เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 48 49 [50] 51 52 ... 68
  พิมพ์  
อ่าน: 76890 ไปตลาด
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 735  เมื่อ 10 ส.ค. 20, 18:42

ลืมไปว่า ในช่วงนี้จะมีผลไม้จากทางภาคใต้ขึ้นมาวางขายในตลาดต่างๆด้วย ก็มาจากแหล่งผลิตหลักๆในพื้นที่ของ จ.ชุมพร โดยเฉพาะ ย่าน อ.หลังสวน   จ.สุราษฎร์ธานี ย่าน อ.เวียงสระ และนาสาร    จ.นครศรีธรรมราช ย่าน อ.ลานสกา  และ จ.นราธิวาส ย่าน อ.ระแงะ และสุคิริน   ผลไม้จากแหล่งผลิตเหล่านี้ที่เราคุ้นเคยชื่อกันก็จะมี มังคุดหลังสวน  เงาะโรงเรียน  ลองกองตันหยงมัส  ซึ่งสายพันธุ์ผลไม้ของดีเหล่านี้ได้ถูกนำไปปลูกและพัฒนาคุณภาพในพื้นที่ของภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกย่าน จ.รยอง จันทบุรี และตราด  ในภาคเหนือก็พอจะมีเช่นในพื้นที่ของ จ.อุตรดิตถ์  ส่วนในภาคอิสานนั้นไม่มีความรู้ครับ

ผมเคยได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปทำงานในพื้นที่เหล่านั้น แต่ละครั้งเป็นเวลาสั้นๆในช่วงเวลาที่เป็นตะเข็บต่อระหว่างความสงบกับความไม่สงบของแต่ละพื้นที่ ก็เลยได้มีโอกาสเห็นและเดินในพื้นที่บางส่วนของสวนผลไม้เหล่านั้นบ้างเล็กน้อย  น่ากลัวดีครับ เพราะเราเป็นคนต่างถิ่นโดยสิ้นเชิงที่เป็นที่น่าสงสัยของชาวถิ่น ไม่เกิน 5 โมงเย็นก็ควรจะอยู่ในพื้นที่เมืองแล้ว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 736  เมื่อ 10 ส.ค. 20, 19:45

โดยพื้นฐานแล้ว ผลไม้จะแก่จัดและสุกไล่เรียงจากเหนือลงใต้   มะม่วงอกร่องที่ออกมาวางขายในตลาดในช่วงแรกๆเหล่านั้น ส่วนมากจะมาจากแหล่งปลูกในภาคเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบน เท่าที่ได้เห็นด้วยตนเอง แหล่งปลูกมะม่วงอกร่องในพื้นที่ๆกล่าวถึงนั้นอยู่ในย่านพื้นที่ประมาณครึ่งทางระหว่าง จ.กำแพงเพชร กับ ตาก    จะปลูกเหนือขึ้นไปจากนั้นก็ต้องเข้าไปในพื้นที่ๆราบเขาล้อมรอบ เช่น ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ซึ่งก็จะไม่ได้ผลดีนักเพราะในพื้นที่เหล่านั้นมักจะมีพายุลมแรงในช่วงเวลาที่มะม่วงกำลังจะแก่พอดี  (เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่พอจะเล่าสู่กันฟังพอสังเขป)

เฉไฉไปเรื่องมะม่วงอกร่องเพียงเพื่อยกตัวอย่าง     กลับมาเข้าเรื่องต่อ    จ.อุตรดิตถ์ มีพื้นที่ๆเป็นป่าเขา แต่หุบเขาค่อนข้างกว้างและชุ่มชื้น มีน้ำไหลในห้วยต่างๆค่อนข้างดีถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีนัำตลอดทั้งปีก็ตาม  ผมเดินทำงานในพื้นที่นี้เมื่อปี 2512 - 13   ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เห็นความต่างไปมากอย่างมีนัยในเชิงวิกฤติ   ผลไม้ป่าและผลไม้ปลูกในอุตรดิตถ์มีหลายอย่าง แล้วก็ออกดอกออกผลอย่างเป็นไปตามฤดูกาลทางธรรมชาติ ชาวไร่ชาวสวนได้มีการพัฒนาพันธุ์มากมาย จนได้ผลไม้ของดีมีชื่อเป็นที่ต้องการของตลาด (ทุเรียนและลองกอง)  ที่สำคัญก็คือมีผลผลิตออกจำหน่ายก่อนที่อื่นๆเขา จะดีเลิศมากน้อยเพียงใดก็สุดแท้แต่รสนิยม แต่มันเป็นผลิตผลที่ออกมาในช่วงเวลาที่คนกำลังหาผลไม้ที่อร่อยน่ากินหลังจากเว้นระยะหาผลไม้อร่อยๆไม่ได้ไปช่วงเวลาหนึ่ง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 737  เมื่อ 11 ส.ค. 20, 18:12

ต่อเรื่องมะม่วงอีกนิดนึงครับ    มะม่วงอกร่องในปัจจุบันนี้อวบอัดมากจนเกือบจะไม่เห็นร่องน่าอก แถมลูกก็เล็กและหอมน้อยกว่าแต่ก่อนอีกด้วย   อกร่องแบบเดิมๆนั้นหาได้ยากเต็มที จะพอมีอยู่ก็ในพื้นที่สวนเดิมๆ แถว อ.ภาชี จ.อยุธยา น่าจะยังพอหาได้อยู่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 738  เมื่อ 11 ส.ค. 20, 18:58

กลับมาต่อความเรื่องเดิม ครับ

แหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญในปัจจุบันคือในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย     

ทุเรียนหมอนทองที่วางขายอยู่ดาษดื่นนั้น ส่วนมากจะเป็นของในพื้นที่ จ.ระยอง  ทุเรียนจากสวนดั้งเดิมของจันทบุรีก็มี แต่ดูเหมือนว่าจะถูกเหมารวมไปใช้ชื่อว่าเป็นทุเรียนระยอง  จัดเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ เริ่มต้นทำสวนปลูกกันอย่างเอาจริงเอาจังกันมาเมื่อประมาณ 40 ปีนี้เอง  ปัจจุบันได้กลายเป็นการทำสวนทุเรียนในลักษณะการอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกไปแล้ว   

มังคุด แต่เดิมแหล่งผลิตหลักๆอยู่ในพื้นที่ จ.จันทบุรี  แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีปลูกกันในพื้นที่ของ จ.ระยอง  แต่ดูเหมือนว่าจะยังนิยมเรียกว่ามังคุดจันทบุรี   ในปัจจุบันนี้ก็ได้กลายสภาพไปเป็นอุตสาหกรรมไปแล้วเช่นเดียวกับทุเรียน

เงาะก็เช่นกัน เท่าที่เคยได้สัมผัสจากการทำงานและที่เคยรู้  เงาะมีมากในพื้นที่รอยต่อของ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด  แต่เจ้าของพื้นที่ใน จ.ตราด และนักลงทุนต่างไปให้ความสนใจกับเรื่องของการขุดและค้าพลอยมากกว่าเรื่องของสวนผลไม้  เงาะที่ออกมาขายในตลาดก็เลยถูเหมารวมไปใช้ชื่อ 'เงาะจันทบุรี' หรือ 'เงาะสีชมพู' ตามลักษณะทางกายภาพของมัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 739  เมื่อ 11 ส.ค. 20, 19:34

เมื่อผลไม้ของดีของภาคตะวันออกเริ่มซาหรือขาดหายไปเป็นช่วงๆ ก็ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ผลไม้ทางใต้เริ่มแก่ เก็บออกสู่ตลาดได้ ซึ่งก็คือในช่วงเวลาประมาณกลางเดือนของเดือนก่อนหน้านี้

ในช่วงเวลานี้ ทุเรียนบางสะพาน (อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ) ก็มีโผล่มาวางอยู่ในตลาด  ลองหาซื้อมาทานเพื่อเปรียบเทียบกับทุเรียนจากแหล่งผลิตอื่นๆก็น่าจะดีนะครับ  ถามแม่ค้าขายทุเรียนเจ้าที่ไว้ใจได้และดูไม่โกหกว่า เป็นทุเรียนมาจากที่ใหนก็น่าจะพอได้  (ทุเรียนจากอิสาน เช่น จ.ชัยภูมิ ก็มี) ตัวเราเองคงจะแยกแยะแหล่งที่มาจากการดูแต่เพียงรูปทรงของผลไม้ไม่ได้   

การรู้พื้นที่ของแหล่งผลิตหรือจากสวนใดจะทำให้การกินผลไม้มีความรู้สึกที่มีความสุขและสุนทรีย์เพิ่มมากขึ้น ไม่ต่างไปจากการเลือกร้านที่จะไปกินข้าวราดแกงหรือก๋วยเตี๋ยว   ซึ่งมันก็มีเครื่องปรุงและดูหน้าตาเหมือนๆกัน แถมบ้างก็อยู่ข้างถนน บ้างก็อยู่ในร้าน และบ้างก็อยู่ในสถานที่หรูๆ  แต่ด้วยเหตุใดจึงมีความอร่อยและให้ความสุนทรีย์หรือรสแห่งความสดชื่น Umami ที่ต่างกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 740  เมื่อ 12 ส.ค. 20, 18:04

เงาะโรงเรียนของพื้นที่ในย่าน จ.สุราษฎร์ธานี   เป็นเงาะที่มีผลค่อนข้างกลม ผิวและขนค่อนกร้านและแข็ง มีสีออกไปทางสีแดง เนื้อในต่อนข้างหนา แห้ง กรอบ และร่อน   ต่างไปจากเงาะสีชมพูซึ่งจะมีสีออกไปทางสีชมพู ผิวและขนดูนุ่มละมุน เนื้อในค่อนข้างจะนุ่มและชุ่มฉ่ำ เนื้อไม่หนาเท่ากับเงาะโรงเรียน  ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆจนมีความอร่อยไม่น้อยหน้าเงาะโรงเรียนของดั้งเดิม 

ก็สุดแท้แต่ท่านใดจะชอบเงาะสายพันธุ์ใดนะครับ  สำหรับผมนั้นยังคงนิยมเงาะโรงเรียนแบบดั้งเดิมอยู่ ซึ่งจะว่าไปก็มีมาวางขายในตลาดน้อยลง แถมก็ยังมีในช่วงเวลาที่สั้นอีกด้วย   ก็เข้าใจเอาเองว่า ด้วยที่ราคามันดี ก็เลยทำให้มีการขยายพื้นที่การปลูกและการขยายพันธุ์กระจายออกไป ซึ่งมักจะยังผลให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปในเชิงของคุณภาพทั้งในส่วนที่ดีขึ้นหรือลดลง ที่เราใช้คำว่า 'กลายพันธุ์' นั่นเอง  ซึ่งในหลายๆกรณีก็มิใช่ในเรื่องของสายพันธุ์ แต่เป็นเรื่องของคุณสมบัติของดินในพื้นที่ๆทำการเพาะปลูกกัน    คุณภาพของดินในพื้นที่ทำสวนนั้น ในหลายๆกรณีอีกเช่นกันที่ทำให้สวนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ให้ผลไม้ที่มีความอร่อยต่างกัน ก็จึงไม่แปลกนักที่จะมีการพูดถึงความอร่อยของผลไม้เจาะจงลงไปถึงระดับสวนบางสวน หรือกระทั่งบางส่วนของพื้นที่ในสวนเดียวกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 741  เมื่อ 12 ส.ค. 20, 19:23

เพื่อความกระจ่าง ก็จะขอขยายความเล็กน้อยเกี่ยวกับดินในพื้นที่ๆปลูกผลไม้ต่างๆ

พื้นฐาน  ดินเกิดมาจากการแปรเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีของแร่ที่ประกอบเป็นหิน ต่อมาเกิดการผุพังย่อยสลายจนกลายมาเป็นดิน   

ในพื้นที่จันทบุรี-ตราด โดยพื้นฐานแล้ว ต้นทางของดินเหล่านั้นคือหิน Basalt ซึ่งเป็นหินอัคนีประเภทลาวาอย่างหนึ่ง มีองค์ประกอบทางเคมีที่อุดมไปด้วยธาตุแมกนีเซียม เหล็ก โปแตสเซียม และ Trace elements ธาตุหายากบางอย่าง     

ย่าน จ.ระยอง  ต้นทางของดินมาจากหินในกลุ่มที่เรียกว่า Granitoid หรือ Granitic rock ซึ่งอุดมไปด้วยธาตุ โปแตสเซียม แคลเซียม โซเดียม ซิลิกา และ Trace elements พวกทองแดง ตะกั่ว สังกะสี และ Alkali elements อื่นๆ     

ย่าน จ.ชุมพร สุราษฎรธานี ยะลา ปัตตานี ...  ดินมีต้นทางมากจากหินในกลุ่ม Granitic rock ที่มีปริมาณโซเดียมสูง และหินปูน ผสมผสานกับซากพืชซากสัตว์(Humus) ซึ่งมีมากเนื่องจากเป็นพื้นที่มีความชื้นสูง

ก็คงพอจะเห็นภาพของความต่างของดินในพื้นที่ๆมีการปลูกผลไม้ของเราได้บ้าง

แล้วค่อยต่อของย่านอื่นๆบางย่าน ครับ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 742  เมื่อ 13 ส.ค. 20, 17:47

เพิ่มความกระจ่างอีกนิดนึดนึงครับ  เอาแบบรวบรัดง่ายๆเลย คำว่าดินที่เราเรียกและรู้จักกันอยู่นั้น เรานิยมจะจำแนกมันด้วยลักษณะทางกายภาพ เช่น ดินร่วน ดินทราย ดินดำ ดินปนหิน คินแม่น้ำ ดินตะกอน ดินเค็ม .....   เนื้อของดินดังตัวอย่างที่กล่าวถึงเหล่านี้ บ้างก็มองว่ามีองค์ประกอบอยู่ 2 อย่าง คือ มีวัตถุทางอินทรีย์เคมี และ วัตถุทางอนินทรีย์เคมี    บ้างก็มองว่ามีองค๋ประกอบอยู่ 3 อย่างในสัดส่วนมากน้อยที่แตกต่างกันไป คือ ตัวเศษแร่และหินขนาดเล็กมากๆ (inorganic clay sized particles) ตัวแร่ดิน (clay minerals) และเศษซากพืชและซากสัตว์ (organic particles)   หรือบ้างก็พ่วงการมองลึกลงไปในมิติของเรื่องของการกำเนิด ซึ่งก็จะไปเกี่ยวข้องถึงเรื่องของความต่างของดินในเชิงของคุณภาพและการแผ่กระจาย (spatial distribution) ณ บริเวณต่างๆในพื้นที่ผืนเดียวกัน

หากมีโอกาสไปเที่ยวในย่านพื้นที่ๆมีการทำสวน จะนึกสนุกลองสังเกตดูความต่างในเชิงของความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์และผลผลิตต่างๆ ก็น่าจะพอได้เห็นอะไรๆบ้าง

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 743  เมื่อ 13 ส.ค. 20, 19:13

เพิ่มเรื่องราวเกี่ยวกับแร่ดิน (Clay minerals) อีกเล็กน้อย ครับ

แร่ดินพอจะจำแนกออกอย่างง่ายๆได้เป็น 2 กลุ่ม คือ พวกที่พองน้ำได้ กับ พวกที่ไม่พองน้ำ  ทั้งสองพวกนี้อยู่ปนเปกันได้เนื่องจากลอยมากับน้ำจากแหล่งกำเนิดของตน มาตกตะกอนรวมกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน  แร่ดินมีลักษณะเป็นแผ่นประกบกัน ในระหว่างแผ่นจะมีแขนที่สามารถจับธาตุที่มีประจุบวก (ซึ่งล้วนแต่เป็น trace elements ที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต)

ก็น่าจะพอที่จะยังให้เกิดนึกคิดต่อไปในอีกหลายๆมุม อาทิ เรื่องของความอิ่มตัวของดิน(จากปุ๋ย)  การเกษตรอินทรีย์  การปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดิน  การพรวนดิน พลิกดิน ตากดิน การเพิ่มความสมดุลย์ให้กับดิน ...ฯลฯ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 744  เมื่อ 13 ส.ค. 20, 19:31

สังเกตดูก็น่าจะพอเห็นว่า แหล่งปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารและผลไม้คุณภาพดีของไทยเราทั้งหลาย ส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่ๆอยู่หรือเคยได้รับอิทธิพลในระบบสิ่งแวดล้อมที่มีน้ำเค็มเข้ามาเกี่ยวข้อง (coastal environment) 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 745  เมื่อ 14 ส.ค. 20, 19:26

เอาแบบสรุปง่ายๆอีกเช่นเคย     น้ำทะเลเมื่อประมาณ 6000 ปีก่อนมีระดับสูงกว่าในปัจจุบันประมาณ 10+/- เมตร  พื้นที่ราบที่มีส่วนต่อกับทะเลหลายพื้นที่จึงเคยมีธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับระบบของทะเล เช่น น้ำทะเลเคยขึ้นลงท่วมถึง มีการพัดพาเอาตะกอนมาตกหรือพัดพาออกไป   

น้ำทะเลและดินส่วนที่มีความฉ่ำค้างอยู่ เมื่อถูกแดดเผาก็จะทำให้ตัวน้ำ (H2O) ระเหยไป เหลือ/เกิดพวกเกลือของธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม ในรูปของ carbonates   หรือของธาตุ แคลเซียม แมกนีเซียม และโปแตสเซียม ในรูปของ sulfates  และของธาตุโปแตสเซียม และโซเดียม ในรูปของ chlorides  แล้วก็พวกธาตุจำนวนน้อยนิด (trace elemants) แต่มีความสำคัญต่อความเจริญเติบโต ตวามแข็งแรง และความสมบูรณ์ของพืชและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย (อาทิ สังกะสี ทองแดง แมงกานีส โบรอน ฟอสฟอรัส ....)  ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เหมือนกันอีก ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของเกลือ(ต่างๆ)ที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลในย่านนั้นๆ(salinity) ระยะเวลาและ/หรืออัตราการระเหยของน้ำ และลักษณะทางกายภาพของพื้นที่  เกลือที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลและเกิดการตกตะกอนเนื่องจากความเข้มข้นของน้ำทะเลเปลี่ยนไปนี้เรียกว่า Evaporites   ซึ่งสิ่งที่ตกตะกอนค้างอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นก็คือสารประกอบที่เป็นปุ๋ยนั่นเอง 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 746  เมื่อ 14 ส.ค. 20, 19:54

ที่ได้กล่าวถึงอย่างสรุปมานั้น ก็คงพอจะทำให้ได้เห็นภาพของเหตุแห่งความมีชื่อเสียงเลื่องลือของแหล่งผลิดผลไม้ที่มีชื่อของเราหลายๆแหล่งได้บ้างนะครับ    แล้วก็น่าจะพอทำให้นึกออกได้ว่า การผสมผสานการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์อย่างเหมาะสมด้วยความรู้จักพื้นที่และผืนดินของเรานั้นสำคัญเพียงใด 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 747  เมื่อ 15 ส.ค. 20, 19:00

สำหรับในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) จากน้ำของแม่น้ำสายใหญ่ต่างๆที่เอ่อล้นตลิ่งก็เป็นอีกระบบหนึ่ง   ลักษณะของดินของสันคันคลองตามธรรมชาติ (natural levee) จะมีลักษณะเป็นดินทรายละเอียด ยิ่งห่างออกไปทางท้องทุ่ง ระดับของพื้นดินก็จะค่อยๆลดลง ดินก็จะยิ่งมีเนื้อที่ละเอียดมากขึ้น จนถึงบริเวณที่มีระดับต่ำสุดก็จะเป็นดินโคลนหรือเป็นหนองตม  การเลือกปลูกพืชผักผลไม้ที่จะให้ผลผลิตที่ดีก็จึงไปเกี่ยวข้องกับการเลือกบริเวณที่เหมาะสม    บางทีก็นึกเสียดายที่พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมชั้นดีของเราหลายพื้นที่ได้ถูกเอาไปใช้ในกิจการทางอุตสาหกรรมและพัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่หรือเมือง (township)

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 748  เมื่อ 15 ส.ค. 20, 19:51

ไปตลาดในช่วงนี้ได้เห็นลูกพลับของไทยเราจากสวนในภาคเหนือมีมาวางขายด้วย 

แต่ก่อนโน้น เมื่อเก็บลูกพลับได้ก็จะต้องเอามาแช่น้ำปูนใส ทิ้งค้างคืนไว้หนึ่งถึงสองคืนเพื่อขจัดความฝาด   เดี๋ยวนี้ ผู้ขายเขาจะเอาใส่ถุงพลาสติก ใส่แกสคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปแล้วปิดถุง บ่มไว้สามสี่วัน รสฝาดก็จะหายไป จึงเอาออกมาปอกมาทาน   

พอจะรู้ว่า ลูกพลับมีสองสายพันธุ์ คือ พันธุ์ฝาดและพันธุ์หวาน แต่ผมแยกไม่ออก   เคยเห็นและได้ความรู้จากชาวบ้านเมื่อครั้งอยู่ที่ญี่ปุ่นว่า พลับทรงเหลี่ยมเป็นพลับที่เอามากินกัน ส่วนพลับทรงกลมรีนั้น จะเก็บเมื่อแก่จัดแล้วเอามาแขวนตากลมจนแห้งพอสมควร  เอามาบีบให้แบน ตากให้แห้งแล้วเก็บไว้กิน   ก็ดูจะต่างจากพลับแห้งของจีนที่ทำให้แห้งสนิทจนแข็ง     เลยทำให้นึกถึงเต้าทึงที่ใช้ความหวานจากน้ำตาลกรวด 
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 749  เมื่อ 16 ส.ค. 20, 15:55

ไปตลาดในช่วงนี้ได้เห็นลูกพลับของไทยเราจากสวนในภาคเหนือมีมาวางขายด้วย 

แต่ก่อนโน้น เมื่อเก็บลูกพลับได้ก็จะต้องเอามาแช่น้ำปูนใส ทิ้งค้างคืนไว้หนึ่งถึงสองคืนเพื่อขจัดความฝาด   เดี๋ยวนี้ ผู้ขายเขาจะเอาใส่ถุงพลาสติก ใส่แกสคาร์อนไดออกไซด์ลงไปแล้วปิดถุง 
แก้สชนิดเดียวกับที่ออกจากท่อไอเสียรถหรือคะ ตกใจ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 48 49 [50] 51 52 ... 68
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 20 คำสั่ง