เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 8212 ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 15 ธ.ค. 20, 19:18

วิถีการทำนาแบบเก่าที่ใช้วิธีการที่เรียกว่าการลงแขกนั้น มีความหมายในเชิงของการออกแรงช่วยกันกระทำการให้ลุล่วงไปบนพื้นฐานของการมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   การลงแขกค่อนข้างจะจำกัดอยู่แต่เฉพาะการทำนาแบบนาดำ การเกี่ยวข้าว และการฟาดข้าว  สำหรับการไถนา การตกกล้าข้าว การตากข้าว และอื่นๆนั้น จะเป็นการทำด้วยตนเองผู้เป็นเจ้าของนาหรือโดยการว่าจ้าง   

เมื่อระบบทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนไป การลงแขกก็ได้เปลี่ยนไปเป็นในลักษณะของการแลกเปลี่ยนแรงงานกัน คำว่าลงแขกก็หายไปกลายเป็นการใช้คำว่า 'เอาแรง'   ซึ่งก็มีพัฒนาการต่อมาที่ผนวกเข้าไปด้วยการคิดในเชิงของการได้เปรียบและเสียเปรียบระหว่างกันและกัน (comparative advantage)  ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. มีนาอยู่ 10 ไร่ นาย ข. มีนาอยู่ 3 ไร่  นาย ก.มาช่วยนาย ข. ดำนา จนเสร็จ ใช้เวลา 1 วัน  โดยนัย นาย ข. ก็จะต้องไปช่วยนาย ก.ดำนา แต่จะใช้หลักการเช่นใด ระหว่างการไปช่วย 1 วัน หรือการไปช่วย ดำนาทั้ง 10 ไร่ให้เสร็จ ใช้เวลา 2 วัน  และที่อาจจะหนักไปกว่านั้นอีกในกรณีที่นาย ก. มีที่ทำนาที่เช่าจากผู้อื่นอยู่อีก 2 หรือ 3 แปลงในบริเวณใกล้ๆกัน ?? หากจะคิดบนพื้นฐานเชิงปริมาณ มันก็เป็นเรื่องแบบหนึ่ง  แต่หากจะคิดบนพื้นฐานเชิงคุณภาพ มันก็เป็นเรื่องอีกแบบหนึ่ง       ที่ชาวบ้านยังคงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสันติสุขก็เพราะพวกเขายังมีธรรมะเป็นพื้นฐานในการคิด พิจารณา และเข้าถึงสัจธรรมต่างๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 15 ธ.ค. 20, 20:20

เมื่อการทำนาได้เปลี่ยนไปอีกระดับหนึ่ง มีรถแทร็กเตอร์ทางการเกษตร มีรถดำนา มีรถเกี่ยวข้าว มารับจ้างดำเนินการในเกือบจะทุกขั้นตอนของการทำนา  ภาระกิจของชาวนาในการทำนาก็เลยลดลงไปด้วย ดูจะเหลือแต่เพียงการดูแลนาข้าวในเรื่องของน้ำ ปุ๋ย พืช วัชพืช เพียงเท่านั้น   อาจจะกล่าวได้ว่า มีมือถือเครื่องเดียวก็ทำนาได้แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยสภาพดังกล่าว จากอาชีพที่เรียกว่าชาวนา ซึ่งมักจะบ่งบอกว่าเป็นชาวบ้าน  ในปัจจุบันนี้ก็จึงมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นชาวบ้านเสมอไป อาจจะเป็นนายทุนก็ได้ หรือเป็นผู้พอมีอันจะกินก็ได้ หรือเป็นผู้ที่มีอาชีพอื่นใดอยู่ในเมืองต่างๆ แต่มีภูมิลำเนาอยู่ในท้องถิ่นชนบทก็ได้ ฯลฯ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 16 ธ.ค. 20, 18:55

การทำนาในปัจจุบันนี้จึงต้องมีแผน มีการบริหาร และมีการเจราจา  ซึ่งในการเจราจานั้นก็มีลักษณะที่แปลก คือมิใช่ในเรื่องของประโยชน์ในเชิงของรายได้ที่จะได้รับเพิ่มขึ้น หากแต่เป็นในเรื่องของการลดโอกาสที่จะมิให้เกิดความเสียหายขึ้นกับผลผลิต

ขยายความได้ดังนี้     ชาวบ้านในแต่ละภูมิภาคและแต่ละท้องถิ่นต่างก็จะมีวันหรือช่วงเวลาที่กำหนดเป็นฤกษ์ชัยในการเริ่มลงมือทำนา หรือเป็นวันแรกเริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนา  ซึ่งหมายความว่า ก็จะต้องมีการเตรียมพื้นที่ให้พร้อม เริ่มตั้งแต่การไถดะ ตามมาด้วยการไถแปร แล้วไถคราด     แต่ก่อนนั้นใช้แรงสัตว์ ต่อมาก็ใช้รถไถเดินตาม เลยไม่มีปัญหาใดๆ เพราะว่าเป็นเจ้าของเองและทำด้วยตัวเอง  เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน เมื่อฐานะไม่ดีพอที่จะเป็นเจ้าของรถแทรกเตอร์และอุปกรณ์ประกอบ ก็เลยต้องใช้วิธีจ้างเขา นัยว่าประหยัดเวลา และจะได้ใช้เวลาไปทำงานอื่นๆเพื่อหารายได้เสริม  แต่ก็มีอยู่มากรายเป็นรายที่การทำนากลายเป็นอาชีพเพื่อหารายได้เสริม   

ช่วงของการปรับพื้นที่นาให้พร้อมนี้ยังพอจะยืดหยุ่นช่วงเวลาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกันได้ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง  ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ว่าจ้างมักจะต้องเป็นฝ่ายร้องขอ ในขณะที่ผู้รับจ้างมักจะเป็นฝ่ายผู้กำหนดเงื่อนไข กลับทางกันกับเรื่องของนายจ้างกับลูกจ้างที่เราคุ้นๆกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 16 ธ.ค. 20, 19:29

เตรียมที่นาแล้วก็ต้องมาคิดว่าจะทำนาแบบใหนดี นาดำ หรือ นาหว่าน  ซึ่งตามปกติแล้ว เคยทำเช่นใดมาก็จะทำเช่นนั้นต่อไป แต่บางปีก็อาจจะรู้สึกว่าน่าจะลองสลับไปทำนาอีกแบบหนึ่งบ้าง ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ต่างๆ   หลายเรื่องก็อยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้าน หลายเรื่องก็อยู่บนฐานของข้อมูล เช่น การพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ  การคาดการณ์เรื่องทางการตลาดและเศรษฐกิจต่างๆ  สถานการณ์น้ำ ฯลฯ ซึ่งส่วนมากก็เป็นข้อมูลเผยแพร่ของทางราชการ และข้อมูลมี่มีการใส่ไข่ใส่สีเพิ่มเติมด้วยลมปากของผู้แสวงประโยชน์ทั้งในด้าน +ve และ -ve

คิดจะทำนาหว่านก็ยังสามารถทำด้วยตนเองได้   แต่หากคิดจะทำนาดำ นั่นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 17 ธ.ค. 20, 18:09

จะทำนาดำก็จะต้องมีการประเมินความคุ้มค่าระหว่างจะทำแบบเอาแรงกันหรือจะจ้างรถปลูกข้าว ซึ่งทั้งสองแบบนี้ต่างก็จะต้องมีการตกกล้าข้าว  ต่างกันที่หาก เป็นการทำด้วยแรงคนก็จะเป็นการเพาะกล้าข้าวในพื้นที่นาที่กันเขตไว้ส่วนหนึ่ง แต่หากจะใช้เครื่องปลูกข้าว ก็จะต้องเพาะในกระถางเพาะชำเล็กๆที่จัดเรียงอยู่ในถาดที่มีขนาดจำเพาะ   ซึ่งทั้งสองวิธีการนี้ต่างก็มีปัญหาเหมือนๆกัน คือจะต้องคำนวนปริมาณกล้าข้าวให้ได้พอดีๆสำหรับการปลูกในผืนนาของตน  ก็เลยมีกรณีขาดและเกิน ทำให้เกิดเรื่องของการให้ การขอยืม และการซื้อขายเล็กๆน้อยๆขึ้นมา  แล้วก็มีกรณีการฝากเพาะกล้าข้าว และการเพาะกล้าข้าวขายอีกด้วย ซึ่งเกิดมาจากกรณีที่น้ำในที่ของตนในปีนั้นๆดูไม่ดีพอที่จะเพาะกล้าข้าวให้เจริญเติบโตได้ดี

การทำนาที่ดูจะง่ายๆเมื่อลงลึกเข้าไปในกระบวนการ ก็ชักจะดูมีความยุ่งยากขึ้นมาแล้ว ขนาดยังไม่เข้าถึงขั้นดำเนินการจริง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 17 ธ.ค. 20, 18:48

ก็ยังต้องมีเรื่องที่จะต้องเตรียมการอีก คราวนี้เป็นเรื่องของการติดต่อประสานงานต่างๆ

ลองจินตนาการไปก่อนนะครับว่ามันจะเป็นเช่นใด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 19 ธ.ค. 20, 18:36

การประสานงานในเรื่องของการทำนาข้าวดูเหมือนกับว่าจะไม่มีเรื่องใดๆที่ต้องกังวล  แท้จริงแล้วมันก็มีอยู่ แต่ละคนก็จะมีแตกต่างกันไป  เช่น

ในกรณีการเอาแรงกัน ประเด็นก็จะไปอยู่ที่ว่าจะได้แรงมามากพอที่จะทำการให้เสร็จภายในหนึ่งวัน(หรือกี่วัน)หรือไม่ หากเห็นว่าได้ไม่พอก็จะต้องใช้วิธีการจ้างเอา เรื่องมันก็เลยพ่วงต่อให้ต้องคิดว่า เมื่อเสร็จงานแล้วแทนที่จะเสียค่าใช้จ่ายแต่เฉพาะของกินแก้หิวกับน้ำอมฤตก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน ก็จะต้องบวกค่าแรงคนที่จ้างมาด้วย  แถมเรายังจะต้องไป(ชด)ใช้แรงอีกด้วย   หรือจะใช้วิธีจ้างอย่างเดียว เสร็จงานแล้วคนละกรึ๊บกับมะขามเปียกจิ้มเกลือแล้วก็เลิกกันไป     ก็อย่างที่เล่ามา หากไปเอาแรงกับคนที่เขามีที่นาผืนใหญ่หรือมีหลายผืนมากกว่าเรา เราก็อาจจะดเูเหมือนจะเสียเปรียบอยู่มาก   การเอาแรงกันในปัจจุบันนี้จึงค่อนข้างจะจำกัดอยู่แต่เฉพาะในวงค์ญาติใกล้ชิดกันจริงๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 19 ธ.ค. 20, 19:14

อีกประเด็นหนึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับช่วงเวลาที่ไม่อำนวยให้เกิดความราบรื่น เรื่องนี้ไปเกี่ยวกับเรื่องของต้นกล้าข้าว  ในกรณีที่เป็นกล้าที่เพาะในพื้นที่ของนาเราเองก็ไม่มีข้อกังวลมากนัก แต่หากไปฝากเพาะกล้าในนาของผู้อื่น ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง   ต้นกล้าข้าวมันก็เติบโตของมันไปเรื่อยๆ มันก็มีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะต้องนำลงปลูกในนา 

ประเด็นไปอยู่ที่จังหวะเหมาะพอดีที่กล้าจะไม่แก่หรือไม่อ่อนเกินไป  หมายถึงว่า การจัดการทุกอย่าง(การเอาแรงหรือการจ้างก็ต้องพร้อมในช่วงนั้นพอดีๆ)ควรจะต้องประสานกันอย่างลงตัว (ในสภาพที่ทุกคนต่างก็มีภาระผูกพัน) ซึ่งแม้ว่าจะดูไม่ยาก แต่มันก็ไม่ง่ายนักสำหรับชุมชนในหมู่บ้านหนึ่งๆ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 20 ธ.ค. 20, 18:32

เรื่องของช่วงเวลาและเรื่องราวที่ได้กล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องของข้าวนาปี ซึ่งพันธุ์ข้าวที่นิยมปลุกกัน(หรือถูกบังคับให้ต้องปลูกมัน) หากเป็นข้าวเจ้าก็จะเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ กข 105 และหากเป็นข้าวเหนียวก็จะเป็นพันธุ์ กข 6   (กข ก็คือ กรมการข้าว)    เหตุที่ใช้ข้าวสองสายพันธุ์นี้ ก็เพราะว่ามันเป็นข้าวที่ไม่ว่าจะลงมือปลูกในเวลาที่ต่างกันในช่วงฤดูการทำนาเช่นใดก็ตาม มันก็จะออกรวงและให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงกรอบเวลาแคบๆเดียวกัน    คุยกับชาวบ้านที่ทำนามานานก็ได้คำตอบเหมือนๆกันว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ  ที่จริงแล้วชาวบ้านบอกเล่าเสียด้วยซ้ำว่า การเก็บเกี่ยวในพื้นที่ทำนาทั้งหลายจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ไม่มีการเก็บเกี่ยวหลังจากนั้นเว้นแต่จะเป็นข้าวนาปรัง 

ด้วยความสนใจว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็จึงหาอ่านและได้ความรู้จากเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวกับข้าวอยู่มากมาย   ว่า..ทางวิชาการข้าวเขาจัดเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสง หรือข้าวไวแสง     ซึ่งจะขอขยายความต่ออีกเล็กน้อยว่า แสงอาทิตย์นั้นมันเป็นช่วงความถี่หนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แม้ว่าเราจะเห็นเป็นแสงสีขาวเหมือนกัน (white light) แต่โดยเนื้อในของมันในแต่ละช่วงเวลาต่างๆของวันและของปี มันจะมีองค์ประกอบทั้งในเชิงของปริมาณและคุณภาพไม่เหมือนกัน  ซึ่งก็มีไม่เหมือนกัน ณ พื้นที่ส่วนต่างๆของโลกอีกด้วย โดยเฉพาะในเชิงของละติจูดทางภูมิศาสตร์ของโลกเรา   ข้าวไวแสงที่มันให้ผลผลิตในช่วงกรอบเวลาแคบๆของปีก็มาจากปัจจัยในเรื่องของ spectrum ของแสงอาทิตย์นี้เอง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 20 ธ.ค. 20, 19:29

เรื่อง spectrum ของแสงอาทิตย์กับการปลูกพืชผลและการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรนี้ ผมเห็นว่าค่อนข้างจะมีความสำคัญค่อนข้างมาก แต่ดูเหมือนจะถูกละเลยและขาดการให้ความสนใจและศึกษาอย่างจริงจัง ส่วนมากจะไปให้ความสนใจในเรื่องของตัดต่อและดัดแปลงสายพันธุ์   

ก็อาจจะเป็นเรื่องที่คิดมากจนเกินไปของผมว่า พืชผักผลไม้หลายชนิดที่เคยคิดว่าปลูกที่ในอื่นใดไม่ได้เพราะสภาพของผืนดินและภูมิอากาศเหล่านั้น   ในปัจจุบันนี้เรามีทุเรียนจากสวนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรามีมะม่วงอกร่องจากสวนในพื้นที่รอยต่อของภาคกลางและภาคเหนือ ฯลฯ    ส่วนหนึ่งของเรื่องเช่นนี้นอกเหนือจากปุ๋ยแล้วจะเกี่ยวข้องกับเรื่องในเชิงประสิทธิภาพและคุณภาพของกระบวนการ photosynthesis ของพืช ซึ่งไปเกี่ยวโยงกับลักษณะของแสงอาทิตย์หรือไม่ ?   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 21 ธ.ค. 20, 20:38

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า นาดำให้ผลผลิตดีกว่านาหว่าน ประกอบกับข้าวสายพันธุ์ที่มีความอร่อยเป็นที่ยอมรับกันและมีราคาดีนั้น จะเป็นข้าวประเภทไวต่อช่วงแสง (หอมมะลิ 105 และขาวเหนียว กข 6) ซึ่งถูกบังคับโดยธรรมชาติให้ออกดอกผลในช่วงประมาณเดือนตุลาคมและจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายน    ดังนั้น โดยพื้นของความคิดแล้ว ชาวบ้านจึงนิยมทำนาดำมากกว่านาหว่าน ก็จึงมาอยู่ที่ว่าจะเลือกระหว่างการดำนาด้วยแรงคนหรือจะใช้เครื่องจักรกล   

มันก็มีประเด็นที่ต้องคิดนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้วคือ การดำนาด้วยแรงคน เราก็จะได้ระยะห่างของกอข้าวที่มากกว่าการปักดำด้วยเครื่องจักร ซึ่งหมายความว่า กอข้าวก็จะมีพื้นที่ให้ขยายตัวได้ใหญ่มากขึ้น ยังผลให้กอข้าวมีความแข็งแรง สมบูรณ์ และให้ปริมาณผลผลิตที่มากกว่าการปักดำด้วยเครื่องจักรกล (ซึ่งจะมีระยะห่างระหว่างกอข้าวที่ค่อนข้างจะใกล้กัน กอข้าวแต่ละกอจะเล็ก)  ก็อาจจะถูกของชาวบ้านเขาที่เห็นและรู้สึกเช่นนั้น ที่ผมได้เห็นมาก็ดูจะเป็นเช่นนั้น      นาที่ปลูกด้วยเครื่องจักรกลนั้น เป็นการเลียนแบบมาจากญี่ปุ่น ซึ่งเขาใช้กับการปลูกข้าวอีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นข้าวเมล็ดสั้นที่เรียกกันว่า Japonica rice    ซึ่ง ด้วยที่คนญี่ปุ่นมีพื้นฐานความคิดฝังลึกในเรื่องของ accuracy & precision กระทั่งการทำดำนาด้วยแรงคนเขาก็ยังใช้ตะแกรงลวด wire mesh ม้วนเป็นแท่งกลมๆกลิ้งไปบนผืนนา แล้วปลูกข้าว ณ จุดตัดของเส้นตะแกรง  สำหรับการทำนาข้าวของญี่ปุ่นนั้นมันเป็นอีกเรื่องราวหนึ่ง (concept)ที่ต่างไปจากการทำนาของเรา  ของเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานในเรื่องคุณภาพและปริมาณในกรอบที่เป็นความเป็นการจำเพาะอยู่พอสมควร   ก็พอจะรู้และเข้าใจอยู่บ้างแต่คงจะไม่ต้องขยายความในเรื่องนี้
         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 22 ธ.ค. 20, 19:02

หลังจากปลูกข้าวเสร็จแล้วก็ไปถึงเรื่องของการดูแล 

ชาวบ้านจะไปดูนาของตนแต่เช้าทุกวันก่อนที่จะไปทำงานอื่นใด บางวันก็อาจจะทำอะไรต่อมิอะไรทั้งวันในที่นาของตน บ้างก็ไปในช่วงเวลาตอนบ่าย บ้างก็ไปตอนเย็นก่อนจะกลับเข้าบ้าน เพื่อแวะเข้าไปดูความเรียบร้อยต่างๆในที่นาของตน     ที่ว่าต้องทำอะไรต่อมิอะไรที่นานั้นก็เช่น การปรับระดับน้ำเพื่อการควบคุมหญ้าที่ขึ้นมาแข่งกับต้นข้าวหรือเพื่อการอื่นๆ (ใส่ปุ๋ย ฯลฯ) การตรวจตราในเรื่องของศัตรูข้าว (แมลง นก สัตว์ ฯลฯ) การให้ปุ๋ย การกำจัดสิ่งที่มาเบียดเบียนต้นข้าว (แมลง วัชพืช ฯลฯ)  ซึ่งสิ่งที่ไม่พึงปราถนาเหล่านี้จะมาเป็นระยะๆและเปลี่ยนไปตามการเจริญของต้นข้าว

สำหรับคนในเมือง คงจะได้รับรู้อยู่แล้วว่า เมื่อถึงฤดูการทำนา แรงงานที่มาทำงานก็จะกลับบ้านไปทำนากัน ปลูกข้าวเสร็จก็กลับมาทำงานต่อ (ปล่อยการดูแลประจำวันในเรื่องที่ได้กล่าวถึงให้เป็นภาระของคนที่อยู่ที่ภูมิลำเนาเป็นผู้ดำเนินการ) จะกลับไปบ้านอีกครั้งหนึ่งก็เมื่อถึงเวลาของการเก็บเกี่ยวข้าว     ต่างกันไปสำหรับคนในพื้นที่ ก็จะเป็นที่รู้กันว่าแต่ละคนต่างก็มีภารกิจประจำวันที่สำคัญผูกพันอยู่ ก็คือไม่ค่อยจะมีเวลาว่างกัน หรือจะมีก็ในช่วงเวลาที่อาจจะจำกัด     สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างคนในเมืองกับชาวบ้านก็คือ แรงงานหายาก เป็นแรงงานเฉพาะกิจระยะเวลาสั้นๆ   ซึ่งมูลเหตุสำคัญก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าคำว่า 'ห่วงนา'
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 23 ธ.ค. 20, 19:27

เมื่อระยะเวลาได้ผ่านไปประมาณ 2 เดือน การแตกกอของต้นข้าวก็จะหยุดลงแล้วก็เริ่มการตั้งท้องออกรวงต่อไป ในระยะนี้ ชาวบ้านก็พอจะประเมินผลผลิตได้แล้วว่า ในปีนั้นๆจะได้ผลผลิตข้าวมากน้อยเพียงใด  แต่ก่อนจะถึงจุดนี้ก็มีการเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่ออยู่เหมือนกันในทำนองว่า เอ..ทำไมข้าวของเรา กอก็ใหญ่ ต้นก็สมบูรณ์ดี แต่ทำไมยังไม่ตั้งท้องออกรวงเสียที    ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ามันเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ไวต่อแสง มันจะถูกกระตุ้นให้เริ่มกระบวนการตั้งท้องออกรวงได้ด้วยช่วงของคลื่นแสงอาทิตย์ ณ ช่วงเวลาหนึ่งของปี  มันก็เลยจะตั้งท้องออกรวงในระยะช่วงระยะเวลาเดียวๆกัน

ผมมีความเห็นว่าชาวบ้านชาวนายังขาดการรับรู้ ความเข้าใจ และการได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอในหลายๆกรณีเกี่ยวกับเรื่องของการทำนาปลูกข้าว ทั้งนี้มิได้หมายความว่าไม่มีการเผยแพร่ข้อมูล หรือไม่มีการศึกษาวิจัยและรายงานผลของการศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยในรูปของ literature search, review and comments หรือในรูปของ scientific research and experiments     ประเด็นไปอยู่ที่ว่าการบรรยายหรือการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องมีปรากฎและเผยแพร่อยู่เหล่านั้น มันเป็นรูปของการเขียนที่ใช้สื่อกันระหว่างนักวิชาการหรือระหว่างคนที่มีความรู้พื้นฐานทางวิชาการอยู่บ้าง  จะเขียนเผยแพร่ในลักษณะเป็นภาษาพูดก็มีประเด็นในเรื่องของมาตรฐานและความเชื่อถือ (และการใช้เป็นผลงานเพื่อประเมินผลในเรื่องต่างๆ)   สำหรับตัวผมเอง ที่เขียนบรรยายมาทั้งหลายเหล่านี้ ก็มิได้ต่างไปจากที่กล่าวมามากนัก มากมายหลายครั้งที่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะหาคำสั้นๆที่ให้เนื้อหาและใจความอย่างที่ประสงค์ไม่ได้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 24 ธ.ค. 20, 18:32

ข้าวออกรวงแล้วไม่นานก็แก่ ถึงเวลาต้องเก็บเกี่ยวกัน ก็ถึงคราววุ่นวายกันอีกครั้งหนึ่ง   ด้วยที่ข้าวตกท้องออกรวงในกรอบเวลาแคบๆเดียวกัน มันก็จะสุกได้ที่เกือบจะพร้อมๆกัน  แต่เครื่องจักรเกี่ยวข้าวมีค่อนข้างจะจำกัดในแต่ละพื้นที่ จะใช้แรงงานคนที่เอาแรงกันไว้เมื่อครั้งปลูกข้าวก็ต้องรอจังหวะให้ว่างพร้อมๆกัน เพราะต่างคนต่างก็ต้องเก็บเกี่ยวในที่นาของตนให้เสร็จสิ้นก่อน หรือจะต้องดูว่าพอจะแยกตัวหรือสลับสับเปลี่ยนอะไรๆได้บ้าง  ทุกอย่างดูจะต้องมีคิวไปเสียหมด   ประเด็นของเรื่องไปอยู่ที่ว่า เก็บเกี่ยวข้าวที่ยังไม่แก่จัดก็ไม่ดี หากแก่แล้วยังเก็บเกี่ยวไม่ได้ก็ไม่ดี เมื่อเลยเวลาเวลาของการแก่จัดๆไป ต้นข้าวจะเหี่ยวแห้งลงและอาจจะถูกลมพัดให้ล้ม ซึ่งหากล้มแบบไร้ทิศทางก็จะทำให้เก็บเกี่ยวได้ยากและเสียเวลามาก ไม่ว่าจะใช้เครื่องจักรหรือแรงคน   นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีบรรดานกหนูและสัตว์อื่นๆที่ต่างก็รู้ว่าข้าวสุกแล้ว ก็จะเข้ามาเยี่ยมเยียน กินอาหารชั้นดีอย่างสนุกสนาน    ดินฟ้าอากาศก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สร้างให้เกิดความกังวล เพราะมันเป็นช่วงเวลาของปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว  หากฝนตกลงมา ข้าวก็จะเปียกชื้น เก็บเกี่ยวแล้วก็จะต้องหาพื้นที่ตากข้าวให้แห้งก่อนที่จะนวดข้าว นวดข้าวเสร็จแล้วก็ยังต้องตากอีกให้ความชื้นลดลงก่อนที่จะเก็บเข้ายุ้งข้าว (ฉางข้าว)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 24 ธ.ค. 20, 19:18

เล่าข้ามความกังวลของคนทำนาไปเรื่องหนึ่ง ช่วงที่ต้นข้าวตั้งท้องออกรวงนั้น มันต้องการน้ำและอาหารที่สมบูรณ์ ซึ่งจะยังให้ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ด้วย  ก็เป็นความบังเอิญว่ามันมักจะเป็นช่วงที่เกิดฝนตกแบบกระท้อมกระแท้ม ตกแบบมีน้ำบ้าง แบบไม่มีน้ำบ้าง    ชาวนาเลยต้องคอยดูเมฆฝนกันในแต่ละวันว่าจะมีโอกาสฝนตกบ้างหรือไม่  วันใหนที่มีฝนตกก็จะมีความสุข  ก็จึงไม่แปลกนักที่เรามักจะเห็นคนทำนาใส่หมวกกันฝน คลุมตัวด้วยผ้าพลาสติก เดินท่อมๆแบกจอบอยู่ตามผืนนาต่างๆในวันที่มีฝนตก  บ้างก็ไปกินนอนอยู่ที่เถียงนาเพื่อจะได้ลงพื้นที่ทำงานได้เลยตั้งแต่เริ่มฟ้าสาง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 19 คำสั่ง