เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 11462 สุดแสนเสียดายคุณ V_Mee
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 10 ต.ค. 19, 13:35

จากพระราชบันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงติดใจเอาความในเรื่องที่นักเรียนนายเรือวิวาทกับมหาดเล็กเลย และเมื่อตรวจสอบเรื่องการพระราชทานนามสกุลยังพบอีกว่า นายเรือตรี เจือ กระทรวงทหารเรือ หรือที่ต่อมาได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์เป็น นายนาวาตรี หลวงจบเจนสมุท ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล “สหนาวิน” เป็นนามสกุลลำดับที่ ๒๓๑ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ย่อมชวนให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่า หากนักเรียนนายเรือ เจือ สหนาวิน เป็นคู่กรณีวิวาทกับมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ดังที่ได้บันทึกไว้จริง นักเรียนนายเรือ เจือ จะกล้าขอพระราชทานนามสกุลและจะได้รับพระราชทานนามสกุลในลำดับต้นๆ เพียงระยะเวลาเดือนเศษๆ นับแต่เริ่มมีการพระราชทานนามสกุลเชียวหรือ?

ส่วนการที่ทรงปลด นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากราชการเป็นกองหนุนเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ทั้งที่เพิ่งจะทรงตั้งพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นี้ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรือและเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือไปเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น ความในพระราชบันทึกก็ปรากฏชัดอยู่แล้วว่า เพราะไม่เสด็จไปทรงงานที่กระทรวงทหารเรือ ทั้งยังทรงเป็นต้นแบบให้นายทหารเรือรุ่นหนุ่มคิดกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา จึงต้องทรงปลดพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นออกเป็นกองหนุน เพื่อให้ทรงสำนึกผิด แต่ถัดมาวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ หรืออีกเพียง ๓ เดือนเศษ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก รับพระราชทานยศชั้น “หัวหมื่น” หรือที่ในเวลานั้นเรียกว่า “ชั้นที่ ๒ เอก” ซึ่งเป็นชั้นยศเทียบเท่านายพันเอกทหารบก และคงโปรดให้รับราชการในกรมมหาดเล็กมาจนคราวที่ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้ว และ นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้กราบบังคมทูลสำนึกผิดและทรงอาสาเข้ารับราชการทหารเรือเพื่อทำหน้าที่ป้องกันพระราชอาณาจักรในสภาวะสงครามอีกครั้ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือในตำแหน่งจเรทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

เมื่อได้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือและทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชการทหารเรือด้วยพระอุตสาหะวิริยะแล้ว ก็ได้ทรงรับความไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ปรึกษาแห่ง “คณะที่ปฤกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี” ทั้งยังได้รับพระราชทานฐานันดรเป็น “มหาโยธิน” แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และต่อมายังได้ทรงเป็นผู้แทนราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกไปจัดซื้อเรือหลวงพระร่วง และทรงบังคับการเรือนั้นร่วมกับนายทหารเรือไทยนำเรือรบหลวงพระร่วงเดินทางจากประเทศอังกฤษมาถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ นับเป็นการเดินเรือข้ามทวีปครั้งแรกโดยคนไทย เป็นอาทิ จึงทำให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็น กรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ตามลำดับ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับบัญชากำลังพลเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออันเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการทหารเรือ

ในบั้นปลายพระชนมชีพ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ซึ่งเดิมเคยชื่อว่า “มณฑลชุมพร” อันพ้องกับพระนามกรม และได้ประชวรสิ้นพระชนม์เสียที่นั้น เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ว่า

“มีความสลดใจเปนอันมากที่จำเปนต้องจดลงในรายวันนี้ว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเฃตอุดมศักดิ์ได้สิ้นพระชนม์เสียที่ตำบลหาดรี, ปากน้ำชุมพร, เมื่อเวลา ๑๑ นาฬิกาก่อนเที่ยงวันนี้. ฃ่าวนี้ได้รับในเวลาดึก.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 10 ต.ค. 19, 13:36

เมื่อเดือนเมษายน กรมชุมพรได้ขอลาพักรักษาพระองค์ ๑ เดือน โดยคำแนะนำของหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์๑๑, นายแพทย์ใหญ่กระทรวงทหารเรือ, ผู้ที่ได้กล่าวในใบตรวจพระอาการว่า กรมชุมพรประชวรเปนพระโรคเส้นประสาทไม่ปรกติ. ตั้งแต่เมื่อทำบุญอายุเจ้าจอมมารดาโหมดได้สังเกตเห็นกรมชุมพรเดินง่องแง่งไม่ใคร่ถนัดอย่างไรอยู่. เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็ได้ขอยืมเรือพวก ‘ทเล’ ลำ ๑ ลงเดินทางออกไปว่าจะไปประพาศทางมณฑลสุราษฎร์. แรกที่จะได้ฃ่าวว่าประชวรครั้งสุดท้ายนี้ คือเจ้าพระยารามราฆพได้นำโทรเลขของเจ้าจอมมารดาโหมดมีมาถึงเธอนั้นมาให้เราดู, มีความว่ากรมหลวงชุมพรประชวรเป็นไข้พิษ พระอาการหนัก. ครั้นเวลาค่ำได้รับโทรเลขพระองค์เจ้าธานี๑๒ บอกฃ่าวมาว่า กระทรวงทหารเรือได้จัดส่งหม่อมเจ้าถาวรออกไปทางรถไฟยังชุมพร, และส่งเรือ ‘พระร่วง’ ออกไป โดยคำขอร้องของเจ้าจอมมารดาโหมด, เพื่อจะได้รับกรมชุมพรกลับเฃ้าไปกรุงเทพ. ครั้นเวลาดึกจึ่งได้ฃ่าวว่ากรมชุมพรได้สิ้นพระชนม์เสียแล้วที่หาดรี เมื่อ ๑๑ นาฬิกาเช้า. ตำบลหาดรีนี้, ได้ทราบจากพระยาเวียงใน๑๓ (ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร) ว่า เปนที่มีไข้ป่าชุกชุม, และในฤดูเดือน ๖ เดือน ๗ ไม่มีใครอยู่ได้โดยปลอดไข้.

กรมชุมพรประสูติวันที่ ๑๙ ธันวาคม, (ปีมะโรง) พ.ศ. ๒๔๒๓, ฉะนั้นมีพระชนม์ได้ ๔๒ ปี กับ ๕ เดือน; และเพราะได้เปนเพื่อนกันมาแต่เด็กเราจึ่งรู้สึกเสียดายและใจหายมาก”๑๔

ความในพระราชบันทึกที่อัญเชิญมาข้างต้นย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงขัดแย้งกับพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เลยแม้แต่น้อย ทั้งยังทรงแสดงให้เห็นถึงความผูกพันกันมาแต่ทรงพระเยาว์ตราบจนพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ไปเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ แล้ว ก็ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทหารเรือไว้ทุกข์ด้วยการลดธงครึ่งเสามีกำหนด ๓ วัน นับแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งเป็นวันที่เรือเชิญพระศพกลับถึงกรุงเทพฯ

นอกจากนั้นยังเล่ากันต่อมาว่า เมื่อเวลาที่ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์สิ้นพระชนม์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระอักษรอยู่ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน แล้วก็ทรงเหลียวมามีพระราชดำรัสอะไรสั้นๆ ซึ่งมหาดเล็กเวรที่เฝ้าฯ อยู่ ณ ที่นั้นก็ไม่ทราบว่ามีพระราชประสงค์อะไร ถึงวันรุ่งขึ้นเมื่อพระทายาทของพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นนำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบถวายบังคมลาสิ้นพระชนม์แทนพระบิดา ก็มีรับสั่งว่า “รู้แล้ว”


เชิงอรรถ

๑ หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์ พระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
๒ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๔ นายพลเรือโท สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็นจอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
๕ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช
๖ วันที่ ๓ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)
๗ นายพลโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๘ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ต่อมาได้เฉลิมพระยศเป็น จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
๙ นายนาวาเอก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิชัยเฉลิมลาภ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเรือเอก กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
๑๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒. น. ๓-๑๐.
๑๑ หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์
๑๒ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ผู้ช่วยราชเลขาธิการ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
๑๓ พระยาเวียงในนฤบาล (ชุบ โอสถานนท์) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประชากิจกรจักร์
๑๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ รัตนโกสินทรศก ๑๔๒ เปนปีที่ ๑๔ ในรัชกาล. น. ๕๐-๕๑.

บรรณานุกรม

“แจ้งความกรมมหาดเล็ก”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๖ สิงหาคม ๑๓๐), น. ๙๐๕.
“แจ้งความกระทรวงทหารเรือ”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๗ (๒๕ ธันวาคม ๑๒๙), น. ๒๒๔๓.
“แจ้งความกระทรวงทหารเรือ”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๑๖ เมษายน ๑๓๐), น. ๙๑-๙๒.
“แจ้งความกระทรวงทหารเรือ”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๔ (๕ สิงหาคม ๒๔๖๐), น. ๑๓๕๖.
ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๙.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ รัตนโกสินทรศก ๑๔๒ เปนปีที่ ๑๔ ในรัชกาล. (สำเนาลายพระราชหัตถ์)
______. ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒. (สำเนาลายพระราชหัตถ์)
วชิราวุธานุสรณ์สาร. ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗).
วชิราวุธานุสรณ์สาร. ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ (๑ มกราคม ๒๕๒๘).

หมายเหตุ: เนื้อหาฉบับออนไลน์ ทีมงานปรับย่อหน้าและเพิ่มเติมหัวข้อย่อย
บันทึกการเข้า
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 10 ต.ค. 19, 15:39

...

ภาษิตของนักรบโบราณ
  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลจากภาษิตภาษาฝรั่งเศษ
โดยเทียบเป็นคำโคลงภาษาไทย ดังนี้

๐  มะโนมอบพระผู้................เสวยสวรรค์
แขนมอบถวายทรงธรรม์.........เทอดหล้า
ดวงใจมอบเมียขวัญ...............และแม่
เกียรติศักดิ์รักของข้า.............มอบไว้แก่ตัว ฯ

   เมื่อแต่งเป็นโคลงแล้ว พระองค์ได้ทรงให้นายช่างชาวอิตาเลียนในกรมศิลปากรชื่อ ริโกล
เขียนภาพขึ้นไว้ ๔ ภาพ เพื่อประกอบโคลงนั้นบาทละภาพ ภาพทั้ง ๔ นี้คณะ "ดุสิตสมิต"
ได้ขอพระบรมราชานุญาตจำลองลงพิมพ์ในหนังสือ "ดุสิตสมิต" พร้อมกับโคลงในระหว่างเวลา
ที่เสือป่ากองเสนาหลวงรักษาพระองค์กำลังชุมนุมพลอยู่ ที่สนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อ
เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑

โคลงภาษิตนักรบโบราณ
นายพลเสือป่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายกเสือป่า และผู้บัญชาการกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ทรงพระราชนิพนธ์

๐ "มะโนมอบพระผู้...........เสวยสวรรค์"
นักรบต้องรักธรรม์...........เที่ยงแท้
ยามสู่ยุทธภูมิอัน...............ประชิด
จิตจึ่งจะมั่นแม้.................เศิกกล้าไป่ขาม
๐ สงครามทำเพื่อป้อง.......ธรรมา
นักรบเริงอาสา.................ไป่คร้าม
อยู่ในที่ถูกหา...................ความขลาด ได้ฤๅ
จิตมั่นขวัญพาข้าม............ปลอดพ้นอันตราย
๐ เป็นชายเชื้อชาติแกล้ว....เพ็ญขวัญ
"แขนมอบถวายทรงธรรม์...เทอดหล้า"
รับใช้เพื่อป้องกัน.............วรบาท   พระเอย
เพื่อพระคงคู่ฟ้า...............ครอบเกล้าเราสราญ
๐ ภูบาลจะตรัสใช้.............ไคลคลา
เหินห่างจากเคหา.............ห่างห้อง
ภักดีและอาสา.................เพราะเชื่อ
ว่าพระบารมีป้อง.............ปกเกล้าเราไป
๐ หักใจจรจากห้อง...........หฤหรรษ์
รักราชและรักธรรม์..........เที่ยงแท้
"ดวงใจมอบเมียขวัญ.........และแม่"
คงเสน่ห์อยู่แม้.................อยู่ร้างกลางสนาม
๐ ยามไปในถิ่นกว้าง..........ทางไกล
พบสิ่งยั่วยวนใจ................อยู่บ้าง
ก็จะไม่เหลวไหล...............หลงวุ่น
เพราะจิตจอดอยู่ข้าง........หนึ่งแล้วมั่นคง
๐ รณรงค์ยงยุทธแย้ง.........ยิ่งภัย   อื่นนอ
จำจะต้องทำใจ.................กาจกล้า
นักรบจึงควรใฝ่................เตือนสติ   ตนเอง
"เกียรติศักดิ์รักของข้า.......มอบไว้แก่ตัว"
๐ มัวรอให้พวกพ้อง..........คอยเตือน
คงไม่รู้จิตเหมือน..............จิตได้
ใครจะทราบว่าเพื่อน.........นึกหวั่น   ขึ้นนอ
ตัวสิเตือนตัวไว้................เหมาะแท้ทุกยาม
๐ สรุปความว่าแม้มั่น........ธรรมา   ธิปแฮ
อีกภักดีอาสา..................ราชไท้
รักเมียรักแม่พา...............ใจแน่ว
สงวนศักดิ์จักสละได้...........หมดแม้ชีวี

๐ ศรี  ศรีสวัสดิ์พร้อม.......พูนผล
สิทธิ์  จัตุพรดล................อย่าแคล้ว
ฤทธิ์  เรืองฤทธิ์แรงรณ......อริราช
ชัย  ชะนะศึกแกล้ว...........เกียรติก้องสากล
๐ ปวง  พลเสือป่าผู้...........ภักดี
ภัย  พิบัติอย่ามี.................พาดพ้อง
พิ  บูลย์พิริยภีย์.................โยยิ่ง   ยิ่งเทอญ
นาศ  อะมิตร์จิตข้อง...........ขัดน้อยอย่ามี ฯ


...
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 10 ต.ค. 19, 17:26

คิดถึง วรชาติ มีชูบท

ช่วงหนึ่งตอนวรชาติอยู่ม.ปลายวรชาติพยายามจะทำให้กฏ ระเบียบของห้องสมุดศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น โดยตั้งกฏว่า.ใครขอยืมหนังสือไปแล้วคืนไม่ตรงกำหนดจะโดนปรับวันละ 10 บาท
วรชาติรักษากฏไม่เว้นแม้แต่ครู

ครูขอยืมหนังสือไป 1 เล่ม ครบกำหนดเมื่อวาน วันรุ่งขึ้นครูนำหนังสือมาด้วยแต่ยังไม่ถึงห้องสมุด เพราะติดสอนหนังสืออยู่ ครูกำลังสอน ม. อะไร จำไม่ได้ค่ะ เวลาประมาณ 9.30 น. วรชาติเดินเข้ามาในห้องเรียนและขอปรับ 10 บาท

ครูยอมจ่ายให้ 10 บาท และบอกว่า ครูจะปรับเธอบ้างได้ไม๊ เพราะขณะนี้คือเวลาเรียน แต่เธอไม่เข้าเรียน

วรชาติบอกว่า ครูคิดว่าช่วยผมรักษากฏก็แล้วกันนะครับ ผมจะได้ยกเป็นตัวอย่างว่า กฏนี้จริงจังไม่เว้นแม้แต่ครู ครูสมลักษณ์เป็นพยานได้
วันนั้นไม่รู้ว่าครูจะโกรธ หรือจะแค้นดี .

Somlak Suvanvong

สู่สุคติภพนะคะ ครูอโหสิกรรมให้ทุกประการ

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 10 ต.ค. 19, 17:40


ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 10 ต.ค. 19, 18:20

ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่อท่านอาจารย์วรชาติเคยสละเวลาเมตตาให้ความรู้ ทั้งที่ผมก็เกรียนไม่น้อยเลย เห็นท่านในเฟสบุ๊คก่อนหน้ายังโพสต์ว่าอาการป่วยดีขึ้นแล้4ว ยังนึกว่าท่านคงไม่เป็นอะไร มาทราบข่าวเมื่อวานก็ใจหาย คงจะต้องหาโอกาสไปขออโหสิกรรมและกราบคารวะท่านอาจารย์้ป็นครั้งสุดท้าย
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
world
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 10 ต.ค. 19, 22:15

ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ      ถือว่าเรื่องเกิดรวดเร็วมาก

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคมผมยังคุยกับเจ้าตัวเรื่องอาการประชวรของรัชกาลที่ 6 ว่าบันทึกของไทยกับฝรั่งต่างกันมาก      คุณ V_Mee ก็ยังชี้แนะข้อมูลเพิ่มมาว่าของฝรั่งเองก็น่าจะมีผิดด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 11 ต.ค. 19, 06:16

Boriphat Sangpakorn
. ·
หนังสือเหล่านี้เป็นความเอื้อเฟื้อจากอาจารย์​วรชาติ ในส่วนที่ท่านให้ ก็ส่วนให้ ให้เป็นอัธยาศัย​ไมตรีผมก็รับไว้ด้วยใจ แต่ส่วนซื้อผมก็ซื้อต่างหากไว้ทุกเล่ม ไม่ได้คิดว่าจะรับเปล่าๆ ถ่ายเดียว

อย่างเล่มซ้ายวันที่เปิดตัว ผมก็เอาเล่มที่ซื้อเองไปให้อาจารย์วรชาติเซ็น ท่านเห็นปกนี้เข้าก็บอกได้ไปแล้วไม่ใช่หรอ ซื้ออีกทำไม ผมจำไม่ได้ว่าตอบแก้ไปอย่างไร พอดีว่าพี่สุทธิพงษ์ พื้นแสน ถามถึงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ผมก็เลยส่งไปให้

ทีแรกเขาว่าจะใช้ราคา ผมจึงบอกพี่สุทธิพงษ์​ว่าหนังสือนี้ได้มาเปล่าๆ ที่ซื้อไว้นี่เป็นส่วนที่คิดจะซื้ออยู่แล้ว ก็ในเมื่อได้รับความเอื้อเฟื้อ​จากอาจารย์​วรชาติ ก็ถือว่าผมส่งต่อความเอื้อเฟื้อ​ต่อไปแล้วกัน ถ้าจะใช้ราคา ต่อไปพี่ซื้อไว้แล้วส่งให้ห้องสมุดสักแห่งแล้วกัน

ส่วนสองเล่มทางขวา ผมให้น้องขิง จริงๆ เดิมจะให้เจ้าเมือง สงขลา ถาม​ที่อยู่​เค้าทำอิดออดน่าหมั่นไส้ ก็เลยบอกกับน้องขิงว่าไม่ต้องซื้อ เดี๋ยว​ส่งไปให้

ผมมาทราบภายหลังจากอาจารย์วรชาติ ว่าท่านส่งหนังสือไปให้เจ้าเมือง สงขลา ไปแล้ว อ่อที่แท้ทำเป็นเล่นตัวเพราะได้รับหนังสือจากอาจารย์​วรชาติโดยตรงแล้วนี่เอง

ตอนที่เอาสองเล่มหลังนี้ไปให้อาจารย์​วรชาติเซ็น คราวนี้ผมคิดคำตอบเผื่อแล้วว่าจะเอาไปฝากน้องขิง จึงจดชื่อนามสกุลไปด้วย บอกว่าจะเอาไปฝากน้อง พออาจารย์วรชาติเห็นนามสกุล จึงทักขึ้นมาว่าน้องขิงเป็นอะไรกับคุณสิงห์โต ปุกหุต ผอ.ท้องฟ้าจำลอง

หนังสือหนะ ถ้าเป็นของอาจารย์วรชาติ ยังไงผมก็ซื้ออยู่แล้ว ถึงท่านให้ฟรีๆ ผมก็ซื้ออยู่ดี ส่วนที่ให้ก็ส่วนให้ ส่วนที่ซื้อก็ส่วนซื้อ ในเมื่อท่านเอื้อเฟื้อมา ผมก็ส่งต่อความเอื้อเฟื้อ​ต่อไป ความเอื้อเฟื้อเหล่านี้เกิดแต่อาจารย์วรชาติ

ผมจำไม่ได้ว่าอาจารย์เคยให้หนังสืออะไรมาบ้าง แต่ว่าให้มาหลายเล่มมาก แรกสุดเลยผมบอกกับท่านว่าหนังสืออนุมานนวสาร ซึ่งลงเรื่องสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นของท่านหญิงพูน ผมตามหาไม่ได้ ท่านบอกว่าเดี๋ยวจะส่งไปให้ ในตอนนั้นเรารู้จักกันผิวเผิน ผมก็เกรงใจไม่อยากรบกวน เลยไปขอกับพี่โก้แทน

พี่โก้เป็น บก.หนังสืออนุมานนวสาร จะเรียกให้ถูกก็ต้องเรียกอาจารย์โก้ เพราะท่านก็เคยสอนหนังสือผมมา พี่โก้เป็นทั้งครู เป็นทั้งรุ่นพี่ ผมรู้จักกับอาจารย์โก้เพราะที่ปรึกษา​ภาคนิพนธ์​เป็นผู้แนะนำมา

เดิมผมคิดทำภาคนิพนธ์​ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต​ แต่ขัดใจกับอาจารย์ที่ปรึกษาคนแรก ผมจึงเปลี่ยนหัวข้อไปทำเรื่องการประเมินประสิทธิภาพ​การดำเนินงานของธนาคารซีไอเอ็มบีแทนเพื่อตัดรำคาญ จึงมาได้อาจารย์ที่ปรึกษา​คนใหม่คืออาจารย์อนันตชัย ซึ่งอาจารย์​อนันตชัยคงเห็นใจ ไม่อยากให้เปลี่ยนจึงแนะนำพี่โก้

อย่างนั้นก็ตามที ตอนแรกที่คุยกันกับพี่โก้ คำถามแรกที่พี่โก้ถามคือ รู้จักวีหมีไหม ผมตอบโดยไม่คิดทันทีว่า เหตุผลที่ผมคิดจะทำประเด็นสิทธิ​สภาพนอกอาณาเขต​ ก็เพราะวีหมีนั่นแหละ

เมื่อผมตัดสินใจแล้ว ผมไม่เคยคิดเปลี่ยนกลับไปกลับมา ก็เป็นว่าไม่ทำเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทีนี้จะมารบกวนพี่โก้ ก็เพราะอยากอ่านเรื่องสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นของท่านหญิงพูนเนี่ยแหละ รบกวนพี่โก้ เพราะไม่อยากรบกวนอาจารย์วรชาติ

อีกครั้งหนึ่ง ผมตามหาหนังสือพระราชประวัติ​ ร.6 ไม่ได้ ซึ่งเป็นเล่มที่ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ให้คำนิยม เป็นหนังสือที่ขายดีมาก ผมไปถามที่ร้านริมขอบฟ้า คนขายบอกหนังสือหมดยังไม่เข้า ขายดีมาก ผมไปบอกอาจารย์​วรชาติ ท่านเลยจะส่งมาให้ผมอีก

ตอนนั้นผมกับอาจารย์​วรชาติ เรียกได้ว่าไม่รู้จักกันเลย ไม่มีความสนิทสนม​แม้แต่น้อย นอกจากชื่อผมแล้ว ท่านไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวผมแม้อย่างเดียว ไม่รู้แม้กระทั่งใจผมมีแต่กรมดำรงเพียงคนเดียว คนที่ ร.6 บอกว่า เป็นคนไม่มีชาติไม่มีศาสนา วันนึงพูดอย่างหนึ่ง อีกวันพูดอีกอย่างหนึ่ง

ความไม่สนิทสนม​ ไม่รู้จักกัน ผมจึงเกรงใจมาก จึงไม่ตอบอะไรท่าน ขณะเดียวกันผมก็สั่งซื้อหนังสือเล่มดังกล่าวไปยังสำนักพิมพ์สร้าง​สรรค์​บุ๊คส์​ พอจ่ายเงินไปแล้วจึงได้เรียนให้อาจารย์​วรชาติทราบว่าขอบคุณในความเอื้อเฟื้อ​ของอาจารย์ แต่ผมสั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์​ไปแล้ว

รู้สึกหนังสือเล่มแรกที่ผมตั้งใจขอก็คือ จดหมายเหตุบรมราชาภิเษก​ ร.6 เพราะผมเคยเจอแต่จดหมายเหตุ ร.7 และ ร.9 ส่วน ร.5 ก็หาอ่านได้จากพระนิพนธ์​กรมดำรง ของ ร.6 ผมหาไม่ได้จริงๆ หาจากหอสมุดหลายๆ มหาลัยก็หาไม่ได้ จึงได้เรียนถามอาจารย์วรชาติ ท่านจึงส่งมาให้อ่าน

ชีวลิขิต ของคุณชายอาจารย์เสนีย์ อาจารย์วรชาติก็ส่งมาให้เล่มนึง อันที่จริงเมื่อปีที่แล้วสำนักพิมพ์​วิญญูชน​ก็เพิ่งพิมพ์ขาย ผมก็ซื้อไว้เล่มนึง แต่ให้น้องฟร้องไป(สะกดงี้เปล่าไม่รู้ จำไม่ได้)​ ตัวเองหนะมีแต่หนังสือสำเนาที่อาจารย์วรชาติให้มา แต่เล่มใหม่ๆ สวยๆ ไม่มีหรอก ให้เขาไปแล้ว

เมื่อนึกถึงความเอื้อเฟื้อ ความเมตตา ที่อาจารย์วรชาติได้เคยแบ่งปันให้ ผมรู้สึกว่าผิดมากถ้าหากจะรับความเอื้อเฟื้อ​เหล่านี้เฉยๆ ราวกับว่ามีอะไรมาดลบันดาล​ให้เราจะต้องส่งต่อความเอื้อเฟื้อ​ต่อไป

อาจารย์วรชาติในความทรงจำของผมคือ ความเอื้อเฟื้อ​เผื่อแผ่​ ที่ไม่มีข้อกีดกั้น เอื้อเฟื้อ​ให้กับทุกๆ คน ไม่เลือก และเอื้อเฟื้อ​ทุกคนเท่ากันไม่มีแบ่งแยก อาจารย์วรชาติเปรียบเสมือนฝน

อาจารย์วรชาติโปรยปรายความเอื้อเฟื้อ​เมื่อใด ผู้ได้รับความเอื้อเฟื้อ​ก็ชุ่มฉ่ำหัวใจ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 11 ต.ค. 19, 08:25

ศาลา ๘ วัดเสมียนนารี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 11 ต.ค. 19, 08:28

กำหนดการ


บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 11 ต.ค. 19, 09:30

ขอร่วมแสดงความเสียใจในการจากไปของคุณ V-Mee ค่ะ  ข้อมูลความรู้ที่ได้รับจากคุณ V-Mee ช่วยเพิ่มมุมมองที่มีต่อประวัติศาสตร์ยุครัชกาลที่ 6  นับเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง

ขอให้กุศลผลบุญที่คุณ V-Mee สั่งสมมา  และที่ครอบครัวญาติมิตรบำเพ็ญอุทิศให้  จงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้คุณ V-Mee ได้ไปสถิตยังภพภูมิที่ดีงามค่ะ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 11 ต.ค. 19, 09:31

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติของท่านอาจารย์ด้วยครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 11 ต.ค. 19, 13:34

แด่ อาจารย์วรชาติ มีชูบท หอสมุดวชิราวุธานุสรณ์เคลื่อนที่ผู้จากลา

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence และ Actuarial Science and Risk Management คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

อาจารย์วรชาติ มีชูบท หรือ V_Mee (วีหมี) อันเป็นนามปากกาในเว็บไซต์ Pantip และเรือนไทย เป็นอาจารย์ นักเขียน และทนายความ ผู้มีความรู้ประวัติศาสตร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างยอดเยี่ยมและลึกซึ้งมากที่สุด ต้องเรียกว่าอาจารย์วรชาติเป็นเอตทัคคะด้านวชิราวุธศึกษา (King Vajiravudh’s studies) อย่างยิ่งยวด ความรู้ด้านประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของอาจารย์ยังรวมไปถึงรัชกาลอื่น ๆ การได้สนทนากับอาจารย์จึงไม่ต่างกับการสนทนากับ Encyclopedia หรือ Almanac เคลื่อนที่ได้ ผมทราบว่าอาจารย์ชำนาญประวัติศาสตร์นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงมาทีเดียว

อาจารย์วรชาติเป็น OV หรือ Old Vajiravudh หรือเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย รุ่นไหนผมไม่ทราบ แต่สิ่งที่ผมทราบแน่แก่ใจคือ อาจารย์วรชาติ เป็นผู้มีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหาจักรีบรมราชวงศ์เป็นที่สุด ผมเห็นอาจารย์เข้าไปตอบกระทู้หรือตอบคอมเมนต์ผู้ที่ใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงถูกใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จอยู่เนือง ๆ จากเกรียนคีย์บอร์ด และลิเบอร่านล้มเจ้า สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ก็คืออาจารย์วรชาติเป็นคนใจเย็น ใช้เหตุใช้ผล โต้ตอบด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันหนักแน่น และหักล้างการโจมตีด้วยท่าทีที่อดทน แม้อีกฝั่งจะหยาบคายก้าวร้าวเพียงใดก็ตาม อาจารย์จะพยายามอธิบาย และสอนให้ความรู้ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู และความจงรักภักดียิ่ง

ผมเห็นได้ชัดเจนว่าอาจารย์มีความกตัญญูกตเวทิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือต่อมาวชิราวุธวิทยาลัยที่อาจารย์เป็นศิษย์เก่า ผมทราบมาว่าอาจารย์นั้นเดิมเป็นทนายความ ต่อมาได้มาเป็นอาจารย์สอนที่วชิราวุธวิทยาลัยด้วย และมาทำงานช่วย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสนใน ติดท่าวาสุกรี
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 11 ต.ค. 19, 13:35

ผมได้พบอาจารย์วรชาติ มีชูบทเป็นครั้งแรกที่หอวชิราวุธานุสรณ์และได้ความรู้จากอาจารย์วรชาติ เมื่อผมเป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมไปทำหนังสือที่แผนกสาราณียกร องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่ตึกจุลจักรพงษ์ และเพราะอาจารย์สวัสดิ์ จงกล ผู้เชี่ยวชาญเอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำให้ผมไปรู้จักอาจารย์วรชาติ เพื่อไปขอความรู้ ผมเองไปถึงหอสมุดวชิราวุธานุสรณ์ยังตื่นเต้นที่ได้เห็น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นั่งทำงานในห้องอีกฝั่ง ในฐานะนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย่อมต้องตื่นเต้นที่ได้พบผู้ก่อตั้ง/ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคนแรก ตอนนั้นจำได้ว่าอาจารย์วรชาติเล่าประวัติศาสตร์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ได้ราวกับสายน้ำไหล ด้วยความแม่นยำในเนื้อหาและการอ้างอิง ผมยังคิดในใจว่า ถ้า ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อใด ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ในรัชกาลที่ ๖ ย่อมมีผู้สืบทอดแล้ว

อาจารย์วรชาติ เป็นคนขยันเขียนหนังสือมาก ขยันค้นคว้า และขยันเขียนมาก และเขียนเล่าเรื่องได้สนุก อ่านแล้วสนุก ใช้ภาษาไทยง่าย ๆ กระชับ แต่ใช้ราชาศัพท์แม่นยำถูกต้อง โดยเฉพาะเบื้องหลัง เบื้องลึก ในพระราชบันทึกเรื่อง ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ นั้น ต้องไปอ่าน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ก่อน แม้จะมีการละคำพูดหรือชื่อบุคคลหรือพระนามเจ้านายออกไปบ้าง แต่ก็อ่านแล้วเข้าใจการเมืองการปกครองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ ได้เป็นอย่างดี ยิ่งมาอ่านหนังสือที่อาจารย์วรชาติแต่งยิ่งทำให้อ่านพระราชนิพนธ์ ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ได้อย่างเข้าในถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ แรงจูงใจ และความจำเป็น ในเวลานั้นได้อย่างดียิ่ง

อาจารย์วรชาตินอกจากเขียนหนังสือเกี่ยวกับล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ เท่าที่ผมเคยอ่านและค้นคว้ามาหกเล่ม (และคงมีมากกว่านั้นอีกที่ผมไม่ทราบ) แล้วยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติวชิราวุธวิทยาลัยที่อาจารย์เป็นนักเรียนเก่า และเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนา เชียงใหม่ และเจ้านายฝ่ายเหนือได้ชวนอ่าน และอ่านแล้วสนุกเป็นอย่างยิ่ง

วันนี้ผมอ่าน Facebook ของ หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน และได้ทราบข่าวร้ายว่า หอสมุดวชิราวุธานุสรณ์เคลื่อนที่ คือ อาจารย์วรชาติ มีชูบท ได้จากไกลไปเสียแล้วด้วยความตกใจและเสียใจ

ผมจึงเขียนบทความนี้เพื่อกราบลาอาจารย์วรชาติ มีชูบท ด้วยความอาลัยว่าจะหาผู้ที่จงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์และทุ่มเทค้นคว้าอย่างไม่ย่อท้อและมีคุณสมบัติของครูและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์

https://mgronline.com/daily/detail/9620000098109
บันทึกการเข้า
kui045
มัจฉานุ
**
ตอบ: 94


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 11 ต.ค. 19, 15:33

ร่วมแสดงความเสียใจด้วยครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง