

ต้าถังในอีสาน

ปีใหม่จีนคนอื่นเขาไหว้เจ้ากัน ผมนั่งดูแผนที่ดินแดนโบราณของจีนด้วยความสนุก
เพิ่งจะเห็นว่าดินแดนที่จีนอ้าง (หรือสำรวจไปถึงหรือไปปักหมุด) ล้ำเข้ามาในดินแดนไทยปัจจุบันด้วย อย่างภาคเหนือของไทยก็มีดินแดนเป็นของอาณาจักรน่านเจ้าบางส่วน น่านจ้าวนั้นชิงดินแดนอินโดจีนอย่างหนักกับต้าถังในรัชสมัยเสวียนจง ซึ่งจะไม่ขอเอ่ยถึงเพราะยาว จะเอ่ยถึงอีกจุดหนึ่งของไทยที่ต้าถังเคลมก็แล้วกัน
เอาง่ายๆ ว่าน่านเจ้าคุมแม่น้ำโขงตอนเหนือของไทยและลาว ส่วนต้าถังได้ดินแดนแม่น้ำโขงของไทยและลาวตอนกลาง ทำไมถึงล้ำมาได้ถึงขนาดนั้น?
ดินแดนของน่านจ้าวนั้นลงมาประชิดกับหริภุญไชยหรือที่จีนเรียกว่า "ประเทศพระเทวี" (女王國) คงเกี่ยวกับที่ประเทศนี้มีผู้หญิงปกครอง คือพระนางจามเทวี
เหนือขึนไปจากลำพูนแถวๆ เชียงรายเชียงแสนชายของแม่น้ำโขงอยู่ในอาณัติของเขตมณฑลทหารอิ๋นเซิง (銀生節度) ซึ่งเป็นถิ่นของคนเผ่าไท/ไต
เอาแค่นี้ก่อนเพราะจะเขียนช่วยจำเรื่องต้าถังในอีสาน
อาณาจักรถังนั้นกว้างใหญ่ดินแดนภาคใต้เลื้อยลงมาถึงตอนกลางของเวียดนาม เวียดนามในสมัยถังเป็นเขตปกครองที่เรียกว่า เขตปกครองอารักขาอันนัม (安南都護府)
ตอนใต้สุดของเขตปกครองอารักขาอันนัมควรจะไปสุดที่เวียดนามซึ่งเดินทางง่ายๆ ริมชายทะเล แต่ง่ายๆ ชาวต้าถังไม่ทำ พวกเขาเดินทางสำรวจข้ามเทือกเขาอันนัมที่กั้นลาวกับเวียดนามเอาไว้ แล้วมาตั้งเขตปกครองในดินแดนของลาวคือ เมืองซางโจว
บางครั้งเรียกว่าเมืองเซี่ยงโจวซึ่งอย่างหลังแปลว่าเมืองช้าง ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับการที่ดินแดนนี้ถูกเรียกว่าล้านช้างในภายหลังหรือไม่
ซางโจว/เซี่ยงโจว ปัจจุบันนี้คือเมืองคำเกิด แขวงบ่อลิคำไซ ในสมัยถังเรียกว่าอำเภอรื่อลั่ว แต่บางคนก็บอกว่าน่าจะอยู่ในคำม่วนมากกว่า
ในซางโจว/เซี่ยงโจวมีอำเภอสำคัญเช่น เหวินหยาง ปัจจุบันอยู่ใกล้ๆ กับเมืองปากกระดิง  แขวงบ่อลิคำไซ
ในบันทึกประวัติศาสตร์ซินถังซูและบันทึกของเจียตาน นักภูมิศาสตร์สมัยราชวงศ์ถังบันทึกถึงเขตปกครอฝเหล่านี้เอาไว้ว่าเดินทางจากฮวนโจว (驩州) หรือจังหวัดเหงะอานประเทศเวียดนามในปัจจุบันเป็นเวลา 3 วันถึงช่องเขาที่จะข้ามเข้าไปในลาวเดินทางถึงสองวันถึงเขตซางโจว/เซี่ยงโจว
ข้ามแม่น้ำกระดิงหรือหลัวหลุนเจียง ใช้เวลาจากซางโจวไปยังอำเภอเหวินหยาหรือเมืองปากกระดิงเป็นเวลา 3 วันจากนั้นถึงแม่น้ำฉีฉีเจี้ยนหรือแม่น้ำโขง
หลังจากข้ามแม่น้ำโขงมาแล้วก็คือฝั่งไทย ปัจจุบันคือจังหวัดบึงกาฬ ใช้เวลาเดินทางอีก 4 วันถึงอำเภอซ่วนไถ ประเทศเหวินตาน
ประเทศเหวินตานคือบริเวณนครเวียงจันทน์ของลาวคาบเกี่ยวจังหวัดหนองคายของไทย คำว่าเหวินตานหากออกเสียงแบบโบราณจะคล้ายกับคำว่าเวียงจันทน์อยู่เหมือนกัน แต่ตามประวัติศาสตร์ลาวแล้วเมืองเวียงจันทน์ตั้งหลังจากนั้นหลายร้อยปี จะเป็นไปได้หรือไม่ว่ามันมีมานานกว่าพันปีแล้วในชื่อนี้?
จากชายแดนเหวินตาน (จากบันทึกตอนนี้ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นหนองคายแล้ว) จะใช้เวลาอีก 3 วันถึงชายแดนเมืองเหวินตานซึ่งคาดว่าคือส่วนในของจังหวัดหนองคาย หากใช้เวลา 1 วันจะถึงตัวเมืองชั้นในของเหวินตาน
ที่น่าสนใจคือบันทึกบอกว่าใช้เวลาเดินทางจาเหวินตานแค่ 1 วันก็ถึงเจนละบก (陸真臘) แสดงว่าเจนละหรือเจินล่าอยู่ในอีสานนั่นเองและขยายอิทธิพลไปถึงแม่น้ำโขงของอีสานตอนบนประชิดเวียงจันทน์
ศูนย์กลางของเจนละบกนั้นบันทึกสมัยราชวงศ์สุยบอกว่าอยู่ที่ลิงคบรรพต หรือวัดภู เมืองจำปาสัก ไม่ใกล้ไม่ไกลจากจังหวัดอุบลราชธานีของไทย
แต่ในบันทึกมันคงเป็นชายแดนตอนเหนือของเจนละบก ต้องเดินทางอีกไม่รู้กี่วันถึงศูนย์กลางของเจนละบก จากนั้นบันทึกบอกว่าจากเจนละบกไปถึงเจนละน้ำ (水真臘) โดยไม่บอกว่าเดินทางกี่วัน
จากเจนละน้ำจะถึง "ทะเลน้อย" (小海) ซึ่งบางคนแปลว่ามันคืออ่าวไทยแต่ผมคิดว่ามันอาจหมายถึงตนเลสาปที่เมืองเขมร
จากทะเลน้อยไปทางใต้คือประเทศหลัวเยว่ (羅越國) ลงไปทางใต้ของทะเลใหญ่ (大海)
ประเทศหลัวเยว่คนจีนกับมาเลย์บอกว่าอยู่มาเลเซีย ซึ่งผมคิด (เอาเองว่า) ถ้าทะเลน้อยเป็นตนเลสาป ทะลใหญ่ควรเป็นอ่าวไทยและทางเหนือของอ่าวไทยควรเป็นประเทศหลัวเยว่ ซึ่งไม่รู้จะผิดหรือถูกยังไง ขอเดาเอาไว้ก่อน
เอาเป็นว่าจากบันทึกเหล่านี้ ต้าถังตั้งดินแดนล้ำเข้ามาในจังหวัดบังกาฬและหนองคาย ล้ำเข้ามาในคำม่วนและบ่อลิคำไซของลาวและเลยไปถึงเวียงจันทน์ ประชิดกับดินแดนของประเทศเจนละบกในภาคอีสาน
ต้าถังตั้งดินแดนล้ำเข้ามาทำไม? คิดว่าเพราะวางเส้นทางการค้าอาจจะตามแนวแม่น้ำโขงเพราะเดินทางง่ายกว่าทางทะเลที่เอาชีวิตไปทิ้งได้ง่ายๆ หากดูจากบันทึกนี้การเดินทางจากเวียดนามมาถึงแม่น้ำโขงใช้เวลาแค่สัปดาห์เดียว หากล่องลงใต้ไม่นานก็จะถึงเจนละน้ำ
ทั้งเจนละบกและน้ำเป็นคู่ค้าที่ดีของต้าถัง เส้นทางนี้จึงเหมาะกว่าทางทะเลมาก
แต่บันทึกนี้ค่อนข้างเดาได้หลากหลาย ที่แน่ๆ มันคือดินแดนของลาวและไทย แต่นักวิชาการจีนบางคนชี้ว่าเหวินตานไม่น่าจะหมายถึงเวียงจันทน์แต่ควรหมายถึงจังหวัดอุบลราชธานี (น่าจะหมายถึงแถวๆ โขงเจียม) ที่ติดกับแม่น้ำโขงและมีหลักฐานของอาณาจักเจนล่ะบกอยู่มาก
นักวิชาการฝรั่งบางคนบอกว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามท่าอุเทนบ้าง อยู่ที่ท่าแขกฝั่งตรงข้ามนครพนมบ้าง ยังไม่เป็นที่สรุปกันแต่ก็มีเค้าเพราะบันทึกบอกว่า 1 วันก็ถึงเจนละบก หากไปจากนครพนม/ท่าแขกล่องแม่น้ำโขงไปเป็นไปได้ที่จะถึงชายแดนเจนละบก (แถวๆ จำปาสัก/อุบล) ในเวลาเพียง 1 วัน)
เรื่องนี้พักไว้ก่อน เอาเป็นว่าต้าถังเคยครองดินแดนล้ำมาถึงไทย เป็นข้อมูลใหม่สหรับผม (แต่อาจไม่ใหม่สำหรับคนอื่น) ขอจบการบันทึกแต่เพียงเท่านี้
บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 ก.พ. 21, 17:40

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะคุณเทาชมพู
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 ก.พ. 21, 10:16

ภาษาที่ปัจจุบันเรียกรวม ๆ กันว่า ‘ภาษาตระกูลไท’ ถูกใช้แพร่กระจายกว้างขวาง ไล่ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียในรัฐอัสสัม แพร่กระจายผ่านภาคเหนือของพม่า ภาคใต้ของจีน และภาคเหนือของเวียดนาม  ภาษาตระกูลไทที่กระจายตัวกว้างขวางอย่างนี้ มีความหลากหลายไม่เท่ากันในแต่ละบริเวณ บางบริเวณภาษาหลากหลายสูง ขณะที่ในบางบริเวณภาษาหลากหลายต่ำ

นักภาษาศาสตร์มีหลักอยู่ว่า หากภาษามีพัฒนาการอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานจะสั่งสมความหลากหลายเอาไว้ในตัวเอง จะแตกตัวเป็นภาษาถิ่นย่อย ๆ แล้วมีความแตกต่างจากกันมากเป็นเงาตามตัว ฉะนั้นบริเวณไหนที่ภาษามีความหลากหลายสูง ก็แสดงว่าภาษาน่าจะบ่มเพาะตัวเองในพื้นที่นั้นเป็นเวลานาน ถ้าความหลากหลายต่ำกว่า ก็แสดงว่าอยู่มาไม่นาน ในกรณีนี้ ภาษาตระกูลไทที่พูดกันอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับขอบเขตการกระจายตัวของภาษาโดยภาพรวม ส่วนทางตอนใต้ของจีน แถวมณฑลยูนนาน กว่างซี ต่อเนื่องกับภาคเหนือของเวียดนาม พบว่าภาษาตระกูลไทมีความหลากหลายสูง แสดงให้เห็นว่าภาษาอยู่มานานกว่าที่อยู่ในเอเชียอาคเนย์ แล้ววิธีที่จะอนุมานว่าต้นกำเนิดของภาษาอยู่ที่ไหน นักภาษาศาสตร์ก็ใช้หลักที่ว่าพื้นที่ไหนที่มีความหลากหลายทางภาษาสูง แสดงว่าบริเวณนั้นภาษาอยู่มาเก่าแก่ เหมาะที่จะเป็น center of origin มากกว่าบริเวณที่มีความหลากหลายของภาษาต่ำ

เป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษของกลุ่มคนไทยเคลื่อนย้ายมาจากตอนใต้ของจีนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แล้วเอาภาษาตระกูลไทมา และกลายมาเป็นบรรพบุรุษของคนไทย แต่ยังมีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือ ภาษาอาจเคลื่อนย้ายมาจากตอนใต้ของจีนโดยคนจำนวนไม่มากนัก แล้วอาจเป็นไปได้ด้วยกลไกทางวัฒนธรรมหรือทางการเมืองบางอย่างทำให้ภาษาบูมขึ้นมา

วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือให้ความสำคัญทางพันธุกรรม สมมุติว่าการแพร่กระจายของภาษาตระกูลไทสัมพันธ์กับการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ของบรรพบุรุษของคนไทยจากภาคใต้ของจีน ฉะนั้นโดยเชื้อสายเรามาจากภาคใต้ของจีน แต่ถ้าการแพร่กระจายของภาษาเกิดขึ้นด้วยบรรพบุรุษจำนวนน้อย แล้วกลืนกลายมาเป็นคนพื้นเมือง ทำให้คนพื้นเมืองที่อาจจะเคยพูดภาษากลุ่มมอญเขมร กลืนกลายภาษาของตัวเองมาพูดภาษาตระกูลไท ถ้าเป็นกรณีนี้ โดยเชื้อสายคนที่พูดภาษาตระกูลไทในประเทศไทยปัจจุบันจะต้องมีบรรพบุรุษเป็นคนพื้นเมืองเดิม เราก็ควรมีพันธุกรรมที่คล้ายกับคนพื้นเมืองเดิมของภูมิภาค มากกว่าที่จะคล้ายกับคนที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 ก.พ. 21, 10:19

งานศึกษาเรื่อง Genetic history of Southeast Asian populations as revealed by ancient and modern human mitochondrial DNA analysis ตีพิมพ์ปี ๒๐๐๘ ใน American Journal of Physical Anthropology ฉบับ ๑๓๗ หน้า ๔๒๕-๔๔๐ ให้คำตอบเรื่องถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษไทย  โดยมี material ในการศึกษาที่สำคัญคือ ตัวอย่าง DNA ทั้งประชากรโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และคนพื้นเมืองตามพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

๑. ประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์: ตัวอย่างจากภาคอีสานตอนล่าง มีอายุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เข้าสู่ยุคโลหะ แล้วก็สืบเนื่องมาจนถึงประวัติศาสตร์ตอนต้น จากแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก (NUL) และบ้านหลุมข้าว (BLK) เป็นตัวอย่างของคนโบราณที่อยู่ในพื้นที่
๒. กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทจากท้องถิ่นต่าง ๆ:  ไทยโคราช (Th-K)ไทยภาคเหนือ (Th-N) ไทยขอนแก่น (Th-KK) ไทยเชียงใหม่ (Th-Cm) ผู้ไทย (PTh) ลาวโซ่ง (LSg)
๓. กลุ่มมอญ-เขมร: พวกชอง (Chg) ที่มีถิ่นฐานอยู่แถวจังหวัดจันทบุรี กับกลุ่มเขมร (Khm) จากแถบชายแดนจังหวัดสระแก้ว
๔. กลุ่มชาวเขา: ลีซอ (Lsu) มูเซอ (Msr)
๕. กลุ่มคนภาคใต้ของจีน ในเขตมณฑลยูนนาน กว่างซี และกวางตุ้ง:ชาวฮั่น (ฮั่นยูนนาน (H-Yn) ฮั่นกวางตุ้ง (H-Gd) ฮั่นอู่ฮั่น (H-Wh) ฮั่นชิงเต่า (H-Qd) และจ้วง (Zhg))
๕. ประชากรจากภาคกลาง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีน: พวกอัลไต (Tu-Qinghai)

ตัวอย่างที่ได้มานำไปสกัด Mitochondrial DNA เพื่อเปรียบเทียบและโยงความสัมพันธ์เป็น Genetic Tree ได้ความสัมพันธ์ดังนี้

ประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่ง โบราณคดีเนินอุโลก (NUL) และบ้านหลุมข้าว (BUK) มีพันธุกรรมใกล้ชิดระหว่างกันมากที่สุด จึงอาจอนุมานได้ว่าประชากรก่อนประวัติศาสตร์ทั้งสองนี้ เป็นตัวแทน ทางเชื้อสายของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จนถึงยุคต้นสมัยประวัติศาสตร์

เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทในไทย อย่างไทยจากภาคเหนือ (Th-N) ไทยขอนแก่น (Th-KK) ไทยเชียงใหม่ (Th-Cm) ผู้ไทย (PTh) กลับมีความใกล้ชิดกันทางพันธุกรรมกับคนจ้วง (Zhg) จากมณฑลกว่างซีประเทศจีน และชาวฮั่นจากภาคใต้ของจีนได้แก่ ชาวฮั่นยูนนาน (H-Yn) ชาวฮั่นกวางตุ้ง (H-Dd) ชาวฮั่นอู่ฮั่น (H-Wh) มากกว่ากับประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่ประเทศไทย จากเนินอุโลก (NUL) และบ้านหลุมข้าว (BUK) แต่ประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากเนินอุโลกและบ้านหลุมข้าว มีความใกล้ชิดกับมอญ-เขมร โดยเฉพาะพวกชอง (Chg)

รูปแบบความสัมพันธ์ที่พบ สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าบรรพบุรุษของคนพูดภาษาไทยในเอเชียอาคเนย์ โดยทางเชื้อสายน่าจะเป็นพวกที่อพยพลงมาจากตอนใต้ของจีน และเป็นคนละกลุ่มกันกับประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่

ยังมีข้อสังเกตบางอย่างจากรูปแบบความสัมพันธ์ที่พบ คือกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทในประเทศไทย (ไทยภาคเหนือ ไทยขอนแก่น ไทยเชียงใหม่ ผู้ไทย) มีความใกล้ชิดกันทางพันธุกรรมค่อนข้างมาก แสดงว่ามีความเป็นไปได้ว่าเพิ่งแยกตัวออกจากกันเป็นประชากรกลุ่มย่อย ๆ ไม่ช้านานมากจึงสะสมความหลากหลายทางพันธุกรรมไม่มาก

ประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ถ้ามีการอยู่อาศัยแตกตัวเป็นกลุ่มย่อย ๆ เป็นเวลาช้านานจะสั่งสมความหลากหลายทางพันธุกรรมต่างจากกันมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นกรณีของมอญ-เขมรที่เราพบว่า พวกชอง เขมร และชาวบน ค่อนข้างหลากหลายแตกต่างจากกันมากในทางพันธุกรรม แสดงว่ากลุ่มเหล่านี้ น่าจะมีการตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยและแตกตัวเป็นกลุ่มย่อย ๆ มาตั้งแต่ก่อนหน้าการเข้ามาตั้งหลักแหล่งในพื้นที่ ของกลุ่มบรรพบุรุษคนไทย ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยกว่า

ส่วนพวกอัลไต (Tu-Qinghai) ที่อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน จากต้นไม้ความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการจะเห็นว่ามันห่างออกไปมาก

งานวิจัยชิ้นนี้ให้คำตอบได้ว่า บรรพบุรุษของเราอพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน เมื่อเวลาที่อพยพลงมานั้นมีคนพื้นเมืองอื่น ๆอาศัยอยู่ในภูมิภาคเต็มไปหมดแล้ว โดยเฉพาะพวกที่พูดภาษาในตระกูลมอญเขมร ออสโตรเอเชียติก

ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์เสมอชัย พูลสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 ก.พ. 21, 11:21

新正如意 新年发财

จีนกับไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน
สุขสันต์วันตรุษจีน ๒๕๖๔
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ก.พ. 21, 15:40

ขอบพระคุณค่ะคุณเพ็ญชมพูสำหรับความรู้

ขอถามเพิ่มเติมนะคะ คืออยากทราบว่าการที่ตอนสมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ไปทำสงครามกับ พม่า ล้านนา ล้านช้าง แล้วมีการเกณฑ์เชลย เกณฑ์แรงงานจากชาติที่ไปทำสงครามที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ไทเข้ามาในอาณาจักรส่งผลทำให้ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อของกลุ่มคนในอยุธยา รัตนโกสินทร์ เปลี่ยนแปลงมากน้อยไปแค่ไหนคะ หรือไม่มีผลอะไรเพราะเป็นชาติพันธ์เดียวกัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 ก.พ. 21, 10:44

การเกณฑ์เชลย เกณฑ์แรงงานจากชาติที่ไปทำสงครามที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ไทเข้ามาในอาณาจักรส่งผลทำให้ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อของกลุ่มคนในอยุธยา รัตนโกสินทร์ เปลี่ยนแปลงมากน้อยไปแค่ไหนคะ หรือไม่มีผลอะไรเพราะเป็นชาติพันธ์เดียวกัน

มีกรณีศึกษาเรื่อง การเล่นแอ่วลาวหรือลาวแคน มาให้คุณดาวพิจารณา

ในรัชกาลที่ ๓ หลังจากสงครามเจ้าอนุวงศ์สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ ชาวลาวจากเมืองเวียงจันทน์และเมืองอื่น ๆ  ถูกกวาดต้อนมา ไปไว้ตามเมืองต่าง ๆ เช่น สระบุรี ลพบุรี และสุพรรณบุรี  เชลยศึกชาวลาวได้นำศิลปะการแสดงติดตัวมาด้วย คือ การขับลำและการเป่าแคน ที่ชาวสยามเรียกว่า “แอ่วลาว” หรือ “ลาวแคน” เป็นการขับลำที่มีเสียงแคนเป็นเสียงประสานทำนอง ผู้เล่นมีสองคนคือหมอลำ เป็นผู้ขับร้อง และหมอแคน ผู้ทำหน้าที่เป่าแคนให้เป็นทำนองประกอบในการขับลำ การเล่นแอ่วลาวหรือลาวแคนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนถึงในรัชกาลที่ ๔ แอ่วลาวหรือลาวแคนได้รับความนิยมสูงสุด

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดแคนเป็นพิเศษ เนื่องจากเมื่อครั้งพระองค์ดำรงพระยศเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ มักเสด็จประพาสไปประทับตามถิ่นที่มีบ้านลาวเมืองนครไชยศรีบ้าง เมืองพนัสนิคมบ้าง

ตามวังเจ้านายก็นิยมให้มีแคนและพวกแอ่ว ดังเช่นที่วังของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ปรากฏในบันทึกของ เซอร์ ยอน เบาว์ริง ราชทูตแห่งอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยรัชกาลที่ ๔ ว่า หลังจากที่รับประทานอาหารแล้ว กรมหลวงวงษาฯ ได้  "มีรับสั่งให้หาพวกลาวมาแอ่วลาวเป่าแคนให้พวกเราดูแคนนั้นทำด้วยไม้ไผ่ขนาดต่าง ๆ เจาะรูอย่างขลุ่ย แต่ที่ปากเป่านั้นทำเหมือนกับเครื่องฟลาคิโอเล็ต เสียงเครื่องดนตรีนั้นเป็นเสียงหวานและเกลี้ยงดูเหมือนจะหัดเป่าได้ง่าย การเต้นรำของพวกลาวนั้นก้าวจังหวะช้า ๆ สาวลาวทุกคนถือเทียนรำไปมาดูงามดี"

เมื่อการเล่นแอ่วลาวหรือลาวแคนได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งเจ้านายในราชสำนักและราษฎรทั่วไป ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้สวรรคต จึงได้มีประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๔ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก ๑๒๒๗ (พ.ศ. ๒๔๐๘)




บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 ก.พ. 21, 10:59


ท่านประกาศห้าม ก่อนวันลอยกระทง  1  วัน ไม่น่าจะมีผลปีนั้น
บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 17 ก.พ. 21, 19:18

ขอบพระคุณค่ะคุณเพ็ญชมพู ถ้ามีอีกก็มาเพิ่มเติมได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง