นาคบริวาร
ถึงเวลาราว 16 นาฬิกา ขบวนแห่นาคบริวารจัดเป็นขบวนพยุหะโยธา “ทัพหน้า” เรียกกันว่า “นาคร้าย” ตั้งขบวนที่ถ้ำยุบถ้ำพระ (สมมติว่าออกมาจากถ้ำนั้น) ซึ่งอยู่ห่างจากดอยจอมทองราว 4 กิโลเมตร เดินขบวนเลียบตีนฝั่งแม่น้ำกกลงมาขึ้นที่ท่านาค และเดินเข้าไปสู่บริเวณดอยจอมทองตามถนนกองนาค แล้วเลยไปพักที่ “วังคำ” อันเป็น “หอเจนเมือง”
ขบวนนาคบริวารนี้คือ “ขบวนควาย” มีคนจูงคน 1 ขี่คน 1 คนจูงและคนขี่มอมตัวด้วยสีดำสีแดง สวมหัวโขนสานด้วยเส้นตอกแล้วเอากระดาษปิดเขียนลายเป็นหน้าสัตว์ดุร้ายต่างๆ มี “ก๋องตุ๊ม-กลองตุม” นำขบวน กลองตุมมีแต่กลองสองหน้าใบ 1 ฆ้องเล็กใบ 1 ตีล้อเสียงกันช้าๆ มาบนหลังควาย คนขี่ควายนั้นสะพายหอกดาบและธนูหน้าไม้ เป่ากลวงแล้วเจาะใส่ลิ้นที่ตอนกลางข้างในโค้ง เวลาเป่าใช้มือบีบเบ็ดโคนและปลายงาหรือเขาให้มีเสียงเล็กเสียงใหญ่สลับกันคล้ายเป่าใบไม้ คนจูงควายถือหอกหรือง้าว เวลาเดินมาแสดงท่าทางล้อหลอกให้น่ากัวหรือน่าขัน เมื่อผ่านหน้าตูบหมาแหงน แม่นางเมืองให้ทานผลไม้แก่คนขี่คนจูง และให้ใบไม้เถาไม้พรมน้ำเกลือแก่ควาย พร้อมกับกล่าวคำอวยพร กล่าวกันว่าเป็น “คำทัก” เพื่อสวัสดีแก่บ้านเมือง นาคที่มาตอนนี้ล้วนแล้วด้วยควายดำทั้งนั้น และมาสำหรับทำอันตรายแก่คนผิดคนชั่ว
เมื่อไปถึงที่วังคำ แล้วจัดการผูกควายไว้ในแหล่งที่เตรียมไว้รับ ส่วนคนจูงคนขี่มาแสดงกีฬาให้คนดูที่หาดทรายแม่น้ำกก มีกระโดดโลดเต้นและรำทำท่ามวยล้อหลอกกันบ้าง วิ่งไล่กันบ้าง พอได้เวาสมควรก็โดดลงอาบน้ำในแม่น้ำ ขัดสีที่มอมร่างกายออก แล้วเป็นเลิกกีฬา
เวลาพลบค่ำ ราษฎรทุกบ้านเรือนต่างบูชาผีปู่ย่าขอพรให้คุ้มกันรักษาอันตรายแก่ลูกหลาน พระสงฆ์ที่จะรับบิณฑบาตสังฆทานแยกกันเข้าประจำประตูเมืองทุกประตู และสวด “อาฏานาฏิยสูตร” เป็นพักๆไปจนรุ่งสว่าง พระสงฆ์ 108 รูป ที่ดอยจอมทองและตามวัดที่มิได้ไปเข้าพิธีก็สวดเช่นเดียวกันและย่ำระฆัง สถานที่มณฑลพิธีและตามบ้านเรือนราษฎรจุดประทีปโคมไฟเสาไต้สว่างไปหมด และจุดอย่างนี้ตลอดงาน
เวลาราว 20 นาฬิกา แห่บอกไฟของพ่อเมืองกับทั้งของนายบ้านนายตำบล ออกจากคุ้มหลวงเอาไปรวมไว้ในมณฑลพิธี การแห่แห่ด้วย “ก๋องปง-กลองพง” และขับร้องฟ้อนรำ ผ่านไปทั่วทุกถนนในเมืองแล้วจึงเข้าไปสู่บริเวณดอยจอมทอง
กลองพง คือกลองสองหน้าใบ 1 ปี่แน 1 ฉิ่ง 1 บรรเลง “ม่านโห่” กลองกับฉิ่งตีล้อเสียงเป็นขัดจังหวะปี่ มีนางสาวแต่งตัวเสื้อผ้าขาวธรรมดา ผ้าสั้นจนนุ่งสูงไว้ชายใต้เข่าเล็กน้อยตีกรับและขับร้อง แบ่งเป็น 2 พวก เปลี่ยนกันขับร้องคนละพัก นางวาวเหล่านี้ตือลานหูและทัดพวงดอกไม้ที่มวยผม คล้ายกับ “กระเช้าดอกไม้” และสะพาย “กุบ” คือหมวกกันฝนและน้ำค้าง รวมหมดราว 30 คน พวกฟ้อนเป็นชายหนุ่มเรียกว่า “บ่าว” ไม่จำกัดจำนวนอย่างว่า “เปิดประตูให้ใครดีก็เข้ามา” แต่งตัวนุ่ง “ผ้าต้อย” คือนุ่งผ้าโจงกระเบน ชายผ้าอยู่เหนือเข่าปล่อยหางกระเบนที่เหลือจากเหน็บเข็มขัดแล้วห้อยลงไปเป็นหาง ใส่เสื้อขาวชั้นใน พันศีรษะด้วยผ้าจกมีชายครุยเหน็บเบื้องบน และปล่อยชายครุยย้อยลงข้างนอกใบหูทั้งสองข้าง ฟ้อนด้วยเทียนจุดไฟ การเดินขบวนแห่แบ่งเป็นส่วนๆ คือ ฟ้อนไปหน้า แล้วปี่พาทย์กลองพงคั่น นางสาวตีกรับขับร้อง ต่อนี้ถึงเสลี่ยงหามบอกไฟตามกัน ตามศักดิ์ของเจ้าของ พวกผู้เฒ่าผู้แก่และนายบ้านนายตำบลกับทั้งคนดีเดินแซงสองข้าง การฟ้อนนี้มีรำท่าเชิงหอกดาบแลลูกกุย บางทีก็ปล่อยให้ต่อยกันอย่าง “ลองดี” เป็นมวยหมู่
เมื่อขบวนแห่เข้าสู่บริเวณดอยจอมทอง ที่ข่วงหลวงมีปี่พาทย์กลองแอวประกอบด้วยนางฟ้อนเทียนไฟต้อนรับ ขบวนแห่ประทักษิณบริเวณ แล้วเอาบอกไฟเข้าเก็บไว้ในศาลบวงสรวงผีนาค พวกขบวนแห่เข้าสู่ “ข่วงคนดี” และบรรเลงต่อไปจนราว 23 นาฬิกา
ภาพ ถ้ำพระ เมืองเชียงราย เมื่อจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาธิการทหารบก เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ พ.ศ.2465 ซึ่งถ้ำพระใช้เป็นสถานที่เริ่มขบวนนาคร้ายในงานบวงสรวงผีนาค
