เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 36016 อาหารโบราณ
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 14 พ.ค. 20, 19:27

ขอให้ความเห็นเล็กน้อยครับ   

ปิ้ง กับ จี่ นั้นต่างกันแน่ๆ     การ ปิ้ง นั้นคือการเอาของที่จะทำให้สุกไปวางอยู่เหนือไฟ จะเป็นไฟอ่อนหรือไฟแรงก็ได้ เพื่อให้ได้ของที่สามารถจะกำหนดความสุกได้ทั้งแบบ medium rare, medium, จนถึง well done   การ จึ่ นั้นคือการเอาของกินนั้นๆแหย่เข้าไปในกองไฟหรือเตาไฟ หรือวางอยู่เหนือไฟแรงๆ หรือนาบกับกระทะร้อนๆ เพื่อให้ได้ของที่สุกในลักษณะสุกที่ผิว เข่น ข้าวเหนียวจี่(ทาไข่) หรือเนื้อย่างน้ำตกซึ่งเป็นลักษณะของการสุกแบบ rare (มิใช่ raw)

สำหรับที่ว่า อาหารมัน นั้น ทำให้นึกถึงอาหารแขกที่มีการใช้มันอาลู (มันเทศหั่นเป็นแว่นๆ) สลัดมันฝรั่ง (ราดด้วยน้ำปรุงรส)  มันฝรั่งที่ใส่อยู่ในแกง  และขานหัวมันต้มหรือเผา
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 14 พ.ค. 20, 20:24

แล้วก็ขอย้อนกลับไปนิดนึงในเรื่องของเมรัยนิดนึงเช่นกัน

เกาเหลา ไม่ต้องอธิบายนะคะ เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีให้กินทั่วไปตามร้านก๋วยเตี๋ยว   แต่พอมาถึงเหล้าอาหนี  อัศจรรย์ใจมากเมื่อเปิดเข้าไปในเว็บท่านรอยอิน แล้วมีคำอธิบายว่า เป็นเหล้าฝรั่ง  ทำจากเมล็ดผลไม้  สะกดว่า Anis 
นึกมาตลอดว่าอาหนีเป็นเหล้าจีน   ชื่อเสียงเรียงนามก็ฟังเป็นจีน แล้วยังจัดกลุ่มไว้วรรคเดียวกับอาหารจีนอีกด้วย

ถ้าเป็นเหล้าฝรั่งจริง ก็คงเข้ามาพร้อมกับเรือกำปั่นฝรั่ง   เหล้าอาหนีมีหลายสัญชาติ ท้ังฝรั่งเศส โปรตุเกส และสเปน

ด้วยที่ตัวเองนิยมเมรัยและนิยมสะสมอยู่บ้าง ก็เลยขอให้ความเห็นเล็กน้อยว่า เหล้า "อาหนี" นี่ น่าจะเป็นเหล้าแช่ดอกโปยกั๊ก ซึ่งภาษาฝั่งเรียกโปยกั๊กว่า Anise    เป็นเหล้าแช่เครื่องเทศอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมของฝรั่งในสมัยก้อนโน้น เดี๋ยวก็ยังนิยมกันอยู่ในแถบสแกนดิเนเวียน    ลองไปค้นดูก็พบว่ามี Anise อีกแบบหนึ่ง เรียกว่า anise seed หรือ เทียนสัตตบุษย์ ก็เลยงงๆอยู่

เท่าที่ได้หาอ่านเพิ่มเติมจากหลายๆแหล่ง เหล้าแช่เครื่องเทศในหมู่ประเทศสแกนดิเนเวียนในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการทำกันอยู่ทั้งในรูปของโรงงานและทำกินเอง(เป็นแสดงฝีมือของผู้ทำอย่างหนึ่ง)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 15 พ.ค. 20, 07:04

ภาษาฝรั่งเรียกโปยกั๊กว่า Anise      

ลองไปค้นดูก็พบว่ามี Anise อีกแบบหนึ่ง เรียกว่า anise seed หรือ เทียนสัตตบุษย์ ก็เลยงงๆอยู่

ขออนุญาตวิสัชนา ๒ ชื่อนี้

โป๊ยกั๊ก (Illicium verum) ภาษาฝรั่งเรียกว่า star anise, star aniseed, Chinese star anise

เทียนสัตตบุษย์ (Pimpinella anisum) อยู่ในวงศ์เดียวกับผักชีและยี่หร่า คือ Apiaceae ภาษาฝรั่งเรียกว่า anise, aniseed

ดอกและผลแห้ง โป๊ยกั๊ก (บน) เทียนสัตตบุษย์ (ล่าง)



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 15 พ.ค. 20, 19:37

ขอบคุณครับ   มีคำนำหน้าว่า star กับไม่มี ทำให้ต่างเรื่องต่างของกันไปอย่างสิ้นเชิงเลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 16 พ.ค. 20, 11:41

 ต้มไข่ ผัดปลาแห้งทั้ง แกงบวน

แกงบวนเป็นแกงโบราณ  มีอธิบายไว้ในบทความนี้ค่ะ

เพราะทั้งในตำรากับข้าวเก่าอย่างแม่ครัวหัวป่าก์ (ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์, ๒๔๕๑) หรือตำราร่วมสมัย เช่น อร่อยต้นตำรับ (ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, ๒๕๔๗) ตำรับอาหารวิทยาลัยในวัง (คณาจารย์จากวิทยาลัยในวัง, ๒๕๓๖) บอกสูตรไว้เกือบจะเหมือนกัน จนใครที่เคยอ่านผ่านตามาบ้าง ก็ย่อมจะนึกออกว่า แกงบวนเป็นแกงแบบโบราณ ทำโดยตำเครื่องแกงอันมีกะปิเผา หอมเผา กระเทียมเผา ข่าเผา ตะไคร้ พริกไทย ปลาสลาดแห้งป่นให้ละเอียด เอาละลายในน้ำคั้นใบมะตูม ใบตะไคร้ และใบผักชีผสมกัน ตั้งไฟจนเดือด ใส่หมูสามชั้น และเครื่องในหมูต้มหั่นชิ้นใหญ่ๆ เคี่ยวไปจนนุ่ม ปรุงรสให้หวานนำเค็มตาม พอเปื่อยได้ที่ น้ำข้นดีแล้ว จึงเติมใบมะกรูดฉีก ตะไคร้ซอย พริกชี้ฟ้าหั่นแว่น จากนั้นก็ตักใส่ชาม โรยผักชี

https://www.silpa-mag.com/from-the-fingertip/article_9604


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 16 พ.ค. 20, 19:34

บ้างก็ทำวุ้นชา สาคู                 ข้าวเหนียวหน้าหมูไว้ถี่ถ้วน
หน้าเตียง เรียงเล็ด ข้าวเม่ากวน   ของสวนส้มสูกทั้งลูกไม้

วุ้นชา = วุ้นน้ำเชื่อมมีสีน้ำตาลอย่างสีชา
สาคู คงไม่ต้องอธิบาย
ข้าวเหนียวหน้าหมู น่าจะเป็นหมูฉีกฝอย


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 17 พ.ค. 20, 11:45

มาต่อเรื่องเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน   มีตอนชาวบ้านเตรียมอาหารไปทำบุญในงานเทศน์มหาชาติที่วัดป่าเลไลย์

..............................             ...............................
หน้าเตียง เรียงเล็ด ข้าวเม่ากวน   ของสวนส้มสูกทั้งลูกไม้

หน้าเตียง ในบทเสภาตอนนี้ บางแห่งเรียกว่า ล่าเตียง บางที่อาจเรียกว่า ลอดเตียง ก็มี มีหน้าตาและวิธีทำใกล้เคียงกับอาหารโบราณอีกชนิดหนึ่งคือ หรุ่ม ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณหลายแห่ง

ใน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกล่าวถึงอาหารทั้งสองชนิดไว้ว่า

ล่าเตียงคิดเตียงน้อง        นอนเตียงทองทำเมืองบน
ลดหลั่นชั้นชอบกล          ยลอยากนิทรคิดแนบนอน
เห็นหรุ่มรุมทรวงเศร้า      รุ่มรุ่มเร้าคือไฟฟอน
เจ็บไกลในอาวรณ์          ร้อนรุมรุ่มกลุ้มกลางทรวง

หน้าเตียง และ หรุ่ม ปรากฏอยู่ใน "หมายกำหนดการฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จ.ศ. ๑๑๗๑ (พ.ศ. ๒๓๕๒) ครั้งที่  ๒" ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มาเล่าถึง โดยในหมายกำหนดการดังกล่าวระบุเกณฑ์เจ้านายและขุนนางให้จัดทำสำรับคาวหวานเลี้ยงพระภิกษุ ซึ่งในรายชื่ออาหารหวาน ๑๐ อย่าง มีชื่ออาหารอย่าง “หรุ่ม” และ “หน้าเตียง” ระบุอยู่ด้วย

“ตำรากับเข้า” ของ หม่อมซ่มจีน (ราชานุประพันธ์) ที่เรียบเรียงและตีพิมพ์ไว้ตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๐  ได้ระบุถึงอาหารทั้งสองชนิด (ในตำราใช้ตัวสะกดว่า ลอดเตียง และ รุม )ไว้ในหน้าที่ ๙๘ และ ๙๙ ว่า “ถ้าจะทำรุม  ให้เอาฟักหนัก ๔ ส่วน ถั่วโลสงหนัก ๓ ส่วน เอากะเทียมซอย ๑ ส่วน แล้วเจียวเสียให้เหลือง เอาของทั้งนี้ใส่ลงเคล้าให้เข้ากันดีแล้วๆ เอาน้ำตาลทรายใส่ลงอิกหน่อยหนึ่งให้หวานจัด คนทั่วกันแล้วยกลง อย่าตั้งให้นานนักจะแขงไป ไข่เจียว ให้เหมือนขนมกง เอาน้ำมันทากะทะ จึงเอาไข่โรยเป็นฝอย แล้วเอาคลุมเข้าแล”  และระบุวิธีทำล่าเตียงว่า “ถ้าจะทำลอดเตียง ให้เอาใบผักชีเด็ดเรียงลงที่ฝอยไข่ แล้วเอาไส้รุมใส่ลงห่อสี่เหลี่ยมอันละคำ ถ้าใส้เค็มเปนของคาว ถ้าไส้หวานเปนของหวานแล”

ตำราอาหารเก่าแก่อีกเล่ม คือ ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ โดย ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ร.ศ. ๑๒๗-ร.ศ. ๑๒๘  ระบุไว้ในตำราเล่มที่ ๑ บริจเฉท ๔ กับข้าวของจาน ได้กล่าวถึง ล่าเตียง (ในตำราก็เขียน ล่าเตียง) โดยเกริ่นด้วยกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ก่อนจะเล่าถึงเครื่องปรุงและวิธีทำ ระบุวิธีทำล่าเตียงโดยสรุปว่า ให้สับเนื้อกุ้งกับมันกุ้งรวมกันเพื่อให้มีสีแดงสวย จากนั้นผัดน้ำมันหมูกับรากผักชีและพริกไทยโขลกละเอียด (ไม่ใส่กระเทียม) ให้หอม ใส่กุ้งสับลงผัดให้สีสวย ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำปลา อย่าให้เค็มมาก (แต่ไม่ระบุให้ใส่น้ำตาลเลย) จากนั้นตักไส้ขึ้นจากกระทะ ล้างกระทะให้สะอาด ทาน้ำมันหมูยกขึ้นตั้งไฟ แล้วนำไข่เป็ดมาตีให้ทั้งไข่ขาวและไข่แดงเข้ากัน ก่อนโรยฝอยเป็นตาราง แล้วนำแผ่นฝอยไข่นี้ ไปห่อไส้พร้อมด้วยพริกแดงซอยและใบผักชี ห่อเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมอีกที จะเห็นได้ว่า ล่าเตียงใน ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ มีหน้าตาเหมือนกับปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีตำราอีก ๒ เล่ม ที่กล่าวถึง หรุ่ม นั่นคือ “ตำรับอาหารคาว” ของหม่อมหลวงปองมาลากุล แห่งโรงเรียนสตรีวิสุทธคาม แผนกการช่างและการเรือน และอีกเล่ม คือ หนังสือ “ตำรับมรดก” ของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร โดยตำราของหม่อมหลวงปอง มาลากุล จะทำไส้หรุ่มจากเนื้อหมูแกมมันหั่นสี่เหลี่ยมเต๋าเล็ก หัวหอมหั่นเต๋าเล็กกว่าหมู ผัดด้วยน้ำมันหมู ร่วมกับกระเทียมตำกับรากผักชีและพริกไทย ถั่วลิสงคั่วสับละเอียด ปรุงรสด้วยน้ำปลาดี น้ำตาลทราย แล้วห่อฝอยไข่ โดยเรียงพริกแดงซอยและผักชีลงก่อน ขณะที่วิธีทำหรุ่ม ในตำรับมรดก ของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร ทำคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ใช้วิธีสับหมู แทนการหั่นเต๋า และเติมเนื้อปลากุเรา และเนื้อกุ้ง ลงในไส้ด้วย วิธีการห่อก็แบบเดียวกัน

สุดท้ายคือข้อมูลจากหนังสือ “ตำรับกับข้าวในวัง” ของ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ข้าหลวงประจำห้องเครื่องในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมณ์ ได้กล่าวไว้ว่า หรุ่ม จะห่อด้วยไข่ทอดแผ่นบาง ๆ ส่วนล่าเตียงจะทำยากกว่าเพราะต้องโรยไข่ให้เป็นตาราง ๆ แล้วจึงนำมาห่อไส้ นับได้ว่าเป็นตำราเล่มที่สอง (รองจากตำรับกับเข้า ของหม่อมซ่มจีน) ที่อธิบายรูปลักษณะของอาหารทั้งสองชนิดนี้ และแยกให้เห็นความต่างอย่างชัดเจน

ข้อมูลโดยคุณสิทธิโชค ศรีโช จากบทความเรื่อง หรุ่ม ล่าเตียง อลหม่านอาหารไทย

ภาพจาก พันทิป


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 17 พ.ค. 20, 12:49

หน้าเตียง เรียงเล็ด ข้าวเม่ากวน
เรียงเล็ด น่าจะเป็นขนมนางเล็ด


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 17 พ.ค. 20, 12:51

ข้าวเม่ากวน


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 17 พ.ค. 20, 15:59

เรียงเล็ด น่าจะเป็นขนมนางเล็ด

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ ทรงสันนิษฐานชื่อขนมที่เข้าใจว่าเพี้ยนไว้สามสี่ชื่อ ดังนี้

เข้าหมาก (ข้าวหมาก) คำเดิมเห็นจะมาจาก 'เข้าหมัก’ เป็นแน่ เพราะหมักแปลว่าหม่าเอาไว้ เข้าหมักแปลว่าเข้าหม่าเอาไว้ คือเข้าอย่างนี้ต้องประสมด้วยแป้งเชื้อหม่าเอาไว้คืนหนึ่ง ฤๅสองคืน ให้มีรสหวานเสียก่อนจึงจะรับประทานได้ เพราะเช่นนั้นจึงเรียกเข้าหมัก ที่เรียกเข้าหมากนั้นเป็นคำเพี้ยนไป คำตรงต้องเรียกเข้าหมัก

นางเล็ด คำเดิมเห็นจะมาจาก 'เรียงเมล็ด' เป็นแน่ เพราะขนมอย่างนี้เขาทำด้วยข้าวเหนียว แล้วปั้นเป็นวงกลมแผ่ให้บาง บางจนเข้าเกือบจะเรียงเมล็ดออกไปก็ว่าได้ จึงได้เรียกเรียงเมล็ด ที่เรียกนางเล็ดนั้นเป็นคำเพี้ยนไป คำตรงต้องเรียกเรียงเมล็ด

ขนมปักกริม คำเดิมเห็นจะมาจาก 'ขนมปลากริม’ เป็นแน่ เพราะรูปร่างของขนมนั้นเป็นตัวเหลืองๆ ดูคล้ายกับปลากริม จึงได้เรียกว่าขนมปลากริม ที่เรียกขนมปักกริมนั้น เป็นคำเพี้ยนไป คำตรงต้องเรียกขนมปลากริม

ขนมครองแครง คำเดิมเห็นจะมาจาก 'ขนมหอยแครง’ เป็นแน่ เพราะรูปร่างของขนมนั้นเป็นริ้ว ๆ ตัวป้อม ๆ สีก็ขาวเหมือนกะหอยแครง จึงได้เรียกขนมหอยแครง ที่เรียกขนมครองแครงนั้นเป็นคำเพี้ยนไป คำตรงต้องเรียกขนมหอยแครง

ชื่อขนมตามที่ทรงสันนิษฐานนี้ก็แปลก ในเวลานี้เรียกขนมปลากริมหรือปรากริม ดังนี้แสดงว่าในสมัยของพระองค์เรียกกันว่า “ขนมปักกริม” จึงได้ทรงสันนิษฐานว่ามาจากขนมปลากริม ส่วนชื่อขนมนางเล็ดนั้น คนทางเหนือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ข้าวแต๋น”

จาก ที่มาของ “ชื่อ” ขนมไทย ทำไมเป็นแบบนี้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 18 พ.ค. 20, 09:13

ขนมนางเล็ดแต่โบราณนิยมใช้เลี้ยงแขกในงานมงคลต่าง ๆ  ในคำให้การจีนกั๊กเรื่องเมืองบาหลี พ.ศ.๒๓๘๙ ในรัชกาลที่ ๓ จีนกั๊กเรียกว่า "เรียงเล็ด" และเล่าว่าเป็นขนมที่ชาวบาหลีนำมาช่วยงานแต่งงาน

๏ วันเดือน ๙ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีมเมียอัฐศก (จุลศักราช ๑๒๐๘) พระยาสมุทปราการบอกส่งตัวนายจีนกั๊กนายเรือพระสวัสดิวารีแต่งไปค้าเมืองบาหลีกลับเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ถามจีนกั๊กด้วยการบ้านเมืองบาหลี ๚

ณวันเดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมเมียอัฐศก ข้าพเจ้าเห็นกะปิตันปันตัดแต่งงานบ่าวสาวบุตรชายขอหญิงสาวชาวเมืองบาหลี บิดาหญิงเปนจีน ชายบุตรกะปิตัน มารดาเปนชาวบาหลี เห็นปลูกโรง ๆ ๑ เหมือนโรงไทยเครื่องบนไม้ไผ่หลังคามุงแฝก ข้าพเจ้าเห็นชาวบาหลีเอาของมาช่วย ใส่โต๊ะไม้กลึง มี เรียงเล็ด กล้วย ส้ม เข้าต้มใส่กล้วย หมาก พลู คนละโต๊ะ ๑ บ้าง ๒ โต๊ะบ้าง ๓ โต๊ะบ้าง ประมาณสัก ๒๐๐ คน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 18 พ.ค. 20, 09:56

น้องที่มาจากเลยบอกว่าที่นั่นเขาเรียกว่าขนมชนิดนี้ว่า "เรียงเม็ด"



ที่ ขอนแก่น และ อุทัยธานี ก็เรียกว่า ขนมเรียงเม็ด เหมือนกัน  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 18 พ.ค. 20, 13:08

ขนมเรียงเม็ด ของฝากจากชุมแพ  ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 19 พ.ค. 20, 19:17

ขนามเรียงเม็ดเคยได้ยินเชื้ออยู่ตอนดูคลิปเกี่ยวกับภาษาอีสาน จะว่าไปก็น่าสนใจดีนะคะเรื่องการเรียกชื่อขนมของแต่ละภาค
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 20 พ.ค. 20, 09:24

ตอนเด็กๆไม่เคยได้ยินคำว่า ข้าวแต๋น   เพิ่งมารู้ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ นางเล็ด


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 20 คำสั่ง