เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2120 เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) กับพญาเพชรเม็ง (น้อยจิตตะ) ประวัติที่ถูกหยิบยืม?
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


 เมื่อ 16 ส.ค. 20, 15:15

ในประวัติของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) หรือพญาเจ่ง (ဗညာစိင်) มีความตอนหนึ่งที่กล่าวว่า พม่าได้ตั้งให้พญาเจ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน (ในยุคหลังมีการเปลี่ยนเป็นเมืองเชียงรายบ้าง) พญาเจ่งได้เจ้านางสมนา เจ้าเชียงแสน เป็นภรรยา และได้กำเนิดบุตรชื่อเจ้าชมภู เป็นต้นตระกูลคชเสนีสายเหนือ ก่อนที่จะถูกตั้งให้ไปครองเมืองเตริน (อัตตรัน) ซึ่งข้อมูลนี้มีที่มาจากเรื่องประวัติต้นสกุลคชเสนี ในหนังสือลำดับสกุลคชเสนีกับโบราณคดีมอญ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์ตรี พระยาพิพิธมนตรี (ปุย คชเสนี) พ.ศ. ๒๔๘๒ ความว่า

“...ตัวพระยาเจ่งผู้เป็นต้นสกุลนั้น เกิดในเมืองมอญเป็นเชื้อสายสกุลผู้ดีที่ต้องตกอยู่ในอำนาจพะม่าด้วยเสียบ้านเมือง แล้วจำใจทำราชการอยู่กับพะม่า ตัวพระยาเจ่งเองได้เคยเป็นขุนนางพะม่า (น่าจะมีชื่อตั้งเป็นอย่างอื่น แต่คนทั้งหลายเรียกตามชื่อตัวจึงปรากฏนามว่าพระยาเจ่ง) ได้เคยคุมกองมอญสมทบกับพะม่าเข้ามาเมืองไทยครั้ง ๑ เมื่อพะม่ามาตีเมืองหลวงพระบางใน พ.ศ. ๒๓๑๕ ปรากฏว่าในครั้งนั้นพะม่าให้พระยาเจ่งเป็นผู้รักษาเมืองเชียงแสนอยู่ราวปี ๑ ได้เจ้าชาวเมืองเชียงแสนเป็นภรรยา เกิดบุตรเป็นต้นสกุลคชเสนีสายเหนือ ยังมีเชื้อสายอยู่ที่เมืองนครลำปางและนับเป็นญาติกับสกุลคชเสนีในกรุงเทพฯ จนบัดนี้...”

“...บุตรคนที่ ๒ เกิดที่เมืองเชียงแสนมารดาเป็นไทยมีศักดิ์เป็นเจ้าชาวเมืองนั้น บุตรจึงมีศักดิ์เป็นเจ้าตามมารดาได้ชื่อเจ้าชมภู มีลูกหลานสืบสกุลมาในมณฑลพายัพจนบัดนี้...”

แต่เมื่อเทียบกับหลักฐานพื้นเมือง ส่วนประวัติตอนต้นของพญาเจ่งที่ว่าได้มาครองเชียงแสน (หรือเชียงรายตามที่ปรากฏในชั้นหลัง) มีลูกเมียชื่อเจ้านางสมนากับเจ้าชมภู น่าจะเป็นการเอาประวัติของพญาเพชรเม็ง (เจ้าน้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเชียงรายมาสวมใส่ให้ประวัติของพญาเจ่งมากกว่า
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 ส.ค. 20, 15:22

พญาเพชร (ᩕ ᨻ᩠ᨿᩣᩮᨽ᩠ᨯ) หรือพญาเพชรเม็ง (ᩕ ᨻ᩠ᨿᩣᩮᨽ᩠ᨯᩮᨾ᩠ᨦ) เดิมชื่อน้อยจิตหรือน้อยจิตตะ เป็นขุนนางเชื้อสายเมง (มอญ) พ.ศ. ๒๓๐๘ เจ้าคำปิว เจ้าฟ้าเมืองเชียงแสน-เชียงราย ตั้งให้เป็นท้าวเพชร (ท้าวเภด) ตำแหน่งแม่ทัพเมืองเชียงแสน ทำหน้าที่นำคนเข้าร่วมกองทัพพม่ายึดเมืองลำพูนในคราวที่พระเมืองไชยทำการฟื้นม่าน นอกจากนี้ ท้าวเพชรยังทำหน้าที่คุมไพร่พลชาวเชียงแสนและเชียงราย ช่วยโป่สุพลา (เนเมียวสีหบดี နေမျိုးသီဟပတေ့) ทำการตีกรุงศรีอยุธยาจนแตกในศึกเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ตามคำมะเกล่าเมืองเชียงแสนว่า

“...สักกราชได้ ๑๑๒๗ ตัว...เจ้าฟ้าฅำปลิวเชียงแสนก็ยกเอาเม็งผู้ ๑ ชื่อว่าน้อยจิตนั้น หื้อเปนท้าวเภด ว่าอั้นแล้ว ก็หื้อเปนแม่ทัพตางตัวกับนาขามนั้น ไปตามสระเด็จมหากระสัตรเจ้าลงไปรบลพุร มีกำลัง ๙ หมื่น ๙ พัน ๙ ร้อย ๙๐ ฅน ไปรบลพุร พระเมืองไชยก็บ่ธรณาอยู่ได้ ก็เอาลูกเมียฅนครัวตามแต่ได้ แล้วแหกออกหนีทังฅืน เมืองลพุรลวดแตกหั้นแล เมื่อนั้นมหากระสัตรมกโซ ท่านก็ลวดลงไปรบอโยธิยาก็มีไชยชนะแล้ว ก็ได้เจ้าฟ้าดอกเดื่อลูกกระสัตรอโยธิยาเมือเสียอังวะหั้นแล เมื่อนั้นอโยธิยาลวดร้างจากมหากระสัตรไปแต่นั้นมาแล...”

หลังกลับจากการศึกอยุธยา เจ้าคำปิว พระเมืองไชย เจ้านาขวาและเจ้านาซ้ายทำการฟื้นม่านแต่ไม่สำเร็จจึงหนีไปยูนนาน ท้าวเพชรทราบข่าวการฟื้นม่านของเจ้าคำปิว จึงตามไปทันที่ลาว เชิญเจ้าคำปิวและพวกให้กลับมาครองเมืองเชียงแสนตามเดิม แต่ได้รับการปฏิเสธ ตามคำมะเกล่าเมืองเชียงแสนว่า

“...สักพทได้ ๑๑๒๘ ตัว...ท้าวเภดไปทวยอโยธิยามารอดแล้ว ก็รู้ว่าเจ้าทัง ๔ ตน หนีไปเมืองห้อว่าอั้น ก็เอาลูกน้องขี่ม้าไล่ทวยไปทันที่เมืองลาว แล้วก็บอกกล่าวด้วยอันได้เมืองอโยธิยาแล้ว กระสัตรก็พลิกไปทางหงสาพุ้นแล ขออัญเชิญเจ้าทัง ๔ พลิกคืนเมืออยู่บ้านอยู่เมืองเก่าเทอะ เมื่อนั้นเจ้าฟ้าก็ว่าอิ่มม่านเสียแล้ว เราค็บ่ฅืนเสียแล้ว ท่านจุ่งเมือเปนเจ้ารักสาเมืองเชียงรายทังมวลเทอะ ว่าอั้นแล้วท้าวเภดก็หนีฅืนมาแล้ว เจ้าทัง ๔ ตนก็ไปชักเอาห้อลงมา ห้อก็เอาฅนฅรัวเมือฟื้นม่านปางหลวงเปนอันมาก เจ้า ๔ ตนยกเอาฅนฅรัวเมืองห้อมีกำลัง ๒ พันแล ห้อก็เอาไปตั้งไว้เมืองเจ้าถงเกาะสมุทรพายหนวันออกแจ่งเหนือเมืองแสหลวงพุ้นแล...”

(ในงานเสวนาวิชาการ ข้อมูลใหม่การอพยพโยกย้ายของคนไท ข้อมูลจากจีนกล่าวว่าเจ้าคำปิว เจ้าฟ้าเชียงแสน ภายหลังถูกจีนย้ายไปอยู่มณฑลเจียงซี 江西 เจ้านาซ้าย เจ้านาขวา พระเมืองไชย ถูกจีนย้ายไปอยู่เมืองอุรุมชี 烏魯木齊 เขตซินเจียง-อุยกูร์)
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 ส.ค. 20, 15:27

พ.ศ. ๒๓๑๑ พม่าตั้งให้เป็นพญาเพชร หรือเจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าเมืองเชียงราย ขณะนั้นกำลังเกิดสงครามจีน-พม่า ทำให้พม่าไม่มีโอกาสดูแลการปฏิบัติงานของขุนนางพม่าในล้านนา ขุนนางท้องถิ่นถูกลดอำนาจ ราษฎรถูกกดขี่ขูดรีด ทำให้ล้านนาตอนล่างหลายเมืองทำการฟื้นม่าน พ.ศ. ๒๓๑๗ พระยาจ่าบ้าน (บุญมา) เมืองเชียงใหม่ และเจ้ากาวิละ เมืองนครลำปาง ได้ทำการสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วทำการตีเมืองเชียงใหม่แตก โป่มะยุง่วน (สะโตมังถาง သတိုးမင်းထင်) กับโป่สุพลาหนีไปเมืองเชียงแสน แต่กองทัพเจ้าเจ็ดตนและกองทัพไทยพยายามเข้าตีเมืองเชียงแสนเพื่อทำลายที่มั่นสุดท้ายของพม่าในล้านนาหลายครั้ง ทำให้เมืองเชียงรายได้รับผลกระทบไปด้วย

พ.ศ.๒๓๑๘ เจ้าพระยาสุรสีห์ แม่ทัพกรุงธนบุรีตีเชียงรายแตกและกวาดต้อนผู้คนลงไปทางใต้จนหมดเมือง พญาเพชรหนีไปเชียงตุง ก่อนจะรับคำสั่งเมวหงวรนาขวา (เมวหงวร มาจากภาษาพม่า เมียวหวุ่น မြို့ဝန်) นำไพร่พลกลับมาตั้งมั่นบริเวณบ้านทุ่งก่อ ในเขตเวียงเชียงรุ่ง (ปัจจุบัน ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย)

บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 ส.ค. 20, 15:36

ด้วยผลจากสงครามยืดเยื้อกับกองทัพเจ้าเจ็ดตนของเจ้ากาวิละและกองทัพไทย พม่ายิ่งเข้มงวดเรื่องการเกณฑ์แรงงานและเก็บส่วยมากขึ้น เนื่องจากถูกขุนนางพม่าขูดรีด ในปี พ.ศ.๒๓๒๓ พญาเพชรหรือเจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าเมืองเชียงราย กับเจ้าฟ้าเมืององค์ (เจ้าน้อยไชยสาร) เจ้าฟ้าเมืองพะเยา ได้ทำการฟื้นม่าน เพราะได้รับคำชักชวนจากเจ้ากาวิละ แต่ไม่สำเร็จจึงพาครอบครัว ขุนนาง ราษฎรอพยพลี้ภัยพม่าลงไปเมืองนครลำปางตามคำมะเกล่าเมืองเชียงแสนกล่าวว่า

“...แต่นั้นมาได้ ๒ ปี สักกราชได้ ๑๑๔๒ ปีกดใจ้ พระญาเมืองเชียงรายกับพระยาว ฟื้นหนีเข้าไปในเวียงลคอนแล...”

เจ้ากาวิละให้กลุ่มพญาเพชรตั้งบ้านเรือนบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง โดยอาศัยร่วมกับชาวเชียงรายที่ถูกกวาดต้อนไปก่อนหน้านี้ เรียกว่าบ้านเชียงราย พญาเพชรหรือเจ้าฟ้าเพชรได้ทำการสร้างวัดพระเกิดแก้วเชียงราย หรือวัดหลวงเชียงราย (ปัจจุบันคือวัดเชียงราย ต.สวนดอก จ.ลำปาง) ส่วนเจ้าฟ้าเมืองพะเยาและชาวเมืองพะเยาได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง เรียกว่าบ้านพะเยา ได้บูรณะวัดศรีจอมไคลหรือวัดเชียงภูมิ เรียกใหม่ว่าวัดพะเยา (ปัจจุบันคือวัดปงสนุกเหนือและวัดปงสนุกใต้ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลําปาง) ส่วนเจ้าฟ้าเมืองสาดและชาวเมืองสาดได้ตั้งถิ่นฐานใกล้กับบ้านเชียงราย เรียกบ้านเมืองสาด และสร้างวัดเมืองสาด (ปัจจุบันคือ วัดเมืองศาสน์ ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง)


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 ส.ค. 20, 15:51

พญาเพชรเม็ง หรือเจ้าฟ้าเพชร ได้เสกสมรสกับเจ้านางสมนา เจ้านายเชื้อสายเจ้าฟ้าเมืองเชียงแสน - เชียงราย มีราชบุตรราชธิดาที่ปรากฏและเข้ามาตั้งถิ่นฐานกลุ่มใหญ่ที่บ้านเชียงราย เมืองนครลำปาง จำนวน ๕ องค์ คือ

๑. เจ้าอุปราช (เจ้าน้อยจิตวงศ์) เมืองเชียงราย และเป็นพระยาชมภู เมืองนครลำปาง ต้นสกุล “ขัติเชียงราย” “มณฑาทอง” “ณ ลำปาง” (บางสาย) เสกสมรสกับเจ้าหญิงคำแสน มีราชบุตรธิดา ๓ องค์ คือ

      ๑.๑ เจ้านางอูบแก้ว

      ๑.๒ เจ้าชายบุญหนำ

      ๑.๓ พระยาหาญ (เจ้าน้อยอนา) เมืองนครลำปาง

๒. พระยาชมภู (เจ้าน้อยคัมภีระ) เมืองนครลำปาง (ยังไม่พบทายาท)

๓. เจ้าหนานอุตมะ (ยังไม่พบทายาท)

๔. เจ้าหนานวงษา ต้นสกุล “วงษาลังการ” (นามสกุลพระราชทาน) มีราชบุตรธิดาที่ปรากฏคือ

      ๔.๑ เจ้าลังกา
     
๕. เจ้าชายคำแสน ต้นสกุล “รายะนาคร” “รายะนคร” (นามสกุลพระราชทาน) มีราชบุตรธิดาที่ปรากฏคือ
      ๕.๑ เจ้าเมืองชุ่ม
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 ส.ค. 20, 16:01

สันนิษฐานว่าการที่ประวัติของพญาเพชรเม็ง เจ้าฟ้าเชียงราย ถูกนำมาใส่ให้ประวัติของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เพราะทั้งสองเป็น “มอญ (เมง)” เหมือนกันทำให้เกิดการสับสน จนลูกเมียและทายาทของพญาเพชรเม็งกลายเป็นลูกเมียและทายาทของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) และถูกนับเป็นคชเสนีสายเหนือไป อีกทั้งในพระราชพงศาวดารก็ไม่เคยมีหลักฐานบอกว่าพญาเจ่งเคยครองเชียงแสนมาก่อนจะครองเมืองอัตรัน ในหลักฐานท้องถิ่นอย่างพื้นเมืองเชียงแสน พื้นเมืองเชียงราย คำมะเกล่าเมืองเชียงแสน พื้นเมืองเชียงใหม่ ก็ไม่เคยมีการพูดถึงพญาเจ่งมาก่อนเลย มีเพียงเรื่องประวัติต้นสกุลคชเสนี ในหนังสือลำดับสกุลคชเสนีกับโบราณคดีมอญ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่านั้นที่กล่าวว่าพญาเจ่งครองเชียงแสนและได้ลูกเมียเจ้าเชียงแสน ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นรอง ประวัติของพญาเพชรกับพญาเจ่งก็แตกต่างกันมากจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นคนๆ เดียวกัน

สายสัมพันธ์ระหว่างตระกูล ณ ลำปางกับตระกูลคชเสนีมีเพียงการสมรสระหว่างเจ้าราชบุตร (เจ้าน้อยอินทร์หวัน) กับนางลูกอินทร์ คชเสนี ธิดาพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย) หลานเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เหลนเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งไม่มีบุตรธิดาแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) “ไม่เคย” เป็นเจ้าเมืองเชียงราย-เชียงแสน “ไม่เคย” มีภรรยาชื่อนางสมนา “ไม่เคย” มีลูกชายชื่อเจ้าชมภู แต่เป็นประวัติของพญาเพชรเม็ง (เจ้าน้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเชียงราย ที่ถูกนำไปใส่ให้ในประวัติเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง)

อ้างอิง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ . ลำดับสกุลคชเสนีกับโบราณคดีมอญ

สรัสวดี อ๋องสกุล ปริวรรต . พื้นเมืองเชียงแสน

ภูเดช แสนสา. "เจ้าเชื้อเชียงราย" ในเมืองนครลำปาง . เล่าเรื่องเมืองลำปาง สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

อภิชิต ศิริชัย . รู้เรื่องเมืองเชียงราย : เรื่องราวที่เคยรับรู้ กับ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ส.ค. 20, 16:20

เอกสารขอพระราชทานนามสกุล ของพลเสือป่า เจ้าตาคำ รายะนาคร รองผู้กำกับลูกเสือกองที่ ๒ มณฑลมหาราษฎร์ บุตรของเจ้าเมืองชุ่ม (นายเมือง) หลานของเจ้าชายคำแสน (นายคำแสน) เหลนของพญาเพชรเม็ง (น้อยจิตตะ) (เจ้าฟ้าเมืองเชียงราย)


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 ส.ค. 20, 11:11

ขอบคุณสำหรับข้อมูลใหม่ค่ะ 
มีการค้นพบประวัติที่แท้จริงของเจ้าพระยามหาโยธาไหมคะ ว่าท่านเริ่มต้นอย่างไร ทำอะไรอยู่ที่ไหน
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 พ.ค. 21, 17:00

ขอบคุณสำหรับข้อมูลใหม่ค่ะ 
มีการค้นพบประวัติที่แท้จริงของเจ้าพระยามหาโยธาไหมคะ ว่าท่านเริ่มต้นอย่างไร ทำอะไรอยู่ที่ไหน

เท่าที่พบในพระราชพงศาวดาร เป็นเจ้าเมืองเตรินอยู่แลัวครับ จนเมื่อฆ่าแพกิจจาแล้วพากันอพยพครอบครัวมาไทยใน พ.ศ. ๒๓๑๗ ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 20 คำสั่ง