เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 19334 ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์ พงศะบุตร
jungo ka
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


 เมื่อ 09 มิ.ย. 19, 14:53

ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์ พงศะบุตร ราชบัณฑิต และอดีดอาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๒

ตอนเด็กๆ สมัยเรียนมัธยมฯ จำได้ว่าหนังสือแบบเรียนสังคมศึกษาเกือบทุกเล่มต้องมีชื่อท่านและ อ.วิลาสวงศ์ ภรรยาของท่าน เป็นผู้แต่ง คนรุ่นอายุ ๔๐ ปีขึ้นไปน่าจะยังพอจำกันได้มั้ยคะ

ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์และผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนบุกเบิกการสอนวิชาภูมิศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมให้เจริญก้าวหน้า โดยได้แต่งและเรียบเรียงตำรา และบทความทางวิชาการเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ออกเผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งสมคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติ และคณะกรรมการชื่อภูมิศาสตร์แห่งชาติ นอกจากนี้ ยังริเริ่มโครงการอบรมมัคคุเทศก์ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในด้านการจัดอบรมมัคคุเทศก์ ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า ๓๐ ปี

เกียรติคุณที่ได้รับ
ได้รับรางวัลในฐานะผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชบัณฑิตภูมิศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานเข็มพระเกี้ยวทองคำ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะนิสิตเก่าดีเด่นของคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๑ และได้รับโล่เกียรติยศนักเรียนเก่าผู้สร้างชื่อแก่โรงเรียนปทุมคงคา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 มิ.ย. 19, 17:25

  ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ เป็นอาจารย์ที่เรียกได้ว่าเสาหลักมั่นคงท่านหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์   นอกจากมั่นคงแล้วยังยืนนานอีกด้วย
  เมื่อดิฉันเข้าเป็นนิสิต  อาจารย์เรียนจบปริญญาเอก สอนอยู่ในคณะแล้ว       สอนภูมิศาสตร์น่าจะในปี 3 และ 4 เป็นหลัก เพราะดิฉันไม่เคยเรียนกับอาจารย์โดยตรง     วิชาภูมิศาสตร์ที่เป็นวิชาบังคับของคณะ ต้องเรียนกันทุกคนในปี 1 และ 2 สอนโดยอาจารย์รัชนีกร บุญหลง   อาจารย์ไพฑูรย์น่าจะสอนนิสิตที่เลือกวิชาเอกในปี 3 และต่อมาจนปี 4
  ในคณะมีอาจารย์ผู้ชายอยู่ไม่กี่คน    พวกเราจึงจำอาจารย์ได้แม่น     อาจารย์เป็นคนใจดี ได้ชื่อว่าเป็นคนมีอัธยาศัยดี เป็นที่รักของนิสิตและเพื่อนร่วมงานของอาจารย์      เมื่ออาจารย์สมรสกับอาจารย์วิลาสวงศ์ซึ่งสอนวิชาประวัติศาสตร์  พวกเราก็ดีใจไปด้วย     ท่านทั้งสองเป็นคนเก่งทั้งคู่ ใจดีและเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพทั้งสองท่าน
  อาจารย์ไพฑูรย์และอาจารย์วิลาสวงศ์ อยู่ในคณะยาวนานมาก   จนลูกสาวดิฉันโต สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ได้ ก็ได้เจออาจารย์ทั้งสองท่าน     จนลูกสาวเรียนจบ ไปเรียนต่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์  ท่านทั้งสองก็ยังอยู่  เป็นร่มไม้ใหญ่ให้ความร่มเย็นแก่ชาวอักษรศาสตร์รุ่นหลัง   เรียกได้ว่าเป็นอาจารย์ของทั้งแม่และลูก
   อาจารย์วิลาสวงศ์จากไปก่อน   พวกเราก็ยังดีใจที่อาจารย์ไพฑูรย์ยังอยู่ เป็นอาจารย์อาวุโสที่เคารพกราบไหว้ของลูกศิษย์หลายสิบรุ่น  
  บัดนี้ท่านจากไปแล้ว    เชื่อว่าท่านไปสู่สุคติและคงได้พบอาจารย์วิลาสวงศ์แล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 มิ.ย. 19, 17:33

   พูดถึงความทรงจำที่มีต่ออาจารย์ ดร.ไพฑูรย์   มีเกร็ดเล็กๆน้อยๆมาเล่า ว่าทำไมจำท่านได้แม่นยำมาก   เหตุผลคือท่านมีบทบาทสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับนิสิตคณะ คือเป็นคนอ่านประกาศในตอนปลายปีการศึกษาว่า ใครสอบผ่าน ใครสอบตก ใครสอบแก้ตัว
  ในยุคนั้น  มีอยู่ 3  รี  ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงที่สุดสำหรับนิสิต คือรีเอ๊กแซม  (สอบแก้ตัว) รีพีท (ตกซ้ำซั้น) และรีไทร์(ตกให้ออก)
  เมื่อถึงวันประกาศผลสอบ    นิสิตแต่ละชั้นจะทยอยกันมาที่ห้องโถงของเทวาลัย หรืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน    ยืนๆนั่งๆเดินๆกระสับกระส่าย รอเวลา   จนได้เวลา อาจารย์ไพฑูรย์ก็จะเดินลงบันไดห้องโถงลงมา พร้อมกับกระดาษขนาด A 4  สามสี่แผ่นในมือ  พวกนิสิตก็จะหยุดเดินหยุดนั่ง ยืนฟังคำประกาศด้วยใจระทึก
   อาจารย์จะเริ่มยกกระดาษขึ้นอ่านรายชื่อนิสิตตามลำดับด้วยเสียงดังฟังชัด  ไม่มีไมโครโฟน   อ่านชื่อตั้งแต่ ก.ไก่ ไปจน อ.อ่าง   ต่อจากชื่อตามด้วยผลสอบ
   เช่น  กนกวรรณ   ผ่าน    ขนิษฐา สอบแก้ตัวภาษาไทย   คเชนทร์  ตกซ้ำชั้น  จารึก ตกให้ออก     
  ทุกคนฟังอย่างเงียบกริบ   ไปจนกระทั่งถึง อ. อ่าง คนสุดท้าย เป็นอันจบ อาจารย์ก็จะเอากระดาษไปติดที่บอร์ด ให้ดูกันอีกที  แล้วเดินออกไปจากห้อง
  จากนั้นความโกลาหลก็จะเกิดขึ้นในห้องโถง     ใครที่รอดตัวก็ร้องไชโยวิ่งหน้าบานลงจากตึก เพื่อจะไปฉลองชัยที่โรงหนังสยาม ลิโดหรือสกาล่าพร้อมกับเพื่อนๆ      ใครที่ต้องสอบแก้ตัวก็เดินหน้าจ๋อย หงอยๆหน่อยกลับบ้านเพื่อเตรียมตัวดูหนังสืออีกครั้ง   
  ส่วนเสียงร้องไห้กระซิกๆ ที่แว่วมาจากมุมนั้นมุมนี้ของห้องโถง คือพวกตกซ้ำซั้น หรือตกให้ออก    อย่างหลังมีน้อยมาก    แต่พวกตกซ้ำชั้นมีให้เห็นกันหลายคน   โดยเฉพาะตอนปี 2 ขึ้นปี 3   จำได้ว่าตกกันมาก เกือบจะ 1ใน 3 ของนิสิตรุ่นนั้น   และที่ตกก็ตกกลุ่มวิชาภาษาไทย คะแนนไม่ถึง 60%  แค่ 59 % ก็ไม่มีการปัดเศษ  ตกไปตามระเบียบ
   
  มาย้อนนึกถึงสมัยนั้น  แปลกใจว่าทำไมพวกเราไม่มีใครเป็นลมหรือหัวใจวายตายไปก่อนถึงชื่อของเรา   เพราะนิสิต 150 กว่าคน   ใครที่ชื่ออยู่หลังๆ  ก็ต้องลุ้นระทึกใจหายใจคว่ำ ว่าจะตก รี  ไหนเข้าบ้างหรือเปล่า 
  ยาวนานหลายสิบนาทีทีเดียวกว่าหัวใจจะกลับมาเต้นเป็นปกติ
บันทึกการเข้า
jungo ka
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 15:25

นึกถึงบรรยากาศแล้วตื่นเต้นตามเลยค่ะ รุ่นหนูเมื่อสามสิบปีก่อนแค่เอาคะแนนมาแปะที่บอร์ดห้องโถง ก็วิ่งกรูกันเข้าไปดูแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาเรียนรวมตอนปี 1 ปี 2 ใครได้คะแนนดีก็จะหน้าบาน คนได้น้อยก็จะนิ่งๆ เงียบๆ แล้วเดินหายไป พวกที่สนิทกันก็มีแซวกันบ้างว่าเจ้าของแลกเชอร์ได้คะแนนน้อยกว่าคนขอยืมไปซีร็อกซ์อีก สงสัยเครื่องซีร็อกซ์เจ๊...จะลงของ บางคนที่แรงๆ ก็มีบ่นว่าเพื่อนคนนี้ คนนั้นคะแนนเยอะได้ยังไง โดดก็บ่อย ไม่เคยได้เข้าเรียนเลย
รุ่นหนูยังได้เรียนกับอ.วิลาสวงศ์ อ.รัชนีกร อ.ศักดิ์ศรี อ.สดใส อ.บุษกร อ.กาญจนา และอีกหลายๆ ท่านค่ะ ยังนึกเสียดายเหมือนกันว่าไม่น่าเกเรเกเรียนเลย ไม่เช่นนั้นคงจะได้ความรู้มาอีกมากมายทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 19:53

มีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับอ.วิลาสวงศ์มาแถมให้คุณ junko ka  ฟังอีกเรื่องค่ะ
อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์    วิชานี้เป็นวิชากว้างขวางปานมหาสมุทร เต็มไปด้วยรายละเอียดประหนึ่งฟองคลื่นอยู่เต็มทุกอณูน้ำทะเล   เป็นวิชาที่ใช้ความเข้าใจเป็นพื้นฐานไม่ได้  พื้นฐานอยู่ที่ความจำ   จำให้ได้ก่อนถึงจะค่อยเขยิบไปถึงขั้นเข้าใจ   แต่ส่วนใหญ่จะตกม้าตายกันเสียก่อนตั้งแต่พื้นฐาน
ดิฉันเรียนกับอาจารย์หลายท่าน รวมทั้งอาจารย์วิลาสวงศ์ด้วย   แต่ไม่ได้เอกประวัติศาสตร์  ไปเอกทางภาษาแทนเพื่อจะไปเรียนต่อได้ง่ายๆหน่อย    ก็เลยลืมประวัติศาสตร์ไปนานหลายทศวรรษ
จนวันหนึ่งลูกสอบเข้าจุฬาได้    ได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์  กลับมาเล่าให้แม่ฟังว่าอาจารย์ที่เข้าสอนเก่งอย่างมหัศจรรย์  เป็นอาจารย์ที่รู้ทุกอย่างเลย  ตอบได้หมด เล่าเรื่องทุกอย่างได้หมด  มีความรู้กว้างขวางอย่างไม่เคยเห็นใครรู้มากเท่านี้
พอบอกชื่อ แม่ก็ร้องอ๋อ ว่า อาจารย์แม่เองแหละ
อาจารย์วิลาสวงศ์เป็นอาจารย์สอนแม่แล้วยังมาสอนลูกอีกด้วย    น่าเสียดายที่ปูชนียบุคคลท่านนี้ล่วงลับไปแล้ว  ไม่น่าจะมีใครแทนได้ ในความรู้ที่สั่งสมกันมานานหลายสิบปีค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 20:05

รุ่นหนูยังได้เรียนกับอ.วิลาสวงศ์ อ.รัชนีกร อ.ศักดิ์ศรี อ.สดใส อ.บุษกร อ.กาญจนา และอีกหลายๆ ท่านค่ะ ยังนึกเสียดายเหมือนกันว่าไม่น่าเกเรเกเรียนเลย ไม่เช่นนั้นคงจะได้ความรู้มาอีกมากมายทีเดียว
ประสบการณ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่คณะอักษรศาสตร์มอบให้ คือวิชาความรู้จากอาจารย์ที่เป็นระดับหัวกะทิของชาติ   ถ่ายทอดให้อย่างดีเยี่ยม เต็มใจและตั้งใจ ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะโกยมาได้มากน้อยแค่ไหน
เสียดายที่ดิฉันไม่ได้เรียนกับอ.ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เพราะช่วงนั้นท่านทำปริญญาเอกทางสันสกฤตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ยังไม่กลับมา     ส่วนอ.บุษกรเป็นรุ่นพี่ คงกำลังทำปริญญาโทอยู่ที่อังกฤษ  แต่ก็โชคดี ได้เรียนกับอ.กาญจนาในวิชาภาษาไทย และอ.สดใส
อาจารย์สดใสสอน Macbeth ของเชคสเปียร์ได้ดีที่สุดเท่าที่เคยพบเห็น     เป็นคนทำให้นิสิตปี 2 ซึ่งไม่น่าจะเข้าถึงวรรณคดีอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 16 ได้ กลับเข้าถึงได้ภายในเทอมเดียว   ไม่ตกม้าตายอย่างที่ควรจะเป็น ท่านอธิบายตีความได้ละเอียดยิบทุกถ้อยคำ   เข้าใจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง ราวกับว่าอาจารย์เคยนั่งยานเวลาย้อนอดีตไปอยู่ใกล้ๆเชคสเปียร์ตอนแกเขียนบทละครพวกนี้ออกมา
พื้นฐานที่อาจารย์ปูให้ทำให้ดิฉันรอดตัวมาได้เมื่อเรียนเรื่องอื่นๆ เพราะถ้าไม่กลัวภาษาของเชคสเปียร์เสียอย่าง ก็ไม่มีเรื่องไหนในวรรณคดีอังกฤษที่น่ากลัวอีกแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 20:22

แค่อ่านยังรู้สึกสนุกไปด้วยเลยครับ โดยเฉพาะตอนประกาศผลสอบด้วยตัวเอง นักเรียนท้ายห้องอย่างผมคงได้ลุ้นหัวใจวายแน่  ขยิบตา

บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 20:52

ผมรู้จักชื่ออาจารย์ไพฑูรย์ และอาจารย์วิลาสวงศ์ จากรายการการบินไทยไขจักรวาล ซึ่งเป็นรายการตอบปัญหาที่ดำเนินรายการโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และพลตรีถาวร ช่วยประสิทธิ์ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 21:35

อาจารย์น่าจะเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้รายการนี้มั้งคะ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 มิ.ย. 19, 10:03

อาจารย์น่าจะเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้รายการนี้มั้งคะ

อาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน เป็นผู้ตั้งคำถามในหมวดภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง