เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 8265 ชาวบ้านกับการทำนาข้าว
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 08 ม.ค. 21, 18:57

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่ามูลของสัตว์ทั้งหลายนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยได้ดี แต่มันจะต้องทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปใช้ (ของสดๆนำไปใช้ไม่ได้ ชาวบ้านใช้คำว่ามันยังร้อนอยู่) ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็คือการปล่อยให้มันเกิดการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ต่างๆให้สมบูรณ์เสียก่อน เรียกกันว่า ปุ๋ยคอก    การย่อยสลายของพืชก็ใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน เพียงแต่บางส่วนของพืชอาจจะย่อยสลายได้ช้ามาก (หรืออาจจะสังเกตเห็นว่าไม่มีเอาเสียเลย) ดูจะเรียกกันว่า ปุ๋ย(พืช)สด    ต่อมาก็พัฒนามาเป็นปุ๋ยหมักโดยเอาทั้งมูลสัตว์และส่วนของพืชมาผสมกัน แต่คงจะเป็นด้วยอัตราการย่อยสลายที่ไม่เท่ากันของสารอินทรีย์ของสัตว์และจากพืช ก็เลยเอาจุลินทรีย์ที่มีการเพาะ (culture) ใส่เพิ่มเข้าไปช่วยให้มันเกิดการย่อยสลายที่สมบูรณ์ ได้ปุ๋ยที่เรียกกันว่า ปุ๋ยหมัก   

ปุ๋ยเหล่านี้เรียกกันรวมๆว่า ปุ๋นอินทรีย์   ไม่นานก็เกิดปุ๋ยอินทรีย์ในรูปแบบใหม่ขึ้น ก็คือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีการผสมปุ๋ยเคมีเล็กน้อยเข้าไปด้วย  ขอพักไว้เพียงนี้ก่อน แล้วค่อยเข้าไปในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ในบางบริบท   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 08 ม.ค. 21, 20:45

ขอขยายความเล็กน้อยเกี่ยวกับคำว่าการย่อยสลาย  เรื่องนี้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก  แต่ลองนึกถึงความต่างของคำว่า เน่า ผุ เปื่อย ยุ่ย   จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีความต่างกันในสภาพของพื้นที่และในระดับความลึกใต้ผิวดินที่ต่างกัน   

ก็กำลังจะขยายความไปถึงเรื่องของ Aerobic และ Anaerobic environment บนความรู้พื้นฐานของกระบวนการกำเนิดทรัพยากรกลุ่ม Hydrocarbon (แกส น้ำมัน ถ่านหิน) ที่พอจะสรุปได้อย่างง่ายๆว่า การย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศกับที่มีข้อจำกัดของอากาศนั้นมีความต่างกัน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 09 ม.ค. 21, 18:48

จะขอใช้การเปรียบเทียบแบบการ์ตูนอย่างง่ายๆดังนี้   พวกจุลินทรีย์กลุมที่ใช้อากาศตามปกติ จะมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างสบาย มีอาหารไม่จำกัด พวกมันก็เลยมีโอกาสที่จะเลือกกินแต่ส่วนที่ง่ายๆของพืช กินได้เร็ว เหลือทิ้งไว้แต่ส่วนที่กินยาก  ต่างกับพวกจุลินทรีย์กลุ่มที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศจำกัด พวกนี้ไม่มีโอกาสในการเลือกมากนัก อะไรที่กินได้ก็จะต้องกิน กินได้ช้า     คิดว่าคงจะเคยเห็นความต่างระหว่างพืชที่เน่าเปื่อย (rotten) ผุพัง (decay) และย่อยสลาย (decompose) ที่อยู่บนผิวดิน กับพืชที่เน่าเปื่อยผุพังและย่อยสลายที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน

ปุ๋ยหมักก็เกิดจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์เหล่านี้เป็นหลัก แต่ก็มีสัตว์พวกแมลง หนอน และใส้เดือน เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 09 ม.ค. 21, 20:27

ในการทำปุ๋ยที่มีการแนะนำให้ใช้ EM เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุนั้น  ในระหว่างการหมักปุ๋ยก็จะต้องมีการรักษาระดับความชื้นด้วยการรดน้ำ มีการพลิกเพื่อให้วัสดุส่วนล่างได้มีโอกาสสัมผัสกับอากาศและเป็นการทำให้กองวัสดุเกิดความโปร่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการใช้ผ้าใบหรือผ้าพลาสติกสีดำคลุมกองวัสดุนั้นด้วย 

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า  ในการพลิกกองวัสดุนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำเพื่อช่วยลดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์บางกลุ่ม เพื่อที่จะส่งเสริมให้อีกกลุ่มหนึ่งได้ทำงานอย่างเต็มที่มากขึ้น ??   แล้ว..การเอาพลาสติกมาปิดคลุมไว้นั้น ก็เพื่อลดการถ่ายเทของอากาศ แต่ไปเพิ่มบรรยกาศ(fugacity)ของแกสมีเทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของจุลินทรีย์บางพวก ??      ก็เป็นเพียงความนึกคิดดังๆของผมแบบเรื่อยเปื่อยในเรื่องที่อาจจะไม่มีสาระสำคัญใดๆเลย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 09 ม.ค. 21, 21:03

แท้จริงแล้วกระบวนการทำปุ๋ยด้วยวิธีการหมักจะเป็นเช่นใดก็ตาม ก็ล้วนเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดผลลัพท์หลักๆอยู่สองรูปแบบ คือ รุปแบบแรก เพื่อให้เกิดการแตกสลายตัวแยกย่อย (disintegration) หน่วยต่างๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวตนของวัสดุนั้นๆ ให้แยกออกมาเป็นแต่ละหน่วยย่อยเล็กมากๆให้ได้มากที่สุดทั้งในรูปของโครงสร้างทางกายภาพและทางเคมี   อีกรูปแบบหนึ่งก็เพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางชีวะเคมีบางอย่าง   

ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่า ในระหว่างการหมักจะมีการขยายตัวของวัสดุที่หมัก มีแกส มีกลิ่น มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของแต่ละหน่วยในกองวัสดุนั้นๆ จนในที่สุด วัสดุกองโตๆนั้นก็ลดขนาดลง ยุบลงไปเป็นขนาดที่ย่อมกว่าแต่แรกค่อนข้างมาก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 10 ม.ค. 21, 18:54

เรื่องของปุ๋ยอินทรีย์ที่ข้ามมานั้น  มีเอกสารทางวิชาการเผยแพร่อยู่มากมาย  แต่หากสนใจประเภทที่แปลกๆออกไปก็คงจะต้องหาโอกาสไปนั่งคุยกับชาวบ้านที่เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน โดยเฉพาะพวกที่เขามีพื้นที่ทำการเกษตรของตนเองและมีการลงมือทำเอง   ได้ไปดู ไปเห็นเขาทำกันจริงๆ ไปคุยด้วยแล้ว ก็จะรู้สึกทึ่งเหมือนกันว่า ด้วยข้อจำกัดทางด้านการเงิน เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆเหล่านั้น เขาสามารถนำสรรพสิ่งที่มีอยู่รอบตัว นำมาดัดแปลง จัดประกอบกัน จัดการวางผังพื้นที่งาน และทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบ เขามีนา มีบ่อน้ำหลัก 1 บ่อ บ่อน้ำเล็ก 1 บ่อ  มีควาย 3-4 ตัว มีหมู 2-3 ตัว   ก็ทำคอกเลี้ยงควาย ใช้ฟางข้าวและอื่นๆให้กิน เก็บขี้ควายมาเป็นวัตถุดิบในการทำแกสใช้สอยในครัวเรือน  ขุดหลุมทำคอกหมู ใช้แกลบรองพื้น เลี้ยงหมูแบบที่เรียกว่าหมูหลุม  ทำน้ำ EM จากหยวกกล้วยและพืชอื่นๆ    นำขี้ควายที่เหลือจากการปล่อยแกสออกไปแล้ว ก็เอามาผสมกับแกลบที่ใช้เลี้ยงหมู ผสมกับวัชพืชอื่นๆและใช้น้ำ EM ก็จะได้เป็นปุ๋ยคอก  นำปุ๋ยคอกเท่าที่พอมีไปใช้ในการทำสวนทำนา   ผมชอบที่จะไปนั่งคุยกับเขา(หากมีโอกาสเดินทางผ่านและมีช่องเวลา) ก็จะมีอาหารในเมืองและน้ำอมฤตไปฝากกันตามสมควร 

ขยายความต่ออีกนิดครับ ตามขอบบ่อน้ำหลักมีการปลูกต้นไม้พืชผลกินได้ต่างๆ (เพกา เสี้ยว ฯลฯ) และพืชสวนครัว มีการปลูกหญ้าแฝกบริเวณตลิ่ง ชายน้ำข้างบ่อมีการปล่อยหอยลายน้ำจืด อยู่กันเป็นกลุ่ม งมเก็บได้ไม่ยาก (เอามานึ่งกับตะไคร้ให้สุก อร่อยนัก) ในบ่อเล็ก มีการเอากิ่งไม้ไปโยนไว้เพื่อให้หอมขมได้อยู่ตามแบบที่มันชอบ  ทำคอกเลี้ยงไก่ก็เลยได้ไข่ไก่สดกินทุกวัน    กินดี อยู่ดี เพียงพอ และพอเพียง ครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 10 ม.ค. 21, 19:19

ผมเคยสนทนากับผู้ผลิตข้าวอินทรีย์เจ้าเล็กๆเจ้าหนึ่ง เขาเคยได้รับรางวัลใหญ่ในเรื่องนี้ แต่จะเป็นประเภททใดก็ไม่ทราบ  บังเอิญว่านาที่เขาทำอยู่ไม่ไกลจากที่ผมอยู่มากนัก และเป็นประเภทนาน้ำฝนจริงๆ  ถามเขาว่า เขาคุมพวกหญ้าที่ขึ้นมาแข่งกับต้นข้าวอย่างไร คำตอบคือ เขาใช้วิธีการถอนครับ   ทำให้ผมเกิดคิดขึ้นมาว่า การจะใช้คำว่าเกษตรอินทรีย์นั้นดูจะมีอยู่หลายทางในการปฎิบัติ  ก็พอจะเข้าใจในภาพรวมๆอยู่ แต่ก็ชักไม่ค่อยจะแน่ใจในรายละเอียด โดยเฉพาะในกรณีหากมีการปรับปรุงสภาพดินโดยการใช้แร่ธาตุบางอย่าง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 10 ม.ค. 21, 20:48

คิดว่าท่านทั้งหลายน่าจะพอทราบอยู่แล้วว่า พื้นที่เริ่มต้นของการนำข้าวไปพัฒนาต่อยอดจนเป็นข้าวหอมมะลิ กข 105 ที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้นคือ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา  พื้นที่ทำนาที่ปลูกข้าวได้คุณภาพดีของ จ.ฉะเชิงเทราเหล่านั้น เท่าที่จำได้จากการไปสัมผัสและที่ได้เดินสำรวจเล็กๆน้อยๆนานมาแล้วนั้น พื้นที่นาเหล่านี้ดูจะมีผลึกของแร่ Gypsum โผล่ให้เห็นอยู่ในดินอย่างเด่นชัด     พื้นที่นาข้าวอีกแห่งหนึ่งที่มีผลผลิตข้าวที่สมบูรณ์ดี อยู่ในพื้นที่รอยต่อของ จ.นครสวรรค์ พิษณุโลก และพิจิตร  พื้นที่นี้ก็เป็นพื้นที่ๆมีแหล่งแร่ยิบซั่มอยู่ใต้ผิวดิน   อีกทั้งในยุโรปและอเมริกาก็มีการใช้แร่ยิบซั่มใส่ลงไปในพื้นที่การเกษตรเพื่อการปรับปรุงดิน 

ก็เลยพอจะสรุปเอาดื้อๆได้ว่า แร่ยิบซั่มน่าจะเอามาใช้ในการปรับปรุงดินที่ใช้ในการทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี  แท้จริงแล้วก็มีเอกสารทางวิชาการมากมายที่นำเสนอผลการศึกษาและการค้นคว้าสืบเรื่อง (literature review) และให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการใช้ยิบซั่มในการปรับปรุงดินตั้งแต่ในอดีตจนในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 11 ม.ค. 21, 18:58

ได้กล่าวถึงแร่ยิบซั่มที่เอามาใช้เป็นปุ๋ยและปรับปรุงดิน หมายถึงการใช้แร่ยิบซั่มที่พบเป็นแร่อยู่ในธรรมชาติจริงๆ คือมีส่วนประกอบทางเคมี CaSO4.2H2O  เป็นสารประกอบที่มีน้ำอยู่ในตัว 2 หน่วย หากไม่มีน้ำอยู่ในตัวเลยจะกลายเป็นอีกแร่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Anhydrite    แผ่นยิบซั่มที่เอามาทำฝ้าเพดานหรือใช้กั้นห้องนั้น ก็เป็นยิบซั่มอีกแบบหนึ่งที่สร้างมันขึ้นมาด้วยการเอาแร่ยิบซั่มที่มีน้ำอยู่ในตัว 2 หน่วยนั้น เอามาอบหรือคั่วที่ความร้อน ณ อุณหภูมิหนึ่ง เพื่อไล่น้ำสองหน่วยนั้นให้ออกไปให้เหลือเพียง 1 หน่วย

ก็เลยน่าจะมีคำถามตามมาว่า แล้วจะเอาแผ่นยิบซั่มบอร์ดที่ใช้แล้วรื้อทิ้งไป เอามาใช้เป็นปุ๋ยได้หรือไม่  เรื่องนี้ผมไม่มีคำตอบ มีแต่ความเห็นบางประการว่า แผ่นยิบซั่มที่ใช้แล้วเหล่านั้นไม่น่าจะมีความบริสุทธิ์เพียงพอที่จะนำมาใช้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตเพื่อการบริโภค ด้วยว่าที่ผ่านมามันจะต้องถูกทาสีและได้ดูดซับ polluted particles ไว้ในตัวในระหว่างการใช้งานเป็นเวลานานที่ผ่านมา แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วมันสามารถจะสามารถดูดซับความชื้นเข้าไปในตัวแล้วทำมันให้กลับไปเป็นแร่ยิบซั่มที่มีน้ำสองหน่วยอยู่ในตัวได้ก็ตาม แต่กระบวนการของการแปรเปลี่ยนกลับไปนั้นไม่ง่ายและรวดเร็วดังที่คิด   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 11 ม.ค. 21, 20:10

ก็ยังมีแร่ยิบซั่มอีกตัวหนึ่งที่ได้มาจาการสังเคราะห์ แต่มิใช่เป็นการตั้งใจที่จะสังเคราะห์ให้เกิดขึ้นมาเพื่อเอามันมาใช้ประโยชน์  เป็นเรื่องของการได้มาอันเนื่องมาจากกระบวนการกำจัดควันจากการทำอุตสาหกรรมบางอย่าง (flue gas) ที่มี Sulfur dioxide (SO2)   ยับซั่มที่ได้จากกระบวนการนี้ไม่น่าจะมีความบริสุทธ์ใดๆ เพราะจะมีตะกอนของสารประกอบอื่นๆตกลงมาร่วมด้วย   ทราบอยู่ว่ามีการศึกษาวิเคราะห์ตรวจสอบสารประกอบทางเคมีของตะกอนเหล่านี้อยู่ตลอด มีจุดประสงค์หลักเพื่อการควบคุมคุณภาพวิ่งแวดล้อมในองค์รวม  ไม่ทราบว่ามีการศึกษาวิจัยกันในเชิงของการนำไปใช้ประโยชน์อื่นใดในเชิงของการเกษตรบ้างหรือไม่ นอกเหนือไปจากเพื่อการกำจัดแบบทำให้มันเป็น inert waste ที่สมบูรณ์   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 12 ม.ค. 21, 18:53

กล่าวถึงเรื่องนี้แล้วเลยทำให้นึกถึงเรื่องเก่าเมื่อครั้งเข้าทำงานใหม่ๆ ตอนนั้น (พ.ศ.2512) เป็นช่วงแรกเริ่มของการเริ่มต้นการสร้างเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร   เป็นยุคต้นๆของความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองในพื้นที่เทือกเขาภูพาน  เขื่อนน้ำอูนสร้างขึ้นมาก็เพื่อทำระบบชลประทาน เพื่อการปรับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ของเทือกเขาภูพานในละแวกนั้น  เมื่อทำให้มีน้ำได้ก็ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพดินร่วมไปด้วย การเกษตรจึงจะได้ผล    ผมได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมเล็กๆน้อยๆในโครงการนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการนำฝุ่นของหินปูนที่ได้จากระบบการกำจัดฝุ่นในปล่องควันของโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ (ด้วยระบบ electrostatic precipitator) เพื่อจะนำไปใช้ปรับสภาพความเป็นกรดของดิน ก็เลยได้รับความรู้ทางวิทยาการหลายๆเรื่อง และยังได้รับแถมหลักคิดในเรื่องเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่น่าสนใจต่างๆอีกด้วย ปรัชญาหนึ่งก็คือ กู้เขาให้พ้นจากสภาพความอดอยากยากจน ให้เข้ามาอยู่ในสภาพมีกินมีอยู่เสียก่อน แล้วจึงทำการพัฒนาก้าวขึ้นไปสู่สภาพของการกินดีอยู่ดี   

การแก้ปัญหาการขาดน้ำบริโภคและอุปโภคในพื้นที่อิสานและพื้นที่อื่นๆของไทยเราก็เริ่มด้วยปรัชญาในลักษณะนี้ ได้เริ่มกันอย่างจริงจังและเป็นระบบด้วยการเจาะน้ำบาดาลก็เมื่อประมาณ พ.ศ.2510+/-   ถ้าจำไม่ผิด แรกๆก็บนพื้นฐานการคิดเฉลี่ยว่าผู้คนในพื้นที่ขาดน้ำยิ่งยวดเหล่านั้นควรจะมีน้ำให้ได้ใช้อย่างน้อยที่สุดประมาณ 5 ลิตรต่อคนต่อวัน  เมื่อดีขึ้นแล้วก็แสวงหาและพัฒนาการเจาะเพื่อให้ผู้คนในพื้นที่แล้งได้ใช้น้ำเฉลี่ยประมาณ 20 ลิตรต่อคนต่อวัน แล้วค่อยๆขยับขึ้นมาให้เป็นระบบประปาเพื่อให้มีน้ำใช้แบบคนในเมือง (ประมาณ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ?)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 12 ม.ค. 21, 20:24

ได้พูดถึงเรื่อง amorphous silica ไว้  ขอกลับมาต่อเรื่องว่า ก็มีหินอัคนีบางอย่างที่น่าจะมีประโยชน์ในการเอามาปรับปรุงดินได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้มิได้หมายถึงการเอาหินมาบดให้ละเอียดแล้วโปรยลงดินไป    ส่วนที่จะมีประโยชน์ของมันจริงๆจะเป็นส่วนที่มันผุพังด้วยกระบวนการที่เรียกว่า weathering      พวกแร่ประกอบหินในหินอัคนีทั้งประเภทประทุออกมาและที่ไหลออกมา ต่างก็จะมีแร่ที่มีความเสถียรที่อุณหภูมิสูง แร่เหล่านี้จะเป็นพวกที่มีส่วนประกอบเป็นธาตุที่มีโปแตสเซียมสูง มีเหล็กสูง มีแม็กนีเซียมสูง และมักจะมีแร่ปริมาณเล็กน้อยที่เป็นแร่ที่มีสารประกอบเป็นฟอสฟอรัส     แร่ประกอบหินเหล่านี้กำเนิดในบรรยากาศบางอย่างเป็นการเฉพาะ เมื่อหินเหล่านี้โผล่มาอยู่ในอุณหภูมิ ในความดันอากาศ และในบรรยากาศที่อุดมไปด้วยอ๊อกซิเจนของโลกในปัจจุบัน ความเสถียรของเขาก็ลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆในทางเคมี (alteration) แล้วตามมาด้วยการผุพัง ส่วนที่เป็นความผุพังนี้แหละที่เป็นประโยชน์ต่อดินและต่อพืชทั้งในด้านกายภาพและความสมบูรณ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 13 ม.ค. 21, 10:19

amorphous silica


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 13 ม.ค. 21, 18:00

อาจารย์โผล่มา เลยลืมเรื่องราวที่จะเดินต่อเลยครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 13 ม.ค. 21, 18:45

อ้าว เป็นงั้นไป  ไม่นึกว่าจะทำให้คุณตั้งตกใจ
งั้นต่อไปจะอ่านเงียบๆค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.479 วินาที กับ 19 คำสั่ง