เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 8043 ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 02 ธ.ค. 20, 18:39

สรุปในเบื้องแรกว่า พื้นที่ทำนาข้าวจะต้องมีความลาดเอียงมากน้อยพอที่จะทำให้สามารถจัดการระบบน้ำได้ เป็นดินประเภทที่ระบายน้ำได้ดีแต่มิใช่เป็นดินทรายร่วน  และจะต้องเป็นดินที่มีสารอินทรีย์ (organic matters) ผสมอยู่ด้วย    แล้วพื้นที่ในลักษณะนี้สามารถพบได้ที่ใดบ้าง ?

ก็ต้องย้อนกลับไปใช้ภาพตัดขวางของแม่น้ำเพื่อขยายความเฉพาะในพื้นที่นาในพื้นที่ราบลุ่ม   แล้วจึงจะเข้าไปเรื่องนาในพื้นที่ราบในหุบเขา/หุบห้วยต่างๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 02 ธ.ค. 20, 19:31

พลาดท่าครับ ระบบบอกว่าหมดเวลาส่งข้อความ   

ต่อวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 03 ธ.ค. 20, 18:43

ขอยกลักษณะของพื้นที่ในกรุงเทพฯเพื่อแสดงถึงลักษณะของพื้นที่ๆเหมาะแก่การทำนา และขอเลือกเอาพื้นที่บริเวณแถวสะพานกรุงธนไปทางด้านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาเป็นตัวอย่าง   

ถนนสามเสนนั้นต้้งอยู่บนแนวสันคันคลองตามธรรมชาติ (natural levee)  เมื่อน้ำเจ้าพระยาล้นฝั่ง เอ่อท่วมออกไปทั้งทางด้านข้าง พวกตะกอนที่มีน้ำหนักหรือที่มีขนาดใหญ่กว่าตะกอนปกติ เช่นพวกทรายหยาบก็จะตกตะกอนก่อนเพื่อน ตกทับถมกันมาทุกปีจนกลายเป็นสันคันคลองที่ค่อยๆมีระดับสูงมากขึ้น  ผู้คนจะใช้พื้นที่เช่นนี้ในการปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัย  ซึ่งหากเปิดแผนที่ดาวเทียมของอากู๋ดู ก็จะเห็นบ้านเรือนของชาวบ้านตั้งอยู่เป็นทิวช้ายขวาตามเส้นทางการไหลของแม่น้ำสายต่างๆ  จะไม่เห็นว่ามีการทำนาบนพื้นที่นี้ และก็เกือบจะไม่เห็นมีการใช้พื้นที่นี้ในการทำไร่ทำสวนใดๆ    จากถนนสามเสนออกไป พื้นที่จะราบแต่มีความลาดเอียง ตะกอนดินทรายจะมีความร่วน ระบายน้ำดี เหมาะสำหรับการปลูกพืชผัก ทำสวนผลไม้ และการปลูกไม้ยืนต้น ก็เช่นพื้นที่สวนของนนทบุรีต่างๆ หรือพื้นที่ย่านถนนสวนผักของฝั่งธนบุรี  เมื่อความแรงของน้ำที่ไหลบนพื้นผิวดินลดลงอีก ตะกอนที่มีความละเอียดมากขึ้นและมีส่วนผสมของ clay sized particles มากขึ้นก็จะตกตะกอน ทำให้เกิดเป็นดินที่เหมาะแก่การทำนาข้าว  ชื่อที่ยังคงหลงเหลือเป็นเครื่องบ่งชี้ก็คือ ทุ่งพญาไท   ในที่สุดก็ถึงที่ราบต่ำจนกลายเป็นพื้นที่น้ำขัง เป็นบึง เป็นหนองน้ำ  ดินจะเป็นพวกดินเหนียวที่ไม่เหมาะกับการทำนาหรือการปลูกพืชใดๆต่อไป  แต่ก็ยังอาจจะเหมาะสำหรับการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่นปลูกผักกระเฉด ปลูกผักบุ้ง ฯลฯ ก็เช่นพื้นที่ บึงมักกะสัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 03 ธ.ค. 20, 20:27

พื้นที่น้ำขังนี้ มีการใช้คำเรียกอยู่หลายคำ เช่น หนอง บึง หล่ม ปลัก มาบ ตลุก บวก กว๊าน  ในภาษาอังกฤษก็มีอยู่หลายคำเช่นกัน เช่น marsh, swamp, bog, wet land,    คำทั้งหลายเหล่านี้ดูคล้ายๆกับจะมีความหมายเหมือนๆกันในของแต่ละกลุ่มภาษา (ไทยหรืออังกฤษ)  แต่โดยที่มาที่ทำให้เกิดเป็นสภาพเช่นนั้น ดูจะต่างกันอยู่  ชาวบ้านและคนรุ่นแต่เก่าก่อนนั้นดูจะมีความสามารถมากๆในการจำแนกและใช้คำนำหน้าให้มีความหมายที่แตกต่างกันออกไป 

พื้นที่ๆเรียกว่าทุ่งก็เช่นกัน  ตามความหมายตามปกติ ทุ่ง หมายถึงที่ราบโล่ง แต่แท้จริงแล้ว ตามประสบการณ์ที่พบมา คำว่าทุ่งมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นที่ราบ เป็นพื้นที่ลาดเอียงตามเชิงเขาก็ได้ เพียงแต่เป็นที่ค่อนข้างโปร่ง มีต้นไม้ขึ้นไม่หนาแน่น ไม่มีต้นไม้โค่นหรือมีกิ่งไม้แห้งตกอยู่ระเกะระกะอยู่บนพื้นมากนัก เกือบจะไม่มีพวกต้นไม้ที่มีเรือนยอดสูงระดับกลาง มีพืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าหรือพวกไผ่เพ็ก(หญ้าเพ็ก)  เช่น ทุ่งก่อ ทุ่งมะขามป้อม ทุ่งมะกอก ทุ่งมะเดื่อ ....   

สำหรับทุ่งที่เป็นที่เป็นพื้นที่ราบ หรือค่อนข้างราบ หรือเป็นพื้นที่ราบลอนคลื่น (undulating terrain) นั้น  โดยพื้นเดิมจริงๆที่ชาวบ้านเขาจะบอกบริเวณพื้นที่กัน จะมีคำนำหน้าอยู่ 3 คำ คือ คำว่า ห้ว(ทุ่ง)  กลาง(ทุ่ง)  และ ท้าย(ทุ่ง)   

โดยนัยแล้ว คำว่าทุ่งของชาวบ้านจะหมายถึงพื้นที่ทำนา   สำหรับคำว่าหัวทุ่งและท้ายทุ่งนั้น บอกเล่าเรื่องราวได้อีกหลายเรื่องเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 04 ธ.ค. 20, 08:53

พื้นที่ในโคโลราโด มีทุ่ง (prairie) อยู่มาก   ไม่เคยเห็นในประเทศไทย  ไม่ทราบมีอยู่หรือเปล่าคะ


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 04 ธ.ค. 20, 18:25

ที่ราบที่เป็นทุ่งหญ้าผืนใหญ่นั้นมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ เรียกว่า prairie ในอเมริกาเหนือ   เรียกว่า savanna ในอัฟริกา    เรียกว่า steppe ในเอเซียกลาง   เรียกว่า rangeland ในออสเตรเลีย   ในอเมริกาใต้ก็มี แต่นึกชื่อไม่ออกครับ    คำจำจำกัดความทางวิชาการของมันก็คือพื้นที่ราบผืนใหญ่ที่เป็นทุ่งหญ้า ที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ (อาจจะมีก็ได้แต่ในปริมาณน้อยมากๆ) ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโลกในแถบละติจูดที่เป็น temperate zone  คือ มีสภาพภูมิอากาศกลางๆในฤดูกาลต่างๆ ไม่ร้อนจัด ไม่เย็นจัด มีฝนตกกระจายทั่วถึงแต่ในปริมาณไม่มาก ผืนดินมีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ดี 

ในบ้านเราก็มีพื้นที่ๆมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าผืนใหญ่เช่นกัน แต่ไม่ตกอยู่ในคำจำกัดความทางวิชาการดังที่กล่าวมา  ก็คือ ทุ่งเจ้าพระยาที่เรียกว่า Chao Phraya Flood Plain  หากมีโอกาสเดินทางโดยทางรถยนต์ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนบนเส้นทาง อ.อินทร์บุรี จ.สิงหบุรี - อ.วังทอง จ.พิษณุโลก หรือเส้นทาง จ.นครสวรรค์ - จ.พิษณุโลก  ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวในนากำลังเริ่มแก่ ก็จะได้เห็นสภาพของทุ่งนาที่สวยงามไม่แพ้ทุ่งหญ้า prairie เช่นกัน   แต่หากเดินทางในช่วงประมาณเดือนเมษายน ก็จะได้เห็นในอีกภาพหนึ่ง คือความแห้งแล้ง แดดเปรี้ยง และอากาศที่ร้อนจัด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 04 ธ.ค. 20, 19:19

คู่กับคำว่าหัวทุ่งและท้ายทุ่งที่เป็นวลีที่นิยมพูดกัน  ก็มีอีกหลายคำ อาทิ หัวไร่ ปลายนา สวน ไร่  นา  หัวนา ท้ายนา ... 

คำเหล่านี้ที่ชาวบ้านเขาใช้เรียกพื้นที่หรือสถานที่ในท้องทุ่งต่างๆนั้น  สำหรับผมแล้ว มันสื่อความหมายในทางกายภาพในเรื่องของระดับความสูงของผืนดินที่ต่างกัน รวมทั้งบอกถึงเรื่องราวบางอย่างในทางสังคมของผู้คนและพัฒนาการต่างๆทางสังคมของชุมชนในพื้นที่นั้นๆ (เมื่อเอาข้อมูลในด้านอื่นๆมาประมวลเข้าด้วยกัน) 

คำว่าหัวทุ่ง หัวไร่ หัวนา สวน ไร่ เหล่านี้ล้วนแต่แสดงว่าเป็นบริเวณพื้นที่ๆมีระดับสูงกว่าท้องทุ่ง  ซึ่งโดยนัยก็คือพื้นที่ต้นทางน้ำที่จะไหลเข้าทุ่ง  คำที่เหลืออื่นๆก็จะหมายถึงพื้นที่ๆอยู่ในระดับต่ำกว่า ซึ่งโดยนัยจะหมายถึงพื้นที่ต่ำบริเวณที่น้ำจะไหลออกพ้นพื้นที่ทุ่ง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 05 ธ.ค. 20, 18:53

ท่านที่เคยเดินทางบนเส้นทางถนนที่ผ่านทุ่งนาแต่ก่อนโน้น น่าจะพอจำได้ว่า เราจะเห็นจุดที่เป็นโคก(เนินดิน)ขนาดเล็กๆที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ต้นสองต้นและมีห้างนา(กระต๊อบ เถียงนา) เห็นเด่นอยู่ในทุ่งนา โคกเหล่านี้จะมีระดับความสูงมากกว่าระดับพื้นนาแตกต่างกันไป  ซึ่งหากสังเกตค่อนข้างละเอียดลงไปก็จะเห็นว่า ในบริเวณที่เรียกว่าหัวทุ่ง หัวนา โคกเหล่านั้นจะไม่มีระดับสูงกว่าพื้นนามากเท่ากับปริเวณที่เรียกว่ากลางทุ่ง และเกือบจะไม่เห็นว่ามีในบริเวณพื้นที่ๆเรียกว่าท้ายทุ่ง ท้ายนา    ภาพเช่นนี้ยังพอจะมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ที่หายไปจนเกือบจะไม่หลงเหลือให้เห็นอยู่เลยในปัจจุบันนี้ ดูจะเริ่มมาตั้งแต่ยุคที่ความเหล็กเริ่มเป็นที่นิยมใช้ในการไถนา ยิ่งเมื่อเริ่มมีระบบการชลประทานที่ดีมากขึ้น มีการใช้รถแทรกเตอร์แทนการใช้ความเหล็กมากขึ้น นาแต่ละบิ้งที่เคยมีขนาดเล็กก็ขยายเป็นบิ้งขนาดใหญ่มากขึ้น พร้อมๆกับบรรดาโคกเนินดินทั้งหลายก็หายไปด้วย       

แต่ก่อนที่เคยใช้ตอไม้ที่เห็นอยู่ในนา ใช้ขนาดแและรูปทรงของบิ้งนาที่ต่อกันเป็น jigsaw ของผืนนาในพื้นที่ทำนาต่างๆ รวมทั้งลักษณะและชนิดของการปลูกพืชและไม้ผล นำเอาไปผนวกกับองค์ประกอบอื่นๆ แล้วใช้ประเมินความเก่าแก่ของการเข้ามาตั้งรกรากของชุมชน ในปัจจุบันเกือบจะใช้ไม่ได้เลย   ก็เพราะด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีนั่นเอง  ก็อาจจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับท่านสมาชิกว่า ด้วยเหตุใดผมจึงให้ความสนใจ    ก็เพราะว่าในการทำงานสำรวจทำแผนที่ทางธรณีวิยาของผมนั้น พื้นที่ๆทำงานเป็นพื้นที่ๆมีเรื่องราวทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ที่มีจารึกอยู่ทั้งในเชิงของหลักฐานเชิงประจักษ์ หลักฐานทางเอกสาร และความเห็นทางวิชาการ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 05 ธ.ค. 20, 20:32

ที่บรรยายมา ก็หมายความว่า มันต้องมีการปรับระดับท้องนาแต่ละบิ้งตั้งแต่แรกเริ่มการทำให้เป็นพื้นที่ทำนา แล้วก็มีพัฒนาการทั้งในเชิงของการขยายพื้นที่ในทางราบ พร้อมไปกับการปรับระดับให้เหมาะสมไปทั่วทั้งทุ่ง (และในพื้นที่ๆตนเป็นเจ้าของ)   

นั่นหมายถึง การที่ผู้คนในชุมชนจะต้องมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการสร้างระบบการไหลของน้ำให้ครอบคลุมและมีความเสมอภาคสำหรับทุกบิ้งนา(หรือทุกเจ้าของผืนนา)  ซึ่งค่อนข้างจะบ่งบอกว่า ต้องเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันแบบเอาไหนเอากัน (เลือดสุพรรณด้วยกัน  ยิงฟันยิ้ม) โดยนัยก็คือน่าจะเป็นพวก เป็นกลุ่ม เป็นเครือญาตกัน ดองกัน...    แล้วก็ยังบ่งบอกว่าเป็นสังคมที่อยู่ในกรอบความคิดในเชิง quality มากกว่าในเชิง quantity

ก็คงจะคาดกันได้ว่า จะนำพาไปสู่เรื่องของการลงแขก (ยังนึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ออกสำหรับคำว่าลงแขก) แต่มิใช่ในความหมายในทางด้านที่ไม่ค่อยจะดีตามที่มีสื่อไว้ในพจนานุกรม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 06 ธ.ค. 20, 10:48

้เปิดพจนานุกรมแล้ว ไม่มีคำแปลตรงๆของ "ลงแขก" แต่มีคำอธิบายว่า gathering to help at harvest time   
ฝรั่งคงไม่มีการ "ลงแขก" แบบไทย   แต่เคยอ่านพบว่าในสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมของอเมริกา  มีการแลกเปลี่ยนแรงงานกันค่ะ   
เรียกว่า  (to) trade work  หรือถ้าเป็นคำนามก็ work trading
เช่น Mr.A  กับ Mr.B  ตกลงกันว่าจะเกี่ยวข้าวในนาของแต่ละคน    ถึงเวลา A ก็ไปช่วย B  ในนาของ B  จนเสร็จ   แล้ว B ก็มาช่วยเกี่ยวข้าวในนาของ A 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 06 ธ.ค. 20, 18:57

ขอบพระคุณครับ

ผมไปนึกถึงคำว่า reciprocal หรือ reciprocity    คำว่าลงแขกจึงอาจจะใช้วลีว่า reciprocity social systems ก็น่าจะพอได้อยู่ ??
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 06 ธ.ค. 20, 20:24

การพัฒนาพื้นที่เพื่อใช้ในการปลูกข้าวนั้น ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากด้านท้ายทุ่งหรือจากด้านหัวทุ่งก็ตาม ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการทำระบบการผันน้ำเข้าพื้นที่ทำนา ชาวบ้านจะต้องทำฝายกั้นน้ำ(ฝายน้ำล้น)ที่ห้วยหรือที่ร่องน้ำไหล เพื่อยกระดับน้ำให้สูง ให้ไหลเข้าไปในร่องส่งน้ำที่ทำด้วยการเซาะดินให้เป็นร่องด้วยความลาดเอียงที่เหมาะสม เพื่อนำน้ำส่งเข้าสู่พื้นที่ปลูกข้าว  ร่องน้ำนี้มีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละภาค เช่น เหมือง ลำราง ร่องน้ำ คู เป็นต้น 

เราอาจจะเห็นเป็นเรื่องง่ายๆ   แต่หากจะลองพิจารณาดูว่า
    คูน้ำนี้ถูกเซาะร่องไปตามเชิงเนินที่มีความลาดเอียงในขณะที่จะต้องรักษาระดับความลาดเอียงของพื้นร่องน้ำให้มีความคงที่ตลอดเส้นทางที่ยาวตั้งแต่ไม่กี่ร้อยเมตรจนถึงเป็นกิโลเมตร โดยไม่มี inclinometer หรือกล้องส่องระดับ มีแต่เพียงจอบและเสียมเท่านั้น  แล้วเขาทำกันโดยไม่มีเครื่องมืออะไรเลยได้อย่างไร ??
    คูน้ำเหล่านี้มีน้ำที่ใสสะอาดไหลรินอยู่ตลอดเวลา เกือบจะไม่ต้องมีการล้างร่องน้ำเพื่อลอกเอาตะกอนที่ตกสะสมอยู่ออกไป   ดูชาวบ้านเขาจะมีความรู้ในเรื่องความสามารถตามธรรมชาติของการกัดเซาะของน้ำไหลและการนำพาตะกอนดินทรายในน้ำค่อนข้างจะดีมากเลยทีเดียว
    แล้วก็ การทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งของที่เป็นสาธารณะเช่นนี้ มันเป็นการร่วมลงมือทำด้วยกัน ทำไปพร้อมๆกัน แล้วก็ยังต้องเป็นความร่วมมือกันแบบที่มีความรู้และความสามารถค่อนข้างจะทัดเทียมกันด้วย

น่าสนใจนะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 07 ธ.ค. 20, 18:50

เล่ามาเป็นแต่ละภาพ  ก็ถึงเวลาเอามาต่อกันเป็นเรื่องราว

พื้นที่ทำนาปลูกข้าวในหมู่บ้านห่างไกลและแม้กระทั่งของชุมชนชาวกะเหรี่ยง เท่าที่เคยเห็นมาเมื่อครั้งยังทำงานจนกระทั่งเริ่มทำในพื้นที่ของตนเองนั้น   เริ่มต้นมาจากการสังเกตพื้นดินตั้งแต่ช่วงที่มีฝนตกครั้งแรกของรอบปี (ประมาณปลายเดือนเมษาฯ ต้นเดือนพฤษภาฯ) ดูว่าหลังจากฝนตกผ่านไปแล้ววันสองวัน ดินยังดูฉ่ำชื้นอยู่หรือไม่  หากใช้จอบขุดหน้าดินดูแล้วยังเห็นความชื้นของดินลึกลงไปมากกว่าหนึ่งจอบ และดินมีสีค่อนข้างดำ  ก็หมายความว่า ดินนั้นเป็นดินที่อุ้มน้ำได้ดี เป็นดินที่น้ำซึมผ่านน้ำได้ดี และมีปุ๋ยธรรมชาติ (สารอินทรีย์ _humus) ใช้ทำนาได้ดี   

ดูการไหลของน้ำบนผิวดินเมื่อฝนตก (surface runoff) ว่าพื้นที่ผืนนั้นเอียงเทไปทางใหน เพื่อพิจารณาส่วนที่จะเป็นพื้นที่หัวนา พิจารณาว่าควรจะเซาะร่องเอาน้ำเข้านาทางมุมใหน ด้านใหน รวมทั้งร่องน้ำส่วนเกินที่จะต้องปล่อยให้ไหลผ่านว่า ควรจะอยู่ที่ใด ผ่ากลางนา ? อยู่ทางด้านซ้ายหรือทางด้านขวาของพื้นที่ทำนา และจุดที่น้ำจะออกพ้นพื้นที่ผืนนา

พิจารณารวมกันแล้วจึงนำมาสู่การตัดสินใจว่า mosaic ของบิ้งนาควรจะเป็นทรงใหน (แบบกล่องไม้ขีดไปต่อกันทางด้านข้างสั้น หรือต่อกันทางด้านข้างยาว) แต่ละบิ้งควรจะมีขนาดใหญ่เล็กเพียงใด หรือจะผสมผสานกันอย่างไร 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 07 ธ.ค. 20, 19:12

ตัวผมเองใช้เวลาพิจารณาตัดสินใจอยู่หลายปี เพราะว่าเป็นพื้นที่ๆต้องทำนาแบบนาน้ำฟ้า  ขึ้นอยู่กับความชุกของฝนและปริมาณน้ำของฝนที่ตกลงมา  คือ อาศัยฝนที่จะยังให้เกิดความชุ่มชื้นของดินและการยกระดับน้ำผิวดิน(water table) ซึ่งจะมีระดับขึ้นลงตามความฉ่ำที่ได้จากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา   หลังจากสังเกตมาหลายปีเห็นว่าพอไหวก็เลยเริ่มเปิดกระบวนการทำนา

สนุกดีครับ ได้เอาความรู้จากสิ่งที่ได้เห็น ที่ได้รู้จากการพูดคุยกับชาวบ้าน และจากวิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมา  เอามาผสมผสานทำเอง(แต่มิได้ลงทำด้วยมือของตนเอง แก่เกินไปครับ ยิงฟันยิ้ม)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 08 ธ.ค. 20, 18:26

แล้วก็ลงมือดำเนินการปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ทำนา ซึ่งในพื้นที่ของผมใช้ควายเหล็ก  ก็จะเริ่มเมื่อฝนตกลงมาจนดินในบริเวณนั้นไม่แห้งแข็งแล้ว   เริ่มต้นด้วยการไถปัดออก เพื่อยกให้เป็นคันนารอบๆแปลงนาด้วยการหมุนวนการไถไปตามการหมุนของเข็มนาฬิกา  จากนั้นจึงทำการไถดะ ซึ่งเป็นการเดินไถวนไปทางซ้าย   การไถครั้งแรกเพื่อทำให้เกิดเป็นที่ทำนานี้จะเรียกว่าไถพรวนก็น่าจะพอได้อยู่ การดำเนินการทั้งหมดนี้ก็คือการพลิกดินเพื่อเอาดินส่วนล่างใต้ผิวดินออกมาตากพร้อมไปกับการขุดถอนและทำลายวัชพืช

ขอขยายความเรื่องของคำว่าปัดออก ปัดเข้า การไถวนซ้าย การไถวนขวา แล้วก็เรื่องของการพลิกดิน  ซึ่งที่จริงแล้วก็น่าจะค้นหาได้ในเน็ตได้ไม่ยากนัก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง