เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2763 เจาะเวลาหาอดีต วันสุดท้ายของ ป.อินทรปาลิต
ปริญญา อินทรปาลิต
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 30 พ.ค. 19, 16:56

ตอนที่ ๑

ตอนเช้าวันพุธที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๑

ก่อนแม่ป้า - ย่าปรานีจะออกไปทำงานขายหนังสือที่ซุ้มหนังสือกลางสถานีขนส่งสายใต้ ใกล้สามแยกไฟฉาย (สถานีดั้งเดิมเริ่มแรก) ปู่ได้บอกว่า “อยากกินเมี่ยงปลาทู” เย็นนี้ให้แม่ป้าซื้อปลาทูกับเครื่องเคียงมาด้วย

เย็น...แม่ป้ากลับมาถึงบ้านซอยโชคชัยร่วมมิตร บ้านของป๋าชูชัยที่ปู่ไปอยู่ด้วยในช่วงสุดท้ายของชีวิตท่าน ป๋าชูชัยที่กล่าวนี้คือ ชูชัย ฤทธิฤาชัย หรือ ชูชัย พระขรรค์ชัย อดีตแชมเปี้ยนมวยไทยรุ่นมิดดิลเวทเวทีราชดำเนิน
ผู้พิชิต “นักชกไร้พ่าย” ผีโขมด - สุข ปราสาทหินพิมาย ด้วยการน็อกเอาท์ปลายยกที่ ๕ ทำลายสถิติแพ้ไม่เป็นของผีโขมด

แม่ป้าซื้อส่วนประกอบต่างๆ ที่จะทำเมี่ยงปลาทูมาครบไม่ขาดไม่เกิน เมี่ยงปลาทูนี้ทำตามสไตล์ปู่ ป. คือไม่ได้แกะเนื้อปลาทูแล้วขยำรวมกับเครื่องเคียงหลากชนิด แบบนั้นปู่จะเรียกว่ายำปลาทู
แต่เมี่ยงปลาทูของท่านจะประกอบด้วย ขิง หอมแดง มะนาว สามอย่างนี้หั่นซอยเหมือนลูกเต๋า (จะบ่อนไหนก็ได้ ให้เป็นลูกเต๋าก็แล้วกัน)

ต่อมาตะไคร้ซอยเป็นแว่นไม่บางไม่หนาเกิน (จะแว่นสายตาหรือแว่นกันแดด ก็อยู่ที่คนหั่นพอใจแบบไหน) พริกขี้หนูทั้งเม็ดเด็ดหางแล้ว ถั่วลิสงคั่วเปลือยเปลือกเหลือแต่เม็ดถั่วล่อนจ้อน
และเกลือป่นไว้โรยพอลิ้นรู้สึกรสเค็มปะแล่มๆ ไม่มีน้ำจิ้มเหนียวๆ เช่นเมี่ยงคำ

เวลารับประทานจะจัดวางเครื่องเคียงอย่างละนิดอย่างละหน่อยลงบนใบผักกาดหอม (ผักกาดไม่หอมหรือผักกาดใกล้เน่า...ห้ามใช้เด็ดขาด) ถ้าไม่ชอบผักกาดหอมก็ใบชะพลู แต่มีครบทั้งสองอย่างจะดีมาก
สุดท้ายหยิบหรือตักปลาทูที่แกะเป็นชิ้นๆ วางบนสุด

ชอบเค็มก็โรยเกลือหน่อยนึง แต่เค็มมากไม่ดีเดี๋ยวโรคไตถามหา ชอบเผ็ดก็วางพริกขี้หนูลงไป จะกี่เม็ดสุดแต่ใจจะพิศวาส แต่ไม่ควรให้เผ็ดจนพ่นไฟออกจากปากได้เหมือนมังกร
เพราะเผ็ดจัดตอนรับประทานจะอร่อยปาก แต่ลำบากเหลือเกินเวลาขับถ่าย

เมี่ยงปลาทูที่ผมอรรถาธิบายเป็นคุ้งเป็นแควมานี้ ไม่ทราบว่าแม่ป้าหรือแม่โต๋ภรรยาป๋าชูชัยเป็นคนทำ เพราะขณะนั้นบรรดาเด็กๆ หลานลุง ป.และหลานปู่ ป. (ก็ผมนี่แหละ ไม่ใช่แมวที่ไหน)
กำลังเพลิดเพลินกับรายการเพลงทางโทรทัศน์อยู่ที่ห้องโถง

ยังจำได้ว่านักร้องสองสาวยอดนิยมในปีนั้นคือ “อรวรรณ – ระวิวรรณ สร้อยหงส์พราย” (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ไม่ทราบเพื่อนๆ ท่านใดทันนักร้องคู่นี้บ้าง (นี่คือคำถาม “ดักแก่” นะครับ อิอิอิ)
สองนักร้องสาวกำลังร้องเพลงและโชว์ลีลาการเต้น ซึ่งเต้นดีแค่ไหน...ผมไม่ทราบ เพราะสายตาจ้องแต่ทรวดทรงองค์เอวสองอนงค์นางที่สวมกางเกงฮ็อตแพนท์ (กางเกงขาสั้น แต่ยังไม่สั้นเสมอหูเหมือนยุคนี้)
สวมเสื้อฟิตเปรี๊ยะจนเป็นห่วงว่าเธอจะหายใจหายคอไม่ออก สวมรองเท้าบู๊ตยาวถึงโคนขา

เด็กๆ ดูรายการเพลงที่ห้องกลางขณะปู่อยู่ในห้องนอนตามลำพัง แล้วพวกเราก็เห็นแม่โต๋ (จะเห็นกันทุกคน หรือผมเห็นคนเดียวไม่ทราบ) เดินเข้าไปในห้องนอนปู่ เพื่อบอกว่าเมี่ยงปลาทูพร้อมแล้ว จะนำมาเสิร์ฟให้

แม่โต๋หายเข้าไปในห้องปู่ไม่ถึง ๒๐ วิ ก็พรวดพราดหน้าตื่นกลับออกมา พร้อมเสียงร้องเอะอะ

“เร็ว...เร็ว...ป๋าเป็นอะไรไม่รู้...ป๋าเป็นอะไรไม่รู้”

----------

(ถ้าเพื่อนๆ สมาชิกถูกใจ โปรดติดตามต่อตอนที่ ๒ ไม่ชอบ...อ่านแค่ตอนนี้ตอนเดียวก็พอครับ อิอิอิ)




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 พ.ค. 19, 17:42

ชูชัย พระขรรค์ชัย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 พ.ค. 19, 17:45

อรวรรณ – ระวิวรรณ สร้อยหงส์พราย


บันทึกการเข้า
ปริญญา อินทรปาลิต
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 31 พ.ค. 19, 20:33

ตอนที่ ๒

เสียงแม่โต๋ทำเอาวงแตก เด็กๆ เลิกสนใจความบันเทิง ทุกคนลุกพรวดพร้อมกันแล้วกรูเข้าไปในห้องนอนปู่

ป๋าชูชัยกำลังแกะสลักพระอยู่หลังบ้าน แม่ป้าอยู่ในครัว ก็มาที่ห้องแทบจะในเวลาเดียวกัน

ป๋าตรงเข้าหาปู่ซึ่งนอนเหยียดยาวบนเตียง แล้วผายปอดร่างสงบนิ่งนั้น ปากก็ร้องว่า

“พี่ ป. ตื่น...พี่ ป.ตื่น...พี่ ป.กลับมา...กลับมา”

แต่การทำ CPR - Cardiopulmonary resuscitation หรือผายปอดเพื่อฟื้นคืนชีวิต ไม่อาจช่วยเหนี่ยวรั้งชีวิตปู่ให้หลุดจากมือมัจจุราชได้

สักครู่ใหญ่ๆ ป๋าหันมองหน้าทุกคนและบอกด้วยสายตาแทนคำพูดว่าหมดหวัง เสียงร้องไห้ดังระงมขึ้นทันที

แม่ป้า แม่โต๋ หลานลุง ปราดเข้าไปรุมล้อมร่างซึ่งไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี อีกต่อไป ทุกคนคร่ำครวญหวนไห้ด้วยความโศกาอาดูร รักและอาลัยญาติผู้ใหญ่หนึ่งเดียวคนนี้

ขณะที่ผมยืนตะลึงอยู่มุมห้อง ไม่มีน้ำตาไหลอาบแก้มเช่นคนอื่นๆ เครื่องหมายคำถามหลายสิบหลายร้อยอันผุดขึ้นมาในสมอง เมื่อรู้ว่าปู่ซึ่งเป็นยิ่งกว่าพ่อบังเกิดเกล้า ผู้อุปการะเลี้ยงดูผมมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย บัดนี้ท่านจากไปเสียแล้ว

ฝนที่ตั้งเค้าทะมึนมาแต่บ่ายตกลงมาค่อนข้างแรง แต่เสียงฝนมิอาจกลบเสียงร่ำไห้ของทุกคนได้

ป๋าชูชัยให้ออกไปโทรบอกอาติ่งน้องสาวพ่อ ผมครึ่งเดินครึ่งวิ่งฝ่าฝนไปกลางซอย แล้วใช้โทรศัพท์สาธารณะโทรด้วยคำพูดที่ก๊อปมาจากแม่โต๋ แต่เปลี่ยนบางคำ

“อาติ่ง...ปู่เป็นอะไรไม่รู้ ปู่เป็นอะไรไม่รู้ อาติ่งรีบมาดูเร็วๆ”

คืนนั้น ที่บ้านป๋าชูชัยในซอยโชคชัยร่วมมิตร คับคั่งด้วยญาติพี่น้องของปู่ที่ทราบข่าวสลดใจนี้ ต่างทยอยเดินทางมาอย่างรีบเร่ง

เด็กๆ รวมตัวกันในห้องนอนปู่ เฝ้าดูลุงที่ของรักของพวกเขา ทุกคนหวังให้เกิดปาฏิหาริย์นำพาลุงกลับมาเหมือนเดิม แต่ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง

ฝ่ายผู้ใหญ่ต่างปรึกษาหารือกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพื่อให้สมเกียรติผู้วายชนม์???

อาติ่งเป็นผู้กระจายข่าวให้สื่อทราบการเสียชีวิตของ ป. อินทรปาลิต หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับพร้อมใจกันลงข่าวนี้ เป็นกรอบเล็กๆ บ้าง เป็นข่าวสุดท้าย ข่าวก่อนขึ้นแท่น บ้าง

“เดลินิวส์” ฉบับเดียวที่เล่นเป็นข่าวพาดหัวรองหน้า ๑ และโปรยว่า

“สิ้น ป. อินทรปาลิต มีเงินเหลือใต้หมอน ๕๐ สตางค์”

โอ้โฮเฮะ – คนโปรยหัวข่าวมโนได้ขนาดนั้นเชียวหรือนี่???


----------

ขออภัย ไม่มีภาพประกอบ เนื่องจากภาพ ป.อินทรปาลิต มีไม่มาก ทุกภาพใช้ซ้ำจนแฟนๆ สามเกลอจำได้หมดแล้ว จึงขออนุญาตไม่นำมาแสดงครับ
บันทึกการเข้า
ปริญญา อินทรปาลิต
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 02 มิ.ย. 19, 16:39

ตอนจบ

อาผมโกรธมาก หาว่าเดลินิวส์ซึ่งตอนนั้นคุณสนิท เอกชัย (นามปากกา “เรือใบ”) กุมบังเหียนอยู่ ลงข่าวแบบไม่ให้เกียรติบิดาตน

ผมมาเข้าใจในภายหลังเมื่อเติบโตเป็นกำนัน...เอ๊ย...เป็นผู้ใหญ่แล้ว ว่าการพาดหัวลักษณะนั้นคือการสร้างความฮือฮาให้คนอ่านสนใจ ตามสไตล์หนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ
ทั้งๆ ที่ความจริงปู่ไม่ได้ยากจนข้นแค้นแสนสาหัส ขนาดตายแล้วเหลือเงินแค่ ๕๐ สตางค์

ผมยืนยันได้ว่าก่อนท่านจะย้ายไปอยู่กับครอบครัวป๋าชูชัย ปู่เพิ่งขายลิขสิทธิ์บทประพันธ์ที่เก็บรวมไว้ในลังไม้ฉำฉารวม ๓ ลัง แต่โดนปลวกรับประทานไปกว่าครึ่ง
และผมนี่แหละที่ทำสงครามกับฝูงปลวก โดยใช้อาวุธเคมี (ดีดีที) ประหัตประหารจนกองทัพปลวกนับหมื่นตัวเท่งทึงแตกพ่าย บาดเจ็บสาหัสและไม่สาหัสอีกหลายพัน

หนังสือสามเกลอที่รอดเป็นอาหารปลวกประมาณ ๑๐๐ กว่าเล่ม ปู่ได้ยกให้สำนักพิมพ์ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ไป ส่วนเงินที่ปู่ได้รับ...ผมไม่ทราบจำนวนแน่นอน แต่เชื่อว่าต้องมากพอสมควร

ท่านไม่มีโอกาสได้ใช้เงินก้อนสุดท้ายนี้ เนื่องจากป่วยตลอดจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต ดังนั้นที่เดลินิวส์พาดหัวว่า “มีเหลือเงินใต้หมอน ๕๐ สตางค์” จึงเป็นกลยุทธ์การขายนั่นแล

คืนที่ปู่เสียชีวิตได้มีการฉีดยารักษาร่าง ๒ เข็ม โดยฉีดเข้าบริเวณซอกหว่างขาด้านในที่เรียกว่าดันไข่...เอ๊ย...ไข่ดันทั้งสองข้าง และคืนนั้นทุกคนก็รวมกันอยู่ในห้องนอนปู่เพื่อเป็นเพื่อนท่าน

ผมสังเกตเห็นว่าริมฝีปากปู่ที่เผยอเล็กน้อยในตอนแรก เมื่อเวลาผ่านไปกลับปิดสนิท ราวกับว่าท่านได้หลุดพ้นจากความทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บ สู่ความเป็นอนัตตาไม่มีตัวตนแล้ว
ปากนั้นจึงอยู่ในลักษณะเหมือนยิ้มน้อยๆ ด้วยความดีใจ

รุ่งขึ้นรถ ๖ ล้อของวัดมกุฏฯ พร้อมศาลาใหญ่ๆ สลักเสลาลวดลายสวยงามและหีบศพบรรทุกมาด้วยได้มาที่บ้านป๋าชูชัย ศาลาบนรถนั้นไม่ทราบเรียกอะไร ขอเรียกว่าบุษบกละกัน
หลังจากนำร่างปู่ลงไปนอนในหีบและตั้งบนบุษบกแล้ว ผมก็ได้รับคำสั่ง (ใครสั่งจำไม่ได้) ให้นั่งไปพร้อมกับรถ ๖ ล้อคันนั้น ด้วยการนั่งเคียงข้างไปกับหีบศพของปู่

พอได้อยู่กับปู่ตัวต่อตัว ทีนี้น้ำตาผมก็ไหลพรากเป็นเผาเต่า ร้องไห้สะอึกสะอื้นแบบไม่อายผู้พบเห็น ตั้งแต่ซอยโชคชัยร่วมมิตรถนนวิภาวดีรังสิต ไปจนถึงวัดมกุฏกษัตริยาราม
อารมณ์ ความรัก ความรู้สึกผมในห้วงเวลานั้น คิดถึงปู่ เสียใจที่ปู่ต้องมาเสียชีวิตอย่างไม่คาดคิดไม่คาดฝัน พอจะกลั่นเป็นร้อยกรองได้ดังนี้...

เมื่อสิ้นปู่เหมือนฉันพลันสิ้นชีพ
ปู่นะปู่...ไม่น่ารีบเร่งอาสัญ
น่าจะอยู่ครึกครื้นสักหมื่นวัน
กลับต้องพรากจากกันไม่หันคืน

แล้วหลานปู่อยู่ยังไงในโลกกว้าง
ดั่งชีวิตเคว้งคว้างช่างขมขื่น
แต่ขอวิ่งสู้ฟัดเพื่อหยัดยืน
อย่างอดทนเช่นคนอื่นในโลกา



ไม่ได้แต่งตอนนั้นหรอกครับ แต่งเดี๋ยวนี้เอง ฮ่าฮ่าฮ่า


จบ


บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 มิ.ย. 19, 11:32

อ่านสนุกมากจริงๆ เป็นแฟนพลนิกรกิมหงวนตั้งแต่เด็กๆ ได้มาทราบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในนี้ ดีใจจังค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 มิ.ย. 19, 10:22

ถ้าไม่ได้อ่านข้อเขียนนี้ ก็ยังเข้าใจผิดเรื่อยมา ว่าคุณป.อินทรปาลิตถึงแก่กรรมไปอย่างลำบากยากจน
จำได้ว่าในบทความของคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์อื่นๆ  ไม่ใช่เดลินิวส์   ต่อมาหลังจากนั้นอีกหลายปีก็ยังเอ่ยถึงท่านในทำนองเดียวกัน จนกลายเป็นตราประทับมรณกรรมของท่านให้คนอ่านเข้าใจในทางเดียวกันหมด

จำได้ประโยคหนึ่งว่าคอลัมนิสต์คนหนึ่งเขียนในทำนองเห็นใจ   ว่าคุณป.ประสบความลำบากในบั้นปลาย       อาเสี่ยกิมหงวน ช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย

คงเป็นความเชื่อสืบทอดกันต่อมาละมัง ว่านักประพันธ์ดังๆ ในยุคก่อนโน้น "ไส้แห้ง" กันทุกคน    มีผลงานมากแต่ไม่รวยอย่างอาชีพอื่นๆ   
พออายุมาก ทำงานได้น้อยลง หรือต้องหยุดผลิตงาน   ก็ลาจากไปอย่างน่าสลดใจ

คนอ่านยุคเก่าเชื่อกันอย่างนี้จริงๆนะคะ     
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 06 มิ.ย. 19, 12:37

อาจจะเพราะเวลาเขียนหนังสือ ท่านเองก็ชอบ "อำ" อาชีพนี้ว่ายากจน ทำไปก็เลี้ยงตัวเองไม่ไหว

ในพลนิกรกิมหงวนจะมีตัวละครหนึ่งชื่อ คุณปิ๋ว (นัยว่าเป็นตัวคุณป. เอง) โผล่มาสักสองสามตอนมั้งคะ มีอาชีพนักประพันธ์ เงินทองไม่ค่อยจะมีอยู่เสมอ

           
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 19 คำสั่ง