เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 6506 หลักฐานพม่า"พลิกความเข้าใจในสงครามยุทธหัตถี"
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 11 มิ.ย. 19, 10:01

ผมลองค้นวิกิ Jingal แปลว่า Wall Gun ด้วยซ้ำครับ

ผมอุปมาไปเองอีกแล้วว่า แม้ไม่ตีความอย่างซื่อๆ ว่า ปืนวางบนกำแพงเมืองอยุธยา แต่ก็ต้องเป็นปืนที่มีแท่นยิง อาจเป็นหลังช้าง หรือแท่นยิงที่อยู่บนพื้นแต่สามารถเคลื่อนย้ายได้ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนในเรื่องเล่าฝ่ายพม่าคือ กองทัพพม่าตั้งแนวเตรียมรบโดยให้ พระมหาอุปราชาซึ่งเป็นจอมทัพ อยู่ในระยะที่ปืนอยุธยายิงถึง ซึ่งผมไม่เชื่อว่า กองทัพที่ทรงประสิทธิภาพอาจจะที่สุดในภูมิภาคในยุคนั้น จะประมาทถึงขนาดนั้น ต่อให้ไม่กลัวปืนเล็ก ก็ยังควรต้องกังวลต่อระยะยิงของปืนใหญ่ ทั้งจากปืนใหญ่สนามที่ฝ่ายอยุธยาอาจนำมาตั้งยิง หรือปืนประจำป้อมกำแพงเมือง ดังนั้น ระยะที่ผมว่าไว้เมื่อวานว่า ทั้งสองฝ่ายอาจตั้งทัพห่างกันครึ่งกิโลเมตร เอาเข้าจริงๆ ยังว่าน้อยไปด้วยซ้ำครับ

จุดที่สองก็คือเรื่องการออกคำสั่งยิงปืนนี่แหละครับ ปืนสมัยนั้น กระสุนเป็นทรงกลม ลำกล้องเกลี้ยง เมื่อยิงออกไปแล้ว แทบจะเรียกได้ว่า วัดดวงอย่างเดียว (ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำไมทหารยุคปืนคาบศิลาต้องตั้งแถวยิงพร้อมกัน) ฉะนั้น เมื่อช้างทรงของพระมหากษัตริย์ฝ่ายเรา ออกขวางทางปืนอยู่ คนที่ออกคำสั่งให้หน่วยปืนทำการระดมยิงนี่ ถ้าไม่ใช่การยิงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการยิงเองโดยพลการ ไม่โดนข้อหากบฐ ก็แปลกแล้วแหละครับ

จุดที่สาม หากทหารแม่นปืนไทย ทำการยิงปืนออกไปจริงๆ ก็จะเกิดประเด็นว่า การยิงครั้งนี้ การยิงเป็นการเล็งเป้าหมายแบบเจาะจงหรือไม่เจาะจง ถ้าเป็นการยิงแบบเจาะจง หมายความว่า ปืนทุกกระบอกเล็งเป้าไปที่พระมหาอุปราชาทั้งหมด เช่นนี้ การที่กลางช้าง (แม้จะตีความว่าช้างรบไม่ผูกกูบกลางตัวช้างก็เถอะครับ คนนั่งกลางหลังช้างก็อยู่สูงกว่าคนที่นั่งที่คอช้างอยู่ดี) กลับไม่โดนกระสุนจากการระดมยิงนั้นด้วย และการที่กระสุนเข้าเป้านัดเดียว โดนจุดตายเลยก็น่าสงสัยมากครับ แต่ถ้าการยิงเป็นการยิงแบบไม่เจาะจง (ทหารทุกคนยิงตรงไปข้างหน้า) นายทัพคนอื่นที่ยืนช้างอยู่ใกล้กัน (ต้องใกล้มากๆเชียวละครับ เพราะขนาดเจ้าเมืองจาปะโรที่ยืนช้างอยู่ห่างออกไป ทันทีที่เปิดผ้าคลุมหน้าช้าง ช้างยังเสียบช้างทรงจอมทัพได้แทบจะทันที ดังนั้น คนที่ได้รับการบันทุกไว้ว่า อยู่ข้างๆ ก็ต้องอยู่ใกล้กว่าเจ้าเมืองจาปะโรแน่นอน) กลับไม่มีใครโดนกระสุนปืนเลย อย่าว่าแต่คนเลยครับ ช้างยังไม่โดนกระสุนเลย (เพราะถ้าช้างของสองแม่ทัพบาดเจ็บจากกระสุน คงไม่สามารถใช้ออกตีรุกไล่ทัพพระนเรศวนถึงขนาดถอยร่นกลับเมืองได้) ก็ฟังดูแปลกอีกแหละครับ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 11 มิ.ย. 19, 10:31

สำหรับเรื่องการรบบนหลังช้าง ผมก็เดาอีกแหละครับว่า ในภูมิภาคอุษาคเนย์ หรือแม้แต่ในเอเซียกลาง ที่มีการนำช้างมารบกัน โอกาสที่ทหารช้าง ต่อทหารช้างมาปะทะกันก็ย่อมมี ผมจำได้ว่า ในมหาภารตะ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะทำสงครามกันที่ทุ่งกุรุเกษตร มีการทำสัญญาก่อนรบกันหลายข้อ เช่น จะไม่รบกันตอนหลังพระอาทิตย์ตกดิน จะไม่ทำอันตรายทหารที่ไม่มีอาวุธในมือ ฯลฯ และมีข้อหนึ่งคือ ทหารราบต้องรบกับทหารราบ ทหารบนหลังม้าต้องรบกับทหารบนหลังม้า ทหารรบรถต้องรบกับทหารบนรถ ทหารบนหลังช้างต้องรบกับทหารบนหลังช้างเท่านั้น (ฝ่ายปาณฑพ ทำผิดกติกาก่อนแทบจะทุกข้อ อิอิ)

อันนี้แสดงให้เห็นว่า ทหารช้างรบทหารช้าง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปครับ ทีนี้ เมื่อการรบบนหลังช้างเกิดขึ้นได้ทั่วไป แล้วทำไมยุทธหัตถีถึงนับเป็นเกียรติยศ ถึงขนาดที่ว่า แม้แพ้ก็ยังได้รับการยกย่อง แสดงว่า ยุทธหัตถี ไม่ใช่การรบกันของพลช้างทั่วไปครับ จึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยว่า ยุทธหัตถี เป็นการดวลกันตัวต่อตัว โดยมีเกียติยศเป็นเดิมพันครับ ในบ้านเราเองก่อนเกิดเหตุยุทธหัตถี พระมหาจักรพรรดิ์ก็ยังทรงปะทะกับพระเจ้าแปรบนหลังช้างคราวศึกพระสุริโยทัยขาดคอช้างอยู่เลย เช่นนี้แล้วเหตุใดพระมหาจักรพรรดิ์ หรือพระเจ้าแปรจึงไม่ได้รับการยกย่อง ผมเชื่อว่า เพราะนั่นเป็นการรบกันตามปกติครับ ไม่ใช่การประลองเชิงเกียรติยศ อย่างคราวพระนเรศวรนี้ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 11 มิ.ย. 19, 12:10

พยายามวาดภาพการจัดกระบวนทัพในสมัยนั้นค่ะ
เคยดูหนังฝรั่ง ที่มีทหารปืนไฟ   พวกนี้เดินเรียงกันเป็นหน้ากระดาน  นำหน้าทัพ ไม่ได้อยู่รั้งท้ายหรือตรงกลาง   เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายมาประจันหน้าในระยะพอยิงกันถึง  ก็สาดกระสุนเข้าใส่กัน
คนไหนโดนกระสุนก็ล้มลง พวกที่ไม่โดนก็เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ  จนถึงตัวก็เข้าตะลุมบอนกัน
ในเมื่อกระสุนในปืนแต่ละกระบอกยิงได้ทีละนัดเดียว   เมื่อยิงออกไปแล้ว ปืนก็กลายเป็นดุ้นฟืน เอาไว้ตีกันตอนเข้าประชิดตัว   

ทัพไทยกับพม่ามีปืนไฟกันทั้งสองฝ่าย     ถ้าเอาแถวทหารปืนไฟไว้ข้างหลังขบวนช้าง  เอาช้างนำหน้า  ตอนยิงเข้าใส่กันก็น่าหวาดเสียวว่าช้างจะโดนลูกหลงเข้าด้วย     ก็ไม่น่าจะจัดทัพในรูปแบบนี้
ถ้าเอาไว้ข้างหน้า ก็น่าจะเหมาะกว่า    คือเอาอาวุธระยะไกลทำลายกำลังข้าศึกเสียก่อนส่วนหนึ่ง  กำลังที่เหลือเอาไว้รบกันตัวต่อตัว
ถ้ามีการยิงเกิดขึ้นจริงๆในแบบนี้  พระมหาอุปราชาก็จะสิ้นพระชนม์เสียก่อนช้างพระนเรศวรจะลุยมาถึงแถวพม่าด้วยซ้ำ

ถ้าสมเด็จพระนเรศวรดูออกว่าอีกฝ่ายพับคาคอช้างไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไสช้างลุยเข้าไปอีก    แต่ถ้าท่านดูไม่ออก    ท่านก็ต้องไสช้างลุยเข้าไปจนถึงตัว  อีกฝ่ายหนีก็ต้องไล่   ท่านไม่น่าจะหยุดชะงักครึ่งๆกลางๆ

เหตุการณ์ที่พงศาวดารพม่าบันทึกไว้นี้  เหมือนจะบอกว่า พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์เพราะเหตุบังเอิญ กระสุนปืนจากฝ่ายไทยยิงมาโดนเข้าต่างหาก     จึงไม่ทันเกิดยุทธหัตถีแสดงฝีมืออะไรกันทั้งนั้น 
ส่วนพระนเรศวรก็ไม่ได้ทรงเก่งอย่างที่ฝ่ายไทยเชื่อกัน     เพราะถูกทางฝ่ายพม่าสะกัดเข้าก็ถอยกลับเมืองเอาง่ายๆ  ไม่ทันได้รบกันบนหลังช้างสักยกเดียวด้วยซ้ำ
 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 11 มิ.ย. 19, 14:49

การจัดกระบวนทัพของพม่ารูปแบบต่าง ๆ

ภาพจาก หนังสือกระบวนพยุหยาตรา ประวัติและพระราชพิธี พ.ศ. ๒๕๑๓


วิชะกะพยุหะ ตั้งทัพเป็นริ้วขบวนรูปก้ามแมงป่อง


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 11 มิ.ย. 19, 14:52

ปาทังคะพยุหะ  ตั้งทัพเป็นริ้วขบวนรูปเท้ากา


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 11 มิ.ย. 19, 14:54

อุศพะพยุหะ  ตั้งทัพเป็นริ้วขบวนรูปโคอุศุภราช


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 11 มิ.ย. 19, 14:56

มะการะพยุหะ  ตั้งทัพเป็นริ้วขบวนรูปมังกร


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 11 มิ.ย. 19, 14:59

ธนุกะพยุหะ  ตั้งทัพเป็นริ้วขบวนรูปคันธนู


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 11 มิ.ย. 19, 16:29


ศักราช ๙๕๔ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๓๕)

วัน ๖ ๒ ๑๒ คํ่า อุปราชายกมาแต่หงสา
ณ วัน ๗ ๑ ๑ คํ่า เพดานช้างต้นพระยาไชยานุภาพตกออกมาใหญ่ประมาณ ๕ องคุลี
ครั้นเถิงเดือนยี่มหาอุปราชายกมาเถิงแดนเมืองสุพรรณบุรี แต่ตั้งทัพตำบลพังตรุ
วัน ๑ ๙ ๒ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๒ บาท เสด็จพยุหบาตราโดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลม่วงหวาน
แลณวัน ๔ ๑๒ ๒ คํ่า เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหบาตราโดยสถลมารค
อนึ่งเมื่อใกล้รุ่งขึ้นวัน ๑๒ คํ่านั้น เห็นพระสารีริกธาตุปาฏิหาริย์ไปโดยทางซึ่งจะเสด็จนั้น
เถิงวัน ๒ ๒ ๒ คํ่า เพลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพ เสด็จออกรบมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย
ครั้งนั้นมิได้ตามฤกษ์แลฝ่าย (ฝ่า) ฤกษ์หน่อยหนึ่ง
แลเมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายน์บพิตรเป็นเจ้า ต้องปืนณพระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง

อนึ่งเมื่อมหาอุปราชาขี่ข้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกลงเถิงดิน แลเอาคืนขึ้นใส่เล่า
ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น แลช้างต้นพระยาไชยานุภาพ ซึ่งทรงแลได้ชนด้วยมหาอุปราชาแลมีไชยชำนะนั้น
พระราชทานให้ชื่อเจ้าพระยาปราบหงสา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 11 มิ.ย. 19, 17:11

พงศาวดารพม่าบอกว่าพระมหาอุปราชาต้องปืนจากทางฝ่ายไทย
พงศาวดารไทยบอกว่าสมเด็จพระนเรศวรต้องปินจากทางฝ่ายพม่า
แต่ทางฝ่ายพม่า ถึงตาย  ทางฝ่ายไทยเพียงบาดเจ็บเล็กน้อย 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 12 มิ.ย. 19, 10:27

หลักฐานจากพม่าอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

จากหนังสือมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า นายต่อแปล พิมพ์ครั้งแรก เมษายน ๒๕๔๕ หน้า ๑๗๒-๑๗๕


https://books.google.co.th/books?id=51tjDwAAQBAJ&printsec=frontcover&hl=th&source=gbs_ge_summary_r&cad=0#v=onepage&q&f=false

(พระเจ้าหงษาวดี) ทรงจัดให้พระมหาอุปราชพระราชโอรสเปนแม่ทัพ ทรงตรัสให้สะโตธรรมราชาพระราชโอรสองค์เล็กเปนปลัดทัพ ทรงตรัสให้นัดชินหน่องเปนยกกระบัตร์ทัพ รวมทั้งสิ้น ๒๖ ทัพ ๆ นี้ช้างรบ ๑๕๐๐ ม้า ๒๐๐๐๐ พลทหาร ๒๔๐๐๐ มีรับสั่งให้ยกจากกรุงหงษาวดีไปตีกรุงศรีอยุทธยาใน ณ วัน ๔ ๑๒ฯ ๑  จุลศักราช ๙๕๕ ครั้นเดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ มหาอุปราชก็เสด็จถึงกรุงศรีอยุทธยา

ในขณะนั้นมหาอุปราชทรงช้างชื่อภูมิจุน ปีกขวานั้นรับสั่งให้สะโตธรรมราชาพระอนุชาคุมพลทหารคอยตั้งรบ ปีกซ้ายนั้นรับสั่งให้นัดชินหน่องคุมพลลทหารคอยตั้งรบ แล้วรับสั่งให้เจ้าเมืองชามะโยขี่ข้างชื่อป๊อกจ่อไชยะ ๆ นี้กำลังตกน้ำมัน ๆ โทรมหน้าถึงกับต้องเอาผ้าปิดหน้าไว้ แล้วพระองค์ก็รับสั่งให้คอยอยู่ข้างซ้ายช้างพระที่นั่งของพระองค์

ฝ่ายพระนเรศก็ขี่ช้างชื่อพระละภูมิออกมาพร้อมกับพลทหาร ครั้นยกมาใกล้พระนเรศเห็นพระมหาอุปราชทรงช้างยืนคอยอยู่ พระนเรศก็ขับช้างตรงเข้าไปจะไปชนช้างกับมหาอุปราช เวลานั้นเจ้าเมืองชามะโยเห็นพระนเรศตรงเข้ามาดังนั้น ชามะโยก็ขับช้างที่ตกน้ำมันนั้นจะออกรบ พอเปิดผ้าที่ปิดหน้าช้างไว้แล้วไสช้างนั้นเข้าชนกับช้างพระนเรศ ช้างนั้นหาชนช้างพระนเรศไม่ กลับมาชนช้างทรงของมหาอุปราชเข้า มหาอุปราชก็ไม่เปนอันที่จะรบกับพระนเรศ มัววุ่นอยู่กับช้างที่ตกน้ำมันนั้นเปนช้างนาน เวลานั้นพลทหารของพระนเรศก็เอาปืนใหญ่ยิงระดมเข้ามา ลูกกระสุนก็ไปต้องมหาอุปราช ๆ ก็สิ้นพระชนม์ที่คอช้างพระที่นั่งนั้น ในเวลานั้นตุลิพะละพันท้ายช้างเห็นว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ก็ค่อยประคองพระมหาอุปราชพิงไว้กับอานช้างเพื่อมิให้พระนเรศรู้แล้วถอยออกไป ขณะนั้นพระนเรศก็ไม่รู้ว่ามหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ พระนเรศจึงไม่อาจจะตามรบ

ในเวลานั้นนัดชินหน่องซึ่งเปนพระราชอนุชาของมหาอุปราชปีกซ้ายทรงช้างชื่ออุโปสถาเข้าชนกับช้างพระนเรศ ๆ ทนกำลังมิได้ก็ถอย

ขณะนั้นสะโตธรรมราชาพระอนุชาปีกขวาแลเจ้าเชียงใหม่พระอนุชาของมหาอุปราชก็ช่วยกันตีทัพพระนเรศ เวลานั้นนายทัพนายกองหงษาวดีเห็นดังนั้นต่างคนต่างก็ช่วยกันตีเข้าไปมิได้คิดแก่ชีวิตร์ กองทัพพระนเรศก็แตกถอยไป พวกกองทัพหงษาวดีก็ตามตีเข้าไปถึงคูเมือง พระนเรศก็หนีเข้าเมืองไปได้แล้วก็ตั้งมั่นในเมือง ในเวลาที่รบกันนั้นพลทหารพระนเรศจับตัวนายทหารหงษาวดีไว้ได้ คือ เจ้าเมืองถงโบ่นายทหารปีกซ้ายหนึ่ง ๑ กับเจ้าเมืองวังยอ นายทหาร ๒ คนนี้ เพราะตามเลยเข้าไปเขาจึงจับไว้ได้

แล้วฝ่ายนายทหารนัดชินหน่องก็จับอำมาตย์ของอยุทธยาไว้ได้คือ พระยาพาต ๑ พระยาจักร์ ๑

ครั้นแล้วพระอนุชา ๓ พระองค์จึงทรงทราบว่าพระมหาอุปราชพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ พระอนุชา ๓ พระองค์ก็มีรับสั่งให้ถอยกองทัพไปจากค่ายเก่าประมาณทาง ๑๐๐ เส้น แล้วตั้งค่ายลง ณ ที่ตำบลนั้น แล้วพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเปนพระอนุชาและพระอนุชา ๒ พระองค์นั้นได้มีรับสั่งให้ขุนนางข้าราชการนายทัพนายกองเข้าเฝ้าแล้ว ทรงตรัสว่าจะเอาศพของพระมหาอุปราชทำเมรุ ณ ตำบลนี้หรือ ๆ จะเอาพระศพไปยังกรุงหงษาวดี ใครเห็นควรอย่างใดบ้าง

เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่มีรับสั่งดังนั้นสะโตธรรมราชาซึ่งเปนพระอนุชาทูลว่า บัดนี้พระเชษฐาธิราชก็สิ้นพระชนม์แล้วเสียแล้ว

เพราะฉะนั้นเราจะทำยุทธนากับพระนเรศเจ้าอยุทธยาต่อไปนั้นเห็นว่าไม่ควร ประการหนึ่งซึ่งจะทำพระเมรุ ณ ที่ตำบลนี้ก็จะกระไรอยู่ แลเห็นว่าพระราชบิดาก็จะมีความน้อยพระไทยทรงติเตียนได้

โดยเหตุนี้ขอเอาพระศพของพระเชษฐากลับไปกรุงหงษาวดีก่อนจึงจะควร อนึ่งในเวลานี้ฝ่ายเรายังมีไชยชะนะอยู่บ้าง ต่อเมื่อสิ้นฤดูฝนจึงยกมาทำยุทธนาการกับพระนเรศพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาอิกก็จะมีไชยชะนะเปนแน่

เมื่อสะโตธรรมราชาทูลดังนั้น พระเจ้าเชียงใหม่แลพระเจ้าตองงูและขุนนางข้าราชการนายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นชอบพร้อมกัน

ครั้นแล้วเอาพระศพมหาอุปราชนั้นใส่ในพระโกษทำด้วยไม้มะม่วงแล้วเอาปรอทกลอกเสร็จแล้วก็เชิญพระศพมหาอุปราชแลยกกองทัพกลับกรุงหงษาวดี

ครั้นใกล้จะถึงกรุงหงษาวดี พระเจ้ากรุงหงษาวดีก็ทรงทราบว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ พระองค์ก็ทรงเสด็จยกกองทัพออกมารับพระศพมหาอุปราชพร้อมกับพระอรรคมเหษี แล้วพระองค์ได้ทำเมรุใหญ่เปนที่สนุกสนาน แลพระองค์ทรงบำเพ็ญทานพระราชกุศลด้วยพระราชทรัพย์เปนอันมาก ในขณะนั้นพระองค์ทรงพระโทมนัศโศรกเศร้าเปนอันมาก


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 12 มิ.ย. 19, 11:01

ผมมีประเด็นเพิ่มครับ

หลังการปะทะกันในวันนั้น พระนเรศวรทรงทราบหรือไม่ว่า พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ไปแล้ว
หากพิจารณาตามหลักฐานฝ่ายไทย พระนเรศวรย่อมทรงทราบดี เพราะได้ประลองฝีมือแบบไว้เกียรติยศเห็นผลแพ้ชนะกันไป ดังนั้นเมื่อชนะแล้ว จึงเปิดโอกาสให้ฝ่ายพม่าเตรียมการพระศพ แล้วถอนทัพกลับไปได้แต่โดยดี

แต่ถ้าพิจารณาจากหลักฐานฝ่ายพม่า
อาจมองได้สองทางคือ ทรงทราบ หรืออาจจะไม่ทรงทราบ
ถ้าทรงทราบ เนื่องจากการรบครั้งนี้ ไม่ใช่การดวลแบบไว้เกียรติยศ เมื่อทรงทราบว่าจอมทัพของอีกฝ่ายหนึ่งตายคาสนามรบดั่งนี้แล้ว โดยปกติพระนเรศวรน่าจะทรงหาทางเข้าโจมตีทัพพม่าที่กำลังเสียขวัญอยู่ แต่
"ครั้นแล้วเอาพระศพมหาอุปราชนั้นใส่ในพระโกษทำด้วยไม้มะม่วงแล้วเอาปรอทกลอกเสร็จแล้วก็เชิญพระศพมหาอุปราชแลยกกองทัพกลับกรุงหงษาวดี..."
ไม่ทรงทำอะไรเลย จนฝ่ายพม่ามีเวลาหาไม้มะม่วงมาต่อพระโกศเสร็จได้เชียวแหละ (ต่อให้เป็นโกศลำลอง ไม่ได้ประดับประดาอะไรมากมายก็เถอะครับ)

ทางที่สอง ไม่ทรงทราบ เพราะวันนั้นชุลมุนเกินไปจนไม่ทันได้ทรงทอดพระเนตรดูให้ชัดเจนว่าพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์แล้วหรือไม่ ถ้าคิดดั่งนี้ ก็จะมีคำถามต่อไปว่า แล้วฝ่ายพม่าทราบหรือไม่ว่า พระนเรศวรยังไม่ทรงทราบ แต่ไม่ว่าฝ่ายพม่าจะคาดการณ์อย่างไร ผมเชื่อว่า โดยสามัญสำนึก ไม่มีแม่ทัพที่ไหนจะประกาศจุดอ่อนของฝ่ายตนให้ฝ่ายตรงข้ามรับรู้หรือจับไต๋ได้อย่างแน่นอน ถ้าไม่แน่ใจว่า ฝ่ายไทยรู้หรือไม่รู้ แม่ทัพพม่าจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ไทยยังไม่รู้ และจะไม่กระทำการใดๆ ให้ฝ่ายไทยรู้เป็นอันขาด ดังนั้น การที่
"แล้วพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเปนพระอนุชาและพระอนุชา ๒ พระองค์นั้นได้มีรับสั่งให้ขุนนางข้าราชการนายทัพนายกองเข้าเฝ้าแล้ว ทรงตรัสว่าจะเอาศพของพระมหาอุปราชทำเมรุ ณ ตำบลนี้หรือ ๆ จะเอาพระศพไปยังกรุงหงษาวดี ..."
ขืนทำเมรุ ณ ตรงนั้น ก็เท่ากับบอกให้ฝ่ายอโยธยารู้ชัดๆ เลยสิครับว่า จอมทัพฝ่ายตนสิ้นแล้ว เอาจริงดิครับ    

บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 25 มิ.ย. 19, 14:50

ทั้งสองฝ่ายต่างมีแรงจูงใจที่จะเล่าเรื่องเพื่อรักษาพระเกียรติยศของผู้นำฝ่ายตนเอง

ไม่แน่ใจว่าหมอแกมเฟอร์(จากอีกกระทู้นึง)ได้เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 09 ก.ค. 19, 22:45

ไปค้นเพิ่มจากที่คุณ Srimalai เข้ามาตอบ   ได้ความว่าวิกิแปลปืนคาบศิลาว่า musket  ไม่ใช่  Jingal  แต่เดาว่าน่าจะคล้ายกัน  
ไปเจอภาพท่านมุ้ย มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ถือปืนจำลองจากพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง    jingal  น่าจะเป็นแบบนี้ใช่ไหมคะ

ปืนผิดยุคมหาศาลครับ ในยุคนั้น มีแต่ปืนคาบชุด (Matchlock) เท่านั้น ปืนคาบศิลา (FlintLock) มามีเอาปลายยุคอยุธยาแล้ว

บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 09 ก.ค. 19, 22:50




 ตัวอย่างการแสดงระลึกครบรอบที่สมรภูมิทุ่งคาวานากะจิมะ เป็นศึกระหว่างตระกูลทะเคะดะ กับ อุเอะสึหงิ


ปืนแบบนี้พวกโปรตุเกสเอามาเผยแผ่ในเอเชีย ที่ญี่ปุ่น โนบุนางะ ถึงกับทำขึ้นมาใช้เอง และก็กลายเป็นอาวุธเด็ดในการปราบกองทัพตระกูลทาเคดะ อันขึ้นชื่อเรื่องทหารม้าที่สมรภูมินางาชิโนะ

และถ้าเราดูในรายพระนามของพระแสงต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีสำคัญ ไม่ว่าจะพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ล้วนแล้วแต่เอ่ยพระนามพระแสงปืนองค์นี้ว่า  "พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง"

ไม่ได้เอ่ยพระนามว่า พระแสงปืนคาบศิลา เลยสักครั้งครับ  

ปืนในยุคนี้ ไม่มีการตีเกลียวลำกล้อง ระยะหวังผลจึงมีเพียงแค่ไม่เกิน ๓๐ เมตรเท่านั้น และความแม่นยำจะลดลงเหลือแค่ครึ่งเดียวหลังจากผ่านระยะ ๑๐๐ เมตรไปแล้ว


ถ้าดูหนังเรื่องนี้


จะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า  ในยุคนั้นทำไมกองทหารปืนจากยุโรปต้องตั้งแถวยืนยิงแลกกัน เพราะว่าความไม่แม่นยำของปืนนี่เองครับ ในหนังก็จะเห็นได้ว่า เมื่อยืนเรียงหน้ากระดาน บางคนโดนลูกปืน บางคนไม่โดน  


อีกอย่างที่อยากจะบอกก็คือ ในสมัยยุทธหัตถีนั้น ยังไม่มีกระสุนลูกแตกครับ เป็นแต่กระสุนปืนลูกโดด เพราะฉะนั้นที่เห็นกันจากบางสื่อว่ายิงกันแล้วไฟลุก ระเบิดกันตูมตาม ถ้าจะเอาตามหนังก็คงสนุก แต่ถ้าเอาตามประวัติศาสตร์นี่ก็ไปไกลเกินความจริงมหาศาลเช่นกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง