เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
อ่าน: 5266 พิธีบวงสรวงผีนาค เมืองเชียงราย พิธีที่หายสาบสูญจากเชียงราย
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 22 ม.ค. 19, 22:02

กล่าวถึงที่คุ้มหลวง ในวันเดียวกันนี้ เมื่อกระบวนเชิญผีเข้าหว่างคาวป่าไปแล้ว ช้างม้าที่นั่งเลิกกระบวน แม่นางเมืองพร้อมด้วยนางในตระเตรียมอาหารถวายพระและเลี้ยงคนเลี้ยงผีนาคบริวาร มีซอปี่อ้อขับเป็นเรื่องนิทาน ตำนาน หรือนิบาต และปัญญาสชาดก หรือซอว่าตลกขบขันให้ผู้ทำงานรื่นเริง อาหารถวายพระนั้นจัดทำตามปรกติทั้งคาวและหวาน ส่วนสำหรับเลี้ยงคนมีแต่ “ขนมเส้น-ขนมจีน” กับ “น้ำแกง-น้ำยา” อย่างเดียว หวานก็มีแต่ “ขนมจ๊อก” คือ “ขนมใส่ไส้” กับส้มสุกลูกไม้ อาหารเลี้ยงผีนาคมีใบตองชนิดหนึ่งคล้ายใบไม้สัก เอามารมควันให้อ่อนแล้วพรมน้ำเกลือพับไว้เป็นพับๆ กับเถาอะไรอีกอย่างหนึ่งโตเท่าแขน เอามาตัดเป็นท่อนยาวราว 6 นิ้ว เผาไฟให้ระอุแล้วทุบให้แตกยุ่ย และพรมน้ำเกือเหมือนกัน เมื่อเตรียมพร้อมแล้วก็หาบหามยกไปตั้งยังตูบหมาแหงนในมณฑลพิธีที่ดอยจอมทองในตอนกลางคืน วันขึ้น 13 ค่ำนั้น ส่วนราษฎรต่างก็เตรียมในส่วนของตนตามความพอใจ

เวลา 16 นาฬิกา มีพิธี “ฮดสงพ่อเมือง” ที่คุ้มหลวง คำว่า “ฮด” คือ “รดน้ำ” คำว่า “สง” หมายความอย่างไรไม่ทราบ บางทีจะตรงกับ “ขัดสี” กระมัง จะเรียกให้ง่ายเข้าว่า “อาบน้ำให้พ่อเมือง”

การฮดสง หรืออาบน้ำให้พ่อเมืองนี้ ผู้ที่จะอาบต้องจัดน้ำอบน้ำหอมปรุงเอง เรียกว่า “น้ำขมิ้นส้มป่อย” ส่วนของตนมา เวลาอาบ อาบที่นกอชานเรือนหลวง พ่อเมืองแต่งตัวอย่างปรกติ คือใส่เสื้อชั้นในและกางเกง นั่งเก้าอี้ ผู้หดพร้อมกันเข้าไปคารวะ เทิดขันน้ำอบน้ำหอมขึ้นเหนือเศียรแล้วจึงรดตั้งแต่หัวไหล่ลงมา และขัดสีเหงื่อไคลให้พอสมควร (คือเปลี่ยนกันขัดสี) ส่วน้ำล้างและสระผม แม่นางเมืองกับแม่อยู่เมืองจัดมาให้พ่อเมืองสระและล้างเอง อาบน้ำให้เสร็จแล้วพร้อมกันมอบเสื้อผ้าใหม่ให้แต่งสำรับ 1 พ่อเมืองแต่งตัวใหม่แล้วขึ้นนั่ง “ตั่ง-กากะเยียมอน” รูปคล้ายสัปคับช้างไม่มีประทุน ต๋าเมืองนำราษฎรกล่าวคำให้พร จบแล้วพ่อเมืองให้พรตอบด้วยบทคาถา “สัพพีติโย” เป็นเสร็จพิธี

พ่อเมืองกลับเข้าข้างใน เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นนุ่ง “ผ้าขาวจีบ” ใส่เสื้อชั้นในสีขาวแล้วสไบผ้าขาว สวมลูกประคำที่คอ ถือพัดใบตาล พวกเด็กน้อยทนายโรงเชิญเครื่องยศตามลงมาจากเรือนหลวง พร้อมด้วย ต๋าเมือง อาจารย์หวง ซึ่งแต่งขาวเช่นเดียวกัน ไปเข้าพิธีถือกรรมที่ดอยจอมทอง ราษฎรพากันตามไปส่งอย่างเงียบๆ ส่วนโหราหลวง ต้องบูชาเทวดาที่คุ้มหลวงภายหลังพ่อเมืองออกไปก่อน แล้วจึงตามไปทีหลัง การบูชาเทวดาที่คุ้มหลวงนี้เรียกว่า “บูชาจตุโลกบาล” การบูชา บูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนทำเป็นกระทง ปักเสาหลักเดียวแล้วสอดคานที่ศาล 5 ศาล ยอดเสาเป็นศาลพระอินทร์ ที่ปลายคานทั้ง 4 ทิศ เป็นศาลจตุโลกบาล คำบูชาเหมือนอย่างคำประกาศเทวดา มีทุกชื่อ พระยาอินทร์ พระยาพรหม พระยายมราช ครุฑา นางธรณี กับทั้งพระเพลิง พระพาย และพระคงคา ล้วนแต่ขอพรทั้งนั้น

ที่วัดบนดอยจอมทอง มีพระสงฆ์ 108 รูป ราชครูเมืองเป็นประธาน ยืนเรียงรายกันที่ลานวัด คอยต้อนรับพ่อเมือง พระสงฆ์ 108 รูปนี้หรือแม้ที่จะมารับบิณฑบาตสังฆทาน 250 รูปนั้นไม่ต้องนิมนต์ ทางสังฆสมาคมกะเกณฑ์กันมาเอง โดยถือเกณฑ์เลือกตามอาวุโส เพื่อให้เข้าใจสะดวก จะพรรณนาสมณศักดิ์ของชาวลานนาโบราณลงไว้ที่นี่พอสมควร

ภาพ การบูชาจตุโลกบาล หรือ ขึ้นท้าวทั้ง4 พ.ศ.2498


บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 22 ม.ค. 19, 22:34

การบวชเป็นพระภิกษุนั้น นิยมบวชกันแต่เมื่อยังมีความบริสุทธิ์ ผู้ที่แต่งงานแล้วหรือแม้ผู้ที่สึกออกจากสามเณร จะบวชหรือกลับบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ เว้นแต่บวชเพื่อใช้หรือสะเดาะเคราะห์ปัดรังควาญ มีกำหนดเพียง 3 วัน 7 วัน และ 15 วัน

ตามจารีตประเพณี ถือกันว่าผู้ชายทุกคนพอมีอายุ 10 ปีแล้ว พ่อแม่ต้องนำไปฝากพระไว้ฝึกสอนอักขระวิธีและเล่าเรียนพระสูตรอยู่ยังวัดเรียกว่า “ขะโยม” คือ “เด็กวัด” เมื่อเรียนหนังสือและทรงจำพระสูตรได้พอสมควรแล้ว สมภารวัดซึ่งเรียกว่า “ตุ๊หลวง” ก็จัดการบวชให้เป็น “สามเณร” เรียกว่า “พระ” ผู้ที่ไม่ได้เป็นขะโยมหรือเป็นแต่ขาดความเพียรพยายามได้นามว่าเป็นผู้ “บาป” ที่เป็นขะโยม พระท่านพร้อมกันไล่ออกจากวัด ที่ไม่เป็นขะโยมพ่อแม่ฝึกหัดกล่อมเกลาอุปนิสัยให้กับบ้าน คือบิดาถ่ายทอดวิชาอาชีพให้ตามวงศ์ตระกูล บุคคลประเภทนี้ถือกันว่าเป็น “คนดิบ” ได้คำนำชื่อว่า “อ้าย” แปลว่า “พี่” ผู้ที่ได้บวชเป็นพระคือ “เณร” นั้นถือว่าเป็น “คนสุก” เมื่อมีอายุครบ 21 ปี ตุ๊หลวงก็จัดการอุปสมบทให้เป็น “พระภิกษุ” เรียกว่า “ตุ๊” สามเณรที่ไม่ได้บวชเป็นตุ๊คือสึกออกไปเสียก่อน ได้คำนำชื่อว่า “น้อย” กล่าวกันว่าเนื่องมาแต่บุญ “น้อย” ได้บวชในพระศาสนาไม่นาน สำหรับผู้บวชเป็นตุ๊คือพระภิกษุแล้วสึกได้คำนำชื่อว่า “หนาน” ว่าเป็นผู้มีบุญ “มาก” ได้บวชเรียนมาตั้งแต่เด็กจนใหญ่เป็นเวลา “นาน”

เมื่อบวชเป็นตุ๊ คือ เป็นพระภิกษุมาได้ 3 พรรษาแล้ว ครูบาอาจารย์พร้อมกันสอบไล่ปากเปล่าทั้งนั้น เมื่อสอบตกก็สึก หรือเปลี่ยนวัดเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือบำเพ็ญเพียรขัดเกลาดวงใจตนเอง เมื่อสอบได้ “ตุ๊หลวง คือ สมภารวัด” และราษฎรพร้อมกัน “หดสง” อภิเษกสมณศักดิ์ให้เป็น “สำเร็จ” คืออยู่ในชั้นที่สำเร็จจากการศึกษาเลื่อนขึ้นเป็นครู มีหน้าที่อบรมและฝึกสอนขะโยม เรียกว่า “คู-ครู”

เมื่อมีพรรษาครบ 5 หดสง ให้เป็น “ยากา หรือ ยะกา” มีหน้าที่สั่งสอนสามเณร เรียกว่า “ปี้คู-พี่ครู”

เมื่อครบ 10 พรรษา หดสงให้เป็น “ใบระกาวัด” มีหน้าที่ควบคุมขะโยมและสามเณรคล้ายเป็น “คณะหมวดในวัดปัจจุบัน” และสั่งสอนพระภิกษุใหม่ เรียกสามัญว่า “ป๊อคู-พ่อครู”

ครั้งตำแหน่งตุ๊หลวงว่างลง มีการคัดเลือกตุ๊ คือ พระภิกษุที่มีพรรษา 15 หรือมากกว่าเพื่อนในวัดนั้น หดสงขึ้นเป็น “สมปาร-สมภาร” เรียกสามัญว่า “ตุ๊หลวง” โดยสังฆมณฑล พ่อเมือง และราษฎรที่อุปถัมภ์บำรุงวัดซึ่งเรียกว่า “จาวศรัทธา” คัดเลือกเป็นผู้ครองวัด

ต่อนี้เลือกและหดสงให้มีตำแหน่งในที่ประชุมสังฆกิจ คือเลือกตุ๊หลวงที่ได้เป็นสมภาร 5 ปีมาแล้ว หดสงเป็น “ตุ๊เจ้า” หรือ “ครูบา” ชั้นนี้มีมาก และเลือกตุ๊เจ้าครูบาหดสงขึ้นเป็น “ตุ๊เจ้าปู่ครู” ชั้นนี้ว่ามีฝ่ายละ 32 รูป ต่อจากชั้นนี้ก็หดสงขึ้นเป็น “สวาตุ๊เจ้าปู่ครู” เป็นชั้นสูงสุด ชั้นนี้มี 5 รูป คือ สวาตุ๊เจ้าธัมมรัตนรังสี เป็นที่ราชครูเมืองและองค์นายก 1 สวาตุ๊เจ้าอุปัชฌาจารย์ 1 สวาตุ๊เจ้าปู่ครูหัวป่า (เจ้าคณะฝ่ายอารัญวาสี) 1 สวาตุ๊เจ้าปู่ครูหัวเมือง (เจ้าคณะฝ่ายคามวาสี) 1 และสวาตุ๊เจ้าใบระกาเมือง (เห็นจะเป็นปลัดสังฆนายก) 1

ในพิธีบวงสรวงผีนาค ทางสังฆมณฑลเกณฑ์พระภิกษุชั้นตุ๊เจ้าครูบาขึ้นไปเข้าพิธี ทั้งในการนั่งปรกและรับบิณฑบาตสังฆทาน

ภาพ พระอภัยสารทะ สังฆปาโมกข์ (อุ่นเรือน โสภฺโณ) หรือ ครูบาเจ้าโสภา พระสังฆราชาเมืองเชียงใหม่ และเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่รูปแรก


บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 23 ม.ค. 19, 18:17

เมื่อพ่อเมืองไปถึงวัดดอยจอมทองนั้นเป็นเวลาจวนพลบ เรียกว่า “ยามต๋าวันแลง” คือ “ตะวันแดง” พอไปถึงก็ถวายหมากพลูธูปเทียนดอกไม้แก่พระสงฆ์ 108 รูปที่จะมานั่งปรก พระสงฆ์รับแล้วทำวัตรทั้งที่ในพระวิหาร และที่ศาลาราย (พระสงฆ์ผู้ใหญ่สถิตจำวัดในวิหาร ราว 25 รูป นอกนั้นจำวัดตามศาลารายซึ่งเอาเฟืองฟางมากั้นฝาเป็นห้องๆ) พระสงฆ์ทำวัตรเสร็จแล้ว พ่อเมือง อาจารย์หลวง โหราหลวง และต๋าเมืองเข้าสมาทานปาริสุทธิศีลและศีล 8 ต่อราชครูเมืองแล้วพระสงฆ์อนุโมทนาและให้อดิเรก นับแต่บัดนี้ไปเป็นเวลา “ถือกรรม” คฤหัสถ์ทั้ง 4 นั้น คงภาวนาอยู่ในโบสถ์ และฟังสวดฟังธรรมไปจนแสงเมืองเชิญอาสนะผีมาจากเวียงสวนดอก เมื่อเลี้ยงพระเวลาเช้าแล้ว จึงตามอาสนะผีไปพักยังศาลาที่พักด้วยกัน ครั้งค่ำก็มาถือกรรมในพระวิหารเช่นวันแรกทุกวัน

ตอนกลางคืนพระสงฆ์ 108 รูปนั้น ผลัดเปลี่ยนกันเจริญพระพุทธมนต์ ทำน้ำมนต์บ้าง เทศนาธรรมจักรหรือชาดกต่างๆ บ้าง หรือแสดงปาติโมกข์บ้าง ทั้งที่ในวิหารและศาลาราย ถึงเที่ยงคืนแล้วแยกกันไปรุกขมูลตามที่ในบริเวณดอยจอมทอง เพื่อภาวนาทำ “เกล็ดนาค” ส่วนพระสงฆ์ที่จะรับบิณฑบาตสังฆทาน 250 รูป ซึ่งรุกขมูลตามชายทุ่งนาป่าเขา ก็ภาวนาทำเกล็ดนาคเหมือนกัน วิธีทำเกล็ดนาคนั้น นั่งภาวนามีบาตรน้ำตั้งตรงหน้า มือซ้ายนับประคำสวดฎีกาพาหุงหรือยันทุนไม่ทราบแน่ 108 จบ มือขวาถือเทียนจุดไฟเอนให้ขี้ผึ้งไหลหยดลงในบาตรเป็นรูปแบนๆ กลมๆ เรียกว่า “เกล็ดนาค” เสร็จแล้วตักออกจากบาตรเอามาปนกับเมล็ดข้าวสารรักษาไว้ สำหรับแจกสัปบุรุษสีกาผู้มาถวายของให้เป็นมงคล

รุ่งขึ้นเป็นวันขึ้น 14 ค่ำ เวลาก่อน 6 นาฬิกา แสงเมืองเชิญพานอาสนะผีขึ้นมาที่นั่งจากเวียงสวนดอก มีขบวนม้านำและตาม “กลับมาเวียงไชย” หัวหมื่นขึ้นม้านำขึ้นบนดอยช้างเดินมาตามทางลัดผ่านห้วยธารและป่าไม้มาทะลุที่หนองอู่คำ เดินเลียบหนองนี้ไปถึง “วังคำ” อันเป็นสถาน “หอเจนเมือง” แวะจุดธูปเทียนบูชาผีเจนเมืองแล้วเดินขบวนต่อไป เทียบขบวนที่เชิงบันไดนาคขึ้นม่อนจอมทองและเลิกขบวนที่นี่ แสงเมืองเชิญพานอาสนะขึ้นตั้งบนม้าหมู่ในพระวิหาร ตัวพ่อเมืองและอาจารย์หลวง โหราหลวงซึ่งถือกรรมหรือถือบวชรับที่ในพระวิหาร พระสงฆ์ 108 รูป รายทางรับตั้งแต่หัวบันไดนาคบนดอยและรอบพระวิหารตลอดถึงข้างใน แต่ที่ในวิหารมีราว 25 รูป สวด “ภวตุสรรพมังคะลัง” 7 คาบ เมื่อตั้งพานอาสนะผีแล้ว เวลาราว 8 น. เลี้ยงอาหารเช้าพระสงฆ์ 108 รูป ทั้งในพระวิหารและที่ศาลาราย พระฉันแล้วถวายธูปเทียนหมากพลูแก่พระสงฆ์ สวดอดิเรกให้พรจบแล้วแสงเมืองเชิญพานอาสนะผีไปประดิษฐานไว้ที่ม้าหมู่บนศาลาที่พักของพ่อเมือง

ภาพ ข่วงหลวงเมืองเชียงราย พ.ศ.2467 บริเวณม่อนจอมทอง ข้างล่างคือกองทหารเมืองเชียงราย ข้างบนคือวัดพระธาตุดอยจอมทอง ใช้เป็นที่สืบชะตาและถือกรรมในงานบวงสรวงผีนาค


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 24 ม.ค. 19, 22:08

นาคบริวาร

ถึงเวลาราว 16 นาฬิกา ขบวนแห่นาคบริวารจัดเป็นขบวนพยุหะโยธา “ทัพหน้า” เรียกกันว่า “นาคร้าย” ตั้งขบวนที่ถ้ำยุบถ้ำพระ (สมมติว่าออกมาจากถ้ำนั้น) ซึ่งอยู่ห่างจากดอยจอมทองราว 4 กิโลเมตร เดินขบวนเลียบตีนฝั่งแม่น้ำกกลงมาขึ้นที่ท่านาค และเดินเข้าไปสู่บริเวณดอยจอมทองตามถนนกองนาค แล้วเลยไปพักที่ “วังคำ” อันเป็น “หอเจนเมือง”

ขบวนนาคบริวารนี้คือ “ขบวนควาย” มีคนจูงคน 1 ขี่คน 1 คนจูงและคนขี่มอมตัวด้วยสีดำสีแดง สวมหัวโขนสานด้วยเส้นตอกแล้วเอากระดาษปิดเขียนลายเป็นหน้าสัตว์ดุร้ายต่างๆ มี “ก๋องตุ๊ม-กลองตุม” นำขบวน กลองตุมมีแต่กลองสองหน้าใบ 1 ฆ้องเล็กใบ 1 ตีล้อเสียงกันช้าๆ มาบนหลังควาย คนขี่ควายนั้นสะพายหอกดาบและธนูหน้าไม้ เป่ากลวงแล้วเจาะใส่ลิ้นที่ตอนกลางข้างในโค้ง เวลาเป่าใช้มือบีบเบ็ดโคนและปลายงาหรือเขาให้มีเสียงเล็กเสียงใหญ่สลับกันคล้ายเป่าใบไม้ คนจูงควายถือหอกหรือง้าว เวลาเดินมาแสดงท่าทางล้อหลอกให้น่ากัวหรือน่าขัน เมื่อผ่านหน้าตูบหมาแหงน แม่นางเมืองให้ทานผลไม้แก่คนขี่คนจูง และให้ใบไม้เถาไม้พรมน้ำเกลือแก่ควาย พร้อมกับกล่าวคำอวยพร กล่าวกันว่าเป็น “คำทัก” เพื่อสวัสดีแก่บ้านเมือง นาคที่มาตอนนี้ล้วนแล้วด้วยควายดำทั้งนั้น และมาสำหรับทำอันตรายแก่คนผิดคนชั่ว

เมื่อไปถึงที่วังคำ แล้วจัดการผูกควายไว้ในแหล่งที่เตรียมไว้รับ ส่วนคนจูงคนขี่มาแสดงกีฬาให้คนดูที่หาดทรายแม่น้ำกก มีกระโดดโลดเต้นและรำทำท่ามวยล้อหลอกกันบ้าง วิ่งไล่กันบ้าง พอได้เวาสมควรก็โดดลงอาบน้ำในแม่น้ำ ขัดสีที่มอมร่างกายออก แล้วเป็นเลิกกีฬา

เวลาพลบค่ำ ราษฎรทุกบ้านเรือนต่างบูชาผีปู่ย่าขอพรให้คุ้มกันรักษาอันตรายแก่ลูกหลาน พระสงฆ์ที่จะรับบิณฑบาตสังฆทานแยกกันเข้าประจำประตูเมืองทุกประตู และสวด “อาฏานาฏิยสูตร” เป็นพักๆไปจนรุ่งสว่าง พระสงฆ์ 108 รูป ที่ดอยจอมทองและตามวัดที่มิได้ไปเข้าพิธีก็สวดเช่นเดียวกันและย่ำระฆัง สถานที่มณฑลพิธีและตามบ้านเรือนราษฎรจุดประทีปโคมไฟเสาไต้สว่างไปหมด และจุดอย่างนี้ตลอดงาน

เวลาราว 20 นาฬิกา แห่บอกไฟของพ่อเมืองกับทั้งของนายบ้านนายตำบล ออกจากคุ้มหลวงเอาไปรวมไว้ในมณฑลพิธี การแห่แห่ด้วย “ก๋องปง-กลองพง” และขับร้องฟ้อนรำ ผ่านไปทั่วทุกถนนในเมืองแล้วจึงเข้าไปสู่บริเวณดอยจอมทอง

กลองพง คือกลองสองหน้าใบ 1 ปี่แน 1 ฉิ่ง 1 บรรเลง “ม่านโห่” กลองกับฉิ่งตีล้อเสียงเป็นขัดจังหวะปี่ มีนางสาวแต่งตัวเสื้อผ้าขาวธรรมดา ผ้าสั้นจนนุ่งสูงไว้ชายใต้เข่าเล็กน้อยตีกรับและขับร้อง แบ่งเป็น 2 พวก เปลี่ยนกันขับร้องคนละพัก นางวาวเหล่านี้ตือลานหูและทัดพวงดอกไม้ที่มวยผม คล้ายกับ “กระเช้าดอกไม้” และสะพาย “กุบ” คือหมวกกันฝนและน้ำค้าง รวมหมดราว 30 คน พวกฟ้อนเป็นชายหนุ่มเรียกว่า “บ่าว” ไม่จำกัดจำนวนอย่างว่า “เปิดประตูให้ใครดีก็เข้ามา” แต่งตัวนุ่ง “ผ้าต้อย” คือนุ่งผ้าโจงกระเบน ชายผ้าอยู่เหนือเข่าปล่อยหางกระเบนที่เหลือจากเหน็บเข็มขัดแล้วห้อยลงไปเป็นหาง ใส่เสื้อขาวชั้นใน พันศีรษะด้วยผ้าจกมีชายครุยเหน็บเบื้องบน และปล่อยชายครุยย้อยลงข้างนอกใบหูทั้งสองข้าง ฟ้อนด้วยเทียนจุดไฟ การเดินขบวนแห่แบ่งเป็นส่วนๆ คือ ฟ้อนไปหน้า แล้วปี่พาทย์กลองพงคั่น นางสาวตีกรับขับร้อง ต่อนี้ถึงเสลี่ยงหามบอกไฟตามกัน ตามศักดิ์ของเจ้าของ พวกผู้เฒ่าผู้แก่และนายบ้านนายตำบลกับทั้งคนดีเดินแซงสองข้าง การฟ้อนนี้มีรำท่าเชิงหอกดาบแลลูกกุย บางทีก็ปล่อยให้ต่อยกันอย่าง “ลองดี” เป็นมวยหมู่

เมื่อขบวนแห่เข้าสู่บริเวณดอยจอมทอง ที่ข่วงหลวงมีปี่พาทย์กลองแอวประกอบด้วยนางฟ้อนเทียนไฟต้อนรับ ขบวนแห่ประทักษิณบริเวณ แล้วเอาบอกไฟเข้าเก็บไว้ในศาลบวงสรวงผีนาค พวกขบวนแห่เข้าสู่ “ข่วงคนดี” และบรรเลงต่อไปจนราว 23 นาฬิกา

ภาพ ถ้ำพระ เมืองเชียงราย เมื่อจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาธิการทหารบก เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ พ.ศ.2465 ซึ่งถ้ำพระใช้เป็นสถานที่เริ่มขบวนนาคร้ายในงานบวงสรวงผีนาค


บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 25 ม.ค. 19, 23:09

นาคราช

ในขณะที่สนุกสนานกันอยู่นี้ ราวเวลา 22 นาฬิกา ขบวนแห่พญานาคก็มาถึง พญานาคมีนาคบริวารห้อมล้อมมาอีกพวกหนึ่งเป็น “ควายเผือก หรือควายปอน-พร” ทั้งนั้น เรียกว่า “นาคดี” มีคนขี่และจูงอย่างเดียวกับพวกที่มาตอนบ่าย แต่แต่งตัวงดงามตามธรรมดานาคดี ตั้งขบวนที่ประตูท่าดิน อยู่ทางตะวันออกเมือง สมมติว่าออกจาก “เหว” ซึ่งเรียกว่า “ฮูเหรา” (กล่าวกันว่าที่ท่าดินแต่โบราณมีฮูเหรากว้างเท่าบ่อน้ำและลึกเป็นหลืบลงไปใต้ดินไม่ทราบว่าสักเท่าใด แต่ถมเสียนานแล้ว) พญานาคนั้นแห่มาจาก “หนองวง” ซึ่งเรียกว่า “หางนาค-ขนดหางนาค” เพราะที่ตรงนี้เป็นลำแม่น้ำกอนเก่าเดินอ้อมวกเวียนเกือบเป็นรูป “วงกลม” อยู่ทางใต้น้ำห่างจากดอยจอมทอง (แม่น้ำกกไหลจากตะวันตกไปตะวันออก) วัดตามลำน้ำราว 10 กิโลเมตร ทางบกก็ราว 8 กิโลเมตร

ตัวพญานาค ทำเป็นรูปโครงไม้หุ้มกระดาษอย่างเดียวกับมังกรไฟ คือทำลำตัวเป็นท่อน สอดไม้ส้าวสำหรับถือชูและจุดไฟข้างในเวลาเอาไปตั้งขบวนแห่มาจากหนองวงนั้น เอาแต่ท่อนหัวกับหางไปสวมเข้ากับหัวและท้ายเรือชะล่า ถ่อขึ้นมาตามลำน้ำ กลางลำเรือบรรทุกปี่พาทย์ “ก๋องไจย-กลองไชย” คือกลองหน้าเดียว 7 ใบ ใหญ่ 6 เล็ก 1 กับปี่เล่ม 1 บรรเลงคล้าย “กลองประโคม” ที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “เบ็งพวด” หัวนาคนั้น รูปร่างก็เหมือนอย่างรูปที่ก่อไว้ตามพนักบันไดขึ้นวิหารวัดต่างๆ ในลานนาไทย มีผิดกันแต่นอกจากมีหงอนยังมีเขาเหมือนเขาควาย เวลาแห่จุดไฟข้างใน และทำให้หันเศียรไปมากับขยับตาอ้าปากได้

เมื่อแห่นาคมาในลำน้ำ พวกนาคบริวารก็เดินขบวนจากท่าดินเลียบฝั่งแม่น้ำมารวมกันที่ท่านาค เอาหัวนาคและหางขึ้นประกอบลำตัวที่นี่แล้วจึงเดินขบวนเข้าสู่ดอยจอมทอง มีนาคบริวารนำและตามเป็นจำนวนเท่าๆ กัน เมื่อผ่านตูบหมาแหงนแม่นางเมืองก็ให้ทานเหมือนเมื่อตอนบ่าย ราษฎรเรียงรายกันโปรยข้าวตอกดอกไม้ต้อนรับตลอดถนนกองนาค การมหรสพก็ประโคมในเวลาผ่านไป นาคบริวารเลยไปพักที่วังคำที่เดียวกับพวกควายดำ แต่ตัวพญานาคเอาขึ้นไปบนดอยจอมทอง ตั้งหัวกับหางไว้ข้างบันไดขึ้นพระวิหาร ส่วนำตัวอ้อมรอบพระวิหาร พระสงฆ์ 108 รูป สวดชัยมงคลคาถาต้อนรับ แล้วผัดเปลี่ยนกันแสดงเทศนาปุจฉาวิสัชนา 3 ธรรมาสน์ เป็นเรื่องพุทธาภิเษกหรือชาดก (จำไม่ได้แน่) ไปจนสว่าง การมหรสพต่างๆ เลิกเวลาราวเที่ยงคืน กิจการในวันขึ้น 14 ค่ำนี้ กล่าวว่าเป็นวันผีนาคมาเลียบเมืองเพื่อสดับรับฟังเหตุการณ์และทำลายคนชั่ว เครื่องไทยทานและเครื่องบรรณาการที่แห่แหนเข้าไปยังมณฑลพิธี ก็เป็นแต่เอาเข้าไปเตรียมไว้เท่านั้น

วันขึ้น 15 ค่ำ เวลา 5 นาฬิกา ราษฎรทยอยกันเข้าสู่ข่วงหลวงจากสารทิศ ต่างนำอาหารสำหรับตักบาตรเลี้ยงพระมาจัดลงสำรับที่ร้านหน้าศาลา 39 ห้อง สำรับนั้นมีจำนวนเท่ากับพระสงฆ์ที่เข้าพิธีทั้ง 2 คณะ รวม 358 รูป แถมพระพุทธพระธรรมเข้าอีก 2 เป็น 360 สำรับ ครั้งได้เวลา “มุ่งมั่งแจ้ง” คือ ปัจจุบันสมัยแสงเงินแสงทอง อาจารย์น้อยที่ปรนนิบัติสงฆ์บนดอยจอมทองได้สัญญาณด้วยเสียง “ระฆัง” เรียกว่า “เด็งหลวง” ตีย่ำสามถา ดังกังวานมาจากบนดอยจอมทอง แสงเมืองจุดธูปเทียนบูชาบอกกล่าวเชิญชวนผีปู่ย่าลงสู่ข่วงหลวง (ไม่ต้องเชิญพาน) เพื่อตักบาตรและเลี้ยงพระ แล้วนำพ่อเมืองและคณะถือกรรมมายังศาลบวงสรวงผีนาค พวกสัปบุรุษสีกาที่มาคอยตักบาตรเรียงแถวกันเป็นสายๆ พระสงฆ์ 250 รูป ที่สวดประจำประตูเมือง ก็พากันมาชุมนุมที่บนม่อนจอมแจ้ง

ครั้นเวลารุ่งอรุณ อาจารย์น้อยก็ให้เสียงเด็งหลวงเป็นสัญญาณมาอีกเป็นคำรบ 2 ราษฎรต่างเงียบคอยตักบาตร บ้างก็เทิดทูน “สลุงข้าว” คือ “ขันข้าวตักบาตร” ขึ้นเหนือเศียร บ้างก็เพียงพนมมือไหว้อธิษฐานครู่หนึ่ง

พระสงฆ์นั่งปรก 108 รูป มีราชครูเมืองเป็นประธาน คลุมบาตรเดินเป็นแถว ลงมาจากม่อนจอมทองจามบันไดนาค และมาในทางวงกต พระสงฆ์ 250 รูป มีสวาตุ๊เจ้าปู่ครูหัวป่าเป็นประธาน คลุมบาตรเดินงมาจากบนม่อนจอมแจ้ง ทั้ง 2 คณะมีขะโยมตี “ปาน” คือ “กังสดาล” นำ เมื่อลงจากดอย ตีรัว เมื่อมาถึงข่วงหลวงแล้ว ตีช้าๆ พระสงฆ์เดินวกเวียนรับบิณฑบาตจากราษฎรทั่ว แล้วเลยไปพักที่ศาลา 39 ห้องทั้ง 2 หลัง แต่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ 5 รูป และที่เป็นกิตติมศักดิ์อีกราว 15 รูป พักที่ศาลบวงสรวงผีนาค แล้วคฤหัสถ์สมาทานเบญจศีลและพระสงฆ์ทำวัตร ทายกยกสำรับคาวหวานเข้าประเคน รับประเคนแล้วสวดให้พรยถาสัพพีและกรวดน้ำอุทิศผลให้สรรพสัตว์พาหนะที่ล่วงลับไปแล้วจึงฉัน ฉันแล้วกลับขึ้นไปบำเพ็ญสมณกิจที่บนดอยจอมทอง พระหัวป่าและพระหัวเมืองต่างปลงอาบัติหรือรับอาบัติซึ่งกันและกัน พ่อเมืองและคณะถือกรรมก็กลับขึ้นไปด้วย แต่แสงเมืองคงอยู่ที่ศาลบวงสรวงพร้อมผีปู่ย่า แม่นางเมืองและนางในกับทั้งหญิงบรรดาศักดิ์เชิญสำรับคาวหวานขึ้นไปเลี้ยงและคณะถือกรรมที่บนดอยจอมทอง

แผนที่หนองวงและท่าดิน(วังดิน) ทำโดย นโม ตสฺส


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 20 คำสั่ง