เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 35737 อาหารโบราณ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 19 เม.ย. 20, 14:12

ลู่ตี่  เป็นคำเดียวกับ ลุดตี่  ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เห่ชมเครื่องคาวหวานในรัชกาลทีี 2

เป็นแป้งแผ่นกลม ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมไข่ไก่  ใส่สีเหลืองจากหญ้าฝรั่น หรือ ขมิ้น  ทำเป็นแผ่นแล้วนึ่งให้สุก
ลุดตี่ไม่ได้กินเปล่าๆ แต่กินกับแกงน้ำข้น  แบบเดียวกับโรตี


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 19 เม.ย. 20, 19:17

ลุดตี่นี้น่าชม          
แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง
โอชาหน้าไก่แกง  
แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย


กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ลุดตี่ที่เอ่ยถึงในกาพย์เห่เรือนี้ เป็นอาหารที่ยังคงมีอยู่ ในสำรับของแขกคลองบางหลวง ลุดตี่มีสองชนิด ชนิดแรกมีลักษณะตามที่ปรากฏในกาพย์บทนี้ มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น "ลุดตี่จิ้มคั่ว" "แป้งกลอกจิ้มคั่ว" หรือ "ลุดตี่หน้าไก่แกง"


แผ่นลุดตี่ ทำจากแป้งข้าวเจ้าที่โม่ใหม่ ๆ เป็นวิธีแบบโบราณ คือนำข้าวสารมาแช่น้ำหนึ่งคืน แล้วโม่ด้วยโม่หิน โดยเจือน้ำขณะโม่ด้วย ก็จะได้น้ำแป้งข้าวเจ้า นำไข่ไก่มาตีผสมพอเข้ากัน ผสมด้วยสีเหลือง ที่ได้จากหญ้าฝรั่น หรือขมิ้นผง เสร็จแล้วตักหยอดแป้ง ลงกระทะที่ตั้งไฟจนร้อน กลอกแป้งในกระทะ ให้น้ำแป้งแผ่เป็นแผ่นกลม ขนาดกำลังเหมาะ เมื่อแป้งสุกแล้ว จะร่อนจากกระทะ มีสีเหลืองนวลชวนรับประทาน


ลุดตี่เมื่อนำขึ้นสำรับ กินคู่กับหน้าแกงไก่ ที่ใช้ราดข้าวเหนียวเหลือง แต่ระยะหลังกินเป็นขนม หรือของว่าง จึงเปลี่ยนไปเรียกว่า "แป้งกลอก" บ้าง "ขนมกลอก" บ้าง มีให้เลือกกินสองแบบ ถ้าชอบไส้หวาน ก็ทาแผ่นแป้งกลอกด้วยสังขยา ที่กวนจากไข่เป็ดกับน้ำตาลปึก ม้วนห่อพอคำ ถ้าชอบไส้เค็มก็ใช้หน้ากุ้ง ที่ใช้กุ้งสดสับ ผัดกับเครื่องที่ตำด้วยรากผักชี กระเทียม พริกไทย ใส่มะพร้าวขูด ใส่มันกุ้งให้มีสีส้มสวย โรยใบมะกรูดหั่นฝอย เวลาห่อก็แผ่แผ่นลุดตี่ออก รองก้นด้วยถั่วงอกลวก แล้วใส่หน้ากุ้ง ม้วนห่อเป็นคำ
  
  
สำหรับลุดตี่หน้าไก่แกง ปัจจุบันยังพอพบได้ในสำรับแขกคลองบางหลวงทุกที่ ไม่ว่าที่กุฎีเจริญพาศน์ กุฎีใหญ่ กุฎีขาว ฯลฯ ที่น่าแปลกก็คือ ของกินชนิดนี้ยังพบในงานบุญ ของมุสลิมกลุ่มเล็ก ๆ ที่ย่านหัวแหลม เมืองกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยาด้วย

จาก http://www.sarakadee.com/feature/2001/04/klong_bang-luang.htm

ถ้าพูดถึงลุดตี่ คนไทยปัจจุบันจะไม่ใคร่รู้จักกันแล้ว แต่มีอาหารบางอย่างซึ่งมีหน้าตาคล้ายคลึงกันคือ โรตี ซึ่งรับประทานเป็นได้ทั้งของหวานและของคาวเช่นเดียวกัน หากรับประทานเป็นของหวาน มีนมข้นหวานราด โรยด้วยน้ำตาลทราย หากเป็นของคาว ก็นิยมรับประทานกับแกงเขียวหวาน

โรตีแกงเขียวหวานไก่  

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 20 เม.ย. 20, 08:39

กับข้าวไทยใส่ต้มส้มแกงต้มขิง

ต้มส้ม คือแกงชนิดหนึ่ง ใช้เนื้อปลาต้มใส่กะปิ ขิง หอมแดง พริกไทย น้ำมะขามเปียก และน้ำตาล รสชาติเปรี้ยว เค็ม หวาน โรยหน้าด้วยต้นหอมผักชี.
ท่านรอยอินให้คำจำกัดความไว้ตามนี้

ปลาที่นำมาต้มส้มได้มีหลายอย่าง เช่นปลาทู ปลากระบอก   รสชาติเปรี้ยว เค็ม หวาน
ส่วนแกงต้มขิงเป็นแกงอะไรไม่ทราบ  หรือว่าเป็นคำขยายคำว่าต้มส้มก็ยังไม่แน่ใจ  เพราะต้มส้มก็ใส่ขิงเหมือนกัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 20 เม.ย. 20, 13:33

ต้มส้มปลาช่อน


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 20 เม.ย. 20, 19:00

ลู่ตี่  เป็นคำเดียวกับ ลุดตี่  ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เห่ชมเครื่องคาวหวานในรัชกาลทีี 2
เป็นแป้งแผ่นกลม ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมไข่ไก่  ใส่สีเหลืองจากหญ้าฝรั่น หรือ ขมิ้น  ทำเป็นแผ่นแล้วนึ่งให้สุก
ลุดตี่ไม่ได้กินเปล่าๆ แต่กินกับแกงน้ำข้น  แบบเดียวกับโรตี

สงสัยมานานแล้วครับว่า พวกอาหารแป้งในกลุ่มที่เรียกว่า flatbread ทรงกลมที่ชื่อเรียกต่างๆกันเช่น ลุดตี่ โรตี Chapati Naan Pita ฯลฯ ซึ่งมีทั้งแบบปิ้ง แบบอบนิ่ม(อบโอ่ง) อบแห้ง แบบทอดนิ่ม ทอดกรอบ  ของเหล่านี้ซึ่งเป็นอาหารพื้นๆของในวัฒนธรรมของคนอินเดียและแขกขาวที่เข้ามาในไทยตั้งแต่ครั้งศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น  แต่ด้วยเหตุใดจึงมีแต่เพียงโรตีที่ตกทอดมาถึงในปัจจุบัน 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 20 เม.ย. 20, 19:07

จนปัญญาจริงๆ ค่ะ    หาหลักฐานไม่ได้ว่าเหตุใดแป้งแบบอื่นๆจึงหายไปจากตลาด  เหลือแต่โรตี  ได้แต่เดาว่าสินค้าอะไรก็ตามที่สูญหายไปตามกาลเวลา อาจเกิดจากเหตุดังนี้
1  ใช้เวลาทำนานมาก  วิธีทำยาก  ทำให้อร่อยยากเพราะส่วนประกอบบางอย่างหาได้ไม่ครบ
2  ผู้บริโภคไ่ม่นิยม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 20 เม.ย. 20, 20:55

กับข้าวไทยใส่ต้มส้มแกงต้มขิง
นกคั่วปิ้งยำมะม่วงด้วงโสน
แกงปลาไหลไก่พะแนงแกงเทโพ
ผัดปลาแห้งแตงโมฉู่ฉี่มี


กับข้าวไทยข้างบน คิดว่าคุณตั้งคงอธิบายในรายละเอียดได้ทั้งหมด แต่มีอยู่เมนูหนึ่งที่ขออนุญาตนำมาวิสัชนา คือ ด้วงโสน

ด้วงโสนผัด วัตถุดิบคือ ตัวด้วงโสน ได้จากการโค่นต้นโสนลงมาแล้วตัดเป็นท่อน ๆ ผ่ากลางออกจะพบตัวด้วงขาวเล็ก ๆ ปากดำยาวขนาดครึ่งนิ้วก้อย ขั้นแรกต้องนำตัวด้วงใส่ลงไปในหม้อน้ำกะทิที่คั้นข้นเตรียมไว้แล้ว ด้วงจะดูดกินกะทิจนตัวเหยียดยาวท้องกางบางใส จึงนำไปผัดกับหมูหรือกุ้ง ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลา เล่ากันว่าด้วงโสนผัดนี้เป็นอาหารจานโปรดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากด้วงโสนแล้ว ด้วงมะพร้าวก็เป็นที่นิยมของชาววัง กรรมวิธีทำคือ นำด้วงมะพร้าวตัวอ่อน ๆ มาเลี้ยงไว้ในท่อนอ้อย ด้วงจะกัดกินเนื้ออ้อยเป็นอาหารจนเติบโตตัวเท่าหัวแม่มือ จึงผ่าท่อนอ้อย นำตัวด้วงออกมาใส่ลงในกะทิคั้นข้น ให้ด้วงกินน้ำกะทิจนตัวอ้วนขาว พุงใส จึงจับด้วงเป็น ๆ นั้นลงทอดในกระทะน้ำมันร้อน ๆ จนตัวด้วงเหยียดยาวออก แล้วจึงนำมาหั่นเป็นแว่น ๆ จิ้มกับน้ำจิ้มรับประทาน

หมอสมิธได้บรรยายเกี่ยวกับเรื่องพระกระยาหารแปลก ๆ ในพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ไว้ว่า

"...ในการเข้าเฝ้าอีกคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าได้พบพระองค์กำลังสำราญพระทัยอยู่กับการเสวยด้วงมะพร้าว ตัวอ้วนใหญ่สีขาวนวลพูนจาน (ข้าพเจ้าไม่ทราบจะอธิบายอย่างไรให้ชัดเจนไปกว่านี้) แต่เผอิญว่าในวันนั้น มีผู้เตือนข้าพเจ้าไว้ก่อนแล้วล่วงหน้า ข้าพเจ้าจึงสามารถปฏิเสธได้ทัน อย่างไรก็ตาม มีผู้ให้การยืนยันว่า หากนำด้วงมะพร้าวลงทอดในน้ำมันจากตัวของมันเองแล้ว จะมีรสชาติอร่อยเช่นกับเวลาที่รับประทานเนื้อมะพร้าวเลยทีเดียว..."

จาก หอมติดกระดาน โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย พิมพ์ครั้งที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๓ หน้า ๖-๗
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 20 เม.ย. 20, 21:00

ตัวด้วงโสน ได้จากการโค่นต้นโสนลงมาแล้วตัดเป็นท่อน ๆ ผ่ากลางออกจะพบตัวด้วงขาวเล็ก ๆ ปากดำยาวขนาดครึ่งนิ้วก้อย

รอยอินท่านเรียกด้วงโสนนี้ว่า โสน หรือ หนอนโสน

โสน  [สะโหฺน] น. ชื่อหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิด Zeuzera coffeae Nietner ในวงศ์ Cossidae ยาว ๔-๖ เซนติเมตร สีขาวหรือชมพูอ่อน เจาะเข้าไปกินส่วนในของต้นโสน ชาวชนบทจับมารับประทาน, หนอนโสน ก็เรียก.

หน้าตาของหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิด Zeuzera coffeae Nietner ประมาณนี้


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 20 เม.ย. 20, 21:09

ด้วงมะพร้าวก็เป็นที่นิยมของชาววัง กรรมวิธีทำคือ นำด้วงมะพร้าวตัวอ่อน ๆ มาเลี้ยงไว้ในท่อนอ้อย ด้วงจะกัดกินเนื้ออ้อยเป็นอาหารจนเติบโตตัวเท่าหัวแม่มือ จึงผ่าท่อนอ้อย นำตัวด้วงออกมา

ด้วงมะพร้าว คือ ตัวอ่อนระยะเป็นหนอนของด้วงงวงมะพร้าว หรือ ด้วงสาคู (Rhynchophorus ferrugineus) ซึ่งป็นแมลงศัตรูพืชจำพวกปาล์ม เช่น มะพร้าว หรือ สาคู หรือ ลาน หนอนจะอาศัยและกัดกินบริเวณยอดอ่อน

หน้าตาของหนอนด้วงมะพร้าว Rhynchophorus ferrugineus ดูอวบอ้วนน่ารับประทานมากกว่าหนอนโสน  Zeuzera coffeae   ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 20 เม.ย. 20, 21:14

ขอข้ามไปยำมะม่วงค่ะ
อาหารชาววังข้างบนนี้ ดูยังไงก็คือกินหนอนน่ะแหละ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 21 เม.ย. 20, 08:22

เนื่องจากวันนี้ ๒๑ เมษายน เป็นวันพระ และเมื่อวาน ๒๐ เมษายน เป็นวันเกิดของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขออนุญาตเล่าเรื่อง ด้วงโสน ที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต) และ คุณชายคึกฤทธิ์  ยิงฟันยิ้ม

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ มีสมเด็จพระราชาคณะ ๒ องค์ที่นอกจากเกิดปีเดียวกันแล้ว ยังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะในปีเดียวกัน อีกทั้งได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าในปีเดียวกันอีกด้วย แต่อุปนิสัยของทั้ง ๒ องค์กลับแตกต่างอย่างมาก จนมีคนตั้งฉายาคล้องจองกันว่า “พูดเล่นไม่มี พูดดีไม่เป็น”

องค์แรกนั้นคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) แห่งวัดเทพศิรินทร์ เป็นคนพูดจาเรียบร้อยและนุ่มนวล ไม่ชอบพูดเล่น อีกองค์นั้นคือ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต) แห่งวัดบวรนิเวศ ซึ่งภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงมีอุปนิสัยพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม และมีอารมณ์ขัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เป็นผู้ใฝ่ธรรม มีเมตตา อยู่อย่างสมถะ และไม่ติดในยศฐาบรรดาศักดิ์

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้หนึ่งที่รู้จักสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ตั้งแต่เล็ก เล่าว่าคราวหนึ่งนำแกงที่บิดาชอบไปถวายสมเด็จ ฯ ท่านรับประเคนแล้วก็ยังเฉยอยู่ จึงทูลว่า

“ต้องขอแรงเป็นพิเศษ ฉันแกงสักช้อนหนึ่งเถิด จะได้กรวดน้ำไปให้พ่อได้กิน เพราะพ่อชอบกินแกงอย่างนี้”
“อ๋อ” สมเด็จ ฯ ตอบ “เอ็งเห็นพระเป็นตู้ไปรษณีย์หรือ?”

“ใช่ ฉันให้หน่อยเถอะน่า จะได้สบายใจ”

ได้ยินเช่นนั้น ท่านก็ยอมฉันให้

อีกคราวหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นำด้วงโสนไปถวายท่าน เนื่องจากเป็นอาหารโปรดของมารดาท่าน ด้วงโสนนั้นยาวขนาดนิ้วก้อย เกิดในต้นโสน มองเผิน ๆ เหมือนหนอนตัวโต ๆ 


เมื่อท่านรับประเคนแล้ว ก็มองดูด้วงในชาม ครั้นเห็นแล้วก็หดมือ ถามว่า


“นั่นอะไร?”

“ด้วงโสน”

“ไม่กินว่ะ ใครจะไปกินหนอน”

“เอาหน่อยน่า แม่ชอบกิน” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์รบเร้า

“วันนี้ ไปรษณีย์ปิดโว้ย” สมเด็จ ฯ ว่า “กันกินไม่เป็น เห็นเข้าก็คลื่นไส้ ใครจะไปกินลง”

“แล้วจะทำยังไงดีล่ะ”
“เอ็งกินเข้าไปเองก็แล้วกัน”

“มันก็ไม่ถึงแม่นะซี” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แย้ง

“นั่นแหละ ดีกว่าอะไรทั้งหมด" สมเด็จ ฯ ว่า “พ่อแม่นั้นรักลูกยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น พ่อแม่ยอมอดเพื่อให้ลูกได้กิน ถ้าแม่เอ็งรู้ว่าเอ็งได้กินสิ่งที่เขาชอบ เขาก็คงดีใจมาก ทำให้พ่อแม่ได้ยินดี มีความสุขใจนั้น เป็นบุญหนักหนาอยู่แล้ว”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เล่าว่า “ผมเอาฝาชามปิดด้วงโสน แล้วถอนออกมาวางไว้ห่าง ก้มลงกราบสมเด็จ ฯ น้ำตากลบลูกตา ตั้งแต่เกิดมาเป็นตัว ไม่เคยได้กินด้วงโสนอะไรอร่อยเท่าวันนั้น”

จาก เรื่องเล่าเช้าวันพระ : อารมณ์ขันของสมเด็จฯ โดย พระไพศาล วิสาโล

https://visalo.org/monk/590123Somdej.html

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 21 เม.ย. 20, 21:20

ผัดด้วงโสน

หนังสือ "ชีวิตในวัง" ของ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ ได้กล่าวถึง ด้วงโสน ซึ่งก็คือ “หนอน” ประเภทหนึ่ง ตัวขาวปากดำ
ค ซึ่งเป็นที่โปรดเสวยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก เพราะทรงเห็นว่ามีวิตามินมาก เมื่อเป็นพระราชนิยม ชาววังสมัยรัชกาลที่ 5 จึงถูกหัดให้กินกันจนเป็นเรื่องธรรมดา

วิธีเตรียม คือ นำด้วงโสนใส่ลงไปในหม้อกะทิให้มันกินกะทิจนอิ่ม ตัวพอง  จากนั้นเอาน้ำมันใส่กระทะตั้งไฟให้ร้อน ตีกระเทียม  เอาหมูหั่นเป็นเส้นยาวๆ ผัดกับกระเทียมให้สุก  ใส่ตัวด้วงโสนลงไป คน 2-3 ทีก็สุก  จัดใส่จานได้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 22 เม.ย. 20, 07:23

ด้วงโสน ก็เป็นอาหารที่รัชกาลที่ ๖ โปรดเสวยเช่นกัน เป็น ๑ ใน ๔ เมนูที่ชาวพนักงานพระเครื่องต้นต้องจัดพยายามจัดหาไม่ค่อยขาด คือ ยำปลาดุก, ด้วงโสนทอดกรอบ, ผักสดชนิดต่าง ๆ และน้ำพริก

ด้วงโสนทอดกรอบ จัดอยู่ในประเภทอาหารพิเศษจากพระราชบุพการีที่โปรดเสวยมาในอดีต มีวิธีทำที่พิสดาร เป็นของหายาก นาน ๆ ครั้ง

จาก ราชสำนักรัชกาลที่ ๖ โดย วรชาติ มีชูบท (คุณวีมีแห่งเรือนไทย)  ยิงฟันยิ้ม




บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 23 เม.ย. 20, 20:38

กับข้าวไทยใส่ต้มส้มแกงต้มขิง
นกคั่วปิ้งยำมะม่วงด้วงโสน
แกงปลาไหลไก่พะแนงแกงเทโพ
ผัดปลาแห้งแตงโมฉู่ฉี่มี

แกงปลาไหล เมนูหนึ่งในอาหารจัดเลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองของนางละเวง กับแกงเผ็ดปลาดุกในชุดพระกระยาหาร (ชุดที่ ๒) จัดถวายรัชกาลที่ ๖ น่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกัน

ชาววังในสำนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา  นิยมใช้ปลาดุกมาแกงแทนปลาไหล (อาจเนื่องจากไม่ชอบรูปร่างหน้าตา เข้าทำนองว่าเกลียดปลาไหลกินน้ำแกง)  

ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ กล่าวถึง "แกงปลาดุกอย่างปลาไหล" ซึ่งมีเครื่องแกงอย่างแกงปลาไหลแต่ใช้ปลาดุกแทน ในหนังสือ ชีวิตชาววัง เล่มที่ ๒

แกงปลาดุกอย่างปลาไหล

เครื่องปรุง
ปลาดุก พริกแห้ง หอม กระเทียมเปราะ
พริกไทย ลูกผักชี ยี่หร่า ลูกจันทร์ ดอกจันทร์ กานพลู
ผิวมะกรูด กระชาย กะปิ เกลือ มะพร้าว
พริกชี้ฟ้า ใบมะกรูด ใบโหระพา
น้ำปลา น้ำตาล นิดเดียว พริกไทยอ่อน

วิธีทำ
ล้างปลาดุกแล่เอาแต่เนื้อ หั่นชิ้นตามชอบใจ
โขลกเครื่องแกงทั้งหมดให้ละเอียด เอามาผัดกับหัวกะทิ
จนน้ำพริกสุกหอม เอาเนื้อปลาดุกลงไปผัดรวม แล้วตักใส่หม้อ
ยกตั้งไฟ เติมกะทิที่เหลือลงไป ปรุงน้ำปลา น้ำตาลนิดเดียว
ใส่กระชายหั่นฝอย ชิมได้รสที่ชอบใจ
แล้วใส่พริกชี้ฟ้า หั่นใบมะกรูด ใบโหระพา
ถ้าชอบพริกไทยอ่อน ก็ปลิดเป็นเม็ดๆใส่ลงไปในแกงด้วย
แล้วยกลงได้
แกงอย่างนี้ ต้องกินให้เผ็ด จึงอร่อย

https://thaifolk.com/doc/cuisine/kaenpladuk/kaenpladuk.htm


บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 24 เม.ย. 20, 13:56

แกงปลาดุกของอ.เพ็ญชมพู น่ากินมากกกกก เห็นแล้วน้ำลายไหล แต่ช่วงนี้ไม่กล้ากินของเผ็ด กลัวเจ็บคอค่ะ เมื่อก่อน เจ็บคอแค่นี้เรื่องเล็กไม่เห็นเป็นไร ไม่เคยไปหาหมอเลยสักครั้ง แต่พอโควิดระบาด ช่วงต้นมี.ค.ที่ผ่านมานี้เกิดเจ็บคอ กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทำเอาประสาทเสียจนต้องรีบไปหาหมอทันทีเลยค่ะ 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 19 คำสั่ง