เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 3133 ขออนุญาตเรียนถามถึงเทพเจ้าและสัตว์ประหลาดในความเชื่อของคนไทยภาคกลางหน่อยค่ะ
กะออม
พาลี
****
ตอบ: 222


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 03 ต.ค. 20, 18:34

มี พระขพุงผี ในจารึกสุโขทัยค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 03 ต.ค. 20, 19:07

ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ หน้า ๓ บรรทัดที่ ๖-๗

มีพระขพุงผีเทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 05 ต.ค. 20, 08:21

ท้าวหิรัญพนาสูร หรือ ท้าวหิรันยพนาสูร เทพอสูรผู้พิทักษ์รัชกาลที่ ๖

คราวเสด็จประพาสมณฑลพายัพนั้น  เสด็จโดยกระบวนเรือจากปากน้ำโพมาขึ้นบกที่ท่าอิฐ คือ เมืองอุตรดิตฐ์ เสด็จตรวจสถานที่ราชการในเมืองแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินข้ามเขาพรึงไปเมืองแพร่  ซึ่งระหว่างที่ประทับแรมในระหว่างทางที่เขาพรึงนี้ที่มีอสูรชื่อ หิรันย์ มาเฝ้าฯ  และเมื่อเสด็จเสวยราชย์แล้วได้พระราชทานนามให้หิรันย์ว่า "ท้าวหิรัญพนาสูร"

เรื่องท้าวหิรัญพนาสูร  ซึ่งมีพระราชบันทึกพระราชทานกรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงแต่งเป็นโองการสังเวยท้าวหิรัญพนาสูรเข้าสิงในรูปหล่อที่โปรดให้สร้างขึ้น เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ความว่า

เมื่อเสด็จเลียบมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๔๘  ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินข้ามเขาพรึงซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงธรรมชาติกั้นเมืองอุตรดิตถ์กับเมืองแพร่นั้น  คุณมหาดเล็กและคณะผู้ตามเสด็จซึ่งไม่เคยเดินป่ากันมาก่อนต่างก็พากัน  

“หวาดหวั่นเพราะเกรงกลัวความไข้และภยันตรายต่าง ๆ ซึ่งจะพึงมีมาได้ในกลางทางป่า  จึงได้ทรงพระกรุณาดำรัสชี้แจงว่า  ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโตจะเสด็จแห่งใดๆ ก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจฤาอสูรอันเป็นสัมมาทิฏฐิ  คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง  มิให้มากล้ำกลายพระองค์และบริพารผู้ตามเสด็จได้  ถึงในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสครั้งนี้  ก็มีผู้ป้องกันภยันตรายเหมือนกัน  อย่าให้มีผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย    ต่อนั้นไปมีผู้ที่ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินผู้หนึ่ง  กล่าวว่านิมิตฝันเห็นชายผู้หนึ่งรูปร่างล่ำสันใหญ่โต  ได้บอกแก่ผู้ที่ฝันนั้นว่า ตนชื่อหิรันย์เป็นอสูรชาวป่า  เป็นผู้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ  ในครั้งนี้จะมาตามเสด็จพระราชดำเนินไปในกระบวนเพื่อคอยดูแลระวังมิให้ภยันตรายทั้งปวงอันจะพึงบังเกิดมีขึ้นได้  ในระยะทางกลางป่านั้นมากล้ำกลายพระองค์ฤาราชบริพารได้  ครั้นทรงทราบความเช่นนั้น  จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดธูปเทียนและเครื่องโภชนาหารไปเส้นสังเวยที่ในป่าริมพลับพลา  และเวลาเสวยค่ำทุก ๆ วัน  ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องต้นไปเซ่นสรวงเสมอ”  

นับแต่นั้นจนเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ แม้จะต้องบุกป่าฝ่าดงขึ้นเขาลงห้วยไปตามภูมิประเทศที่เป็นป่ารกทึบก็ไม่ปรากฏว่า ผู้ใดในขบวนเสด็จประสบภยันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น  

“ภายหลังคราวที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพนั้น  แม้จะเสด็จพระราชดำเนินไปแห่งใด  ก่อนที่จะเสด็จจากกรุงเทพมหานคร  ราชบริพารก็ได้เคยพร้อมกันน้อมใจเชิญหิรันยอสูรให้ตามเสด็จด้วย  และโดยมากเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปโดยสวัสดิภาพแล้ว  ก็พากันกล่าวว่า เพราะหิรันยอสูรตามเสด็จไปด้วย  บางคราวบางสมัยเมื่อเสด็จประทับอยู่ในหัวเมือง  ถึงกับได้มีผู้อ้างว่าแลเห็นรูปคนรูปร่างกายใหญ่ล่ำสันยืนหรือนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใกล้ที่ประทับ  และอ้างว่าได้เห็นพร้อม  ๆ กันหลาย ๆ คนก็มี  การที่มีผู้นิยมเชื่อถือในหิรันยอสูรเช่นนั้นมิใช่แต่เฉพาะในหมู่ที่เป็นราชบริพารที่ตามเสด็จไปในกระบวน  ทั้งข้าราชการฝ่ายเทศาภิบาลก็พลอยนิยมเชื่อถือไปด้วย  การที่มีผู้เชื่อถือเช่นนี้  จะมีมูลฤาไม่อย่างไรก็ดี  ทรงพระราชดำริว่าเป็นธรรมดาคนโดยมากยังละเว้นความประสงค์ที่จะหาเทวดาฤาอมนุษย์เป็นที่พึ่งคุ้มกันภยันตรายต่าง ๆ นั้นมิได้ขาดทีเดียว  เมื่อมีที่นิยมยึดเหนี่ยวอยู่เช่นหิรันยอสูรนี้เป็นต้น  ก็มักจะทำให้เป็นที่อุ่นใจ  การที่จะเดินทางไปในที่ถิ่นกันดาร  ถ้าแม้ใจดีอยู่แล้ว  ก็มักจะไม่ใคร่เป็นอันตราย  เมื่อทรงพระราชดำริดังนี้  จึงได้ทรงตกลงเซ่นสังเวยหิรันยอสูรต่อมา  คือให้แบ่งพระกระยาเสวยจากเครื่อง  อย่างเช่นที่เคยทำมาแล้วครั้งเสด็จมณฑลพายัพนั้น  เป็นธรรมเนียมต่อมา”

ท้าวหิรันยพนาสูรองค์เล็กที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ปั้นหล่อไว้มีอยู่ด้วยกัน ๓ องค์

องค์หนึ่งทรงเก็บไว้ประจำพระองค์  มีคุณมหาดเล็กเชิญตามเสด็จเวลาแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่ต่างๆ  ปัจจุบันเป็นพระราชมรดกในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  

องค์หนึ่งพระราชทานไว่ที่กรมบัญชาการกลางสถาจางวางมหาดเล็ก  เมื่อยุบเลิกกรมบัญชาการกลางมหาดเล็กในตอนต้นรัชกาลที่ ๗ แล้ว  คงเก็บรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวัง  

องค์หนึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่หน้ารถยนต์พระที่นั่งสีม่วงแก่  ภายหลังปลดระวางรถยนต์พระที่นั่งองค์นั้นแล้ว  ชาวพนักงานกองพระราชพาหนะได้อัญเชิญรูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูรขึ้นประดิษฐานไว้บนหิ้งบูชาภายในหมวดรถยนต์หลวง  ริมถนนราชวิถี  ใกล้รัฐสภา  ที่เรียกกันว่า "หมวดนอก"

เทพอสูรองค์นี้น่าจะอยู่ในสเปกของคุณดาว  ยิงฟันยิ้ม

รูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูรองค์ที่ประดิษฐานไว้ที่หน้ารถยนต์พระที่นั่ง


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 05 ต.ค. 20, 09:40

คำให้การของ ปู่เจ้าสมิงคา

เรื่องมันมีอยู่ว่าในแผ่นดินสยามของคนไทยทั้งชาตินี้ แบ่งเขตการปกครองโดยฝ่ายเทพวิญญาณออกเป็น ๖ ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ในแต่ละภาคได้จัดให้มีเทพแต่ละองค์ปกครองดูแลรักษากัน ในเขตพื้นที่บริเวณตามการรับมอบเทวอำนาจจากเทวบัญชา หรือเทวโองการ ขององค์อิศวรมหาเทพ และองค์อมรินทราธิราช เทพนายก ดังต่อไปนี้

๑. ภาคเหนือ เป็นเขตในอำนาจปกครองของ ปู่เจ้าสมิงพราย
๒. ภาคกลาง เป็นเขตในอำนาจปกครองของ ปู่เจ้าเขาเขียว
๓. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เป็นเขตในอำนาจปกครองของ ปู่เจ้าจำปาศักดิ์
๔. ภาคตะวันตก เป็นเขตในอำนาจปกครองของ ปู่เจ้าประภัสสร
๕. ภาคใต้ เป็นเขตในอำนาจปกครองของ ปู่เจ้าสมิงคา
๖. สำหรับภาคตะวันออก นั้นขณะนี้ยังมิได้แต่งตั้งเทพองค์ใดให้ปกปักรักษา คงฝากการปกครองบังคับบัญชาไว้กับ ปู่เจ้าจำปาศักดิ์

เนื่องจากเทพผู้ปกครองดินแดน เขตแคว้นตะวันออกนี้ ได้ถูกโยกย้ายขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่อยู่กับสมเด็จพระอมรินทราธิราชนานมาแล้ว จึงทำให้ตำแหน่งนี้ว่างอยู่ และกำลังพิจารณาแต่งตั้งเทพวิญญาณที่เหมาะสม (ตั้งปู่เจ้าเขาเขียวแล้ว)

อันเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาเขตแค้วนแดนดินทั่วประเทศสยามทั้ง ๖ ภาคนี้ ทั้ง ๕ องค์ ล้วนขึ้นอยู่กับสมเด็จพระสยามเทวาธิราชผู้เป็นใหญ่ และการแต่งตั้งเทพวิญญาณ เพื่อปกปักรักษาเขตแค้วนแดนดินในภาคต่าง ๆ ก็จะต้องปรึกษาหารือกับ สมเด็จพระสยามเทวาธิราช ก่อนเสมอเดิมทีเคยมีเทพดำริทรงพิจารณาจะแต่งตั้ง ปู่เจ้าท้าวหิรัญพนาสูรย์ แต่ท่านองค์นั้นขอตัวไม่รับตำแหน่ง เพราะกำลังต้องการบำเพ็ญบารมีเพื่อใช้หนี้กรรมที่เคยทรงเป็นพรานป่ามาก่อน

แม้บัดนี้พระทัยจะบริสุทธิ์แล้วและได้สร้างบารมีมามากแล้ว จนมีพระทัยเยือกเย็นสุขุมคัมภีรภาพ มีเมตตากรุณาธิคุณสูงแล้วก็ตาม แต่พวกวิญญาณทั้งหลาย ก็ยังหวาดกลัวอยู่ โดยเฉพาะวิญญาณสัตว์ป่า

ด้วยเหตุนี้ ท่านท้าวหิรัญพนาสูรย์จึงไม่ยอมรับตำแหน่ง เทพเจ้าผู้ปกปักรักษาภาคตะวันออก ครั้นจะแต่งตั้งวิญญาณดวงอื่น ก็ยังไม่มีวิญญาณที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเลย ตรงข้ามมีอยู่มาก แต่ท่านไม่ปรารถนาจะรับกัน เพราะท่านไม่อยากมายุ่งกับโลก ยุ่งกับมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ที่เบียดเบียนชีวิตฆ่าฟัน ประหัตประหารกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน

จาก ประสบการณ์เกี่ยวกับวิญญาณของ พล.ท.สมาน วีระไวทยะ ตอน ปู่เจ้าสมิงคา (ทวดเสือ) เทพเจ้าผู้ปกปักรักษาภาคใต้
ถ่ายทอดโดย ทองทิว สุวรรณทัต


เรื่องนี้เกี่ยวกับความเชื่อ ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของคุณดาวและเพื่อน ๆ ชาวเรือนไทยทุกท่าน  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 06 ต.ค. 20, 08:26

ขอบพระคุณที่มาเพิ่มเติ่มให้ค่ะ ถ้ามีอีกก็เพิ่มเติมได้เรื่อยๆนะคะ
บันทึกการเข้า
กะออม
พาลี
****
ตอบ: 222


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 12 ต.ค. 20, 08:20

เพิ่งนึกได้ว่าในสมัยอยุธยามี พระเชษฐบิดร ซึ่งเป็นพระรูปพระเจ้าอู่ทองเป็นที่เคารพสูงสุด ในพิธีถือน้ำข้าราชการไปถวายบังคมก่อนอื่นใด ประเพณีปฏิบัตินี้ยกเลิกตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 12 ต.ค. 20, 09:24

เรื่องพระเทพบิดร หรือพระเชษฐบิดรนั้น ได้เคยพบในพระราชกำหนดใหม่แห่งกฎหมายซึ่งหมอปลัดเลตีพิมพ์ ได้เปิดขึ้นตรวจดูครั้งนี้อีก อยู่เล่ม ๒ หน้า ๕๐๒ บทที่ ๔๐ กล่าวเลเพลาดพาดเป็นใจความว่าคนแต่ก่อนเมื่อครั้งกรุงเก่า เวลาถือน้ำตรุษสารทก็ไปไหว้พระเชษฐบิดรก่อนคนเดี๋ยวนี้ก็ทำตาม เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ทั้งนี้เป็นด้วยพระเจ้าแผ่นดินหลงมัวเมายกพระองค์ ทำให้คนขาดพระไตรสรณาคม แต่นี้ต่อไปถึงเพลาถือน้ำตรุษสารท ให้นมัสการพระรัตนตรัยแล้วแผ่เมตตาจิต พระราชกำหนดนี้ตราไว้ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ (เสวยราชย์ได้ ๔ ปี)

พระราชกำหนดนี้ “อิน” มากเต็มที่ แปลว่าท่านผู้แก่วัดแต่งไปเที่ยวเมืองเขมรดูปราสาทหินต่าง ๆ สังเกตเห็นเป็นเทวสถานโดยมาก ที่เป็นพุทธสถานมีน้อย ซ้ำถูกแกล้งแปลงเป็นเทวสถานเสียก็มี เห็นได้ว่าเวลาโน้นพุทธศาสนกับไสยศาสตร์แข่งแย่งกัน พระ พุทธศาสนาออกจะแพ้ พระเจ้าอู่ทองอยู่ในยุคที่ศาสนาแข่งแย่งกัน คนครั้งนั้นแม้ไหว้รูปเทวดาอารักษ์ก็ควรจะอภัย จะปรับว่าขาดพระไตรสรณาคมและมหากษัตริย์มัวเมาเห็นจะหนักมือเกินไป

ตามพระราชกำหนดใหม่บทที่ ๔๐ นั้น เป็นอันฟังได้ว่ารูปพระเจ้าอู่ทองนั้นเดิมเป็นเทวรูป ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้เชิญลงมาไว้ในกรุงเทพฯ แล้ว เพราะเห็นว่าไหว้ขาดพระไตรสรณาคมจึงได้แก้เป็นพระพุทธรูป ข้อนี้เป็นหลักอันหนึ่งแน่ และในการแก้นั้นต้องว่าหล่อใหม่ ถ้าบวชเทวรูปเป็นพระพุทธรูปก็คงเห็นปรากฏอยู่

จาก https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๑/ตุลาคม/วันที่-๒๒-ตุลาคม-พศ-๒๔๘๑-น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 12 ต.ค. 20, 09:58

ในการเปลี่ยนราชประเพณี “ถือน้ำพระพัทสัจา” หรือ ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยรัชกาลที่ ๑ ดังปรากฏในกฎหมาย “พระราชกำหนดใหม่” ในหนังสือกฎหมายตราสามดวง ประกาศเมื่อปี ๒๓๒๘ ขึ้นปีที่ ๔ แห่งรัชสมัย

ประกาศกฎหมายนี้ เริ่มต้นด้วยการชี้ว่า ราชประเพณีของกษัตริย์อยุธยามานั้นว่าด้วย “ถือน้ำพระพัทสัจา” นั้น มีขั้นตอนประเพณีที่ “ผิด” และไม่เหมาะสม เป็นการกระทำที่ “ขาดพระไตรสรณาคม” หรือขาดความนับถือสูงสุดในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดังนั้น จึงเป็นราชชประเพณีที่เป็น “มฤฉาทฤษฐี”

ราชประเพณี “ถือน้ำพระพัทสัจา” ของกษัตริย์อยุธยาที่สืบต่อกันมานั้นใน “พิทธีตรุดสาต” นั้น ให้

 “ข้าทูละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ไปถือน้ำพระพัทสัจา เข้าไปสำมาคารวะไว้นบนับถือรูปพระเชษฐบิดรนั้นคือรูปพระเจ้ารามาธิบดีก่อน แล้วจึ่งไปคำรบนับถือพระรัตนไตรต่อเมื่อพายหลัง ปรฏิบัดิกลับปลานเปนต้นฉะนี้ ปรเวนีอันนี้ผิด เพราะเหตุพระมหากระษัตรแต่ก่อน แลราชวงษานุวงษทังปวงมีทฤฐิมานะมาก ถือพระองคว่าเปนกระษัตรอันปรเสริฐเกิดก่อน กระทำสำมาคารวะรูปตนก่อนพระรัตนไตร อันทรงโลกุดรคุณประเสริฐกว่าไตรภพโลกยทังสาม”

ข้อความในกฎหมายฉบับนี้ของรัชกาลที่ ๑ ปี ๒๓๒๘ ให้ข้อมูลโดยนัยได้ว่า

ประการแรก รูปพระเชษฐบิดร คือรูปจำลองของพระเจ้าอู่ทอง ปฐมวงศ์กรุงศรีอยุธยา

ประการที่สอง  รูปพระเชษฐบิดร เป็นรูปที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ และเมื่อถึงพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ก็ได้มีการเชิญรูปพระเชษฐบิดรมาตั้งในวิหารพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวง ซึ่งระบุไว้ในพระราชพงศาวดารว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีในวาระปกติ

ประการที่สาม รูปพระเชษฐบิดร ซึ่งมีความสำคัญยิ่งนี้ ต้องมีอาคารที่เป็นหอพระรูปไว้ประดิษฐานรูปพระเชษฐบิดร เป็นไปได้ว่า อาคารหรือหอนี้อาจอยู่ในเขตพระราชวังหลวงชั้นกลาง หรือในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ และต้องมีทหารยามเฝ้าดูแลรักษาอย่างดี เหมือนอย่างการมีทหารยามดูแลรักษาโกศพระอัฐิของอดีตกษัตริย์อยุธยาที่ท้ายจรนำวิหารพระศรีสรรเพชญ์

จาก เฟซบุ๊กของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.078 วินาที กับ 19 คำสั่ง