เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2270 ขออนุญาตเรียนถามถึงเสื้อผ้าของคนไทยภาคกลางในสมัยอยุธยาหน่อยค่ะ
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


 เมื่อ 23 ม.ค. 21, 16:28

ขออนุญาตเรียนถามถึงเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของคนไทยภาคกลางในสมัยอยุธยาหน่อยค่ะ

1 ในสมัยอยุธยาคนไทยภาคกลางไม่นิยมทอผ้ากันหรือคะ เพราะเวลาที่ดิฉันไปค้นหาข้อมูลเรื่องการทอผ้าของคนภาคกลางจะพบว่าคนที่ทอส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกต้อนมาจากสงครามกัน ทั้งมอญ ลาว ล้านนา เขมร
2 ในสมัยอยุธยาคนไทยภาคกลางมีเสื้อผ้าสำเร็จรูปวางขายในตลาด หรือมีการไปสั่งทอ สั่งตัดชุดกับคนทอชุดกันหรือยังคะ ไว้สำหรับคนที่ไม่ไปทอ ตัดเย็บเอง คนชั้นสูง
3 เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มในสมัยอยุธยามีขนาดความกว้าง ความยาวของชุดเป็นมาตราฐานกันไหมคะ เช่น สะไบต้องยาวเท่านี้ ต้องกว้างเท่านี้ หรือส่วนใหญ่จะแล้วแต่คนทำชุด คนใส่มากกว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 ม.ค. 21, 18:53

     จากหลักฐานจดหมายเหตุของชาวจีนและชาวยุโรป และวรรณคดีบางเรื่อง กล่าวถึงผ้าชนิดต่างๆ มากมาย ทั้งที่ทำขึ้นในประเทศไทยและที่นำมาจากต่างประเทศ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้าหนังไก่ (ผ้าแพรมีเนื้อผ้าหยุ่นๆ คล้ายหนังไก่) ผ้าสมปัก (ผ้าทอด้วยไหมเพลาะมีลวดลายและสีต่างๆ) ผ้าปูม(ผ้าไหมทอมีลวดฃายเป็นสีต่างๆ โดยลวดลายแลเห็นไม่เด่นชัดนัก) ผ้าจวน(ผ้าแพรเพลาะเนื้อบางนิ่ม) ผ้าปักไหม ผ้าปักดิ้นทอง และผ้าพิมพ์
     ตำนานวังเก่าในประชุมพงศาวดารภาคที่ 63 กล่าวถึงแหล่งค้าผ้าที่สำคัญหลายแห่งในกรุงศรีอยุธยา เช่น ย่านป่าไหมขายไหมครุย ไหมฟั่น ไหมเบญจพรรณ(ไหมย้อมเป็นสีต่างๆ) ย่านป่าฟูก ขายฟูกและหมอน ย่านทุ่งหมาก ขายเสื้อ กางเกง ล่วม(เครื่องสำหรับใส่หมาก พลู บุหรี่ หรือใส่ยา) ถุงหมาก ถุงยาสูบ ซองพลู ย่านป่าตอง ขายฝ้าย ย่านฉะไกรใหญ่ ขายผ้า สุหรัดและผ้าขาว ย่านวัดขุนพรหม เขียนผ้าพิมพ์ แสดงว่าผ้าพิมพ์ลายนั้นนอกจากจะนำมาจากอินเดียแล้ว ยังมีการผลิตที่ย่านวัดขุนพรหมด้วย
     จากจดหมายเหตุของชาวจีนที่เดินทางเข้ามาใสมัยอยุธยา ทำให้ทราบว่าคนไทยทั้งผู้ชายและผู้หญิงไว้ผมยาว รวบขึ้นเป็นมวยและโพกศีรษะด้วยผ้าฝ้าย สวมเสื้อยาว แขนยาวทำจากฝ้าย และนุ่งผ้าสั้น
     สำหรับฉลองพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ทรงโพกพระเศียรด้วยผ้าสีขาว ทรงพระภูษาผ้าไหมปักผ้าสี่เหลี่ยมมีรัตพัสตร์ (ผ้าสีแดง) ทำด้วแพรต่วน เวลาเสด็จทำสงครามหรือเสด็จประพาสล่าสัตว์จะทรงฉลองพระองค์ชุดสีแดง เสื้อของทหารที่ตามเสด็จประพาสล่าสัตว์จะทรงฉลองพระองค์ชุดสีแดง เสื้อของทหารที่ตามเสด็จก็เย็บด้วยผ้ามัสลินย้อมสีแดง
       ขุนนางที่มีความดีความชอบ เช่น รบศึกชนะ พระเจ้าแผ้นดินจะพระราชทานบำเหน็จรางวัลให้ โดยของอย่างหนึ่งที่ทรงใช้ปูนบำเหน็จรางวัล คือ ผ้า นอกจากนี้ ขุนนางจะได้รับพระราชทานผ้าสมปักตามตำแหน่งสำหรับนุ่งเข้าฝ้า ซึ่งมีหลายชนิด เช่น เจ้าปลัดกรมใช้สมปักไหม หัวหมื่นนายเวรใช้สมปักลาย การนุ่งผ้าสมปักยังขึ้นอยู่กับโอกาสและพิธีการบางอย่างอีกด้วย
https://sites.google.com/site/khundaysmeemai/prawati-pha-thiy-ni-smay-tang
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ม.ค. 21, 19:00

1 ในสมัยอยุธยาคนไทยภาคกลางไม่นิยมทอผ้ากันหรือคะ เพราะเวลาที่ดิฉันไปค้นหาข้อมูลเรื่องการทอผ้าของคนภาคกลางจะพบว่าคนที่ทอส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกต้อนมาจากสงครามกัน ทั้งมอญ ลาว ล้านนา เขมร
   คนไทยก็ทอผ้าเช่นเดียวกันค่ะ
2 ในสมัยอยุธยาคนไทยภาคกลางมีเสื้อผ้าสำเร็จรูปวางขายในตลาด หรือมีการไปสั่งทอ สั่งตัดชุดกับคนทอชุดกันหรือยังคะ ไว้สำหรับคนที่ไม่ไปทอ ตัดเย็บเอง คนชั้นสูง
   ไม่มีค่ะ
3 เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มในสมัยอยุธยามีขนาดความกว้าง ความยาวของชุดเป็นมาตราฐานกันไหมคะ เช่น สะไบต้องยาวเท่านี้ ต้องกว้างเท่านี้ หรือส่วนใหญ่จะแล้วแต่คนทำชุด คนใส่มากกว่า
   ความกว้างยาวไม่ตายตัว ขึ้นกับเครื่องทอผ้าแต่ละชนิดว่าทอได้กว้างยาวขนาดไหน
   คนไทยสมัยอยุธยา ไม่ได้ "สวม" เสื้อผ้าแบบสูท หรือเดรส อย่างปัจจุบัน  ที่ต้องตัดให้พอดีตัว   แต่ "นุ่ง" และ "ห่ม" เป็นผ้านุ่งผืนหนึ่ง  ผ้าห่มอีกหนึ่งหรือสองผืน  (หากว่าห่มสองชั้น)  ก็ปรับวิธีการนุ่งห่มให้พอดีตัวได้ค่ะ
  มีเสื้อผ้าประเภทหนึ่งที่ต้องตัด คือเสื้อครุยของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เพราะเป็นเสื้อมีบ่ามีแขน  แต่จะตัดกันเองในบ้านขุนนางหรือสั่งตัดมาจากต่างประเทศ  ดิฉันไม่ทราบรายละเอียด   แต่เป็นเสื้อที่มีอยู่น้อยมากเพราะคนสวมได้ก็คือบุคคลระดับสูงเท่านั้น   ไม่วางขายตามตลาด
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 ม.ค. 21, 19:02

จากบันทึกของซีมอง เดอ ลาลูแบร์ และนิโกลาส์ แชรแวส ราชทูตและนักเดินทางชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แสดงให้เห็นว่าราษฎรทั้งชายและหญิงนุ่งผ้า ๒ ชิ้น โดยเครื่องนุ่งห่มของชายประกอบด้วยผ้านุ่งพันเอวแล้วม้วนชายไปเหน็บด้านหลังเหมือนกางเกงขาสั้น มีผ้าอีกผืนคลุมบ่า แต่ไม่สวมเสื้อ เครื่องนุ่งห่มของหญิงประกอบด้วยผ้าแถบคาดอกและผ้านุ่งปล่อยชายปิดร่างกายส่วนล่าง ส่วนขุนนางนุ่งผ้านุ่งที่ทอสอดเส้นทองและเส้นเงินหรือผ้าลายดอกที่สั่งซื้อจากอินเดีย สวมสนับเพลาตัดด้วยผ้า เนื้อดีอยู่ในผ้านุ่ง สวมเสื้อชั้นนอกตัดด้วยผ้าป่านบาง ๆ หรือผ้ามัสลินเป็นรูปเสื้อครุย เมื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์จะสวมลอมพอกสูงเพิ่มอีกชิ้นหนึ่ง  ขณะที่กษัตริย์ทรงใช้ฉลองพระองค์ที่ตัดด้วยผ้าเยียรบับ มีฉลองพระองค์ครุยสวมทับอีกชั้น ที่น่าสนใจคือ ผ้าที่คนสมัยอยุธยาใช้ในระยะแรก ๆ เป็นผ้าที่ทอใช้เอง มีผ้าบางส่วนที่สั่งซื้อจากอินเดียและจีน ส่วนใหญ่ผ้าที่สั่งซื้อจากนอกคือ ผ้าที่กษัตริย์ เจ้านาย และขุนนางใช้ เช่น ผ้าเยียรบับ ผ้าแพร ฯลฯ ต่อมาเมื่อมีการค้ากับยุโรปพบว่ากรุงศรีอยุธยาได้สั่งซื้อผ้าจากยุโรปด้วย โดยผู้คนในกรุงศรีอยุธยาหาซื้อผ้าได้จากแหล่งขาย ผ้าหลายแห่งภายในพระนคร เช่น ย่านบ้านป่าชมพู ย่านทุ่งหมาก ย่านฉะไกรใหญ่

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ นอกจากจะมีการซื้อขายผ้าแล้ว ชาวสยามสมัยอยุธยามีการซื้อขาย เสื้อผ้าที่แปรรูปมาจากผ้าด้วย ดังที่หนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง  ระบุว่า ย่านป่าผ้าเขียวหลังคุกมีร้านขายเสื้อเขียว เสื้อขาว เสื้อแดงชมพูเสื้อยี่ปุ่น...กังเกงสีต่าง ๆโดยผู้บริโภคเสื้อผ้าที่ตัดเย็บแล้วน่าจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มชนชั้นสูงและขุนนางซึ่งในบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ดและวรรณกรรมสมัยอยุธยา เช่น บทละครครั้งกรุงเก่าเรื่อง “สังข์ทอง” หรือ วรรณกรรมเรื่อง “ลิลิตพระลอ” ชี้ว่ากลุ่มนี้นิยมสวมเสื้อ  ส่วนอีกกลุ่มที่มี ความเป็นไปได้ว่าจะซื้อหาเสื้อผ้าคือ ไพร่ที่ประกอบการค้าในช่วงจังหวะการขยายตัวของการค้า ต่างประเทศในสมัยอยุธยาตอนปลายจนกลายเป็น “ไพร่มั่งมี” ที่มีรายได้สามารถซื้อหาสินค้าที่ขายกันใน ตลาดทั้งที่ผลิตภายในอาณาจักรและที่มาจากต่างประเทศ โดยผ้าเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ “ไพร่มั่งมี” สมัย อยุธยาตอนปลายนิยมซื้อหา  อย่างไรก็ตาม “ไพร่มั่งมี” ในสมัยอยุธยา ตอนปลายยังมีจานวนไม่มากนักจึงยังไม่ใช่ลูกค้าหลักของตลาดซื้อขายเสื้อผ้า

จาก การค้าเสื้อผ้าในสังคมสยามสมัยอยธุยาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ โดย ดร.โดม ไกรปกรณ์ อาจารย์ประจาภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ ๑๖ ฉบับเดือน มกราคม-ธันวาคม ๒๕๕๖

http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOS/article/download/3822/3811

ข้อความจากบทความข้างบนคงพอจะไขข้อข้องใจ ๒ ข้อแรกได้บ้างไม่มากก็น้อย  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 ม.ค. 21, 13:14

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบค่ะ

ในข้อ 1 อันนี้พอทราบไหมคะว่าทำไมขอมูลในโซเชี่ยลถึงมักจะบอกว่าการทอผ้าของคนภาคกลางจะพบว่าคนที่ทอส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ต่างถิ่นซะมักกว่า ดิฉันอ่านก็งงตรงนี้ว่าไทยเองจะไม่มีการทอเองหรืออย่างไร

ข้อ 2 เรื่องเสื้อผ้าสำเร็จรูปอันนี้พอจะเป็นไปได้ไหมคะว่าอาจทำขึ้นเพื่อขายให้ชาวต่างประเทศที่เข้ามาในไทยด้วย

ข้อ 3 ถ้ามาเทียบกับสมัยปัจจุบันจะมีการปรับชุดไทยให้เป็นมาตราฐานกว่าไหมคะ และเครื่องแต่งกายชุดในปัจจุบันมีขนาดที่ความกว้าง ความยาวน้อยลงกว่าในสมัยอยุธยาไหมคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ม.ค. 21, 08:34

ข้อ 1  ข้อมูลในโซเชียลมีมากมายมหาศาล  ขึ้นกับว่าคุณดาวกระจ่างไปเจออะไร   ที่ไม่เจอก็อาจจะมีมากกว่าก็ได้  นะคะ
ข้อ 2  ไม่ทราบคำตอบค่ะ
ข้อ 3  ไม่เข้าใจค่ะ
รอคุณเพ็ญชมพูแล้วกัน   เผื่อจะได้คำตอบนะคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 ม.ค. 21, 09:46

ทำไมข้อมูลในโซเชี่ยลถึงมักจะบอกว่าการทอผ้าของคนภาคกลางจะพบว่า คนที่ทอส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ต่างถิ่นซะมักกว่า

"ข้อมูลในโซเชี่ยล" ที่คุณดาวอ่าน มีรายละเอียดอย่างไรบ้างหนอ ❓
บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 ม.ค. 21, 21:56

ในส่วนข้อ 1 จากที่ไปเห็นมาหลายเว็บก็จะกล่าวประมาณนี้ค่ะ

-ผ้าทอตามกรรมวิธีพื้นบ้านในบริเวณภาคกลาง ส่วนมากเป็นกลุ่มชนเผ่าไทที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามถิ่นต่างๆ ได้แก่ กลุ่มไทพวน ไทยวน ไทดำ เป็นต้น
-วัฒนธรรมการทอผ้าในบริเวณภาคกลางเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมา
-การทอผ้าของภาคกลางตอนบน (จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ และ สุโขทัย) และภาคกลางตอนล่าง (จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ) มีกลุ่มชนชาวไทยยวนและชาว ไทยลาว อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในช่วงต่างๆ ของประวัติศาสตร์ไทย
-ในบริเวณแถบภาคกลาง ยังมีผ้าทอมือของกลุ่มคนไทยเชื้อสายไทยวนหรือไทโยนก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนบประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวไทยวนหรือคนเมืองในล้านนา
-การอพยพกลุ่มไท-ลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในท้องที่ต่างๆ ในบริเวณภาคกลาง เป็นเหตุให้กลุ่มชนเชื้อสายไท-ลาวกระจายไปอยู่ตามถิ่นต่างๆ เป็นจำนาวนมาก ซึ่งชุมชนเหล่านี้ส่วนมากยังคงทอผ้า

ในส่วนข้อ 3 ขออธิบายเพิ่นะคะ

-ถ้าามาเทียบกับสมัยปัจจุบันจะมีการปรับชุดไทยให้เป็นมาตราฐานกว่าไหมคะ

เช่น ในสมัยอยุธยาอาจไม่ได้มีกำหนดให้สะไบยาวกี่ซ.ม. กว้างกี่ ซ.ม. ในในสมัยปัจจุบันมีการกำหนดที่เคร่งครัดขึ้นไหมคะว่าสะไบต้องยาวกี่ซ.ม. กว้างกี่ ซ.ม.

-และเครื่องแต่งกายชุดในปัจจุบันมีขนาดที่ความกว้าง ความยาวน้อยลงกว่าในสมัยอยุธยาไหมคะ

เช่น สมมุติสะไบในสมัยอยุธยาอาจมีความยาว 6ซ.ม. กว้าง 6 ซ.ม. แต่ในปัจจุบันมีการทำให้ความยาว ความกว้างนน้อยลงไหมคะเพราะสมัยนี้เห็นชุดไทยก็เข้ารูปมากขึ้น สั้นมากขึ้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 ม.ค. 21, 09:07

ข้อมูลจากอินทรเนตรของคุณดาว น่าจะเป็นเรื่องราวการทอผ้าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ชาวไทและลาวชาติพันธุ์ต่าง ๆ ถูกกวาดต้อนหรืออพยพมา และไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ

ในสมัยอยุธยา การทอผ้าเป็นเรื่องของชาวชนบททอผ้าใช้เอง และก็มีบางส่วนส่งมาขายในกรุง คนทอผ้าในเมืองกรุงก็มี แต่ส่วนมากมักเป็นคนที่ถูกกวาดต้อนมาจากการสงคราม เช่นแขกตานีจากปัตตานีเป็นต้น

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

จากจดหมายเหตุต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป และผ้าต่างประเทศ ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ผ้าเป็นสินค้าต้องห้ามอย่างหนึ่ง เมื่อพ่อค้าบรรทุกผ้าเข้ามาขาย ต้องให้รัฐบาลรับซื้อ เข้าพระคลัง แล้วจำหน่ายไปตามตลาด ฉะนั้น ผ้าจากต่างประเทศจึงมีราคาแพง และหายาก แต่ตามหัวเมืองในชนบท ชาวบ้านทอผ้าใช้เอง การแต่งกายจึงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยเหมือนคนในกรุง ความประณีตสวยงามจึงอยู่ที่ฝีมือการทอผ้าให้มีลวดลายแปลก ๆ สีสวย ๆ มากกว่ารูปแบบของเสื้อ

ตลาดขายผ้า มีทั้งผ้าพื้นเมือง และผ้าต่างประเทศ ผ้าพื้นเมืองที่ส่งเข้ามาขายในกรุงศรีอยุธยา ตามที่ปรากฏว่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวว่า สินค้ามาจากเมืองนครราชสีมา คือ "ผ้าตาราง ผ้าลายบัวสี่คืบน่าเกบทอง และผ้าตาบัวปอก ตาเลดงา" สินค้าจากเมืองพระตะบองคือ "ผ้าปูมแพรญวน" และในกรุงศรีอยุธยาเอง ก็มีการทอผ้า เช่น "บ้านริมวัดลอดช่อง พวกแขกตานีทอผ้าไหม ผ้าด้ายเป็นผ้าพื้น ผ้าม่วงเกลี้ยงดอกขาย"
บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ม.ค. 21, 18:38

ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 20 คำสั่ง