เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 15780 วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 14 มี.ค. 19, 18:18

บังเอิญว่า ตลอดทั้งสัปดาห์หน้าจะไปต่างจังหวัด ก็เลยคิดว่าจะมาเริ่มเล่าความหลังจากกลับมาถึงกรุงเทพฯแล้ว ภาพก็เลยดูคล้ายกับว่าไม่อยากจะเขียนอะไร 

เอาเป็นว่าจะเริ่มลำดับความ แล้วก็จะเว้นไป 1 สัปดาห์ นะครับ

ที่จะเล่าต่อจากนี้ไป เป็นประสบการณ์ของผมและสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีเต็ม จนซึมซาบเข้าไปในตัวตนของผม คร่อมช่วงวัยเด็กเล็กจนถึงวัยเด็กโตเป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 14 มี.ค. 19, 18:56

โรงเรียนรับเด็กตั้งแต่ชั้นประถม 3 และเด็กมีอายุ 8 ขวบขึ้นไป เด็กที่รับเข้ามาก็มีคละกันไปทั้งที่มีเชื้อพระวงค์ พ่อค้าคหบดี เรื่อยไปจนถึงข้าราชการในต่างจังหวัด   ด้วยที่โรงเรียนจำกัดในเรื่องจำนวนนักเรียน ในปีหนึ่งๆจึงมีนักเรียนหน้าใหม่อยู่ประมาณ 60 คน แบ่งห้องเรียนออกเป็นห้อง ก กับห้อง ข

ดังที่คุณ NAVARAT.C ได้เล่าไว้ โรงเรียนจะแยกการดูแลเด็กออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นเด็กเล็ก อายุระหว่าง 8 - 11 ปี คือ ชั้น ป.3 - ม.2 ในระบบการศึกษาสมัยก่อน (ในปัจจุบัน คือ ป.3 - ป.6)  จากนั้นก็ก็จะย้ายข้ามฝั่งเข้าไปอยู่ส่วนของเด็กโต  เรียกกันว่า คณะใน หรือคณะใหญ่ (แล้วค่อยๆขยายความต่อไป) 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 14 มี.ค. 19, 19:38

คณะเด็กเล็กจะแบ่งออกเป็น 3 คณะ สมันก่อนนั้นเรียกชื่อว่า คณะเด็กเล็ก 1 เด็กเล็ก2 และเด็กเล็ก 3  ในปัจจุบันนี้มีชื่อเรียกว่า คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และคณะสราญรมย์ ตามลำดับ   พระยาภรตราชา ผู้บังคับการโรงเรียนในสมัยนั้นจะเป็นผู้จัดให้เด็กคนใดไปอยู่คณะใดๆ (ทั้งคณะเด็กเล็กและคณะใน)  แต่ละคณะก็จะมีสีประจำคณะ เด็กเล็ก 1 สีเหลือง เด็กเล็ก 2 สีม่วง เด็กเล็ก 2 สีเทา(ควันบุหรี่)   

ผมอยู่คณะเด็กเล็ก 2 หมายเลข 22 ทุกอย่างของผมคือหมายเลข 22 ทั้งหมด ตั้งแต่ตู้เสื้อผ้า ไปจนถึงเตียงนอน รวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆก็ต้องเขียนหรือปักตัวเลข 22   ของใช้ก็จะมีอาทิ ขันน้ำสำหรับตักน้ำอาบ กล่องสบู่ แปรง ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว รองเท้ากีฬาสีขาว ถุงเท้ากีฬา ถุงใส่เสื้อผ้าสำหรับส่งให้ผู้ปกครองนำกลับไปซัก

เอาละครับ พอจะได้เห็นภาพลึกลงไปอีกหน่อยแล้วว่าอะไรเป็นอะไร  เพื่อจะผูกเรื่องถึงการสร้างฐานที่ดีในการดำเนินชีวิตต่อๆไป
บันทึกการเข้า
choo
มัจฉานุ
**
ตอบ: 95


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 14 มี.ค. 19, 20:19

อยากถามครับว่าในโรงเรียประจำแบบนี้เวลาอาบน้ำใช้ห้องน้ำรวมกันหรือแยกกันแล้วห้องนอนเป็นแบบรวมมีเตียงสองชั้นหรือแบบอื่น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 14 มี.ค. 19, 20:32

ห้องน้ำรวมครับ ไม่มีใครอายใคร นอกจากพวกที่หลุดเข้ามาตอนโตแล้วอาจจะกระมิดกระเมี้ยนตอนแรก แต่สุดท้ายก็ชินไป

พับบลิกสกูลในโลกนี้เหมือนกันหมด ฝรั่งสปอร์ตคลับยังเดินโทงๆในห้องล็อคเกอร์และเวลาเดินไปห้องอาบน้ำ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 14 มี.ค. 19, 20:36

ส่วนห้องนอนก็แยกเป็นห้องๆ สำหรับเด็กเล็กเด็กโตในคณะ แต่ก็นอนกันห้องหนึ่งๆหลายคน

สมัยผมเป็นเตียงเดี่ยว แต่สมัยนี้เป็นห้องติดแอร์ เตียงสองชั้นครับ
บันทึกการเข้า
choo
มัจฉานุ
**
ตอบ: 95


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 14 มี.ค. 19, 20:48

ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
choo
มัจฉานุ
**
ตอบ: 95


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 14 มี.ค. 19, 23:56

ช่วยกรุณาตอบอีกสักเรื่องคือเรื่องอาหารการกินเป็นอย่างไรบ้างและโรงเรียนนี้มีเด็กมุสลิมเรียนบ้างไหมอาหารต้องแยกกันหรืออย่างไรครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 15 มี.ค. 19, 07:58

โรงเรียนจัดอาหารให้เด็กวันละ ๓ มื้อ อาหารว่าง ๑ มื้อตอนช่วงเพลนั้น คณะเด็กเล็กมีจัดให้เพราะห้ามนักเรียนเอาสตางค์มาโรงเรียน แต่คณะในมีโรงขายอาหารที่โรงเรียนเลือกแม่ค้ามาขายขนมหรือข้าวแกงให้นักเรียนในราคาเยา

สมัยผมนั้น แต่ละคณะจะมีครัวที่ผู้กำกับคณะเป็นผู้บริหารจัดการ  กับข้าว ๒ อย่าง แกง ๑ อย่าง ไม่มีอาหารมุสลิม เพราะไม่มีอิสลามในโรงเรียน
นักเรียนทานอาหารพร้อมกันในเรือนอาหารของคณะ สำรับละ ๕ คนรุ่นๆเดียวกัน หัวโต๊ะยาวจะมีหัวหน้านั่งคุม  การไม่ใช้ถาดหลุม เป็นการสอนมารยาทสังคมให้นักเรียน ใครตะกละจะโดนเพื่อนสั่งสอน

แน่นอนว่าคุณภาพของอาหารจะไม่เหมือนที่บ้าน หรือไม่ถูกปาก ตรงนี้ก็สร้างลูกอึดให้นักเรียน มีอย่างไรก็ต้องกินอย่างนั้น บางคณะมีศัพท์แปลกๆเรียกอาหารที่จัดให้ว่ากับข้าวหมาถอยบ้าง ข้าวต้มแผ่นกับลูกปลาวาฬทอดกรอบบ้าง(อันนี้คือปลาชิ้งชั๊ง) แกงจืดลูกชิ้นผ่าแปดบ้าง(อันนี้เห็นจะเกินไป) ผู้บังคับการได้ยินก็เดือดร้อน บนหอประชุมจึงได้ยินท่านพูดเนืองๆเรื่องอาหารว่าที่โรงเรียนจัดให้นี้ดีกว่าที่อังกฤษมากแล้ว ที่โน่นอย่าว่าแต่นักเรียนไทยเลย คนอังกฤษยังกระเดือกแทบไม่ลง แต่ก็ทำให้คนอังกฤษชนะสงครามทุกครั้งเพราะทนความลำบากได้นานกว่าชาติอื่นนั่นเอง

เห็นจะต้องเชื่อท่าน เพราะเวลาที่มีผู้รับเชิญจากภายนอกมาปาฐกถาให้นักเรียนฟัง ผู้ที่เคยเป็นนักเรียนพับลิกสกูลจะต้องกล่าวถึงอาหารเสมอ คล้ายกับเป็นเรื่องที่ฝังใจนักเรียนเมื่อผ่านชีวิตตรงนี้มาได้

ในช่วงปลายของยุคผม ได้มีผู้กำกับคณะคนใหม่ของคณะจิตรลดาเข้ามาแทนท่านเดิมที่ถึงแก่กรรม ขอจารึกชื่อผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่ของวชิราวุธท่านนี้ คือ ครูอรุณ แสนโกศิก นอกจากท่านจะเป็นโค้ชรักบี้ระดับเทวดาแล้ว ท่านยังมีน้ำใจต่อลูกศิษย์ทุกคน อาหารของคณะจิตรลดายกมาตรฐานขึ้นเป็นระดับเชลล์ชวนชิม รุ่นผมหลังซ้อมรักบี้แล้วได้ไปทานข้าวที่คณะของท่านเสมอๆ กิตติศัพท์ระบือไกลจนในที่สุดพระยาภะรตต้องจัดระเบียบใหม่เพื่อไม่ให้เหลื่อมล้ำ โดยโรงเรียนจัดตั้งครัวรวมขึ้น แล้วกระจายอาหารไปให้ทุกคณะ ช่วงนี้ผมไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทราบว่าทีคณะของครูรุณก็ยังมีอาหารฝีมือครูแม่บ้านให้นักรักบี้ทีมโรงเรียนในมือเย็นตามเคย

ทุกวันนี้ที่สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธ มีห้องอาหารชื่อ ครัวโอวี ซึ่งลูกศิษย์ได้มอบพื้นที่ให้คุณครูแม่บ้าน ภรรยาหม้ายของครูรุณหารายได้ในยามชราเพื่อตอบแทนพระคุณครู เวลานี้ท่านยังอยู่แต่ชรามากแล้ว ลูกๆของท่านเป็นผู้ทำกิจการแทน รสชาติอาหารตามเมนูเดิมๆนั้น ถ้าใครข้องใจก็ไปพิสูจน์ได้ เอาชื่อครัวโอวีไปค้นที่อยู่ในเน็ตได้ไม่ยาก

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 15 มี.ค. 19, 08:19

ช่วงปลายของท่าน NAVARAT.C คือ ช่วงที่เพิ่งเริ่มเข้าโรงเรียน
เวลานั้นแต่ละคณะยังต่างทำอาหารกันเอง  เว้นแต่คณะผู้บังคับการที่จัดทำอาหารส่งให้คณะเด็กเล็ก ๑ และเด็กเล็ก ๒ ด้วย
ส่วนคณะเด็กเล็ก ๓ มีครัวของคณะและทำอาหารส่งให้คณะพญาไท  ตัวผมอยู่คณะเด็กเล็ก ๑  เลยมีบุญได้รับประทาน
อาหารรสเลิศที่กล่าวแกมประชดกันกันว่า สุนัขยังเมินตลอดสี่ปีที่อยู่คณะเด็กเล็ก  แล้วย้ายเข้าคณะจิตรลดาที่มีครูแรุณเป็นผู้กำกับคณะ
ตลอด ๖ ปีที่อยู่คณะนี้จึงได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพเหนือกว่าคณะอื่นๆ  แม้กระนั้นสมัยผมช่วงมราผมอยู่คณะโตซึ่งเป็น
ช่วงปลายสมัยท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา  เกิดมีข้อเปรียบเทียบเรื่องอาหารดังที่ท่าน NAVARAT.C กล่าวไว้
ทางโรงเรียนจึงแก้ปัญหาด้วยการออกเมนูอาหารมาตรฐานวันละ ๓ มื้อตลอดเดือน  เมื่อถึงวันตามตารางแต่ละคณะก็จะต้อง
จัดรายการอาหารตามเมนูที่กำหนด  แต่ก็ยังมีข้อเปรียบเทียบว่า อาหารคณะโน้นอร่อยกว่า มัปริมาณมากกว่าคณะนี้
ฉะนั้นในยุคผู้บังคับการ ดร.กัลย์  อิศรเสนา ณ อยุธยา  คณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนจึงอนุมัติงบประมาณให้จัดสร้าง
โรงครัวกลางขึ้นในโรงเรียน  แล้วจัดทำอาหารส่งให้ทุกคณะ  นับแต่นั้นมาอาหารทุกคณะจึงเป็นมตรฐานเดียวกันมาจนถึงบัดนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 15 มี.ค. 19, 08:28

ห้องน้ำรวมครับ ไม่มีใครอายใคร นอกจากพวกที่หลุดเข้ามาตอนโตแล้วอาจจะกระมิดกระเมี้ยนตอนแรก แต่สุดท้ายก็ชินไป

พับบลิกสกูลในโลกนี้เหมือนกันหมด ฝรั่งสปอร์ตคลับยังเดินโทงๆในห้องล็อคเกอร์และเวลาเดินไปห้องอาบน้ำ


ผมลืมกล่าวถึงเด็กเล็ก ก่อนผมนั้นรับเด็กตั้งแต่ประถม ๑ ต่อมาพบว่าเด็กเกินไปเป็นภาระแก่โรงเรียนมากจึงตัดทอนมาเป็นประถม ๓ และอยู่ในคณะเด็กเล็กถึง ๔ ปีก่อนจะเข้าคณะใน
เด็กวัยนี้อาบน้ำเอง(ใช้ขันตักจากตุ่ม หรืออ่างน้ำ) ไม่สะอาดแน่นอน ครูประจำคณะจะจัดบ๋อยมาคอยขัดขี้ไคลให้ทุกวัน

บ๋อย ก็มาจาก boy ศัพท์นี้ถือกำเนิดในอินเดียเมื่ออังกฤษไปยึดเป็นเมืองขึ้น แล้วใช้เป็นสรรพนามเรียกคนรับใช้ชาวพื้นเมืองทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย ลามกลับไปบ้านเกิดที่นักเรียนพับบลิกสกูล หรือมหาวิทยาลัยจะเรียกพนักงานรับใช้ว่าบ๋อยหมด ซึ่งหากเป็นฝรั่งด้วยกันจะโกรธมาก แต่ฝรั่งที่อพยพมาจากยุโรปตะวันออกอาจจะเฉยๆ แบบว่ามีงานทำก็บุญแล้ว

แต่อย่างไรไม่ทราบที่วชิราวุธไปรับธรรมเนียมนี้มา บ๋อยในวชิราวุธเกือบร้อยละร้อยเป็นผู้หญิง ตั้งแต่วัยสาวหรือแก่ ทำงานในครัวและงานแม่บ้านทั่วไป บ๋อยในคณะเด็กเล็กที่คอยขัดขี้ไคลให้เด็กๆนั้นก็เป็นรุ่นสาวทั้งสิ้น จึงเป็นภาระของครูที่ต้องหมั่นมากำกับการแสดงตรงนี้  ถ้าเห็นนักเรียนโค่งคนใดชักจะเป็นหนุ่มแล้วโดยสังเกตุจากขน  ก็จะรีบรายงานท่านผู้บังคับการให้รีบย้ายตัวเข้าคณะในเสียตั้งแต่เนิ่นๆโดยไม่ต้องรอให้จบปีการศึกษา
เข้าคณะในโรงเรียนไม่จัดบ๋อยมาบริการอะไรที่เป็นส่วนตัวในทุกกรณีย์ครับ

ภาพห้องอาบน้ำข้างล่างไม่ใช่ของจริง แต่ใกล้เคียงกับสมัยผมอยู่มาก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 15 มี.ค. 19, 08:35

ดีใจที่ได้อาจารย์วรชาติมาช่วย คงช่วยได้เยอะเพราะอยู่กับโรงเรียนนานมากทั้งในฐานะนักเรียนและครู

ทราบว่าระยะหลังๆตั้งแต่สมัยผู้บังคับการ ดร.ชัยอนันต์เป็นต้นมา มาตรฐานอาหารด้านโภชนาการของโรงเรียนสูงมาก นักเรียนวชิราวุธยุคปัจจุบันจึงรูปร่างใหญ่โตแข็งแรง แต่ถ้าไม่เล่นกีฬาหนักพอก็จะอ้วนฉุไปเลย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 15 มี.ค. 19, 17:55

เมื่อผู้ปกครองได้นำบุตรของตนไปมอบตัว ส่งไปให้อยู่ในรั้วของโรงเรียน ก็จะเป็นวันแรกของชีวิตเด็กวัยประมาณ 8 ขวบที่จะต้องเริ่มต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ไม่คุ้นเคย สำหรับผมและเพื่อนอีกหลายคนก็แย่มากขึ้นไปอีกหน่อย ตรงที่เดินออกจากสภาพแวดล้อมบ้านนอกเมืองหลวงตรงเข้าสู่ในอีกสภาพแวดล้อมที่มีระเบียบและวินัยกำกับอยู่ 

พ่อแม่ก็ใจหายพอๆกับเด็กนั่นแหละ ก่อนจะถึงวันมอบตัวก็ดูเหมือนว่าครอบครัวต่างๆจะทำกิจกรรมเพื่อเบี่ยงเบนความรู้สึกคล้ายๆกัน คือไปเดินเที่ยวดูสัตว์ พายเรือ ถีบเรือที่เขาดิน (สวนสัตว์ดุสิต)  แล้วก็เกือบจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่จะต้องไปเที่ยวสวนสัตว์กันก่อนจะเข้าโรงเรียน กระทั่งเป็นเด็กโตอยู่คณะในแล้วก็ยังนิยมทำกันอยู่ นักเรียนวชิราวุธฯก็เลยรู้จักเขาดินเป็นอย่างดีและมักจะรู้จักสัตว์ต่างๆทั้งไทยและเทศในระดับค่อนข้างดี   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 15 มี.ค. 19, 18:39

เวลานำเด็กไปมอบตัว ต่างก็มักจะเลือกเป็นเวลาหลังอาหารกลางวัน คล้ายกับการเลี้ยงส่ง ก็คงกินกันไม่ค่อยลงหรอกครับ  วันแรกที่มอบตัว ก็จะเป็นวันแรกที่พ่อแม่จะได้เห็นสภาพความเป็นจริงที่ลูกของตนจะต้องเผชิญ ก็คงจะต้องห่วงกันเป็นธรรมดา ในระหว่างที่ช่วยเอาเสื้อผ้าออกจัดเก็บในตู้เสื้อผ้า (ขนาดประมาณ 1 x 1 x 0.40 ม.) มีสองชั้น ปากก็จะพร่ำบอกลูกเท่าที่นึกอยากจะบอกว่าจะต้องทำอย่างไรในเรื่องอะไรบ้าง เช่น แยกเสื้อผ้าใช้แล้ว การใช้ขันอาบน้ำฟอกสบู่ ฯลฯ  สำหรับผมนั้น จำได้แม่นในเรื่องที่แม่บอกว่า เวลานอนอย่าลืมเอาผ้าทับหน้าอกไว้

ผมคิดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการปลูกฝังสิ่งที่มีคุณค่าลงไปในจิตสำนึกของเด็กในเรื่องที่พ่อแม่อยากจะเห็นลูกของตนเป็นคนเช่นใด  ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนจะต้องบอกลูกว่า เป็นเด็กดีนะ เชื่อฟังครู อย่าเกเร ตั้งใจเรียน ขยันและอดทน   เด็ก 8 ขวบ คิดถึงพ่อแม่แล้วจะไม่นึกถึงคำที่พ่อแม่บอกไว้หรือไร เมื่อพ่อแม่มาเยี่ยมเอาขนมมาให้กินในวันพฤหัสบดีพร้อมเก็บถุงผ้าใช้แล้วเพื่อเอาไปซัก เอากลับมาคืนให้พร้อมกับการเยี่ยมในวันเสาร์หรืออาทิตย์ ก็ยังได้ยินคำพูดเช่นนั้นอีก แต่มักจะต่อท้ายด้วยวลีว่า...หรือเปล่า? ตอกย้ำฝังลึกลงไปอีกหลายปีก่อนจะเข้าคณะใน    ก่อนจากกันก็ยังต่อท้ายด้วยว่า พ่อแม่รักลูกนะ พูดออกมาพร้องสิ่งที่แสดงออก (น้ำเสียง ตา การโอบกอด ฯลฯ)   ผมเห็นว่า เรื่องเช่นนี้เองเป็นพื้นฐานที่ยังผลให้ต่อมาเด็กวชิราวุธฯเกือบทุกคนมีลักษณะเฉพาะที่ซับซ้อนบางประการ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 15 มี.ค. 19, 19:24

ชีวิตที่ต้องเริ่มรับรู้ในความเป็นจริงเมื่อไม่มีคนที่รักเรามาช่วยปกป้องช่วยสนับสนุนใดๆ ต้องพึ่งพาตนเองเอาตัวให้รอดก็เริ่มขึ้นแต่เย็นวันแรกที่เข้าเป็นนักเรียนประจำ

เริ่มต้นก็เก้ๆกังๆกับการพับเสื้อนอกให้ยับน้อยที่สุดตามวิธีที่แม่สอนไว้ เก็บหมวก เก็บแผงคอ ถุงเท้ายาว รองเท้าหนังผูกเชือก   เมื่อถึงเวลา 5 โมงเย็นก็ต้องไปอาบน้ำ ครูจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มจะมีจำนวนมากพอที่จะยืนได้สองฝั่งของบ่อน้ำอาบ  เราก็เตรียมตัวแก้ผ้า นุ่งผ้าเช็ดตัว ถือขันพร้อมกับกล่องสบู่ของตน ถึงเวลาก็ใส่รองเท้าแตะยืนเดินเข้าห้องอาบน้ำ   ถอดผ้าเช็ดตัววางไว้ ก็เขินอายไปตามเรื่อง เมื่อผนวกกับว่าจะต้องเข้าโต๊ะอาหารกินข้าวเวลา 6 โมงเย็น  ก็เลยกลายเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่วงเวลาของการอาบน้ำต้องเป็นการอาบน้ำจริงๆ มิใช่เล่นน้ำควบคู่ไปด้วย  เลยที่มาของการอาบน้ำไม่เกิน 5 ขัน ขันแรกราดตัวให้เปียก แล้วฟอกสบู่ สมัยนั้นสบู่ก็ไม่ค่อยจะเป็นฟองมากนัก แถมน้ำยังเป็นน้ำกระด้างอีก เอาสบู่ลูบหน้าได้พรืดหนึ่ง สองแขน สองขา หน้าก้นหลังก้นก็พอแล้ว ตักน้ำล้างสองสามขันก็ตัวหายลื่นจากสบู่แล้ว (เพราะเป็นน้ำกระด้าง) เสร็จแล้วก็ขึ้น(เช็ดตัวแล้วออกจากห้องน้ำ)    เชื่อว่านิสัยอาบน้ำเร็วก็ยังคงมีติดตัวกันอยู่ในปัจจุบันกับพวกโอวีทั้งหลาย เพียงแต่เมื่อวัยมากขึ้นขึ้นก็อาบแบบให้มีความสอาดไปตามสมควร       
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.041 วินาที กับ 20 คำสั่ง