เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12
  พิมพ์  
อ่าน: 8272 ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 30 พ.ย. 23, 18:46

ในช่วงเวลาที่ข้าวสุกและเริ่มเก็บเกี่ยวขายกันนั้น ราคาข้าวเปลือกในแต่ละวันจะไม่เท่ากัน กลุ่มที่ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวในช่วงแรกๆของฤดูการเก็บเกี่ยวจะได้ราคาที่ดีกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวกันทั่วไป  ราคาข้าวเปลือกจะมีราคาต่ำลงและผันแปรแบบวันต่อวันเลยทีเดียว เรื่องนี้ส่วนหนึ่งไปขึ้นอยู่กับเรื่องของการบริหารสต๊อกและประเภทข้าวที่จะรับซื้อของฝ่ายผู้รับซื้อข้าว  ก็จึงมีเรื่องของการขนข้าวเปลือกจากพื้นที่หนึ่งไปขายในอีกพื้นที่หนึ่ง สลับกันไปมา   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 01 ธ.ค. 23, 18:37

ผมมีความรู้ที่จำกัดมากๆในเรื่องของราคาข้าว แต่ก็พอจะมีเรื่องขยายเป็นให้พอทราบกันได้ดังนี้

ราคากลางข้าวจะมีการประกาศให้ทราบโดยกรมการค้าภายใน เป็นราคาซื้อขายกลางๆที่ได้มาจากการสำรวจตลาดของแต่ละจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตข้าว  โดยปกติแล้วข้าวเปลือกเหนียวจะมีราคาสูงกว่าข้าวเปลือกเจ้าในระดับพันสองพันบาท  ราคาข้าวเปลือกทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้านี้ดูจะอยู่ในเกณฑ์ราคาประมาณ 15,000+/- บาท/ตัน   

เมื่อเอาข้าวเปลือกไปสีให้ออกมาเป็นข้าวสาร  จะได้ผลผลิตออกมาเป็นข้าวสารประมาณ 60% +/-  เป็นแกลบประมาณ 30% +/-ที่เหลือจะเป็นเศษข้าวที่แตกหัก ซึ่งหากยังมีลักษณะเป็นเศษของเมล็ดข้าวที่แตกหัก ก็เรียกกันว่าปลายข้าว(หรือรำข้าวขาว ?) พวกที่เป็นเศษก่อนขัดขาวก็เรียกว่ารำข้าวกล้อง   ปลายข้าวนั้น เอาไปทำโจ๊กได้ดี ....  รำข้าวนั้นเอาไปผสมทำอาหารสัตว์ ปลูกเห็ด... แกลบก็เอาไปใช้ในหลายเรื่องทั้งแบบ hitech และ lowtech         
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 01 ธ.ค. 23, 18:54

ต้องปลูกกี่ไร่ถึงจะคุ้มราคาที่ลงทุนคะ  ยังไม่ต้องพูดถึงกำไร
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 01 ธ.ค. 23, 19:11

ลองเอาตัวเลขประมาณแบบมั่วๆ และอย่างหยาบๆ (บนฐานของโครงสร้างราคา) เพื่อพิจารณากันเล่นๆนะครับ

ชาวนามีข้าวเปลือก 1 ตัน (1,000 กก.) ขายได้ กก.ละ 10 บาท  ข้าว 1 ตันนี้นำไปสีได้ข้าวสารประมาณครึ่งหนึ่ง คือ 500 กก. (ครึ่งตัน) ข้าวถุงที่เราซื้อตามร้านค้าถุงละ 5 กก.นั้น คิดที่ราคาถุงละ 180 บาท  สีได้ปลายข้าวและรำข้าวรวมกันประมาณ 120 กก. ปลายข้าวขายได้ กก.ละ 10 บาท  รำข้าวขายได้ กก.ละ 8 บาท  และได้แกลบประมาณ 200 กก. ขายได้ กก.ละ 5 บาท  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 02 ธ.ค. 23, 18:51

ต้องปลูกกี่ไร่ถึงจะคุ้มราคาที่ลงทุนคะ  ยังไม่ต้องพูดถึงกำไร

เป็นคำถามที่น่าสนใจ  ก็จะลองให้ตัวเลขอย่างหยาบๆสำหรับกรณีทำนาในพื้นที่ๆต้องมีค่าใช้จ่ายค่้อนข้างมาก

กรณีของผม ก่อนถึงฤดูทำนา จะมีรายการต้องจ่ายค่าบูรณะลำรางส่งน้ำเข้าพื้นที่ทำนา (ลอกและปรับแต่งร่องน้ำ) ซึ่งจำนวนเงินของชาวนาที่จะต้องจ่าย จะมาจากการประเมินของคณะกรรมการดูแลและจัดการฝายน้ำและลำรางว่าผู้ใดควรจะเสียมากน้อยเพียงใด (เป็นการคิดในลักษณะของ appropriation)    ปีที่ผ่านมานี้ สำหรับนา 2 ไร่ ผมเสีย 700 บาทสำหรับงานเรื่องของงานโยธาลำราง และ 200 บาทสำหรับค่าใช้น้ำ  ค่าใช้จ่ายในการไถพลิกดินเพื่อตาก(ไถดะ) 500 บาท/ไร่ (ไถดะ)  ไถพลิกกลับและย่อยก้อนดิน(ไถแปร) 500 บาท/ไร่  เมื่อนาได้น้ำจากฝนหรือเอาน้ำเข้านาแล้วก็ไถเอาเศษวัชพืชออกพร้อมไปกับการปรับพื้นที่นาให้เรียบ(ไถคราด) 500 บาท/ไร่  ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 800 บาท/ไร่  ค่าใช้จ่ายในการลงแขกดำนา (เครื่องดื่มและของรองท้องหลังเสร็จงาน ก่อนกลับบ้าน) 1,000 บาท   ค่าปุ๋ย 1,000 บาท   ค่ารถเก็บเกี่ยวข้าว 700 บาท/ไร่ ค่ารถบรรทุกขนข้าวไป-กลับขนข้าวเปลือกไปอบ 450 บาท ค่าอบข้าว 1.50 บาท/กก.  ได้ข้าวเปลือกมา 400 กก./ไร่ หากขายข้าวเปลือกหลังเก็บเกี่ยวเสร็จเลยจะขายได้ 12 บาท/กก.

สรุป เป็นค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 6,500 บาทต่อไร่ สำหรับการปลูกข้าวกินเอง (ไม่คิดค่าแรงและค่าใช้จ่ายประเภทจิปาถะ)   แต่หากเป็นการขายหลังการเกี่ยวเสร็จในทันที ค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวก็จะเป็น 5,450 บาท/ไร่ (ไม่คิดค่าแรงและค่าใช้จ่ายประเภทจิปาถะ) ก็จะขายได้ 4,800 บาทต่อไร่ 
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 04 ธ.ค. 23, 10:36


สรุป เป็นค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 6,500 บาทต่อไร่ สำหรับการปลูกข้าวกินเอง (ไม่คิดค่าแรงและค่าใช้จ่ายประเภทจิปาถะ)   แต่หากเป็นการขายหลังการเกี่ยวเสร็จในทันที ค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวก็จะเป็น 5,450 บาท/ไร่ (ไม่คิดค่าแรงและค่าใช้จ่ายประเภทจิปาถะ) ก็จะขายได้ 4,800 บาทต่อไร่ 
 
งั้นก็ขาดทุน 6500-4800 = 1700 บาท  ต่อไร่น่ะซีคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 04 ธ.ค. 23, 19:18

ครับ ขาดทุนในเชิงของปริมาณเงินที่ลงทุนไปกับปริมาณเงินที่ได้รับกลับคืนมาจากการลงทุน เพราะเป็นการทำนาแบบจ้างทำเกือบจะทั้งหมด

ในความเป็นจริงการทำนาข้าวนั้น ผมมีความเห็นว่าจะต้องแยกออกเป็นอย่างน้อย 2 ระบบ คือ การทำนาในลักษณะของการลุงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกขาย ซึ่งมีเป้าหมายเป็นเรื่องของกำไร-ขาดทุน  กับ การทำนาในลักษณะของวัฎจักรในวิถีของการดำรงชีพ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นเรื่องของความอยู่รอดของชีวิตและครอบครัว

กรณีแรก ทำนาในรูปของธุรกิจการค้า กรณีนี้มีเรื่องของ Economy of scale เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่ในกระบวนการคิดและการวางแผนของผู้ลงทุน แต่ไม่ทราบว่าจะมีการคิดส่วนที่เป็นกำไรว่าควรจะพึงได้กี่เปอร์เซนต์  คิดว่าน่าจะน้อยกว่าที่เขาคิดกันในภาคการอุตสาหกรรม    เท่าที่พอจะได้สัมผัสมา ผืนมาผืนนาประเภทนี้ดูจะอยู่ในระดับมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป (หรือหลายที่รวมกัน)  ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยที่เจ้าของที่นาไม่ได้ทำนาเองแต่เป็นการให้เช่าที่ทำนา และก็มีไม่น้อยที่คนทำนาขายข้าวมิใช่เจ้าของที่นา 

เรื่องคิดเกี่ยวกับ Economy of scale ในธุรกิจทำนาขายข้าวนี้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะในกระบวนการทำนาเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตข้าวนั้น มันมีความผันแปรที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมายหลายเรื่องจริงๆ  เชื่อว่าในวงการเกษตรกรรมเรื่องข้าวนี้น่าจะมีการศึกษาและมีข้อมูลทางวิชาการลงลึกไปแบบละเอียดของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆมากอยู่แล้ว เช่น ระหว่าง นาน้ำชลประทาน นาน้ำฟ้า(ฝน) เครื่องจักรกลชนิดต่างๆ (ไถ พรวน แปร ปลูก เกี่ยว) การเลือกพันธุ์ข้าว ปริมาณผลผลิตของแต่ละพันธุ์ การปรับปรุงดิน(ด้วย gypsum, marl, dolomitic lime, calcitic lime)...   ก็น่าจะแปลงให้เป็นความรู้และความเข้าใจแบบง่ายๆพร้อมทั้งนำเสนอสิ่งที่สามารถนำเอามาใช้ ทำ หรือเอามาทดแทนได้เพื่อสร้างสภาพ Economy of scale ที่พอจะเข้าถึงได้สำหรับชาวบ้านที่ทำนาโดยทั่วไป 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 05 ธ.ค. 23, 20:23

กรณีการทำนาในลักษณะของวัฎจักรในวิถีของการดำรงชีพ   กรณีนี้เป็นเรื่องของการทำนาของชาวบ้านโดยทั่วไปที่มีที่นาเป็นมรดกตกทอด  แต่ดั้งเดิมนั้นแต่ละครอบครัวดูจะมีนาอยู่หลายสิบไร่  จนถึงช่วงเวลาหนึ่งของความเจริญทางเศรษฐกิจ ลูกหลานได้เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตไปอยู่ในระบบทำงานรับจ้าง คนช่วยทำงานในกระบวนการทำนาลดจำนวนลงและหายไป ความสามารถในการทำนาในผืนนาที่เป็นเจ้าของจึงเกิดข้อจำกัด ผนวกกับมีเรื่องของการแยกครัวเรือน การแบ่งทรัพย์สิน มีการขายที่ดิน ....  เหล่านี้ล้วนส่งผลให้พื้นที่ผืนนาของแต่ละครัวเรือนโดยทั่วๆไป ดูจะเหลืออยู่ในเกณฑ์น้อยกว่า 10 ไร่ (ประมวลจากข้อมูลที่ได้การพูดคุยสอบถามชาวบ้านตั้งแต่สมัยทำงานจนถึงในปัจจุบัน) ซึ่งก็มีเป็นจำนวนมากที่แปรสภาพไปเป็นชาวนาที่ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง คือเคยมีแต่ได้แล้วขายที่ดินไปแล้ว เปลี่ยนสภาพ กลายเป็นชาวนาที่ต้องเช่าพื้นที่ทำนา  การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายดูจะเริ่มในช่วงตั้งแต่ประมาณปี 2520 เป็นต้นมา

ที่ดูจะไม่เปลี่ยนไปเลย ที่ผมเห็นก็คือตรรกะของระบบที่ชาวบ้านใช้ ซึ่งเป็นไปเพื่อให้สามารถดำรงชีพแบบอยู่รอดได้ในแต่ละปี     ตรรกะของคนในเมืองตั้งอยู่บนฐานของเงินตราเพื่อนำไปใช้ทำให้ตนอยู่รอด  ในขณะที่ตรรกะของชาวบ้านต้้งอยู่บนฐานของการอยู่รอดด้วยการใช้ประโยชน์ในสิ่งที่ตนมี   สิ่งแวดล้อมรอบตัวของคนในเมืองเกือบทั้งหมดเป็นอนินทรีย์วัตถุ ต้องใช้พลังภายนอกเพื่อขับเคลื่อนมันให้เกิดประโชน์  ต่างกับของชาวบ้านที่เกือบทั้งหมดเป็นอินทรีย์วัตถุที่ใช้พลังภายในเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดประโชน์   ก็กำลังขยายความว่า การปลูกข้าวของชาวบ้านนั้น กำไรที่ได้มาตลอดทั้งปีสำหรับข้าวที่ปลูกได้มาก็คือ ครอบครัวได้ใช้ในการบริโภค ใช้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อประโยชน์อื่นใด ... ฯลฯ  เงินส่วนที่ขายข้าวได้ก็จะเป็นเงินส่วนที่จะใช้ประโยชน์ต่างๆในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวและของตนเองให้ดีขึ้น  แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบปัจจุบันนี้ เงินส่วนที่ชาวนาจะใช้เพื่อพัฒพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น ก็ยังคงได้รับในเชิงปริมาณไม่ต่างไปจากเดิม แต่ค่าของเงินได้เปลี่ยนแบบลดลงไป  อีกทั้งบรรดา windfall profit ที่เกิดขึ้นในระบบการค้าข้าวทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ภาคเอกชนและภาครัฐได้มานั้น ชาวนาก็ดูจะยังไม่มีส่วนร่วมได้ประโยชน์ไปกับเขา ?? 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 07 ธ.ค. 23, 19:14

ขยายความต่อให้ครบเรื่อง 

ย้อนกลับไปหน่อยนึงว่า ราคาข้าวที่ขายไปในทันทีที่เกี่ยวเสร็จนั้นเป็นข้าวที่มีความชื้น ราคาจึงค่อนข้างต่ำ  ตามปกติก็จะต้องตากให้แห้งก่อนขาย  ราคากลางของข้าวเปลือกที่ซื้อขายกันในตลาดนั้นตั้งอยู่บนฐานของความชื้นที่ 15% 

ก็มีภาพอีกภาพหนึ่งที่ชวนให้คิด   เคยได้มีโอกาสนั่งกินข้าวกับพ่อค้าข้าวรายใหญ่ในระดับตลาดโลกครั้งหนึ่งที่ออสเตรีย ได้รู้ว่าการซื้อขายข้าวในตลาดระดับนั้น ปริมาณข้าวที่ซื้อขายส่งมอบกันนั้นอยู่ในตัวเลขของหลักหลายแสนหรือหลักล้านตัน  ข้าวในปริมาณระดับนี้ ยากที่จะหาได้จากแหล่งผลิตแหล่งเดียว(ประเทศผู้ผลิต) ก็จะต้องหาเอาจากหลายแหล่งผลิตมารวมกันเพื่อการส่งมอบ  ความน่าสนใจอยู่ที่ ก็แสดงว่าข้าวที่ซื้อขายกันนั้น มันมิใช่คละพันธุ์กันไปทั้งหมดหรือ ??  ก็คงจะมีแต่เพียงการแยกระหว่างข้าวเมล็ดยาวที่เรียกว่า Long grain rice หรือ Indica rice  กับ ข้าวเมล็ดสั้นที่เรียกกันอย่างง่ายๆว่า Japonica rice ??     

ก็สื่อให้ชวนคิดว่า ภาพในลักษณะเช่นนี้จะเห็นในบ้านเราได้บ้างหรือไม่ ??   ข้าวสารที่เราซื้อกินกันนั้น ส่วนมากจะซื้อข้าวที่มีข้อความเขียนบอกว่าเป็นข้าวหอม (Jasmine rice) ซึ่งอาจจะซื้อมาโดยที่นึกถึงการได้มาซึ่งข้าวหอมมะลิ 105 (กข.105 ) ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง (Hommali rice)    แท้จริงแล้ว ที่เรียกว่าข้าวหอมนั้นอาจจะเป็นข้าวขาวที่มีกลิ่นหอมพันธุ์ต่างๆที่ปลูกกันในพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 07 ธ.ค. 23, 19:25

    อาจออกนอกนาข้าวไปหน่อย แต่ยังอยู่ในขอบเขตข้าวหอมมะลิ 
   คุณตั้งอ่านข่าวนี้หรือยังคะ
   ข่าวจาก The Rice Trader (TRT)แจ่งว่าในการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก (The World’s Best Rice 2023 )ในการประชุมข้าวโลก (2023 International IWRC) ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผลออกมาว่า ข้าวสายพันธุ์ ST25 ของเวียดนาม ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2566 เอาชนะพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดราว 30 ตัวอย่าง จากหลายประเทศ

ทั้งนี้ มีข้าว 3 พันธุ์เท่านั้น ที่ผ่านเข้ารอบ 3 อันดับแรก ได้แก่ พันธุ์ข้าวจากกัมพูชา พันธุ์ข้าวจากอินเดีย และพันธุ์ข้าวจากเวียดนาม

ก่อนหน้านี้  ในปี 2563-2564 ข้าวหอมมะลิ 105 จากไทย ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน แต่แล้วในปี 2565 ก็พลิกล็อกหล่นลงอันดับ 2  ข้าวหอมมะลิผกาลำดวนของกัมพูชาแซงหน้าคว้าแชมป์ไปได้

พอถึงปี  2566  ข้าวไทยก็หล่นไม่ติดอันดับ 1 ใน 3 อันดับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 08 ธ.ค. 23, 09:35

ก่อนหน้านี้  ในปี 2563-2564 ข้าวหอมมะลิ 105 จากไทย ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน แต่แล้วในปี 2565 ก็พลิกล็อกหล่นลงอันดับ 2  ข้าวหอมมะลิผกาลำดวนของกัมพูชาแซงหน้าคว้าแชมป์ไปได้

พอถึงปี  2566  ข้าวไทยก็หล่นไม่ติดอันดับ 1 ใน 3 อันดับ


วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ที่ข้าวไทยไม่ติด ๑ ใน ๓ นั้น  เพราะว่าปีนี้ไทยไม่ได้ส่งข้าวร่วมประกวด เนื่องจากสมาคมมองว่าการประกวดครั้งนี้ไม่มีความเป็นกลาง  ซึ่งหลังจากนี้ไปสมาคมฯจะไม่ส่งข้าวเข้าประกวดอีก ส่วนเอกชนรายไหนต้องการจะส่งข้าวประกวดก็สามารถส่งไปในนามบริษัทได้

https://www.thaipbs.or.th/news/content/334644

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 08 ธ.ค. 23, 18:49

เรื่องข้าวนี้มีประเด็นชวนให้คิดและน่ารู้ค่อนข้างมาก   ข้าวจากพันธุ์เดียวกันจากนาเดียวกัน เก็บเกี่ยวแล้วทำให้แห้งด้วยวิธีการต่างกัน (ตากแดดหรืออบ) เก็บในฉางข้าวแบบมีหรือไม่มีการใช้สารเคมี เอาไปสีให้เป็นข้าวสารด้วยวิธีการที่ต่างกัน (นึ่งหรือไม่มีการนึ่งก่อนสี) ได้ข้าวสารมาแล้วเก็บแบบมีการใช้สารเคมีกันมอดหรือไม่มี  เอาไปหุงเป็นข้าวสุกด้วยวิธีการที่ต่างกันก็ล้วนจะใด้ข้าวสุกที่มีความนิ่ม ความหอมที่แตกต่างกัน อีกทั้งการใช้ข้าวใหม่หรือข้าวเก่า การหุงข้าวแบบใช้เตาถ่าน ใช้เตาแกส หุงแบบเทน้ำ หุงแบบใช้หม้อไฟฟ้า หุงแบบนึ่ง/อบด้วยกระทะใบบัว ทำให้สุกแบบการทำ Paella  การหลามด้วยกระบอกไม้ไผ่ ....   โดยสรุปก็คือ เราจะได้ข้าวสวยที่มีความไม่เหมือนกันในเชิงคุณภาพ

ในประสบการณ์ที่ผ่านมา ข้าวที่ฝรั่งและแขกทั้งหลายนิยมกินกันนั้นจะเป็นข้าวพันธุ์เมล็ดยาวที่มียางข้าวน้อย คือเมื่อหุงสุกแล้วจะเป็นข้าวสวยแบบเมล็ดข้าวร่วน ข้าวที่ว่าดีของพวกเขาเรียกกันว่าข้าว Basmati  ดูจะมีแต่ในเอเซียเท่านั้นที่กินข้าวสวยเมล็ดยาวแบบมียางข้าว เรียกกันว่าข้าว indica  และก็มีเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้นที่นิยมกินข้าวเมล็ดสั้น เรียกกันว่าข้าว Japonica     ก็จนกระทั่งเมื่อสักประมาณ 40 ปีมานี้กระมัง ที่ฝรั่งเริ่มหันมากินข้าวแบบมียางข้าว ซึ่งดูจะสืบเนื่องมาจากการมีการรับผู้อพยพชาวลาว เวียดนาม และเขมร เป็นจำนวนมาก  เมื่อชุมชนของพวกเขาเริ่มแข็งแรง ก็เกิดมีการเปิดร้านขายของชำเอเซียกระจายมากขึ้น เกิดมีสินค้าของไทยไปปรากฏตัวมากขึ้น เช่น ปลาร้า ปลาเค็ม มะเขือเปาะ ลิ้นฟ้า(เพกา) น้ำพริกเผา ผักกุยฉ่าย(ลาวและเวียดนามนิยมกิน) ซอสพริกศรีราชา น้ำพริกเผา ข่า ตะไคร้ พริกสด ยาหม่อง......   อาหารไทยหลายอย่างก็ได้เริ่มเป็นที่รู้จักและน่าทดลองกินของฝรั่ง ซึ่งดูจะเป็นช่วงเวลาแรกๆของการแจ้งเกิดของอาหารไทยหลายๆในตลาดโลก เช่น แกงเขียวหวาน ฉู่ฉีปลา ผัดซีอิ๊ว ผัดไทย ผัดกระเพรา ต้มยำ และไก่ย่าง ส้มตำ ข้าวเหนียว ....         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 08 ธ.ค. 23, 19:29

ก็เพียงจะบอกว่า ผมมีความเห็นว่า ด้วยความต่างในด้านของกระบวนการนำข้าวมาบริโภค แล้วอะไรที่เหมาะสมควรจะนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการตัดสินใจว่าข้าวใด ? ของใคร ? มีคุณภาพเป็นเลิศ ?    จะเน้นใช้องค์ประกอบทางกายภาพ หรือจะเน้นใช้องค์ประกอบทางคุณภาพ หรือจะใช้ทั้งสององค์ประกอบในการพิจารณา  เช่น กรณีข้าวเหนียวเขี้ยวงู มีเมล็ดยาว ขาวสวย เหมาะสำหรับเอาไปทำขนมมากกว่าเอาไปนึ่งกิน  ต่างกับข้าวเหนียวสันป่าตอง หรือ กข.6 ที่เหมาะกับการเอาไปนึ่งกิน  หรือ ข้าว กข.43 ดีในเรื่องของสุขภาพ เทียบกับข้าว กข.105 ที่ดีในเรื่องของความหอมและความนุ่มนวล

ก็เป็นความเห็นแบบคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการ/วิชาการข้าว   สำหรับในเรื่องที่เป็นจริงนั้น เชื่อว่าในการประกวดนั้น เขาก็ต้องมีองค์ประกอบต่างๆกำหนดไว้ชัดเจนทั้งในด้านที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 09 ธ.ค. 23, 19:32

ก็มีเรื่องชวนให้คิดเล็กๆน้อยๆอยู่บางอย่าง ซึ่งเห็นว่าหากกลุ่มผู้ผลิตและกลุ่มผู้บริโภคร่วมกันจัดการ ก็จะยังให้เกิดประโยชน์แก่กันทั้งสองฝ่าย  จะขยายความเป็นส่วนๆแล้วค่อยเอามาประสานกัน   

เรื่องหนึ่ง ... คงทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่า ข้าวสารที่เก็บไว้ในถังข้าวที่ปิดฝาให้สนิทนั้น เมื่อเก็บไว้นานก็จะเกิดมีตัวมอดข้าวสารเดินกันอยู่ในถังเก็บข้าว ซึ่งจะต่างไปจากข้าวสารในถุงๆละ 5 กก.ที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะเก็บได้นานและไม่มีตัวมอด เหตุที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากข้าวนั้นได้ผ่านการรมยามา   ข้าวที่ไม่ผ่านการรมยาหนีไม่พ้นที่จะต้องมีมอดเกิดขึ้น วิธีกันมอดง่ายที่ใช้กันทั่วๆไปก็คือ ใช้ใบมะกรูดสดปริมาณหนึ่งใส่ลงไปในถังเก็บช้าว  ก็มีแบบที่ใช้พริกแห้งเช่นกัน   และหากต้องการจะไล่มอดในถังเก็บข้าว ก็ใช้วิธีเอาถังข้าวไปตั้งไว้ในที่มีแดดหรือแสงสว่างมากๆ เปิดฝาถังแล้วตั้งทิ้งไว้ มอดก็จะพากันออกมาเดินพาเรดไต่ขึ้นขอบถังหนีออกไป    มอดในข้าวเปลือกก็มี แต่มันจะถูกคัดออกโดยอัตโนมัติเมื่อผ่านกระบวนการสีให้เป็นข้าวสาร

อีกเรื่องหนึ่ง ... ก็คงทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่า พืชผักผลไม้ชนิดเดียวกันที่ปลูกในพื้นที่ๆมีลักษณะทางกายภาพที่ต่างกัน (ดิน น้ำ อากาศ...) จะให้ผลผลิตที่มีความต่างกันในเชิงของคุณสมบัติด้านกายภาพและด้านคุณภาพ ซึ่งเหมาะกับการนำไปใช้บริโภคที่ต่างวิธีการและต่างรูปแบบกัน  ข้าวก็เช่นกัน ในปัจจุบันนี้เราเริ่มเลือกบริโภคข้าวโดยคำนึงถึงแหล่ง/พื้นที่ๆปลูก  เช่น ข้าวหอมมะลิเชียงราย  ข้าวหอมมะลิศรีสะเกษ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ....   หรือเลือกใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูของ อ.แม่จัน เชียงราย  เลือกใช้ข้าวสังข์หยดของ พ้ทลุง  เลือกใช้ข้าวดอกข่าของ พังงา เพื่อใช้ในอาหารบางชนิด    เหล้าอาวาโมริ เหล้าเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่มีแหล่งผลิต(ประมาณ 40 โรงงาน)อยู่ในเกาะโอกินาวา เป็นเหล้าที่มีราคาสูงของญี่ปุ่น ใช้ข้าวหอมของไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตเท่านั้น  มีเหล้าสาเกของญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากที่ใช้ข้าวเฉพาะพื้นที่ในการผลิตเพื่อรักษาเอกลักษณ์ กระทั่งข้าวที่ใช้ทำซูชิก็ยังมีการเลือกใช้ข้าวจากแหล่งผลิตเป็นการเฉพาะ       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 10 ธ.ค. 23, 18:57

ต่อเรื่องของญี่ปุ่นอีกเล็กน้อยครับ

้เคยมีโอกาสร่วมอยู่ใน Petit forum ของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแสดงถึงเรื่องพัฒนาการและความก้าวหน้าในด้านต่างๆที่ญี่ปุ่นมี จัดเป็นกลุ่มเล็กสำหรับนักการทูตที่มีความสนใจ ครั้งละประมาณ 20 คน ปีละ3-4 ครั้ง  ครั้งหนึ่งเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันอย่าง win-win ระหว่างอุตสาหกรรมผลิตสาเก การปลูกข้าว สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว เป็นโครงการในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่นที่เกิดผลสัมฤทธิ์อย่าง win-win จริงๆ คือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทุกอาขีพ ล้วนได้รับผลที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงของรายได้และคุณภาพชีวิต

ปัญหาที่มีมาแต่ดั้งเดิมนั้นก็คือ น้ำเสียจากโรงงาน การปลูกข้าว ผลผลิตและการขายข้าว สิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปแย่ลง(หิ่งห้อยหายไป) นักท่องเที่ยวหายไป ผลสรุปรวมก็คือ รายได้ของโรงงานและของชาวบ้านต่างก็ลดลง เข้าสู่สภาวะเริ่มอยู่ลำบากมากขึ้น     ทั้งภาคโรงงาน ชาวนา และชาวบ้าน จึงหันหน้ามาจับเข่าคุยกัน สรุปออกได้ว่าจะร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วน  ก็เริ่มต้นด้วยการมีความเห็นตรงกันว่า หากน้ำที่มีปรากฎอยู่ในพื้นที่เป็นน้ำที่สะอาด ก็ย่อมหมายถึงการเป็นพื้นที่ๆมีคุณภาพของสิ่งแวดล้อมใกล้กับธรรมชาติแต่เดิม  สิ่งบ่งชี้ว่าสิ่งแวดล้อมมีความสะอาดและคุณภาพดีก็คือ หิ่งห้อย (ทิ้งถ่วง ชื่อน่ารักดี  ยิงฟันยิ้ม)  กรรมการผู้ตรวจสอบผลความสำเร็จของการดำเนินการต่างๆก็ควรจะเป็นเด็กที่จะช่วยกันรายงานว่าพบที่ใดบ้างและมากน้อยเพียงใด (ข้อสำคัญคือไม่น่าจะมีการโกหก)

ผลสรุปสุดท้ายที่เป็นรูปธรรมก็คือ บนพื้นฐานของข้อมูลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมชาติที่ดี  สาเกของโรงงานในก็เป็นที่นิยมและขายดี เพราะใช้ว้ตถุดิบ(ข้าว)ที่ปลูกในพื้นที่ๆมีน้ำสะอาด ยังผลต่อเนื่องให้เปลี่ยนสภาพการทำนาไปเป็นแบบ Contract farming  มีรายได้ที่มั่นคง  มีนักท่องเที่ยวมาดูหิ่งห้อยและพักผ่อน ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายของและที่พักแรมแบบเรียวกัง (Ryokan) ทุกคนในพื้นที่ล้วนได้มีชีวิตที่มีความสุขอย่างพอเพียง     
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 19 คำสั่ง