เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 8236 ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 25 ธ.ค. 20, 19:16

ก็มาถึงการเก็บเกี่ยวข้าว 

กรณีใช้แรงคน ก็จะเป็นการเดินหน้ากระดานเกี่ยวไปเรื่อยๆ  แต่ละคนจะเกี่ยวกอข้าวโดยการเอี้ยวตัวไปทางซ้ายเท่าที่มือจะกำกอข้าวและใช้เคียวเกี่ยวได้ หมุนจากซ้ายไปขวาทีละกอจนสุดการเอื้อมที่จะกำกอข้าวและใช้เคียวเกี่ยวได้ ซึ่งก็จะได้ประมาณ 3-4 กอต่อคนและต่อการเดินก้าวไปข้างหน้าครั้งหนึ่ง  เป็นเรื่องเพียงการจัดคนให้ยืนห่างกันพอดีๆเพื่อให้สามารถเกี่ยวข้าวได้ในลักษณะต่อเนื่องกันเป็นแถวหน้ากระดาน  การเกี่ยวก็จะตัดกอข้าวที่ระดับประมาณหัวเข่า แต่หากเป็นข้าวพันธุ์ต้นเตี้ยก็ต้องก้มมากหน่อย     

เมื่อครั้งยังเดินทำงานสำรวจอยู่นั้น ก็ใช้ข้อสังเกตในเรื่องของความสูง-ต่ำของตอข้าว(ตอซังข้าว)และขนาดของกอข้าวเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของพื้นที่และความอยู่ดีกินดีของชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ   การสังเกตเช่นนี้อาจจะไม่มีความสำคัญใดๆในความเห็นของหลายๆคน แต่สำหรับผม มันเป็นเรื่องที่บ่งชี้อะไรๆในบางเรื่องทางธรณีฯของพื้นที่ในย่านนั้น   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 25 ธ.ค. 20, 20:02

การเกี่ยวข้าวนั้น ดูไม่น่าจะมีอะไรที่น่าสนใจ  แท้จริงแล้วมันต้องมีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย และความนุ่มนวลอยู่ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 26 ธ.ค. 20, 18:18

ที่ว่าเช่นนั้น ก็จะขอเปรียบเทียบกับมัดต้นหอมผักชีที่ผู้ชายเขามัดเป็นกำเล็กๆวางขายกำละ 5 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง เราจะเห็นการมัดที่รากของต้นหอมและต้นผักชีอยู่เสมอกัน แล้วเอามาวางเรียงทับกันเป็นกลุ่ม ไม่ปะปนกับมัดผักอื่นๆที่ก็มัดและวางแยกเป็นกองเป็นกลุ่มเช่นกัน  หากสังเกตละเอียดลงไปอีกเล็กน้อยก็จะเห็นว่า ขนาดของต้นหอมและผักชีจะมีขนาดของต้นใกล้ๆกันในแต่ละมัด   

ในการเกี่ยวข้าวก็เช่นกัน ชาวนาก็จะพยามตัดต้นข้าวสูงจากพื้นดินท้องนาที่ระดับที่เท่าๆกัน และรวบต้นข้าวปริมาณเท่าที่จะกำได้  ตัดขาดออกมาจากกอข้าวแล้วก็ใช้เคียวประคองส่วนปลาย(ยอด)ต้นข้าวเพื่อให้ยังคงเป็นทรงกำที่ปลายไม่กระจายรุ่งริ่ง แล้วจึงค่อยวางลงบนตอข้าวที่เกี่ยวไปแล้วทางด้านซ้ายของตนเอง เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่า เมื่อเวลาจะเก็บข้าวที่ได้เกี่ยวแล้วขนออกจากผืนนาก็จะทำได้ง่าย ด้วยเพราะมันเป็นระเบียบเรียบร้อยดี เอามามัดรวมกันเป็นฟ่อนๆ แล้วใช้คานสอดหามออกไป ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อลดปริมาณรวงข้าวหักร่วงซึ่งจะยังให้มีข้าวเปลือกตกหล่นอยู่ตามพื้นในปริมาณมากโดยไม่จำเป็น 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 26 ธ.ค. 20, 18:32

การเกี่ยวข้าวนี้ก็มีเหตุให้ต้องรีบทำให้เสร็จเมื่อข้าวสุกเต็มที่แล้ว  เรื่องของเรื่องก็คือ หากเกิดมีลมกรรโชกมาทำให้ต้นข้าวล้มแบบไม่มีทิศทาง การเกี่ยวข้าวก็จะยากและเสียเวลามากขึ้น ลักษณะการเดินแบบดาหน้าก็จะต้องเว้นแหว่งไป ต้องเสียเวลามากขึ้นกับการจัดการเกี่ยวต้นข้าวหรือกอข้าวที่ล้มอย่างไม่มีระเบียบเหล่านั้น   

เรื่องต้นข้าวล้มนี้ พวกรถเกี่ยวข้าวก็ไม่ชอบเช่นกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 27 ธ.ค. 20, 18:27

ก็มาถึงเรื่องของการใช้รถเกี่ยวข้าว   

ระบบของการใช้รถเกี่ยวข้าวนั้นจะมีมากน้อยเช่นใดก็ไม่ทราบ เท่าที่พอจะทราบนั้นมันเป็นระบบที่มีการดำเนินการต่อเนื่องกัน คือ เกี่ยว-ขน-ขาย  ซึ่งดำเนินการโดยผู้รับงานที่อาจจะเป็นเจ้าของเครื่องจักรกล รถบรรทุก และการขายข้าวเปลือก หรืออาจจะเป็นเพียงผู้รับดำเนินการประสานวันและเวลาเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องจักรเกี่ยวข้าว รถขนข้าวเปลือก และการซื้อขายข้าวเปลือก   ระบบก็ดูโปร่งใส ตรงๆ ง่ายๆดี คือรถเกี่ยวข้าวก็จะเกี่ยวข้าวทั้งนาไม่ให้เหลือตกค้างแม้แต่กอเดียว (เห็นแล้วทึ่งมาก) ทำการนวดข้าวหรือตีข้าวเสร็จอยู่ในตัว ได้ผลผลิตออกมาเป็นข้าวเปลือกเก็บอยู่ในกระบะข้างรถเกี่ยวข้าว แล้วประเมินไปเป็นน้ำหนักจากปริมาณข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้ ซึ่งจะซื้อขายกัน ณ จุดนี้ตามราคาตลาด (ราคาต่อกิโลกรัม) แล้วก็ขนเอาข้าวเปลือกขึ้นรถไป(ที่ใดก็ไม่รู้)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 27 ธ.ค. 20, 19:10

ในเรื่องที่ดูเรียบง่ายนี้ มันก็มีประเด็นที่น่าสนใจแฝงเร้นอยู่

ในระบบการใช้เครื่องเก็บเกี่ยวข้าวนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร ซึ่งหมายความว่าจะต้องการเสียเวลาและมีค่าใช้จ่าย แล้วก็มิใช่เรื่องง่ายนักที่จะโยกย้ายเครื่องจักรไปมาในระยะทางที่ห่างกันมาก เช่น ระหว่างตำบลหรือระหว่างอำเภอ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกันก็ตาม    ดังนั้น ผู้รับจ้างเกี่ยวข้าวก็จึงต้องพิจารณาปริมาณเนื้อที่ๆจะเข้ามาทำงานในแต่ละครั้งให้คุ้มกับค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเป็นพื้นที่นาผืนใหญ่ก็ไม่เป็นประเด็น แต่หากเป็นนาผืนเล็กกระจัดกระจายในพื้นที่นั้นๆ ก็ต้องรอรวบรวมหรือมีข้อเสนอเพื่อให้เกิดพื้นที่ขนาดใหญ่พอที่จะมีความคุ้มค่าในการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลเข้าไปทำงาน  ซึ่งในอีกแง่มุมหนึ่งก็จะเป็นการสวนทางกับความต้องการของเจ้าของนาผืนเล็กที่อาจจะรอเวลาต่อไปไม่ได้นานนัก(ด้วยสาเหตุที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว) พวกนาผืนเล็กจึงอาจจะต้องเลือกใช้วิธีการจ้างแรงงานหรือผสมผสานกับระบบการเอาแรงที่สร้างผูกพันกันไว้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 28 ธ.ค. 20, 19:25

การใช้รถเกี่ยวข้าวในพื้นที่ๆมีการทำนากระจายเป็นหย่อมๆ ซึ่งจะพบได้ในพื้นที่ราบลอนคลื่นหรือที่เป็นแอ่งที่ลุ่มระหว่างเขาในภาคเหนือเหล่านั้น น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับ SME หรือ micro SME     

มีเป็นภาพดังนี้คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างก็ทำธุรกิจระหว่างกันทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน ทุกคนมีรายได้จากการดำเนินการต่างๆ บ้างก็ในฐานะผู้ประสานงาน(นายหน้า คนกลาง organizer lobbyist) บ้างก็ในฐานะของผู้ปฏิบัติงาน (task orient, job orient, subcontractor)   ไม่มีการทำสัญญาระหว่างกันที่เป็นเอกสารใดๆ ทั้งหมดเป็นการดำเนินการในรูปแบบของความไว้ใจและเชื่อถือซึ่งกันและกัน อยู่ในลักษณะของการกระทำที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สังคมท้องถิ่นยอมรับกันโดยทั่วๆไป  ซึ่งการกระทำในลักษณะดังนี้ หากเกิดกรณีขัดแย้งกันก็คงจะมีความยุ่งยากในการฟ้องร้องกัน เพราะไทยเราไม่ได้ใช้ระบบกฎหมายแบบ common law  ท่านที่เรียนทางกฎหมายจะขยายความในเรื่องนี้ได้มาก (อย่างน้อยก็ว่า ผิด หรือ ถูก ตามความเห็นของผม)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 28 ธ.ค. 20, 20:21

ตามลงไปดูในรายละเอียดบางประเด็น

ผู้รับจ้างและผู้เกี่ยวข้องไปประเมินว่าพื้นที่เกี่ยวข้าวว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด ดูความยากง่ายในการนำรถเกี่ยวเข้าพื้นที่ ดูปริมาณข้าวเปลือกที่จะได้ เพื่อที่จะได้นัดวันและจัดทัพให้เหมาะสม  คิดค่าเก็บเกี่ยวข้าวในราคาต่อไร่ (รวมค่าขนส่งข้าวไปขายที่ตลาดข้าว)  เมื่อเกิดกรณีปริมาณข้าวได้ไม่มากเท่าที่ประเมิน รถที่มาบรรทุกข้าวใหญ่เกินไป และระยะทางที่จะขนข้าวไปยังตลาดข้าวไกล ค่าระวางที่คิดในรูปของการเหมารถเป็นเที่ยวซึ่งคิดรวมอยู่ในค่าจ้างการเก็บเกี่ยว ก็อาจจะมีการขอเปลี่ยนไปเป็นน้ำหนักต่อระยะทาง   

คิดว่ามีเรื่องอื่นๆอีกมากที่ผมยังไม่รู้และยังเข้าไม่ถึงแก่น
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 29 ธ.ค. 20, 20:33

เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะมีเรื่องของธุรกรรมการเงินตามมา โดยเฉพาะในเรื่องของการชำระค่าปุ๋ย ค่ายากำจัดแมลง/วัชพืช และหนี้สินที่เกี่ยวข้องและที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำนา 

ที่น่าสนใจก็คือเรื่องที่เป็นธรรมเนียมปฎิบัติของชุมชนบางแห่ง (คิดว่าน่าจะเกือบทุกชุมชนที่มีการทำนา)    ด้วยที่แต่ละชุมชนมักจะมีวัดหรือสำนักสงฆ์อยู่หนี่งแห่ง ผนวกกับการมีความสำนึกต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (แม่โพสพ) และการเฉลิมฉลองความสำเร็จในการเพาะปลูกธัญญาหารที่จะใช้เป็นอาหารในรอบปี ก็จึงมีระบบการแบ่งปันผลผลิตเพื่อช่วยกันอุปถัมภ์ ค้ำจุน ทำนุบำรุง และดูแลวัดและพระสงฆ์ให้มีความคงอยู่ตลอดไป  นาของแต่ละคนจะถูกประเมินปริมาณข้าวเปลือกที่ได้ แล้วคิดว่าควรจะต้องแบ่งมาช่วยกิจการของวัดมากน้อยเพียงใด ก็อยู่ระหว่าง 1-10ถึง ข้าวเปลือก หรือจะจ่ายเป็นเงินตามราคาข้าวเปลือกที่ซื้อขายกันอยู่ในขณะนั้นก็ได้  บ้างก็จัดเป็นในลักษณะพิธีทำบุญข้าวใหม่      ก็เป็นเรื่องรากเง่าของระบบการจัดเก็บภาษีบนพื้นฐานของ wealth    ที่น่าจะพึงมี ก็น่าเพิ่มเติมก็ในอีกเรื่องคือ การเก็บภาษีในพื้นฐานหนึ่งของ opportunity  จำแนกออกไปเป็นในกรณีของผลผลิตจากการทำนาในพื้นที่ๆมีการชลประทาน กับการทำนาในพื้นที่นอกเขตขลประทาน     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 29 ธ.ค. 20, 20:59

นาที่ทำในพื้นที่ชลประทานแต่แรกนั้น ในแต่ละปีจะทำได้ปีละ 2 ครั้ง ต่อมาก็เป็นปีละ 3 ครั้ง  ในขณะที่นานอกเขตชลประทานจะทำได้ปีละครั้งเดียว แต่ต่อมาก็มีการพัฒนานำน้ำใต้ผิวดิน (perched aquifer) สูบออกมาใช้ ก็เลยทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง  พวกนาในพื้นที่ชลประทานก็เลยใช้วิธีการเอาน้ำจาก perched aquifer มาช่วยด้วยสำหรับในช่วงที่น้ำในระบบชลประมานมีน้อยมากๆ

เพื่อขยายความให้พอเห็นภาพ  เอาจานมาวางแล้วเอาฟองน้ำล้างจานมาปูพื้น แล้วก็เอาจานอีกใบหนึ่งมาวางทับ แล้วเอาฟองน้ำล้างจานวาง แล้วเอากระดาษลูกฟุกมาวางปิดใว้   เมื่อเราแทน้ำลงไป กรดาษลูกฟูกก็จะเปียกชื้น เปรียบได้เสมือนผิวดิน  ฟองน้ำใต้กระดาษก็จะอุ้มน้ำเก็บไว้  น้ำบางส่วนจะหยดลงไปให้ฟองน้ำชั้นล่างดูดซับไว้  ฟองน้ำขั้นบนนั้นคือแหล่งน้ำใต้ผืนดินที่เรียกว่า perched aquifer  ฟองน้ำชั้นล่างจะเรียกว่า confined aquifer (หรือ aquifer เฉยๆ) ชั้นนี้คือชั้นน้ำบาดาล หรือชั้นที่เราเจาะเอาน้ำบาดาลมาใช้กัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 30 ธ.ค. 20, 19:38

การทำนาปลูกข้าวที่แต่เดิมเคยทำได้ปีละครั้งในช่วงฤดูฝน กลายมาเป็นทำได้ปีละ 2-3 ครั้งด้วยระบบการชลประทานหรือด้วยระบบการใช้น้ำใต้ผิวดิน นานเข้าก็กลายมาเป็นความเคยชิน  ทำให้เมื่อปีใดเกิดมีสภาพน้ำท่าน้อย ซึ่งส่งผลให้ทำนาได้น้อยครั้งลงไป หรือขาดน้ำในช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้องออกรวง จึงเกิดการเรียกร้องต่อฝ่ายรัฐให้ช่วยเหลือ   คำว่า แล้ง ที่เคยหมายถึงการขาดน้ำบริโภตและอุปโภคที่พอจะใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการยังชีพ ก็ถูกผนวกเข้าไปด้วยกับเรื่องของการขาดน้ำในการทำการเกษตรในเชิงพาณิชย์ 

    (การเจาะน้ำบาดาลเพื่อการยังชีพแต่แรกเริ่ม (ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2510+/-) ซึ่งพัฒนาต่อมาเพื่อการกินดีอยู่ดีภายหลังจากปัญหาพื้นฐานได้คลี่คลายไปจนเป็นที่น่า
      พอใจแล้ว ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นเพื่อใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ)

ด้วยที่น้ำบาดาลที่สามารถเอามาใช้ในเชิงเพื่อการบริโภคจะอยู่ลึกเป็นสิบๆเมตร ซึ่งยังจะต้องเลือกอีกด้วยว่าควรจะเป็นชั้นน้ำบาดาลชั้นใดที่ระดับใหนที่มีคุณภาพน้ำที่เหมาะสมอีกด้วย     ต่างกับการเอาน้ำในระดับตื้นที่อยู่ใต้ผิวดินซึ่งมีได้ตั้งแต่พื้นผิวต่อเนื่องลงไปถึงระดับ 10+ เมตรนั้น ซึ่งในบางจุดก็มีปริมาณน้ำมากพอที่จะลงทุนขุดบ่อน้ำตื้น (well) หรือเจาะแล้วใช้เครื่องสูบน้ำหอยโข่งตามปกติก็ได้แล้ว   น้ำใต้ผิวดินนี้จะมีการเติมน้ำเข้าไปเก็บไว้ได้ทุกปีจากน้ำฝนหรือน้ำที่ท่วมหลาก แต่จะได้ในปริมาณมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความพรุนของชั้นตะกอน (porosity) ความสามารถในการไหลซึมของชั้นตะกอน (permeability) ปริมาณและความยาวนานของน้ำท่าที่ท่วมขังอยู่บนผิวดิน     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 30 ธ.ค. 20, 20:45

ฝนก็ตกตามฤดูกาลทุกปี แต่ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละปีก็คือ จำนวนวันที่มีฝนตก การกระจายตัวฝน ปริมาณน้ำฝน ฯลฯ  ในขณะที่ปริมาณการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมีระดับของความวิกฤติที่คงที่ แต่การขยายกิจกรรมและปริมาณการใช้มีมากขึ้น ผนวกกับความประสงค์อื่นใดที่มีแฝงอยู่  คำว่า 'แล้ง' ก็เลยมีปรากฎอยู่ทุกปี แล้วก็กลายเป็นคำว่า 'แล้งซ้ำซาก' ในพื้นที่ต่างๆที่ได้รับฟังกันเป็นประจำทุกๆปี
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 30 ธ.ค. 20, 21:06

ก็มีโครงการศึกษาและทดลองทำการเติมน้ำลงในชั้นน้ำใต้ผิวดิน  ซึ่งที่ทราบและเคยเห็นนั้นอยู่ในพื้นที่ของ จ.สุโขทัย และ พิษณุโลก ทำโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

ที่เลือกใช้พื้นที่นี้ก็เพราะว่าได้มีการทำนาโดยใช้น้ำใต้ผิวดินกันมาก สูบน้ำมาใช้กันมากเสียจนระดับน้ำลดลงนับเป็น 10 เมตร น้ำฝนและน้ำในลำธารตามธรรมชาติที่มีในแต่ละปีไหลซึมลงไปเติมไม่ทัน    ก็มีการทดลองเอาน้ำฝนจากหลังคาบ้านต่อลงถังพักแล้วต่อท่อลงใปใต้ดินเลย ก็ได้ผลดี น้ำใต้ผิวดินในพื้นที่ชุมชนที่ทำการทดลองนั้นมีระดับสูงขึ้นมากพอที่จะทำให้ดินส่วนผิวบนพื้นมีความชุ่มชื้น ต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับต่างๆเจริญงอกงามออกดอกออกผลดีอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ๆไม่ได้มีการทดลองดำเนินการ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 31 ธ.ค. 20, 18:47

มีประเด็นชวนให้สนใจอยู่บางเรื่องที่เป็นความเห็นของผมบนพื้นฐานของความรู้ของตนเองที่พอจะมีในทางวิชาการ ว่า

จะเห็นว่าในการไถนาพรวนดินทุกๆปี มีการปล่อยน้ำเข้า-ออกนา ก็ย่อมแสดงว่าดินโคลนเม็ดละเอียดยิบนั้นจะถูกแขวนลอยอยู่ในน้ำแล้วถูกพัดพาออกสู่แม่น้ำสายต่างๆ ยังให้ความสมบูรณ์ของดินในนาค่อยๆลดลงไปทุกปี   

ในเชิงการเปรียบเทียบ...นาในพื้นที่ต้นน้ำจะลดความสมบูรณ์ลง ดินในนาจะค่อยๆเปลี่ยนสภาพไปในทางเป็นกรดมากขึ้น    ก็ดูจะเป็นความโชคดีของพื้นที่นาข้าวในภาคเหนือที่มีทิวเขาหินปูนอยู่ตามของแอ่งในพื้นที่ ทำให้มีน้ำที่มีความเป็นด่างช่วยปรับความเป็นกรดของดินให้พอจะเกิดความสมดุลย์  เมื่อนานปีมากๆเข้า ระดับดินในท้องนาก็ลดลง คันนาก็จะดูค่อยๆสูงขึ้น      ในขณะที่ที่นาในพื้นที่ราบลุ่มช่วงปลายน้ำก็จะมีความสมบูรณ์มากขึ้นด้วยปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากมาจากการพรวนพลิกดินในพื้นที่ต้นน้ำ แล้วถูกน้ำพัดพามาตกตะกอน แต่ก็อาจจะอุดมไปด้วยสารเคมีที่ไม่พึงปราถนาพร้อมกันไปด้วย    ด้วยที่มีตะกอนดินมาตกเสริมในทุกๆปี ระดับของคันนากับท้องนาในพื้นที่ภาคกลางจึงดูคงที่อยู่เสมอ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 31 ธ.ค. 20, 20:10

ข้อสังเกตเพิ่มเติมก็มีในเรื่องของการเผาตอข้าวหรือซังข้าวก่อนที่จะมีการไถพรวนดิน  เท่าที่พอจะประมวลได้จากการได้เห็นผนวกกับที่พอจะรู้สภาพทางกายภาพของพื้นที่นั้นๆ  การเผานั้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่กระทำสืบทอดกันมา แต่เมื่อดูให้ลึกลงไปก็พอจะเห็นว่า การเผานั้นเป็นการช่วยปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดิน เพราะว่าเถ้าถ่านของพืชที่คงเหลือจากการเผานั้นมีสภาพเป็นด่าง ซึ่งจะช่วยปรับสภาพดินที่มีสภาพเป็นกรดที่เกิดจากการใช้ปุ๋ย หรือที่เกิดจากเนื้อดินถูกชะล้างออกไปจนมีส่วนประกอบที่เป็นทรายมากขึ้น   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.102 วินาที กับ 19 คำสั่ง