เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 10666 คดีโฮปเวลล์ : บทเรียนแสบสันต์ หนึ่งหมื่นสองพันกว่าล้านบาท
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 25 เม.ย. 19, 10:06

เมื่อ 2-3 วันนี้มานี้  มีข่าวรายจ่ายก้อนมหึมาที่รัฐบาลชุดนี้ต้องควักกระเป๋าจ่าย ทั้งๆตัวเองไม่ได้รู้เห็นอะไรด้วย 
เป็นมรดกหนี้ตกทอดมาจากรัฐบาลชุดเก่า(แล้วเก่าอีก) สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี   

ขอยกตอนจบของเรื่อง คือคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมาให้อ่านกันค่ะ
จาก  ไทยรัฐออนไลน์
22 เม.ย. 2562 12:05 น.

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่บริษัท โฮปเวลล์ รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ยกฟ้อง มีผลให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฯ ต้องคืนเงินชดเชย ให้โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นฟังคำพิพากษา ทนายความของบริษัท โฮปเวลล์ ได้เดินทางออกจากศาลทันที โดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 10:10

คุณ NAVARAT.C ได้เล่าความเป็นมาของเรื่องนี้ด้วยสำนวนภาษาอ่านง่าย เข้าใจง่าย มีรสชาติแซ่บ ตามแบบของท่าน ลงใน Facebook
ดิฉันก็เลยขออนุญาตท่่าน  นำมาถ่ายทอดต่อในเรือนไทยค่ะ
****************
อะไรคือความโง่ที่คนไทยต้องควักกระเป๋าจ่าย
.
ผมเชื่อว่า ข่าวเรื่องศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้รัฐบาลไทย จ่ายค่าเสียหายให้กับ บริษัทโฮปเวลล์รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คงจะสร้างความงงงันให้แก่คนไทยมากว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไรมาอย่างไร จุดโง่มันอยู่ที่ตรงไหน ทำไมรัฐบาลจึงแพ้คดีในบ้านตัวเองจนต้องเสียค่าโง่ขนาดนี้
.
ต้องขอย้อนไปพ.ศ. 2533 เมื่อสามสิบปีที่แล้ว รัฐบาลสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ต่อรองกับหลายพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ตกลงจะแบ่งเค๊กกันจานใครจานมัน พรรคอื่นห้ามแหยม เวลานั้น นายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคมได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาแล้ว ก็วาดอภิมหาโปรเจกต์ขึ้นในอากาศโครงการหนึ่ง จะก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน บนพื้นที่ของการรถไฟ โดยยกระดับรางขึ้นไปเหนือผิวการจราจรเพื่อลดจุดตัดกับถนน คร่อมไปบนทางรถไฟที่มีอยู่เดิม ประมาณว่าจะใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไม่มีทางจะจัดสรรงบให้ได้ จึงจะต้องใช้วิธีเชิญชวนบริษัทเอกชนทั่วโลกมาประมูลสัมปทานโครงการ ให้ลงทุนตั้งแต่ออกแบบเอง และก่อสร้างเองทั้งหมด โดยให้ผลตอบแทน 30 ปี จากค่าผ่านทางและรายได้จากกิจการเดินรถไฟฟ้า แล้วยังจะยกที่ดินของการรถไฟผืนงามๆในกรุงเทพประมาณ 600 ไร่ ให้ไปพัฒนาอสังหาริมทัพย์ในรูปแบบการเช่าระยะยาวอีกด้วย
.
โครงการระบบรางในความฝันนี้มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 ยมราช-ดอนเมือง ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร แล้วเสร็จใน 4 ปี โดยระบุเป็นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2538
ช่วงที่ 2 ยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก และ มักกะสัน-แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร แล้วเสร็จใน 5 ปี
ช่วงที่ 3 ดอนเมือง-รังสิต ระยะทาง 7 กิโลเมตร แล้วเสร็จใน 6 ปี
ช่วงที่ 4 หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และ ยมราช-บางกอกน้อย ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร แล้วเสร็จใน 7 ปี
ช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่-โพธินิมิตร และ ตลิ่งชัน-บางกอกน้อย ระยะทาง 9.1 กิโลเมตร แล้วเสร็จใน 8 ปี
.
เหยื่อที่โยนไปตามสื่อนี้ มีปลาเข้ามางับสองราย คือบริษัทลาวาลิน (SNC-Lavalin) จากแคนาดา และบริษัท โฮปเวลล์ จากฮ่องกง ผลการประมูลครั้งนั้น บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ ของนายกอร์ดอน วู ยักษ์ใหญ่วงการอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกง เป็นผู้ชนะ โดยจะเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท และให้ผลตอบแทนแก่รัฐบาลไทยเป็นรายปี รวม 30 ปี ประมาณ 53,810 ล้านบาท
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 10:10

ผมยังจำรายการที่สุทธิชัย หยุ่น สัมภาษณ์สดกอร์ดอน วู ออกทีวี ให้เจ้าสัวคุยเฟื่องเรื่องความสำเร็จของตนในฮ่องกง และวิสัยทัศน์ที่มีต่อโครงการนี้ ตอนที่มีข่าวว่าโฮปเวลล์ได้รับสัมปทานในเมืองไทย หุ้นทุกตัวของแกก็ทะยานขึ้นชนเพดานทุกวันไม่มีท่าทีจะหยุด ดูเหมือนว่านายกอร์ดอน วูจะไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนที่จะมาทุ่มในเมืองไทยแม้น้อย ต้องไม่ลืมด้วยนะครับว่าน้าชาติเองก็เป็นนักปั่นราคาที่ดิน และได้วาดโครงการ Western Sea Board ขึ้นที่กระบี่และสุราษฎร์ เล่นเอาที่ดินแถวนั้นพุ่งกระฉูดเป็นสิบๆเท่าในระยะเวลาอันสั้น แล้วระบาดไปทั่วประเทศเหมือนกัน กอร์ดอน วูจึงยิ้มหวานออกรายการวันนั้นโหงวเฮ้งเจิดจ้าพอๆกับคุณหยุ่น แต่พอใกล้จบเจอทีเด็ดคุณหยุ่นบอกยิ้มๆว่าขอถามคำถามสุดท้าย ที่ยูได้สัมปทานมานี่ ยูต้องจ่ายใครบ้างหรือเปล่า
.
เจอทีเด็ดนี้เข้าเจ้าสัวก็ไปต่อไม่ถูก แต่อาศัยความเก๋า ตอบว่า สุทธิชัย ยูถามอย่างนี้ไอถือว่าไม่แฟร์ แล้วเลยเฉไฉ จนแล้วจนรอดไม่ยอมพูดว่าทำไมจึงไม่แฟร์จนกระทั่งหมดเวลา
.
แล้วเรื่องปวดกระบานยกแรกก็เริ่มขึ้น แบบที่โฮปเวลล์นำออกมาเสนอไม่เป็นที่ถูกใจโน่นนี่นั่น ต้องแก้แบบหลายครั้งตามแต่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะพอใจ ซึ่งล้วนแต่ใช้เงินทั้งนั้น กว่าจะลงมือก่อสร้างได้ เส้นทางยมราช-ดอนเมืองซึ่งกำหนดให้เสร็จใน 4 ปีก็หมดเวลาไปตั้งครึ่งตั้งค่อน ต้องกำหนดกันใหม่ให้เสร็จในปี 2541 แต่ก็ยังเจอปัญหาหลักในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ แค่จุดตัดกับโครงการถนนยกระดับอื่นๆบนวิภาวดีรังสิตก็จบกันยากยิ่งแล้ว นายมนตรีตัวการนั้นเล่า ก็ได้ลุกจากคมนาคมไปนั่งปรุงเค๊กชิ้นใหม่ที่กระทรวงเกษตรต่อแล้ว ทิ้งให้เจ้าสัวกอร์ดอนโวยวายกับรัฐมนตรีใหม่ ทีมงานใหม่ไปตามลำพัง ยิ่งต่อมารัฐบาลของน้าชาติก็โดนรัฐประหารโดยพลเอก สุนทร คงสมพงษ์เข้าอีก ปัญหายิ่งยุ่งยากซับซ้อนใหญ่เพราะรัฐบาลใหม่มองว่าโครงการนี้เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น ธนาคารผู้ให้กู้เห็นท่าไม่ดีก็ตัดท่อน้ำเลี้ยง ข่าวร้ายที่มีติดต่อกันมาดังกล่าวทำให้หุ้นทุกตัวลงโฮปเวลล์ตกติดพื้นในทุกตลาด ข่าวว่าถึงตอนนั้นเจ้าสัวแทบจะต้องเอากางเกงไปจำนำ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 10:11

ปรากฏว่าถึงปี 2541 Hopewell ซึ่งได้กลายเป็น Hopeless ไปแล้วเพราะงานมีความคืบหน้าเพียง 13.7% เท่านั้น รัฐบาลไทยจึงบอกเลิกสัญญาสัมปทานในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541
โฮปเวลล์พยายามเจรจา แต่ไม่มีใครอยากคุยด้วย ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547จึงได้ยื่นฟ้องการรถไฟไทยคู่สัญญาต่อองค์คณะอนุญาโตตุลาการตามที่ตกลงในสัญญาว่าจะยุติข้อพิพาทด้วยวิธีการนี้
.
อนุญาโตตุลาการ เป็นขบวนการยุติธรรมที่ไม่ใช้ศาล กล่าวคือเมื่อคู่ความเกิดข้อพิพาทระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายจะเลือกบุคคลผู้มีคุณวุฒิ(ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงยุติธรรม)ฝ่ายละคนซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งยอมรับ และทั้งสองจะเลือกบุคคลภายนอกจากรายชื่อในทะเบียนอีกหนึ่งให้ทำหน้าที่ประธานและชี้ขาด(สองในสาม) ส่วนการพิจารณาคดีก็ผลัดกันให้การและซักค้านเช่นเดียวกับที่กระทำในศาล แต่ใช้เวลาน้อยกว่า
,
คณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ประกอบด้วย รองอัยการสูงสุด ในฐานะตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย, รองศาสตราจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนจากโฮปเวลล์ และ อดีตผู้พิพากษา เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ
ที่สำคัญที่สุดคือคู่สัญญาตกลงกันแล้วว่า เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการตัดสินข้อพิพาทแล้ว จะยอมรับตามนั้น
.
วันที่ 30 กันยายน 2551 คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้การรถไฟชดใช้ค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ เป็นเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยปีละ 7.5% จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
แต่แทนที่จะยอมรับโดยดี รัฐบาลโดยการรถไฟกลับยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้ยกเลิกคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างเหตุผลทางกฎหมาย ว่าโฮปเวลล์ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ช้ากว่า 5 ปีนับแต่รู้เหตุที่ควรฟ้องตามที่กฎหมายไทยว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองกำหนดไว้
.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 10:12

13 มีนาคม 2557 ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาเห็นด้วยกับการรถไฟ แล้วให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
โฮปเวลล์อุทธรณ์
,
วันที่ 22 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับความเห็นของศาลชั้นต้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าคดีนี้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การรถไฟจะยก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาต่อสู้มิได้
.
เรื่องนี้จึงจบลงที่อะไรคือความโง่
ณ วันนี้ผมเช็คในอินเทอเน็ตแล้ว นายกอร์ดอน วู และธุรกิจของเขายังไม่ตาย แต่ในประวัติส่วนตัวและบริษัทโฮปเวลล์จะไม่พูดถึงโครงการฝันร้ายในเมืองไทยเลย ส่วนนายมนตรีนั้นจบฉากชีวิตไปนานแล้ว
สรุปได้ว่าทั้งสองคนนี้ไม่โง่แน่นอน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 10:13

แม้ว่ากันตามเนื้อหา โครงการวาดฝันที่ต่อด้วยหาผู้ใจกล้ามาเหมาในวิธีการที่เรียกว่า Turnkey ซึ่งหมายถึงจะออกแบบและก่อสร้างให้เสร็จสรรพให้ได้ตามเงื่อนไขของเวลาและงบประมาณนั้น ขนาดเป็นการก่อสร้างบ้านธรรมดาๆเจ้าของกับผู้รับเหมายังทะเลาะแทบเป็นแทบตาย สัมมะหาอะไรกับโครงการเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ซึ่งจุดตายคือ พื้นที่โครงการไม่ใช่ที่ดินว่างเปล่า แต่มีที่ซ้อนทับที่ผู้อื่นอ้างสิทธิ์อยู่
.
(ก็ขอให้คอยดูค่าโง่รายการต่อไปนะครับ โครงการสร้างรัฐสภาหลังใหม่ที่กำหนดเสร็จเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ค่าก่อสร้างบานทะโลกไปไม่ทราบกี่พันกี่หมื่นล้านแล้ว เหตุผลหนึ่งก็คือ เพราะโรงเรียนโยธินบูรณะกว่าจะยอมออกจากพื้นที่นี่แหละ)
.
ขีดเส้นใต้ไว้เลยนะครับ ถ้าที่ดินยังไม่เคลียร์ ขอรัฐอย่าได้ไปก่อเรื่องโง่ๆอย่างนี้อีก แล้วประชาชนก็ต้องคอยดูไอ้พวกเสือหิวไม่ว่าหน้าไหนก็ตามที่แกล้งโง่ด้วย
.
(ขอขอบคุณข้อมูลบางประการจากโพสต์ของคุณ Pum Chakartnit ครับ)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 10:28

ขอบคุณที่กรุณาถ่ายทอดมาครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 10:34

พ่อคนนี้ก็ ไม่รู้เอาอะไรมาพูด แล้วก็มีคนเข้าไปกดไล้ค์หลายร้อยซะด้วย ในเม็นต์ก็ด่ารัฐบาลไทยกันท่วมจอ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 10:51

ก่อนที่คุณ NAVARAT.C จะเข้ามาอธิบายเพิ่มเติม    ดิฉันขอคั่นเวลาด้วยการเล่าถึงอนุญาโตตุลาการไปพลางๆก่อนนะคะ   คิดว่าบางท่านอาจยังไม่ทราบว่า คำนี้หมายถึงใครหรืออะไร

อนุญาโตตุลาการ  หมายถึง
1. บุคคลที่คู่กรณีตกลงกัน ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นคนกลางชี้ขาดในข้อพิพาท.
2. (กฎหมาย)  บุคคลคนเดียว หรือหลายคนที่คู่กรณีในสัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้ว หรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้ชี้ขาด

เพิ่มอีกหน่อยค่ะ
อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) คือ การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล เป็นกระบวนการที่คู่พิพาทตกลงกันให้บุคคลที่สามที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทนั้นเป็นผู้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว โดยคู่พิพาทจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาดและผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นด้วย

ขอเล่าประสบการณ์ในฐานะเคยเป็นอนุญาโตตุลาการของกรมทรัพย์สินทางปัญญามาก่อนนะคะ

หน้าที่ของอนุญาโตตุลาการ อย่างแรกที่ทำคือระงับข้อพิพาทของคู่คดี โดยไม่ต้องส่งไปถึงศาล เพราะบางเรื่องถ้าตกลงกันได้ก่อนก็ดี  ไม่ต้องรกโรงศาลที่ท่านมีคดีเข้าคิวกันอยู่มากมายแล้ว   แถมยังกินเวลายาวนาน หากอุทธรณ์ฎีกากัน ก็พบกันบ่อยๆว่ายาวจนคู่กรณีตายกันไปก่อนก็มี  ไม่ทันได้หรือเสียประโยชน์จากคดีนั้น

อนุญาโตตุลาการไม่ต้องเรียนจบมาทางกฎหมาย แต่ต้องถูกส่งไปรับการอบรมทางกฎหมาย  ได้หนังสือหนังหาคู่มือที่เกี่ยวกับกฎหมายที่ต้องรู้มาอ่านให้เข้าใจว่าเราต้องทำอะไรบ้าง  เพื่อความแน่ใจก็มีที่ปรึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายคอยตอบคำถามให้อีกทีหนึ่ง  เพื่อจะได้ไม่ผิดพลาด   ไม่ปล่อยไก่ออกไป  หรือไม่ไปบอกให้คู่คดีทำยังงั้นยังงี้ที่กฎหมายไม่ได้อนุญาตไว้

เดี๋ยวจะยกตัวอย่าง สมมุติเอาแถวๆนี้ละค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 11:10

.


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 11:11

สมมุติว่าแถวนี้มีนักเขียนอยู่คนหนึ่ง ชื่อคุณป.  แกชอบเขียนอัตชีวประวัติว่าตัวเองเป็นเจ้าชายจากแคว้นปางฟ้า ปลอมตัวมาขับแท็กซี่แสวงหารักแท้  
ทีนี้ วันร้ายคืนร้ายก็มีเจ้าชายจากแคว้นปางฟ้าตัวจริง ไปร้องเรียนว่าคุณป.ละเมิดลิขสิทธิ์ เอาชีวิตองค์ชายมาเขียน ว่าเป็นชีวิตตัวแกเอง จัดเข้าประเภทละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา    ต้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งประมาณร้อยล้านเศษๆ
คุณป.ก็ต่อสู้ว่า ไม่รู้เรื่อง ที่เขียนเป็นแค่นวนิยาย   ไม่ได้ไปเอาชีวิตใครมา   แคว้นอะไรนี่ก็สมมุติขึ้นมา ใครจะไปรู้ว่ามันดันมีจริง  ไม่เคยเรียนมาเลยในวิชาภูมิศาสตร์

เมื่อเกิดคดีร้องเรียนขึ้นมา กรมทรัพย์สินฯก็ให้อนุญาโตตุลาการมาเป็นด่านหน้า     ดูว่าจะตกลงกันได้ยังไง  เผื่อไกล่เกลี่ยไม่เอาความกันได้คดีก็จบกันง่ายหน่อย ไม่เป็นภาระถึงขั้นศาล
การระงับคดีพิพาทก็ทำได้หลายอย่าง แล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกันได้ระดับไหน    เช่นพูดกันไปๆมาๆ เจ้าปางฟ้าใจอ่อน ว่าคุณป. โฆษณาชื่อเสียงให้ฟรีๆ  เลยถอนเรื่องไม่เอาความ    ก็จบกันไป  จบงานของอนญาโตตุลการ
หรือเถียงกันไปมา   คุณป.ยอมจ่ายค่าเสียหายได้ จากร้อยกว่าล้านลดลงมาเหลือห้าหมื่น  จะได้เลิกแล้วไม่เอาความกัน  เจ้าปางฟ้าก็ตกลงเพราะดีกว่าอยู่เปล่าๆ   ยังงี้ก็จบไปอีกแบบหนึ่ง

แต่ถ้าทั้งสองเถียงกันไม่ยอมแพ้กันทั้งสองฝ่าย   ตกลงกันยังไงก็ไม่เอา  จะต้องเอาอีกฝ่ายเข้าคุกให้ได้    อนุญาโตตุลาการไม่มีหน้าที่จะมาชี้ขาดว่าจะต้องเอาฝ่ายไหนเข้าคุก หรือฝ่ายไหนไม่ผิด ถูกปล่อยไป      เรื่องก็ต้องถูกส่งเข้ากระบวนการยุติธรรม คือไปที่ศาล

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองฝ่ายทำไม่ได้อย่างหนึ่งก็คือ  ตอนแรกตกลงให้อนุญาโตตุลาการเจรจาไกล่เกลี่ยตกลงยอมความ จ่ายค่าเสียหายเรียบร้อย     โอเคแล้ว เซ็นชื่อตกลงกันไป
แต่พอกลับไปบ้าน  เกิดเสียดายว่าได้เงินน้อยไปหน่อย  โทร.บอกสื่อว่าผมเปลี่ยนใจแล้ว  เรื่องอะไรให้ใครไม่รู้มาตกลงว่าให้ผมได้เงินนิดเดียว ผมควรได้มากกว่านี้   พูดง่ายๆคือเบี้ยวกันขึ้นมาทีหลัง
ไอ้ที่เซ็นไว้ว่าตกลงรับห้าหมื่น   ขอเปลี่ยนเป็นเอาเรื่อง เรียกค่าเสียหายร้อยล้านตามเดิม
ยังงี้ทำไม่ได้ค่ะ
ถ้าไม่ยอมก็ต้องไม่ยอมเสียแต่แรก  ตั้งแต่อยู่ต่อหน้าอนุญาโตตุลาการ   คือเจรจาไกล่เกลี่ยนตกลงกันยังไงก็ไม่สำเร็จ  ถ้าออกมาในรูปนั้นก็ต้องส่งเข้ากระบวนการของศาลต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 11:30

กลับมาที่คุณ NAVARAT.C

คดีโฮปเวลล์ และ คดีเหมืองทองอัครา อนุญาโตตุลาการคนละศาลนะครับ
.
มีผู้ครอปเรื่องที่ผมโพสต์เมื่อวานไปลงในเพจต้นเรื่อง เชิญให้วิสัชนากับผม โดยให้เหตุผลว่า เพื่อที่จะให้ผู้รู้น้อยในเรื่องนี้จะได้ไม่เข้าใจผิดๆ และวิจารณ์ผิดๆ
.
คำตอบคือ “ผมเคยเขียนถึงระบบนี้มานานแล้วครับ ตัวอย่างใกล้ๆ คือ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียนั้นเมื่ออนุญาโตตุลาการตัดสินข้อพิพาทกับรัฐ จะบังคับใช้ได้ก็เมื่อรัฐสภาลงมติด้วยเสียงข้างมากยอมรับก่อน จึงมีผลบังคับ เพราะรัฐสภาคือตัวแทนของประชาชนทั้งชาติ อเมริกา จีน เวียดนาม ยุโรปก็คล้ายๆกัน เมื่อมีข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ความเป็นรัฐาฐิปัตย์จะไม่ยอมให้เอกชน 2-3 คนมาตัดสินชะตากรรมของรัฐ มีแต่ประเทศเมืองขึ้นเท่านั้น ที่ยอม

ไม่อยากเสียเวลามาโต้แย้ง ค้น Google อ่าน แล้วจะเจอตัวอย่างประเทศที่รัฐไม่ยอมรับการตัดสินของเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา แคนาดา

มีแต่ประเทศเมืองขึ้น ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้น หรือประเทศกึ่งเมืองขึ้นที่ประชาชนยังมีทัศนคติ และโลกทรรศน์ แบบชาวเมืองขึ้นที่ประเทศเจ้าเมืองขึ้นมาวางระบบการศึกษาและระบบคิด ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ เช่น การให้ทุนไปศึกษา ไปดูงาน เป็นต้น”
.
ผมก็งงเป็นไก่ตาแตก ต้องง่วนอยู่กับอากู๋ครึ่งค่อนวัน แต่ก็ไม่ได้เรื่องตรงประเด็นที่ตอบมา ไพล่ไปได้ความรู้อื่นๆเยอะแยะต้องนำมาขยายต่อ อย่างไรก็ดี เพื่องขจัดความสงสัย ผมจึงได้ส่งข้อความที่พาดพิงมาเลเซียไปถามเพื่อนซี๊คนหนึ่ง Dato Latt Shariman Abdullah ผู้เป็นนักกฏหมายที่อยู่ในวงการเมืองที่โน่น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 11:31

“ Brother.
I was told that in Malaysia, when the arbitrators have awarded to the contract party, which is a private company against the governmental agency. The enforcement shall be applied only after the parliament approval by majority vote.”
True or not?”
คำตอบที่ได้ตรงจุดชัดเจน คือ
“Not true”
ลองตรองดูสิครับ ถ้าเป็นความจริงแล้วเอกชนหน้าโง่ที่ไหนจะกล้าเข้าไปทำสัญญากับองค์กรของรัฐในมาเลเซีย หากทะเลาะกันแล้วก็เจ๊งลูกเดียวเพราะเขาต้องเข้าข้างกันแหง๋ๆ
.
อย่างไรก็ดี การได้เข้าไปอ่านคำตอบอื่นๆในเพจโน้นทำให้ผมชัดเจนขึ้นว่า เขาพยายามนำคดีเหมืองทองอัคราและโฮปเวลล์มาปะปนเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่เป็นคดีความที่นำฟ้องคนละศาล ของโฮปเวลล์ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการของไทย ภายใต้กฏหมายไทย แต่ของเหมืองทองอัครา บริษัทคิงส์เกตผู้เสียหายไปฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ใช่ครับ มันจึงเป็นเรื่องที่พึงรอบคอบ
.
ศาลนี้มีชื่อเป็นทางการว่า "Permanent Court of Arbitration(ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร)" (PCA) เป็นองค์การระหว่างประเทศตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อส่งเสริมการแก้ไขข้อพิพาทซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐ องค์กรของรัฐ (state entity) องค์การระหว่างประเทศและภาคีเอกชน
การที่ศาลนี้ตั้งอยู่ในอาคารเดียวกันกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)หรือศาลโลก จึงทำให้เกิดความสับสน .
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 11:32

ความจริงคือศาลนี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของศาลโลก และไม่ใช่หน่วยงานของUNด้วย ดังนั้นรายได้หลักของ PCA จึงมาจากค่าบริการที่เรียกเก็บจากคู่ความทั้งสองฝ่าย ที่ต้องการให้ช่วยวินิจฉัยคดีให้ ค่าดำเนินคดีเริ่มต้นที่ €2,000 (ประมาณ 78,000 บาท) สำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ราคานี้ถือเป็นการอ่อยเหยื่อ เพราะที่โหดจริงๆคือค่าว่าความ ค่าตัวของอนุญาโตตุลาการแต่ละคน คิดเป็นเงินไทยก็แสนบาทต่อวัน ค่าทนายขั้นต่ำๆก็ 32000 บาทต่อชั่วโมงการทำงานทั้งในศาลและนอกศาล ค่าป่วยการของผู้ชำนัญพิเศษที่มาเป็นพยานวันหนึ่งๆต้องเป็นแสน ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นเช่นค่าที่พักและค่าเดินทางระดับ first class สู้คดีกันเป็นปีๆ บางคดีหมดไปเกินร้อยล้าน
.
ผู้มีรู้ฟันธงว่า ศาลนี้เป็นเครื่องมือในการหากินของพวกนักกฎหมายระหว่างประเทศ ใครเงินหนาก็สามารถชนะคดีได้ สหรัฐและชาติตะวันตกมักจะชอบใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากต่างชาติอื่นๆ แต่ถ้าคู่กรณีย์ไม่ไปลงนามยอมรับจะไปสู้คดีกันในศาล มันไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ
.
ยกตัวอย่างเมื่อเร็วๆนี้ เกิดข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน ซึ่งจีนไม่ยอมเจรจาใดๆ ฟิลิปปินส์(ที่อเมริกันถือหางในทางลับ)จึงนำความไปฟ้องศาลอนุญาโตตุลาการถาวร แต่จีนไม่สนใจ ลื้อจะทำอะไรของลื้อก็ทำไปอั๊วไม่เล่นด้วย
เมื่อไม่มีคู่ความ ศาลนี้ก็ตัดสินข้างเดียว โดยออก "คำวินิจฉัยข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน" ชี้ว่าจีนเป็นฝ่ายผิด ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนเกาะที่ไปครอบครองโดยไม่ชอบทั้งหมด สื่อตะวันตกก็ประโคมข่าวกดดันจีนเป็นการใหญ่ แต่จีนก็ตอบโต้สั้นๆว่า "ไร้สาระ" ดังนั้นอนุญาโตตุลาการถาวรจึงกลายเป็นตัวตลกถาวร การพิจารณาตัดสินก็เป็นเพียงการเล่นละครปาหี่ของสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 25 เม.ย. 19, 11:32

มีอีกคดีหนึ่งที่รัสเซียได้ปฏิเสธคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการแห่งนี้มาแล้ว ในปี 2014 อดีตผู้ถือหุ้นของบริษัทปิโตเลียมรัชเซียนแห่งหนึ่งแพ้คดี ถูกศาลรัสเซียตัดสินจำคุก หลังจากพ้นโทษเขาได้ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส แล้วก็ยื่นฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลรัสเซีย 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ต่อมาอนุญาโตตุลาการถาวรได้ตัดสินคดีให้นายคนนี้ชนะคดี แล้วมีคำสั่งให้รัสเซียชดใช้ค่าเสียหายราว 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
.
เมื่อรัฐบาลรัสเซียปฏิเสธ บางประเทศในยุโรปก็ทำซ่า โดยขู่จะอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลรัสเซียในประเทศตนเอง รัสเซียบอกว่าก็ลองดู ยูอายัดของไอได้ ไอก็อายัดของยูได้ คำขู่เลยด้าน

ต่อมารัสเซียก็ได้ยื่นฟ้องคดีเดียวกันนี้ต่อศาลโลกของแท้ ไม่ใช่ศาลโลกเทียมอย่าง PCA ปรากฏว่าฝ่ายรัสเซียชนะคดี
.
แต่นั่นเขามหาอำนาจนะครับ ไทยจะไปกร้าวอย่างพี่ๆและสมุนบริวารที่พี่เขาถือหางนักไม่ได้ เดี๋ยวมันออกคำวินิจฉัยมาข้างเดียวจะแก้ยากเข้าไปอีก โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไปปิดเหมืองมีจุดอ่อนที่พวกเขารุมตราหน้าว่าเป็นรัฐบาลทหารที่ใช้อำนาจตาม ม.44 จ้องจะหาเรื่องอยู่แล้ว
ในเกมนี้รัฐบาลไทยจึงใช้วิธีแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะคำสั่งตาม ม.44 ดังกล่าวเป็นการให้ปิดชั่วคราว ไม่ใช่ปิดถาวรแบบเลิกสัญญา ทั้งนี้เพื่อระงับความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของราษฎรไทยที่ถูกผลกระทบในระหว่างการเจรจากับบริษัท เพื่อจะหามาตรการที่ปลอดภัยเพียงพอสำหรับการอนุญาตให้เปิดเหมืองได้อีก
.
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง