เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 7191 สงครามเย็น ในยุค 1950s และหลังจากนั้น
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 08 ธ.ค. 19, 13:52

   อย่างที่บอกไปว่าแม้โซเวียตพัฒนานิวเคลียร์ได้แล้วก็จริง แต่คนในกองทัพอเมริกายังไม่ให้ราคาสักเท่าไร ทว่าในปี 1953 โซเวียตพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่สำเร็จ มีความรุนแรงมากกว่าที่ฮิโรชิม่ากับนางาซากิถึง 100 เท่า ทำให้เจ้าหน้าที่เริ่มก้นร้อนมากขึ้นกว่าเดิม มีการเสนอให้เปลี่ยนแผนจากหลบภัยอยู่ในบ้านเป็นการอพยพคนไปที่อื่น แต่ก็เป็นไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ ไม่เป็นโล้เป็นพาย มีการทำคู่มือออกมาแจกจ่ายพลเรือนอีกหลายครั้งหลายรอบ แนวทางในการเขียนหนังสือคือ Happy Family แค่คุณทำตามคำแนะนำในคู่มือคุณและครอบครัวก็จะปลอดภัยแล้ว

   จนกระทั่งถึงปี 1961 ได้ประธานาธิบดีคนใหม่จากตระกูลเคเนดี้ การทำคู่มือเริ่มมีความจริงจังมากกว่าเดิม จำนวนหน้าลดลงมาเหลือ 46 หน้าเน้นแค่เรื่องความจำเป็น มีการแนะนำให้ประชาชนสร้างที่หลบภัยของตัวเอง เพิ่มงบประมาณสร้างที่หลบภัยสาธารณะมากขึ้น รวมทั้งแผนการอพยพคนออกจากพื้นที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แม้คนในกองทัพยังมองว่าโซเวียตทำอะไรทวีปเมริกาไม่ได้ก็ตาม

     

     ที่หลบภัยส่วนบุคคลชั้นใต้ดิน ภาพจากปี 1957 ตามคู่มือจะต้องเตรียมอุปกรณ์ยังชีพจำนวนมากไว้ในนี้ รวมทั้งอุปกรณ์ตรวจระดับปนเปื้อนรังสีด้วย

     

     คู่มือการเอาตัวรอดจากสงครามนิวเคลียร์ในปี 1955 ต้องมีภาพครอบครัวสุขสันต์ประกอบด้วยไม่อย่างนั้นไม่ใช่ American Dream ของจริง


     

     ส่วนภาพนี้คือ Duck and Cover การเตือนภัยครั้งแรกสุดตั้งแต่ปี 1951 ในภาพเน้นไปยังเรื่องเรื่องการหา Shelter หรือสถานที่หลบภัย


   ผมขอตัดบทฝั่งอเมริกาไว้เท่านี้ก่อนนะครับ เดี๋ยววันหลังจะมาต่ออีกฝั่งหนึ่งบ้าง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 08 ธ.ค. 19, 14:06

  พูดถึงภัยจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ทำให้นึกได้ถึงเรื่องที่อ่านมาหลายปีแล้ว   ว่าดาราฮอลลีวู้ดและคนทำงานหลังกล้องจำนวนมากสังเวยชีวิตให้ภัยจากรังสีนิวเคลียร์ที่ทดลองกันนี่ละค่ะ
   ครั้งหนึ่งกองถ่ายทำยกกันไปถ่ายหนังเรื่อง The Conqueror  ในเมือง  St. George, รัฐ Utah  ซึ่งไม่ไกลจากที่นั่นนักกำลังทดลองอาวุธนิวเคลียร์อยู่   รังสีแผ่มาถึงบริเวณที่ถ่ายทำโดยคนในนั้นไม่ตระหนักถึงพิษภัย    เพราะมันไม่ได้แสดงผลปุบปับเหมือนเชื้อหวัดหรือท้องเสีย 
   แต่หลังจากนั้นอีกหลายปี   ดารานำอย่างจอห์น เวย์น  ซูซาน เฮย์เวิร์ด  แอกเนส มัวร์เฮด ผู้กำกับหนัง และคนทำงานอีก 91 คนจากทั้งหมด 220 คน ป่วยเป็นมะเร็งกันหมด   มีอยู่ 46 คนเสียชีวิตจากมะเร็ง
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 09 ธ.ค. 19, 14:04

        วันนี้เรามาต่อที่ตัวละครอีกฝั่งหนึ่งบ้างนะครับ อย่างที่คุณหมอ SILA ได้บอกไปว่ายุโรปตะวันตกมีการจัดตั้งองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือขึ้นมา ส่วนยุโรปตะวันออกมีการจัดตั้งกติกาสัญญาวอซอร์ขึ้นมาเช่นกัน ทั้งสองฝ่ายต่างสั่งสมกำลังทางทหารเพื่อเตรียมรับมือฝ่ายตรงข้าม เพียงแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันสักเล็กน้อย ซึ่งผมขออกตัวล้อฟรีตั้งแต่บรรทัดนี้เลยนะครับว่า ที่เขียนทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ

   นาโต้มีสมาชิกสำคัญๆ ด้วยกัน 3 ชาติ คืออเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ในยามปรกติหรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือผลประโยชน์เรื่องโน้นเรื่องนี้ 3 ประเทศนี้มักตบตีกันเองออกสื่อบ่อยครั้งมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ครั้นพอถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเข้าจริงๆ เมื่อต้องทำการรบ 3 ประเทศนี้จะเกาะกลุ่มกันเองอย่างเหนียวแน่น อาจจะรบไปด้วยตีกันเองไปด้วยหรือเล่นการเมืองไปด้วย แต่ไม่มีชาติไหนขอถอนตัวหรือย้ายฝั่งอย่างแน่นอน มีผู้พยายามทำให้ 3 ชาตินี้แตกแยกกันบ่อยครั้งมาก วอซอร์พยายามทำจนตัวเองพังไปก่อนก็แล้ว โซเวียตพยายามทำจนตัวเองพังบ้างก็แล้ว กระทั่งปัจจุบันรัสเซียพยายามทำจนตัวเองย่ำแย่กว่าเดิมก็แล้ว แต่เรื่องการทหารอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ยังคงเกาะกันแน่นมาก เพราะทุกชาติรู้ดีว่าตนเองต้องพึ่งพาอีก 2 ชาติในการทำสงคราม

   ยกตัวอย่างในสงครามฟอคแลนด์ปี 1982 อังกฤษซึ่งไม่มีความพร้อมเรื่องการทหารต้องรบเดี่ยวกับอาเจนติน่าซึ่งไม่มีความพร้อมเรื่องการทหารมากยิ่งกว่า อเมริกาให้ความช่วยเหลือแบบทุ่มสุดตัว โดยการจัดหาจรวดอากาศ-สู่-อากาศใหม่เอี่ยมมาให้ถึงกราบเรือ ใหม่ชนิดนักบินตัวเองยังไม่เคยเห็นของจริงด้วยซ้ำ จากปรกติเวลายิงจรวดต้องบินไปจ่อท้ายเครื่องบินข้าศึกก่อน รอให้หัวจรวดตรวจจับความร้อนได้ถึงกดปุ่มยิงออกไป แต่จรวดรุ่นใหม่ตรวจจับความร้อนจากด้านหน้าได้เลย เครื่องบินอังกฤษจึงยิงเครื่องบินอาเจนติน่าตกเป็นว่าเล่น อเมริกายังให้ข้อมูลทั้งหมดที่ตัวเองมีเกี่ยวกับกำลังทางทหารของอาเจนตินา ทั้งจากดาวเทียมและการรวบรวมข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ลับมาส่งมอบให้ ระหว่างรบก็ยังแอบส่งให้เงียบๆ จนกระทั่งสงครามสงบ ยังไม่ทันปะทะกันสักกระบวนท่าอังกฤษมีแต้มต่อแล้ว

   ขณะที่ฝรั่งเศสไม่ได้ช่วยเหลือออกนอกหน้าก็จริง แต่คุณพี่ยกเลิกการส่งอาวุธทั้งหมดให้อาเจนติน่าทันที รวมทั้งไม่ส่งเจ้าหน้าเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการใช้งานอาวุธใหม่ อาเจนติน่าต้องหาทางติดจรวดเอ็กโซเซ่ต์บนเครื่องบินตัวเองด้วยตัวเอง เขาก็ทำได้ดีแหละครับแม้จะไม่ดีที่สุดก็ตาม จรวดที่ได้มาก่อนจำนวน 5 นัดยิงเข้าเป้า 2 นัด ทำให้เรือรบกับเรือช่วยรบอังกฤษจมไป 2 ลำ เพียงแต่เป้าหมายสำคัญคือเรือบรรทุกเครื่องบินยังรอดตัว

   ครั้นพอฝรั่งเศสใช้กำลังทหารเข้ามาทำอะไรก็ตามในทวีปแอฟริกา อเมริกากับอังกฤษแกล้งทำเป็นหูหนวกตาบอด สงครามอ่าวทั้ง 2 ครั้งอังกฤษตามหลังอเมริกาแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ แม้กระทั่งสงครามถล่ม ISIS ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่นำเครื่องบินไปถล่ม ก่อนอเมริกากับสมาชิกนาโต้บางส่วนตามมาในภายหลัง ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่มีมติอะไรออกมาจากใครทั้งสิ้น 3 ประเทศนี้จะสามัคคีกันภายในและตบตีกันออกสื่อเพื่อลวงโลกเสมอ

   แต่การที่นาโต้มีประเทศใหญ่ 3 ประเทศก็มีปัญหา เพราะทุกประเทศพัฒนาอาวุธของตัวเองขึ้นมาใช้งาน ทำให้มีถึง 3 มาตรฐานไม่รู้จะเอาอย่างไรดี นอกจากนี้ในภายหลังทั้งอิตาลี เนเธอร์แลนด์ รวมทั้งเยอรมัน สามารถพัฒนาอาวุธของตัวเองขึ้นมาได้เช่นกัน คราวนี้แหละวุ่นวายขายปลาช่อนไปหมด รถถังจากประเทศนี้ใช้กระสุนจากประเทศนี้ไม่ได้ เครื่องบินประเทศนี้ใช้น้ำมันเครื่องประเทศนี้ไม่ได้ เรือรบจากประเทศนี้ใช้ตอร์ปิโดประเทศนี้ไม่ได้ เวลารบจริงการส่งกำลังบำรุงจะเป็นปัญหาสำคัญ เหมือนที่เคยเจอมาก่อนในสงครามโลกทั้งสองครั้ง

   มันวุ่นวายมากจนต้องกำหนดมาตรฐานนาโต้ขึ้นมา มีการพัฒนาอาวุธร่วมกันแล้วให้สมาชิกใช้งานร่วมกัน ช่วงแรกอาจลำบากหน่อยแต่ถึงตอนนี้เป็นรูปเป็นร่างมากแล้ว อาวุธส่วนใหญ่จะมีให้เลือก 2 แบบบ้าง 3 แบบบ้างไม่มากกว่านี้ อเมริกาไม่มีปัญหาเลยเพราะตัวเองเป็นคนกำหนดมาตรฐาน อังกฤษมีปัญหาบ้างเพราะแนวทางการใช้งานอาวุธแตกต่างกัน ส่วนฝรั่งเศสชาตินี้อินดี้มาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว ยังคงผลิตอาวุธของตัวเองออกมาใช้งานเหมือนเดิม เพียงแต่ยอมรับอาวุธมาตรฐานนาโต้มากกว่าเดิม ชาตินี้เป็นอะไรที่...มีเรื่องเล็กน้อยก็โวยวาย มีเรื่องนิดหน่อยก็ประท้วง เอะอะชอบขู่ว่าจะไปแล้วนะไม่อยู่แล้วนะ แต่ก็อยู่ด้วยกันแบบนี้แหละไม่ไปไหนหรอก ฝรั่งเศสไม่มีทางย้ายค่ายแน่นอน และเป็นชาติแรกที่พร้อมเข้าปะทะรัสเซียแบบเต็มตัว


     

     เครื่องบินซีแฮริเออร์กองทัพเรืออังกฤษกับจรวดต่อสู้อากาศยาน  AIM-9L Sidewinders ที่อเมริกามอบให้ใช้งาน เครื่องบินรุ่นนี้คือพระเอกในสงครามฟอคแลนด์ที่แท้จริง สามารถยิงเครื่องบินอาเจนติน่าตกมากถึง 20 ลำด้วยกัน โดยเป็นผลงานจรวดรุ่นใหม่อเมริกาถึง 16 ลำ นี่คือความสัมพันธ์ที่ไม่มีทางตัดกันขาดระหว่าง 3 ชาติฝั่งนาโต้


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 09 ธ.ค. 19, 14:19

        น้ำท่วมทุ่งเรื่องนาโต้ไปแล้วย้ายมาฝั่งวอซอร์บ้าง (ให้เวลาดื่มน้ำกินอาหารว่าง 10 นาทีเพราะมันยาว) ทางนี้ไม่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานเพราะ 'โซเวียตทำทุกชาติใช้' อาวุธหลายชนิดอาจมีผลิตในโปแลนด์ ยูโกสลาเวีย ฮังการี หรือเยอรมันตะวันออก แต่เป็นการนำพิมพ์เขียวโซเวียตไปทำโดยอาจปรับปรุงเล็กน้อย และเนื่องมาจากระบอบการปกครองที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ทำให้นโยบายต่างๆ เกี่ยวกับการทหารเดินหน้าไปอย่างสะดวกโยธิน นำมาบวกกับแรงงานซึ่งแทบไม่มีต้นทุนเหมือนตะวันตก ทำให้การพัฒนาและสร้างอาวุธเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว

   ภาพของวอซอร์ระหว่างสงครามเย็นที่ทุกคนเห็นก็คือ กองทัพรถถังมองเห็นสุดลูกหูลูกตาจะไหลออกมาเป็นด่านแรก ตามติดมาด้วยกองทัพทหารจำนวนมากมายละลานตา มีจรวดต่อสู้อากาศยานนับไม่ถ้วนคอยป้องกันภัยจากฟากฟ้า มีปืนใหญ่ยิงใส่ฝ่ายตรงข้ามชนิดวินาทีต่อวินาที มียานหุ้มเกาะลำเลียงทหารต่อแถวยาวเป็นกิโลเมตร อาวุธที่กล่าวมานาโต้มีน้อยกว่าหลายเท่าตัว ถ้าต้องรบกันจริงๆ ผมต่อวอซอร์ลูกควบลูกครึ่งรับไม่อั้น

   การรบในสงความเย็นรถถังหลักคืออาวุธสำคัญที่สุด ปี 1982 นาโต้มีรถถัง 13,000 คัน (ขนาดอเมริกาขนทหารและอาวุธตัวเองไปกองแหมะในเยอรมันตะวันตกเต็มที่แล้ว) ส่วนวอซอร์มีมากถึง 42,500 คัน ปืนใหญ่และปืนครกก็มีมากกว่าคือ 10,750 กระบอกกับ 31,500 กระบอก อาวุธ 2 ชนิดนี้คือตัวตัดสินแพ้ชนะการรบทางบก แต่การรบทางอากาศมีก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ปี 1982 นาโต้มีเครื่องบินรบ 2,975 ลำในยุโรป ส่วนวอซอร์มี 7,240 ลำ เครื่องบินอเมริกาอาจทันสมัยกว่าก็จริง แต่ยิงจนเหนื่อยก็ยังจัดการอีกฝ่ายไม่หมดอยู่ดี ครั้นจะใช้จรวดต่อสู้อากาศยานเข้าจัดการ ปรากฎว่านาโต้มีไม่ถึง 5,000 นัด แต่วอซอร์มี 12,000-14,000 นัด คุณพระคุณเจ้า!

   การรบทางบกกับทางอากาศนาโต้เป็นรอง แต่พอย้ายลงทะเลคราวนี้เป็นฝ่ายได้เปรียบทั้งปริมาณและคุณภาพ เพราะตัวเองมีเรือบรรทุกเครื่องบินถึง 7-9 ลำส่วนอีกฝ่ายมีแค่เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ความน่ากลัวของวอซอร์ (จริงๆ โซเวียต) คือมีเรือดำน้ำมากกว่าอีกฝ่าย นาโต้ต้องเสียเงินก้อนโตพัฒนาระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ ในการรบจริงนาโต้จะครองน่านฟ้ากับพื้นที่ทะเลส่วนใหญ่ ส่งเครื่องบินเข้าไปถล่มบนแผ่นดินแม่ได้สบายๆ ก็จริง แต่ต้องคอยเสียวสันหลังจากเรือดำน้ำเหมือนกับที่เยอรมันทำในสงครามโลกทั้งสองครั้ง

   เห็นความน่ากลัวของวอซอร์และโซเวียตกันไปแล้ว มาเห็นความล่มสลายของพวกเขากันต่อเลย ผมให้ประเด็นสำคัญๆ ไว้ทั้งหมด 3 เรื่องประกอบไปด้วย

1.ระบอบการปกครอง
2.การปรับตัว
3.เทคโนโลยี


   เนื่องมาจากระบอบการปกครองที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ทำให้นโยบายต่างๆ เกี่ยวกับการทหารเดินหน้าไปอย่างสะดวกโยธิน และเนื่องมาจากระบอบการปกครองที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ทำให้นโยบายต่างๆ ไม่มีใครเข้ามาตรวจสอบว่าผิดพลาดตรงไหน เมื่อผู้นำบอกให้ส่ายหางสิลูกทุกคนทำตามทันที ขณะที่ฝั่งนาโต้กว่าจะทำอะไรสักอย่างต้องตบตีกันข้ามปีบางเรื่องก็ข้าม 10 ปี เพราะฉะนั้นเมื่อผู้นำเกิดเดินหลงทางเกมจบตรงนั้นแหละ คอมมิวนิสต์ไม่มีแผนสอง ไม่มีแผนสำรอง รวมทั้งทุกคนต้องไม่มีข้อสงสัย ใครไม่ทำตามถือว่าผิดกฎพรรค

   ใครสนใจเรื่องนี้ต้องศึกษาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังสงครามเวียดนามยุติคนทั่วโลกคิดว่าไทยจะเป็นคอมมิวนิสต์ชาติถัดไป ตามทฤษฎีโดมิโนที่มีผู้เชี่ยวชาญออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อ แต่คดีพลิกกลายเป็นว่า 8 ปีต่อมาคอมมิวนิสต์ในไทยล่มสลาย หนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นก็คือความต้องการประชาธิปไตยในระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งพอสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นจริงสมาชิกจำนวนมากหันหลังให้กับพรรค และเนื่องมาจากไม่มีประชาธิปไตยในระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้ทฤษฎีโดมิโนเกิดขึ้นจริงอีกครั้งในปี 1991 ทว่ากลายเป็นการล่มสลายระบอบคอมมิวนิสต์ เรื่องนี้โทษใครไม่ได้เลยนอกจากต้องโทษตัวเอง

   และเนื่องมาจากไม่แผนสองจึงส่งผลมายังเรื่องที่สอง ระบอบคอมมิวนิสต์ต้องพ่ายแพ้ให้กับสงครามการค้า เพราะโลกหมุนเร็วมากทุกสิ่งทุกอย่างเดินไปข้างหน้าไม่มีหยุด ทุกประเทศต้องแข่งขันกันเอง ทุกประเทศต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องดิ้นรนตะเกียกตะกายไขว่คว้าให้สุดกำลัง แต่ประเทศในกลุ่มวอซอร์คุ้นเคยกับการได้รับความช่วยเหลือจากพี่ใหญ่ คุ้นเคยกับการได้รับอาวุธทันสมัยจากโซเวียต ได้รับงบประมาณทางทหารจากโซเวียต ได้รับเจ้าหน้าที่มาช่วยฝึกกำลังพลจากโซเวียต ช่วงแรกๆ มันก็ยังดีอยู่เพราะโซเวียตกุมความได้เปรียบประเทศต่างๆ  ครั้นพอเวลาผ่านไปประเทศอื่นฟื้นตัวจากสงครามโลกได้แล้ว แต่โซเวียตยังติดอยู่ในกับดักตัวเองหนีไปทางไหนไม่พ้น เมื่อปรับตัวไม่ได้เงินในกระเป๋าย่อมร่อยหลอลงจากนโยบายแจกฟรี เกิดปัญหาขึ้นมาก็ไม่มีกุนซือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแก้ไข ฉะนั้นแล้วถึงนาโต้ไม่ต้องทำอะไรเลยวอซอร์ก็ล่มสลายอยู่ดี

    

     การเผชิญหน้ากันระหว่างรถถัง 2 ฝ่ายที่จุดตรวจชาลีในกรุงเบอร์ลินในปี 1961 ไม่ว่าจะมีการปะทะกันที่ซีกใดซีกหนึ่งของโลกนี้ก็ตาม กรุงเบอร์ลินจะเกิดสงครามรถถังกลางเมืองตามติดมาในระยะเวลาอันสั้น ภาพยนตร์เรื่อง bridge of spies จำลองสถานที่จากช่วงเวลานี้เช่นกัน คืนพรุ่งนี้ขอกลับไปดูอีกรอบก่อนครับเพื่อความมั่นใจ

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 09 ธ.ค. 19, 14:36

      มาถึงเรื่องสุดท้ายคือเทคโนโลยี โดยทั่วไปการผลิตอาวุธค่ายนาโต้จะต้องทำตามมาตรฐาน มีการค้นคว้าวิจัยพัฒนาต้นแบบ มีการผลิตต้นแบบขึ้นมาเพื่อทดสอบใช้งานจริง รวมทั้งมีการแข่งขันเพื่อคัดเลือกอาวุธที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด ทำให้อาวุธเทพจำนวนมากไม่ได้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยหลายอย่าง ขณะที่ฝั่งวอซอร์นำทีมโดยโซเวียตประเทศเดียว มีการค้นคว้าวิจัยพัฒนาต้นแบบขึ้นมา มีการผลิตต้นแบบเพื่อทดสอบใช้งานจริง รวมทั้งมีการแข่งขันเพื่อคัดเลือกอาวุธที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดเช่นกัน แต่...ทุกอย่างเป็นแค่เพียงภาพลวงตา

   อาวุธจำนวนมากใช้เวลาค้นคว้าวิจัยพัฒนาต้นแบบน้อยกว่ากำหนด อาวุธจำนวนมากมีการผลิตต้นแบบขึ้นมาเพื่อทดสอบจริงน้อยกว่ากำหนด รวมทั้งอาวุธจำนวนมากไม่มีการแข่งขันกับใครทั้งสิ้น พัฒนาสำเร็จเริ่มใช้งานจริงตั้งแต่เดือนถัดไปเลย ถ้าไม่ดีจริงก็ปลดประจำการง่ายๆ แค่นี้เอง เพราะนโยบายของท่านผู้นำและพรรคการเมืองกำหนดไว้ว่า ต้องการให้มีอาวุธจำนวนมากกว่าและร้ายแรงกว่าฝ่ายตรงข้าม อาวุธโซเวียตทั้งหมดจึงเน้นเรื่องประสิทธิภาพเป็นหลัก มีจุดอ่อนจุดด้อยจำนวนมากซึ่งพวกเขาไม่คิดสนใจ สะสมมาเรื่อยๆ ก่อนเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ในภายหลัง


     

   ดูภาพประกอบกันบ้างนะครับ นี่คืออาวุธสำคัญที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศไทย ปืนเล็กยาวจู่โจมขนาด 7.62 มม.หรือทุกคนจักกันดีว่า 'อาก้า' กับเครื่องยิงจรวดขนาด 40 มม. รุ่น เบ41 หรือทุกคนจักกันดีว่า 'จรวดอาร์พีจี' ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนยุทธวิธีการรบของทหารป่าตั้งแต่ปลาย 2512 อาวุธทั้ง 2 ชนิดประกอบด้วยอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้น สามารถถอดและประกอบได้อย่างง่ายดาย วิธีใช้งานไม่ยุ่งยาก ประสิทธิภาพสูง ดูแลซ่อมบำรุงไม่มีความซับซ้อน ได้รับความนิยมสูงจนถึงปัจจุบันก็ยังใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่พอนำแนวคิดนี้ไปใช้กับอาวุธอื่นกลับตรงกันข้าม

   อย่างที่รู้ว่าโซเวียตผลิตรถถังออกมาจำนวนมหาศาล รถถังรุ่นใหม่ดิดปืนใหญ่กระบอกโตกว่าฝั่งนาโต้ อำนาจการทำลายล้างจึงสูงกว่าไปด้วย แต่โซเวียตแทบไม่ได้ให้ความสำคัญด้านอื่น ระบบควบคุมการยิงค่อนข้างล้าสมัย ยิงได้ไม่แม่นเท่ารถถังจากฝั่งนาโต้ ระบบป้องกันตนเองก็มีอย่างจำกัดจำเขี่ย ระบบความปลอดภัยของตัวรถไม่ต้องพูดถึง ยิงโดนตรงไหนมีความพร้อมที่จะเกิดไฟไหม้ได้ทุกจุด เครื่องยนต์และระบบไฟฟ้ามีอายุการใช้งานต่ำ รวมทั้งเรื่องการซ่อมบำรุงทำได้ยากมาก สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หาได้ยากเต็มที

   เครื่องบินรบจากโซเวียตก็เช่นกัน ถูกออกแบบให้ใช้เครื่องยนต์สมรรถนะสูง บินไต่ระดับได้เร็วมาก บินสูงจากพื้นดินมากกว่าเครื่องบินฝ่ายตรงข้าม ทำความเร็วสูงสุดมากกว่าอย่างเหนือชั้น สามารถผลิตออกมาได้ปริมาณมากในระยะเวลาค่อนข้างสั้น ทำให้ค่ายนาโต้ตกใจตาลีตาเหลือกทุกประเทศ พยายามพัฒนาเครื่องบินขึ้นมาสู้แต่ก็เป็นไปอย่างล่าช้า เวลาต่อมาเมื่อระบบคอมมินิสต์ล่มสลาย จึงได้ปรากฏความจริงว่าเครื่องบินไม่ได้มีเทคโนโลยีซับซ้อน นำโครงสร้างเดิมจากยุคเก่ามาปรับปรุงใหม่ เน้นเรื่องประสิทธิภาพไม่สนใจเรื่องความปลอดภัย ตัวถึงเครื่องบินส่วนใหญ่ยังทำจากเหล็ก อายุการใช้งานค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับอีกฝั่ง เครื่องยนต์เสื่อมสภาพเร็วและไม่สามารถซ่อมใหญ่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ต้องจำหน่ายสถานเดียว ซึ่งเป็นแนวทางปรกติของค่ายนี้อยู่แล้ว

   ที่เป็นเช่นนี้เพราะอยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ต้องการอาวุธจำนวนมากออกมายันข้าศึกจากโลกเสรี แต่ถ้าคิดอีกมุมน่าจะเป็นแนวคิดคณะกรรมการพรรค ต้องการเขียนเสือให้วัวกลัวข่มขู่คนทั้งโลกไว้ก่อน โดยไม่ทันสนใจว่านอกจากคุณจะสร้างอาวุธขึ้นมาแล้ว คุณยังต้องเสียเงินก้อนโตในการซ่อมบำรุงดูแลรักษา เครื่องบิน 1 ลำอาจมีราคา 300 ล้านบาทก็จริง แต่ค่าดูแลให้มีความพร้อมรบ 10 ปีสูงมากกว่าราคาเครื่องบินไปแล้ว ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการขึ้นบินแต่ละครั้ง โซเวียตเน้นเครื่องยนต์กำลังสูงย่อมกินน้ำมันมากไปด้วยตามปรกติ ค่าใช้จ่ายพวกนี้เป็นเงินก้อนโตมากในแต่ละปี ซึ่งถ้าไม่มีจะทำให้ความพร้อมรบต่ำลงอย่างชัดเจน

   แผนการรบของวอซอร์หลังปี 1980 เป็นต้นไป คือการบุกเข้าโจมตีแบบฟ้าผ่าและยึดพื้นที่ภายใน 48-72 ชั่วโมง เพราะอาวุธของตัวเองมีความพร้อมรบค่อนข้างต่ำ ทำการรบยืดเยื้อเกินไปตัวเองจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ การส่งกำลังบำรุงต่างๆ ยิ่งลำบากไปกันใหญ่ อาวุธทันสมัยมีมากเกินไปแต่ไม่มีเงินดูแลรักษา เมื่อโซเวียตล่มสลายลงจึงเกิดกรณีลักลอบขโมยอาวุธร้ายแรงไปขาย ไม่มีใครรู้หรอกครับว่ามากน้อยสักแค่ไหน เพราะก่อนหน้านี้มีอาวุธถูกแทงจำหน่ายในแต่ละปีเยอะอยู่แล้ว

   เรื่องความปลอดภัยของอาวุธโซเวียตขอพูดถึงสักเล็กน้อย เรือดำน้ำทุกลำต้องดำอยู่ใต้น้ำใช่ไหมครับ และเรือดำน้ำทุกลำมีโอกาสเจอปัญหาใหญ่ระหว่างดำ ทำให้บางครั้งต้องสละเรือหนีเอาตัวรอดขึ้นมาด้านบน เรือดำน้ำส่วนใหญ่มีช่องหนีภัยฉุกเฉิน สามารถเปิดปิดประตูความดันสูงจากด้านนอกเรือได้ วิธีการหลบหนีคือจะมียานกุู้ภัยมาช่วย ทุกคนขึ้นมาจากช่องฉุกเฉินต่อตรงกันยานกู้ภัย ปิดประตูจากด้านนอกแล้วกลับขึ้นผิวน้ำแบบสบายๆ
   
      วิธีการที่สองในกรณีไม่มีความช่วยเหลือ ลูกเรือสวมชุดป้องกันแล้วทยอยออกมาจากช่องฉุกเฉิน จากนั้นค่อยๆ ลอยตัวขึ้นผิวน้ำพร้อมปล่อยแพยางชูชีพ สมาชิกมากันครบค่อยหาวิธีติดต่อในภายหลัง แต่เรือดำน้ำรัสเซียส่วนใหญ่จนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีสวมชุดหนีออกมาจากท่อตอร์ปิโด โดยต้องมีหนึ่งคนปิดช่องตอร์ปิโดจากภายในเรือ

   หมายความว่าอย่างไร? มีผู้เสียสละ 1 คนอย่างนั้นใช่ไหม? คำตอบคือไม่ใช่ครับ คนที่ออกไปจากช่องตอร์ปิโดมีหน้าที่แก้ปัญหาให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้จะทำอย่างไรต่อเป็นผมก็ตัดสินใจไม่ได้เหมือนกัน หลังสงครามโลกเรือดำน้ำของโซเวียตประสบอุบัติเหตุจมทะเล 5 ครั้ง มีเพียงครั้งเดียวที่ลูกเรือครึ่งหนึ่งถูกช่วยเหลือออกมาได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากคำสั่งรองกัปตันให้สละเรือ ในจำนวน 5 ลำเป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 3 ลำ และเมื่อไม่นานมานี้เรือดำน้ำขนาดเล็ก 1 ลำเพิ่งไฟไหม้ลูกเรือตายหมด ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการสอบสวนแต่อย่างใด

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 09 ธ.ค. 19, 14:47

   จะเห็นได้ว่าอาวุธทันสมัยของโซเวียตทุกชนิด ถูกผลิตด้วยมาตรฐานเดียวกันรวมทั้งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์และระเบิดนิวเคลียร์ ความน่ากลัวอยู่ตรงที่มาตรฐานโซเวียตนี่แหละครับ มาเจาะลึกกันต่อสักนิดดีกว่า

   จรวดต่อสู้อากาศยานส่วนใหญ่นำวิถีด้วยเรดาร์ หมายความมีเรดาร์อยู่บนพื้นดินทำหน้าที่ส่องเป้าหมายบนอากาศ ลูกจรวดจะวิ่งไปตามคลื่นเรดาร์กระทั่งกระทบเป้าหมายหรือเชื้อเพลิงหมด เพราะฉะนั้นเรดาร์ควบคุมการยิงค่อนข้างสำคัญไม่แพ้จรวด ค่ายนาโต้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้จรวดมีความแม่นยำตามมาตรฐาน และมีราคาแพงตามมาตรฐานตามไปด้วย แต่จรวดต่อสู้อากาศยานโซเวียตมีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ เรดาร์ควบคุมการยิงไม่ได้ทันสมัยสักเท่าไหร่ จรวดเองก็ไม่คล่องตัวการเลี้ยวระยะประชิดทำได้ไม่ดี

   วิธีการแก้ไขคือขยายขนาดจรวดใหญ่กว่าเดิม ใส่หัวรบลงไปมากกว่าเดิม ใส่เครื่องยนต์แรงกว่าเดิม ความเร็วสูงกว่าเดิม ระยะยิงสูงกว่าเดิม ใช้วิธียิงใส่ตรงๆ ด้วยปริมาณมากกว่าโดยหวังว่าจะโดนเข้าสักนัด สมัยสงครามเวียตนามมีปัญหาว่าตรวจจับเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ไม่ได้ เพราะอเมริกาใช้สงครามอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เรดาร์ใช้งานไม่ได้ จึงแก้เกมด้วยการยิงจรวดไปดักหน้าตามทิศทางที่คาดว่าเครื่องบินน่าจะบินผ่าน นักบินไม่คิดว่าจะเจอไม้นี้ร่วงไปหลายสิบลำถึงจะแก้เกมได้ สรุปความได้ง่ายๆ ว่าจรวดโซเวียตแม่นยำสู้อีกฝั่งไม่ได้

   ทีนี้เมื่อโซเวียตพัฒนาขีปนาวุธระยะกลางหรือระยะไกลติดหัวรบนิวเคลียร์ ความแม่นยำก็ไม่ได้ต่างไปจากจรวดต่อสู้อากาศยาน สมมุติว่าขีปนาวุธอเมริกาเล็งเป้าหมายเดอะมอลล์บางกะปิจากระยะ 2,000 ไมล์ อาจบินไปตกเดอะมอลล์รามคำแหงได้อันนี้ถือว่าผิดพลาดไม่มาก แต่ขีปนาวุธโซเวียตเล็งเป้าหมายเดอะมอลล์บางกะปิ อาจบินไปตกเดอะมอลงามวงษ์วานได้อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องปรกติ สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือประสิทธิภาพหัวรบนิวเคลียร์ บางครั้งอาจไม่ทำงาน บางครั้งอาจมีประสิทธิภาพครึ่งเดียว และบางครั้งอาจมีประสิทธิภาพสองเท่าตัว บางครั้งที่ว่ามาทั้งหมดถือเป็นเรื่องปรกติมาตรฐานโซเวียต รวมทั้งเรื่องการดูแลรักษาที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง

   สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าหัวรบนิวเคลียร์ก็คือ...การแพร่กระจายของรังสี จะเห็นได้ว่าช่วงแรกอเมริกายังไร้เดียงสาโดยไม่ตั้งใจ มีผู้คนล้มตายจำนวนมากเพราะไม่มีการป้องกัน แต่โซเวียตนั้นไร้เดียงโดยความตั้งใจ แกไม่สนใจว่ารังสีจะแพร่กระจายมากน้อยแค่ไหน เรื่องการป้องกันยิ่งไม่ต้องไปพูดถึงใหญ่ อาทิเช่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลซึ่งเกิดระเบิดในปี1986 จนถึงปัจจุบันเมืองนี้ยังไม่ปลอดภัยจากรังสีตกค้าง ว่ากันว่าต้องใช้เวลาถึง 300 ปีถึงจะจัดการหมด

   เพราะฉะนั้นพอจะกล่าวได้ว่า ระเบิดนิวเคลียร์โซเวียตน่ากลัวที่สุดในสามโลก ที่มันน่ากลัวเพราะผู้ผลิตนี่แหละครับ ผมปูเรื่องค่อนข้างยาวรวมทั้งกล่าวถึงจุดจบโซเวียตและวอซอร์ไปบางส่วน ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังอันตรายนิวเคลียร์มากกว่าเดิม ไม่ได้ต้องการสปอยเนื้อเรื่องแต่อย่างใด เรื่องการล่มสลายนี่แยกออกมาเขียนต่างหากได้อีกเยอะเลย  มีเรื่องราวตามมาหลังจากนั้นอีกค่อนข้างมาก

   

     

    ภาพนี้แสดงจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ระหว่างอเมริกากับโซเวียตหรือรัสเซียหลังปี 1991 นับรวมทั้งหมดไม่ว่าลูกเล็กลูกใหญ่ (ขีปนาวุธ 1 ลูกอาจมีหลายหัวรบ) สังเกตที่ปี 1962 อเมริกามีมากกว่าแบบทิ้งห่างอย่างเหนือชั้น แต่พอถึงปี 1980 โซเวียตเริ่มแซงหน้าและหนีไปไกลลิบ จนกระทั่งมีการทำข้อตกลงลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ลงทั้งสองฝ่าย ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงล่มสลายของโซเวียตในเวลาต่อมา สถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก



วันนี้มีแต่ตัวอักษรละลานตาไปหมด ครั้งถัดไปผมขอเปลี่ยนมาเป็นสายบันเทิงบ้างดีกว่า  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 10 ธ.ค. 19, 14:56

ดิฉันไม่มีความรู้เรื่องนิวเคลียร์ นอกจากว่ามันเป็นชื่อระเบิดที่ว่ากันว่าแรงพอจะถล่มโลกได้ ทดลองกันแล้วทดลองกันอีกในบรรดาประเทศมหาอำนาจ  ส่วนคนไทยนั้นก็เฉยๆ  รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว
ตอนเด็กๆได้ยินคำว่า อะตอมมิคบอมบ์ ที่แปลว่าระเบิดปรมาณู   ต่อมาสองคำนี้หายไปมีแต่คำว่านิวเคลียร์  ส่วนคำว่าปรมาณูยังใช้กันอยู่ แต่น้อยมาก   ไม่เคยชินหูคน generation X Y Z
ที่เหลือเป็นหน้าเป็นตาอยู่ก็คือหน่วยงานแห่งนี้      เดาว่าชาวเรือนไทยจำนวนมากอาจไม่รู้ว่ามีหน่วยงานนี้อยู่ในกรุงเทพ     และยากกว่านั้นคือไม่รู้ว่าหน่วยงานนี้ทำหน้าที่อะไร


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 11 ธ.ค. 19, 10:55

ตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมไปสัมภาษณ์งานที่นั่นด้วยนะครับ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเนี่ย แต่ไม่ได้

ภายหลังรับราชการแล้ว ก็ไม่มีโอกาสไปประชุมร่วมกับเขาอีก 2-3 ครั้ง ทำให้ทราบว่า เตาปฏิกรณ์ของเขาขนาดเล็กมากครับ อย่าเรียกว่าเตาเลยจะดีกว่า มันพอๆกับแบทเตอรี่รถยนต์เท่านั้นเอง แต่ก็แน่นอนแหละครับว่า ภายในคือสารกัมมันตรังสี ซึ่งคำๆนี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้คน จะเล็กจะใหญ่แค่ไหนก็กลัวกันไว้ก่อนแล้ว เมื่อไวๆนี้ จึงมีปัญหาว่า ชาวจังหวัดนครนายก ไม่ค่อยสบายใจเมื่อทราบว่า จะมีการสร้างสถานที่วิจัยเกี่ยวกับกัมมันตรังสีที่นั่น

เมื่อปีก่อน ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมงานของผู้ปฏิบัติงานด้านชีวะเคมีรังสีนิวเคลียร์ (ชครน.) ของกองทัพไทย ทำให้ทราบว่า สิ่งที่เป็นสารกัมมันตรังสีนั้น ปัจจุบันมีอยู่ในอุปกรณ์หลายหลายชนิด เอาง่ายๆคือ ที่ใดมีเครื่องเอ็กซ์เรย์ ที่นั่นก็ย่อมมีสารกัมมันตรังสี ดังนั้น ทุกโรงพยาบาล สนามบิน ด่านศุลกากร ไปยังรัฐสภา ล้วนมีเสี้ยวหนึ่งของ "นิวเคลียร์" ตั้งอยูู่ทั้งสิ้นแหละครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 11 ธ.ค. 19, 11:02

แปลว่าเครื่องนี้ก็มี "นิวเคลียร์ "อยู่ด้วยงั้นหรือคะ? ตกใจ ตกใจ ตกใจ


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 11 ธ.ค. 19, 16:24

จริงๆ ต้องพูดว่า มีสารกัมมันตรังสี อยู่ครับ
การมีเครื่องมืออย่างนี้ การนำเข้า การจัดเก็บ การบำรุงรักษา การทำลาย ตลอดจนคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ที่สามารถปฏิบัติงาน หรือซ่อมบำรุงกับเครื่องมือเหล่านี้ต้องมีมาตรฐานควบคุมทั้งสิ้นครับ

นอกจากนี้ การปฏิบัติงานกับเครื่องมือเหล่านี้ ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย เพราะแม้ว่าสารกัมมันตรังสีที่มีอยู่จะเป็นปริมาณเล็กน้อย แต่ถ้าทำงานกับเครื่องมือเหล่านี้ยาวนาน ผู้ปฏิบัติงานก็อาจได้รับผลกระทบสะสมได้ ผมเคยไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สนามบิน ในส่วนของห้องตรวจสัมภาระ พวกเขาจะมีเครื่องมือตรวจวัดปริมาณรังสีติดตัวเป็นรายบุคคลเลยครับ เครื่องมือนี้จะถูกส่งไปตรวจวัดเป็นวงรอบ ผมไม่แน่ใจว่าทุกๆ เดือน หรือทุกๆ ไตรมาส ถ้าผลออกมาว่า ปริมาณรังสีที่ได้รับเกินกว่าค่าที่กำหนด เจ้าหน้าที่ท่านนั้น ต้องย้ายออกไปทำงานที่อื่นครับ     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 11 ธ.ค. 19, 20:43

ก่อนหน้าชัย ราชวัตร  เรามีนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองฝีมือเลิศ ชื่อ ประยูร จรรยาวงษ์   ผู้ซึ่งได้รางวัลแมกไซไซสาขาวารสารศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ ในปี พ.ศ. 2514
ท่านได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเขียนภาพการ์ตูนของโลก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2503 จากผลงานชื่อ "การทดลองระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย" (The Last Nuclear Test)


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 12 ธ.ค. 19, 09:26

        วันนี้เรามาต่อเรื่องใหญ่โตในยุคสงครามเย็น นั่นคือวิกฤตขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่คิวบา มีภาพยนตร์พูดถึงเรื่องนี้หลายเรื่องอยู่เหมือนกัน แต่ที่พูดถึงโดยตรงก็คือ 'Thirteen Days' เริ่มฉายในวันคริสมาตปี 2000 ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของโรเบิร์ต เคเนดี้ ซึ่งออกวางขายหลังตัวเองโดนลอบสังหาร 1 ปี (คือในปี 1969) ชื่อเรื่องมาจากระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ตั้งแต่ตรวจพบขีปนาวุธจนกระทั่งเจรจาความสำเร็จ แต่ในมุมมองของคนเขียนซึ่งร่วมเหตุการณ์ ผมไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าแตกต่างจากภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน

   ภาพยนตร์ที่มาจากเรื่องจริงส่วนใหญ่รายได้ไม่ค่อยดี เพราะชีวิตจริงไม่มีเรื่องตบจูบๆ ทั้งวันแบบอาพิศาล หรือระเบิดภูเขาเผากระท่อมแบบอาฉลอง Thirteen Days ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มขายไม่ออก เนื้อเรื่องไม่สามารถครองใจผู้ที่ต้องการเสพความสุข เนื้อหาส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์วนเวียนอยู่ที่ทำเนียบขาวกับเพนตากอน สายพิราบคือประธานาธิบดี น้องชาย เลขาธิการ และรัฐมนตรีไม่กี่คน ส่วนสายเหยี่ยวคือนายทหารสามดาวสี่ดาว ผู้เชี่ยวชาญการทหาร รัฐมนตรีที่พลิกลิ้นไปมา รวมทั้งนักข่าวโผล่มาสร้างสีสันเล็กน้อย

   แทบไม่มีบทบาทของโซเวียตเลย เพราะหนังสือเผยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังเหตุการณ์ฝ่ายอเมริกา แต่ฝ่ายพระเอกไม่ได้เก่งเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ฝ่ายตัวโกงก็ไม่ได้โคตรโกงอะไรมากมาย ผู้กำกับสร้างตัวละครสำหรับเดินเรื่องขึ้นมาชื่อ Kenneth O'Donnell ตำแหน่งเลขาธิการประธานาธิบดี ซึ่งในความจริงแทบไม่มีบทบาทในการแก้ปัญหา แต่ในเรื่องทั้งเก๋าทั้งเจ๋งและเป็นตัวป่วนตัวใหญ่ ขนาดกล้าจ้องตากับท่านนายพลสี่ดาวกันเลยทีเดียว

       

   เรื่องราวเริ่มต้นกลางเดือนตุลาคม 1962 เปิดหัวด้วยเครื่องบินจารกรรมอเมริกาบินไปถ่ายบนเกาะคิวบา ก่อนตัดมายังตัวเดินเรื่องของเรารับบทโดยเควิน คอสเนอร์  กำลังกินอาหารเช้าร่วมกับครอบครัวตัวเอง ช่วงนี้เข้าสู่ปลายยุค Baby Boomer แล้ว การแต่งกายของคนอเมริกาเปลี่ยนจากปี1952 อยู่บ้าง คือมีความสบายๆ เรียบง่ายมากกว่าเดิม พ่อกับพี่ชายคนโตแต่งตัวเต็มยศหน่อย ส่วนเด็กคนอื่นซึ่งเรียนประถมดูไม่มีพิธีรีตอง ส่วนฝ่ายแม่ก็อย่างที่เห็นในภาพ ต้องเลี้ยงลูกอ่อนด้วยให้ยิ่งใหญ่อลังการคงไม่ไหว ภายในห้องครัวเหมือนกับบ้านคนอเมริกาทั่วไป ยกเว้นแแค่เพียงมีโทรศัพท์ 2 เครื่องสีแดงกับสีดำ อุปกรณ์สื่อสารที่สำคัญที่สุดในยุคนั้น

   พระเอกของเราทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ประธานาธิบดี เพราะเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย น้องชายประธานาธิบดีแนะนำให้รู้จักเพราะอยากให้มาช่วยทำงาน เพราะฉะนั้นในภาพยนตร์อาจสับสนว่าใครใหญ่กว่ากันได้ มันต้องมีแบบนี้บ้างแหละครับไม่อย่างนั้นคนดูเบื่อแย่ ให้ผมนั่งดูอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญนี่ไม่เอาเลยนะ ช่างเป็นอะไรที่ง่วงนอนมากเกิดหลับไปอายเขาแย่ ยิ่งถ้าเป็นภาพยนตร์โคตรอวยข้าพเจ้าทนไม่ไหวจริงๆ

       ข้อสังเกตุเล็กน้อยพระเอกมีลูก 5 คน ผิดจากสูตรชายหนึ่งหญิงหนึ่งพอสมควร คนเล็กกับคนโตห่างกันเกิน 10 ปีแน่นอน ต้องถามระดับอาจารย์ละครับว่าแนวความคิดเปลี่ยนไปตอนไหน หรือไม่ได้เปลี่ยนบังเอิญครอบครัวนี้ลูกเยอะเท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 12 ธ.ค. 19, 09:29

         
       

     ปี 1950 อาจหาผู้หญิงทำงานนอกบ้านได้น้อยมาก แต่ปี 1962 ย่อมมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภาพยนตร์เรื่องนี้มีผู้หญิงเข้าฉากน้อยสุดๆ เพราะเนื้อเรื่องวนเวียนอยู่กับการประชุมระดับสุดยอด หลักๆ มีผู้ช่วยเลขาแค่ 2 คนนี้แหละครับ แต่งหน้าทำผมสวมเครื่องแบบตามยุคสมัย อุปกรณ์ประกอบฉากค่อนข้างเหมือนจริงอันนี้ผมเดาเอานะ รวมทั้งมีอุปกรณ์ซึ่งสมัยนี้หาได้ยากเต็มทน สิ่งนั้นก็คือที่เขี่ยบุหรี่กระเบื้องสีเขียวมรกต

   หมายความว่าสาวเสื้อฟ้าก็สูบบุหรี่ไม่ก็ไว้ให้คนอื่นใช้ ในเรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยฉากสูบบุหรี่ค่อนข้างเยอะมาก แม้กระทั่งห้องประชุม UN ยังควันโขมงราวกับเผาป่าอ้อย ส่วนคนที่ไม่สูบก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไรสักนิด ไม่ทราบว่าเมืองไทยยุคนั้นเป็นแบบนี้ไหม สมัยก่อนบ้านผมมีที่เขี่ยบุหรี่นะครับ ทั้งที่ปู่ผมและพ่อผมไม่เคยสูบสักมวน น้าชาย 2 คนสูบค่อนข้างหนักแต่ไม่สูบในบ้าน หลบไปหลังบ้านบ้างใต้ต้นไม้บ้าง ถ้าดื่มเหล้าด้วยนี่มวนต่อมวนไม่พักกันเลย

   จะมีอีกฉากที่มีผู้หญิงก็คือในห้องโอเปอร์เรเตอร์ ทำหน้าที่สลับสายเพราะสมัยก่อนโทรศัพท์ยังมีไม่มาก ตำแหน่งนี้ค่อนข้างสำคัญโดยเฉพาะกับองค์กรขนาดใหญ่ แน่นอนว่ามีความกดดันสูง และแน่นอนว่าสูบบุหรี่กันหมดทุกคน  ไม่ได้ออกมาตำหนิหรือโจมตีภาพยนตร์นะครับ มันเป็นวัฒนธรรมตามยุคสมัยซึ่งตอนนี้แทบไม่มีแล้วก็ดีแล้ว ส่วนอื่่นจะมีผู้หญิงเป็นนักข่าวบ้างนิดหน่อย ขนาดแจ๊กกี้ เคเนดี้ ยังโผล่มาแค่ 2 ฉากเพราะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ฉะนั้นใครอยากดูเพราะความสนุกผมแนะนำให้ผ่าน หนังค่อนข้างยาวด้วยเดี๋ยวจะมาบ่นเอาได้ในภายหลัง แต่ถ้าสนใจเรื่องวิกฤตคิวบามาเถอะครับ หรืออยากดูอเมริกาในปี 1962 ว่าเป็นอย่างไรก็พอไหว

   เดี๋ยวสายๆ บ่ายๆ มาต่ออีกทีนะครับ ขอตัวไปทำงานสักครู่ใหญ่ก่อน
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 12 ธ.ค. 19, 12:50

   

   กลับมาสู้เนื้อเรื่องกันต่อครับ ระหว่างทำงานมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงขอพบประธานธิบดีแบบเร่งด่วน จากนั้นไม่นานเลขาธิการโดนตามตัวเข้าไปในห้อง เนื่องมาจากเครื่องบินสอดแนมที่บินไปถ่ายภาพคิวบา ตรวจพบว่ากำลังมีการติดตั้งอาวุธบางอย่างบนเกาะ นำมาเปรียบเทียบพบว่าเป็นขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ระยะกลางรุ่น SS-4 Sandal สมัยนั้นการหาข้อมูลทำได้ค่อนข้างยาก ต้องส่งคนไปถ่ายภาพในพิธีสวนสนามประจำปี แล้วนำมาประมวผลกับข้อมูลเดิมที่เก็บสะสมไว้ ถึงจะสรุปออกมาได้ว่าเป็นอาวุธอะไรร้ายแรงมากแค่ไหน

   แน่นอนว่ามีการคำนวนผิดพลาดจากจริงไปบ้าง ยุคสงครามเย็นจึงเต็มไปด้วยความหวาดกลัวจากสองฝ่าย สายเหยี่ยวมักประเมินให้ดูน่ากลัวมากๆ ไว้ก่อน ตัวเองจะได้งบประมาณเยอะๆ มาจัดหาอาวุธราคาแพง เป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพและอำนาจทางทหาร ส่วนสายพิราบซึ่งไม่ค่อยมีข้อมูลในมือมักจะทักท้วง เพราะการซื้ออาวุธต้องใช้งบประมาณประจำปี จะไปเบียดเบียนงบประมาณส่วนอื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้

   ในยุคนั้นเสียงจากฝั่งนี้ไม่ค่อยมีความสำคัญ โน่นแหละครับเมื่อสงครามอินโดจีนทวีความรุนแรงและบานปลาย อเมริกาขนระเบิดไม่รู้กี่สิบล้านตันไปถล่มเวียดนาม กัมพูชา รวมทั้งลาว (สงครามที่ไม่เคยมีตัวตน แต่ทุกวันนี้ยังเก็บกู้ระเบิดไม่หมดเสียที) รายจ่ายบานปลายกว่าเดิมส่งผลกระทบมายังรัฐบาล เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่อเมริกาต้องถอนตัวจากสมรภูมิรวมทั้งไทย ทำให้ 2 ปีต่อมาคอมมิวนิสต์เอาชนะเด็ดขาดทุกประเทศ เส้นทางขนส่งอาวุธและเส้นทางติดต่อสะดวกกว่าเดิม สงครามคอมมิวนิสต์ในไทยจึงร้อนระอุตามกันไปด้วย
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 12 ธ.ค. 19, 12:54

   

   ขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ระยะกลางรุ่น SS-4 Sandal มีระยะยิงประมาณ 1 พันไมล์ทะเลหรือ 1,852 กิโลเมตร ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์หรือเคมีขนาด 4 เมตริกตัน สามารถเดินทางถึงกรุงวอชิงตันภายในเวลาเพียง 5 นาที (ตามเนื้อเรื่องนะครับ) แต่ที่อยู่ใกล้สุดคือฟลอริด้าห่างจากกันแค่ 140 กิโลเมตร เท่านั้นเองทั้งรัฐบาลและกองทัพพากันนั่งไม่ติด มีการจัดประชุมใหญ่ดึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเข้าร่วม ข้อมูลที่ได้เพิ่มเติมก็คือขีปนาวุธมีประมาณ 32 นัด (เพิ่มเป็น 40 นัดในเวลาต่อมา) คาดว่าจะมีความพร้อมใช้งานในอีกไม่เกิน 2 อาทิตย์

   ถ้าดูจากแผนที่นี่โดนกันถ้วนหน้า เม็กซิโกปาเข้าไปครึ่งค่อนประเทศ อเมริกาโดนภาคตะวันออกโดนทั้งหมด ประเทศในอเมริกากลางอีกตั้งหลายราย ห้องประชุมทั้งเล็กและใหญ่อยู่ในทำเนียบขาวทั้งหมด เพื่อความสะดวกของประธานาธิบดีในการทำงาน ซึ่งผมว่าดีเหมือนกันไม่เสียเวลาเดินทาง คนไม่สำคัญมาสายหรือไม่มาคงไม่เป็นอะไร ให้ความสำคัญคนนั่งหัวโต๊ะซึ่งพักอาศัยอยู่ในนั้นเลย

   มีฉากดราม่าเล็กน้อยเรื่องการตัดสินใจ ฝ่ายทหารสงสัยว่าทำไมไม่มีคำสั่งวันนั้นเลย รัฐมนตรีช่วยแก้ตัวว่าประธานาธิบดีต้องการทางเลือกที่ดีที่สุด ปมขัดแย้งที่สร้างขึ้นมาให้เรื่องสนุกกว่าเดิม เรื่องจริงเป็นอย่างในภาพยนตร์ไหม? กองทัพอเมริกาเสียหน้าจากการบุกอ่าวหมูแล้วล้มเหลวเมื่อปีที่แล้ว ทหารอยากล้างแค้นอันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ทหารอยากใช้กำลังเข้าจัดการไม่ใช่เรื่องแปลก ทหารอยากใช้อาวุธนิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่มีความขัดแย้งแบบภาพยนตร์หรือมากกว่าหรือน้อยกว่า เรื่องนี้ต้องหาข้อมูลลึกกว่าเดิมถึงจะรู้แน่ชัด
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.094 วินาที กับ 20 คำสั่ง