เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
อ่าน: 10754 คดีโฮปเวลล์ : บทเรียนแสบสันต์ หนึ่งหมื่นสองพันกว่าล้านบาท
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 29 เม.ย. 19, 11:12

ตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบ ว่าฝ่ายกฎหมายของรถไฟเชื่อว่าคดีนี้จบแล้ว เมื่อศาลปกครองชั้นต้นตัดสินว่าคดีมันหมดอายุไปแล้ว    ปัญหาโฮปเวลล์ก็เลยถูกมองว่าจบสิ้นไปแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีก
ไม่ต้องไปรายงานผู้บริหารให้เสียเวลา  
ใครจะไปนึกว่าศาลปกครองสูงสุดพลิกกลับคำพิพากษาเป็นตรงข้าม    กลายเป็นเรื่องใหญ่โตสั่นสะเทือนกันไปทั้งประเทศ



เอาตรงข้างบนนี้แหละ ยังไม่ขาดอายุความ ฝ่ายกฎหมายของรถไฟที่เชื่อว่าคดีนี้จบแล้วเมื่อศาลปกครองชั้นต้นตัดสินว่าคดีมันหมดอายุไปแล้วน่ะ  จบโรงเรียนกฏหมายที่ไหนมาจึงได้ทำงานได้ทุเรศขนาดนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 29 เม.ย. 19, 11:39

ความเห็นของดิฉันก็คือความเห็นอย่างประชาชนคนหนึ่งนะคะ   ไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบางของการทำงาน เพียงแต่เกิดความคิดเห็นนี้ขึ้นมาเมื่ออ่านจากข่าว ว่าผู้บริหารร.ฟ.ท. ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับโฮปเวลล์นี้เลย     ก็แสดงว่าทางด้านงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ส่งเรื่องขึ้นมาให้รับทราบ   
ในระบบงานของรัฐ     การไม่ได้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบ   มันก็มีคำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ เห็นว่าเรื่องนั้นๆจบไปแล้ว  ไม่จำเป็นต้องส่ง
ส่วนเหตุผลอื่นๆ ก็เป็นไปได้อีกหลายอย่าง เช่นโดนเบรคไม่ให้ส่ง (จะด้วยฝีมือใครก็ไม่ทราบ)  หรือรู้แล้วว่ามันต้องเกิดเรื่องใหญ่แน่ๆ  ก็อกสั่นขวัญแขวน พยายามยื้อเอาไว้เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องพ้นหน้าที่ไปก่อน
หรือเกิดจากความอ่อนหัดของผู้เข้ามารับหน้าที่ ทั้งระดับใหญ่และเล็ก ไม่รู้รายละเอียดของคดีที่คั่งค้างมาแต่ก่อน     เป็นความพลั้งพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

รอฟังคำตอบจากฝ่ายกฎหมายของรถไฟก่อนดีกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 29 เม.ย. 19, 14:54

เชิญเลยครับ ผมคงถือโอกาสเลิกตรงนี้เลย
.
.


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 30 เม.ย. 19, 17:35

จากคอลัมน์ กวนน้ำให้ใส  นสพ.แนวหน้า


หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษา กรณีโครงการโฮปเวลล์ ให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จ่ายค่าเสียหายแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) กรณีถูกยกเลิกสัญญา เป็นเงินมูลค่า 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% พร้อมคืนหนังสือคํ้าประกันจากธนาคารกรุงเทพให้กับโฮปเวลล์ 500 ล้านบาทนั้น
1. รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. นายเอก สิทธิเวคิน เปิดเผยว่า จากการพิจารณาค่าชดเชยที่ร.ฟ.ท.ต้องจ่ายให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คาดว่าเป็นวงเงินรวม 25,000 ล้านบาท
แบ่งเป็นเงินต้น 12,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 13,000 ล้านบาท
โดยร.ฟ.ท.จะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 เมษายนนี้
ยืนยันว่า จะขอให้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมช่วยรับภาระหนี้ดังกล่าว เพราะปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีหนี้สินสะสมประมาณ 120,000 ล้านบาท

ต่อมา นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยหลังเข้ารายงานต่อ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เรื่องที่ ร.ฟ.ท.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาแนวทางปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีค่าโง่โฮปเวลล์ ว่าขณะนี้ได้ส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่ต้องส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะทำงานดังกล่าวแล้ว เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง ฯลฯ

เบื้องต้น คาดหวังว่าจะสามารถตั้งคณะทำงานเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเร่งเดินหน้าเจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ ต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ ภายในกรอบเวลา 180 วันตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

2. วันที่ 30 เม.ย. 2562 คงจะมีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม.

เข้าใจว่า ครม.ชุดนี้ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการดำเนินการกระทั่งเพิกถอนค่าโง่คลองด่าน ที่มีการบอกเลิกสัญญาในยุครัฐบาลทักษิณ แล้วถูกฟ้องเรียกค่าโง่ จนคดีไปถึงศาลปกครองสูงสุดแล้วเช่นเดียวกับกรณีโฮปเวลล์ แต่รัฐบาล คสช.ก็ยังอุตส่าห์ดำเนินการขุดคุ้ย ค้นหา ประมวลข้อมูลการทุจริตประพฤติมิชอบ แบ่งงานกันทำในการเอื้อประโยชน์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และเอกชนในกรณีค่าโง่คลองด่าน กระทั่งสามารถเพิกถอนค่าโง่คลองด่าน และติดตามยึดอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

ขอให้กำลังใจผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ขอฝากว่า อย่าได้เกรงใจใครเลย ผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวมต้องมาก่อน

3. ที่มาที่ไปของกรณีโฮปเวลล์ จัดได้ว่าเป็นมหากาพย์อีกหนึ่งเรื่อง

โดยที่ศาลปกครองสูงสุดไม่อาจไปก้าวล่วงรายละเอียดการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการว่าใครทำผิดสัญญาอย่างไรหรือไม่ คงได้แต่พิจารณาว่า คำวินิจฉัยอนุญาโตฯ เข้าข่ายที่จะต้องเพิกถอนตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 30 เม.ย. 19, 17:36

ในแฟนเพจ ชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง ได้รวบรวมข้อมูลที่มาที่ไปของคดีโฮปเวลล์ไว้อย่างน่าสนใจ

เนื้อหาค่อนข้างยาว จึงขออนุญาตสรุปใจความสำคัญบางช่วงบางตอนมาแบ่งปันเป็นข้อมูลสาธารณะไว้ ณ ที่นี้ เพื่อว่าคนไทยที่มีใจรักชาติรักแผ่นดิน ต้องการจะช่วยปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม จะได้ช่วยกันเสาะหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตีแผ่ และดำเนินการเพิกถอนค่าโง่ในโอกาสต่อไป ดังนี้

3.1 เมื่อปี 2532 กระทรวงคมนาคมได้เสนอ ครม. เพื่อเห็นชอบโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ

ต่อมา เมื่อ ครม. เห็นชอบ กระทรวง จึงประกาศเชิญชวนผู้สนใจเสนอโครงการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟและทางรถยนต์ยกระดับโดยให้ได้รับสัมปทานดำเนินการระบบรถไฟชุมชนและสัมปทานทางรถยนต์ในเขตของทางรถไฟ นอกจากนี้ ผู้รับสัมปทานจะได้รับสิทธิในการจัดหาผลประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟฯ

โดยผู้สนใจจะต้องเสนอโครงการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟและทางรถยนต์ยกระดับพร้อมอาคารสถานี เครื่องอุปกรณ์อาณัติสัญญาณ โทรคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ และสาธารณูปโภคอย่างครบถ้วน กำหนดระยะเวลาดำเนินการตามโครงการ 30 ปี ไม่นับรวมระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3-5 ปี โดยต้องเสนอโครงการต่อ กระทรวง ตามเงื่อนไขที่กำหนดรวม 7 ข้อ เช่น ต้องเสนอรายละเอียดโครงการพร้อมแผนงาน ผลปประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสม ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวน 1,500 ล้านบาท ต้องชดเชยอาคารที่มีการรื้อถอน

โครงการนี้ มีผู้สนใจซื้อซอง 4 ราย แต่มีผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียว คือ โฮปเวลล์

กระทรวง รับข้อเสนอของโฮปเวลล์ เสนอ ครม. เพื่อพิจารณา

3.2 เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 กระทรวง และการรถไฟฯ ได้ทำสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม. และประโยชน์จากที่ดินกับ โฮปเวลล์

ต่อมา มีการแก้ไขสัญญา มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า การก่อสร้างส่งมอบเฉพาะระบบรถไฟ และถนนยกระดับ

ส่วนโครงสร้างทาง อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่สัมปทานตกเป็นของการรถไฟฯทันทีที่ก่อสร้าง โดยโฮปเวลล์มีสิทธิใช้ประโยชน์สิ่งปลูกสร้างตลอดอายุสัมปทาน โฮปเวลล์มีสิทธิเก็บรายได้จากระบบทางด่วนยกระดับและทางรถไฟและทรัพย์สินเชิงพาณิชย์อื่นๆ โดยโฮปเวลล์ มีหน้าที่ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการออกแบบก่อสร้าง ประกอบการ ดูแลบำรุงรักษาทั้งหมดตลอดระยะเวลาสัมปทาน และระยะเวลาสัมปทานมีกำหนด 30 ปี นับแต่วันที่สัญญาใช้บังคับ สำหรับเวลาก่อสร้างมีกำหนด 8 ปี นับแต่วันที่สัญญาใช้บังคับ

3.3 หลังจากทำสัญญาแล้ว การรถไฟฯ เห็นว่า โฮปเวลล์ทำงานการก่อสร้างจริงได้เพียงในระยะที่ 1 เท่านั้น ซึ่งตามแผนงานวางไว้ต้องเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 5 ตามลำดับ และมีปัญหาเกี่ยวกับจุดตัดถนน แต่ก็ยังเห็นว่าแก้ไขและทำให้เสร็จได้ตามระยะเวลาสัญญา  กระทรวงและการรถไฟฯจึงรายงานต่อ ครม.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 30 เม.ย. 19, 17:37

ต่อมา เดือน เม.ย.2539 การรถไฟฯ รายงาน ครม. ว่า ผลการดำเนินการได้ประมาณ ร้อยละ 5 ซึ่งตามแผนควรมีความก้าวหน้าร้อยละ 67 การก่อสร้างจึงอยู่ในเกณฑ์ล่าช้ามากกระทรวง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัด ติดตาม ควบคุมดำเนินงานตามสัมปทาน เพื่อติดตามความก้าวหน้าของงาน แต่โฮปเวลล์ก็ยังไม่สามารถก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 เสร็จได้ ต่อมากระทรวง มีหนังสือแจ้งเตือนกรณีงานล่าช้า แต่โฮปเวลล์ก็ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ โดยอ้างอุปสรรคของพื้นที่ก่อสร้างต่างๆ แต่กระทรวงเห็นว่าไม่ตรงข้อเท็จจริง

ต่อมา กระทรวง เสนอ ครม.ว่าควร บอกเลิกสัญญาสัมปทาน เนื่องจากโครงการนี้ได้ใช้เวลาดำเนินการมา 6 ปี แต่ผลการดำเนินการก่อสร้างต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดในแผนมาก คาดหมายได้ว่าโฮปเวลล์ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ ซึ่งจะมีผลจะกระทบกับแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรของ กทม. รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผนพัฒนากิจการการรถไฟฯในอนาคต เมื่อ 23 ธ.ค.2540 ครม. จึงเห็นชอบการบอกเลิกสัญญา

3.4 ต่อมา เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2541 กระทรวง ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และห้ามมิให้โฮปเวลล์เข้าไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่โครงการ โฮปเวลล์จึงมีหนังสือวันที่ 30 ม.ค.2541 และ 2 ก.พ. 2541 แจ้งกระทรวง ว่าการบอกเลิกสัญญาต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญา กระทรวงจึงผิดสัญญาและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โฮปเวลล์

25 ก.พ.2541 กระทรวง มีหนังสือแจ้งยืนยันการบอกเลิกสัญญาและแจ้งว่า การบอกเลิกตามกระบวนการของกฎหมายแล้ว สัญญาเป็นอันสิ้นสุดลง จึงไม่ต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการและโฮปเวลล์ไม่มีสิทธิครอบครองพื้นที่สัมปทานและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใดๆ และให้ขนย้ายเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ออกจากพื้นที่ก่อสร้างภายใน 15 วันนับจากได้หนังสือฉบับนี้

ต่อมาโฮปเวลล์ก็มีหนังสือโต้แย้งว่าการบอกเลิกสัญญาต้องเป็นไปตามสัญญา และยืนยันสิทธิเรียกค่าเสียหาย กระทรวง จึงมีหนังสือยืนยันว่า การบอกเลิกสัญญานี้เป็นการบอกเลิกตาม ปพพ. มาตรา 388 มิใช่กรณีการเวนคืนระบบหรือพื้นที่สัมปทาน ตามสัญญา แต่กระทรวง เห็นว่าโฮปเวลล์ ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ จึงเป็นการบอกเลิกที่ชอบแล้ว

23 มิ.ย.2543 โฮปเวลล์มีหนังสือแจ้งว่าการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นไปตามขั้นตอนในสัญญา ทำให้ได้รับความเสียหาย ให้กระทรวง ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาทภายใน 30 วัน

ต่อมา โฮปเวลล์มีหนังสือขอให้เปิดการเจรจาเพื่อยุติปัญหาดังกล่าว หากกระทรวง ไม่ตกลง ภายใน 60 วัน โฮปเวลล์จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ

กระทรวง และการรถไฟฯ ไม่ได้เจรจาภายใน 60 วัน

โฮปเวลล์จึงเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างว่าการบอกเลิกสัญญาของ กระทรวง และการรถไฟฯ ทำให้โฮปเวลล์ได้รับความเสียหาย เรียกค่าเสียหาย เป็นทุนทรัพย์จำนวนประมาณ สองหมื่นแปดพันกว่าล้านบาท ต่อมากระทรวงและการรถไฟฯก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่ออนุญาโตตุลาการ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 30 เม.ย. 19, 17:42

3.5 อนุญาโตตุลาการกำหนดประเด็นพิพาทแยกสำนวนโดย

1. ข้อพิพาทที่โฮปเวลล์ยื่น กำหนดประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดเป็น 4 ประเด็น คือ

1.1 โฮปเวลล์เสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่

1.2 สิทธิเสนอข้อเรียกร้องให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการของโฮปเวลล์พ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่

1.3 สัมปทานเลิกกันโดยปริยายหรือโดยข้อกฎหมาย

1.4 คู่สัญญาจะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ปพพ. ม. 391 หรือไม่

2. ข้อเรียกร้องแย้งที่กระทรวง และการรถไฟฯยื่นกำหนดประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดเป็น 3 ประเด็น คือ

2.1 โฮปเวลล์ผิดสัญญาหรือไม่

2.2 กระทรวงและการรถไฟฯ บอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่

2.3 กระทรวงและการรถไฟฯ เสียหายหรือไม่ เพียงใด

อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวง และการรถไฟฯ ร่วมกันหรือแทนกันคืนค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน และใช้เงินค่าก่อสร้างโครงการ กระทรวง และการรถไฟฯจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่วนโฮปเวลล์ก็ยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
โฮปเวลล์ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด


พรุ่งนี้ มาดูกันถึงรายละเอียดที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย

https://www.naewna.com/politic/columnist/39884
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 01 พ.ค. 19, 10:25

(ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้)
ที่มาที่ไป กรณีโฮปเวลล์ ก่อนจะมาเป็นค่าโง่ 25,000 ล้านบาท ในแฟนเพจ ชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง ได้รวบรวมข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ

ระบุถึงประเด็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ดังนี้

1. ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย มีประเด็น ดังนี้

1.1 โฮปเวลล์ยื่นข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่อาจยื่นข้อเรียกร้องต่ออนุญาโตตุลาการ หรือไม่ ?

ศาลวินิจฉัยเป็นแนวทางว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โฮปเวลล์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 จึงถือว่าโฮปเวลล์รู้ว่าข้อพิพาทเกิดขึ้นและเป็นวันที่โฮปเวลล์อาจยื่นข้อเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้ ซึ่งการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาหรืออายุความในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้ จะมีก็แต่เพียง มาตรา 9 พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ที่กำหนดให้คู่พิพาทอาจตกลงกันกำหนดระยะเวลาหรืออายุความให้สั้นกว่าอายุความฟ้องร้องคดีต่อศาลก็ได้ และให้สิทธิคู่พิพาทขอขยายเวลาออกไปเท่าที่ไม่เกินไปกว่าอายุความการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้
ดังนั้น ระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจึงมีหลักว่า “ข้อพิพาทใดที่อาจเสนอเป็นคดีต่อศาลได้ภายในอายุความการฟ้องคดี ข้อพิพาทนั้นก็สามารถเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้ภายในกำหนดระยะเวลาเช่นเดียวกัน” เมื่อคดีนี้ สัญญาระหว่างคู่พิพาทไม่ได้กำหนดระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจึงกระทำได้ภายในกำหนดอายุความฟ้องร้องต่อศาล กล่าวคือภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 01 พ.ค. 19, 10:25

ดังนั้น เมื่อโฮปเวลล์ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการภายใน 5 ปี นับแต่วันที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา ข้อพิพาทนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เสนอต่ออนุญาโตตุลาการโดยชอบแล้ว

1.2 ประเด็นเนื้อหาแห่งคดี มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่?

สำหรับข้อพิพาทที่โฮปเวลล์ยื่น ศาลวินิจฉัยเป็นแนวทางว่า

(1) โฮปเวลล์เสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ว่า ตามสัญญาสัมปทานมีข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทไว้ว่า เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น คู่สัญญาต้องพยายามประนีประนอมระงับข้อพิพาทนั้นก่อนถ้าหากภายใน 60 วัน หรือในช่วงเวลาที่ขยายออกใดๆ ตามที่ตกลงกันคู่สัญญาไม่สามารถประนีประนอมได้ ให้นำข้อพิพาทนั้นเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด เมื่อข้อเท็จจริง โฮปเวลล์ได้มีหนังสือขอให้ กระทรวงและการรถไฟฯ ประนีประนอมให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่กระทรวงและการรถไฟฯก็เพิกเฉยไม่พยายามเจรจา อนุญาโตตุลาการจึงมีคำขี้ขาดว่า ที่กระทรวง และการรถไฟฯ อ้างข้อกฎหมายว่าการใช้สิทธิของโฮปเวลล์ไม่ถูกต้องตาม ปพพ. ม. 55 ข้ออ้างดังกล่าวเป็นกรณีที่คู่พิพาทจะใช้สิทธิต่อศาลเมื่อถูกโต้แย้งสิทธิ แต่ตามกรณีนี้เป็นเรื่องที่โฮปเวลล์ใช้สิทธิตามสัญญาที่ตกลงกัน การใช้สิทธิของโฮปเวลล์จึงไม่ถูกจำกัดโดยบทกฎหมายดังกล่าว

ศาลจึงวินิจฉัยว่าจากข้อเท็จจริงที่อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยไปตามเงื่อนไขข้อกำหนดของสัญญา โฮปเวลล์จึงมีสิทธิเสนอข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ คำชี้ขาดในส่วนนี้จึงไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีแต่อย่างใด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 01 พ.ค. 19, 10:27

(2) สิทธิเสนอให้ระงับข้อพิพาทโดนวิธีอนุญาโตตุลาการของโฮปเวลล์พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระงับข้อพิพาทตามสัญญาเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม.11 มีผลผูกพันระหว่างคู่พิพาทจึงเป็นสัญญาแพ่งชนิดหนึ่ง สัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาสัมปทานจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ปพพ. ม.193/30 ข้อพิพาทที่ว่า โฮปเวลล์เสนอต่ออนุญาโตตุลาการยังไม่ครบ 10 ปี จึงยังคงใช้สิทธิเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการได้ ศาลปกครองเห็นว่า ไม่อาจนำระยะเวลาตาม ปพพ. ม. 193/30 มาใช้ได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายแต่ละฉบับ แต่เมื่อคำชี้ขาดให้ผลตรงกับที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วในประเด็นแรก

ดังนั้น คำชี้ขาดในประเด็นนี้จึงไม่เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีแต่อย่างใด

(3) สัญญาสัมปทานเลิกกันโดนปริยายหรือโดยข้อกฎหมายหรือไม่ กระทรวงและการรถไฟฯ กับ โฮปเวลล์จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ปพพ. ม. 391 หรือไม่ เพียงใด?

อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า การบอกเลิกสัญญาของกระทรวง และการรถไฟฯ จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในสัญญา โดยต้องบอกเลิกให้โฮปเวลล์แก้ไข หากโฮปเวลล์ไม่เห็นด้วยก็ต้องนำข้อพิพาทนั้นเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ แต่ข้อเท็จจริง กระทรวงและการรถไฟฯ บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์โดยไม่ได้ดำเนินการตามที่สัญญากำหนด จึงไม่มีผลให้สัมปทานเลิกกัน แต่ข้อเท็จจริงต่อมาปรากฏว่า เมื่อกระทรวงและการรถไฟฯมีหนังสือยืนยันเจตนาบอกเลิกสัญญาหลายครั้ง และห้ามให้ผู้คัดค้านเข้าไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่โครงการ และให้ขนย้ายเครื่องมือเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆออกไปจากพื้นที่ภายใน 15 วัน โฮปเวลล์ก็ยินยอมทำตาม จากพฤติการณ์ดังกล่าว อนุญาโตตุลาการเห็นว่า กระทรวงและการรถไฟฯมีเจตนาเลิกสัญญาอันถือเป็นคำเสนอเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ และการที่โฮปเวลล์ยินยอมปฏิบัติตามเป็นการแสดงเจตนาสนองการบอกเลิกสัญญา ดังนั้น สัญญาดังกล่าวย่อมเลิกกันโดยปริยาย

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า สัญญาทางปกครองนั้น รัฐในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดทำบริการสาธารณะย่อมมีอำนาจในการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวให้สัญญาเป็นอันเลิกกัน เมื่อมีเหตุเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวมหรือบริการสาธารณะ โดยมีผลให้สัญญาเลิกกันได้โดยไม่ต้องเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อตัดสินให้สัญญาเป็นอันเลิกกัน ทั้งนี้ อำนาจการตัดสินใจบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว มีผลเฉพาะให้สัญญาเป็นอันเลิกกันเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า การเลิกสัญญานั้นชอบด้วยกฎหมาย หรือฝ่ายปกครองไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ซึ่งความรับผิดชอบของคู่สัญญามีอยู่เพียงใด ก็ต้องพิจารณาต่อไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งคดีนี้ สัญญาพิพาทมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน ฉะนั้น การแจ้งบออกเลิกสัญญาโดยฝ่ายเดียว จึงยังไม่มีผลทางกฎหมายให้สัญญาเลิกกันในทันที แต่ต่อมาเมื่อกระทรวงมีหนังสือยืนยันการเลิกสัญญาและโฮปเวลล์ก็ยินยอมออกจากพื้นที่และไม่ดำเนินการใดๆในพื้นที่โครงการ ก็เป็นการแสดงออกซึ่งการตกลงให้สัญญาเป็นอันเลิกกัน สัญญาจึงเป็นอันเลิกกัน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน จึงไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 01 พ.ค. 19, 10:28

ส่วนการกลับคืนสู่ฐานะเดิม อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยว่า เมื่อโฮปเวลล์ได้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทานให้แก่กระทรวงและการรถไฟฯแล้ว และได้มอบหนังสือค้ำประกันธนาคารเป็นหลักประกัน และได้ดำเนินการก่อสร้างรวมทั้งปฏิบัติตามสัญญา เสียค่าใช้จ่ายไปจำนวนหนึ่งนั้น เมื่อสัญญาเลิกกัน สิ่งก่อสร้างที่โฮปเวลล์ดำเนินการมานั้น ถือเป็นการงานที่ได้ทำให้กระทรวงและการรถไฟฯ ดังนั้น โฮปเวลล์จึงมีสิทธิได้รับการชดใช้คืนด้วยการใช้เงินตามค่าของงานที่ได้ก่อสร้าง แต่เมื่อกระทรวง ฯและการรถไฟฯ โต้แย้งว่า สิ่งก่อสร้างนั้น กระทรวงและการรถไฟฯไม่สามารถใช้งานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ประสงค์จะทำโครงการต่อ ประกอบกับขณะนี้โครงการก็เก่ามากแล้ว คณะอนุญาโตตุลาการจึงกำหนดลดจำนวนเงินค่าก่อสร้างให้กระทรวงและการรถไฟฯชดใช้คืนแก่โฮปเวลล์ สุดท้ายแล้ว คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้ กระทรวง และการรถไฟฯ ชดใช้เงินตามเหตุผลข้างต้นให้แก่โฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ

(4) ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยในแนวทางที่ว่า เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายกลับสู่ฐานะเดิมเทียบเคียง ปพพ. ม. 391 พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่กระทรวงและการรถไฟฯอ้างเป็นคำร้องให้เพิกถอนคำชี้ขาด เช่นว่า

ประเด็นรับมอบพื้นที่และบ่ายเบี่ยงการรับมอบพื้นที่ ของโฮปเวลล์ นั้น ตามสัญญากำหนดให้กระทรวงและการรถไฟฯเป็นผู้ขับไล่ผู้บุกรุก หากผู้บุกรุกออกไปไม่หมด โฮปเวลล์จะดำเนินการเอง การที่โฮปเวลล์ไม่ยอมรับมอบพื้นที่ คณะอนุญาโตฯ ชี้ว่าไม่ใช่ความผิดหรือความไม่พร้อมของโฮปเวลล์

ประเด็นแบบในการก่อสร้าง คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาตามสัญญาแล้วการส่งมอบแบบบางส่วนสามารถทำได้ ไม่ใช่กรณีที่โฮปเวลล์ไม่พร้อมที่ปฏิบัติตามสัญญาเพราะโครงการไม่มีแบบก่อสร้างก่อน

ประเด็นการออกแบบรางรถไฟ กระทรวงและการรถไฟฯ อ้างว่าโฮปเวลล์ออกแบบรางรถไฟไม่ครบ 3 ราง คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ตามเอกสารแนบท้ายสัญญาไม่ได้มีรายละเอียดระบุให้มีราง 3 ราง และเห็นว่า โฮปเวลล์ได้ออกแบบก่อสร้างเส้นทางสัมปทานถูกต้องตามสัญญาและหลักวิศวกรรมแล้ว

ประเด็นกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานก่อสร้างตามสัญญา โฮปเวลล์อ้างว่า ระยะเวลาก่อสร้างต้องขยายออกไปเท่ากับระยะเวลาล่าช้าที่เกิดเหตุต่างๆ กระทรวงและการรถไฟฯเห็นว่า ความล่าช้าเกิดจากโฮปเวลล์เอง คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า การที่กระทรวงและการรถไฟฯ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้ถูกต้องในเรื่องต่างๆ ทำให้โฮปเวลล์ไม่สามารถดำเนินการออกแบบและก่อสร้างได้ตามแผนเป็นความผิดของกระทรวงและการรถไฟฯ รวมทั้งเกิดจากโฮปเวลล์ไม่สามารถเข้าครอบครองพื้นที่ได้ ระยะเวลาจึงควรขยายออกไปเท่ากับความล่าช้าที่เกิดขึ้น โฮปเวลล์ไม่ได้ผิดสัญญา ฯลฯ

เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเหตุเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วเห็นได้ว่า ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมายและข้อสัญญาของอนุญาโตตุลาการ โดยคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการประเด็นดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไรและคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ปรากฎเหตุที่กฏหมายให้อำนาจศาลในการเพิกถอนคำชี้ขาดได้

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นให้ยกคำร้องของกระทรวงและการรถไฟฯ และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

วันพรุ่งนี้ จะมาว่ากันถึงทางออก เพื่อปกป้องผลประโยชน์และความเป็นธรรมต่อส่วนรวม


https://www.naewna.com/politic/columnist/39893
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 02 พ.ค. 19, 15:52

ผมติดตามเรื่องนี้เพราะอาจต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งก็มีข้อที่ไม่เข้าใจอยู่หลายประการครับ ขออนุญาตนำเสนอบางประเด็นครับ
1. เรื่องการปฏิบัติตามสัญญา
สัญญาคือนิติกรรมที่คู่สัญญาได้แสดงเจตนาจะผูกสัมพันธ์กันตามกฎหมาย ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกันตามที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น ดังนั้น ตราบใดที่สัญญายังไม่สิ้นผล คู่กรณีทุกฝ่ายก็ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ใครไม่ทำตามก็เป็นเหตุให้อีกฝ่ายใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา หรือชดใช้ค่าเสียหายได้
เมื่อข้อกำหนดที่ว่า ให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ก็เป็นส่วนหนึงในสัญญาด้วย ฉะนั้น การบังคับให้คู่กรณีต้องเข้าสู่กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ จึงจะกระทำได้เมือสัญญายังอยู่เท่านั้น ถ้าสัญญาสิ้นสภาพ ข้อบังคับนี้ต้องสิ้นสภาพตามสัญญาด้วย

เมื่อ ฝ่ายรัฐได้ใช้สิทธิยกเลิกสัญญาไปแล้ว ฝ่ายโฮปเวล จะอาศัยสิทธิใดในการบังคับให้ทั้ง 2 ฝ่ายใช้การระงับข้อพิพาทด้วยระบบอนุญาโตตุลาการได้อีก

2. เมื่อโฮปเวล เห็นว่า ฝ่ายรัฐบอกเลิกสัญญาโดยมิชอบตามข้อกำหนดแห่งสัญญา ข้อพิพาทระหว่างโฮปเวลกับหน่วยงานของรัฐจึงมีเพียงประเด็นเดียวคือ ฝ่ายรัฐใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบหรือไม่เท่านั้น ซึ่งควรจะเป็นประเด็นเดียวที่ฝ่ายโฮปเวลมีสิทธิที่จะนำเข้าสู่การวินิจฉัยของฝ่ายอนุญาโตตุลาการ

3. หากอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า สัญญายังคงอยู่อันเรื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ และหากฝ่ายโฮปเวลมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ฝ่ายโฮปเวลควรที่จะเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐปฏิบัติตามสัญญา เช่น ให้เร่งส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง หรืออะไรทำนองนั้น เพื่อให้ฝ่ายโฮปเวลสามารถทำงานให้ลุล่วงตามสัญญาได้ และฝ่ายโฮปเวล ก็ยังไม่หลุดพ้นหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องทำงานให้แก่รัฐให้สำเร็จด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ฝ่ายโฮปเวลก็เรียกร้องค่าเสียหาย และไม่คิดปฏิบัติตามสัญญาต่อ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? และกรณีอย่างนี้ ฝ่ายรัฐก็เรียกร้องอะไรไม่ได้เลยใช่หรือไม่

4. ในอนาคต หากมีเอกชนรายใดเข้าทำสัญญากับรัฐแล้วไม่ยอมทำอะไรเลย สุดท้ายพอรัฐลงดาบก็อ้างว่า รัฐทำให้ตนเสียหายแล้วขอให้ถือบันทัดฐานตามเรื่องนี้ ภาครัฐควรทำอย่างไร
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 02 พ.ค. 19, 16:06

ส่วนตัว ผมสงสัยจริงๆครับว่า ฝ่ายโฮปเวลสุจริตหรือเปล่า เพราะสัญญาทำเมื่อปี 32 ผ่านไป 10 ปี ฝ่ายรัฐยังไม่มีทีท่าว่าจะทำตามสัญญาได้ ปกติการทำสัญญา ย่อมมีกำหนดวันสิ้นสุดตามสัญญา และการจ่ายค่าจ้างตามสัญญาก็ย่อมมีการกำหนดงวด การที่รัฐไม่ส่งมอบพื้นที่ให้เสียที ย่อมเป็นเหตุให้ดฮปเวลไม่สามารถทำงานได้ทันตามกำหนดในสัญญาได้ อาจถูกปรับ หรือเสียเครดิตว่าทำงานล่าช้า เสื่อมเสียชื่อเสียงในทางธุรกิจ อะไรต่างๆ

ฉะนั้น เมื่อผ่านไปสักระยะ โฮปเวลน่าจะต้องเริ่มโวยวาย และเรียกร้องสิทธิตามสัญญาแล้ว แต่โฮปเวลก็ไม่ว่าอะไร ไม่โต้แย้ง ไม่เร่งรัด ไม่ขอบอกเลิกสัญญา คิดค่าเสียหาย คิดเบี้ยปรับ ไม่นำเรื่องเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ ใดๆ ทั้งสิ้น แต่พอรัฐบอกเลิกสัญญาก่อนเท่านั้นแหละ โฮปเวลเดือดร้อนทันที จนต้องยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการก็คราวนี้นี่แหละครับ

ผมเลยไม่มั่นใจว่า โฮปเวลอยากทำงานต่อให้เสร็จ หรือจริงๆ ก็ไม่ได้คิดที่จะทำงานอยู่แต่แรกแล้ว แต่บังเอิญเชิงมวยดีกว่า รอให้ฝ่ายรัฐเข้าชกก่อนแล้วรอเคาเตอร์เข้าปลายคางหลับสนิท

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 02 พ.ค. 19, 17:30

(ต่อ)

ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562 ได้รายงานให้ ครม.รับทราบ เรื่องคำพิพากษาคดีโฮปเวลล์ ซึ่งกรณีดังกล่าวผ่านมา 9 รัฐบาล หรือ 30 ปีมาแล้ว ระบุว่า กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะดำเนินการตาม 5 ขั้นตอน ดังนี้


 
1.คำนวณวงเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ชัดเจน และต้องถามไปยังศาลเพื่อขอให้ชี้แจงตัวเลข ตรวจสอบวงเงินอีกที

2.เจรจากับโฮปเวลล์เพื่อลดผลกระทบต่อภาครัฐ

3.กำหนดแนวทางและแหล่งเงินที่เหมาะสม ในการปฏิบัติตามคำพิพากษา

4.แต่งตั้งคณะทำงานให้ครอบคลุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยจะให้คณะทำงานชุดนี้ดูทั้งวงเงิน และดูทั้งเรื่องของแนวทางเจรจากับโฮปเวลล์ และแนวทางหาแหล่งเงิน ซึ่งตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน ไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่จะเอามาจากที่ไหนเท่านั้นเอง ซึ่งมีหลายทางเลือก

และ 5.กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดและการละเมิด เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยต้องไปไล่ดูว่าโครงการมีข้อผิดพลาดตั้งแต่เมื่อไหร่ และใครที่เกี่ยวข้องบ้าง ทั้งที่มีส่วนเริ่มโครงการและเรื่องการบอกเลิกสัญญา และเกิดผลกระทบจนถึงทุกวันนี้

1. นี่คือจุดเริ่มต้นของการตามแก้ไขสิ่งผิดพลาดในอดีต เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม

ที่สำคัญ ผู้เกี่ยวข้องจะต้องแสดงออกให้เห็นความจริงใจ เอาจริง กล้าหาญ

ทำให้เต็มที่ เด็ดขาด เหมือนสมัยที่ดำเนินการจนสามารถเพิกถอนค่าโง่คลองด่านได้สำเร็จ (โดยการบังคับบัญชาของหัวหน้า คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และยุครัฐมนตรียุติธรรมชื่อ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 02 พ.ค. 19, 17:30

2. จุดอ่อน คือ ขณะนี้ เป็นช่วงรอยต่อคาบเกี่ยวรัฐบาลชุดใหม่

อาจจะเจอข้าราชการเกียร์ว่าง หรือเกียร์ถอยหรือไม่?

นี่คือจุดที่หัวหน้า คสช.จะต้องตระหนัก และควรพิจารณาอย่างเด็ดขาด แล้วส่งสัญญาณให้ชัดเจน ว่าจะสนับสนุนการทำหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องได้อย่างไร?

จะมีมาตรา 44 หรือไม่ อย่างไร มิใช่เพื่อลบล้างคำพิพากษาของศาลปกครอง แต่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม และคุ้มครองการทำงานของผู้เกี่ยวข้อง

3. ก่อนหน้านี้ ได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับโครงการโฮปเวลล์ โดยเฉพาะคำพิพากษาศาลปกครอง ซึ่งทำให้เห็นรายละเอียดที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ไว้ก่อนแล้วว่า มีกรณีข้อพิพาทกล่าวหาว่าฝ่ายเอกชนผิดสัญญามากมายหลายประการอย่างไร แต่อนุญาโตฯ ก็ชี้ว่าฝ่ายเอกชนไม่ผิดอย่างไร สุดท้าย ศาลปกครองจึงชี้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ นั้น ไม่อยู่ในข่ายที่ศาลปกครองจะเพิกถอนอย่างไรไปแล้ว

จะเห็นได้ว่า รูโหว่ประการสำคัญในการจัดการปัญหาโฮปเวลล์ของภาครัฐ จนนำมาสู่ค่าโง่มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ในวันนี้ น่าจะมีอยู่ 2 ช่วงที่สำคัญ

3.1 การได้มาซึ่งสัญญาสัมปทาน รายละเอียดสัญญาสัมปทาน เป็นสัญญาที่รัฐเสียเปรียบหรือไม่อย่างไร? มีนักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ทุจริตประพฤติมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่เอกชนหรือไม่? อย่างไร?

มีการแก้ไขสัญญาในยุคไหน ที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชน? มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือไม่?

เป็นสัญญาที่มีการวางยา เปิดทางให้เอกชนไม่ต้องรับผิดชอบ หรือวางหมากไว้ให้เอกชนหลายเหลี่ยมหลายคูที่จะยื้อการดำเนินโครงการไปได้เรื่อยๆ ยากแก่การบังคับตามสัญญา หรือบอกเลิกสัญญา จริงหรือไม่? แล้วมีใครเข้าข่ายกระทำผิดบ้าง?

ลองเทียบเคียงกับกรณีโครงการก่อสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มูลค่ากว่าสองหมื่นล้าน มีข้าราชการและเอกชน ร่วมกัน แบ่งงานกันทำ ช่วยให้เอกชนได้มาซึ่งสัญญาโดยมิชอบ มีการแก้ไขสัญญาเอื้อเอกชน ทำให้รัฐเสียหาย
จนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ นำมาซึ่งการเพิกถอนค่าโง่ได้ในท้ายที่สุด

ลองเทียบเคียงกรณีค่าโง่ทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง (สายบางนา-ชลบุรี ในปัจจุบัน) ที่มีคำพิพากษาฎีกาเป็นบทเรียนบรรทัดฐาน เมื่อเอกชนดำเนินการก่อสร้างไม่สำเร็จ อ้างว่า กทพ. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ที่ก่อสร้างได้ และมีการตกลงขยายเวลาก่อสร้างออกไป ต่อมา อ้างว่า มีการแก้ไขแบบต่างไปจากที่ตกลงกัน ทำให้ราคาคงที่ตามสัญญาเพิ่มสูงขึ้น เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาด ให้ กทพ. ชำระเงิน 6 พันล้าน พร้อมดอกเบี้ย ต่อมา เอกชนยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาและคำบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว
แต่ กทพ. คัดค้าน และขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดข้างต้น
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง