เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 5289 ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ ชนชั้นสูง อื่นๆ ค่ะ
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


 เมื่อ 10 มี.ค. 20, 18:40

ขออนุญาตเรียนถามถึงเรื่องกฏเกณฑ์การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ไทย ชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำราย หรือบุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทยค่ะ คือเนื่องจากดิฉันเห็นว่างคนในราชวงศ์ไทย ชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำราย หรือบุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทย จะมีชื่อที่มากกว่าสามพยางค์หรือสามคำขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาบาลี สันสกฤตเลยอยากจะทราบว่า

1 การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ไทย ชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำราย หรือบุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทย มีหลักเกณฑ์ หลักไวยกรณ์อย่างไรคะว่าจะเอาคำไหนมาอยู่ข้างหน้า ข้างหลัง

2 การตั้งชื่อของคนในราชวงศ์ไทย ชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำราย หรือบุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทยมีหลักเกณฑ์ หลักไวยกรณ์ตามหลักภาษาบาลี สันสกฤตไหมคะว่าจะเอาคำไหนมาอยู่ข้างหน้า ข้างหลัง หรือใช้หลักของไทยเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 มี.ค. 20, 15:04

ช่วยอธิบายได้อีกทีได้ไหมคะ งง?
อ้างถึง
คนในราชวงศ์ไทย ชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำราย หรือบุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทย
1  หมายถึงใครบ้างคะ  ขอตัวอย่าง
2 ชื่อพระราชทาน ตามความเข้าใจของคุณ คืออะไรคะ  ชื่อบุคคลที่โปรดเกล้าฯพระราชทานตามคำขอ  หรืออะไร?
ทำไมต้องมีคำว่าชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำรวย และบุคคลทำงานในราชการด้วย
บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 มี.ค. 20, 17:50

ขอโทษที่ไม่ได้ยกตัวอย่างค่ะ

1 ชื่อคนในราชวงศ์ไทย ขออนุญาตยกตัวอย่างชื่อพระปรมาภิไธยของ ร.6 มาแบบบย่อๆนะคะว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงษ์ อดิศัยพงษวิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทรสูรสันตติวงษวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์"

2 ส่วนชนชั้นสูง ชนชั้นที่ร่ำรวยดิฉันหมายถึงในสมัยก่อนค่ะเพราะถ้าเป็นคนธรรมดาคงมีชื่อไม่ยาวนัก ดิฉันขออนุญาตยกพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดาของ ร.5 มานะคะ
-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช
-สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา
-สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี

3 บุคคลที่ทำงานในราชการแล้วมีชื่อพระราชทานของไทย ตรงนี้ดิฉันอาจจะใช้คำผิดไป ดิฉันหมายถึง ราชทินนาม บรรดาศักดิ์ไทย เช่น
-ออกญาศรีสุริยะราชาไชยอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองพิชัย
-ออกญาเทพาธิบดีศรีรณรงค์ฤๅไชยอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองพิจิตร
-ออกญาไกรเพชรรัตนสงครามรามภักดีพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองนครสวรรค์
-ออกญาแก้วเการพยพิไชยภักดีบดินทรเดโชไชยอภัยพิรียะภาหะ เจ้าเมืองเมืองพัทลุง

จากที่หามาในวิกินะคะ พอจะบอกได้ไหมคะว่าชื่อทั้งหลายเหล่านี้มีหลักการวางคำ เช่น คำนาม คำกิริยา คำวิเศษ คำคุณศัพท์อย่างไรว่าจะให้คำไหนอยู่ข้างหน้า ข้างหลัง ใช้ตามหลักภาษาไทยไหมหรือวางตามหลักภาษาบาลี สันสกฤต

เกรงว่าจะรบกวนไปไม่ต้องอธิบายหมดทุกชื่อก็ได้ค่ะ บอกหลักการแค่ 2-3 ชื่อก็ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 มี.ค. 20, 12:05

คำถามของคุณดาวกระจ่างกว้างมาก  ดูเหมือนถามเรื่องเดียวแต่จริงๆแล้วหลายเรื่อง    ชื่อก็มี ราชทินนามก็มี  ภาษาก็มี
จึงไม่แน่ใจว่าคุณถามเรื่องภาษาของชื่อเหล่านี้ หรือหลักเกณฑ์การตั้งชื่อ  หรือทั้งสองอย่าง
ขอตอบแบบเดาจุดมุ่งหมายของคุณก่อนนะคะ
1   ไม่มีกฎหมาย ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ใดๆ ในสังคมไทยที่กำหนดการตั้ง"ชื่อปัจเจกบุคคล"ที่คุณยกตัวอย่างถึง ว่าจะต้องใช้เกณฑ์อะไรหรือภาษาแบบไหนอย่างไร   เป็นสิทธิของผู้ตั้งแต่ละคน
2  ราชทินนามขุนนางเป็นคนละเรื่องกับชื่อของปัจเจกบุคคล  ราชทินนามมีไว้เพื่อบอกถึงหน้าที่การงานและสังกัดของขุนนาง   ไม่ใช่ชื่อตัว   
เช่นออกญาไกรเพชรรัตนสงครามรามภักดีพิรียภาหะ " เป็นราชทินนามประจำตัวของขุนนางที่มารับตำแหน่งเจ้าเมืองนครสวรรค์   ถ้าคนเดิมตายไปหรือเลื่อนตำแหน่งไปรับหน้าที่อื่น  เจ้าเมืองคนใหม่ของนครสวรรค์ก็เป็นออกญาไกรเพชรรัตน แทน

ดังนั้นในประวัติศาสตร์ไทย จึงมีราชทินนามซ้ำกันหลายคนในยุคต่างๆ จึงต้องวงเล็บชื่อเอาไว้ตอนท้ายให้รู้ว่าหมายถึงใคร 
3  ชื่อที่คุณยกตัวอย่างมา  เป็นชื่อไทยที่มีที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตค่ะ  ใช้หลักเกณฑ์สนธิและสมาส 

     
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 มี.ค. 20, 13:54

การตั้ง พระนาม/พระนามทรงกรม/ราชทินนาม/นาม สำหรับ เจ้านาย/ขุนนาง/คหบดี มีความนิยมอยู่เรื่องหนึ่งคือความคล้องจองกัน ดังตัวอย่าง

พระนามทรงกรมของพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ประสูติเมื่อก่อนบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา

กรมหมื่นมเหศวรศิวลาส
กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร

ประสูติเมื่อบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา

ชั้นเจ้าฟ้า

กรมพระจักรพรรดิพงศ์
กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

ชั้นพระองค์เจ้า

กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์
กรมหลวงพิชิตปรีชากร
กรมหลวงอดิศรอุดมเดช
กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์
กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์
กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร
กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ
กรมขุนสิริธัชสังกาศ
กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
กรมพระสมมตอมรพันธ์
กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา
กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป
กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์
กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 มี.ค. 20, 16:06

^
ที่คุณเพ็ญชมพูอธิบายไว้ข้างบนนี้คือพระนามทรงกรมของพระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไม่ใช่พระนามเมื่อแรกประสูติ
พระนามเมื่อประสูติเจ้านาย มีมาจากเหตุผลนานาประการ   เรื่องหนึ่งที่บันทึกไว้คือพระนามจากเหตุการณ์ขณะประสูติ

พระราชโอรสพระองค์หนึ่งในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระนามว่า  "พระองค์เจ้าเพชรหึง" ทั้งนี้เพราะเหตุในวันประสูติ เกิดลมพายุแรงกล้าที่คนโบราณเรียกกันว่า ลมเพชรหึง   แรงขนาดพัดพระตำหนักแพวังหน้าที่ผูกไว้หลุดลอย   ประจวบกับเจ้าจอมมารดาชูเจ็บครรภ์  ประสูติพระองค์เจ้าชายในวันนั้นพอดี   พระราชบิดาจึงพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าเพชรหึง 
พระองค์เจ้าพระองค์นี้  สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 มี.ค. 20, 19:07

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะพระราชทานพระนามพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเดียวกัน ให้มีพระนามคล้องจองกัน
ตัวอย่างคือพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาแพ  มีอยู่ 5 พระองค์  ทุกพระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า
มีรายพระนามดังนี้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ทรงเป็นต้นราชสกุลเกษมสันต์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ   ต่อมาคือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบรรจบเบญจมา

เจ้าจอมมารดาแพถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพระองค์เจ้าบรรจบเบญจมาประสูติ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงพระราชทานนามว่า "บรรจบเบญจมา" หมายถึง ครบพระองค์ที่ห้า  หรือสิ้นสุดลงที่พระองค์ที่ห้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 มี.ค. 20, 19:14

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  ส่วนหนึ่งของพระนามคือ"รพี" แปลว่า ดวงอาทิตย์
ดังนั้นจึงประทานพระนามพระโอรสธิดา ให้มีความหมายเกี่ยวกับดวงอาทิตย์  ทุกองค์ทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า
ได้แก่
พิมพ์รำไพ-ไขแสงรพี-สุรีย์ประภา-วิมวาทิตย์-ชวลิตโอภาส-อากาศดำเกิง-เพลิงนภดล-ถกลไกรวัล-รวิพรรณไพโรจน์-ดวงทิพโชติแจ้งหล้า-ทิตยาทรงกลด-คันธรสรังษี-รำไพศรีสอาง 

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 12 มี.ค. 20, 19:39

คุณเทพ  สุนทรศารทูล อธิบายเกี่ยวกับการตั้งราชทินนาม/พระนาม ว่ามีหลักเกณฑ์เหมือนกันประการหนึ่ง

ราชทินนาม ที่พระราชทานให้นี้  ไม่ใช่ว่าจะโปรดพระราชทานตามพระทัยชอบ  แต่ทรงตั้งให้ด้วยพระมหากรุณา  จะให้เกิดเป็นศิริมงคลแก่ผู้นั้นด้วย  จึงทรงให้พระอาลักษณ์และพระโหราธิบดี คิดนามพระราชทานให้ต้องตามตำรา  คือตั้งตามวันเกิดผู้นั้น  ถ้าหากว่าเป็นบุคคลชั้นแม่ทัพนายกอง  จะต้องให้โหรตรวจดูดวงชะตาประกอบด้วยว่า คนเกิดในวันนั้น  มีดวงดาวให้คุณให้โทษอย่างไร  จะตั้งนามพระราชทานอย่างไรจึงจะส่งเสริมให้เจ้าชะตานั้นมีศิริมงคล  พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเรียนวิชาโหราศาสตร์ด้วย  จึงทรงทราบว่านามที่โหรกับอาลักษณ์คิดถวายนั้นเหมาะหรือไม่  แล้วจึงเขียนประกาศนียบัตร  หรือหิรัญบัตร หรือจารึกสุพรรณบัฏ  พระราชทานราชทินนาม ให้เป็นเกียรติยศ  ราชทินนามจึงเป็นนามศักดิ์สิทธิ์  เป็นศิริมงคลอย่างยิ่ง  เพราะตั้งด้วยวิชากับน้ำใจและคุณธรรม ผสมกัน ๓ ประการ  กล่าวคือ ผู้ตั้งเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์  ตั้งน้ำใจกรุณาและด้วยธรรมะในหัวใจของผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผูกพระนามพระราชทานพระราชโอรสพระราชธิดา  ก็ทรงใช้หลักการตั้งราชทินนามในการผูกพระนาม เช่น

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ ๕) พระราชสมภพวันอังคาร  ก็ทรงใช้อักษรวรรค จ. เป็นอักษรนำ  เพื่อให้ดวงจันทร์ ตัวกาลกิณีเดิมในดวงพระชะตาซึ่งทรงคุณเป็นมหาจักรนั้นให้กลับกลายเป็นไม่ให้โทษ ตามตำราโหราศาสตร์  หรือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติวันเสาร์  ก็ทรงผูกนามพระราชทานว่า "ดิศวรกุมาร"  โดยให้อักษร ด. นำหน้า ตามหลักของคนเกิดวันเสาร์

การพระราชทานราชทินนามเจ้านายและขุนนางตามวันเกิดนั้นคงเป็นพระราชประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ ๗ เมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  ซึ่งมีพระราชสมภพในวันจันทร์ว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" นั้น  โปรดให้มช้อักษร ภ. นำหน้า  เพื่อให้ดาวอาทิตย์ในดวงพระชะตาเดิม  ซึ่งเป็นกาลกิณีนั้นกลายเป็น "ศรี" จากให้โทษเป็นให้คุณแก่พระชะตา

ปัจจุบันการพระราชทานพระนามโดยหลักดังกล่าวข้างต้นยังคงมีใช้อยู่ในพระราชสำนัก  ซึ่งก็จะเป็นนามพระราชทานสำหรับพระเจ้าหลานเธอหรือพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิด  กับที่พระราชทานแก่เด็กที่เป็นบุตรหลานข้าราชบริพารหรือผู้ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีสมรสพระราชทานเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 12 มี.ค. 20, 19:40

ความหมายในราชทินนามมักจะเกี่ยวกับ ความรู้ ความชำนาญ หน้าที่การงาน ของผู้ที่ได้รับพระราชทานราชทินนาม และนิยมตั้งให้คล้องจองเช่นกัน

ในรัชกาลที่ ๕ - ๖ ยังได้ทรงผูกราชทินนามพระราชทานแก่ข้าราชการกระทรวงต่างๆ มีนามอันคล้องจองกันจำนวนมาก เช่น

รัชกาลที่ ๕  -  วรพงษ์พิพัฒน์  บุรุษรัตนราชพัลลภ  นรรัตนราชมานิต  นรฤทธิ์ราชหัช  ศิริสัตน์สถิตย์  วรสิทธิ์เสวีวัตร์

ในรัชกาลที่ ๖ ทรงคิดราชทินนามไว้มาก เช่น ราชทินนามสำหรับมหาดเล็กผู้ใหญ่ชั้นพระยา  อาทิ ประเสริฐศุภกิจ  ประสิทธิ์ศุภการ  บำรุงราชบริพาร  บริหารราชมานพ  ชั้นรองลงมาที่ทรงคิดไว้มีอาทิ จมื่นเทพดรุณาทร  จมื่นอมรดรุณารักษ์  เป็นชั้นรองหัวหมื่นมหาดเล็ก  หลวงประมวลธนสาร  หลวงประมาณธนสิทธิ์ สังกัดกองปลัดบาญชี  นายแพทย์เป็น หลวงวิวิธเวชการ  หลวงวิศาลเวชกิจ  พนักงานผสมยาเป็น ขุนพิพิธเภสัช  ขุนพิพัฒน์โอสถ  ราชทินนามสำหรับครู เช่น ราชดรุณรักษ์  พิทักษ์มานพ  อนุสิษฐดรุณราช  อนุสาสน์ดรุณรัตน์  สนธิ์วิชากร  สอนวิชาการ  ธรมสารประศาสน์  ธรรมพาทประจิตร  วิสิษฐศุภเวท  วิเศษศุภวัตร  

ราชทินนามสำหรับช่างเขียนหรือจิตรกร เช่น อนุศาสน์จิตรกร  อนุสรจิตราคม  อนุกรมจิตรายน  วิมลจิตรการ  วิศาลจิตรกรรม  ประสมสีสมาน  ประสานเบญจรงค์  บรรจงลายเลิศ  ประเจิดลายลักษณ์  สำหรับช่างสลัก เช่น จำลองศุภลักษณ์  สลักศุภเลิศ  ประเสริฐหัดถกิจ  ประสิทธิ์หัดการ

ราชทินนามกรมโขนหลวง เช่น นัฏกานุรักษ์  พำนักนัจนิกร  สุนทรเทพระบำ   รำถวายกร  ฟ้อนถูกแบบ  แยบเยี่ยงคง  ยงเยี่ยงครู  ชูกรเฉิด  เชิดกรประจง  ทรงนัจวิธี  ศรีนัจวิไสย  วิไลยวงวาด  วิลาสวงงาม  รามภรตศาสตร์  ราชภรตเสน  เจนภรตกิจ  จิตรภรตการ  ชาญรำเฉลียว  เชี่ยวรำฉลาด    ฯลฯ  ตำแหน่งจำอวดก็มีราชทินนามเป็น ราชนนทิการ  สำราญสมิตมุข  สนุกชวนเริง  บรรเทิงชวนหัว

พวกพิณพาทย์ก็มีราชทินนามเฉพาะ เช่น ศรีวาทิต  สิทธิ์วาทิน  พิณบรรเลงราช  พาทย์บรรเลงรมย์  ประสมสังคีต  ประณีตวรศัพท์  คนธรรพวาที  ดนตรีบรรเลง  เพลงไพเราะ  เพราะสำเนียง  เสียงเสนาะกรรณ  สรรเพลงสรวง  พวงสำเนียงร้อย  สร้อยสำเนียงสนธิ์  วิมลวังเวง  บรรเลงเลิศเลอ  

แต่ละราชทินนามที่ยกมาเป็นตัวอย่างอ่านดูแล้วจะทราบได้ทันทีว่า ผู้ที่ได้รับพระราชทินนามนั้นมีหน้าที่ราชการอย่างไร  ยังมีราชทินนามอีกมากสำหรับตำแหน่งต่างๆ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 12 มี.ค. 20, 19:42

การตั้งชื่อบุตรธิดาตามอักษรชื่อบิดา  

พระยาอิศราธิราชเสวี (เลื่อน บุนนาค ) สมรสกับคุณหญิงเอิบอาบ สกุลเดิม อรรถจินดา มีบุตรธิดา ๕ คน

ท่านตั้งชื่อบุตรด้วยอักษร ล. ตามชื่อของท่าน  และตัวอักษรซ้ำกันในพยางค์ ตามแบบชื่อของภรรยา
บุตรทั้งสี่คน ชื่อ ละล่อง ละลิ่ว ลิ่วละล่อง และล่องละลิ่ว
ธิดาชื่อ ลีลา (สมรสกับ พลเรือโทพรชัย เทพปัญญา)

บุตรที่เกิดจากภรรยาอื่น ได้แก่ ลอยเลื่อน และเลื่อนลอย   มีธิดาชื่อ ลลิดา และลินดา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 12 มี.ค. 20, 21:07

การตั้งชื่อบุตรธิดาคล้องจองกัน

เจ้าพระยารามราฆพมีบุตรธิดา 34 คน   บุตรธิดาที่เกิดจากมารดาเดียวกัน มีชื่อคล้องจองกัน ดังนี้

บุตร-ธิดา 2 คนเกิดจากคุณหญิงประจวบ รามราฆพ
คุณรุจิรา
คุณมานน
มีบุตร-ธิดา 7 คนเกิดจากคุณนงคราญ พึ่งบุญ ณ อยุธยา
คุณสุรางค์
คุณโสภางค์พึงพิศ
คุณจิตอนงค์
คุณบุษบงรำไพ
คุณอนงค์ในวัฒนา
คุณปิยานงราม
คุณความจำนงค์
มีบุตร-ธิดา 9 คนเกิดจากบุญเรือน พึ่งบุญ ณ อยุธยา
คุณพัฒนา
คุณบุษบานงเยาว์
คุณเชาวน์ชาญบุรุษ
คุณพิสุทธิอาภรณ์
คุณบทจรพายัพทิศ
คุณจักร์กฤษณ์กุมารา
คุณวนิดาบุญญาวาศ
คุณพรหมาศนารายณ์
คุณเจ้าสายสุดรัก
มีบุตร-ธิดา 7 คนเกิดจากคุณพิศวาส พึ่งบุญ ณ อยุธยา
คุณศิริโสภา
คุณดวงสุดาผ่องศรี
คุณกุมารีหริลักษณ์
คุณทรงจักรวรภัณฑ์
คุณรามจันทร์วรพงษ์
คุณภุชงค์บรรจถรณ์
คุณจันทรรัศมี
มีบุตร-ธิดา 6 ท่าน เกิดจากคุณถนอม พึ่งบุญ ณ อยุธยา
คุณระฆุวงศ์
คุณนีละพงษ์อำไพ
คุณไกรกรีกูร
คุณประยูรกาฬวรรณ
คุณนวลจันทร์ธิดาราม
คุณโสมยามส่องฟ้า
มีบุตร-ธิดา 3 คนเกิดจากคุณพยุงวดี พึ่งบุญ ณ อยุธยา
คุณสู่นคเรศ
คุณทักษิณีเขตจรดล
คุณอำพลปนัดดา

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 13 มี.ค. 20, 09:19

อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

รุจิรา มานน พัฒนา บุษบานงเยาว์ เชาว์ชาญบุรุษ พิสุทธิ์อาภรณ์ บทจรพยัพทิศ

จักรกฤษณ์กุมารา วนิดาบุญวาส พรหมาศนารายณ์ เจ้าสายสุดที่รัก สุรางค์

โสภางค์พึงพิศ จิตอนงค์ บุษบงรำไพ อนงค์ในวัฒนา ปรียานงราม ความจำนงค์

สิริโสภา ดวงสุดาผ่องศรี กุมารีหริลักษณ์ ทรงจักรวรพันธ์ รามจันทร์วรพงศ์

ภุชงค์บรรจถรณ์ จันทรรัศมี รฆุพงศ์ นีละพงศ์รำไพ ไกรกรีกูล ประยูรกาฬวรรณ

นวลจันทร์ธิดาราม โสมยามส่องฟ้า สู่นคเรศ ทักขิณีเขตจรดล อำพลปนัดดา"
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 13 มี.ค. 20, 19:39

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  ส่วนหนึ่งของพระนามคือ"รพี" แปลว่า ดวงอาทิตย์
ดังนั้นจึงประทานพระนามพระโอรสธิดา ให้มีความหมายเกี่ยวกับดวงอาทิตย์  ทุกองค์ทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า
ได้แก่
พิมพ์รำไพ-ไขแสงรพี-สุรีย์ประภา-วิมวาทิตย์-ชวลิตโอภาส-อากาศดำเกิง-เพลิงนภดล-ถกลไกรวัล-รวิพรรณไพโรจน์-ดวงทิพโชติแจ้งหล้า-ทิตยาทรงกลด-คันธรสรังษี-รำไพศรีสอาง  

พระนามพระโอรสธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของพระนามที่มีความคล้องจองกัน ทุกพระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า

อัปสรสมาน-บรรสานสนิท-พิจิตรจิราภา-สุธาสิโนทัย-ไตรทศประพันธ์-จันทรนิภา-ทิศากร-บังอรรัต-ดำรัสดำรง-พงศ์ทินเทพ-เสพยสุมนัส-ทิพยรัตนประภา-นาราวดี-ตรีทิเพศพงศ์-วงศ์นิรชร-มรุพรพันธ์-กันดาภา-ดาราจรัสศรี-ปรีดิเทพย์พงศ์-วงศ์ทิพยสุดา-อัจฉราฉวี-ศรีทศาลัย-ไตรทิพเทพสุต-สุรวุฒิประวัติ-ทัศศศิธร-นิกรเทวัญ-อนันตนรไชย-วิไลยกัญญา-สุชาดามณี-สมรศรีโสภา-อาทิตย์อุไทย-เจริญวัยวัฒนา-วงศานุวัติ-พวงรัตนประไพ-แขไขจรัสศรี-อัศนีฟ่องฟ้า-ประภาภรณี-โชติศรีกฤติกา-จีราโรหิณี
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 14 มี.ค. 20, 09:51

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดที่จะพระราชทานพระนามพระราชโอรสธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเดียวกัน ให้มีพระนามคล้องจองกัน

คุณ วราห์  โรจนวิภาต เขียนบทความ ยํ้ารอยอดีตคลองบางหลวง ๑ ไว้อย่างนี้


พระยาศรีสรราชภักดี (วัน บุนนาค) เป็นเปรียญและเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่เป็นเปรียญจึงมีความรอบรู้แตกฉานทั้งบาลีและสันสกฤตเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมีเพียงพยางค์เดียวหรือสองพยางค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเปรียญ ทรงคิดพระนามพระราชทานพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยศัพท์บาลีสันสกฤต มีพระนามยาว ๆ คล้องจองกันอย่างไพเราะ พระยาศรีสรราชภักดีเลยทำตามบ้าง ชื่อบุตรธิดาของพระยาศรีสรราชภักดีจึงมีนามคล้องจองกันดังนี้

พงษ์สุริยันต์-พันธุ์สุริยา-พิณเทพเฉลิม-เพิ่มเสน่หา-พุ่มมะลิร่วง-พวงมะลิลา-เพิ่มสมบัติมูล-พูนสมบัติมา-พียศมูล-พูนยศมา-พลอยพรรณราย-พรายพรรณา

http://lek-prapai.org/home/view.php?id=188

ชื่อบุตรธิดาของพระยาศรีสรราชภักดีใช้คำไทยผสมกับบาลีสันสกฤต ฟังแล้วไพเราะ และเข้าใจความหมายได้ทันที มีสองชื่อที่เป็นผู้ชายคือ พิณเทพเฉลิม และ เพิ่มเสน่หา เป็นคหบดีคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกนั้นเป็นผู้หญิง  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 20 คำสั่ง