คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินโครงการวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ ที่ไม่แสดงอาการ” (K9 Dogs Sniff COVID-19) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
ได้สอบถามหัวหน้าผู้วิจัยได้ความว่ามีความคืบหน้าอยู่ ใช้สุนัขลาบราดอร์ ๖ ตัว ดมกลิ่นเหงื่อได้ถูกต้องกว่า ๙๐% และจะมีการแถลงข่าวในเร็ว ๆ นี้
โครงการวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ แถลงถึงผลการวิจัยดังนี้จุดประสงค์ของโครงการนี้ คือการฝึกสุนัขดมกลิ่นผู้ป่วยโควิด-๑๙ แบบไม่แสดงอาการ ที่แตกต่างจากการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย เพราะเมื่อผู้ป่วยโควิด-๑๙ ไม่มีไข้ ก็จะสามารถเดินผ่านไปได้ แต่สำหรับสุนัขจะสำรวจดมกลิ่นเหงื่อได้ดี เพราะผู้ป่วยโควิด-๑๙ในเหงื่อจะมีสารที่แตกต่างจากคนปกติ จึงลดโอกาสการเล็ดรอดของผู้ป่วยโควิด-๑๙ ที่ไม่มีไข้ จากการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๖๓ และมีการเก็บตัวอย่างเหงื่อในเดือนพฤศจิกายน แบ่งเป็น การดมเหงื่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิดแล้ว ๓๐ คน และเหงื่อของคนปกติไม่ติดเชื้อ ๒๔ คน แต่ระยะแรกจะให้สุนัขจำกลิ่นเหงื่อใต้รักแร้ที่ดูดซับโดยแท่งสำลี และกลิ่นเหงื่อจากถุงเท้าของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ และคนปกติที่ได้รับการยืนยันผลตรวจโดย RT-PCR แล้ว ซึ่งจะมีทีมแพทย์และสัตวแพทย์ดูแลด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ถึงแม้ว่าในเหงื่อจะไม่มีเชื้อไวรัส ทางคณะผู้วิจัยก็ได้ทำการฆ่าเชื้อที่อาจปนเปื้อนมาในเหงื่อด้วยวิธีตามเกณฑ์มาตรฐานสากล
“จากผลทดสอบจากสุนัข ๖ ตัว ในการค้นหาตัวอย่างผลบวก โดยความไว (ค่าวัดผลที่ดมผลบวกถูกต้อง) ๙๖-๙๘% ความจำเพาะ (ค่าวัดผลที่ดมผลลบถูกต้อง) ๘๒.๒% ความแม่นยำ ๙๔.๘% หมายความว่าโอกาสผิดพลาดมีเพียง ๕.๒% เมื่อเทียบกับความไวของชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐานโดยคณะกรรมการอาหารและยา คือ ความไวของแอนติบอดี้ ๘๕% และแอนติเจน ๙๐% ในส่วนของความจำเพาะของทั้งสองชนิดอยู่ที่ประมาณ ๙๘% และเมื่อเทียบกับสุนัขที่ประเทศเยอรมันนี ความไวอยู่ที่ ๘๒.๖% ความจำเพาะ ๙๖.๔% และมีความแม่นยำใกล้เคียงของไทยอยู่ที่ ๙๔%”
การนำสุนัขมาฝึกในการดมกลิ่นก็ได้ผ่านคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ในการรับรองว่าสุนัขจะไม่ติดเชื้อโควิด-๑๙ และไม่มีผลทางด้านลบต่อสวัสดิภาพของสุนัข โดยจะได้รับการฝึกเพื่องานในโครงการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง แต่หากจะขยายในพื้นที่ใหญ่ขึ้นอาจจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
จาก
ไทยโพสต์