เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 6516 หลักฐานพม่า"พลิกความเข้าใจในสงครามยุทธหัตถี"
puen032
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 09 มิ.ย. 19, 08:37

ผมได้มีโอกาสอ่านบทความหนึ่ง
ในเฟซบุ๊คของ เพจนิตสารศิลปะและวัฒนธรรม
ฉบับเดือน พ.ค.61
ตามลิ้งค์นะครับ https://www.silpa-mag.com/history/article_17774
ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทำยุทธหัตถีของพระมหาอุปราช และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
โดยอ้างอิงจากพงศาวดารของพม่า ซึ่งเป็นข้อมูลความรู้ใหม่ๆ
ผมเอาลิ้งค์มาแปะให้เผื่อท่านใดยังไม่ได้อ่าน ลองอ่านดูครับ
มีความน่าสนใจตรงที่ การตายของมหาอุปราชคับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 มิ.ย. 19, 09:38

หลักฐานเรื่องนี้ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยเคยเขียนไว้สั้นๆ ในหนังสือข้างล่างนี้ค่ะ    พิมพ์เนื่องในโอกาสครบ 400 ปี สมเด็จพระนเรศวรฯ  ประมาณปี 2527 หรือหลังกว่านั้นอีกหน่อย

   สงครามเดียวกัน พม่าว่าอย่าง ไทยว่าอีกอย่าง ก็คงต้องค้นหาหลักฐานกันต่อไปค่ะ


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 มิ.ย. 19, 11:04

ถ้าเป็นลิงก์ไปที่อื่นผมว่าน่าจะตัดเนื้อหามาใส่ด้วยนะครับ เป็นการเคารพเจ้าของสถานที่ไปในตัว

อย่างผมซึ่งมีบลอกเกอร์เขียนบทความส่วนตัว นำมาโปรโมทในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งผมใส่ให้ครบทั้งบทความเลย แถมภาพถ่ายทุกใบให้ด้วยเอ้า เสียเวลาเล็กน้อยแต่คนอ่านจะไม่รู้สึกตะขิดตะขวง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 มิ.ย. 19, 18:28

ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการที่ค้นคว้าประวัติศาสตร์อยุธยาอย่างจริงจัง มีผลงานตีพิมพ์จำนวนมาก รวมถึง "พม่ารบไทย-ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า" โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม

ดร.สุเนตรระบุในหนังสือเล่มเดียวกัน ถึงสงครามยุทธหัตถีว่า เรื่องสงครามยุทธหัตถีที่เป็นที่รับรู้และแพร่หลายในหมู่คนไทยคือเรื่องที่เขียนไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่ชำระขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนจะถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนที่มีอิทธิพลต่อสังคมในวงกว้าง อาทิ ลิลิตตะเลงพ่าย พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาพระนิพนธ์ไทยรบพม่า และพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

บันทึกประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่กว่านั้น เช่น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่ชำระขึ้นในสมัยอยุธยา (พ.ศ. ๒๒๒๓) ก็มีความผิดแผกไปจากพงศาวดารและเรื่องที่ชำระหรือเขียนกันในสมัยหลัง แต่ยังมีประเด็นสำคัญยุติต้องกันอยู่ คือต่างระบุถึงการชนช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา จนพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์กับคอช้าง
 
แต่ถ้าไปดูพงศาวดารพม่าฉบับอูกาลาและฉบับหอแก้ว จะพบว่า ผิดแผกไปจากหลักฐานข้างฝ่ายไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านสมรภูมิรบและการสิ้นพระชนม์ของจอมทัพพม่า และได้ถอดความมาลงโดยละเอียดดังนี้

๗๔. การสงครามครั้งสุดท้าย วังหน้า มหาอุปราชาสิ้นพระชนม์

ทัพมหาอุปราชานั้นเคลื่อนมาถึงกรุงศรีอยุธยา ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๑๓๖) (ทัพเคลื่อนออกจากกรุงหงสาวดีในวันพุธ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๑๓๕) มหาอุปราชานั้นทรงพระคชาธารนาม (งะเยโซง ฉบับหอแก้วระบุนามพระคชาธารว่า เยโปงโซงซึ่งน่าจะหมายความว่าเปี่ยมด้วยอานุภาพหาญกล้า ส่วนหลักฐานไทยระบุนามช้างทรงนี้ว่า พัทธะกอ) เบื้องขวาพระองค์ยืนด้วยพระคชาธารและกำลังไพร่พลของพระอนุชาตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) ส่วนเบื้องซ้ายยืนด้วยพระคชาธารและไพร่พลของนัตชินนอง (โอรสพระเจ้าตองอู) แลตัดออกไปเบื้องขวาไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระคชาธารแห่งมหาอุปราชานั้นยืนด้วยช้างของเจ้าเมืองซามะโร (ไทยว่าเป็นพระพี่เลี้ยงชื่อจาปะโร) ซึ่งกำลังตกน้ำมันหนักถึงกับต้องใช้ผ้าคลุมหน้าช้างไว้ ข้างพระนเรศวรกษัตริย์อยุธยาทรงพระคชาธารชื่อพระลโบง (ฝ่ายไทยว่าพระยาไชยานุภาพ) จึงนำไพร่พลทแกล้วทหารเป็นจำนวนมากออกมาจากพระนคร (หมายเผด็จดัสกร)

ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชา ก็ไสพระคชาธารเข้ายังตำแหน่งที่จอมทัพพม่านั้นประทับอยู่โดยแรงเร็ว ฝ่ายเจ้าเมืองซามะโรครั้นเห็นพระนเรศวรขับพระคชาธารตรงรี่หมายเข้าชิงชนช้างประทับก็เปิดผ้าคลุมหน้าช้างพระหนะแห่งตนออก หมายมุ่งพุ่งสกัดช้างทรงองค์นเรศวร แต่ช้างตกน้ำมันเชือกนั้นกลับหันรีหันขวางแลกลับตัวเข้าแทงโถมเอาช้างทรงองค์อุปราชาโดยกำลังแรง พระมหาอุปราชาจึงจำต้องขับพระคชาธารเข้ารับไว้ ซึ่งช้างทรงองค์จอมทัพพม่าถึงจามสนั่น (ด้วยบาดเจ็บสาหัส) แลขณะนั้นข้างอยุธยาก็ระดมยิงปืนสวนทางมากระสุนถูกเอาองค์อุปราชาโดยถนัดจนสิ้นพระชนม์ซบกับคอคชาธาร คุเยงพละกลางช้างพระที่นั่งเห็นมหาอุปราชาต้องปืนใหญ่ (ปืนที่ยิงมหาอุปราชานั้นอูกาลาระบุว่า คือปืนชนิดเดียวกับที่เรียกว่า Jingal ในภาษาอังกฤษ) ก็เข้าพยุงพระศพไว้ และบังคับช้างเข้ากำบังในพุ่มไม้ ข้างพระนเรศวรยังไม่ทรงทราบว่ามหาอุปราชาหาพระชนม์ชีพไม่ จึงไม่ทรงขับพระคชาธารตามติดปะทะ เพียงยั้งรออยู่

ขณะนั้นนัตชินนองซึ่งทรงพระคชาธารนามอูบอตะกะ อยู่เบื้องซ้ายก็ไสพระคชาธารเข้าชนพระคชาธารทรงองค์นเรศวรกษัตริย์อยุธยา พระนเรศวรจำต้องถอยร่น แลตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) เห็นจอมทัพอยุธยาเพลี่ยงพล้ำร่นถอยก็กวัดแกว่งของ้าวขับช้างนำรี้พลตามติดเข้าตี ข้างองค์นเรศวรเมื่อถอยถึงคูพระนครก็รีบนำทัพเข้าภายในอาศัยพระนครนั้นตั้งรับ ข้างฝ่ายพม่าที่ไล่ตามติดมีเจ้าเมืองโทงโบและเจ้าเมืองเวงยอ ถลำรุกรบล่วงเลยเข้าไปมากจึงถูกจับเป็นเชลยสิ้น แต่ฝ่ายอยุธยานั้น อำมาตย์ออกญาเปะและออกญาจักรีก็ถูกทหารนัตชินนองล้อมจับได้ทั้งเป็น
 
เมื่อเกิดเหตุจนมหาอุปราชาถึงสิ้นพระชนม์แล้ว ตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) แลเหล่าทหารน้อยใหญ่ทั้งหลายต่างก็ถอยทัพไปประชุมพลอยู่ไกลว่าถึงกว่าหนึ่งตาย (คิดเป็นระยะ ๒ ไมล์โดยประมาณ) จากตัวพระนครโดยประมาณ และนายทัพทั้งหมดทั้งสิ้นต่างก็หันหน้าปรึกษาราชการศึกว่าครั้งนี้ยังจะจัดการพระศพองค์อุปราชาเสียในแดนโยธยาและระดมตีกรุงต่อไป หรือจะนำพระบรมศพกลับสู่พระนคร

ครานั้น ตะโดธรรมราชาเจ้าเมืองแปรจึงว่า "มาบัดนี้ พระเชษฐามหาอุปราชา (จอมทัพ) ก็หาพระชนม์ชีพไม่แล้ว เปรียบได้ดังแขนงไผ่อันไร้ซึ่งเชือกพันธนาไว้ การจะกลับไปกระทำการตีอยุธยาต่อไปเห็นว่าไม่สมควร อีกประการนั้นเล่าการซึ่งจะจัดการพระศพในแดนอยุธยาก็ไม่เหมาะด้วยยากจะประมาณว่าหากกระทำไปแล้วจะถูกปรามาสจากองค์บพิตรและพระญาติพระวงศ์ และแท้จริงราชการสงครามครั้งนี้ก็ยังนับว่ามีชัยอยู่ใช่น้อย ครั้งนี้ถึงมีอันต้องถอยกลับ แต่ภายภาคหน้าเมื่อสิ้นวสันตฤดูก็ย่อมยกมากระทำศึกได้อีก"

ฝ่ายข้าทหารใหญ่น้อยได้ฟังความตามตรัสก็เห็นคล้อย จึงต่อโลงใส่พระศพด้วยไม้มะม่วงอย่างเลิศ แลเอาปรอทกรอกพระศพแล้วก็จัดกระบวนรี้พลเชิญพระศพองค์อุปราชากลับคืนพระนคร เดือนมีนาคมก็บรรลุถึงหงสาวดี องค์ธรรมราชามหากษัตริย์ ครั้นสดับข่าวว่าพระราชาโอรสมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ชีพ และพระศพนั้นถูกอัญเชิญกลับคืนมาก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยอัครมเหสีราชมารดาออกรับพระศพ และลุเลิกพระศพเยี่ยงพระจักรพรรดิราช ห้อมล้อมด้วยช้างม้าไพร่พลสกลไกร การพระศพกระทำท่ามกลางความโศกเศร้าโศกาดูรยิ่ง ฯลฯ


จะเห็นว่า ข้อเท็จจริงเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชา มองจากฝ่ายพม่าแล้ว มีความแตกต่างกัน

ซึ่งดร.สุเนตรเห็นว่า ต่อปัญหาการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชานั้น จำเป็นต้องศึกษาอย่างระมัดระวัง จะอาศัยความสอดคล้องระหว่างพงศาวดารพม่าและบันทึกฝรั่งต่างชาติที่มีอายุร่วมสมัยกับเหตุการณ์เป็นบรรทัดฐานตัดสิน คงไม่ได้ เพราะหากจะใช้หลักฐานฝรั่งต่างชาติเป็นเกณฑ์กัน ก็ยังมีหลักฐานเก่าแก่ อาทิ บันทึกของฝรั่งโปรตุเกส ที่ถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย A. Macgregor ในชื่อ "A Brief Account of the Kingdom of Pegu..." คาดว่ามีอายุไม่ต่ำไปกว่าปีค.ศ. ๑๖๒๑ (พ.ศ. ๒๑๖๔) ยืนยันชัดเจนว่าสงครามยุทธหัตถี เป็นการรบอย่างเป็นกิจจะลักษณะต่อหน้าทหารของทั้งสองฝ่าย โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีพระราชสาสน์ท้าพระมหาอุปราชาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีอย่างสมพระเกียรติ
 
ดร.สุเนตรชี้ว่า ความขัดแย้งที่ปรากฏในหลักฐานต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมา คือภาพสะท้อนของการเผชิญกันระหว่างจารีตของสงครามในรูปแบบเก่าคือการรบกันตัวต่อตัวบนหลังช้าง กับการแพร่กระจายของอาวุธสมัยใหม่คือปืนไฟ แม้ว่าในที่สุด ปืนไฟจะได้ทำให้ธรรมเนียมนิยมของการทำยุทธหัตถีหมดไป แต่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ธรรมเนียมนิยมของการทำยุทธหัตถียังไม่หมดไปเสียทีเดียว มีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารพม่าว่าพระเจ้านันทบุเรงทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าอังวะตะโดเมงสอถึงขั้นแพ้ชนะ พระเจ้าอังวะต้องหลบหนีเอาชีวิตรอด
 
และนี่คือสีสันของประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าต้องการมากกว่าความสนุกสนาน จะต้องศึกษาจากหลาย ๆ แหล่งข้อมูล

จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4341.msg82401#msg82401
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 10:27

ผมนั่งคิดไปเรื่อยเปื่อยครับ การทำยุทธหัตถี เกิดขึ้นได้อย่างไร

การทำยุทธหัตถี คือการประลองของแม่ทัพบนหลังช้าง ซึ่งโดยสภาพปกติของการรบ การที่นายทหารระดับนายทัพ จะไม่ลงไปปฏิบัติการรบด้วยตนเอง ไม่ใช่เพราะนายทหารเหล่านั้นกลัวตาย แต่เพราะเขาเหล่านั้นเป็นผู้มีหน้าที่บัญชาการ การเสียผู้บัญชาการจะทำให้กองทัพของฝ่ายนั้นเสียเปรียบอย่างมาก (ในที่นี้ยิ่งไปกว่านั้นอีก เพราะเป็นกษัตริย์ด้วยกันทั้งคู่) เดิมพันจึงสูงมาก ถ้าเป็นการรบที่ฝ่ายตนได้เปรียบอยู่ หรืออย่างน้อยยังไม่เพลี่ยงพล้ำมากมายนั้น ผู้บัญชาการทัพย่อมไม่ออกหน้าไปลุยเองแน่

แต่ในเรื่องนี้ ทั้งไทยทั้งพม่าพูดตรงกันว่า นายทัพทั้งสองฝ่ายมาพบกันในระยะที่มองเห็นกันได้ ก็จะต้องมีสาเหตุว่า เขามาพบกันได้อย่างไร ฝ่ายไทยที่อธิบายว่า ที่มาพบกันเพราะ พระนเรศวร ถลำเข้าไปกลางทัพพม่า ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ก็คือฝ่ายไทยเสียเปรียบสุดๆ แล้ว ถ้าดึงดันจะรบต่อ คงละลายทั้งทัพแน่นอนครับ ทางรอดจึงมีเพียงทางเดียวคือต้องใช้เกียรติยศเป็นเดิมพัน พระนเรศวรจึงได้ “ท้าประลอง” ซึ่งพระมหาอุปราชาท่านจะรับคำท้าหรือไม่รับก็ได้ แต่ท่านรับ ผลคือเกิดการประลองกันขึ้น ถ้าเรื่องจริงเป็นอย่างนี้ จะเกิดเรื่องที่สมเหตุสมผลตามมาอีก 2-3 เรื่อง ได้แก่ พระนเรศวรไม่ถูกบรรดาแม่ทัพพม่าบนหลังช้างคนอื่นๆ รุม และไม่ถูกขัดขวางการถอยกลับเมื่อรบชนะแล้ว รวมถึงเรื่องการลงโทษแม่ทัพที่ตามเสด็จไม่ทัน แล้วเปลี่ยนพระทัยให้ไปตีเมืองไถ่โทษแทน
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 10:40

ทีนี้ ถ้าฟังความแบบข้างพม่า
ทัพทั้งสองฝ่ายยกมาตั้งแนวกัน ในระยะที่พอมองเห็นกัน อย่างแรกที่ต้องนึกก็คือ ระยะที่ว่านี้ห่างกันเท่าใด ผมนึกไม่ออกครับ แต่ขออุปมาจากเรื่องพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง คือ พม่าเคยเห็นแล้วว่า ปืนไทยยิงได้ไกลขนาดไหน บรรดาแม่ทัพ และเสนาธิการพม่า ไม่ควรจะเสี่ยงยอมให้พระมหาอุปราชาเข้ามาใกล้ในระยะปืนแน่ๆ ฝ่ายไทยเราเองก็เหมือนกันครับ เราก็รู้ว่า พม่ามีปืน ดังนั้น ไม่มีใครกล้าเอาพระเจ้าแผ่นดินของฝ่ายตนเข้าไปให้อีกฝ่ายยิงแน่นอน ระยะการยืนทัพที่ว่านี้ ผมตีว่า 500 เมตร หรือ ครึ่งกิโลเมตร ระยะพอๆกับความกว้างของแม่น้ำสะโตงนั่นเอง  

ฝ่ายพม่าบันทึกว่า ทันทีที่พระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชา พระองค์ก็ทรงไสช้างพุ่งเข้าหาทันที มองจากฝ่ายพม่า เราจะเห็นช้าง 1 หรือ 2 เชือก วิ่งมาจากระยะครึ่งกิโลเมตร ผมไม่รู้ว่า การยิ่งระยะครึ่งกิโลเมตรนี้ช้างจะใช้เวลาแค่ไหน แต่ฝ่ายพม่าบันทึกไว้ว่า ไม่มีใครทำอะไรเลย ด้านขวามีตะโดธรรมราชา ด้านซ้ายมีนัตชินนอง สองคนยืนเช้ย ต้องให้ เจ้าเมืองจาปะโร ซึ่งยื่นห่างออกไป Re-Act เป็นคนแรก ด้วยการ เปิดผ้าคลุมหน้าช้างที่ไม่สมบูรณ์ออก (ทำไมถึงจัดช้างอันตรายแบบนั้นให้ท่านใช้ แถมยังเอาไว้ใกล้คชาธารด้วย ก็ไม่เข้าใจครับ)

จังหวะนั้นเอง พลปืนอยุธยาก็เปิดฉากระดมยิง โดยไม่รู้ว่าใครสั่งให้ยิง เพราะพระนเรศวรซึ่งเป็นจอมทัพไสช้างวิ่งออกไปแล้ว ด้านหน้าของพลปืนแห่งอโยธยาคือพระมหากษัตริย์ของฝ่ายเราเอง แล้วพวกท่านยิงปืนจากด้านหลังพระองค์เนี่ยนะ ไม่โดนหาว่ากบฐก็บุญหนักหนาหละ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 10:49

ฝ่ายพม่าบันทึกไว้ว่า
"แลขณะนั้นข้างอยุธยาก็ระดมยิงปืนสวนทางมากระสุนถูกเอาองค์อุปราชาโดยถนัดจนสิ้นพระชนม์ซบกับคอคชาธาร คุเยงพละกลางช้างพระที่นั่งเห็นมหาอุปราชาต้องปืนใหญ่ (ปืนที่ยิงมหาอุปราชานั้นอูกาลาระบุว่า คือปืนชนิดเดียวกับที่เรียกว่า Jingal ในภาษาอังกฤษ) ก็เข้าพยุงพระศพไว้ และบังคับช้างเข้ากำบังในพุ่มไม้ ข้างพระนเรศวรยังไม่ทรงทราบว่ามหาอุปราชาหาพระชนม์ชีพไม่ จึงไม่ทรงขับพระคชาธารตามติดปะทะ เพียงยั้งรออยู่..."

ทั้งๆที่ พระนเรศวร ทรงพุ่งเข้าใส่ก่อน แสดงว่าทรงมีเจตนาจะชนช้างกับพระมหาอุปราชาอย่างแน่นอน ถึงกับทรงไสช้างพุ่งเข้าหาโดยไม่สนใจสิ่งใดทั้งสิ้น การที่ "ยังไม่ทรงทราบว่ามหาอุปราชาหาพระชนม์ชีพไม่" คือ ยังไม่รู้ว่า พระมหาอุปราชาตายแล้ว เอ้า ถ้ายังไม่รู้ว่าตายแล้ว ก็น่าจะลุยต่อสิครับ ทำไม "จึงไม่ทรงขับพระคชาธารตามติดปะทะ" หละครับ ทรงหยุดทำไม    

"ขณะนั้นนัตชินนองซึ่งทรงพระคชาธารนามอูบอตะกะ อยู่เบื้องซ้ายก็ไสพระคชาธารเข้าชนพระคชาธารทรงองค์นเรศวรกษัตริย์อยุธยา พระนเรศวรจำต้องถอยร่น แลตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) เห็นจอมทัพอยุธยาเพลี่ยงพล้ำร่นถอยก็กวัดแกว่งของ้าวขับช้างนำรี้พลตามติดเข้าตี ข้างองค์นเรศวรเมื่อถอยถึงคูพระนครก็รีบนำทัพเข้าภายในอาศัยพระนครนั้นตั้งรับ..."

ภาพนี้คือ ทรงวิ่งออกไป หยุดกึ๊ก โดนนัตชินนอง (ที่เพึ่งจะรู้ตัวว่า ควรจะต้องขวาง) เข้าสกัด แล้วพระนเรศวรก็ถอยยาวกลับเข้าเมืองไปเลย เอิ้ม แล้วตอนแรกวิ่งออกไปทำไมครับ ให้ปืนเปิดฉากระดมยิงเสียแต่แรกก็หมดเรื่อง    
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 10:52

เนี่ยครับ พออ่านจากสองฝั่งแล้ว ไม่คิดแบบชาตินิยม ก็ยังรู้สึกว่า ของไทยเรามีเหตุผลกว่า น่าจะเกิดขึ้นได้จริงมากกว่าของพม่า ซึ่งถ้านำไปสร้างเป็นหนัง เป็นละคร แล้วกำหนดให้ฉากการรบเป็นไปอย่างที่พม่าเขียนนี่ หนังตลกแท้ๆ เลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 12:03

ไปค้นภาพปืน  Jingal จากผู้พันกู๊ก     เห็นหลายแบบ แต่เดาว่าน่าจะเป็นแบบนี้ค่ะ ดูโบราณหลายศตวรรษมาแล้ว
เป็นปืนยาว ประทับบ่ายิง  น่าจะยิงได้ทีละนัด ไม่ได้รัวเป็นเอ็ม 16 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 12:24

การตีความของคุณ Naris ให้ภาพที่มีชีวิตชีวาดีมากค่ะ ออกมาเป็นสตอรี่บอร์ดราวกับภาพยนตร์    อ่านแล้วอยากจะร่วมทำหนังด้วยอีกคน

ดิฉันไม่ทราบรายละเอียดของยุทธหัตถี ว่านอกจากเป็นการชนช้างกันระหว่างจอมทัพแล้ว    ทั้งสองฝ่ายมีเงื่อนไขกติกาอะไรบ้างหรือไม่   เช่น ต้องเจอกันตัวของตัว เหมือนมวยคู่เอก    ไม่มีมวยหมู่แบบสามรุมหนึ่งหรือสี่รุมหนึ่งอะไรแบบนั้น    หรือว่าไม่มี   ชนกันคู่แรกเพราะพาหนะเป็นเครื่องบังคับให้ชนกันตัวต่อตัว    แต่นาทีต่อมาก็มีช้างสองสามสี่ฮือกันเข้ามารุมกินโต๊ะกันพัลวัน   ได้หรือไม่แบบนี้

ถ้าเป็นแบบที่หนึ่ง คือตัวต่อตัว  ก็น่าจะมีการท้าทายกัน ด้วยพระราชสาส์นเป็นลายลักษณ์อักษรออกไปจากจอมทัพฝ่ายหนึ่งท้าชนอีกฝ่าย     คือรบกันแบบรู้แพ้รู้ชนะกันตรงนั้น   ไม่ต้องเสียรี้พลที่ยืนดูเป็นพยานอยู่รอบๆ
ใครตายคาคอช้าง ทัพฝ่ายนั้นก็แพ้ไปโดยปริยาย

แบบที่สอง คือ แต่ละฝ่ายขี่ช้างกันออกไป หลายคนด้วยกัน      อย่างน้อยก็ฝ่ายละสามสี่คน   พอเผชิญหน้ากัน ผู้นำแต่ละฝ่ายก็ลุยเข้าไปชนช้าง   ส่วนแม่ทัพรองก็ลุยตามเข้าไปบ้าง   ทั้งนี้เพื่อประกบคู่ไม่ให้ช้างข้าศึกรุมกินโต๊ะจอมทัพ
เพราะถ้าฝ่ายหนึ่งขี่ช้างมาคนเดียว  ตรงเข้าชนกับช้างแม่ทัพ  แม่ทัพเสียที  ช้างสองสามสี่จะยืนเฉยๆก็พังกันหมด จึงต้องฮือกันเข้ามารุมฝ่ายมาคนเดียว   ทีนี้อยู่คนเดียวท่ามกลางช้างอีกสามสี่ช้าง  ง้าวของคนนั้นทีคนนี้ฟันฉัวะฉะลงมา   ต่อให้เก่งยังไง ฝ่ายหนึ่งเดียวก็เสร็จเหมือนกัน 
ในพงศาวดารพม่า บอกว่าทางฝ่ายพม่ามีแม่ทัพขี่ช้างนำหน้าอย่างน้อย 4 คนด้วยกัน    แต่เหตุไฉนของเราจึงมีสมเด็จพระนเรศวรองค์เดียว      ซึ่งไม่มีทางรอดเลยต่อให้ท่านชนะพระมหาอุปราชาก็เถอะ   เพราะพี่น้องและพี่เลี้ยงทางเขาคงไม่ยอมแพ้แน่ๆ   
ในการรบตอนถึงพริกถึงขิง คงไม่มีใครนึกถึงกติกา หรือกรรมการห้าม  เพราะไม่มี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 12:40

ถ้าจะให้เชื่อ ก็เชื่อว่าทางสมเด็จพระนเรศวรท่านไม่ขับช้างลุยข้าศึกคนเดียวแน่ๆ    อย่างน้อยต้องมีพระเอกาทศรถไปด้วย และต้องมีแม่ทัพฝีมือเอกตามไปอีกอย่างน้อย 2-3 คน   เพื่อช่วยปะทะกับฝ่ายโน้นที่เขาก็มากันหลายคน
เมื่อวาดภาพตามพงศาวดารพม่า     สมเด็จพระนเรศวรท่านทรงลุยเข้าไปองค์เดียว เหมือนจะทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาให้ได้   ช้างอื่นๆฝ่ายไทยหายหมดเหมือนถูกห้ามตามมาด้วย   ข้อนี้ดูอ่อนเหตุผลมาก 
ที่อ่อนเหตุผลอีกอย่าง อย่างที่คุณ Naris ตั้งคำถามไว้ คือ งั้นพวกทหารถือปืนยาวที่วิ่งตามช้างทรงมาจะยิงเข้าไปในกองทัพพม่าให้เจ้านายท่านอดทำยุทธหัตถีทำไม   
ก็ตกลงกันเสียแต่แรก ให้ทัพทหารปืนไฟ  วิ่งเข้าไปยิงกระหน่ำไม่ต้องมีช้างพระที่นั่งวิ่งเกะกะบังข้างหน้าอยู่ ไม่ดีกว่าหรือ

ฉากต่อมาคือ  ถ้าเรามองจากพระเนตรของสมเด็จพระนเรศวรในฉากนี้    ท่านลุยเข้าไปเต็มที่   อยู่ๆเห็นช้างพระมหาอุปราชาถูกช้างเจ้าเมืองแทงกันเอง  แล้วนายกลางช้างบังคับช้างวิ่งหนีเข้าไปซุกในพุ่มไม้    ระยะทางจากสนามรบไปถึงป่าที่มีพุ่มไม้ทึบ อย่างน้อยมันน่าจะหลายร้อยเมตรอยู่      เมื่อช้างข้าศึกหันหลังวิ่งหนี  ก็แสดงว่าแม่ทัพบนหลังช้างหมดท่าแล้ว(ตอนนั้นไม่รู้ว่าตาย)  ท่านก็น่าจะไล่ตาม  แทนที่จะหยุดยืนชะเง้อมองอีกฝ่ายซะเฉยๆ  ปล่อยให้หนีลอยนวลไปได้
การที่ท่านชะงักหยุด ไม่รบ ก็เป็นการเว้นจังหวะว่างให้แม่ทัพพม่าอีก 2 คนไสช้างมาสะกัดหน้าได้    กลายเป็นสองรุมหนึ่ง  ส่วนแม่ทัพช้างฝ่ายไทยก็ยังหายตัวกันอยู่ทั้งกลุ่ม  ไม่มีใครไปช่วยท่านเลย  ท่านก็เลยต้องถอยเข้าเมือง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 12:52

ถ้าไม่เลือกพงศาวดารของไทยและพม่ามาเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง        ดิฉันเชื่อว่า ยุทธหัตถีนั้นเกิดขึ้นจริง  ระหว่างแม่ทัพทั้งสองฝ่าย   ผลคือแม่ทัพพม่าเสียชีวิตในยุทธหัตถี 
ปืนไฟมีจริงในกองทัพของทั้งสองฝ่าย   ก็คงจะสาดกระสุนกันเข้าใส่จริงๆ   แต่ไม่มีกระสุนนัดไหนพลาดไปโดนพระมหาอุปราชาถึงสิ้นพระชนม์   ถ้าโดนก็โดนทีหลัง หลังจากโดนพระแสงของ้าวเข้าไปแล้ว
เพราะไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ทางไทยและพม่าจะสาดกระสุนกันเข้าใส่เป้าหมายบนหลังช้างเป็นห่าฝน  ระหว่างเจ้านายทั้งสองฝ่ายโรมรันกันอยู่บนหลังช้าง  เพราะมันมีสิทธิ์พลาดโดยฝ่ายเดียวกันได้มาก 
น่าจะยิงกันหลังยุทธหัตถีจบแล้วมากกว่า   
ดูจากวิธีการรบบนหลังช้าง คงจะกินเวลาไม่กี่นาที    ไม่ใช่ปะทะกันอยู่เป็นชั่วโมงกว่าจะรู้ผล   การรบแบบไม่มีเกราะไม่มีโล่ป้องกันแบบนี้ ต้องอาศัยความแม่นยำของฝีมือและความคมของอาวุธ  คงรู้ผลกันเร็ว
บันทึกการเข้า
srimalai
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 14:16

ไปค้นภาพปืน  Jingal จากผู้พันกู๊ก     เห็นหลายแบบ แต่เดาว่าน่าจะเป็นแบบนี้ค่ะ ดูโบราณหลายศตวรรษมาแล้ว
เป็นปืนยาว ประทับบ่ายิง  น่าจะยิงได้ทีละนัด ไม่ได้รัวเป็นเอ็ม 16 
ปืนจิงกัลแบบนี้ ใช้ในช่วงกบฎบอกซ์เซอร์ ของจีน เป็นไรเฟิบแบบโบล์ทแอคซั่น ใช้กระสุนมีปลอก ในสมัยพระนเรศวรเป็นปืนคาบศิลาประจุทางปากลำกล้อง หรือ ปืนไฟ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 19:40

ไปค้นเพิ่มจากที่คุณ Srimalai เข้ามาตอบ   ได้ความว่าวิกิแปลปืนคาบศิลาว่า musket  ไม่ใช่  Jingal  แต่เดาว่าน่าจะคล้ายกัน 
ไปเจอภาพท่านมุ้ย มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ถือปืนจำลองจากพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง    jingal  น่าจะเป็นแบบนี้ใช่ไหมคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 10 มิ.ย. 19, 21:56

พูดถึงการยิงปืนสมัยอยุธยา   
ปืนก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19     เป็นปืนที่บรรจุลูกได้ทีละ 1นัด   คือยิงปังออกไปแล้วจบกัน   ไม่สามารถรัวนัดที่สองที่สามออกไปได้  ต้องเริ่มพิธีการบรรจุลูกกระสุนใหม่ ซึ่งมีขั้นตอนหลายขั้นอยู่เหมือนกัน  กว่าจะเริ่มยิงนัดที่สองได้
ต้องตวงดินปืน(ที่พกติดตัวไปด้วย) กรอกเข้าไปทางปากกระบอกปืน   เอาหมอนเล็กๆทำจากนุ่น หรือเศษผ้ายัดเข้าไป แล้วใส่หัวกระสุนทรงกลม ปิดด้วยหมอนอีกชั้น    ปืนชนิดนี้เมื่อบรรจุกระสุนไว้ต้องถือตั้งตรงตลอด ไม่งั้นกระสุนอาจไหลออกจากปากลำกล้อง เวลาจะยิงต้องใช้ หินไฟจุดประกายไฟดินขับในถ้วยที่โคนปืน ให้ไฟแล่บติดดินขับ วิ่งเข้าไปทางรูที่ท้ายลำกล้อง แล้วจึงเกิดการลุกไหม้ในดินปืน ระเบิดกระสุนออกไป
 
ดังนั้นพลปืนที่ยิงพระมหาธรรมราชาจะต้องเล็งยิงนัดเดียว พิฆาตให้ได้    เพราะไม่มีโอกาสจะซ้ำด้วยนัดที่สอง    การขับช้างเข้ายุทธหัตถีแสดงว่าเป้าหมายไม่นิ่ง   ทำให้ยิงให้ถูกยากเข้าไปอีก
พงศาวดารพม่าบรรยายไว้ว่าเหตุการณ์ทางพม่าชุลมุนมาก เพราะช้างแม่ทัพเกิดตกมันเข้าเล่นงานช้างฝ่ายเดียวกันเอง ก็แปลว่าพระมหาธรรมราชาตอนนั้นไม่ได้นั่งนิ่งๆอยู่บนคอช้างทรง    แต่จะต้องโยนตัวเคลื่อนไหวไปมาอยู่ตลอดเวลา  เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีจังหวะจะโคนให้เล็งได้ว่าก้าวต่อไปจะไปทางไหน   
ทหารปืนไฟทางฝ่ายไทยรายนั้นแกจะต้องแม่นปืนยิ่งกว่าแชมป์โอลิมปิค  ยิงเปรี้ยงเดียวท่ามกลางความชุลมุน  ถูกเป้าหมายจอดสนิทในนัดเดียว
หรือไม่ แกก็ต้องเฮงยิ่งกว่าซื้อล็อตเตอรี่ครั้งแรกก็ถูก 30 ล้าน

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 20 คำสั่ง