เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2407 อยู่กับปู่ ป.
ปริญญา อินทรปาลิต
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 26 พ.ค. 19, 12:57

อยู่กับปู่ ป.


“อยู่กับปู่ ป.” ในที่นี้มิได้หมายถึงพ่อแม่ล้มหายตายจากไปโดยพร้อมเพรียงกัน หรือเลิกราหย่าร้างเดินทางคนละทิศ แล้วทิ้งลูกชายไว้ให้ปู่เลี้ยงประหนึ่งพล็อตละครน้ำเน่า

แต่หมายความว่าเมื่อผมเกิดมาร้องอุแว้ๆ ในฐานะหลานชายคนแรกของปู่ ความดีใจที่มีภาระเพิ่มขึ้น...เอ๊ย...ดีใจที่ได้หลาน ปู่ก็ตะเพิดพ่อแม่ผมให้ออกไปห่างๆ แล้วประกาศิตว่าปู่จะอุ้มชูเลี้ยงดูอุปการะหลานรักคนนี้ด้วยตัวท่านเอง

แต่จริงๆ ท่านไม่เลี้ยงแบบลงมือทำทุกอย่างเพื่อผมหรอกครับ เป็นต้นว่าอาบน้ำ ป้อนข้าว เช็ดสิ่งที่ผมขับถ่ายออกมาเลอะเทอะทั้งน้ำทั้งเนื้อ แล้วเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ใหม่ก่อนจับลงเปลเห่กล่อม

ปู่ให้ลูกสาวของท่านซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ของพ่อผม...ที่ผมเรียกอาติ่ง (ฤดี อินทรปาลิต) ทำหน้าที่ดูแลผมแทนท่าน

เนื่องจากเวลานั้นอาติ่งกำลังเป็นนักเรียนวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ที่สภากาชาดไทย (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) ส่วนปู่รับบทเป็นตู้เอทีเอ็มให้คุณอาเบิกจ่ายเงินค่าค่านม ค่านู่นนี่นั่นสำหรับทารกน้อยตาแป๋วแหววอย่างผม

บิดรมารดาผมแทบไม่มีบทบาท แม่อาจมีมากกว่าพ่อนิดนึงที่ยังได้อุ้มชูดูแลผมบ้างขณะคุณอาไปเรียนหรือติดภารกิจอื่น ส่วนพ่อเต็มที่ก็มาหยอกล้อแป๊บๆ ก่อนจะหายศีรษะไป

ตอนผมเกิดมาเป็นสมาชิกโลกและเป็นพลเมืองของประเทศไทย ปู่เช่าบ้านหลังโตอยู่ในซอยสีฟ้า ถนนพหลโยธิน คนในบ้านมีทั้งหมดราว ๒๐ คน (นับหนเดียว) เป็นลูกหลานญาติโกโหติกาของปู่ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดอ่างทอง แดนกำเนิดของคุณทวด พันโทพระวิศิษฐพจนการ พ่อของปู่

ส่วนใหญ่จะเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนหนังสือ โดยเฉพาะที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทาและสวนดุสิต สองแห่งนี้คือสถานศึกษายอดฮิตของหนุ่มสาวสมัยนั้น

บ้านซอยสีฟ้ามีบ่อน้ำบ่อหนึ่งอยู่ข้างตัวบ้าน น่าจะเป็นบ่อที่ขุดขึ้นขณะสร้างบ้าน ไม่ใช่บ่อที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แรกๆ ก็คงน้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา แหวกว่ายธาราอยู่ไหวๆ แต่ตอนปู่มาเช่าเจ้าบ่อนี้อุดมไปด้วย “แหน” และ “สาหร่าย” โดยเฉพาะแหนแผ่คลุมผิวน้ำจนเป็นสีเขียวขจีทั้งบ่อ

คราวหนึ่งแม่อุ้มผมไปนั่งชมทิวทัศน์ที่ริมบ่อที่กล่าวนี้ แต่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรอีท่าไหน ตัวผมมีอันตีลังกาหลังเกลียวสองรอบครึ่งหล่นตูมลงไปในบ่อ อารามตกใจกลัวลูกจะรอด...เอ๊ย...กลัวลูกจะจมน้ำตาย แม่ผมก็โดดแบบพุ่งหลาวตามลงไปทันที

เดชะบุญที่สวรรค์ยังปรานีให้ผมได้อยู่ชมโลกต่อไป แม่จึงนำตัวผมฝ่ากระแสธาราขึ้นมาบนบกได้โดยสวัสดิภาพราบรื่น มีแหนติดหัวติดตัวมาราวๆ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ดูเผินๆ เหมือนผมเป็นพรายใต้ทะเลลึกยังไงยังงั้น

แม่พาผมเข้าบ้านทันที ญาติๆ ปู่ซึ่งเป็นญาติแม่ผมด้วย เห็นสภาพเด็กน้อยตัวเขียวปี๋ก็ร้องเอะอะด้วยความขบขัน แต่บางคนตกใจที่รู้ว่าผมกลายเป็นมนุษย์แหนไปชั่วขณะ

ปู่กำลังพิมพ์บทประพันธ์ของท่านอยู่ที่เรือนใหญ่ จึงโผล่ออกมาดูให้รู้สาเหตุแห่งเสียงอึงมี่นั้น พอรู้ว่าแม่ทำผมตกบ่อแหน ปู่ก็ตวาดเสียงดังฟังชัดจนทุกคนหัวหดว่า

“เลี้ยงหลานข้าแบบนี้ เดี๋ยวก็ตายห่ากันพอดี”

(จากแม่เล่าให้ฟัง)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 พ.ค. 19, 09:57

อ้างถึง
ปู่เช่าบ้านหลังโตอยู่ในซอยสีฟ้า ถนนพหลโยธิน

ซอยสีฟ้า ถนนพหลโยธิน คือซอยพหลโยธิน 9  ในปัจจุบัน
สมัย50 ปีก่อน บ้านที่มีบ่อน้ำในบ้าน มีน้ำไหลถ่ายเทได้  แสดงว่าแถวนั้นน่าจะยังเป็นชานเมืองอยู่นะคะ
เดี๋ยวนี้มีแต่คอนโด


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 พ.ค. 19, 10:14

ขออนุญาตรวมข้อเขียนของคุณปริญญาเข้าอยู่ในกระทู้เดียวกันค่ะ   เพราะถ้าแยกกระทู้แบบนี้ ต่อไปจะกระจัดกระจาย คนที่เข้ามาอ่านทีหลังจะอ่านไม่ติดต่อกัน

ขอให้โพส อยู่กับปู่ 3  ในกระทู้นี้เลยนะคะ

อยู่กับปู่ ป. (๒)

พูดถึงบ้านปู่ที่ซอยสีฟ้า ถนนพหลโยธิน ตอนผมเป็น Cute baby ทารกแสนน่ารัก มีเรื่องราวมากมาย แต่ผมได้ทราบก็เมื่อชราภาพใกล้จะเท่งทึงอยู่รอมร่อ

ล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๙ ผมได้พบกับคุณอาผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ เพ็ญจิตร มนูญพร ขออนุญาตออกชื่อเพื่อยืนยันความจริง คุณอาท่านนี้มาจากจังหวัดอ่างเงิน...เอ๊ย...อ่างทองชุดแรก เพื่อมาเรียนต่อในเมืองหลวง

ที่ว่าชุดแรกเพราะอาจิตรเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่พ่อของปู่ยังมีชีวิตอยู่ที่บ้านในซอยวัดสามพระยา ซึ่งขณะนั้นคุณพระวิศิษฐฯ ออกจากราชการแล้ว จากการโดนตัดถึงโคนขาด้วยพิษสงโรคเบาหวาน บ้านนี้ปู่กับพี่สาวและน้องๆ อยู่กันพร้อมหน้า

อาจิตรเดินทางจากอ่างทองด้วยเรือเมล์ มุ่งมาเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา (ตอนนั้นสวนสุนันทายังเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู แล้วเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยครู สุดท้ายคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) โดยขึ้นที่ศาลาท่าน้ำหน้าบ้านวัดสามพระยาดังกล่าว แล้วพักอาศัยที่นั่น

จนกระทั่งปู่ย้ายออกจากบ้านนี้เนื่องจากได้ภรรยาอีกคนคือย่าปรานี แพรวพราย ปล่อยให้ย่าไข่มุกด์ภรรยาแรกซึ่งมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ อยู่กับบิดาปู่และพี่น้องของปู่ต่อไป ตอนนั้นปู่เป็นนักประพันธ์ในวงการหนังสือแล้ว

อาจิตรและญาติอีกจำนวนหนึ่งจึงแห่ตามปู่ไป ด้วยเหตุผลว่า “คุณพระดุและเจ้าระเบียบ”

ต่อมาน้องชาย ๓ คนของปู่ ได้แก่ อรุณ, อาภรณ์, โกมล (อินทรปาลิต) ยกโขยงตามไปอยู่กับปู่บ้าง คงเหลือแต่พี่สาว (สาลี่) น้องสาว (มาลัย) และน้องชายอีกคนคืออุทัยไม่ไป เข้าใจว่าพวกยิปซีอพยพน่าจะมีเหตุผลเดียวกับอาจิตร

ครอบครัวขนาดย่อมจึงขยายสเกลใหญ่ขึ้น จาก ๕-๖ คนกลายเป็นสิบกว่า มาอุ่นหนาฝาคั่งถึงหลัก ๒๐ คนตอนปู่เช่าบ้านในซอยสีฟ้า มีทั้งสมาชิกเดิมและสมาชิกใหม่มาสมทบ พ่อกับอาผมก็จรลีมาอยู่กับปู่

“น้องๆ แต่ละคนของคุณลุงและพี่มะกับติ่งกำลังเรียนทั้งนั้น” อาจิตรเล่า คำว่า “มะ” คือชื่อเล่นพ่อผม “เรียกว่าแต่ละคนอยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอน บ้านซอยสีฟ้าหลังใหญ่ มีห้องเยอะ ก็เลือกกันว่าใครจะอยู่ห้องไหน”

ปู่กับย่าปรานีอยู่ชั้นล่างเป็นห้องเล็กๆ พ่อผม อาผม ปู่รุณ (อรุณ อินทรปาลิต ขณะนั้นเรียนโรงเรียนของกรมชลประทาน เรียนจบเข้ารับราชการที่กรมชลฯ จนเกษียณอายุ) ปู่ภรณ์ (อาภรณ์ อินทรปาลิต กำลังเรียนแต่อาจิตรไม่ได้เอ่ยชื่อโรงเรียนให้รู้) ทุกคนอยู่ชั้นบน

อาจิตรกับปู่มล (โกมล อินทรปาลิต - เรียนที่เดียวกับปู่รุณและเข้ารับราชการกรมชลฯ เหมือนกันอีก) อยู่ชั้นล่าง

เพ็ญจิตร มนูญพรย้อนความหลังให้ฟังว่า “คุณลุงขยันมาก ทำงานทั้งวันทั้งคืน กลางวันพิมพ์ต้นฉบับที่โต๊ะใหญ่ใกล้ระเบียง กลางคืนพิมพ์ในมุ้ง เอาโคมไฟเล็กๆ เข้ามุ้งเพื่อส่องสว่าง คุณลุงพิมพ์ดีดก๊อกๆ แก๊กๆ ตลอด ไม่รู้น้านีนอนหลับในมุ้งเดียวกันได้ยังไง...

“คุณลุงแต่งหนังสือไม่หยุดจริงๆ กลางคืนอานอนห้าทุ่มยังได้ยินเสียงพิมพ์ดีดดังอยู่ เช้าตื่นตีห้า เอ้า - เสียงพิมพ์ดีดของคุณลุงก็ยังดังเหมือนเดิม แสดงว่าทำงานไม่ได้หลับได้นอนเลย”

คุณอาบอกปู่ ป. ทำงานหนัก แต่รายได้ของท่านก็มหาศาลตามไปด้วย เดือนหนึ่งๆ หาเงินได้หลักหมื่น ในยุคที่ค่าครองชีพและอาหารการกินยังราคาถูกมาก ไม่แพงหูตูบเหมือนปัจจุบัน วันหยุดจะมีเจ้าของสำนักพิมพ์หลายแห่งมาพบเป็นประจำ ส่วนวันธรรมดาคุณอาไม่ทราบเพราะไปเรียน

วันหยุดที่ไม่มีแขกมาเยือน ปู่จะทำงานโดยมี “ขันโอเลี้ยง” ตั้งอยู่ข้างโต๊ะทำงานเสมอ โอเลี้ยงที่ว่านี้ให้พ่อผมขี่จักรยานไปซื้อโอยัวะที่บางลำพู ๓ ขวดมาใส่น้ำแข็งที่บ้าน (อาจิตรบอกชื่อร้านแต่ผมลืมซะแล้ว เป็นร้านดังมากในเวลานั้น) ไปกลับหนึ่งชั่วโมงพอดี ถนนพหลโยธินยังเป็นถนนราดยาง สองข้างทางมีต้นก้ามปูเป็นระยะ รถรายังไม่มาก ถนนจึงว่างพอจะขี่จักรยานไปกลับได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล (ถ้าเป็นสมัยนี้...พอท่านพ่อเลี้ยวออกจากซอยเข้าถนนพหลโยธิน รถเมล์สาย ๘ Fast and Furious ก็เอาไปรับประทาน)

เพราะรายได้มากโขนี้เอง ปู่จึงเลี้ยงดูคนในบ้านให้อยู่ดีกินดีอิ่มหมีพีมันกันทุกคน ส่วนปู่เองก็ใช้จ่ายอย่างไม่เสียดายเงิน อยากได้อะไร...ซื้อ เห็นอะไรถูกใจ...ซื้อ แล้วชอบซื้อที่ละคู่เสียด้วย (ขนาดเมียยังมีเป็นคู่) ที่ซื้อบ่อยหรือเปลี่ยนบ่อยที่สุดคือรถยนต์

“คุณลุงชอบมากกับการได้มีรถเก๋งใหม่ๆ ไว้ขับ” อาจิตรพูด ก่อนจะลุกไปเอาน้ำเย็นในตู้เย็นมาเพิ่มอีกขวด...
บันทึกการเข้า
ปริญญา อินทรปาลิต
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 พ.ค. 19, 10:29

ขอบคุณครับ ผมก็ตั้งใจจะให้เป็นแบบนี้ แต่บังเอิญทำไม่เป็นครับ
บันทึกการเข้า
ปริญญา อินทรปาลิต
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 พ.ค. 19, 07:40

[/img]ขอเวลานอก

เรื่อง "อยู่กับปู่ ป." ซึ่งมีอาจิตร - เพ็ญจิตร มนูญพร เป็นผู้เดินเรื่องนั้น

ขออธิบายเพื่อความกระจ่างแจ้งจางปางว่า อาจิตรเป็นชาวอ่างทองโดยกำเนิด เป็นญาติในสายเดียวกับ พันโท พระวิสิษฐพจนการ บิดาของปู่ ป. ซึ่งคุณพระมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดอ่างทองเช่นเดียวกัน

ผมเข้าใจว่าอาจิตรน่าจะเรียกคุณพระวิสิษฐฯ ว่า "คุณตา" หรือ "คุณปู่" (แต่ไม่เคยถาม) เนื่องจากตอนอาจิตรเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อโรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา อายุยังไม่ถึง ๒๐

เมื่อมาอยู่ในอุปการะของ ป. อินทรปาลิต ซึ่งคงมีอายุมากกว่าบิดาตน อาจิตรจึงเรียกปู่ ป. ว่า "คุณลุง"

แต่ที่ผมเขียนอธิบายพอคร่าวๆ ให้รู้ว่าอาจิตรเป็นใคร เพราะการเขียนเรื่องสั้น ถ้าอธิบายทุกอย่างชนิดละเอียดยิบเป็นใส่ครกตำ จะทำให้เสียพื้นที่เนื้อหาส่วนอื่นๆ ของเรื่อง และกระทบกับจำนวนหน้าที่ได้กำหนดไว้แล้ว

ดังนั้น "ขอเวลานอก" นี้ จึงน่าจะช่วยให้เพื่อนๆ ทุกท่านเข้าใจความเป็นมาของ เพ็ญจิตร มนูญพร ได้ดีขึ้น

ภาพประกอบนี้ เป็นภาพจากถ้วยกาแฟที่อาจิตรทำแจกเพื่อนครูและผู้ที่เคารพนับถือ ในวันเกิดของอาจิตรและวันขึ้นปีใหม่

คุณอาให้ถ้วยนี้แก่ผม ไม่ใช่ผมเป็นคนที่อาจิตรเคารพนับถือหรอกครับ ท่านบอกว่า "พอดีเหลืออยู่ใบเดียว จะเขวี้ยงหัวหมาก็เสียดาย เลยให้แกเอาไปใช้ดีกว่า"

เพื่อนๆ เห็นถ้วยกาแฟนี้ กรุณาอย่าคิดว่าท่านเท่งทึงแล้วนะครับ ยังอยู่ครับ...ยังอยู่ ยังหายใจคล่องปรี๊ดเชียว ทั้งที่อายุ ๘๘ แล้ว ฮ่าฮ่าฮ่า ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ




คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
ปริญญา อินทรปาลิต
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 พ.ค. 19, 12:02

อยู่กับปู่ ป. (๓)

ในยุคที่ปู่รุ่งโรจน์เรืองรองดั่งทองทา บทประพันธ์จากปลายปากกาออกสู่ตลาดหนังสือทุกวัน จึงมีเงินพกในกระเป๋าจนปู่เดินตัวเอียงไปข้าง รถที่เคยใช้ก็เลยหมุนเวียนเปลี่ยนไปหลายรุ่นหลายยี่ห้อ
ตั้งแต่เชฟโรเล็ต, โอเปิล, ออสติน, เฟียต. โฟล์กสวาเก้น ฯลฯ แต่ไม่ได้มีทีเดียวพร้อมกันทุกยี่ห้อ เบื่อคันเก่าก็ซื้อคันใหม่มาขับ

อาจิตรบอกรถแต่ละคันปู่จะขับไม่นาน ประมาณ ๕-๖ เดือนหรือเต็มที่ปีกว่าก็เปลี่ยนคันใหม่ ในจำนวนที่กล่าวนี้มีหลายคันที่สำนักพิมพ์ออกเงินซื้อให้ก่อน แล้วหักค่าบทประพันธ์ชดใช้กันไปจนกว่าจะครบจำนวน
รถช่วยให้น้องๆ ท่านรวมทั้งพ่อผมด้วย ขับรถเป็นกันทุกคน เริ่มจากปู่ ป. แนะนำวิธีขับและให้หัดขับไปมาในสนามหน้าบ้านก่อน พอมั่นใจว่าควบคุมรถได้ก็ออกไปขับวนในซอยสีฟ้า
ทะลุไปซอยอารี ซอยเสนาร่วม แล้ววนกลับมา ถ้าถึงขั้นปีกกล้าขาสั่น...เอ๊ย...ขาแข็งจึงออกถนนใหญ่

เรื่องเอารถไปหัดขับปู่ไม่ห้าม ทั้งๆ ที่รถยนต์คือสิ่งที่ไม่มีใครเขายอมให้คนอื่นมายืมขับถ้าไม่จำเป็น

“คุณลุงใจดีมาก ใจดีจริงๆ อาเนี่ยรู้ซึ้งเลย ใครจะขออะไรไม่เคยว่าไม่เคยบ่น ใครๆ ก็รักท่าน” อาจิตรเล่าอย่างปลาบปลื้ม แล้วเปลี่ยนเป็นหน้าเศร้า “อายังเสียดายอยู่จนทุกวันนี้ ที่คุณลุงตายเร็วเหลือเกิน ตอนนั้นน่าจะอยู่ต่ออีกสักสิบปียี่สิบปี”

ด้วยเหตุที่รถของปู่ใครจะขับก็ได้ ทุกคนจึงได้โอกาสหัดขับกันทั่วหน้า แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดอะไรเสียหายหรือเฉี่ยวชน ปู่มล (โกมล อินทรปาลิต) น้องคนเล็กของปู่กับพ่อผม...สองอาหลานแต่วัยใกล้เคียงกัน ขับรถเป็นก่อนใคร
นอกจากนี้ทั้งอาทั้งหลานยัง “ซี้ปึ้ก” เหมือนเป็นเพื่อนกันมากกว่าเป็นญาติ

อาจิตรเล่าว่าวันนั้นไม่รู้ปู่มลกับพ่อผมนึกยังไง จึงจะแอบเอารถปู่ไปขับเล่นโดยไม่ขออนุญาตก่อน เมื่อเห็นปู่นอนพักช่วงกลางวัน สองอาหลานช่วยกันเข็นรถไปตามถนนโรยกรวดเพื่อออกประตูใหญ่ซึ่งอยู่ห่างราว ๕๐ เมตร
สาเหตุที่ต้องเข็นเพราะถ้าสตาร์ทเครื่องปู่จะได้ยิน

จวนจะถึงประตูใหญ่อยู่แล้ว ปู่ ป. ก็ปรากฏตัวที่ระเบียงชั้นบนแล้วตะโกนถาม

“เฮ้ย – อ้ายสองนั่นจะเอารถข้าไปไหน”

ความตกใจทำให้พ่อผมรีบหันมาตะโกนตอบทันที โดยสมองยังไม่ทันสั่งการ

“ซ้อมเข็นครับพ่อ ถ้ารถเสียจะได้รู้ว่าเข็นยากแค่ไหน”

อาจิตรเล่าถึงตรงนี้ก็หัวเราะชอบใจ แล้วบอกแทนที่ปู่ต่อว่าน้องชายกับลูกชายของท่าน กลับอนุญาตให้เอาไปขับได้ นี่คือความใจดีส่วนหนึ่งของปู่ ป.
แต่ในความใจดีบางทีก็มีอารมณ์ร้าย โดยเฉพาะโต๊ะทำงานของปู่ทุกคนจะรู้ว่าเป็น Restricted area หรือเขตหวงห้ามเด็ดขาด ประมาณว่าใครเข้ามาป้วนเปี้ยนใกล้ๆ จะโดนเอ็ดตะโรทันที
ถ้าปู่กำลังทำงานอยู่ก็โดนตะเพิด ปู่หวงห้ามเพราะต้นฉบับบทประพันธ์ของท่านมีความสำคัญยิ่งยวด มันคือกระดาษที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ หากเกิดความเสียหายขึ้นมาท่านจะต้องเขียนหรือพิมพ์ใหม่ เสียเวลาโดยใช่เหตุ

อาจิตรเล่าว่าเหตุการณ์ระทึกขวัญเคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ทำเอาคนในบ้านไม่กล้าสู้หน้าปู่ไปหลายวัน เรื่องของเรื่องคือปู่ชอบกินแกงเขียวหวานเนื้อโดยฝีมือแม่ผม วันนั้นท่านให้แม่ไปจ่ายตลาดมาปรุงแกงเนื้อเป็นกับข้าวมื้อเย็นสำหรับท่านและทุกคนในบ้าน

ถึงเวลาอาหารเด็กในบ้านช่วยกันยกกับข้าวและข้าวสวยมาที่ห้องทานข้าว ซึ่งปู่กับย่านีและน้องๆ ท่านกับพ่อผมและอาติ่งจะรับประทานร่วมกัน ส่วนอาจิตรทานกับแม่ผมที่ห้องครัวซึ่งอยู่ถัดไปจากเรือนใหญ่ แต่มีทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน

เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเผลอวางชามแกงเขียวหวานเนื้อบนโต๊ะทำงานปู่ เพราะจะรีบไปรับหม้อข้าวจากอีกคนหนึ่ง ปู่หันไปเห็นเข้าพอดีจึงเกิดพสุธาฟ้าพิโรธโกรธเกรี้ยวขึ้นมาฉับพลัน

ท่านลุกจากเก้าอี้ปราดไปที่โต๊ะทำงาน ด้วยใบหน้าเหมือนยืมหัวโขนทศกัณฐ์ของกรมศิลปากรมาสวมใส่ ยกชามแกงขนาดชามเปลทุ่มลงบนพื้นไม้ขัดเงาจนชามแตกแกงหกกระจายเลอะเทอะ พร้อมตะโกนลั่นจนบ้านไหวสะเทือน

“ข้าบอกกี่หนแล้วว่าอย่าเอาอะไรมาวางบนโต๊ะทำงานข้า”

วงแตกซีครับ...ทุกคนกลายร่างเป็นนินจาเผ่นแผล็วออกไปจากห้องอาหาร เป็นอันว่ามื้อเย็นวันนั้นอดข้าวกันหมด ถึงมีกับข้าวอื่นอีกใครจะกล้ากิน เด็กต้นเหตุถึงกันนอนร้องไห้ในห้องนอนตัวเอง บอกตกใจไม่เคยเห็นคุณลุงดุขนาดนี้

ไอ้ด่าง ไอ้ดำ อีแดง หมาในบ้านกระดิกหางแทบหลุด ที่โชคดีได้ลิ้มรสแกงเขียวหวานอันโอชะ อาจจะเผ็ดไปหน่อยแต่พวกมันก็ทนกินได้อย่างเอร็ดลิ้นอร่อยปาก...

(จบเรื่องเล่าจากคุณอา)


ภาพประกอบ : ๑. ปู่กับรถคันหนึ่งของท่าน
                 
                  ๒. ฤทัย อินทรปาลิต ท่านพ่อของผมเอง




คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า
ปริญญา อินทรปาลิต
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 พ.ค. 19, 20:47

อยู่กับปู่ ป. (๔)

ทุกวันนี้ผู้ที่รู้จริงเกี่ยวกับปู่ ป. เหลือน้อยคนหรืออาจไม่เหลือแล้วก็ได้ ในเมื่อแต่ละคนต่างโดนเจ้ายักษ์ม่วงธานอสดีดนิ้วใส่ จนสลายหายไปหมด

ดีไม่ดีจะเหลืออีตาปริญญาคนเดียว ที่ธานอสไม่สามารถดีดนิ้วทำอะไรได้ เพราะหมอนี่เขา (หน้า) ด้านและ (หน้า) ทน ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มอเวนเจอร์สสักหน่อย

เรื่องของปู่ที่ได้ยินได้ฟังจากแม่หรืออา ถือว่าทรงคุณค่ายิ่ง เพราะทั้งสองท่านล้วนอยู่ในเหตุการณ์จริง ได้รู้ได้เห็นอะไรเป็นอะไร ปู่ทำหรือพูดอย่างไร

แต่การรู้เรื่องปู่ที่ทรงคุณค่าที่สุดคือได้รู้จากปากของท่านเอง ทุกเรื่องที่ปู่เล่าข้อมูลจึงแน่น ถูกต้อง ชัดเจน ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ทำเรื่องนั้นหรือพบเห็นเรื่องนั้นๆ ด้วยตัวของท่าน

ปกติตอนปู่ยังมีชีวิต ผมไม่ค่อยได้พูดคุยสุงสิงกับท่านมากนัก ต่างปฏิบัติต่อกันในลักษณะปู่อุปการะดูแลรับผิดชอบชีวิตหลาน หลานอยู่ในโอวาทปู่เพราะท่านเปรียบดังผู้บังเกิดเกล้า

จะได้คุยกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นเรื่องเป็นราว เป็นงานเป็นการ ก็โน่นแหละครับ...หนึ่งทุ่มถึงสามทุ่มทุกวัน ไม่เว้นวันโกนวันพระ วันธรรมสวนะ วันนักขัตฤกษ์ เรียกว่าทุกวันไม่มีวันหยุด

ถึงเวลาต่างฝ่ายต่างเข้าประจำสถานีรบ ปู่นอนคว่ำเหยียดยาวบนเตียง ผมขึ้นไปเหยียบท่านเริ่มจากน่องและขาไล่ไปถึงกลางหลัง สุดทางที่สะบักซ้ายขวา ยูเทิร์นเฉียดต้นคอพอให้หวาดเสียว
จนกระดูกกระเดี้ยวในตัวท่านดังกรุ๊บกรั๊บ ตอนนั้นปู่ยังไม่คุยอะไรเพราะพูดไม่ถนัด

เหยียบหลังใช้เวลาราว ๑๐-๑๕ นาที บางคราวมากกว่านั้นถ้าท่านเมื่อยมาก หรือความสบายยังไม่เต็มอิ่มจุใจ เสร็จจากเหยียบหลังปู่พลิกตัวนอนหงาย ผมจะเหยียบน่องสองข้างกับหน้าขาปู่
ชุดที่ท่านสวมใส่เวลาให้ผมเหยียบและนวด คือกางเกงแพรแบบขมวดปมเหน็บเอว เนื้อผ้าเป็นมันเลื่อมและลื่น ไม่สวมเสื้อ

กางเกงในหรือกางเกงวานร – Monkey pants ไม่ต้องถามถึง ผมไม่ทราบว่าปู่ไม่ชอบนุ่ง ไม่อยากนุ่ง หรือขี้เกียจนุ่งเพราะอยู่บ้าน แต่กางเกงในของท่านมีอยู่หลายตัว
เป็นแบบบ๊อกเซอร์ไม่ใช่แนบกระชับเหมือนปราการด่านสุดท้าย

ดังนั้นเมื่อกางเกงแพรทั้งมันทั้งลื่น ขณะผมเหยียบหน้าขาท่านปมกางเกงแพรที่เหน็บไว้จึงหลุดบ่อย ปู่ต้องให้ผมลงจากเตียง แล้วท่านลุกขึ้นขมวดปมเหน็บใหม่

แต่บางครั้งท่านคงเพลินสบายจากการเหยียบ จึงไม่รู้ว่าปมกางเกงหลุด ผมก็เลยบังเอิญ (หรืออาจเจตนา) มองเขม้นเห็นสามล้อเก่าๆ ยางแบนแต๊ดแต๋จอดสงบนิ่งอยู่ ก็ถือว่าเป็นบุญตามหาโชคละกัน

แต่ส่วนใหญ่พอปมกางเกงเริ่มคลาย ท่านจะพูดทันที

"หยุดก่อนโว้ย เอ็งลงก่อน กางเกงหลุดเดี๋ยวข้าโป๊"

ผมก็ทำตาม นึกในใจแค่เห็นวับๆ แวมๆ จะโป๊ได้ยังไง แต่ไม่กล้าพูดกลัวท่านผลักด้วยมือฝรั่ง

ช่วงที่กล่าวนี่แหละครับที่ปู่หลานได้สนทนากัน ส่วนย่าปรานีไปสวดมนต์ในห้องนอนผม เนื่องจากหิ้งพระอยู่ที่นั่น แม่ป้าสวดนานมาก (ผมเรียกท่านเช่นนี้ ไม่ได้เรียกย่า)
ตอนนั้นผมอายุสิบกว่าขวบก็นึกในใจว่า แม่ป้าสวดอะไรกันนักหนาเป็นชั่วโมงๆ พระท่านไม่รำคาญแย่หรือ???

ตราบกระทั่งวันนี้ ผมเฒ่าชะแรแก่ชราจวนเจียนจะมรณาเต็มที ก็ยังไขข้อข้องใจนั้นไม่ออก เพราะผมไม่ค่อยสันทัดกรณีเรื่องพระเรื่องเจ้า บาตรไม่เคยใส่ บุญไม่เคยทำ แต่หลังเที่ยงไปประจำเอาข้าววัดมากิน
ซองกฐินซองผ้าป่าไม่ได้แอ้ม เพราะทำตัวหน่อมแน้มบอกเป็นอิสลามทุกที ฮ่าฮ่าฮ่า

โดยมากปู่จะเริ่มเปิดประเด็นพูดคุยก่อน คงรู้ว่าถ้าไม่พูดไม่เล่าอะไรให้มันฟัง เดี๋ยวเจ้าหลานตัวกะเปี๊ยกมันจะเบื่อ แล้วนวดแบบขอไปทีมากกว่าตั้งใจ

เรื่องที่ท่านเล่ามีทั้งนิทาน อาทิ กำเนิดเต่า (เต่านะครับ ไม่ใช่ขี้เต่า ขี้เต่าจะถือกำเนิดยังไงไม่รู้ รู้แต่เวลาเหงื่อออกจะเหม็นเปรี้ยวเหลือทน), เสือโคร่งมีลูกน้อยตัวและมีช้าเพราะอะไร,
งูหลามมีพิษร้ายแรงกว่างูจงอางงูเห่า แค่ฉกเงาเหยื่อก็เท่งทึง ฯลฯ รวมทั้งเรื่องรามเกียรติ์ ทศกัณฐ์ยกพวกตีกับพวกพระรามเพื่อแย่งหัวเข็มขัดสถาบัน...เอ๊ย...เพื่อแย่งนางสีดา, เรื่องศรีธนญชัย เป็นต้น

จริงจังหน่อยก็เรื่องสมัยท่านเรียนโรงเรียนนายร้อย, เรื่องเพื่อนๆ ที่สำเร็จเป็นนายทหารแล้วได้เป็นใหญ่เป็นโตคับประเทศ มิฉะนั้นก็ถูกยิงเป้าข้อหากบฏ ตลอดจนเรื่องงานเขียนในอดีตของท่าน

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผมเคยเขียนแล้ว ทั้งหนังสือเล่มและเล่าสู่กันฟังในเฟซบุ๊กเป็นบางโอกาส จึงขออนุญาตไม่นำมากล่าวอีก แต่ถ้าเพื่อนๆ ท่านใดอยากให้เล่าซ้ำ เชิญแจ้งมาครับ

ผมคิด “ค่าเล่า” เพื่อเป็น “ค่าเหล้า” เรื่องละ ๕๐๐ บาทต่อคนเท่านั้น ฮ่าฮ่าฮ่า


หมายเหตุผู้เขียน.

"อยู่กับปู่ ป." ที่ผมนำเสนอมาทั้ง ๕ ตอนนี้ (รวม "ขอเวลานอก" ด้วย) เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ให้ท่านสมาชิกได้อ่านกัน
แต่เรื่องทั้งหมดยังมีอีกหลายบทหลายเหตุการณ์ ซึ่งผมจะเขียนรวมไว้ในเล่มเดียวกัน ชื่อเดียวกัน ตีพิมพ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ (ปีหน้า) ในวาระ ๑๑๐ ปี ชาตกาล ป.อินทรปาลิต

เรียนมาเพื่อทราบ และขอขอบคุณท่านสมาชิกที่กรุณาสละเวลา (ทน) อ่านมาโดยตลอด
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 04 มิ.ย. 19, 11:34

รออ่านต่อนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง