ภาษาไทยปัจจุบันมีเสียงวรรณยุกต์ ๕ เสียง นี่ว่ากันโดยใช้ภาษากรุงเทพเป็นมาตรฐาน หากจะกล่าวถึงภาษาถิ่นต่าง ๆ ของไทย ก็จะมีเสียงวรรณยุกต์มากกว่าวรรณยุกต์ในภาษาไทยมาตรฐาน รองศาสตราจารย์ซ่อนกลิ่น พิเศษสกลกิจ บรรยายเรื่องภาษาถิ่นไว้ในหนังสือคำบรรยายภาษาไทยขั้นสูงของชุมนุมภาษาไทยของคุรุสภา (๒๕๑๘) ว่า เสียงวรรณยุกต์ในภาษาเชียงใหม่และภาษาอุบลมี ๖ เสียง ได้แก่ สามัญ เอก โท ตรี ตรีเพี้ยน (เชียงใหม่ อุบล สงขลา เพี้ยนไม่เหมือนกัน) และจัตวา ส่วนภาษาสงขลามีมากถึง ๗ เสียง คือมีเสียง เอกเพี้ยนเพิ่มมา อย่างไรก็ตามบางเสียงก็ไม่ตรงกับเสียงภาษากรุงเทพทีเดียว เป็นแต่เพียงใกล้เคียงเท่านั้น
ในภาษากรุงเทพเองก็มีบางเสียงซึ่งไม่ตรงกับวรรณยุกต์ที่กำกับ ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้เสนอไว้ในหนังสือ ระบบเสียงภาษาไทย (๒๕๕๖) ควรเพิ่มรูปวรรณยุกต์ขึ้นอีก ๑ รูป ให้ชื่อว่า ไม้เบญจา สัญลักษณ์ใช้ เลขเก้าไทย (๙) เพราะเห็นว่าอักขรวิธีไทยไม่มีวิธีเขียนวรรณยุกต์เน้น พยางค์แรกกับสองออกเสียงไม่เท่ากัน เราสามารถออกเสียงได้สูงกว่านั้น
ไม้เบญจาเป็นวรรณยุกต์เน้น ใช้แสดงเสียงวรรณยุกต์เน้นพิเศษที่มีลักษณะสูงกว่าเสียงตรีปรกติในภาษาไทย เช่นคำว่า จริง ๆ (สามัญ) ถ้าออกคำท้ายเป็นเสียงตรี จะได้ จริงจริ๊ง แต่ถ้าเราออกเสียงสูงกว่านั้น (จะเพื่ออะไรก็แล้วแต่) กรณีนี้จะใช้ไม้เบญจา
อธิบายเสีย ย๙าว ยาว คุณดาวคงพอจะได้คำตอบที่ตรงใจบ้างหนอ 