เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 50 51 [52] 53 54 ... 68
  พิมพ์  
อ่าน: 77104 ไปตลาด
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 765  เมื่อ 23 ส.ค. 20, 07:11

.
ผมขออนุญาตเพิ่มเติม 'วิทยาศาสตร์การฟังเสียงเคาะผลไม้' จากเฟซบุ๊ค เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว

การดีดฟังเสียงเพื่อเช็คความสุกของผลไม้
https://www.facebook.com/textile.phys.and.chem/posts/2478384768866609/

ซึ่งพอจะสรุปความได้ว่า ยิ่งสุกยิ่งหวาน เสียงก็ยิ่งต่ำ

ส่วนจะสูงจะต่ำแบบไหนอย่างไร คงต้องไปทดลอง ดีดและฟังดูกันด้วยตนเองนะครับ
.
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 766  เมื่อ 23 ส.ค. 20, 08:35

จากเฟซบุ๊ค เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว

การดีดฟังเสียงเพื่อเช็คความสุกของผลไม้
https://www.facebook.com/textile.phys.and.chem/posts/2478384768866609/

ซึ่งพอจะสรุปความได้ว่า ยิ่งสุกยิ่งหวาน เสียงก็ยิ่งต่ำ

ขออนุญาตเก็บความไว้เพื่อความสะดวกในการอ่าน

บ่อยครั้งที่ภูมิปัญญาไทยนั้นมักจะสอน การดีดฟังเสียงของผลไม้ที่มีความสุก แล้วบอกว่าผลไม้ที่สุกแล้วเมื่อดีดจะดังเสียง “ปุ ปุ” แต่ถ้ายังดิบอยู่จะได้ยินเสียง “แป๊ะ แป๊ะ”

แล้วมันเชื่อได้จริงมั้ยนี่?? คำตอบก็คือว่า “เชื่อได้” หากว่าเมื่อผลไม้นั้นสุกแล้วจะมีโพรงอากาศช่องว่างมากขึ้นเมื่อสุก เช่น ทุเรียน แตงโม หรือมีความฟ่ามของเนื้อผลไม้จนกระทั่งการเดินทางของเสียงจากแรงสั่นสะเทือนที่เราดีดลงไปนั้นเปลี่ยนไป

การเดินทางของเสียงผ่านวัสดุที่มีสมบัติวิสโคอิลาสติค (viscoelastic materials) อย่างผลไม้ที่มีความสุกต่าง ๆ กัน หรือวัสดุพอลิเมอร์ ฯลฯ นั้นจะแตกต่างกันไป เมื่อสถานะนั้นเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบางทีเราก็จะเรียกสมบัตินี้ว่า “สมบัติทางเสียงของวัสดุ” (Acoustic properties of materials)

โดยมากวัสดุที่มีโครงสร้างแน่นมักจะให้คลื่นความถี่ที่สูงกว่า (เสียงก็จะสูงคล้าย ๆ กับเสียงตรี เช่น แป๊ะ/ เป๊ะ/ เปรี๊ยะ)

ในขณะที่วัสดุที่มีความโปร่ง หรือโครงสร้างที่มี amorphous ที่อยู่ในสถานะยางนั้น จะมีความถี่ต่ำลง เป็นเสียงเอก เช่น ปุ โผละ หรืออาจจะต่ำลงจนหูเราไม่ได้ยินกันเลยทีเดียว เนื่องจากพลังงานเสียงบางส่วนนั้นจะถูกใช้ไปในการทำให้อากาศขยับตัว หรือหมุนโครงสร้างของพอลิมอร์ เป็นต้น

เทคนิคการฟังเสียงผลไม้สุกนั้นมีงานวิจัยรองรับด้วย อย่าง งานวิจัยการวิเคราะห์เสียงของแตงพันธุ์ Juan Canary melon พบว่าเสียงที่ได้จากการดีดแตงนั้นจะมีค่าในช่วง ๔.๐๐-๔.๔๙ kHz เมื่อเก็บเกี่ยวในวันที่ ๕๕/ ลดลงเหลือ ๒.๓๘-๒.๙๑ kHz ในวันที่ ๖๐/ ลดลงเหลือ ๑.๖๒-๑.๗๘ kHz ในวันที่ ๖๕/ ลดลงเหลือ ๑.๖-๑.๖๒ kHz ในวันที่ ๗๐/ และลดลงเหลือ ๐.๙๔-๑.๐๕ kHz ในวันที่ ๗๕

การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่าค่าบริกซ์ของผลแตงที่ถูกดีดนั้นจะเพิ่มขึ้น เมื่อค่าความถี่ของเสียงลดลงด้วย จึงสรุปได้ว่า ค่าความหวาน (sweetness) และระดับความสุก (stage of rippening) นั้นจะแปรผกผัน กับค่าความถี่ของเสียงด้วย

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการฟังเสียงผลไม้สุกนั้นมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ ถ้าใช้เครื่องมือที่วัดได้อย่างแน่นอน แต่ปัญหาที่ทำให้เชื่อไม่ได้นั้นก็คือ หูเราไม่ดี เท่านั้นแหละ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 767  เมื่อ 23 ส.ค. 20, 19:09

ขอบคุณทั้งสองท่านมากๆครับ 

ผมมัวแต่ไปนึกที่จะอธิบายในเชิงของความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของคลื่นเสียงกับความดิบ กับความสุก กับความฉ่ำ กับความหวาน และกับน้ำหนักของผลไม้  ซึ่งมันมีความเกี่ยวพันและโยงใยถึงกันและกัน (correlatable) ทั้งในเชิงของการช่วยกันส่งเสริม (complementary relationship) และในเชิงผกผัน (reciprocal relationship)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 768  เมื่อ 23 ส.ค. 20, 20:04

สับปะรดเป็นผลไม้ที่เลือกกันด้วยการใช้นิ้วดีด  ในปัจจุบันนี้ดูจะไม่มีการดีดกันแล้ว  แต่ก่อนนี้ ผู้คนจะเลือกกินสับปะรดที่มีเนื้อฉ่ำและหวาน  แล้วก็ยังเลือกด้วยว่าจะต้องเป็น 'สับปะรดศรีราชา' จึงจะเป็นของดีของอร่อยสุดยอด     สับปะรดปราณบุรี ก็เคยมีชื่อเสียง แต่คนไม่นิยมกินกันมากนัก ซึ่งอาจจะเป็นด้วยเหตุว่า เขาปลูกเป็นสับปะรดเพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อนำใปใช้ทำสับปะรดกระป๋อง

ในปัจจุบันนี้ สำหรับคนที่ชอบสับปะรดประเภทเนื้อฉ่ำก็จะไปเลือกกิน 'สับปะรดสวนผึ้ง' ของราชบุรี  ซึ่งยังใช้การดีดเพื่อการคัดเลือกอยู่      หากชอบประเภทเนื้อค่อนข้างแห้งและกรอบ ก็จะเลือกกิน 'สับปะรดภูเก็ต'     แต่หากชอบเนื้อฉ่ำปานกลาง ไม่หวานมากนัก กินได้ทั้งลูก ก็จะเลือก 'สับปะรดภูแล'        แท้จริงแล้วก็มีการปลูกสับปะรดในอีกหลายๆพื้นที่ๆทั่วประเทศและมีเอามาขายกันในตลาด เพียงแต่ทั้งหมดจะมีตลาดที่มีลักษณะจำกัดเป็นพื้นที่ๆไปหรือเป็นย่านๆไป 

เลือกสับปะรดด้วยการดีดก็เพื่อหาลูกที่มีเนื้อในฉ่ำและแน่น  เสียงดีดจะต้อง แปะ    แล้วก็จะต้องดูตาของมันด้วยว่ามันเบ่งบานเต็มที่ ตาค่อนข้างแบน และร่องระหว่างตาจะต้องไม่ลึก  แสดงว่าสับปะรดนั้นแก่ได้ที่  แล้วก็ดูสีของตาจากโคนถึงหัว สีของตาควรจะต้องเป็นสีเขียวอ่อนและค่อนข้างมีสีเสมอกัน  ตาสีเขียวเข้มแสดงถึงว่ามันยังอ่อน  หากตามีสีแสดแซมจะแสดงถึงความแก่จัด หรือเก่าเก็บ หรือใกล้มีกลิ่นโอ่ เหม็นเปรี้ยว   ซึ่งจะต้องพิจารณาร่วมกับความแห้งของขนตาของมันด้วย    ส่วนสำหรับความหวานของมันนั้น ตอบไม่ได้ แม้ว่ามันจะมีองค์ประกอบที่ดีตามนัยที่กล่าวถึงมาก็ตาม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 769  เมื่อ 24 ส.ค. 20, 19:04

จะขอเล่าความเล็กน้อยเกี่ยวกับสับปะรดภูแล

จับมาจากความทรงจำของผมช่วงก่อน พ.ศ.2500 จากการเดินทางขึ้น-ล่องระหว่างเชียรายกับกรุงเทพฯ (สมัยนั้นเรียกกรุงเทพฯว่า 'พระนคร')  ซึ่งจะต้องนั่งรถยนต์มาต่อรถไฟที่ลำปาง (ชื่อเดิมของสถานีลำปางคือ 'เขลางค์นคร')  บนเส้นทางรถยนต์ประมาณ 23 หรือ 27 กม. จะมีด่านตรวจของตำรวจก่อนจะเข้าถึงตัว จ.ลำปาง (โดยเฉพาะเพื่อตรวจการลักลอบขนฝิ่น)  พื้นที่บริเวณด่านนี้เอง จะมีชาวบ้านนำสับปะรดมาวางขายอยู่ข้างทาง  นัยว่าเป็นแหล่งสำคัญที่ปลูกสับปะรดส่งตามจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน   

ต่อมาในช่วงต้นของทศวรรษ 2500 คุณพ่อผมก็ลองปลูกสับปะรดดูบ้างในพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ แถวบ้านเด่นห้า (ปัจจุบันอยู่ในเขตตัวเมืองเชียงราย)  โดยเอาพันธุ์ศรีราชามาปลูก ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นสับปะรดพันธุ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก (ด้วยมีความฉ่ำและความหวานที่ถูกใจผู้บริโภค) ผมมารู้เอาเมื่อใกล้จะจบการเรียนในภาคเตรียมอุดมศึกษาว่า สับปะรดศรีราชา เป็นสายพันธุ์ที่มีชื่อว่า Batavia     ผลผลิตจากสวนของพ่อมีปริมาณมากและถูกใจผู้บริโภคมาก จนทำให้สับปะรดของลำปางไม่สามารถส่งขึ้นมาขายถึงเมืองเชียงรายและเหนือขึ้นไปได้ เข้าใจว่าน่าจะส่งถึงพะเยาได้บางส่วนแต่ในปริมาณไม่มากนัก (ตอนนั้น จ.พะเยา ยังเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของเชียงราย)         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 770  เมื่อ 24 ส.ค. 20, 20:12

แท้จริงแล้ว ชาวบ้านก็มีการปลูกสับปะรดแต่ดังเดิมกันมาเป็นถิ่นๆไป ที่ลำปางก็ในพื้นที่ย่านด่านตำรวจที่ได้กล่าวถึงแล้ว   ที่เชียงรายก็มีในย่านบ้านดู่และบ้านนางแล (คนในพื้นที่จะเรียกชื่อรวมๆว่า บ้านดู่-นางแล)   ชาวบ้านในพื้นที่บ้านนางแลนั้น นิยมปลูกสับปะรดเพื่อส่งขายในตลาดในตัวเมืองเชียงรายและในพื้นที่เหนือขึ้นไป (อ.แม่จัน  อ.แม่สาย  อ.เชียงของ)   

เมื่อสับปะรดจากสวนเด่นห้าขายดี มีลูกใหญ่ มีเนื้อในฉ่ำ และมีรสหวานชื่นใจ  ชาวบ้านย่านบ้านดู่-นางแลก็เลยมาของซื้อหรือบ้างก็ขอปันพันธุ์เอาไปปลูกกัน  ในที่สุดก็มีผลผลิตออกมาขายมากมาย พร้อมๆกับมีเสียงบ่นว่าพันธุ์ไม่ดี ลูกเล็ก ไม่ใหญ่อย่างที่สวนของพ่อ  ผมเข้าใจว่ามันมีการกลายพันธุ์ต่อๆมาจนกระทั่งเป็นอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้

ไม่นานพ่อก็เลิกปลูกสับปะรด (สมัยนั้นเรียกสวน ไม่เรียกว่าไร่สับปะรด) หันไปปลูกมะม่วงอกร่องแทน แล้วก็ลองทำสวนแตงโมในอีกที่หนึ่ง แล้วก็ลองปลูกลิ้นจี่ (มีอยู่สามต้น ถูกขโมยกินหมด ชาวบ้านเรียกว่า 'มะคอแลนหวาน') ทำสวนกุหลาบ ประมาณ 500 ต้น ทำแปลงปลูกสตอเบอรี ประมาณ10 แปลง      ผมก็เลยได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกับของจริงในหลายๆเรื่องเกี่ยวกับเรื่องของพืชไร่พืชสวน

เอาเป็นว่าโดยพื้นฐานแล้ว สับปะรดภูแลน่าจะเป็นสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวียที่กลายพันธุ์ไปเป็นพันธุ์จำเพาะเฉพาะถิ่น เช่นเดียวกันกับสับปะรดภูเก็ต (ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าเขาสื่อสารการซื้อขายกันด้วยใช้ชื่อเรียกว่าสับปะรดปัตตาเวีย) 

ที่เล่ามาก็เพียงเพื่อนำเสนอข้อมูลที่มาจากการได้เข้าไปคลุกคลี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและความเห็นในอีกทางหนึ่งที่อาจจะเป็นประโยชน์อื่นใดในบางเรื่อง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 771  เมื่อ 25 ส.ค. 20, 08:11

สับปะรดภูเก็ต


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 772  เมื่อ 25 ส.ค. 20, 19:22

ขอบคุณอาจารย์สำหรับภาพประกอบครับ 

สับปะรดที่มีวางขายอยู่ในกรุงเทพฯเกือบทั้งหมดจะมาจาก 3 แหล่งผลิต  สับปะรดภูเก็ต มีลักษณะเด่นที่พอจะสังเกตได้คือ เป็นทรงกลมรี ส่วนโคนใหญ่กว่าส่วนหัว    สับปะรดสวนผึ้ง จะมีผลกลมรีเสมอกันทั้งส่วนโคนและส่วนหัว    สับปะรดภูแล จะมีขนาดผลเล็กประมาณกำปั้นมือ     

สำหรับสับปะรดที่ปอกขายกันตามรถเข็นขายผลไม้ ส่วนมากจะเป็นสับปะรดสวนผึ้งกับสับปะรดภูเก็ด (สับปะรดภูแลมักจะปอกวางขายกันตามแผงขายผลไม้ในตลาดต่างๆ) ที่เป็นเช่นนี้ก็ดูจะมีเพียงเหตุผลเดียวคือราคาต้นทุนต่อหน่วยที่ขาย เพราะสับปะรดภูแลมีราคาต้นทุนที่ค่อนข้างสูง   รถเข็นขายผลไม้นั้นค่อนข้างจะมีข้อจำกัดในเรื่องความสมดุลย์ระหว่างราคากับปริมาณของสินค้าที่ผู้ซื้อจะได้รับ ซึ่งเกือบจะทุกรถเข็นจะขายในราคา 10 บาทต่อสินค้า 1 หน่วย   

ด้วยเหตุของข้อจำกัดดังกล่าว เลยทำให้รถเข็นผลไม้ทั่วๆไปเกือบทั้งหมดจะขายผลไม้ค่อนข้างจะเหมือนๆกัน  ก็มีอาทิ สับปะรด มะละกอ ฝรั่ง แตงโม มะม่วงดิบตามฤดูกาล (โดยเฉพาะ แก้วขมิ้น พิมเสน มันเดือนเก้า โชคอนันต์) มีน้อยรายที่ยังขายผลไม้สดแบบรุ่นแต่เก่าก่อน เช่น มันแกว ชมพู่ มะกอกน้ำ ที่เกือบหายไปเลยก็เป็นพวกผลไม้ดอง เช่น มะม่วง มะปราง มะขาม มะยม มะกอก มะดัน   
และที่หายไปเลยก็เช่น อ้อยขวั้น         
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 773  เมื่อ 25 ส.ค. 20, 20:05

แตงโมก็เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่ใช้การเลือกด้วยวิธีการดีด   แตงโมมีหลายสายพันธุ์ อย่างน้อยที่เห็นได้ชัดเจนก็มี เนื้อในสีแดง กับ เนื้อในสีเหลีอง  และมีทั้งพันธุ์ทึ่มีผลทรงกลมและทรงรี    แตงโมนั้นเรากินกันที่ความสมดุลย์ของความฉ่ำ ความหวาน และความหอมของน้ำแตง   ไม่ได้มุ่งเน้นที่ความหวานแบบสุดๆ หรือที่เนื้อแตงต้องมีสีแดงหรือสีเหลืองสุดสดใส   

 ;Dแตงโมที่อร่อยจริงๆนั้นจะมีเรื่องของตัวเนื้อของแตงด้วย คือจะต้องมีลักษณะเป็นเนื้อทรายหยาบที่แห้งแต่ฉ่ำน้ำ มิใช่แบบทรายละเอียดที่อิ่มน้ำ   อีกทั้งเนื้อในส่วนแกนกลางจะต้องไม่ล้ม คือมีความเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เป็นร่องเป็นโพรง   

เลือกยากแล้วก็เรื่องมากอีกด้วยเนาะ ยิงฟันยิ้ม     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 774  เมื่อ 26 ส.ค. 20, 19:36

กว่า 50 ปีก่อนนั้น แตงโมที่มีชื่อเสียง มีชื่อว่า 'แตงโมบางเบิด' มีผลขนาดใหญ่กว่าแตงโมท้องถิ่นที่ชาวบ้านเขาปลูกกัน ชาวบ้านจึงนิยมเอาพันธุ์แตงโมบางเบิดไปปลูกแทนของเดิม   ผมรู้จักชื่อนี้เพราะคุณพ่อของผมก็เอาไปปลูกเช่นกัน  ก็เลยพอจะรู้อะไรเล็กๆน้อยเกี่ยวกับแตงโมบ้าง  จำได้แต่ว่ามันขึ้นในดินทรายได้ดี  มีลูกออกมาขนาดไม่เสมอกัน บ้างก็มีขนาดลูกบาสเกตบอล บ้างก็มีขนาดส้มโอ(ลูกใหญ่ๆ)  ลูกที่ค่อนข้างกลมจะมีความหวานมากกว่าลูกที่มีทรงรี แล้วก็มีเนื้อในไม่ฉ่ำจนแฉะเท่ากับเนื้อของลูกทรงรี   แล้วก็ ลูกที่แก่จัดๆจะมีปานสีน้ำตาลเป็นปื้นขนาดประมาณก้นแก้วน้ำขึ้นไป 

ในปัจจุบันนี้ชื่อ 'แตงโมบางเบิด' น่าจะไม่มีผู้ใดกล่าวถึงอีกแล้ว  พื้นที่ปลูกแตงโมมีกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ซึ่งก็คงมีสายพันธุ์ใหม่ที่เลือกปลูกแตกต่างกันไป    เท่าที่ผมได้สัมผัสมา พื้นที่ปลูกแตงโมมากที่สุดน่าจะอยู่ในละแวกภาคกลางตอนบนย่าน จ.พิจิตร   ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกันที่ชื่อของต้นทางแห่งความดังของแตงโมอยู่ในพื้นที่ภาคใต้(บ.บางเบิด อ.บางสะพานน้อย)ได้หายไป ในทำนองเดียวกันก็ไม่มีชื่อของแหล่งปลูกแตงโมที่มีชื่อเสียงรุ่นใหม่ดังเด่นออกมา     

เอาเป็นว่าเลือกซื้อลูกที่มีทรงค่อนข้างกลม ที่มีปานสีน้ำตาล และลูกที่มีขนาดประมาณลูกฟุตบอล  ก็ไม่น่าจะผิดหวัง 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 775  เมื่อ 26 ส.ค. 20, 20:23

แตงโมบางเบิด


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 776  เมื่อ 26 ส.ค. 20, 21:11

แตงโมบางเบิดเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓  ณ ไร่บางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พร้อมกับศรีภรรยาและลูกน้อยอีก ๒ คน เป็นผู้ก่อสร้างฟาร์มบางเบิด

ฟาร์มบางเบิดได้นำพันธุ์แตงโมจากสหรัฐอเมริกา พันธุ์ Tom Watson และพันธุ์ Klondike มาปลูกจำหน่ายจนมีชื่อเสียงเป็นพันธุ์ที่รู้จักกันดีในนามของ “แตงโมบางเบิด”  ซึ่งได้รับการขนานนามว่าอร่อยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแตงโมที่ผลิตได้จะจำหน่ายในตลาดกรุงเทพฯ และปีนัง โดยการใช้เกวียนหลาย ๆ เล่มขนส่ง แล้วเอาไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟห้วยสัก จนแตงโมบางเบิดเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อและมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ

https://www.bangburdtour.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539884038&Ntype=15



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 777  เมื่อ 26 ส.ค. 20, 21:28

หากจะไปเที่ยวแบบขับรถล่องใต้ ก็อยากจะเสนอว่า ควรจะหาช่วงเวลาแวะเข้าไปนอนที่ อ.บางสะพานน้อย  ซึ่งเป็นพื้นที่ชายทะเลที่เงียบและยังคงมีความเป็นธรรมชาติสูง   พื้นที่นี้อยู่ในย่านที่ท้องทะเลอุดมไปด้วย Plankton  หากไม่มี plankton มากมายขนาดนั้นก็คงจะไม่เห็นฉลามวาฬมาป้วนเปี้ยนอยู่ในท้องทะเลแถวนั้น   กุ้ง หอย ปู ปลา แถวนี้จึงมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง สมบูรณ์    ลองไปแวะพักและลิ้มลองอาหารทะเลจากพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง(และในเขตน้ำขึ้นน้ำลง)ของพื้นที่นี้ แล้วลองเปรียบเทียบกับของพื้นที่อื่นๆดูครับ   อย่าลืมทายากันยุงไว้บ้างก็จะดีสำหรับในช่วงเวลาเปลี่ยนกระแสลมบกกับลมทะเล
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 778  เมื่อ 27 ส.ค. 20, 19:21

เห็นภาพเก่าของแตงโมบางเบิดแล้ว ฉุกให้คิดถึงบางเรื่อง  เรื่องแรกคือ ดูเหมือนว่าการกลายพันธุ์ของมันเกิดขึ้นได้ค่อนข้างง่าย  เรื่องที่สองคือ มันขึ้นได้ดีในดินทรายร่วนที่มีสภาพของความเป็นด่างหรือเป็นกรดไม่มาก ในพื้นที่ๆได้รับแสงแดดดี พื้นที่โปร่งและโล่ง และมีระดับน้ำผิวดินอยู่ไม่ลึก   

กรณีของเรื่องแรก ที่ผมได้เห็นเมื่อช่วงแรกๆของการเดินทางไปทำงานในหลายๆพื้นที่    ที่เรียกว่าแตงโมบางเบิดเหล่านั้น ล้วนแต่มีแต่ลักษณะผลออกไปทางกลมมากกว่าทางทรงรี มีผลขนาดใหญ่มากกว่าแตงโมพื้นบ้านที่มีผลขนาดประมาณผลส้มโอเท่านั้น

กรณีของเรื่องที่สอง แหล่งปลูกแตงโมที่นำมาขายกันตามรถเข็นผลไม้หรือในร้านซุปเปอร์มาเก็ตเหล่านั้น ผมเห็นว่าน่าจะมาจากพื้นที่ในย่าน จ.พิจิตร - พิษณุโลก    หากมีโอกาสเดินทางขึ้นเหนือโดยใช้ทางรถสายนครสวรรค์-พิษณุโลก จะสังเกตเห็นปริมาณกองแตงโมที่นำมาวางตามข้างทางได้  แตงไทยก็มีมากองวางขายอยู่มากมายเช่นกัน    แต่หากใช้ถนนเส้นทาง อ.อินทร์บุรี (จ.สิงห็บุรี)-อ.วังทอง (จ.พิษณุโลก) ก็จะเห็นมันแกววางขายอยู่ในพื้นที่ย่าน อ.ตากฟ้า (จ.นครสวรรค์)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 779  เมื่อ 27 ส.ค. 20, 20:11

พื้นที่ภาคกลางของไทยเราเป็นพื้นที่ๆจัดได้ว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในทุกๆด้าน  เรามีบริเวณบริเวณที่เป็นสันคันคลองธรรมชาติ (natural levee) เหมาะสำหับการสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกไม้ยืนต้น และทำสวน  เรามีบริเวณชื้นแฉะ (swamp) เหมาะสำหรับการทำนาและทำเกษตรกรรมบางอย่าง  เรามีพื้นที่ๆเรียกว่าตะพักลำน้ำ (terrace) ทั้งที่เรียกว่า high terrace และ low terrace มีทั้งที่เป็นดินกรวดทรายหยาบสภาพเป็นดินกรด  มีที่เป็นดินทรายทั้งแบบดินร่วนหรือไม่ร่วนซึ่งมีทั้งสภาพที่เป็นกรดและด่าง เหมาะสำหรับทำไร่และทำสวนที่ต่างกัน   เรามีแอ่งน้ำธรรมชาติ (oxbow lake) เหมาะสำหรับใช้เพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์น้ำ   เรามีพื้นที่ๆมีน้ำใต้ผิวดินที่เป็น brine หรือสารตกค้างจากการตกตะกอนของน้ำทะเล เหมาะสำหรับการปลูกพืชผลไม้บางชนิดให้มีคุณภาพสูงกว่าปกติ

ก็แตกหน่อเรื่องทางวิชาการออกมาเล็กๆน้อยๆมาก่อนที่จะพยายามลงไปผูกกับเรื่องของความหลากหลายของผลไม้และคุณภาพของผลไม้ที่มีชื่อจากแหล่งปลูกที่กระจายอยู่เป็นหย่อมๆทั่วไป

จะรอดหรือไม่ก็ยังไม่รู้เลย  รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 50 51 [52] 53 54 ... 68
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง