เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
  พิมพ์  
อ่าน: 15783 วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 02 เม.ย. 19, 21:58

เรื่องการศึกษาต้องพูดกันยาว

ร.ร.ของดิฉัน(และคงอีกหลายๆร.ร.ในกรุงเทพ) แบ่งชั้นเรียนเด็กตามคะแนนสอบ  ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาก็เหมือนกัน
ในยุค 50+ ปีก่อน ทั้งครูและนักเรียนไม่เคยรู้เลยว่าการเรียนแบบอื่นนอกจากแบบที่เรียนเพื่อวัดผลว่าใครจะสอบได้คะแนนสูงสุด ก็มีอยู่เหมือนกัน   
ไม่รู้ว่าในโลกนี้มีเด็กอยู่หลายประเภท  หลากหลายมากกว่าเด็กที่สามารถเรียนได้คะแนนสูงกว่า และเด็กที่เรียนได้คะแนนน้อยกว่า
เด็กทุกคนเมื่อเข้าร.ร. จะถูกส่งเข้าเบ้าหลอมเดียวกันหมด     คือหลอมออกมาให้เรียนเก่ง ตอบข้อสอบได้คะแนนดี   คนไหนทำได้ก็ออกมาเป็นนักเรียนชั้นดี เป็นเด็กเก่งหัวดี เรียนเก่ง คนไหนทำไม่ค่อยจะได้หรือแทบไม่ได้เลยก็ได้ชื่อว่า เด็กหัวทึบ  หัวไ่ม่ดี   เรียนอ่อน   เรียนตกๆหล่นๆ แล้วแต่จะบัญญัติคำมาใช้กันในยุคนั้น

ดิฉันอ่านกระทู้นี้แล้วสะดุดอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องพระยาภะรตราชาท่านอนุญาตให้อาจารย์จักรพันธุ์วาดรูปได้ตามใจรัก
ฝีมือของอาจารย์จักรพันธุ์ ใครๆก็ดูออกว่าเป็นฝีมือระดับเทพ  ไม่ใช่มนุษย์เดินดิน  แต่หกเจ็ดสิบปีก่อน ท่านยังเป็นเด็กน้อยคนหนึ่ง   แต่ถ้าร.ร.เอาเด็กชายคนนี้ใส่เบ้าหลอมเหมือนคนอื่นๆ  เพื่อให้ออกมาเป็นนักเรียนเรียนเก่ง  เมืองไทยอาจจะได้นายแพทย์ หรือวิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์เก่งๆมา 1 คน     แต่ศิลปินแห่งชาติอาจจะหายไป 1 คน  อย่างหลังนี้มีจำนวนน้อยกว่าประเภทแรกมาก    อะไรจะน่าเสียดายกว่ากันคะ
ดิฉันขอกราบเจ้าคุณภะรตราชาไว้ ณ ที่นี้  ในวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของท่านค่ะ

ระบบการศึกษาไทยในทุกวันนี้ก็ยังไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปมากกว่า 50+ ปีก่อนสักกี่ก้าวกันนัก    เด็กไทยก็ยังถูกคาดหวังให้เรียนเก่งไม่แพ้ใคร     จึงเรียนหนัก เรียนยาก ขึ้นทุกที  ไม่มีความสุขเลยกับชีวิตในร.ร.     
แทนที่ระบบจะเรียนรู้ว่า เด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน      คนที่ได้คะแนนท้ายสุดของห้องอาจมีฝีมือบางอย่างที่คนได้ที่ 1 ทำไม่ได้      หรือเขาอาจเป็นเด็กหัวคิดสร้างสรรค์ ที่ครูไม่เข้าใจวิธีคิด    ก็พยายามจะเบนเขากลับไปสู่วิธีคิดแบบกระแสหลัก    เด็กคนนั้นถ้าแหวกได้จนสำเร็จก็โชคดีไป  ถ้าแหวกไม่ไหวเขาก็อาจจะเป็นหนึ่งในคนแพ้ที่ล้มเหลวอยู่ในระบบ

วันนี้ระบายเยอะหน่อยค่ะ    เพราะอ่านแล้วมันไปสะกิดต่อมบางอย่างขึ้นมา     เป็นเพราะทำงานทางด้านช่วยเหลือเด็กด้วยก็เลยมีไฟแรงมากไปหน่อย  ยังงี้ต้องชวนคุณประกอบมาร่วมวงอีกสักคน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 02 เม.ย. 19, 21:59

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 03 เม.ย. 19, 08:57

ถ้าท่านย้อนไปอ่านพระบรมราโชบายขององค์พระผู้พระราชทานดำเนิดวชิราวุธวิทยาลัย(คคห. ๕) ก็จะเห็นแนวทางที่อดีตท่านผู้บังคับการสมัยก่อนยึดถือปฏิบัติเรื่อยมา ซึ่งในสมัยที่ผมอยู่โรงเรียนนั้น พระยาภะรตราชาท่านก็มีวิธีการของท่านที่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ตั้งเป็นทฤษฎีอะไร

จวบจนชัยอนันต์ สมุทวาณิช ศิษย์เอกคนหนึ่งของท่านได้เป็นผู้บังคับการ จึงได้ประยุกต์วิถีวชิราวุธขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยท่านตั้งชื่อวิธีการเรียนการสอนนี้ว่า PLEARN ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติจากคำว่า Play + Learn ซึ่งสอดคล้องกับพระบรมราโชบายที่ว่า "ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งเพลิดเพลินสำหรับเด็ก"

วรชาติ มีชูบทเคยเขียนไว้ว่า

นอกจากนั้นในช่วงแรกที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ยังได้จัดให้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร การเรียนการสอน การพัฒนาครู และบุคลากรทั้งหมด โดยได้นำทฤษฎี Constructivism ซึ่งเป็นทฤษฎีการศึกษาที่พัฒนาขึ้นโดย Seymour Papert แห่งสถาบันสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซุเซตต์ (Massachusetts Institute of Technology, MIT) มาปรับใช้ โดยทฤษฎีนี้เชื่อมั่นว่า ความรู้เกิดจากการสร้างขึ้นโดยตัวเด็ก การศึกษาจะประกอบด้วยการจัดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์ การคิดของเด็กสอดคล้องกับความจำเป็น ความต้องการ และความเป็นไปได้ในปัจจุบันของพวกเขา การให้การศึกษาแก่เด็ก จึงต้องคำนึงถึงการคิดของเด็กๆ ในแต่ละขั้นตอนของ การพัฒนาความรู้ และโลกของเด็ก จะถูกสร้างขึ้น และสร้างใหม่ไปเรื่อยๆ ตาม ประสบการณ์ส่วนตัวของเขา และทฤษฎี Learning to Learn อันเป็นแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่โดย Christine Ward ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศนิวซีแลนด์ มาจัดการอบรม และแนะนำการสอนแก่ครู อาจารย์ ของวชิราวุธวิทยาลัย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 03 เม.ย. 19, 08:58

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ว่า เมื่อเด็กๆ แปรสภาพเป็นผู้ควบคุมกระบวนการเรียนรู้ แทนที่จะเป็นผู้รับความรู้จากการสอนแบบเดิม ซึ่งทำให้เกิดการแปลกแยกจากระบบการเรียนเดิมมากขึ้น สิ่งที่เด็กเรียนเองมีมากขึ้น หากเขามีทักษะและมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว หรือสามารถเช่าเวลาในการใช้อินเตอร์เน็ตได้ หากโรงเรียนและครูไม่ปรับปรุงกระบวนการเรียนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้น ก็เป็นไปได้ว่าครูและโรงเรียนจะกลายเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่จะถูกข้ามไป ฉะนั้นโรงเรียนจึงมีหน้าที่จะต้องสนับสนุนให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้วิทยาการใหม่ไปพร้อมๆ กัน

ในขณะที่มีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น ก็ได้ มีการปรับปรุงหลักสูตรภาษาต่างประเทศพร้อมกันไปในทันที โดยมีเป้าหมายไว้ว่า เด็กจะต้องมีการสื่อสารจริงกับชาวต่างประเทศจากปี ๒๕๓๙ ซึ่งวชิราวุธมีครูชาวต่างประเทศน้อยมาก ก็มีการทยอยรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปีการศึกษา ๒๕๔๕ วชิราวุธวิทยาลัยมีครูชาว อังกฤษ อเมริกัน นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ถึง ๒๐ คน

แม้กระนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ยังมีความเชื่อว่า นักเรียนทุกคนแม้ได้รับความเอาใจใส่ทางการศึกษาเท่ากัน แต่พัฒนาการของแต่ละคนไม่เท่ากัน นักเรียนที่มีทั้งความสามารถ และกระตือรือร้นไม่ควรถูกหยุดยั้งสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ โดยเรียนไปพร้อมๆ คนอื่น จึงได้วางแผนส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับการศึกษาเต็มศักยภาพ โดยจัดกลุ่มนักเรียนเหล่านี้เข้าลู่ที่เรียกว่า Fast Track โดยเน้นให้มีความรู้ภาษาอังกฤษขั้นสูง และสามารถเรียนบางวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษได้ รวมทั้งสามารถใช้อินเตอร์เน็ต ในการค้นหาข้อมูลได้อย่างแคล่วคล่อง

ในปีการศึกษา๒๕๔๐ ได้เริ่มจัดให้มีการสอนวิชาการออกแบบและเทคโนโลยี ทั้งระดับประถมและมัธยม และได้จัดให้มีการก่อสร้างตึกเวสสุกรรมสถิตเป็นอาคาร Art & Design Technology ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้กล่าวถึงแนวคิดในการจัดตั้งโครงการนี้ไว้ว่า "ผมก็มองว่าถ้าจะมีการลงทุน ผมจะลงทุนในเรื่องอะไร ผมคิดว่าเวลานี้ เป็นสังคมความรู้ สังคมความรู้คือ ความคิด ความคิดขึ้นอยู่กับโนว์ฮาว และ ความคล่องแคล่ว เมื่อเป็นเช่นนี้ผมก็กำหนดวชิราวุธว่า เราอาจจะแข่งขันกับโลกนี้ไม่ได้ในเรื่องของสังคมทั้งหมด แต่เราน่าจะแข่งกันได้ในเรื่องของความสามารถเฉพาะตัว ในเรื่องของความคิดต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผมก็เลยมุ่งไปยังเรื่องศิลปะการออกแบบ และเทคโนโลยีในระดับโรงเรียน"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 03 เม.ย. 19, 09:03

ส่วนเรื่องของการแสดง ซึ่งจัดอยู่ในแผนการศึกษาแผนใหม่ของวชิราวุธวิทยาลัยนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ได้แสดงแนวความคิดในเรื่องนี้ไว้ว่า "ถ้าเรามาดูพระราชนิพนธ์ในรัชกาล ที่ ๖ ที่มาเล่นเป็นบทละครในสมัยของท่าน จะเห็นได้ว่า ท่านต้องการให้การเรียนรู้ ต้องการสอนให้ข้าราชบริพารและพ่อค้าวาณิช ในเรื่องคุณค่าของความเป็นตะวันตก แต่ที่สำคัญท่านไม่ได้บอกว่าเอาไปตามนั้นเลย เพราะท่านเป็นคนแรกที่พูดถึงลัทธิเอาอย่าง ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่พยายามที่จะรับกับกระแสตะวันตก ละครของท่านหลายเรื่องเป็นการเล่นเพื่อสอน เช่น เรื่องกลแตก ที่ให้เน้นเรื่องผัวเดียวเมียเดียว ท่านจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทั้งๆ ที่ท่านเป็นหัวหน้าใหญ่ ที่จะทำตรงนั้นได้ท่านจะทำอย่างไร" 
วชิราวุธวิทยาลัยในสมัยศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นผู้บังคับการ จึงได้เจริญรอยพระยุคลบาทโดยจัดให้มีการดัดแปลงอาคารในโรงเรียนเป็นโรงละคร มีการรับครูการละครเพิ่มเติม รวมทั้งจัดให้ครูภาษาอังกฤษมาเป็นครูการแสดง ๑ คน แล้วได้จัดให้นักเรียนแสดงละครพระราชนิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นลำดับมาทุกปี

เนื่องจากในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้มีการปรับเปลี่ยนวันกลับบ้านของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจากเดิมกลับบ้านเดือนละครั้งเมื่อเลิกเรียนในบ่ายวันเสาร์ และกลับเข้าโรงเรียนในตอนเช้าวันจันทร์ มาเป็นกลับบ้านทุกบ่ายวันศุกร์เว้นศุกร์ และกลับเข้าโรงเรียนในเย็นวันอาทิตย์ ซึ่งการที่นักเรียนกลับบ้านทุกวันศุกร์เว้นศุกร์นี้ทำให้การเรียนในวันเสาร์ไม่เป็นไปโดยต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช จึงได้ปรับการเรียนในวันเสาร์ที่นักเรียนอยู่โรงเรียนเป็นการปฏิบัติกิจกรรมกรรมวันเสาร์ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้มีทางเลือกเกี่ยวกับการศึกษา ทั้งนี้ท่านผู้บังคับการได้กล่าวถึงยุทธวิธีในการสอดแทรกความรู้ไปในกิจกรรมสันเสาร์นี้ไว้ว่า

"ผมให้เลิกเรียนวันเสาร์มา ๓ ปี ทดลองดูว่าให้เด็กเลือก ใครอยากทำอะไรในโลกนี้ ใครอยากจะเรียนขี่ม้า หรือใครอยากนอนไม่อยากทำอะไรเลย ก็นอนไป แล้วแทนที่จะมีโปรแกรมว่าศิลปคำนวณ ศิลปฝรั่งเศส เราเปิดทางเลือกให้วันเสาร์ไม่มีเรียน แต่ให้ครูกับเด็กมาร่วมกันศึกษาวัฒนธรรม และภาษาจีนแมนดาริน วัฒนธรรม และภาษาญี่ปุ่น วัฒนธรรมและภาษาเยอรมัน ก็มีเด็กกับครูเรียน เพราะฉะนั้น หลังจาก ๓ - ๔ ปีนี้เราน่าจะมองได้ว่าวิชาใดน่าจะเป็นวิชาเลือกให้เขาเรียน แต่ถ้าเราบอกว่าเป็นวิชาเลือกมันกลายเป็นวิชาไปแล้ว แต่ถ้าเราบอกว่ากิจกรรมวันเสาร์ไม่ต้องเรียน ใครสนใจก็ไปทีนี้พวกที่สนใจจะไปเอง"

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 03 เม.ย. 19, 20:05

เรื่องของการศึกษาที่กำลังถกกันอนู่นี้นั้น คงจะมีด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่จะนำมาถกกันได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งยังขยายวงได้กว้างออกไปในมุมมองด้านต่างๆอย่างไม่รู้จบ สุดแท้แต่จะนำประเด็นใดเข้ามาร่วมพิจารณา (ในองค์รวมก็คงจะเรียกว่าสภาพหรือสิ่งแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี และการจัดการที่เหมาะสมเพื่อยังผลให้บุคคลสามารถคงอยู่หรืออยู่รอดในสังคมพหุภาคีและสังคมที่มีการแข่งขัน)

วชิราวุธฯ มีกิจกรรมหลากหลายตลอดปีการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกถึงความสนใจและความสามารถของตนในด้านต่างๆที่มิใช่เป็นเรื่องของการต้องสอบเพื่อให้ผ่านหรือเพื่อการแข่งขันกันว่าผู้ใดจะเป็นผู้ที่เก่งที่สุด ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นมีลักษณะเป็นกิจกรรมกลุ่ม 
บันทึกการเข้า
azante
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 04 เม.ย. 19, 16:17



เนื่องจากในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้มีการปรับเปลี่ยนวันกลับบ้านของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจากเดิมกลับบ้านเดือนละครั้งเมื่อเลิกเรียนในบ่ายวันเสาร์ และกลับเข้าโรงเรียนในตอนเช้าวันจันทร์ มาเป็นกลับบ้านทุกบ่ายวันศุกร์เว้นศุกร์ และกลับเข้าโรงเรียนในเย็นวันอาทิตย์ ซึ่งการที่นักเรียนกลับบ้านทุกวันศุกร์เว้นศุกร์นี้ทำให้การเรียนในวันเสาร์ไม่เป็นไปโดยต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช จึงได้ปรับการเรียนในวันเสาร์ที่นักเรียนอยู่โรงเรียนเป็นการปฏิบัติกิจกรรมกรรมวันเสาร์ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้มีทางเลือกเกี่ยวกับการศึกษา ทั้งนี้ท่านผู้บังคับการได้กล่าวถึงยุทธวิธีในการสอดแทรกความรู้ไปในกิจกรรมสันเสาร์นี้ไว้ว่า




ผมเข้าเรียนในช่วงปี ๒๕๑๗-๒๕๒๖   รวม ๑๐ ปี ผ่านการเปลี่ยนแปลง การกลับบ้านอยู่ ๒ แบบ
ตั้งแต่เด็กเล็กจนเด็กโต ช่วง ม.ต้น กลับบ้านเดือนละครั้ง วันเสาร์สิ้นเดือนตอนบ่าย กลับเข้าโรงเรียนวันจันทร์ ก่อน ๘ โมง ให้ทันขึ้นหอประชุม ไม่ต้องเรียน คาบ ๑ ตอน ๗ โมง
แล้วมาช่วง ม.ปลาย เปลี่ยนแปลงให้ยกเลิกการเยี่ยม ทุกวันอาทิตย์ และให้กลับบ้าน เสาร์ เว้นเสาร์ แทน กลับเข้าโรงเรียนวันจันทร์เช้า เหมือนเดิม
เสียเวลาเรียนแค่ คาบเช้าวันจันทร์ 2 ครั้ง เท่านั้น

ดร.กัลย์ มาเป็นผู้บังคับการปี ๒๕๑๙

การกลับบ้านวันศุกร์ ไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือ ว่ามาเปลี่ยนตอนปลายๆสมัย ดร.กัลย์ แล้ว

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 04 เม.ย. 19, 18:45

ที่ผมใช้คำว่ากิจกรรมกลุ่มนั้น หมายถึงกิจกรรมที่ทำด้วยกันหรือร่วมกันตามความถนัดและความชอบ 

ในภาคของคณะเด็กเล็กในสมัยของผมนั้น ช่วงเวลาหลังอาหารกลางวันก่อนที่จะเข้าเพร๊บช่วงบ่าย 2-3 โมงเย็นนั้น ก็จะมีการจับกลุ่มเล่นกันไปตามวัย เล่น เล่นดีดลูกหิน เล่นเป่ากบ แหย่กันไล่จับกัน ฯลฯ   เมื่อเข้าห้องเพร๊บ นั่งประจำโต๊ะใครโต๊ะมันแล้ว บางคนก็จะฟุบหลับ บางคนก็จะทำการบ้าน บางคนก็นั่งขีดเขียน วาดรูป หรือประดิษฐ์ของเล่น เป็นช่วงเวลาสั้นๆแบบกึ่งปล่อยให้เป็นอิสระ (ครูเดินมาดูเป็นระยะๆ) ช่วงเวลาสั้นๆในห้องเพร๊บทั้งช่วงบ่ายและช่วงเย็น (19-20 น.)นี้ เด็กจะได้เห็นพรสวรรค์และความสามารถบางอย่างของเพื่อนแต่ละคน ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นสภาพแวดล้อมเล็กๆที่ไปกระตุ้นเด็กให้เกิดความรู้สึกอยาก(challenge)จะลองหรือแสดงความสามารถของตนเองในบางเรื่อง ยังผลให้เด็กรู้จักตัวตนและขีดจำกัดของตนเอง พร้อมกับการเปิดใจยอมรับผู้อื่นในด้านต่างๆมากขึ้น

ในช่วงเวลาของเพร๊บหนึ่งชั่วโมงตอนบ่ายที่เล่ามานั้น จะเป็นเวลาเดียวกันกับที่มีการสอนดนตรี แล้วก็เปิดโอกาสให้เด็กเลือกที่จะสมัครหรือไม่สมัครเรียนก็ได้   แน่นอนว่านั่งในห้องเพร๊บน่าเบื่อเอามากๆ ก็จึงสมัครเรียนดนตรีกัน ในสมัยผมสำหรับเด็กเล็กก็มีแต่เพียงเรียนการสีไวโอลินเท่านั้น   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 04 เม.ย. 19, 19:22

เมื่อย้ายเข้าไปอยู่คณะใน จึงจะได้มีโกาสเลือกเรียนได้มากกว่านั้น ก็มีพวกเครื่องเป่าทั้งหลาย เครื่องสายทั้งหลาย  แยกออกเป็นวงๆไป ก็มีวงปี่สก็อต วงโยธวาทิต วงจุลดุริยางค์ วงสตริงแบนด์ (สำหรับเด็กเล็กในช่วงหลังก็มีวงเมโลดิก้า)  สำหรับพวกที่ยังคิดไม่ออกว่าจะเรียนเครื่องดนตรีแบบใหนและชิ้นใดดี หรือจะด้วยข้อจำกัดว่าไม่มีเครื่องดนตรี หรือจะต้องรอไปจนกว่าเครื่องจะว่าง   ก็จะถูกให้ไปเรียนปั้นดิน (ทำเครื่องปั้นดินเผา)

การเรียนปั้นดินนี้ ผมเองก็เป็นหนึ่งในเด็กหลายคนที่ไปเรียนก่อนที่จะเลือกเรียนเครื่องดนตรีใดๆ (ผมเลือกเรียน Mandolin)   ก็สนุกนะครับ เรียนรู้ตั้งแต่เอาดินเหนียวมาละเลงน้ำในบ่อให้เป็นโคลนเพื่อกำจัดกรวดทรายและเศษพืช (ด้วยการทำให้ตกตะกอน) เรียกว่าทำสลิป  แยกออกมาปั้นเป็นก้อนทิ้งให้พอหมาดและก็เอามาปั้นบนแท่นคอนกรีตที่ใช้เท้าถีบให้หมุนเพื่อขึ้นรูปทั้งแบบเริ่มต้นด้วยก้อนดินหรือปั้นเป็นเส้นแล้วขดขึ้นรูป รวมทั้งการทำแบบหล่อปูนปลาสเตอร์และหล่อ ไปจนถึงการเผาครั้งแรก ลงเคลือบแล้วเผาครั้งที่สอง  ผลงานยังมีโอกาสได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์ในงานวันกรีฑาอีกด้วย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 05 เม.ย. 19, 18:46

บ่ายสามถึงสี่โมงเย็นจะเป็นอีกช่วงเวลาที่อิสระ เป็นเวลาสำหรับการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายไปใส่ชุดเล่นกีฬา ใสเสื้อสีของคณะที่ตนสังกัดอยู่ สีเหลือง-เด็กเล็กหนึ่ง  สีม่วง-เด็กเล็กสอง  สีเทา-เด็กเล็กสาม  สีฟ้า-คณะผู้บังคับการ  สีน้ำเงิน-คณะดุสิต  สีเขียว-คณะจิตรลดา และสีชมพู-คณะพญาไท  ผมไม่ทราบว่าในสมัยของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ เป็นผู้บังคับการนั้น คณะที่เพิ่มมาใหม่มีสีประจำคณะเป็นสีอะไรกันบ้าง

สำหรับคณะเด็กเล็กนั้น ชั่วโมงกีฬานี้มีการสลับไปเป็นชั่วโมงแห่งการฝึกเดินแถว ปี๊ด-ปรี้-ปี๊ด ซ้ายขวาซ้าย  และซ้ายหัน ขวาหัน  (ไม่แน่ใจว่ากลับหลังหันมีรวมอยู่ด้วยหรือเปล่า) ครูที่ฝึกสอนรุ่นๆผมเพิ่งจะเสียชีวิตไปด้วยวัยชราเมื่อต้นปีที่แล้วมานี้เอง คุณครูชาลี สาครสินธุ์ ครับ 

การฝึกเดินแถวนี้เป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับเด็กๆมาก เป็นการฝึกกันเมื่อยังอยู่ในคณะเด็กเล็กเท่านั้น แต่ส่งผลต่อบุคลิกภาพและความสง่างามในการเดินและการเคลื่อนไหวต่างๆที่บ่งถึงความเป็นชายไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว   เราจะเห็นว่าพวกหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่เข้าโรงเรียนทางทหาร ตำรวจ ทหารเกณฑ์ รวมทั้งพวกที่ตั้งใจฝึก รด. ที่ผ่านการฝึกเดิน(แถว)นี้ ก็ล้วนแต่มีบุคลิกลักษณะที่ต่างไป   เรื่องนี้ก็จึงไม่จำเป็นจะต้องทำกันตั้งแต่วัยเด็กเล็ก  ผู้คนเหล่านี้จะคุ้นกับการออกเดินก้าวแรกด้วยเท้าซ้าย           
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 05 เม.ย. 19, 19:29

เล่นกีฬาแล้วเสื้อผ้ารองเท้าที่สกปรกจะทำเช่นใด ?

สำหรับเด็กเล็กนั้นเสื้อผ้าจะไม่สกปรกมากนัก มีแต่เหงื่อ  โรงเรียนก็จะมีระบบบริการ (แล้วค่อยขยายความเรื่องของระบบนี้)  ยกเว้นเรื่องรองเท้าผ้าใบสีขาวที่สวมใส่ในชั่วโมงกีฬา ซึ่งเด็กจะต้องซักเอง(และต้องให้ขาวอีกด้วย) ตากเอง เก็บเอง ทำกันในวันอาทิตย์  รองเท้าหนังสีดำก็ต้องขัดเอง ต้องขัดให้ขึ้นเงาอีกด้วย   เมื่อแก่วัดขึ้นหน่อยก็เลยเป็นเรื่องเอามาอวดกันว่าใครจะขัดได้มันกว่าใคร ใช้ศัพท์ว่า "มันจนแมลงวันเกาะแล้วลื่นตก"  รู้จักการขัดรองเท้าให้มันด้วยการใช้น้ำช่วยก็ตั้งแต่อายุแปดเก้าขวบนี้แหละ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 06 เม.ย. 19, 18:01

กีฬาที่เล่นและแข่งขันกันทั้งหมดจะเป็นกีฬาประเภททีม แข่งกันระหว่างคณะ จะเรียกว่ากีฬาสีก็ได้ แบ่งออกเป็นรุ่นๆ  จะยกเว้นก็เฉพาะกรีฑาเท่านั้นที่เป็นการแข่งขันกึ่งๆระหว่างสีกับบุคคล   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 06 เม.ย. 19, 18:22

อ่านกระทู้ย้อนกลับไปแล้วก็รู้สึกว่า เรื่องราวที่ผมเขียนกำลังดำเนินออกไปท้องทุ่ง  เอาเป็นว่า ที่เล่ามานั้นก็คงพอจะจับความได้ว่าเด็กถูกพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร    เมื่ออยู่ในคณะเด็กเล็ก ครูก็เป็นผู้ดูแล เมื่อเข้าคณะในก็เปลี่ยนถ่ายจากครูไปเป็นรุ่นพี่ ซึ่งป็นการดูแลแบบพี่ดูแลน้อง มิใช่แบบพี่บังคับน้อง ก็เป็นเรื่องของระบบ seniority ในอีกมุมหนึ่ง

ครับผม   
บันทึกการเข้า
choo
มัจฉานุ
**
ตอบ: 95


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 15 เม.ย. 19, 19:32

ขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาเล่าเรื่องโรงเรียนวชิราวุธ(ในสมัย)ของฉัน จนทำให้พอเข้าใจได้ว่าโรงเรียนของท่านหล่อหลอมเด็กให้มีวุฒิภาวะมีความรู้ความสามารถด้านต่างๆตามความถนัด และความเป็นสุภาพบุรุษที่ดีได้อย่างไร ประเด็นสุดท้ายที่อยากให้กรุณาเล่าเพิ่มเติม คือโรงเรียนที่มีนักเรียนจากที่ต่างๆมาใช้ชีวิตร่วมกันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนย่อมมีเรื่องเขม่นกันจนถึงทะเลาะวิวาทได้เป็นธรรมดา โรงเรียนมีวิธีจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไรเพราะถ้าจัดการได้ไม่เหมาะสมแล้วเด็กในคณะเดียวกันหรือต่างคณะก็มีเพื่อนหรือคณะของตนเองเป็นพวกอาจรุนแรงถึงขั้นยกพวกตีกันได้ ถ้าถึงขั้นนั้นก็อยู่ร่วมกันลำบาก และจะเสียซึ่งความสามัคคีของหมู่คณะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 17 เม.ย. 19, 07:11

กิจกรรมทั้งในและนอกหลักสูตรที่โรงเรียนจัดให้นักเรียนต้องทำร่วมกันไม่มีว่าง ทั้งระดับในคณะและระดับโรงเรียน ได้สร้างมิตรภาพของนักเรียนและหล่อหลอมให้เพื่อนแท้ เป็นพี่เป็นน้องร่วมสถาบันเดียวกันจวบจนวันตาย
กีฬาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสามัคคีในคณะที่รุ่นพี่ปกครองรุ่นน้อง  การแข่งขันระหว่างคณะซึ่งดูเหมือนจะเอาเป็นเอาตายกันทุกรุ่นนั้น แต่พอมารวมทีมใส่เสื้อสีเดียวกันแข่งกับโรงเรียนอื่นแล้ว ก็จะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว

ถามว่านักเรียนวชิราวุธมีเรื่องเขม่นกันถึงกับวิวาทบ้างไหม  มีครับ ถือเป็นเรื่องปกติของเด็กผู้ชาย  ในคณะเด็กเล็กครูอาจดูแลใกล้ชิดและทำโทษทั้งคู่หากทะเลาะจนถึงลงไม้ลงมือกัน  แต่ในคณะเด็กโต หัวหน้าคณะอาจจะใช้วิธีที่ต่างออกไปบ้าง  ในโรงเรียนมีโรงสควอช(กีฬาที่ใช้แร๊กเก็ตตีลูกใส่ผนัง)ที่เหมือนสังเวียนกลายๆ  หากใครมีเรื่องกันก็จะนัดไปเจอกันที่นั่นหลังอาหารกลางวัน  ส่วนใหญ่หัวหน้าคนใดคนหนึ่งจะรู้ เพราะเด็กๆจะเดินกันเป็นสายไปที่นั่น  แต่จะไปปรากฏกายหลังชกกันไปแล้วสักเล็กน้อยเพื่อเข้าไปบอกว่าพอๆๆๆ  จับมือกันได้แล้ว

เท่าที่ผมเห็น ส่วนใหญ่พอได้ฟาดปากกันด้วยหมัดลุ่นๆสักครั้ง  พอเลือดกลบปากหรือขอบตาเขียว  ความเป็นเพื่อนมันจะแนบแน่นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป  ไอ้ที่จะอาฆาตแค้นกันไปตลอดนั้นไม่มีเลย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 20 คำสั่ง