เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 10759 วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 15 ก.ย. 19, 12:52

กระทู้นี้ตั้งขึ้น ด้วยแรงบันดาลใจจากความเห็นของ naitang  ในคคห. ที่ 129  ในกระทู้ ไปตลาด 
คุณตั้งกล่าวไว้ว่า
ผมเชื่อว่าผู้อาวุโสทั้งหลายล้วนแต่มีประสบการณ์และมีเรื่องราวทั้งในทางภาคปฎิบัติและภาคความคิดเห็นที่สามารถนำมาเล่าแล้วเกิดเป็นประโยชน์อย่างมากมายแก่ผู้คนรุ่นหลังๆที่เขากำลังหาอ่านหรือกำลังทำการค้นหาและค้นคว้า(search & research)เพื่อเลือกเส้นทางในการดำเนินชีวิต   ผมจึงเลือกที่จะคายองค์ความรู้ที่ตนมีทั้งหลายมากกว่าที่จะอมพะนำหรือขยักหวงเก็บเอาไว้  ประกอบกับสำนึกได้ว่าชีวิตเราได้มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆมากมายหลายเท่านัก การคายองค์ความรู้ที่พอจะมีในรูปแบบบ้านๆให้แก่สังคมและคนที่มีโอกาสน้อยกว่าหรือจำกัดกว่าก็ดูจะเป็นคุณมากกว่าที่จะขยักเก็บเอาไว้
ทำให้นึกขึ้นได้ว่า  ดิฉันน่าจะเป็นคนไทยรุ่นท้ายๆ ที่มีโอกาสเรียนวรรณคดีทั้งในประเทศและในต่างประเทศ     มาถึงรุ่นลูก ไม่พบว่ามีใครไปเรียนทางนี้อีกแล้ว   หรือว่าถ้ามีก็น้อยมากจนนึกไม่ออกว่่าใครบ้าง   
ยิ่งถ้ามาถึงรุ่นหลาน  อย่าว่าแต่วรรณคดีเลย แม้แต่ภาษาซึ่งเป็นเครื่องมือนำไปสู่วรรณคดี  เดี๋ยวนี้น้อยมากที่เรียนกันอย่างเอาจริงเอาจัง   จนเกิดภาษาไทยอย่างใหม่ขึ้น จากภาษาคีบอร์ดในมือถือ  คือเอาความง่ายในการจิ้มคีบอร์ดเป็นหลักในการสะกดคำ    เช่น โทสับ(โทรศัพท์)   ปะ(เปล่า) สัม(สัมภาษณ์)
 ส่วนการสะกดคำ ถ้ามีเกินสามพยางค์ติดกันก็สะกดไม่ค่อยจะถูกแล้ว  ยิ่งถ้าเป็นคำที่มีรากศัพท์จากบาลี ก็ยิ่งไม่ถูกหนักขึ้นไปอีก
เพราะฉะนั้นก็อย่าหวังว่า คนที่เติบโตขึ้นมาในศตวรรษที่ 21  จะเอาใจใส่อยากเรียนวรรณคดี

แต่เพื่อไม่ให้วิชานี้สูญหายไป  เหมือนอะไรๆรอบตัวอีกมากที่ตกรุ่นสูญหายไปอย่างรวดเร็ว  ก็จะเล่าอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับวิชาวรรณคดีเท่าที่นึกออก    บันทึกเอาไว้เป็นการอนุรักษ์สิ่งที่ครั้งหนึ่งถือกันว่าดีงาม ถึงกับได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นหนึ่งในสมบัติของชาติ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 ก.ย. 19, 16:06

ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจถึงคำนี้กันก่อนนะคะ
วรรณคดี หมายถึง งานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์    การใช้คำว่าวรรณคดีเพื่อประเมินค่าของวรรณกรรมเกิดขึ้นในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ 6   ก่อนหน้า ไม่มีคำนี้   เพราะฉะนั้นถ้าเราย้อนเวลาไปถามสุนทรภู่ว่า วรรณคดีคืออะไร  กวีเอกของเราคงตอบไม่ได้ เพราะในยุคท่านไม่มีคำว่าวรรณคดี

ภาษาอังกฤษ มีคำว่า Literature  ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่าวรรณคดี  แต่ความหมายกว้างกว่า คือหมายถึงงานเขียนชั้นดีมีวรรณศิลป์ก็ได้   หมายถึงงานเขียนทั่วๆไปที่ไม่ได้กำหนดว่าดีหรือไม่ดีก็ได้   

เพราะฉะนั้น ถ้าจะหาภาษาไทยให้ตรงกับความหมายที่สอง จึงมีการคิดคำว่า "วรรณกรรม" ขึ้นมา   ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า  วรรณกรรมคืองานหนังสือ, บทประพันธ์ทุกชนิด ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง คือเป็นการให้คำจำกัดความงานแต่ง ในวงกว้าง  ไม่ต้องประเมินคุณค่า

แต่คนรุ่นหลังเข้าใจผิดไปว่า วรรณกรรมหมายถึงหนังสือดีมีคุณค่าที่เป็นหนังสือสมัยใหม่   ไม่ใช่เรื่องโบราณอย่างวรรณคดี   จึงไปยกระดับให้ว่า เรื่องนี้เป็นวรรณกรรม  เรื่องนั้นไม่ใช่    เรื่องได้รางวัลเป็นวรรณกรรม  เรื่องที่เด็กนักเรียนหัดแต่ง  ไม่นับเป็นวรรณกรรม
ความจริงไม่ใช่ค่ะ     ใช้กันมาผิดจนกลายเป็นถูกไปแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 ก.ย. 19, 18:28

   ในศตวรรษที่ 20  เวลาเดินช้ากว่ายุคนี้มาก    ปัญญาชนในสมัยรัชกาลที่ 6  อ่านงานเขียนที่แต่งขึ้นในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 หรือแม้แต่สมัยอยุธยา ได้รู้เรื่อง เข้าใจภาษา แบบแผนคำประพันธ์ และเนื้อเรื่องได้อย่างดีราวกับอยู่ในยุคเดียวกัน   
    เห็นได้จากวรรณคดีสโมสรที่ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 6  ตัดสินให้วรรณคดียอดเยี่ยมแต่ละประเภท ย้อนหลังไปนานนับสิบๆหรือร้อยๆปีทั้งนั้น ไม่ว่าจะลิลิตพระลอ เป็นยอดลิลิต  สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นยอดฉันท์  สองเรื่องนี้อยู่สมัยอยุธยา 
   แต่พอมาถึงศตวรรษที่ 21    กี่คนจะเข้าใจอิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิงว่าเป็นเรื่องของใคร ทำอะไร   ทำแล้วเกิดผลอะไร  แล้วผลนั้นช่วยส่งเสริมความคิดอ่านของนักเรียนชั้นม.ปลายให้ซาบซึ้งในวรรณคดีแค่ไหน
   นี่ยังไม่ต้องพูดถึงด่านต้น คือศัพท์แปลกๆ ไม่เคยพบเคยเห็นในชีวิตประจำวัน  จนอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง    ไปติดอยู่ที่การแปลศัพท์นั้นเอง     
   ต่อให้แปลศัพท์ได้หมด     ก็มีคำถามต่อมาว่า  สังคมของท้าวกะหมังกุหนิง ที่ประกอบด้วยการระดมญาติกมาทำศึก  เพื่อตามใจลูกชายให้ไปแย่งผู้หญิง  เป็นสิ่งที่โยงเข้ากับการดำเนินชีวิตของเด็กนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน   ช่วยให้นักเรียนเกิดความคิดสติปัญญาสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง
   คำถามเหล่านี้ถ้าตอบไม่ได้ ก็น่าจะเปลี่ยนหลักสูตรวิชาวรรณคดีเสียใหม่  เพื่อรับกับสังคมในศตวรรษที่ 21 ได้แล้ว
 
   วรรณคดีจึงเป็นยาขมหม้อใหญ่  ไม่ใช่แต่กับนักเรียน แม้แต่ครูเองก็เช่นกัน   

   
บันทึกการเข้า
jungo ka
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 ก.ย. 19, 23:47

เรียนอาจารย์เทาชมพูค่ะ
   เมื่อไม่กี่วันมานี้หนูเพิ่งเจอสถานการณ์เอาง่ายเข้าว่าในการใช้ภาษาไทยของคนรุ่นปัจจุบันทางเพจเฟสบุ๊ก โดยแอดมินใช้คำว่า "ภาษาอิตาลี" ซึ่งทางเราก็ได้ไถ่ถามไปว่า ทำไมไม่ใช้ว่า "ภาษาอิตาเลียน" ล่ะ ดูน่าจะเหมาะสมกว่า ไพเราะกว่า เพราะได้เห็นมาจากที่คณะอักษรฯ สาขา "ภาษาอิตาเลียน" ตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ทางแอดมินเพจตอนแรกเหมือนจะเข้าใจ แต่ก็พยายามหาเหตุผลต่างๆ เช่น ประเทศสเปน เขายังใช้ภาษาสเปน ประเทศฝรั่งเศส ก็ใช้ภาษาฝรั่งเศสนี่ ซึ่งมันก็ถูกต้อง และเขาได้แสดงหลักฐานเพิ่มอีกว่า ราชบัณฑิตฯ กำหนดให้ใช้คำนาม คำคุณศัพท์อื่นๆ ตามชื่อประเทศไปเลย เพื่อความสะดวก (ซึ่งเราก็เพิ่งจะรู้) ยกเว้นว่า บางคำที่ใช้มานานเป็นที่นิยมแล้วก็ให้ยกเว้น เช่น ประเทศเยอรมนี ใช้ภาษาเยอรมัน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีประชากรสวืส เป็นต้น
เลยทำให้รู้สึกว่าความงามทางภาษา ความรุ่มรวยทางภาษา และการเลือกใช้คำให้เหมาะกับบริบท กำลังจะหายไปจากภาษาไทยยุคปัจจุบันแล้วค่ะ เพราะความง่ายและสะดวก ไม่ต้องคิดมาก (เข้าใจตรงกันนะ)
ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 07:22

  ดิฉันก็เพิ่งรู้ว่าราชบัณฑิตฯ กำหนดคำคุณศัพท์ของชื่อประเทศต่างๆเสียใหม่   เราชินกับคำว่า อาหารอิตาเลียน  ไส้กรอกเยอรมัน   รถยนต์อเมริกัน   ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วค่ะ

  คนสวีเดน หรือ คนสวีดิช

          คำคุณศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับชนชาติเมื่อไปประกอบกับคำนามมักจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องการเขียนทับศัพท์เนื่องจากไม่แน่ใจว่าควรจะทับศัพท์ในรูปคำคุณศัพท์นั้นหรือไม่ เช่น Italian food อาหารอิตาเลียน หรือ อาหารอิตาลี American writer นักเขียนอเมริกัน หรือ นักเขียนอเมริกา German people คนเยอรมัน หรือ คนเยอรมนี Hawaiian dance ระบำฮาวาย หรือ ระบำฮาวายเอียน ราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างชัดเจนดังนี้

          คำคุณศัพท์เกี่ยวกับชนชาติต่าง ๆ ให้ทับศัพท์ในรูปคำนามที่เป็นชื่อประเทศ เช่น Swedish people = คนสวีเดน Hungarian dance = ระบำฮังการี ยกเว้นชื่อที่เคยใช้มานานแล้ว ได้แก่ ประเทศเยอรมนี ใช้ว่า…เยอรมัน เช่น ภาษาเยอรมัน ประเทศกรีช ใช้ว่า…กรีก เช่น เรือกรีก ประเทศไอร์แลนด์ ใช้ว่า…ไอริช เช่น ชาวไอริช ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้ว่า…ฮอลันดา เช่น ชาวฮอลันดา หรือ…ดัตช์ เช่น ภาษาดัตช์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ว่า…สวิส เช่น ผ้าสวิส สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ใช้ว่า…อังกฤษ เช่น คนอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ใช้ว่า…อเมริกัน เช่น รถอเมริกัน สำหรับสหภาพโซเวียต ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำคุณศัพท์ ๒ คำ คือ Soviet…และ Russian…ใช้ว่า …โซเวียต และ …รัสเซีย เช่น Soviet Style (of architecture) = (สถาปัตยกรรม) แบบโซเวียต Russian food = อาหารรัสเซีย

          เมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนดไว้ก็จะได้คำตอบว่า อาหารอิตาลี นักเขียนอเมริกัน คนเยอรมัน และระบำฮาวาย สำหรับ Hawaii แม้มิใช่ชื่อประเทศ แต่ก็พอจะอนุโลมให้ใช้ตามหลักเกณฑ์นี้ได้เนื่องจากเป็นคำประเภทเดียวกัน ในกรณีของประเทศพม่า แม้จะเปลี่ยนชื่อทางการเป็น Union of Myanmar แล้วก็ตาม ราชบัณฑิตยสถานและกระทรวงการต่างประเทศยังเห็นควรให้ใช้ชื่อภาษาไทยว่า สหภาพพม่า ตามที่ใช้กันมาแต่เดิม มิใช่ สหภาพเมียนมาร์ ดังที่มีผู้ใช้กันอยู่ ในภาษาอังกฤษจะพบคำคุณศัพท์เกี่ยวกับชนชาติพม่า ๒ คำ คือ Burmese กับ Myanman แต่ทั้ง ๒ คำ เมื่อไปประกอบคำนามก็ให้ใช้ว่า พม่า

                                                                      แสงจันทร์  แสนสุภา

http://www.royin.go.th/?knowledges=%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%99-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%8A
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 07:46

  ถ้าถามว่าเห็นด้วยไหม ดิฉันก็ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลข้างบนนี้หรอกค่ะ      ของเดิมมีอยู่แล้ว ใช้กันมานานจนชินแล้ว ไปเปลี่ยนให้นักเรียนจำยากขึ้นเปล่าๆ
  อย่างคำว่า อาหารอิตาเลียน มันก็มีที่มาที่ไป ไม่ใช่ไทยกำหนดเองตามใจชอบ  คือ ตรงกับคำว่า Italian food  ไม่ใช่ Italy food  แต่เรามาเปลี่ยนเป็น อาหารอิตาลี ทั้งๆไม่มีคำว่า Italy food ในภาษาอังกฤษ   
  ในภาษาอิตาเลียนเอง  เขาไม่ได้ใช้คำนาม Italia  ซึ่งหมายถึงประเทศอิตาลีกันตะพึดตะพือ  แต่มีคำคุณศัพท์ประกอบตามรูปศัพท์     Italian food  คือ cibo italiano  ไม่ใช่ cibo italia

     ถ้าจะกำหนดใหม่ให้เป็นระเบียบ ก็ควรเปลี่ยนหมด    ไม่ใช่เปลี่ยนบ้าง คงเดิมบ้าง    คำที่คงเดิมก็ไม่มีเหตุผลอะไรมากกว่าใช้มานานแล้ว   ก็เลยสงสัยว่าคำที่เปลี่ยนอย่างอิตาเลียน เพิ่งจะใช้กันมาไม่กี่ปีหรืออย่างไร  เท่าที่เคยเห็นผ่านตาก็ใช้กันมานานแล้ว   ส่วนคำที่ไม่เปลี่ยน  เช่น ไอริช  เอาไว้อย่างเดิม   อ้างเหตุผลว่าเพราะใช้มานานแล้ว    เช่นกระท่อมไอริช   ไม่ใช่กระท่อมไอร์แลนด์   แต่ไม่มีการพิสูจน์ว่า ไอริช ใช้นานกว่า อิตาเลียน มานานแค่ไหน

  เรื่องนี้เป็นเรื่องของภาษา ไม่ใช่วรรณคดี    สรุปว่ามีการเปลี่ยนแปลงการทับศัพท์คำเรียกภาษาต่างประเทศบางคำ ให้เปลี่ยนไปจากเดิม    ส่วนคำที่ไม่เปลี่ยนก็มี   โดยมีเหตุผลหลักคือใช้มานานแล้วไม่ต้องเปลี่ยน  แต่คำที่เปลี่ยนซึ่งไม่ใช่คำใหม่เพิ่งจะใช้  ก็ถูกเปลี่ยน
  ดิฉันเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนที่ไม่จำเป็นค่ะ     
  หวังว่าอีกไม่นานคงมีการแก้ระเบียบการใช้ ว่า อนุโลมให้ใช้คำเดิมได้     เหมือนอนุโลมศัพท์อื่นๆมาแล้วหลายเรื่อง  เมื่อมีคนคัดค้านมากเข้า ค่ะ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 10:18

นริศ คิดในใจ "เอ่ แล้วชาติในอาเซี่ยนของเรา เราจะเรียกอาหารของพวกเขาอย่างไรดีนะ จะว่าไป เราก็ไม่เคยรู้เลยว่า คนประเทศเวียตนาม = ชาว..อะไร ชาวเวียตเฉยๆ หรือเวียตนาม อาหารเวียตนาม ต้องเรียกว่า อาหารอะไร แล้วคนประเทศลาวหละ เห็นบางที่ใช้ Laotian อาหารลาวก็ต้องเรียกว่า อาหารลาวเทียนสิ แล้วก็ต้องมี อาหารขแมร์ อาหารฟิลิปิโน ด้วยแต่คิดไปคิดมา อันนี้ไม่ใช้เรื่องวรรณคดี อย่าเพึ่งถามดีกว่า เดี๋ยวโดนดุ" 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 10:28

ไม่ดุค่ะ
ความเห็นคือเคยเรียกกันมายังไงก็ควรเรียกกันยังงั้น   ในเมื่อเรียกติดหูกันมานานแล้ว    ไม่จำเป็นต้องไปจัดระเบียบ ให้เป็นอย่างเดียวกับชื่อประเทศบ้าง ไม่เป็นบ้าง
เพราะจัดใหม่  ผลออกมาก็ลงรอยแบบเดียวกับอย่างเก่าที่ไม่มีระเบียบ   คือเรียกบ้างไม่เรียกบ้างอยู่ดีละค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 11:22

กลับมาที่วรรณคดี

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่เยาวชนต้องปรับตัวกับของใหม่ๆที่หลั่งไหลเข้าเร็วมาก     ในศตวรรษที่ 20  เทคโนโลยีที่อายุไม่เกิน 20  ปี ยังใช้งานได้อยู่  เสียบ้างก็ซ่อมกันไป  แต่ในศตวรรษนี้  ของตกยุคกันเร็วมาก   ไม่กี่ปีมานี้เรายังใช้ window XP    แต่เดี๋ยวนี้อย่าว่าแต่ window XP  แม้แต่ window 7 ที่ตามหลัง XP มาก็ไม่มีใครใช้กันแล้ว     window 10 ที่ดิฉันใช้อยู่ตอนนี้ก็คงจะหายสูญไปเมื่อมี window ใหม่ๆเข้ามาแทนที่

ในเมื่อของเก่าไปใหม่มากันอย่างรวดเร็ว    คนรุ่นนี้จึงต้องปรับเนื้อที่ในสมอง ลบของเก่าทิ้งไปรับของใหม่เข้ามาเร็วมากเช่นกัน     ไม่มีความทรงจำที่อ้อยอิ่งอยู่นานเป็นสิบๆปี อย่างคนรุ่นพ่อแ่ม่ปู่ย่าตายาย
เขาไม่มีเนื้อที่สมองให้จดจำคู่กรณีในศึกกะหมังกุหนิง   กวนอูฝากตัวกับโจโฉ   เส้นทางเดินทัพของนายนรินทรธิเบศร์    ยิ่งเป็นเรื่องอ่านยาก ห่างไกลจาก app ตัวต่างๆ   ก็ยิ่งไม่มีเนื้อที่ให้จำหนักขึ้น
วรรณคดีเก่าที่บรรจุไว้ในหลักสูตรให้เด็กที่เกิดหลังปี 2000 อ่าน จึงไม่มีทางให้ซาบซึ้งตรึงใจ จนอยากจดจำได้

ถ้าทำได้ ดิฉันจะรื้อวรรณคดีม.ปลายออกให้หมด   แล้วสอนให้นักเรียนรู้จักหนังสือดีอีกแบบหนึ่งแทน คือหนังสือในยุคปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
jungo ka
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 11:29

ต้องขออภัยอาจารย์ด้วยนะคะที่พาออกนอกเรื่อง
    มีช่วงหนึ่งไปช่วยงานคิดคำถามเกมชิงรางวัลจับเวลาค่ะ คำถามท่ี่เด็กยุคใหม่ตอบแทบไม่ได้เลยคือภาษาและวรรณคดีไทย เช่น ถามว่า ข้อใดคือทหารเอกของพระราม (นิลพัท) ข้อใดเกี่ยวข้องกับนางละเวงวัณฬา (นางสุลาลีวัน) ข้อใดเป็นบทประพันธ์ประเภทนิราศ (รำพันพิลาป) ฯลฯ รวมทั้งคำที่มักเขียนผิด แต่ถ้าเป็นคำถามเกี่ยวกับแฮรี่ พอตเตอร์ ตอบได้เกือบหมดเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 12:20

ไม่นอกเรื่องหรอกค่ะ   คุณjungo ka นึกอะไรได้ก็เข้ามาโพสได้เสมอนะคะ  คุณนริศก็เช่นกันค่ะ

เรื่องที่คุณ jungo ka เล่ามาตรงกับที่ดิฉันอยากบอกพอดี  คือเด็กอายุต่ำลงมาจาก 18 ปี  โลกของเขาคือปัจจุบัน
เขายังไม่มีอดีตและอนาคตให้นึกถึงอย่างพวกผู้ใหญ่ 
เพราะเหตุนี้วรรณกรรมต่างๆที่เขาเสพเข้าถึง คือเรื่องที่เขาพบเห็นในวัยปัจจุบันของเขา      ไม่ว่าเด็กเหล่านี้ได้อ่านแฮรี่ พ็อตเตอร์ หรือดูหนังแฮรี่ พ็อตเตอร์ก็ถาม    เนื้อเรื่องเป็นเรื่องของปัจจุบัน   หนุ่มน้อยแฮรี่อยู่อาศัยกับลุงป้าในยุคปัจจุบัน  แม้ว่าโรงเรียนฮ็อกวาร์ดมีบรรยากาศของพ่อมดแม่มด และอาคมขลังต่างๆซึ่งย้อนหลังไปได้ถึงตำนานยุคกลางของยุโรป   แต่ตัวเขา เพื่อนๆ และความคิดอ่านของเด็กพวกนี้ก็เป็นปัจจุบันที่คนอ่าน(หรือคนดู) สื่อสารกันได้อยู่นั่นเอง

ถ้าหลักสูตรเอาอะไรที่เป็นเนื้อหาของอดีตล้วนๆ เข้าไปให้เขาเสพ ผ่านทางชั้นเรียนและตำรา   เขาก็เข้าไม่ถึง และปฏิเสธโดยปริยาย    นี่คือธรรมชาติของเด็กวัยนี้
การสอนให้เด็กรักหนังสือในอดีตเมื่อหนึ่งหรือสองร้อยปีก่อนไม่ใช่เรื่องง่าย   ย่ิ่งยัดเยียดให้จำแต่ศัพท์  ถอดความออกมาเป็นเรื่องเล่า เพื่อทำการบ้านส่งครู   ยิ่งทำให้ห่างไกลจากความรัก 
เพราะฉะนั้น  ดิฉันจึงคิดว่า เรามาเริ่มต้นกันที่หาหนังสือใหม่ที่เหมาะกับวัยของเขา ให้อ่านดีกว่า   
หนังสือที่สนุก  อ่านง่าย ภาษาง่ายและหมดจดถูกต้องตามหลักภาษา    เหมาะจะเป็นวรรณกรรมที่สอนในระดับมัธยมต้นและปลายค่ะ 
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 13:33

เรื่องนี้ ผมก็สนใจนะครับอาจารย์
ทุกวันนี้ เวลาเดินเข้าร้านหนังสือ ผมพบว่ามี "งานเขียน" (ผมขอเรียกด้วยคำที่ง่ายที่สุดละกันครับ) เยอะเลยครับ เอาเข้าจริงๆ อาจจะกินพื้นที่เกิน 50% ของหนังสือที่ขายอยู่ในร้านด้วยซ้ำ งานเขียนเหล่านี้มีทั้งของนักเขียนไทย (ทำไมต้องเป็นงานออกแนวชายรักชาย หรือทาสรักชายโหดซะส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ครับ แต่ผมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับงานเหล่านี้นะครับ ผมถือว่า ถ้างานขายได้ = มีผู้ชื่นชอบ ก็คือดี)

งานของนักเขียนจีน จำพวกกำลังภายในต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่กำลังภายในแบบของกิมย้ง หรือโกวเล้ง เป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งเดินเรื่องทันสมัยกว่า และมักเปิดโอกาสให้คนยุคปัจจุบันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น แนวเรื่องยุทธภพออนไลน์ (ตัวละครเป็นคนในยุคปัจจุบัน แต่เข้าไปอยู่ในเกมส์ออนไลน์) หรือแนวย้อนเวลา

งานของนักเขียนญี่ปุ่น มักออกมาในแนว "ต่างโลก" ซึ่งมักจะเริ่มต้นว่า ตัวเอกเป็นใครสักคนที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน (รถชน ตกน้ำ หมดสติ) แล้วตื่นขึ้นมาโดยพบว่า ตนเองไปอยู่ในโลกแฟนตาซี ยุคที่ยังมี มังกร พ่อมด เวทย์มนตร์ (ร้อยละ 90 ตัวเอกจะมาพร้อมความสามารถอะไรบางอย่างที่ดีผิดปกติอย่างยิ่ง ทำให้เขากลายเป็ยคนสำคัญในโลกนั้นๆ)   
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 13:46

ส่วนตัว ผมเชื่อว่า การที่งานเขียนพวกนี้ พิมพ์ออกมามากมาย ก็แสดงว่า มีผู้สนใจอ่านมากมายด้วย ผมคิดอย่างนั้นนะครับ 

ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็แสดงให้เห็นได้ว่า เด็กไทย หรือวัยรุ่นไทย ไม่ได้ห่างจากวรรณกรรม หรืองานเขียน แต่เขาอ่านสิ่งที่เหมาะสมกับวัยของเขา เพราะสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า เป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่ายกว่า

การนำวรรณกรรมสร้างขึ้นในยุคที่ห่างจากตัวเด็กไปมาก ไปให้เขาอ่าน ผมเห็นด้วยครับว่า น่าจะมีปัญหามากจริงๆ อย่างแรกเลยคือ ภาษาอ่านยาก พออ่านยากก็ไม่สนุก ถ้าไม่ใจรักจริงๆ เด็กจะอ่านต่อไปไม่ไหว ครั้นเจอเด็กที่มีความสนใจ สามารถอ่านจนจบได้ เขาจะได้รับรู้ "เนื้อหา" ของวรรณกรรมนั้นๆ ซึ่งบางครั้งก็ผิดยุคไปแล้ว อย่าว่าแต่เด็กเลยครับ รุ่นผมนี้ ตอนผมอ่าน "ผู้ชนะสิบทิศ" ตอนสอพินยาชิงกุสุมาไป เนื้อเรื่องบอกเลวร้ายมาก แต่ตอนจะเด็ดไปชิงคืนมา โดยเนื้อหาก็คือการฉุดคร่าหญิงเหมือนกันเลย แต่เนื้อเรื่องบรรยายว่าดีงาม หาข้อแก้ตัวให้เสร็จ ผมก็ขัดใจครับ

ยิ่งถ้าไปอ่านขุนช้าง ขุนแผน อัยย่ะ ตกลงขุนแผนหรือขุนช้างกันแน่ที่เป็นตัวร้าย ขุนช้างมีความผิดเดียวคือ แกไม่หล่อ (ถ้าเป็นสมัยนี้ หุ่นหมี รวยทรัพย์ ดีไม่ดี สาวติดเยอะกว่าขุนแผนอีก) ส่วนที่เหลือ ขุนแผนทำครบ อ่านแล้วก็หงุดหงิดใจว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ 

สรุปว่า ผมเองก็เชื่อว่า การเอาวรรณกรรมผิดยุคไปให้เด็กอ่าน ไม่ทำให้เด็กเกิดความรักการอ่านขึ้นได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 14:49

ไปค้นรายชื่อหนังสือวรรณคดีม.ปลายมา ได้ตามนี้ค่ะ

1. บทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณ
2. อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง
3. นิทานเวตาล เรื่องที่ 10
4. นิราศนรินทร์
5. หัวใจชายหนุ่ม
6. ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
7. มงคลสูตรคำฉันท์
8. มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก
9. มหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรี
10. ลิลิตตะเลงพ่าย
11. มัทนะพาธา
12. คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์
13. โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน
14. ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา
15. สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
16. กาพย์เห่เรือ
17. สามัคคีเภทคำฉันท์
18. ไตรภูมิพระร่วง
19. ขัตติยะพันธกรณี
บันทึกการเข้า
jungo ka
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 ก.ย. 19, 14:58

ขอบคุณค่ะอาจารย์
    เข้าใจอย่างที่อาจารย์เทาชมพูและอาจารย์ Naris อธิบายค่ะ แต่ก็แอบสงสัยว่า ทำไมตอนเมื่อยุค 40-60 ปีก่อน การที่เราเรียนวรรณคดีแล้วเรารู้สึกซาบซึ้งไปกับเนื้อหาและความไพเราะได้โดยง่าย ทั้งๆ ที่เนื้อเรื่องก็ไม่ได้เกิดในยุคเราเช่นกัน ส่วนเรื่องความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมในชีวิตจริงของตัวละครนั้น เรามาวิเคราะห์ได้ตอนโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นแล้ว ช่วงเป็นเด็ก สนใจอยากจะอ่านให้รู้เรื่องราวต่อไปว่าเป็นอย่างไร จะจบอย่างไรมากกว่า แล้วพอคุณครูอธิบายคำศัพท์ ฉันทลักษณ์ รสวรรณคดี ลีลา ไวพจน์ต่างๆ ก็ยิ่งรู้สึกประทับใจ เข้าถึงความงามวรรณศิลป์ยิ่งขึ้นไปอีก หรือในยุคนั้นเด็กว่าง่าย สอนง่าย เข้าใจอะไรง่ายกว่ายุคนี้คะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง