เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 15784 วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลที่ ๖
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 08 มี.ค. 19, 19:33

เห็นภาพใน ค.ห.24 แล้ว นึกย้อนถึงตัวเองเมื่อเข้ามาอยู่ประจำปีแรกๆเลย  งานออกแขกครั้งแรกก็ถูกจับไปแต่งตัวเป็นอาหมวย เล่น (แข่งขัน) แย้ลงรูหน้าพลับพลาที่ประทับ  เป็นอะไรที่หงุดหงิดหัวใจเหลือเกินที่ถูกจับไปแต่งเป็นเด็กผู้หญิง ก็เราเป็นเด็กผู้ชายนี่หว่า   

นึกย้อนไปเมื่อครั้งแรกเข้าโรงเรียนนั้น ตัวเองก็คงจะน่ารักน่าดูอยู่ไม่น้อย ผมคงจะตัวเล็กมาก ขนาดว่าเมื่ออยู่ในแถวเดินไปในพิธีถวายบังคมในวันที่ 23 ตุลาคม นั้น ผมอยู่แถวท้ายสุด โกรธเป็นฟืนเป็นไฟเลยเพราะถูกสาวอาวุโสทั้งหลายแกล้งจับตัว ดึงออกไปจากแถว จับแก้ม ไอ้เราก็กลัวว่าจะเดินตามขบวนไม่ทัน แถวท้ายขบวนสองสามแถวนั้นเป็นเรื่องบันเทิงของสาวๆทั้งหลายจริงๆ   ก็ไม่รู้ว่าโตขึ้นมาได้อย่างไร ถึงได้สูงถึง 172 ซม. และมี นน.ร่วม 80 กก.
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 08 มี.ค. 19, 21:56

ขอส่งแผนที่พุทธศักราช 2453 จัดพิมพ์โดยจุฬาลงกรณ์ฯ แสดงตำแหน่งพื้นที่ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จึงอยากให้นักเรียนเก่า  OV รบกวนแกะร่องรอยตึกเก่าๆ ให้ทีครับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 09 มี.ค. 19, 09:21

หลังการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ แล้ว  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ เนื้อที่ ๙๙ ไร่ ๑ งาน ๖๘ ตารางวา ที่สวนกระจัง ริมคลองเปรมประชากร ตำบลสวนดุสิต ให้เป็นที่ตั้งถาวรของโรงเรียน  แล้วขุดสระเพื่อนำดินมาถมท้องร่องปรับพื้นที่ เพื่อจัดสร้างเรือนไม้ชั่วคราวยกพื้นสูง หลังคามุงจาก สำหรับใช้เป็นหอประชุม อาคารเรียนและเรือนนอน  และสนามกีฬาของนักเรียน

ในแผนที่ของคุณหนุ่มสยามระบุว่าจัดทำในปี ๒๔๕๓ เช่นเดียวกันนั้น ถึงสมัยก่อนจะเปลี่ยนศักราชใหม่ในกลางเดือนเมษายน  แต่อาคารชั่วคราวของโรงเรียนยังไม่น่าจะสร้างเสร็จ  ผังโรงเรียนในแผนที่น่าจะจำลองมาจากแบบร่าง  ซึ่งเมื่อสร้างจริงก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกเล้กน้อย

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) และจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง เขียนเล่าไว้ว่า หมู่เรือนที่เป็นโรงเรียนชั่วคราวหลังคาจากนั้น  แบ่งเป็นห้องเรียนอยู่กลุ่มหนึ่งที่สองฝั่งของสนามรูปไข่ทางตอนหน้า ถัดเข้ามาตอนในของสนามรูปไข่เป็นที่ตั้งหอประชุมของโรงเรียนที่มีลักษณะเป็นเรือนไม้ทาสีเขียวตั้งอยู่ระหว่างห้องเรียนทั้งสองฝั่ง ต่อจากหมู่เรือนที่เป็นหอประชุมและห้องเรียนไปทางทิศตะวันตก เป็นเรือนไม้ทาสีขาวสลับชมพูสลับกัน จัดเป็นเรือนนอนนักเรียนพร้อมที่พักครูกำกับเรือน  ซึ่งแบ่งเป็น ๕ เรือน คือ เรือน ก. เรือน ข. เรือน ค. เรือน ง. และเรือน จ. กับมีเรือนเด็กเล็กซึ่งมีหม่อมพยอมในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ เป็นครูแม่บ้านแยกไปเป็นอีกเรือนหนึ่งต่างหาก  แต่ละเรือนมีห้องล้างหน้า ตู้เสื้อผ้า เตียงสปริงและที่นอนหมอนมุ้งพร้อมสรรพ  ด้านหลังสุดแถวของห้องนอนจัดเป็นห้องน้ำและห้องส้วมแยกออกไปเป็น ๒ หมู่ ด้านหลังสุดของหมู่เรือนจัดเป็นโรงอาหารขนาดใหญ่ต่อเนื่องกับโรงครัว

การก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวที่สวนกระจังนี้สิ้นพระราชทรัพย์ไปในการก่อสร้างอาคารรวมค่าขุดคูและสระน้ำทั้งสิ้น ๒๑๒,๓๑๗ บาท เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จลงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้นโรงเรียนใหม่ที่สวนกระจัง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๔ โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูปจากวัดเบญจมบพิตรมาเจริญพระพุทธมนต์และรับพระราชทานฉันเพล เสร็จแล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนมหาดเล็กหลวงจากโรงเรียนราชกุมารเก่า) ใกล้หอพิธีพราหมณ์ในพระบรมหาราชวังมาอยู่ที่โรงเรียนใหม่ที่สวนกระจัง และได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนใหม่นี้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นต้นมา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 09 มี.ค. 19, 09:24

สำหรับอาคารถาวรนั้น พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ต่อมาคือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้หารือกับนายเอดเวิร์ด ฮีลี่ สถาปนิกชาวอังกฤษ ซึ่งเข้ามารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง และได้ร่วมกันวางผังโรงเรียน โดยกำหนดให้มีหอสวดหรือหอประชุมของโรงเรียนไว้ที่กึ่งกลางโรงเรียนเช่นเดียวกับ Church ของ Public School ในอังกฤษ ก่อนหน้าที่จะสร้างอาคารชั่วคราวลงไปไม่ให้เกะกะกัน

เมื่อทรงเห็นด้วยในแบบแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสิทธินายเวร (น้อย ศิลปี)  โยธาวังเป็นแม่กองจัดการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวขึ้นที่ด้านทิศใต้ของสถานที่ที่กะไว้เป็นที่ก่อสร้างหอประชุม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 09 มี.ค. 19, 09:28

นายฮีลี่ ได้ออกแบบสถาปัตยกรรมตามแบบตะวันตกที่มีเอกลักษณ์ไทยตามพระราชประสงค์โดยร่วมกับพระสมิทธเลขา (ปลั่ง วิภาตศิลปิน) หัวหน้าแผนกออกแบบของกรมศิลปากร  แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างอาคารถาวรทั้งหมดของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยเริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๔๕๗ จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๙ นับเป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับเรือนไม้หลังคาจากที่เป็นโรงเรียนชั่วคราวนั้น ยังใช้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนต่อมา จนการก่อสร้างตึกวชิรมงกุฎแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว จึงได้รื้อเรือนไม้หลังคาจากซึ่งในเวลานั้นอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมลง และย้ายนักเรียนไปเรียนที่ตึกวชิรมงกุฎแทน.

เก็บความจากเว็บ จดหมายเหตุวชิราวุธ โดย อ.วรชาติ มีชูบท
http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/01_20.htm


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 09 มี.ค. 19, 10:06

ถ้าใครอยากทราบว่าเรือนไม้ใต้ถุนสูง หลังคามุงจากหน้าตาเป็นเช่นไรก็คงประมาณได้จากภาพนี้

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อังกฤษส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดจากอินเดียมาถล่มโรงไฟฟ้าวัดเลียบและสามเสนราบไปแล้ว ทางการไฟฟ้าได้ขอเข้ามาใช้พื้นที่สนามหลังของโรงเรียน  ซึ่งขณะนั้นย้ายนักเรียนไปอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน  เพื่อนำเครื่องปั่นไฟขนาดย่อมเข้ามาตั้ง ระดมผลิตไฟฟ้าทดแทนสำหรับกรุงเทพ

พอจารชนของอังกฤษชี้พิกัดให้  ฝูงบินของอังกฤษก็ตามเข้ามาถล่ม  มีระเบิดลูกหนึ่งพลาดเป้าไปโดนตึกคณะดุสิตทลายราบ เหลือเพียงส่วนที่เป็นเรือนผู้กำกับคณะปีกเดียว แต่ระเบิดหลายลูกก็หลุดไปโดนพระที่นั่งอนันตสมาคม  และพระที่นั่งอัมพรสถาน เสียหายไปส่วนหนึ่งด้วย

เพื่อป้องกันไม่ให้อังกฤษมาทิ้งระเบิดแถวนี้อีก  รัฐบาลจึงปลูกเรือนไม้ชั่วคราว หลังคาจากขึ้นตามภาพ  แล้วย้ายเชลยสัมพันธมิตร(ทั้งหมดเป็นพวกนักธุรกิจที่ทำงานอยู่ในเมืองไทยและถูกชิงจับกุมไว้ก่อนญี่ปุ่น) จากตึกโดม  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มาพำนักอยู่ที่นี่  ฝรั่งก็ชอบเพราะเหมือนได้กลับเป็นเด็กพับบลิก สกูลอีก  ใช้เวลาว่างเล่นดนตรีกีฬาไปเรื่อย ไม่ทุกขเทวษเหมือนพวกที่ตกเป็นเชลยของญี่ปุ่นที่เมืองกาญจน์

เมื่อสงครามเลิกแล้ว และตึกคณะดุสิตยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่  โรงเรียนก็ใช้เรือนจากหลังนี้ต่อมาอีก  ๑๘ ปี สำหรับนักเรียนวชิราวุธคณะนี้  ซึ่งผมกับคุณตั้งใช้ชีวิตร่วมกันถึง ๔ ปี ก่อนที่จะตึกใหม่จะสร้างเสร็จ และเราย้ายไปประเดิมในตำแหน่งหัวหน้าคณะ ๒ ใน ๔ คนของคณะดุสิตในปี ๒๕๐๖


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 09 มี.ค. 19, 11:13

ผังโรงเรียน พ.ศ. 2495


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 09 มี.ค. 19, 11:21

^
จากข้างบนจะเป็นว่าคณะดุสิตอยู่ใกล้นิดเดียวจากสนามหลัง อันเป็นที่รัฐบาลมาตั้งโรงไฟฟ้าชั่วคราว ทำให้โรงเรียนต้องประสบความเสียหาย

ตึกคณะดุสิตเมื่อสร้างขึ้นมาใหม่โดยงบที่จำกัดจำเขี่ยที่รัฐบาลชดใช้ให้  ทำให้ไม่อาจสนองความเป็นอยู่ของนักเรียนได้เท่าที่ควร  ต่อมาได้รับเงินจากสำนักงานพระคลังข้างที่ผู้จัดการกองมรดกของวชิราวุธวิทยาลัยที่ได้รับพระราชทานจากองค์พระผู้พระราชทานกำเนิดและผู้โดยเสด็จพระราชกุศล จึงมีการปรับปรุงให้ได้มาตรฐานทัดเทียมคณะอื่นๆ อย่างไรก็ดี ในวาระที่โรงเรียนมีอายุ ๑๐๐ ปี คณะกรรมการโรงเรียนได้จัดหางบประมาณมาทำการบูรณะคณะดุสิต ให้กลับคืนสภาพที่สง่างามตามเดิมก่อนที่จะถูกทำลาย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 09 มี.ค. 19, 14:11

ชนชาติศัตรูที่ถูกนำมาคุมขังที่โรงเรียนนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกันดีกับท่านผู้บังคับการ พระยาภะรตราชา รวมทั้งคุณครูหลายท่านอีกที่เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ  เมื่อเกิดความขาดแคลนในยามสงคราม  เชลยสงครามเหล่านี้จึงได้รับการเลี้ยงดูแบบอดๆ อยากๆ ท่านผู้บังคับการและคุณครูทั้งหลายจึงมักจะนำอาหารใส่หอแล้วปาข้ามรั้วลวดหนามเข้าไปให้ผู้ที่อยู่ในค่ายนั้นอยู่เสมอๆ

หนึ่งในเชลยชาติที่จอมพล ป.ไปประกาศสงครามด้วยนั้น  มีมิสเตอร์สจ๊วต มาร์ ผู้จัดการสายการเดินเรือของบริษัท บอเนียว จำกัดรวมอยู่ด้วย
มิสเตอร์มาร์ ผู้นี้เป็นชาวสก๊อต และได้นำปี่ของตนติดตัวเข้าไปในค่ายเชลยในวชิราวุธวิทยาลัยด้วย  วันดีคืนดีครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมาก็นำปี่ออกมาเป่าเสียงก้องไปทั้งโรงเรียน  ปีสก๊อตนี้ถ้าใครได้ฟังจะประทับใจในเสียงกระหึ่มจากท่อลม ๓ ท่อที่ทรงพลัง สามารถสะกดคนฟังให้นิ่งได้  พระยาภะรตเคยเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษอยู่หลายปี  คุ้นเคยกับเสียงปี่นี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว  ท่านจึงเมตตามิสเตอร์มาร์เป็นพิเศษ

เมื่อสงครามสงบลงแล้วมิสเตอร์มาร์ได้มาขอบพระคุณท่านผู้บังคับการและปวารณาตัวที่จะช่วยเหลือโรงเรียนเป็นการตอบแทน  พระยาภะรตจึงเล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเคยมีพระราชดำริที่จะจัดให้มีวงปี่สก๊อตสำหรับนำแถวเสือป่ารักษาพระองค์แต่ไม่ทันได้ทำ  ดังนั้น หากเป็นไปได้ก็อยากให้เขาช่วยจัดตั้งวงปี่นี้ให้กับวชิราวุธวิทยาลัยเพื่อสนองพระราชประสงค์

เมื่อมิสเตอร์ทราบแล้วก็มีความยินดี  จึงได้มอบปี่สก๊อตของตนเองให้โรงเรียน ๑ คัน และสั่งซื้อมาให้อีก ๓ คัน รวมกับที่โรงเรียนสั่งซื้อมาอีก ๔ คัน  แล้วฝึกสอนนักเรียนจนจัดตั้งวงปี่สก๊อตของวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  โดยมิสเตอร์มาร์ได้อุทิศเวลามาต่อเพลงด้วยตนเองอาทิตย์ละครั้ง  จนกระทั่งสมัยผมเข้าคณะในแล้วก็ยังทันเห็นท่านอยู่สองสามปี  เวลานั้นวงปี่มีร่วม ๔๐ คน มีผู้ที่เก่งพอจะสอนรุ่นน้องต่อๆกันได้แล้ว  มิสเตอร์มาร์จึงขอวางมือเพราะภารกิจรัดตัวและอายุมากแล้ว

ปี่สก๊อตของมิสเตอร์มาร์ที่มอบให้โรงเรียนเป็นปี่เก่าแก่ประจำตระกูลที่ท่านได้รับสืบมรดกมา  ทำจากไม้ Black African ส่วนที่เป็นโลหะทำด้วยเงินแท้แกะลายอย่างประณีต  ปลายปีและปากเป่าทำด้วยงาช้าง เมื่อก่อนผู้ที่เป็นหัวหน้าวงจะได้รับเกียรติให้เป็นผู้ครองปี่นี้  แต่ภายหลังโรงเรียนได้นำไปเก็บไว้ในหอประวัติเพื่อรักษาไว้ไม่ให้เสียหาย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 09 มี.ค. 19, 19:41

คณะดุสิตเป็นคณะเดียวที่มีช่อฟ้า ตั้งอยู่ที่มุมด้านรัฐสภา    คณะจิตรลดา ตั้งอยู่มุมด้านพระราชวังสวนจิตรลดา   คณะพญาไท ตั้งอยู่มุมด้านที่ทำการเขตดุสิต   และคณะผู้บังคับการ ตั้งอยู่มุมด้านแยกพิชัย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 10 มี.ค. 19, 15:26

คณะดุสิตเป็นคณะเดียวที่มีช่อฟ้า ตั้งอยู่ที่มุมด้านรัฐสภา    คณะจิตรลดา ตั้งอยู่มุมด้านพระราชวังสวนจิตรลดา   คณะพญาไท ตั้งอยู่มุมด้านที่ทำการเขตดุสิต   และคณะผู้บังคับการ ตั้งอยู่มุมด้านแยกพิชัย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร  ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้ทอดพระเนตรเห็นศิลปสถาปัตยกรรมไทยที่เมืองกำแพงเพชร สุโขทัย และสวรรคโลกในสภาพที่สมบูรณ์   จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นายอี. ฮีลี่ ขึ้นไปเที่ยวที่นั่น เพื่อหาความคิดสร้างสรรในการออกแบบอาคารสำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง   ซึ่งนาย อี. ฮีลี่ได้สถาปนิกไทย พระสมิทธเลขาจากกรมศิลปากรมาประยุกต์สถาปัตยกรรมไทยลงไปในงานออกแบบอาคารทั้ง ๔ คณะ ในแนวคิดตะวันตกซึ่งเป็นสากล


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 12 มี.ค. 19, 20:28

ยังรอฟังคุณ NAVARAT.C ขยายความต่ออยู่ครับ เรื่อง หอประชุม ตึกขาว ตึกพยาบาล และหอระฆัง  ซึ่งดูจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจทางสถาปัตยกรรมอยู่ไม่น้อย   
 
อ้อ...เรื่องพระมนู ด้วยครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 12 มี.ค. 19, 21:17

คุณ NAVARAT.C ว่าไปในเรื่องหลักๆทางโครงสร้างก่อน(Institutional framework) แล้วค่อยมาขยายความในเชิงของกระบวนกิจกรรมที่จะไปช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แต่ละบุคคลให้มี competency ในองค์รวม (Capacity building)

ผมก็ได้เขียนมายืดยาวพอสมควรแล้ว เกรงจะไกลไปจากเรื่องที่คนถามอยากจะทราบไปทุกที ขอเชิญคุณตั้งว่าบ้างก็แล้วกัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 14 มี.ค. 19, 15:12

ขอศิษย์เก่าอีกสองด้วยช่วยขยาย
ท่าน Cinephile แย้มให้หายฉงน
คุณวีมีร่วมด้วยช่วยอีกคน
เล่าเรื่องหนเรียนเน้นเล่นกินนอน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 14 มี.ค. 19, 16:21

เพิ่งไปเฝ้าท่านมุ้ยตามที่ได้รับโทรศัพท์จากท่านว่าขอให้ไปคุยกันหน่อยได้ไหม ปรากฏว่าบ้านอยู่ใกล้กันนิดเดียว ผมแนะนำตัวว่าเป็นรุ่นนัองที่เข้าสวนกับที่ท่านออกจากวชิราวุธพอดี ท่านมุ้ยเข้าคณะในได้ปีเดียวเท่านั้น เสด็จพ่อก็ทรงส่งท่านไปเรียนต่อที่อเมริกา

ดร.ชัยอนันต์เคยเขียนเล่าว่า ท่านมุ้ยเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน มักจะใช้เวลาในห้องเพรบเขียนการ์ตูนในสมุดแบบฝึกหัดของโรงเรียนเป็นเรื่องๆ แล้วเอามาให้เพื่อนอ่านต่อๆกัน
นี่ท่านก็เป็นเด็กอัจฉริยะอีกคนหนึ่ง หากเป็นนักเรียนวชิราวุธในสมัยนี้ ท่านจะได้เรียนวิชาที่ชื่นชอบกับอาจารย์เฉพาะด้าน โดยใช้อุปกรณ์ทันสมัยในการผลิตสื่อวีดิทัศน์ คงจะสนุกกับการเรียนมาก

ผมรู้สึกเป็นห่วงที่สุขภาพท่านไม่สู้จะดีเท่าไหร่ในขณะนี้  เกรงว่าจะไม่ได้เข้ามาอ่านหมายเชิญของคุณหมอเพ็ญ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 19 คำสั่ง