เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
อ่าน: 10730 วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 18 ก.ย. 19, 13:33

ให้อ่านหนังสือตามที่อยากอ่านอย่างที่คุณว่า Naris ว่าใช่แบบบันทึกการอ่านไหมคะ อันนี้ดิฉันก็มีเห็นคนบ่นค่ะว่าส่วใหญ่คือลอกกัน เด็กขี้เกียจอ่าน บางกรณีครูมาตำหนิย้อนหลังถ้าเห็นว่าหนังสือที่อ่านดูไร้สาระสำหรับผู้หญ่ 555 แต่ดิฉันว่าก็ควรมีทั้งสองอย่างค่ะอ่านหนังสือตามที่ครูสั่งด้วย เด็กอยากอ่านด้วย ไม่งั้นเด็กก็คงไม่ยอมไปอ่านกหลอน ไม่รู้จักกลอนกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 19 ก.ย. 19, 11:21

ถ้าเราจะทำหลักสูตรสอนวรรณคดีสำหรับเด็ก อย่างหนึ่งที่ต้องทำ คือทำใจให้เป็นเด็ก   
เด็กวัย 16-18  ย่อมไม่คิดอย่างเดียวกับผู้ใหญ่อายุ 40-60   รสนิยมความชอบของเด็กย่อมไม่ซับซ้อนอย่างผู้ใหญ่  เขาชอบอะไรที่ง่ายและใกล้ตัว     เพราะฉะนั้นหนังสือที่เด็กชอบก็คือเรื่องอ่านสนุก เข้าใจง่าย ไม่มีศัพท์แสงยากๆ 
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่คุณสมบัติของวรรณคดีที่แต่งเมื่อหนึ่งหรือสองศตวรรษก่อน 
ถ้าจะให้เด็กรักการอ่านก็ต้องเลือกตามใจฉัน คือให้เสนอเรื่องที่เขาชอบ   บอกเหตุผลว่าชอบเพราะอะไร  นี่คือการฝึกให้คิด  ไม่ใช่ให้เลือกหนังสือแล้วทำแค่ย่อเรื่องส่งครู   ส่วนเรื่องเด็กขี้เกียจอ่าน ไปลอกของเพื่อนมาส่ง แบบนี้ไม่ใช่เฉพาะในชั้นมัธยมค่ะ ในมหาวิทยาลัยก็มี   
ก็ต้องถือว่าเด็กคนนั้นไม่รักการอ่าน  ก็ช่วยไม่ได้    อนาคตของเขา เขาต้องวางให้ตัวเองด้วย  ไม่ใช่เป็นภาระรับผิดชอบทั้งหมดของครู    ครูจะให้ F  หรือให้ทำมาใหม่ก็แล้วแต่จะเห็นสมควร

ส่วนเรื่องขุนช้างขุนแผน  เป็นเรื่องที่กวีหลายคนแต่งกันคนละตอนสองตอน ตามใจรักว่าใครอยากแต่งตอนไหน  มีหลายสำนวน  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงร่วมกับกรรมการ เลือกตอนที่เห็นว่าดีที่สุดมาเรียงร้อยต่อเข้าด้วยกัน เป็นขุนช้างขุนแผนฉบับที่เราอ่านกันอยู่เรียกว่าฉบับหอพระสมุด   ฉบับอื่นๆก็มีแต่ไม่เป็นที่นิยมเท่า เพราะสำนวนกลอนและฝีมือการสร้างไม่เด่นเท่าไหร่

กวีที่แต่งขุนช้างขุนแผนเลือกแต่งรายละเอียดกันตามใจรัก แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคนว่าชอบเรื่องซาบซึ้งประทับใจ หรือชอบเรื่องโลดโผนน่าเสียวไส้     เราจึงมีขุนช้างขุนแผนตอนที่ขับเสภาแล้วน้ำตาตกเมื่อบรรยายความรักของแม่กับลูก อย่างในกำเนิดพลายงาม    และตอนที่สยดสยองโหดเหี้ยมอย่างตอนขุนแผนทำกุมารทอง    ทั้งหมดนี้ ถ้าให้เด็กอ่านทั้งเรื่องไม่ไหวแน่  ก็ต้องคัดมาบางตอนอย่างตอนกำเนิดพลายงาม 

ส่วนเรื่องนิทานกริมม์  มาจากตำนานพื้นบ้านที่เรียกว่า "คติชาวบ้าน" หรือ folklore  พวกเรื่องพื้นบ้านนี้ไม่นับว่าเป็นวรรณคดีในความหมายของหนังสือแต่งดีมีวรรณศิลป์  แต่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม แสดงถึงความเชื่อ รสนิยม ความเป็นอยู่ตลอดจนค่านิยมต่างๆของท้องถิ่นนั้นๆ   
เพราะฉะนั้นคติชาวบ้านพวกนี้หลายเรื่องก็โหดเหี้ยมเลวร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นเจ้าหญิงนิทรา สโนไว้ท์ หนูน้อยหมวกแดง ล้วนแต่เอาไปเป็นตัวอย่างในวิชาอาชญากรรมได้ทั้งหมด      พี่น้องกริมม์ที่เที่ยวถามชาวบ้านแก่ๆ ให้เล่าถึงตำนานพื้นบ้าน แล้วจดลงเป็นข้อเขียน ต้องเอามาขัดเกลาใหม่ให้หมดเสี้ยนหนามระคายอารมณ์     กลายเป็นนิทานเหมาะสำหรับเด็ก  ตรงนี้ละค่ะคือวรรณศิลป์
ส่วนขุนช้างขุนแผน " ขัดเกลา" ไม่ได้    เพราะไม่ใช่เรื่องสำหรับเด็กเล็กหรือแม้แต่เด็กโต ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 19 ก.ย. 19, 13:47

    "ย้ำว่านโยบายสร้างองค์ความรู้ ในอนาคตจะไปในทางไม่ใช่การเรียนทฤษฎีแล้ว แต่เป็นองค์ความรู้ในทางปฏิบัตินำไปใช้งานได้จริง จะไม่ใช่แบบเรียนจบสี่ปีแล้วมาให้ปริญญา ต่อไปการให้ความสำคัญกับปริญญาจะน้อยลง มันจะเป็น non-degree แล้ว คือไม่ใช่พวกมาเรียนเพื่อต้องการปริญญา แต่มาเรียนแบบคอร์สระยะสั้น เป็นคอร์สที่มาเรียนเพื่อ upskill ตัวเอง ก็ต้องมาเทกคอร์สสักหนึ่งเดือนหรือ 3-6 เดือนเพื่อนำไปใช้งานจริง โลกในอนาคตเรื่องปริญญาจะไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว  และการสร้างองค์ความรู้ของประเทศไทยต้องเน้นไปที่การตอบโจทย์ด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม  ดังนั้นการวิจัยจึงเป็นเรื่องความสำคัญ"

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ถ้าโลกในอนาคตพัฒนาไปในทางที่ท่านรมว. ว่า   ก็ไม่มีเนื้อที่ให้วรรณคดี   แต่ยังมีเนื้อที่ให้การอ่านอยู่ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 19 ก.ย. 19, 15:05

ในอนาคต  การเรียนวรรณคดีอาจจะต้องเรียนในแง่ประยุกต์  ตัวอย่างจากคลิปนี้

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 19 ก.ย. 19, 22:04

ส่วนตัวผมคิดว่าอนาคตต้องสอนให้เด็กเขียนมากกว่าอ่าน วรรณคดีไว้อายุ 40 ปีค่อยกลับมาอ่านก็ได้ แต่พัฒนาการของเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ควรให้เขาหัดทำด้วยตัวเองมากกว่าท่องตำรา

หมดยุคอ่านขุนช้างขุนแผนในนักเรียนชั้นป.6 แล้ว แต่ถ้าจะอ่านในนักศึกษาปี 1 ก็ว่าไปอย่าง เหมือนกับหมดยุคโทรไปบริจาคนั่นแหละครับ เดี๋ยวนี้โอนเงินในมือถือใช้เวลานับเป็นวินาที ขอแค่เลขบัญชีเท่านั้นพอ

แต่ส่วนตัวผมชอบแบบเดิมมากกว่า เหมือนชอบอ่านหนังสือจริงๆ มากกว่าในมือถือ ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือเก่าๆ ที่เหลืออยู่ในบ้านคือสมบัติล้ำค่าไปแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีวางขายแล้วโดยเฉพาะหนังสือแฟชั่น ก็นะ เศร้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 20 ก.ย. 19, 10:27

การสะกดคำ เป็นส่วนหนึ่งของการเขียน    ปัจจุบันนี้การสะกดคำเป็นปัญหามาก เพราะขาดการตรวจสอบเท่าที่ควร
เอาตัวอย่างวิธีเขียนข่าวในปัจจุบันมาลงให้อ่านค่ะ  (ไม่ระบุว่าเป็นสื่อไหน)


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 20 ก.ย. 19, 10:55

ตัวอย่างรายงานข่าวข้างบนนี้ น่าจะเป็นการถอดเทปสัมภาษณ์ผู้เสียหาย ที่ถูกหลอกลวงให้โอนเงินไปมากกว่า 1,200,000 บาท ให้นักต้มตุ๋น     จะเห็นว่าใช้ภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน  บางส่วนก็ปะปนกัน    ทำให้ยืดยาวและเข้าใจยาก
ถ้าเรียบเรียงเป็นภาษาเขียน ก็จะได้ความกระชับกว่านี้ว่า

 น.ส. ก.(นามสมมุติ) ได้ติดต่อพูดคุยผ่านทางโปรแกรม Messenger และ  WhatsApp มาระยะหนึ่ง กับชายที่อ้างตัวเป็นชาวอเมริกัน  ชื่อนาย Smith (นามสมมุติ)  เขาอ้างว่าได้รับมรดกจากบิดาที่ถึงแก่กรรมในมาเลเซีย  แต่ต้องจ่ายค่าภาษีมรดกจำนวน 21,000,000 ริงกิต ให้รัฐบาล    นายสมิธ มีเงินไม่พอจึงขอให้นางสาว ก. โอนเงินไปช่วยชำระค่าภาษีมรดกให้ก่อน  แล้วจะมาหาที่ประเทศไทยเพื่อคืนเงินให้
นายสมิธได้ส่งเอกสารต่างๆเช่นหนังสือเดินทาง  หน้าที่มีตราประทับวันเดินทางเข้าประเทศมาเลเซีย เอกสารราชการของมาเลเซีย และสำเนาเช็คเงินสดจำนวน 21 ล้านริงกิต เพื่อยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง  นางสาว ก.หลงเชื่อจึงโอนเงินให้งวดแรกจำนวน 100,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารทหารไทยของนาง ข. ตัวแทนของนายสมิธเพื่อโอนต่อไปให้นายสมิธอีกครั้งตามคำอ้างของนายสมิธ
ต่อมานายสมิธได้ขอค่าโอนเพิ่มขึ้นอีกหลายครั้ง    จนเงินส่วนตัวไม่พอ  นางสาว ก.ต้องไปขอยืมญาติพี่น้อง รวม 8 ครั้ง  เป็นเงินกว่า 1,200,000 บาท   จึงเริ่มเอะใจว่าถูกหลอกลวง   จึงนำเรื่องเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
   นางสาวก. ฝากเตือนผู้อื่นที่อาจประสบเหตุการณ์ทำนองเดียวกันว่า

" ตอนแรกทราบจากที่เขาบอก  ก็ไม่เชื่อ เคยเห็นจากข่าวว่ามีคนถูกหลอกลวงลักษณะนี้  แต่ที่เชื่อสนิทใจว่าเป็นเรื่องจริงเพราะหลักฐานเอกสารต่างๆ ส่งมาดูแล้วน่าเชื่อถือมาก  จึงคิดว่ามันเป็นเรื่องจริงทั้งหมด ทำให้เราตกหลุมพราง จึงตัดสินใจช่วยเขาไป
   อยากจะฝากเตือนคนอื่นที่เล่นโซเชียล และอาจจะถูกหลอกลวงลักษณะเดียวกับตนว่า ถ้าเจอแบบนี้ขอให้ปรึกษาคนอื่นๆ ดูก่อน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง อย่ารีบร้อนเชื่ออะไรง่ายๆ   ห้ามคิดคนเดียว ห้ามทำคนเดียว เราอาจจะไม่ทันระวังตัว แม้จะเคยได้ยินข่าวลักษณะนี้มาก่อนก็ตาม วิธีการของคนร้ายอาจจะปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานะการณ์ต่างๆ เราอาจจะตามไม่ทัน  ขอให้ปรึกษาคนอื่นที่ไว้ใจได้เป็นดีที่สุด"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 23 ก.ย. 19, 19:02

ย้อนกลับไปเรื่องวรรณคดี

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนวรรณคดี  ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของวรรณคดี   เพราะวรรณคดีส่วนใหญ่ที่เราเอามาเป็นวิชาเรียนกันนั้น สมัยที่กวีแต่ง ท่านไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นบทเรียนสอนใจเด็กและเยาวชน    แต่ว่าแต่งเพื่อความบันเทิง
เมื่อเอามาทำเป็นบทเรียน  ก็เลยเกิดความประดักประเดิดกันขึ้นว่าจะสอนกันอย่างไรแบบไหน จึงจะเป็นเรื่องสอนใจเด็กกันได้   
ผลก็คือต้องเลี่ยงไปเป็นสอนคำศัพท์บ้าง   สอนวิธีแต่งกาพย์กลอนโคลงฉันท์บ้าง  ไม่รู้จะสอนอย่างไรว่าขุนแผน ขุนช้าง หรือนางวันทองเป็นแบบอย่างที่ดีควรประพฤติตาม   หรือแม้แต่อิเหนา  หรือพระสังข์(ทอง)  ก็ไม่ใช่แบบอย่างของคนดีได้เต็มปาก 
แต่ถ้ายอมรับว่าตัวละครเหล่านี้เป็นมนุษย์ปุถุชน    มีดีมีชั่ว   เรียนรู้เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์    เข้าใจค่านิยมของคนรุ่นก่อน  ซึ่งไม่เหมือนคนรุ่นนี้ ก็จะมีเนื้อหาให้นักเรียนได้เรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์ได้อีกมาก   นั่นก็คือความหมายของการเรียนวรรณคดี


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 24 ก.ย. 19, 09:50

ประเด็นนี้ ผมเห็นด้วยอย่างมากครับ
การนำเอาวรรณกรรมมาให้นักเรียนได้อ่าน ผมเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่มีความชัดเจนว่า จะให้เด็กอ่านเพื่อวัตถุประสงค์ใด

ถ้าจะให้อ่านเพื่อเป็นคติสอนใจ เนื่องเรื่องของวรรณกรรมหลายเรื่อง ก็มีปัญหาความไม่เข้ากันของวิถีชีวิตในอดีตกับปัจจุบัน บางเรื่องเกิดข้อถกเถียงอยู่ว่าเหมาะสมหรือไม่

ถ้าจะให้อ่านเพื่อเป็นตัวอย่างวิธีแต่ง ข้อนี้ถ้าเป็นร้องกรองก็มีเหตุผลอยู่ ผมจำได้ว่า เวลาเรียนครูก็จะนำผังของร้อยกรองชนิดที่จะสอนในวันนี้มาแสดง แล้วนำเสนอวรรณกรรมเรื่องที่แต่งโดยใช้ร้อยกรองสนิดนั้นๆ คัดตอนที่ไพเราะมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งก็มักเป็นตอนที่ภาษาสวย มีสัมผัสนอก-ในงดงาม แล้วให้นักเรียนของแต่งของตนเองขึ้นมาบ้าง (ที่จำได้เป็นงานวันสุนทรภู่ กลอนที่เด็กแต่งร้อยละ 90 จะขึ้นว่า สุนทรภู่ครูกวีศรีสยาม (ฮ่า))

แต่พอเป็นร้อยแก้ว อันนี้อ่านอย่างเดียวครับ ไม่มีการสอนวิธีการแต่ง แสดงว่า เหตุที่นำร้อยแก้วมาให้เรียน ไม่ได้ตั้งใจจะสอนวิธีแต่ง

ถ้าอย่างนั้นแล้ว ต้องการสอนให้ผู้เรียน เรียนรู้อะไร (ตอนอ่าน จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า ผมได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้างหนอ... อืม...)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 24 ก.ย. 19, 10:17

    มาพูดเรื่อง สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กันดีกว่าค่ะ ว่าเราให้นักเรียนเรียนกันไปทำไม
    สามก๊กเป็นหนังสือที่วรรณคดีสโมสร ซึ่งตั้งในรัชกาลที่ 6  ยกย่องให้เป็นหนังสือดี ประเภทความเรียงเรื่องนิทาน  หมายถึงว่าการเรียบเรียงภาษาร้อยแก้วในเรื่องนี้เป็นไปอย่างสละสลวย  ถูกต้องตามหลักภาษา อ่านเข้าใจเรื่องราวได้ง่าย ว่าใครทำอะไร เหตุการณ์เป็นอย่างไร  ทั้งๆเนื้อเรื่องยาวมาก และซับซ้อนมากเพราะเป็นเรื่องการทำศึกสงครามทั้งเรื่อง ไม่ใช่อธิบายชีวิตประจำวันของผู้คน
    แต่ภาษาในเรื่องนี้แต่งขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีก่อน     ภาษาไทยปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ทั้งศัพท์ สำนวนภาษา วิธีเรียบเรียง    เพราะฉะนั้นอะไรที่ง่ายสำหรับคนยุคก่อน กลายเป็นยากสำหรับคนยุคนี้   ยิ่งเป็นเด็กนักเรียนที่โตมากับการ์ตูนซึ่งใช้ภาษาง่ายยิ่งกว่าง่าย  คำสั้นๆ อาจไม่ครบรูปประโยคด้วยซ้ำ  มีแต่บทโต้ตอบกัน ไม่มีบทบรรยายหรือพรรณนาโวหาร   สามก๊กจึงเป็นยาขมอีกหนึ่งหม้อสำหรับครูและเด็ก  ที่จะต้องหาคู่มือมาช่วยในการเรียนการสอน

    เมื่อดิฉันเรียนชั้นม.ปลาย   ต้องเรียนสามก๊กตัดตอนมาตอน "โจโฉแตกทัพเรือ" ซึ่งหนักกว่าจูล่งกับอาเต๊า   อ่านไม่รู้เรื่องเลยตั้งแต่บรรทัดแรกจนสุดท้าย    เพราะไม่รู้ความเป็นมาของเรื่อง   ชื่อตัวละครก็จำยาก  อยู่ๆใครก็ไม่รู้มาทำศึกกัน  ทำอะไรยังไงก็สับสนอลหม่านกันไปหมด   ภาษาก็ยาก    สรุปแล้วไม่อ่าน  เคราะห์ดีข้อสอบที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มีนิดเดียวก็เลยรอดตัวมาได้ไม่สอบตกวิชาภาษาไทย
    ผ่านไปหลายสิบปีถึงมารู้ว่าตอนนั้นถือเป็นสุดยอดของกระบวนรบในเรื่อง   เป็นศึกใหญ่สุดของสามก๊ก ประชันกันระหว่างจอมทัพทั้งสามคือโจโฉ ซุนกวน และขงเบ้งที่เป็นตัวแทนทัพเ่ล่าปี่      แต่นึกยังไงๆก็ไม่เหมาะให้เด็กอายุ 16-17 ปีอ่าน  เพราะเกิดมาเด็กเหล่านั้นก็ไม่เคยเจอการรบทัพจับศึก   ถึงมี ศึกสงครามยุคเราก็ไม่ได้รบกันแบบในเรื่องอีกแล้ว  ชื่อจีนสำเนียงฮกเกี้ยนก็ไม่เคยผ่านหู    และภาษาในเรื่องก็ไม่ใช่แบบฉบับที่เอาไปใช้อะไรได้  แค่อ่านยังไม่รู้เรื่องเลย
    สรุปอีกครั้งว่า  สามก๊กไม่เหมาะจะเอาเป็นตัวอย่างให้เด็กเรียนวิธีใช้ภาษาร้อยแก้วอีกแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 24 ก.ย. 19, 10:37

      ถ้าถามว่า ไม่เอาสามก๊กแล้วจะเอาอะไรมาเป็นตัวอย่างการใช้ภาษาร้อยแก้วที่ดี   
      คำตอบคือมีอยู่มาก  พวกหนังสือในปัจจุบันที่ได้รางวัลไงคะ   รัฐเองก็จัดประกวดหนังสือดี   เอกชนก็มีการประกวด   หนังสือเหล่านี้ผ่านการกลั่นกรองของผู้ทรงคุณวุฒืมาแล้ว   เป็นภาษาปัจจุบันที่นักเรียนอ่านแล้วเข้าใจ     
      ความเข้าใจเป็นด่านแรกของการอ่านหนังสือ     ถ้าไม่เข้าใจเสียอย่าง ต่อให้ภาษาดีวิเศษอย่างไรในสายตาผู้ใหญ่   หนังสือเล่มนั้นก็สื่อสารกับเด็กไม่ได้อยู่ดี  เมื่อสื่อสารไม่ได้ บังคับให้อ่านไปก็เปล่าประโยชน์   มีแต่จะก่อความเบื่อหน่าย   สะสมจนกลายเป็นความไม่ชอบ ไม่อยากเข้าใกล้ จนไม่อยากแตะต้อง ในที่สุด

      เมื่อปลายศตวรรษที่ 20  เด็กไทยยังอ่านหนังสือ ไม่ใช่ไม่อ่าน  แต่เขาไม่อ่านหนังสือประเภทที่ถูกบังคับให้อ่านเท่านั้นเองค่ะ     การ์ตูนต่างๆเช่นโดเรมอน มีเด็กสะสมกันเป็นตั้งๆ หนังสือพวกนี้ขายดีมาก   แต่ไม่มีในหลักสูตรโรงเรียน   
      ในศตวรรษที่ 21  คู่แข่งของหนังสือเปิดตัวอย่างรวดเร็วรุนแรงจนตั้งรับแทบไม่ทัน    เด็กนักเรียนยุคนี้อ่านกันคร่ำเคร่งทุกนาทีที่ว่าง  ไม่ว่าอยู่ตามป้ายรถเมล์ หรือในลิฟต์ก็อ่าน  แต่ไม่อ่านหนังสือ  เขาอ่านเรื่องราวในโทรศัพท์มือถือกัน   
     การสื่อสารสองทางเข้ามาแทนที่การสื่อสารทางเดียวอย่างในศตวรรษก่อน      การอ่านพลิกรูปแบบไปอย่างรวดเร็วจนกู่ไม่กลับ   การอ่านสั้นๆ จบเรื่องราวในไม่กี่นาทีเข้ามาแทนที่การอ่านหนังสือยาวๆ    ข่าวตามสื่อต่างๆลงแบบรวบรัด 1-2 หน้าจอมือถือจบแล้ว
      เพราะฉะนั้น    ในศตวรรษที่ 21  วรรณคดีจะไม่เหลือพื้นที่ให้ยืนสำหรับเด็กที่เกิดหลังปี 2000 ค่ะ   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 24 ก.ย. 19, 10:54

      แต่ถ้าวรรณคดีไทยยังปักหลักอยู่ในหลักสูตร  ไม่ว่าสังคมภายนอกผันผวนไปถึงขนาดไหนก็ตาม      เราก็ต้องหาทางทำให้วรรณคดีนั้นเป็นที่สนใจให้ได้ 
      ความสนุกกับการท่องจำ เป็นเรื่องสวนทางกัน   เพราะฉะนั้นตัดเรื่องท่องจำทิ้งไปเลย
      ความสนุกกับการไปค้นหาศัพท์  ก็ไม่ไปในทางเดียวกัน  ตัดไปอีกข้อ   เป็นเรื่องของครูต้องอธิบายศัพท์ให้นักเรียนเข้าใจ  ไม่ใช่หน้าที่นักเรียนไปหาเองแล้วทำเป็นการบ้านมาส่งครู

      ลองเลือกขุนช้างขุนแผนมาเป็นตัวอย่าง  แล้วดูว่าจะทำอย่างไรให้สนุกขึ้นมาได้
      อะไรที่ทำมาซ้ำซากเช่นเปิดโต้วาทีว่า ใครดีกว่ากัน ขุนช้างหรือขุนแผน    หรือนางวันทองควรเลือกใครดีระหว่างสามีสองคน  ขอให้เก็บลงหีบไปเลยค่ะ   
      ลองมาหาอะไรที่ไม่ค่อยมีใครคิดกันได้ไหม   เช่น ตั้งประเด็นว่า ใครเห็นข้อดีของขุนแผนบ้าง      สมมุติว่าถ้าขุนแผนตาย แล้ววิญญาณไปปรากฏอยู่หน้าพระยามัจจุราช  จะมีใครช่วยบอกได้ว่าผู้ชายคนนี้มีความดีข้อใด ที่สมควรจารึกบนแผ่นทอง
     ดิฉันไม่ทราบว่าท่านผู้เข้ามาอ่านนึกเหตุผลอะไรออกบ้าง  แต่ดิฉันนึกออกข้อหนึ่ง คือขุนแผนเป็นขุนนาง(สมัยนี้เรียกว่าข้าราชการ) ที่ไม่เคยวิ่งเต้น กินสินบน หรือฉ้อราษฎร์บังหลวง   แม้ว่าจะได้รับความไม่ยุติธรรมจากกฎหมาย เช่นถูกขังลืมอยู่ในคุกถึง 14 ปี  ก็รับโทษทัณฑ์โดยไม่ปริปาก    มีความจงรักภักดีต่อหลวงอย่างข้าราชการตัวอย่าง  ทั้งๆพ่อตัวเองก็ถูกประหาร เมียก็ถูกประหาร  ก็ยังรับราชการต่อไปจนบั้นปลายชีวิตด้วยความซื่อตรงต่อหน้าที่เหมือนเดิม   
     นิสัยข้อนี้ของขุนแผนมักไม่ค่อยมีใครนึกถึง เพราะมัวแต่ไปนึกเรื่องชิงรักหักสวาทกันหมด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 07 ต.ค. 19, 09:15

ที่จริง วรรณคดีเป็นวิชาที่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้มาก    ไม่ใช่วิชาท่องจำหรือแปลศัพท์     แต่เป็นการเรียนเรื่องราวเพื่อต่อยอดความคิด
วรรณคดีชั้นนำโดยมากจะไม่ชี้นำความคิดคนอ่านว่าผิดหรือถูก  แต่จะเปิดโอกาสให้คิดเห็นได้โดยเสรี      เรื่องราวประเภทชี้ลงไปว่านั่นผิดนี่ถูก  กระดิกกระเดี้ยไปจากนี้ไม่ได้ เช่นนิทานสอนใจเด็ก หรือเรื่องที่ผลิตขึ้นเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง  ไม่ถือว่าเป็นวรรณคดี   เพราะขาดความลุ่มลึกทางสติปัญญา   
วรรณคดีที่ได้รับการยกย่องว่าชั้นเลิศ มีอยู่หลายเรื่องที่เปิดประเด็นให้ขบคิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด    ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้คนอ่านเถียงเอาชนะกัน  แต่เพื่อกระตุ้นสติปัญญาให้งอกงามไปได้ไม่รู้จบ
็Hamlet ของเชคสเปียร์ก็เข้าข่ายนี้   เจ้าชายแฮมเล็ตได้พบปีศาจของพระราชาผู้บิดาซึ่งมาบอกลูกชายว่า ตนเองถูกวางยาพิษโดยน้องชายและพระราชินีแม่ของแฮมเล็ต  เพื่อกำจัดให้พ้นทาง  แต่แทนที่แฮมเล็ตจะแก้แค้นแทนพ่อ  ก็กลับลังเล  ไปหาวิธีการต่างๆอ้อมค้อมอยู่มาก จนท้ายสุด อาจับได้  จบลงด้วยตัวละครเอกทุกตัวตายหมด
คำถามคือ  ทำไมแฮมเล็ตไม่ทำอย่างที่ควรทำ 
คำตอบมีมากมายหลายทาง แล้วแต่การตีความ เช่น แฮมเล็ตยังไม่ปลงใจเชื่อว่าปีศาจเป็นบิดาตัวจริง   แฮมเล็ตตัดสินใจไม่ได้  แฮมเล็ตอยากพิสูจน์ข้อเท็จจริงมากกว่าฟังแค่คำบอกเล่าฝ่ายเดียว    ฯลฯ  มีแม้กระทั่งว่าแฮมเล็ตรักแม่ตามปม Oedipus  complex จึงไม่อาจทำกระทำรุนแรงได้

ของไทยเราก็มีขุนช้างขุนแผน  จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครทราบคำตอบแน่ชัดว่า ถ้านางวันทองได้โอกาสครั้งที่ 2 จากพระพันวษาให้เลือกอีกที    นางจะเลือกสามีคนไหน หรือไม่เอาทั้งคู่ ขออยู่กับลูกชาย    คำตอบที่เปิดโอกาสให้คิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ เป็นจุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งของวรรณคดี  ที่จะบำรุงสติปัญญาของผู้อ่าน   ฝึกให้รู้จักขบคิด  รู้จักใคร่ครวญหาเหตุผล  วิเคราะห์และวิจารณ์ นำไปสู่คำตอบที่หนักแน่น

ทั้งหมดนี้  ถ้าหากว่าครูรู้จักสอนในชั้นเรียน เด็กก็ถูกกระตุ้นให้คิด ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้จำ   น่าจะเกิดความสนุกสนานในการเรียนมากกว่า
วรรณคดีก็มีสิทธิ์จะรอดอยู่ในศตวรรษที่ 21 ได้  เพราะไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน  ความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษยชาติเสมอ
บันทึกการเข้า
ดาวกระจ่าง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 07 ต.ค. 19, 18:27

การสอนของคุณเทาชมพูเป็นวิธีที่ดีค่ะแต่ดูจะยากตรงครูไทยส่วใหญ่ไม่ค่อยชอบการสอนที่ดูยุ่งยาก ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงหรอกค่ะ คงต้องเป็นนโยบายการศึกษาเลยถึงจะเปลี่ยนได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 07 ต.ค. 19, 19:57

งั้นคงจบในอีกไม่นานละค่ะ 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง