ทำความรู้จักวัคซีนโควิด-๑๙ ชนิดต่าง ๆ ในเชิงวิชาการกันสักนิด
๑. วัคซีน mRNA (วัคซีนของ Pfizer-Biontech และ Moderna) mRNA ถูกห่อหุ้มด้วย lipid nanoparticle เมื่อฉีดเข้าไปที่กล้ามเนื้อ particle จะเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อ mRNA จะถูกถอดออก ใน cytoplasm หรือของเหลวในเซลล์ mRNA จะเข้าสู่ ribosome เพื่อสร้างโปรตีนตามรูปแบบที่กำหนด และส่งผ่านออกทาง golgi ออกสู่นอกเซลล์ โปรตีนที่สร้างออกมาจะเป็นแอนติเจนไปกระตุ้นร่างกายสร้างแอนติบอดี ที่เป็นภูมิต้านทานต่อโรคโควิด-๑๙
ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ทำได้ง่าย และเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เพราะทำในโรงงาน กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง ข้อเสียคือ RNA สลายตัวได้ง่าย ต้องเก็บที่อุณหภูมิต่ำมาก ๆ และวัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดแรกที่ใช้ในมนุษย์ อาการข้างเคียงหลังฉีดพบได้บ่อยกว่าวัคซีนที่ทำโดยชนิดเก่า เช่นมีไข้ ปวดเมื่อย และผลระยะยาวคงต้องรอการศึกษาต่อไปเป็นปีหรือหลายปี
๒. วัคซีน viral vector (วัคซีนของ AstraZineca และ Spuknic V) ใช้วิธีการเอาสารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-๑๙ ใส่เข้าไปในไวรัสที่จะเป็นเวกเตอร์ หรือ ตัวฝาก (ที่ใช้อยู่เป็น adenovirus, vesicula stomatitis virus ซึ่งไม่ก่อโรคในมนุษย์) เพื่อส่งสารพันธุกรรมนั้นเข้าไปในเซลล์มนุษย์ เมื่อเข้าไปแล้วไวรัสจะถอดรูปพันธุกรรมที่ส่งเข้าไป โดยเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ เพื่อลอกแบบ และเปลี่ยนให้เป็น mRNA ออกมาในไซโตพลาสซึม แล้วส่วนของ mRNA จะไปที่ ไรโบโซม เพื่อสร้างโปรตีนตามรูปแบบที่กำหนดไว้ (คือ spike protein) ส่งผ่านออกมาทาง golgi ออกนอกเซลล์ โปรตีนที่ส่งออกมาจะทำหน้าที่เป็นแอนติเจน กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อโควิค-๑๙
ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้คือ ผลิตได้จำนวนมากได้ง่าย เพราะทำจากโรงงาน เป็น DNA จะมีความคงทนกว่า จึงสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ ๒-๘ องศาเซลเซียส ราคาจะถูก เพราะทำได้จำนวนมาก วัคซีนนี้เป็นชนิดใหม่เช่นเดียวกัน ผลระยะยาวจึงยังไม่ทราบ และ จะต้องคำนึงอีกประการหนึ่งคือขั้นตอนที่ผ่านนิวเคลียสของเซลล์ เราไม่ทราบว่าจะมีการรวมตัว integrate กับ DNA ของมนุษย์หรือไม่ ผลระยะยาวก็คงต้องติดตามต่อไป
๓. วัคซีนเชื้อตาย (วัคซีนของจีน Sinovac, Sinopharm) ใช้หลักการเช่นเดียวกับวัคซีนที่ทำมาแต่ในอดีตเช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอ วัคซีนพิษสุนัขบ้าและอื่น ๆ อีกหลายชนิด โดยเพาะเลี้ยงไวรัสบน Vero cell (เซลล์ชนิดนี้ใช้ทำวัคซีนหลายชนิดเช่นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า) เมื่อได้ไวรัสจำนวนมาก ก็จะเอามาทำลายฤทธิ์หรือฆ่าเชื้อให้ตายแล้วนำมา formulation ใส่สารกระตุ้นภูมิต้านทาน
ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้คือ ในเรื่องความปลอดภัย เป็นเชื้อตายสามารถให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ข้อเสียคือการผลิตจำนวนมากจะทำได้ยาก เพราะไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสก่อโรค จะต้องเพาะเลี้ยง ในห้องชีวนิรภัยระดับสูง ต้นทุนในการผลิตจะมีต้นทุนสูง และเนื่องจากเป็นเชื้อตาย (inactivated virus) เชื้อไม่ไปเพิ่มจำนวน การกระตุ้นภูมิต้านทานจะได้ระดับต่ำกว่าวัคซีนที่กล่าวมาจากข้างต้น
เก็บความจาก
เฟซบุ๊กของศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย