เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 5311 พิธีบวงสรวงผีนาค เมืองเชียงราย พิธีที่หายสาบสูญจากเชียงราย
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 18 ม.ค. 19, 18:51

มณฑลพิธี

สถานที่ประกอบพิธีกระทำ ณ บริเวณ “ดอยจอมทอง” เรียกกันเป็นสามัญในเวลาปกติว่า “ดอยหัวเวียง” ในพิธีนี้เรียกว่า “ดอยหัวนาค” ดอยจอมทองเป็นหมู่เขาน้อยกลุ่มหนึ่งมี 4 ม่อน หรือ 4 จอม (คำว่า ม่อน และ จอม ตรงกับ ยอด) แล้วมีที่ลาดเป็นเชิงเขาติดต่อกันทั้ง 4 ม่อน มีชื่อต่างกัน คือ นับแต่ตะวันออกไปตะวันตก คือ
1. ม่อนจอมแว่
2. ม่อนจอมแจ้ง
3. ม่อนจอมทอง
4. ม่อนฤาษี อยู่หลังม่อนจอมแจ้ง
ที่ตรงหน้า “ม่อนจอมแจ้ง” คือทางทิศเหนือ เป็นสนามหญ้าเรียกว่า “ข่วงหลวง” (สนามหลวง) จัดเป็นที่มณฑลพิธีบวงสรวงผีนาค ที่บนม่อนจอมทอง เป็นวัดไม่มีพระสงฆ์อยู่ จัดพระวิหารเป็นที่ “สืบชะตาเมือง” และปลูกศาลา “ปะรำ” ที่พักของพ่อเมืองไว้บนเขานี้

ข่วงหลวง หรือ สนามหลวง นั้น กว้างราว 5 เส้น ยาวราว 25 เส้นหรือ 1 กิโลเมตร รูปของข่วงหลวงเป็นอย่าง “อัฒจรรย์” ทางนูนอยู่ทางเชิงดอย อีกทางหนึ่งเป็น “กองนาค” (ถนนนาค) ซึ่งเป็นถนนมาจากท่านาค ขึ้นไปบนยอดม่อนจอมทอง ตอนขึ้นไปบนม่อนจอมทองทำเป็น “บันไดนาค” ต่อจากเชิงบันไดนาคนี้ไปทางตะวันตก มีถนนก่ออิฐเรียกว่า “กองใน” (ถนนใน) เป็นทางเดินมาจาก “หอเจนเมือง” หรือ วังคำ มาต่อกับกองนาค และยังมีถนนทางลัดจากวังคำนี้เป็นทางผ่านขึ้นไปตามหมู่เขาน้อยอันเป็นเชิงดอยช้าง ไปยังสวนดอกไม้เรียกว่า “เวียงสวนดอก” อีกสายหนึ่ง เวียงสวนดอกนั้นอยู่ทางตะวันตกเมือง

ที่กึ่งกลาง “ข่วงหลวง-สนามหลวง” ปลูกโรงพิธีบวงสรวงผีนาคเรียกว่า “หอนาค” หรือ “หอผีลง” ตัวโรงพิธีนี้ทำเป็นรูป “กลม” วัดผ่าศูนย์กลางยาว 5 วา มีหลังคา 2 ชั้น ชั้นบนดาดด้วยผ้าขาวผ้าแดงสลับกัน ชั้นล่างมุงด้วยหญ้าคา ยกพื้นสูงจากระดับดินราว 2 ศอก เป็นที่ “ผีลง” บนพื้นยก ปูเสื่อ วาง “หมอนหก” คือหมอนชนิดมีไส้ใน 2 ช่อง สำหรับหนุนนอน ใบ 1 “หมอนอิ่ง” คือหมอนตะพาบน้ำ สำหรับวางบนตักแล้วตั้งศอกเอามือเท้าคาง ใบ 1 “หมอนผา” คือหมอนอิงหรือหมอนพิง เป็นรูปสามเหลี่ยมคมขวาน สำหรับใช้เอนหลังใบ 1 บนพื้นยกมีลูกกรงและมีบันไดทั้ง 4 ทิศ แล้วทำพะเพิงหลังคาตัดต่อจากโรงพิธีนี้ออกไปทั้ง 4 ทิศ กว้างราวด้านละ 10 วา ด้านเหนือเป็นที่ตั้งเครื่องสังเวย ด้านตะวันออกเป็นที่ขับร้องฟ้อนรำบำเรอ ด้านใต้เป็นที่คนพัก ด้านตะวันตกเป็นที่พักของและเป็นทางเดินติดต่อกับวงกตท้องข่วง ต่อจากโรงพิธีนี้ไปม่อนจอมทองทางตะวันตก ทำทางวงกตหรือเขาวงกต ตั้งแต่ชายคาพะเพิงโรงพิธีคดค้อมไปบรรจบกับเชิงบันไดนาคที่ลงมาจากม่อนจอมทอง

ที่ทางเหนือคือที่ติดต่อจากพะเพิงโรงพิธีตั้งเครื่องสังเวยนั้น ปลูกศาลารายเป็นแห่งๆ สำหรับคหบดีผู้มีใจศรัทธาบริจาคทาน ที่ขอบสนามติดต่อกับกองนาคปลูก “ตูบหมาแหงน-พะเพิงหมาแหงน” ประมาณ 30-40 หลัง เป็นศาลาอวยตาน ให้ทานของแม่นางเมืองและนางใน ที่ต่อจากโรงพิธีไปทางตะวันออกเป็นที่ว่าง สำหรับเล่นกีฬาข่วงไชยและฟ้อนรำหอกดาบ สุดสนามด้านนี้คือที่เชิงม่อนจอมแว่ ปลูกศาลา 19 ห้อง 3 หลัง เป็นที่พัก “คนดีพายนอก คือพวกที่นิยมเวทมนตร์คาถาต่างๆ” ที่มีความศรัทธาจะมาแสดงวิชาคุณ เช่น ฟ้อนหอกฟ้อนดาบ เป็นต้น กับทั้งเป็นที่พักของผู้ที่มาจากทางไกล

ที่สนามด้านใต้จากโรงพิธีเป็นศาลาที่พักเครื่องไทยทานต่างๆ สำหรับถวายพระสงฆ์ ขอบสนามด้านนี้ปลูกศาลายาว 39 ห้อง 2 หลัง กว้าง 3 วา ไม่กั้นฝา นับเอาช่องเสาเป็นห้อง สำหรับพระสงฆ์ฉัน หน้าศาลามีร้านสำหรับคาวหวานถวายพระ คือจัดสำรับคาวหวาน มีแต่ถ้วยชามเปล่ามาตั้งเรียงเป็นแถวตามจำนวนพระสงฆ์ ไว้คอยรับผู้ที่จะนำอาหารมาจัดตามใจสมัคร โดยมากมักเป็นของแห้ง ถ้าผู้ใดต้มแกงมาต้องจัดใส่ชามของตนเอง

โดยรอบบริเวณสนามนี้ทำรั้ว “ตาแสง” คือรั้วขัดเป็นรูปตาเหลวหรือตาแหลว ปลูกต้นกล้วย ต้นอ้อย และต้นกุ๊ก ช่อน้อยตุงไชย สลับกับเสาโคมไฟและเสาไต้ ทำด้วยไม้เกี๊ยะ ไม้สนเป็นระยะๆ ตัวโรงพิธีและศาลาทั้งปวงประดับด้วยใบไม้ดอกไม้ซึ่งเกณฑ์กันทำเป็นหมู่บ้านๆ

ที่ท่านาค เป็นท่าลงแม่น้ำอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัด ทำบันไดนาคด้วยไม้พาดจากบนฝั่ง คือ ที่หัวกองนาคลงไปในแม่น้ำ หัวบันไดนาคนี้ปักเสาโคมใหญ่สูงขึ้นทั้งสองข้าง และชักโคมไฟขึ้นแขวนได้ ตามถนนกองนาค ทำรั้วตาแสงและปลูกต้นกล้วยอ้อยกับกุ๊ก ประดับธงทิว และใบไม้ดอกไม้ตลอดสายจนถึงบนม่อนจอมทอง ที่บนม่อนจอมทองตั้งร้านเครื่องบูชาเหมือนกับม้าหมู่เครื่องบูชา รอบพระวิหารและพระเจดีย์มีธงรูปนาคสีเหลืองปักรายตามกำแพงวัดจอมทองโดยรอบ

ที่หอเจนเมือง หรือ “วังคำ” อยู่ที่เชิงม่อนจอมทองทางตะวันตก ปลูกศาลเพียงตา ขึงเส้นหญ้าคาเขียวและตาแหลวรอบศาลเป็นบริเวณกว้าง 8 วา ตัวศาลนั้นสูงเพียงตา กว้าง 1 วาจัตุรัส รอบรั้วปลูกกล้วยอ้อยและกุ๊กประดับประดาเหมือนกับที่โรงพิธี ถนนกองในก็ตกแต่งเช่นเดียวกับถนนกองนาค ตรงหน้าศาลเพียงตาขุดหลุมใหญ่ลึก 4 ศอก กว้าง 4 วาจัตุรัส เป็นที่ทำจองกั๋มม์ หรือ “อาถรรพ์” ต่อจากรั้วตาแหลวไปทางตะวันตกเป็น ข่วงใน “สนามใน” ไปจนถึงลำน้ำแม่กอนเก่า แต่เรียกกันว่า “หนองอู่” ที่ตอนนี้ติดต่อกับเมืองอู่คำซึ่งร้างมานานแล้ว

ที่หอผู้เสื้อเมืองอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกกำแพงเมือง คนละมุมเมืองกับดอยจอมทอง ที่นี้เป็นเมืองเก่าเหมือนกันชื่อ “เมืองสามฝั่งแกน” จัดทำความสะอาดทั่วบริเวณ ตกแต่งประดับประดาเหมือนกันกับที่วังคำ ปลูก “ผามเปียง” คือปะรำหลังคาตัด เป็นที่พักคน 2 หลัง สำหรับพ่อเมืองและวงศ์ตระกูล 1 หลัง ยศบริวารหลัง 1 และถากหญ้าที่ตะวันตกหอผีเสื้อเมืองกว้างราว 15 วาจตุรัส เป็น “ข่วงลูกกุย” คือสนามชกมวย การชกมวยทางภาคพายัพ ชกกันบนพื้นดินไม่ทำเวที ขึงเชือกโดยรอบข่วงสำหรับกันคนดูมิให้ล่วงล้ำเข้าไป
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 18 ม.ค. 19, 18:58

แผนที่มณฑลพิธีบวงสรวงผีนาค ทำโดย นโม ตสฺส

หมายเหตุ
กองนาค (ถนนนาค) = ปัจจุบันคือ ถนนไกสรสิทธิ์
กองใน (ถนนใน) = ปัจจุบันคือ ถนนอาจอำนวย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 18 ม.ค. 19, 20:49

เครื่องบริขารต่างๆ

เครื่องสังเวยผีนาค
1. สำรับคาว เรียก “ขันข้าว” ของกินทำด้วยปลาทั้งนั้น (ในคำอธิบายว่าต้องเป็นปลาตายเอง)
2. สำรับหวาน เรียก “ขันหวาน” จัดแต่ขนมต่างๆ
3. หัวมัน ถั่ว งา ต้มน้ำตาล หรือต้มเปล่าจิ้ม หรือคลุกน้ำอ้ออย
4. กล้วยสุกหลายชนิด จัดใส่พาน
5. อ้อย ปอกและควั่นเป็นชิ้นๆ จัดใส่พานต่างหาก
6. ส้มสุกลูกไม้ จัดใส่พานต่างหาก
7. น้ำบ่อทราย คือตักน้ำจากบ่อที่ขุดลึกลงไปถึงทราย ใส่ “สลุง” คือ “ขันน้ำขนาดกลางราวขันสำหรับใส่ข้าวตักบาตร” มี “สะลอบ” ลอยในนั้น สลุง 1

เครื่องสักการะผีนาค
1. พานดอกไม้ ธูป เทียน เชิงเทียน ราวเทียน กระถางธูป จัดหลายที่ วางในพะเพิงเป็นระยะๆ
2. เทียนหนัก 5 บาท 4 เชิง
3. พานพุ่มดอกไม้สด เรียกว่า “ขันดอกไม้” หลายพุ่ม
4. ต้นผึ้ง คือดอกไม้ทำด้วยขี้ผึ้ง และเอาต้นกล้วยทำเป็นพานพุ่ม เอาดอกผึ้งเสียบไม้ปักไว้เป็นพุ่ม หลายๆต้น
สิ่งของที่กล่าวมานี้เป็นของราษฎรต่างรวมกันจัดมาเป็นหมู่บ้านๆ หรือตำบลๆ และมีกระบวนแห่มาโดยเฉพาะ
5.บอกไฟ (บั้งไฟ)
สำหรับบูชากลางวัน
   ก. บอกไฟหล่อ คือ จุดให้แล่นไปตามพื้นดิน
   ข. บอกไฟขึ้น สำหรับจุดให้ลอยขึ้นไปบนอากาศ
บอกไฟหล่อนั้น ทำอย่างเดียวกับบอกไฟขึ้น เมื่อประกอบหางและหัวเสร็จแล้ว เอา “ล้อ” ผูกติดที่หัว วางลงกับพื้นดิน ทำด้วยรูปสัตว์ต่างๆ ผูกติดไว้ บอกไฟขึ้นนั้น ทำด้วยไม้เฮี้ย และมีลูกโหว้ (โหวด) ผูกติดที่หัวให้มีเสียงดังเมื่อเวลาแล่นขึ้นไปบนอากาศแล้วตกลงมา โดยปกติทำใหญ่และเล็กต่างกันหลายขนาด แต่สำหรับงานบวงสรวงผีนาค พ่อเมืองต้องจัดให้ทำขึ้นเป็นขนาดใหญ่กระบอก 1 น้ำหนักดินเฝ่าแสนหนึ่งราบ 1 หาบ นอกจากนี้ประชาชนผู้มีศรัทธาก็จัดทำมาบูชาเพิ่มอีกมากและหลายขนาด ตั้งแต่ใหญ่ลงไปหาเล็ก น้ำหนักดินเผ่าเพียงฮ้อยเดียวราว 1 ชั่ง รวมทั้งหมดมีจำนวนบอกไฟราว 500-600 บอก ต้องแบ่งจุดหลายวัน กระบอกที่เป็นส่วนของพ่อเมืองนั้นใหญ่กว่าเพื่อน ในเวลาจุดมีบอกไฟที่เป็นบริวารอีกหลายอย่าง และต้องล่ามสายฝักแคจากโรงพิธีไปยังร้านที่จุดบอกไฟยาวหลายร้อยวา
บริวารบอกไฟของพ่อเมืองนั้น คือ
   1. สายมะผาบ คือ “ฝักแค”
   2. สะโบ๊ก คือ ปล้องไม้ระเบิดทำด้วยไม้ไผ่สีสุก
   3. บอกไฟจักจั่น ทำด้วยเมล็ดมะม่วง เห็นจะตรงกับ ตะไล
   4. บอกไฟนกกะจาบ จักจั่นนั่นเองแต่ไม่มีหาง
   5. บอกไฟลูกหนู
สำหรับจุดบูชาในเวลากลางคืน
   ก. ไฟดอกไม้ คือ ไฟพะเนียง
   ข. ไฟดอกไม้ปวง คือ กังหันหมุน
   ค. ไฟช้างร้อง
   ง. ไฟดาว คือ พลุ
   จ. ไฟเทียน เห็นจะตรงกับ พุ่มระทา

ของยื่นของปั่น (บรรณาการ) ผีนาค
   ก. เงิน 15000 ใช้เบี้ย
   ข. หมาก พลู พร้าว ตาล ส้มสุกลูกไม้ต่างๆ และสรรพพืชผลที่เพาะปลูกขึ้นภายในบ้านเมือง
   ค. ชิ้นปลาอาหารที่ทำเป็นของแห้ง
   ง. ผ้าผ่อนทอสไบ ที่ทำใช้เองในบ้านเมือง
   จ. ภาชนะต่างๆ ที่ทำขึ้นใช้เอง โดยมากเป็นเครื่องดินเผากับเครื่องไม้สลักจักสานและกลึง
   ฉ. เครื่องยารักษาโรค คือรากไม้ เปลือกไม้ และลูกไม้ที่ใช้ทำยา (ของเหล่านี้ราษฎรต่างจัดหามาทุกตำบลหมู่บ้านตามใจสมัคร)

เครื่องขอพรผีนาค
   ก. พานบายศรี ด้ายสายสิญจน์ สำรับคาวหวานอย่างคนกิน
   ข. เทียนขี้ผึ้งหนัก 5 บาท 4 บาท 10 บาท อย่างละ 2 เล่ม ติดเชิง
   ค. อ่างสลุง (ขันสาคร) ใส่น้ำบ่อทรายแช่ฝักส้มป่อยจี้ไฟ เกสรดอกไม้ รากหญ้าแพรก รากหญ้าคา ใบโมก ใบเงินใบทอง ใบมะตูม
   ง. ผ้าไหว้ คือผ้าขาวทอเอง ฮำ 1 (ฮำ 1 คือ พับ 1)

เครื่องยศผีนาค เชิญมาตั้งให้เมื่อผีลง
   ก. ผ้าขาวสำหรับนุ่งผืน 1 ผ้าขาวสไบผืน 1 เครื่องอาภรณ์อย่างอื่นคือผ้าม่วงผ้าไหม และกางเกง พร้อมทั้งเสื้อหมวก เกือก ไม้เท้าต้องจัดไว้หลายๆ สำหรับ เตรียมไว้เผื่อเรียกเวลามหรรสพ
   ข. ไม้เท้า
   ค. ขันหมาก คือ เชี่ยนหมาก
   ง. น้ำต้น คือ คนโทน้ำ มีฝาครอบ
   จ. ครกหมาก คือ ตะบันหมาก และกระโถนเรียกว่า “ล้อกหมาก” (ถือกันมาว่า “น้ำเป็นต้นกำปาก หมากเป็นต้นกำขาน”)
   ฉ. นอกจากนี้มีเครื่องจองกั๋มม์ หรือ จองเวร จัดอย่างเดียวกับพิธีจ๋องกั๋มม์ในลัทธิผีครูที่เล่ามาแล้ว

ภาพ ข่วงหลวงเมืองเชียงราย พ.ศ.2467 ข้างบนคือวัดพระธาตุดอยจอมทอง ใช้เป็นที่สืบชะตาในงานบวงสรวงผีนาค


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 19 ม.ค. 19, 10:49

เริ่มงานบวงสรวง

เมื่อแรกเริ่มงาน เป็นงานของคนกับผีปู่ย่า คือคนจะเชิญผีปู่ย่าเข้าร่วมการบวงสรวงผีนาค งานนี้เรียกว่า “เข้าหว่างคาวป่า” คือ “เข้าไปสู่ป่า” หรือ “ประเวสไพร” มีรายการดังนี้

แต่ก่อนว่าเรื่องงานในวันขึ้น 5 ค่ำจนไปถึงวัน 10 ค่ำเดือน 8 (6) แต่คราวนี้เริ่มในวันขึ้น 12 ค่ำ ตั้งแต่เวลาเช้า พ่อเมืองประชุมตระกูลวงศ์ ยศ บริวาร คหบดี และชาวชนที่สามารถจะมาได้ ณ ที่คุ้มหลวง (บ้านพ่อเมือง) ช่วยกันตกแต่งเรือนหลวงให้สะอาดงดงามตา และตระเตรียมเครื่องบริขารในการบวงสรวงผีนาค ผีปู่ย่า มีซอเคล้าปี่ให้คนมาทำงานฟัง กับมีการซ้อมฟ้อนรำของเหล่าสตรีเป็นพักๆ

หัวสาม หัวศีล หัวเมืองแก้ว และ หัวคลังแก้ว เป็นเจ้าหน้าที่ในการนั้นทั้งสิ้น หัวสนามต่างๆ ช่วยกันตกแต่งเรือนหลวงและอาสนะผี อาสนพระ ม้าแข้งเหล็ก ม้าแข้งไฟจัดการเปรียบมวย ซึ่งเรียกว่า “หาคู่ลูกกุย” ให้ “จุมก๋อง” คือ “ชุมกลอง” บันลือ “ก๋องผิ้ง-กลองผิ้ง” ที่บริเวณโรงรั้ง “โรงรักษาการ” ภายในประตูคุ้ม (ประตูบ้านพ่อเมือง) เรียก “คนลูกกุยดี-นักมวยเอก” ให้อาสา “ตี๋ลูกกุย-ชกมวย”

ก๋องผิ้ง หรือ กลองผิ้ง นั้น คือ “ปี่พาทย์” ชนิดหนึ่ง เป็นสำรับ ประกอบด้วย
1. กลองสองหน้า หน้าหนึ่งใหญ่ หน้าหนึ่งเล็ก 2 ใบ
     ก. ใบใหญ่ เรียกว่า “ก๋องผิ้ง-กลองผิ้ง”
     ข. ใบเล็ก เรียกว่า “ก๋องปง-กองพง”
2. ปี่แนใหญ่ 1 เล็ก 1 เรียกว่า “แนใหญ่-แนน้อย”
3. ฆ้องวง 1 ราง เรียกว่า “พาทย์ค้อง”
4. สว่า คือ ฉาบ 1
5. สิ่ง คือ ฉิ่ง 1
รวมทั้งหมดนี้เรียกว่า “ก๋องผิ้ง-กลองผิ้ง” เรียกทั้งผู้บรรเลงและฟ้อนรำว่า “จุมก๋องผิ้ง-ชุมกลองผิ้ง” ความหมายเห็นจะตรงกับ “คณะปี่พาทย์กลองผิ้ง”

วิธีบันลือกลองนั้น ฆ้องวงกับปี่แนบรรเลงเพลงชื่อ “ย่านางเหลียว” กลองตีล้อเสียงกันเป็นจังหวะฆ้องวงและปี่ ฉาบกับฉิ่งก็ตีล้อเสียงกันเป็นเสียงจังหวะกลอง บรรเลงอย่างช้าให้ไพเราะ มีนางฟ้อนคู่หนึ่ง นางฟ้อนนี้นุ่งผ้าซิ่นไว้เชิงเพียงใต้เข่าเล็กน้อย มีผ้ารัดเอว สวมกำไลข้อเท้า ไม่ใส่เสื้อใช้ผ้าแถบรัดอกบีบก้นห้อยชายลงทางข้างทั้งสองชาย ใส่จอนหูซึ่งเรียกว่า “ตือลานหู” เพราะเอาใบตาลม้วนกลมสอดเข้ารูหู และเสียบดอกไม้ที่ใจกลางลาน เกล้าผมมวยประลงทางหลังสวมพวงมาลัยสด ไม่สวมแหวน แต่สวมเล็บทุกนิ้วและใส่กำไลข้อมือวิธีฟ้อร เรียกว่า “ฟ้อนนางเหลียว” และ ฟ้อนทำนอง “ล้อกัน” บางที่เรียก “ฟ้อนไล่เมง”

ภาพ จุมกลองผิ้ง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า วงเต่งถิ้ง ในงานศพที่เชียงใหม่ พ.ศ.2510 (ภายหลังมีการเพิ่ม “พาทย์ไม้” หรือระนาดเอก ระนาดทุ้ม เข้าผสมในวง)



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 19 ม.ค. 19, 11:11

เมื่อบันลือกลองผิ้ง “เริ่มราว 13 น.” ขึ้นแล้ว นักมวยซึ่งเรียกว่า “คนลูกกุยดี” ตำบลต่างๆ ก็พากันเข้าสู่บริเวณนั้น และ “คูบา” คือ “หมอรักษาพยาบาลด้วยอาคมในเวลาบาดเจ็บ” ก็มารวมอยู่ด้วยเพื่อคอยหานักมวยผู้ที่ที่จะให้เป็นผู้พยาบาลซึ่งมักพูดจาตกงค่ารักษาไว้ก่อน ถึงเวลา 15 น. ม้าแข้งเหล็กก็เริ่ม “เผียลูกกุย-เปรียบคู่มวย” เลือกเอาขนาดอายุ 12-15 ปี คู่ 1 อายุ 16-20 ปี 2 คู่ อายุ 20-30 ปี 3 คู่ อายุเรือน 40 ปี อีก 1 คู่ รวมเป็น 7 คู่ การเปรียบคู่มวยหรือลูกกุยนี้ถือเอาความสำคัญเป็นหลัก 2 ข้อ ข้อหนึ่งคือ ให้สูงเท่ากัน ข้อสองน้ำใจสมัครทั้งสองฝ่าย ส่วนรูปร่างอ้วนล่ำหรือผอมเรียวกับช่วงอกจะได้ขนาดเท่าเทียมกันหรือไม่เป็นข้อสำคัญ เมื่อเปรียบได้คู่แล้วก็ยกพวกไปคอยอยู่ที่ “ข่วงลูกกุย-สนามชกมวย” ที่หน้าหอผีเสื้อเมืองทั้งหมด และไปบรรเลงเพลงย่านางเหลียวหรือช้านางเหลียว ณ ที่นั่นจนกว่าขบวนเชิญผีจะไปถึง

ส่วนพวกหัวสึก ก็ตระเตรียมการต่างๆ ตามหน้าที่ แต่เพราะเหตุงานแผนกนี้ไม่ได้ตระเตรียมเป็นขบวนจริงจังจึงขอกล่าวเป็นเรื่องราวว่า

    ขุนม้าจัดหาม้ามิ่ง       เคยชิงไชยชิตจิตกล้า
 ขุนช้างจัดหาช้างงา       ค่ายค้ำพังคาเทียบไว้
 ขุนรถเตรียมรถที่นั่ง       พร้อมทั้งคานหามงามไสว
 ขุนพลเรียกเหล่าพลไกร  ที่ในข่วงคุ้มอึงคะนึงฯ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 19 ม.ค. 19, 13:21

ขอพรรณณาเครื่องแต่งกายลงในตอนนี้ก่อน เพราะพิธีสืบแต่นี้ไปผู้ประกอบพิธี เว้นแต่อาจารย์หลวง โหราหลวง กับแม่มดคนทรง ซึ่งนุ่งขาวห่มขาวแล้ว นอกนั้นแต่งตัวตามประเพณีเดิม ราชครูเมืองก็ครองไต่อย่างปกติสมณะ

เครื่องแต่งตัวของผู้เข้าพิธี เรียกว่า “เสื้อผ้าจก” คือเป็นเสื้อกางเกงซิ่น และผ้าพันศีรษะ หมวก ชนิดที่ “ปัก” เป็นลวดลายต่างๆ คำว่า “จก” ก็หมายถึง “ปัก” นี้เอง เพื่อให้สะดวกจะเรียกว่า “เครื่องยศ” เพราะแต่งในการพิธี คือ
    ก. สำหรับผู้ชาย
         1. หมวก สีดำหรือขาว รูปคล้ายหมวกเด็กมีดุมถักติดบนตรงกึ่งกลาง ตัวหมวกปักเป็นรูปใบไม้และเถาวัลย์
         2. เสื้อพื้นดำหรือน้ำเงินแก่หรือขาวแบบ “เสื้อกุยเฮง” หรือ “เสื้อจีน” แขนเล็กเรียวยาวถึงข้อมือมีดุมถักหรือโลหะ 5 เม็ด และ 7 เม็ด มีกระเป๋าข้างในเป็นเศษ 1 ใน 4 ของวงกลมทั้งสองข้าง ปักเป็นเส้นดุนที่ชายเสื้อโดยรอบและเลี้ยวขึ้นไปหน้าอกอ้อมขึ้นถึงคอ ดูคล้ายกับเอาเชือกคล้องคอและรัดสเอว
         3. กางเกง เรียกว่า “เตี่ยวขาจก” พื้นสีเดียวกับเสื้อรูปกางเกงจีน ขาแคบเรียวลงถึงข้อเท้า ที่เหนือข้อเท้าราว 4 นิ้ว ปักเป็นแถบรอบขา
         4. ผ้าพันศีรษะ ทอสลับสีในเนื้อขาวแดง ดำแดง เขียวดำ หรือ เขียวเทา แล้วแต่ใจชอบ มีชายครุย เวลาพันศีรษะเหน็บชายข้างบนเป็นหูกระต่าย ทั้งสองข้างปล่อยชายครุยห้อนลงมา
         5. สายรั้ง คือ สายรัดเอว (เข็มขัด) ถักด้วยด้ายสีดำ สีแดง หรือ สีเขียว สีเทา ตามใจชอบ
    ข. สำหรับผู้หญิง แต่ง
         1. แพรพันศีรษะสีต่างๆ ตามใจชอบ ยาวเกือบ 3 วา กว้างศอกกว่าแต่พันให้เล็กแคบเข้าเหลือราวคืบ 1 ใช้พันศีรษะรอบเกล้ามวยผมเป็นรูปถ้วย เวลาแต่งแพรพันศีรษะไม่แซมดอกไม้ที่มวยผม แต่เลื่อนปิ่นมาเสียบที่ผ้านี้ทางข้างใดข้างหนึ่ง
         2. เสื้อ พื้นขาวสีเทาอ่อนหรือลาย เรียกชื่อ “เสื้อกัด” หรือ เสื้อกินคิง คือ “เสื้อคัดรัดตัว” แหวกอกทำเป็นริมเหี่ยมเลยไปผูกด้ายหรือกัดดุมถักทางข้างซ้ายตรงสีข้างแห่ง 1 ที่เลยกันไปใกล้รักแร้แห่ง 1 ตัวยาวเพียงบั้นเอวเหนือชายล่างปักเป็นแถบ ดูคล้ายกับคาดเข็มขัด แขนเล็กเรียวและยาวถึงปลายนิ้วมือ เวลาสวมต้องจีบสอดเข้าและมีผู้ช่วยดึงรูดขึ้นมาไว้ที่ข้อมือ จัดแขนให้เป็นคลื่นแล้วสวมกำไลข้อมือ ข้อศอก ทั้งสองข้าง
         3. ซิ่น พื้นดำหรือขาวหรือเขียวเทา ทอทั้งตัวมีทับหน้าเบื้องล่างห่างจากชายราว 4 นิ้ว หรือน้อยกว่านั้น เป็นสีอื่นสีเดียวบ้างหลายสีบ้างสลับกัน สุดแต่ให้งามรับกับสีพื้น แล้วมีเชิงปักด้วยดิ้นหรือไหมหรือด้ายสีต่างๆ เย็บต่อกับทับหน้าอีกชั้นหนึ่ง ลวดลายที่ปักเชิงนั้นเป็นรูปใบไม้ดอกไม้และเถาวัลย์เรียกว่า “ซิ่นตีนจก”
         4. สายรัดเอว เช่นเดียวกับของผู้ชายและรัดในเสื้อเหมือนกัน

เครื่องยศที่ว่ามานี้ ใช้แต่งอย่างเดียวกันหมด แต่แสดงยศชั้นยศด้วยสิ่งของที่ใช้ เป็นมูลนายก็ปักหรือจกด้วยเส้นไหมเส้นดิ้นที่รองลงมาก็ปักด้วยเส้นด้ายธรรมดา จำพวกหัวสึกรู้ได้ด้วยอาวุธที่ถืออีกอย่างหนึ่ง คือเป็นตัวนายก็ถือดาบด้ามคร่ำนาก ทอง เงิน ที่รองลงก็เป็นด้ามถักด้วยเส้นหวาย และถือปืนผาหน้าไม้ต่างๆ

นอกจากนี้ผู้ชายกับผู้หญิงแต่งตัวผิดกันอีก 2 อย่าง คือ ผู้ชายใช้สวมแหวนที่นิ้วชี้อย่างเดียว ส่วนผู้หญิงสวมแหวนที่นิ้วนางและสวมสร้อยคอคล้องกับจอนหู เว้นแต่เข้าพิธีแต่งงานจึงสวมแหวนทุกนิ้ว และผู้หญิงก็สวมเล็บทุกนิ้วเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่งนั้นคือ หมวกชนิดหนึ่งเรียกว่า “กุบ” รูปคล้ายกระด้งคว่ำแต่นูนกว่ากระด้งเล็กน้อย ใช้สำหรับกันฝน มีที่สวมศีรษะสามด้วยไม้หรือหวายติดไว้ข้างในเรียกว่า “หย่องหัว” (ยองหัว) มีสายรัดคางของผู้ชายใช้ดอกไม้หรือหวายสานเป็นโครง 2 ชั้น เอาใบไม้ติ่งตากแห้งแล้วกรุให้โครงหมวกนั้นบังคับและเย็บกิ่งไว้กับโครงด้วยหวาย ส่วนของผู้หญิงมีโครงอันเดียวและใช้ “กาบไม้ซาง” (ไม้ไผ่สีสุก) เย็บติดกับโครงด้วยเส้นด้ายสี กับมีกระสวยกาบไม้ซางคว่ำเย็บติดตรงกึ่งกลางเบื้องบน เวลาไปไหนๆ มักถือติดมือไปด้วยเหมือนกับใช้ร่มทุกวันนี้

เครื่องแสดงยศสลักดิ้นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมี “กลด” เรียกว่า จ่า “สัปทน” อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้ประกอบกับตำแหน่ง คือ
   1. พ่อเมือง                        ใช้สีขาวลายทองมีระบาย
   2. นางเมือง                       สีเหลืองลายขาวมีระบาย และมีชุมสายซึ่งรวบผูกไว้กับด้าม
   3. แสงเมือง                       สีน้ำเงินแถบทองมีระบาย
   4. ดอกคำ                         สีม่วงอ่อนหรือโศก มีระบายและชุมสาย
   5. ราชครูเมือง                    สีทองมีระบาย มีชุมสาย
   6. อาจารย์หลวง โหราหลวง    สีขาวลายดอกไม้จันทน์สีต่างๆ มีระบาย
   7. ตาเมือง                        สีเขียวลายทองมีระบาย
   8. เจ้าแสน                        สีแดงแถบทองไม่มีระบาย
   9. เจ้าหมื่น                        สีแดงล้วนไม่มีระบาย
พวกท้าวและพ่อเมืองขึ้น ใช้สีน้ำเงินหรือสีเขียวล้วน ไม่มีระบาย แต่การใช้สัปทนนี้ใช้เฉพาะเวลาอยู่กับที่ซึ่งปักไว้เป็นร่มอย่างหนึ่ง กับเวลาขี่ช้างขี่ม้าและคานหาม มีคนกั้นให้อีกอย่างหนึ่ง ในเวลาเดินไม่กั้น
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 19 ม.ค. 19, 14:59

เชิญผี

ถึงเวลา 16.00 น.เศษ ตั้งขบวนเชิญผีที่คุ้มหลวง อาจารย์หลวงถือหางนกยูง โหราหลวงเชิญพานดอกไม้ธูปเทียนสำหรับจุดและย่าที่นั่งคือ แม่มดคนทรง เชิญพานข้าวตอกดอกไม้ ปูอาสนะผ้าขาวแดงเหนือข้าวตอก เดินหน้า ไม่มีเครื่องประโคม ถัดมา แสงเมือง ตาเมือง กับผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหญิงชายเดินตาม แล้วถึงคานหาม 4 ลำคาน ม้าแข้งเหล็กหาม 8 คน ม้าแข้งไฟเชิญสัปทนสีแดงลายทองมีระบายเคียงข้าง หัวหมื่น หัวพัน เดินแซงสองข้าง เจ้าแสนเดินตามคานหาม แล้วพวกหลานชายหญิงของพ่อเมืองและแม่นางเมืองที่แรกรุ่นเป็นหนุ่มเป็นสาวเรียกว่า “หน่อแก้วกวงคำ” เชิญเครื่องยศตาม พวกหน่อแก้ว-หลานชายเชิญปืน หอก ดาบ มีดซุย ไม้เท้า ไม้แส้ เชี่ยนหมาก คนโทน้ำ และกระโถน พวกกวงคำ-หลานหญิงเชิญพานผ้าผ่อนท่อนสไบ เครื่องสำอาง พัด และถุงยา คือ “ย่ามโอสถ” ต่อจากเครื่องยศพวกทนายโรงชั้นแก่หาม “อ่างสลุง” คือขันสาครใส่น้ำอบน้ำหอมและน้ำขมิ้นส้มป่อย สำหรับผีปู่ย่าอาบสรง 4 ขัน แล้วมีม้าแข้งเหล็ก ม้าแข้งไฟถือ “มัดหวาย” เดินคั่น 8 คนเรียงแถวหน้ากระดาน แล้ว “พวกเด็กน้อยทนายโรง” เทียบกับ “มหาดเล็กเด็กชา” เดินตามเป็นขบวนสุดท้าย เคลื่อนออกจากคุ้มหลวงไปยังหอผีเสื้อเมืองอย่างเงียบๆ ไปถึงแล้วคนอื่นๆ พักในปะรำและตามที่ในบริเวณ

คณะผู้เชิญผี คือ แม่มดซึ่งเรียกว่า “ย่าที่นั่ง” เชิญพานข้าวตอกเดินหน้า อาจารย์หลวงถือหางนกยูงเดินขวา โหราหลวงถือพานดอกไม้ธูปเทียนเดินซ้าย แสงเมืองกับตัวเมืองเดินเคียงข้างกันต่ออีกแถวหนึ่ง หน่อแก้วกวงคำเดินเป็นแถวกระดานสลับกันตามแถวหนึ่ง เข้าไปสู่แท่นบูชาหน้าศาล ส่วนคานหามเข้าเทียบเชิงบันไดศาล ขันน้ำอาบสรง ตั้งเรียงกันเบื้องหลังแท่นบูชา คือ ข้างในติดกับหน้าศาล

แม่มดวางพานอาสนะบนแท่นแล้วนั่งพับเพียบหน้าแท่น โหรหลวงจุดธูปเทียนบูชาติดและปักที่แท่น อาจารย์หลวงชูหางนกยูงในท่าพนมมือ กล่าวคำอัญเชิญผีเป็นคำร่ายคล้ายกับคำเชิญกันตามธรรมดา ออกนามกษัตริย์เก่าๆ ที่ถือว่าเป็นประธาน 3 ท่านคือ ปู่เจ้าลาวจก พรหมราช และ เจ้าหมวกขาว จบแล้วแสงเมืองนำหน่อแก้วกวงคำเข้าจุดธูปเทียนบูชาที่แท่นบูชา และเชิญเครื่องยศขึ้นไปตั้งหน้าอาสนะที่ในห้องบนศาล น้ำอบน้ำหอมที่สำหรับอาบสรง ก็ยกขึ้นไปตั้งที่นอกชาน เสร็จแล้วกลับลงมานั่งล้อมแท่นบูชาอยู่เบื้องล่างด้วยกันกับแม่มด แต่แสงเมืองจะไปนั่งพักที่ประจำ

ศาล หรือหอผีเสื้อเมืองนั้น ใหญ่เท่ากับเรือนธรรมดา หันหน้าสู่ทิศใต้ มีฝารอบทั้ง 4 ด้าน เบื้องหน้ามีมุขยื่นออกมาไม่มีฝา มีบันไดพาดข้างตะวันตกมุข ที่หน้ามุขมีตั่งเหนือม้านั่งไว้ตัวหนึ่ง ที่พื้นดินตรงหน้ามุขนี้มีแท่นสำหรับบูชา ตะวันตกศาลเป็นข่วงลูกกุย “สนามมวย” ทางเหนือเป็นเรือนคนเฝ้ารักษา ตะวันออกเป็นโรงช้างโรงม้า “เทียม” ทางใต้เป็นประตูเข้าไปสู่ศาล ปลูกปะรำที่ข้างประตูนี้ข้างละหลังเป็นที่พัก ข้างบนศาลตอนในห้องมีเตียงและตั่ง “อาสนะ” เครื่องยศที่ขนขึ้นไปวางหน้าอาสนะนี้ น้ำอบน้ำหอมตั้งที่นอกชานเบื้องหลัง ในระหว่างที่ขนเครื่องยศขึ้นศาลนั้น ราษฎรเข้าบูชาเครื่องสักการะที่แท่นบูชา แล้วกลับไปคอยดูมวยอยู่ที่ข้างสนามมวย

ขณะนี้ พิณพาทย์กลองผิ้งบรรเลงเพลง “ย่า หรือ ข้านางเหลียว” ตลอดเวลา เบื้องบนศาลจะมีอะไรบ้างไม่เห็น คนก็ลงมาหมด จึงขอสมมุติเรื่องตอนนี้ไว้เป็นกลอนว่า

    เบื้องนั้น                            จอมเจ้าธานี “ผีปู่ย่า”
รับอาสิรพาทราธนา                    แล้วมาสะสรงอินทรีย์
เอาสลุงจ้วงตักวารินรด                ด้วยน้ำดอกไม้สดเกสรศรี
หอมหวนยวลใจเปรมปรีดิ์             ซาบฉวีเฟื่องฟุ้งจรุงองค์
นุ่งเตี่ยวยาวพราวพรายเรียกลายจุด  เสื้อจกดิ้นทองส่องศรีหงส์
คาดสายรั้งถักอร่ามงามบรรจง        เหน็บมีดซุยคู่ทรงด้ามมณี
แต่งองค์ทรงเพศเป็นชาวป่า          ไม่แต่งอย่างกษัตราเรืองศรี
ทัดดวงบุปผามาลี                      ผ้าจกพันเกศีทิ้งชาย
จับศรีขรรค์ไชยสิทธิ์ฤทธิเรือง         คู่เมืองเลื่องเดชฉานฉาย
งามเพียงพรหมพักตร์เพราพราย      ผันผายออกมาเวลาเย็น
ย่อยสยิ่งอย่างโอปาติกะ               ตามวาทะเก่าแก่แลไม่เห็น
คนสยองพองหัวกลัวทั้งเป็น           นึกเห็นนั่งหน้าศาลาทองฯ

    บัดนี้                                หน่อแก้วกวงคำทั้งผอง
ต่างระยอบนอบตัวขนหัวพอง         ค่อยเยื้องย่องน้อมกายถวายกร
เชิดช่อมาลาม่ายฟ้อน                 โอนอ่อนบำเรออดิสร
ขอพระเดชปกเกศสถาพร             ให้นาครเป็นสุขสำราญฯ

แผนที่หอเสื้อเมืองเชียงราย ทำโดย นโม ตสฺส



บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 19 ม.ค. 19, 18:04

ฟ้อนอยู่ราว 10 นาที พิณพาทย์กลองส่งสำเนียงจากเพลงข้านางเหลียวเป็น “เพลงลูกกุย” ได้ยินเสียงม้าแข้งเหล็กม้าแข้งไฟเรียกขานชื่อ “คนลูกกุยดี-นักมวยเอก” เข้าสู่ “ข่วงลูกกุย” การฟ้อนของหน่อแก้วกวงคำก็ยุติลง และพากันไปเชิญเครื่องยศจากบนศาลมาลงมาเข้าขบวน พานอาสนะตั้งบนคานหาม (สันนิฐานว่าผีปู่ย่ามาขึ้นคานหาม) แล้วกางสัปทนกั้น ยกคานหามไปเทียบที่ขอบข่วงลูกกุยข้างถนนที่จะออกไปจากศาล ส่วนน้ำอบน้ำหอมอันเป็นน้ำอาบสรงก็เอาประพรมและสาดล้างข้างบนศาลจนหมด

นักมวยถูกเรียกขานชื่อ เข้ามาถวายบังคมที่หน้าคานหาม ทีละคู่ เริ่มแต่เด็กไปหาผู้ใหญ่ ให้นั่งคุกเข่าบังคมเคียงกัน 3 ลา แล้วต่างลุกขึ้นเดินถอยห่างออกไปจากกันราว 2 วา ครูมวยซึ่งนำคู่ชกเข้ามาบังคมนั้น รำเพลงมวยให้ดูก่อน เพงที่รำนั้นเรียกว่า “ไม้เป็นไม้ตาย” ชื่อ เสือลากหาง 1 ย่างสามขุม 1 จุมหน้าค้อน 1 รำหลอกล้อกันจบเพลงแล้วถวายบังคม 3 คาบ และเลยอยู่เป็นผู้กำกับนักมวยที่ต่อยกันต่อไป นักมวยเริ่มรำท่า “ลูกกุย” เข้า “ตี๋ลูกกุย” ชกกันไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้

ลักษณะการตี๋ลูกกุย-ชกมวย ในลานนาไทยโบราณนั้นผิดกับปัจจุบันนี้หลายอย่าง คือ
1. มวย หรือ กำหมัด ซึ่งเรียกว่า “ลูกกุย” ไม่คาดด้าย ให้ชกต่อยกันตามธรรมชาติของกำหมัด
2. นอกจากชกต่อยกันด้วยกำหมัด อนุญาตให้ใช้เข่ากระทุ้งกระแทกช่วยกำหมัดได้
3. ห้ามใช้ข้อศอกถอง หรือใช้เท้าเตะ
4. กำหนดที่ให้ชกต่อยและกระแทกกระทุ้งได้เฉพาะที่ส่วน “ศีรษะ” คือ ดวงหน้า นับแต่ลูกคางขึ้นไป
5. บริเวณร่างกายส่วนอื่น ห้ามไม่ให้ชกต่อย หรือกระทุ้งกระแทกเป็นอันขาด
6. เวลาล้ม ห้ามไม่ให้อีกฝ่ายซ้ำ แต่ให้ถอยออกไปนั่งอยู่ห่างๆ ราว 1 วา ถ้าฝ่ายล้มยอมแพ้ล้มลุกขึ้นไม่ได้ อีกฝ่ายก็เป็นฝ่ายชนะ แต่ถ้าฝ่ายล้มลุกขึ้นได้และไม่ยอมแพ้ อีกฝ่ายก็ลุกยืนขึ้นและเป็นฝ่ายคอยรับ ฝ่ายที่ล้มเป็นฝ่ายรุก่อน

ด้วยเหตุที่มีบัญญัติการชกต่อยดังว่านี้ คู่ต่อยมวย “ตี๋ลูกกุย” ต้องรำทำท่าหลอก ล้อ และขู่ เพื่อลวงให้อีกฝ่ายหลงกลและกระโดดเข้า “คลุก” ชกต่อยตามดวงหน้าหรือเหนี่ยวศีรษะให้ก้มงแล้วใช้เข่าเดาะหรือกระทุ้ง เรียกว่า “เข้าเนียนใน” คือ “วงใน” บางคู่ชกกันถึงแพ้ชนะได้รวดเร็ว บางคู่ก็นาน บางคนล้มลงแล้วคูบาเข้าแก้ไขกลับลุกขึ้นและรุกคู่ต่อสู้จนชนะก็มี เมื่อตี๋ลูกกุยเสร็จแล้ว หัวหมื่น หัวพันรำหอกดาบบูชาอีกคู่หนึ่ง แล้วจัดขบวนเชิญผีกับเข้าคุ้ม ขบวนตอนนี้ระเบียบอย่างเดียวกับขามาเชิญ ผิดกันแต่ตาเมืองนำขบวน อาจารย์หวง โหราหลวง ประคองคานหาม พานอาสนะตั้งบนคานหาม ย่าที่นั่งเดินหน้าคานหามหว่างกลางคนหาม แสงเมืองเดินตาม

ภาพ ข่วงลูกกุยที่นครลำพูน เมื่อคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเลียบมณฑลพายัพ  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2449



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 19 ม.ค. 19, 19:51

ที่คุ้ม (บ้านพ่อเมือง) จัดช้าง ม้าที่นั่งแต่งเครื่องอานอย่างเต็มยศ พร้อมด้วยรถที่นั่ง คอยรับอยู่หน้าเรือนหลวง ผู้คนบริเวณนั่งรายกันคอยรับอยู่ข้างถนนภายในคุ้มหลวง
ช้างที่นั่ง ผูกเครื่องป๊วงเงินป๊วงคำ “พวงเงินพวงทอง” คือผูกสัปคับไม่มีประทุน ข้างตัวช้างตอนท้ายห้อยพู่จามรีขาว สลับกับดาวเงินดาวคำรูปคล้ายกระดองเต่า ทำด้วยทองเหลืองหรือเงินขัดมันเกลี้ยง ตอนหัวช้างผูกพู่จามรีที่โคนหู หน้าช้างปกคลุมตาข่ายทองหรือเงินมีดาวดังกล่าวแล้ว งาสวมปลอกเป็นปล้องๆ ปลายงาสวมกระสวยผ้าสีแดงปลอกทองที่ยอดมีพู่จามรีแขวนกระดิ่ง เรียกว่า “เด็ง” ที่คอบนสัปคับปูอาสนะผ้าขาวแดง

ม้าที่นั่ง ผูกอามนวม ผูกสายถือ(บังเหียน) หน้าผากห้อยพู่จามรีขาว มีตะปิ้งประกบดั้งจมูกและแก้ม ลำตัวก็ห้อยดาวเงินดาวทองอย่างเดียวกับช้าง

รถที่นั่ง เป็นรถ 2 ล้อ มีเรือนและมีประทุน (คล้ายกับ “เกวียนเทียมวัว”) เทียมม้า 2 ตัว เรือนรถพื้นแดงฉลุลาย ทางม้าที่เทียมปูผ้าขาวแดงบนหลัง ในเรือนรถที่ตั้ง “อาสนะ” ปูผ้าขาวแดงปักธงที่คานงอนและปัก “ต้นกุ๊ก” ที่เรือนรถทั้ง 2 ข้าง (ต้นกุ๊กเป็นพรรณไม้อย่างหนึ่งจำพวกเดียวกับ ข่า ขิง และขมิ้น ต้นสูงท่วมศีรษะ มีหัวอย่างเดียวกับขมิ้นแต่สีขาวไม่มีกลิ่น ทางใต้นี้จะเรียกอะไรไม่ทราบแต่ไม่ใช่ “ไพล”(ไพลนั้นทางลานนาเรียก “ปูเลย”) ว่ากุ๊กเป็นไม้กันอุบาทว์จัญไร)

วัวนำ (พญาวัว) ควายนำ (พญาควาย) ผูกเครื่องผ้าขาวแดงบนหลังและมีเครื่องดาวเงินดาวคำห้อยข้าง มีหางนกยูงติดกับซองปากปลายหางอยู่ระหว่างเขา

สัตว์ทั้ง 4 ชนิดนี้ จัดให้ยืนต่อจากบันไดขึ้นเรือนหลวงไปทางตะวันตก ตามลำดับช้าง ม้า วัว ควาย เรือนหลวงนั้นหันหน้าขึ้นเหนือ พวกหัวต่างๆ ยืนกำกับสัตว์ทั้ง 4 เป็นหมู่ๆ รถที่นั่งจอดในสนามหญ้าหน้าบันไดเรือนหลวง ห่างราว 5 วา หน้ารถไปทางตะวันตก

ภาพ ช้างในกระบวนแห่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าเมืองเชียงใหม่ เมื่อคราวเสด็จมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 19 ม.ค. 19, 20:00

แล้วมีขบวนฟ้อนทั้งหญิงและชาย เรียกว่า “ฟ้อนขุนนาง” คือลูกของเสนาอำมาตย์ ขนาดอายุรุ่นหนุ่มรุ่นสาว ตอนแรกแยกกันฟ้อนเป็นพวกตามเพศ เคล้าจังหวะกลองแอวที่ในสนามหญ้า เรียกว่า “ฟ้อนเพลงกลองแอว” กลองแอวนั้นเป็น “ปี่พาทย์” อีกสำหรับ 1 นามที่เรียกว่ากลองแอว ก็เพราะมีแอว (คือสเอว) ยาว เป็นกลองหน้าเดียวรูปคล้ายกลองยาวหรือเถิดเทิง แต่ยาวกว่า เวลาตีต้องหาม เครื่องปี่พาทย์กลองแอวมี
1.   กลองแอว 1
2.   กลองสองหน้าเท่ากัน ใหญ่ราววัดผ่าศูนย์กลาง 1 คืบ ยาวราว 2 ศอก ชื่อ “กลองตลดปด” ใบ 1
3.   ฆ้องโหม่ง 1 ฆ้องหมุ่ย 1
4.   ฉายใหญ่ 1 ฉิ่ง 1
5.   ปี่แน 2 ใหญ่ 1 เล็ก 1
รวมกันเป็นสำรับ 1 เรียกว่า “จุมก๋องแอว-พวกปี่พาทย์กลองแอว” วิธีบรรเลง ต้องโหม่งตียืนจังหวะ ฆ้องหมุ่ยตีจังหวะเดียวกับฆ้องโหม่งแต่เว้น 1 ตี 1 กลองแอวตีขัดจังหวะฆ้อง กลองตลดปดตีในจังหวะ 2 ทีต่อฆ้องโหม่งที 1 ฉาบกับฉิ่งตีล้อกันขัดจังหวะ ปี่แนบรรเลง “เชิงชาย” บางทีเรียก “เพลงกลองแอว” เพราะกองแอวบรรเลงได้ทำนองเดียวเท่านี้ ผู้ฟ้อนจังหวะกลองแอวในพิธีเมื่อเชิญผีมา ฟ้อนผสมชายหญิงเป็นหมู่ใหญ่ เพราะเป็นส่วนของราษฎร ชายฟ้อนมือเปล่า หญิงประกอบช่อดอกไม้ ถ้ากลางคืนหญิงฟ้อนเทียนไฟ ชายช่อดอกไม้เคล้าคละกัน

ภาพ จุมกลองแอว หรือ อีกชื่อหนึ่งว่า วงตึ่งโนง ที่วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ ไม่ทราบ พ.ศ.


บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 19 ม.ค. 19, 22:32

ตัวพ่อเมือง แม่นางเมือง พร้อมด้วยวงศาคณาญาติผู้ใหญ่และคหบดีเศรษฐียศบริวาร เชิญพานดอกไม้และเครื่องอัฐบริขารสำหรับถวายพระสงฆ์ ไปคอยรับอยู่ที่หน้าวิหาร วัดเชียงมั่น ซึ่งเป็นวัดอยู่ในบริเวณคุ้มหลวง

พระสงฆ์ผู้ใหญ่ 5   คือ ราชครูเมือง 1 สวาตุ๊เจ้าอุปัชฌาจารย์ 1 สวาตุ๊เจ้าปู่ครูหัวป่า (คือเจ้าคณะฝ่ายอารัญวาสี) 1 สวาตุ๊เจ้าปู่ครูหัวเมือง (คือเจ้าคณะฝ่ายคามวาสี) 1 สวาตุ๊เจ้าใบระกาเมือง (เห็นจะตรงกับ “ปลัดสังฆมณฑล”) 1 คอยรับอยู่ในอุโบสถ

เมื่อขบวนแห่มาถึง เทียบคานหามที่เชิงบันไดอุโบสถ กลองผิ้งซึ่งล่วงหน้ามาก่อนบรรเลงเพลง “ย่านางเหลียว” นักมวยที่ได้ต่อยกัน ณ ศาลผีเสื้อเมืองเข้ารับรางวัล ฝ่ายต่อยชนะได้คนละ 8 บาท และ 4 [km แล้วแต่ต่อยกันมากหรือน้อย ฝีมือดีไม่ดี ฝ่ายแพ้ได้คนละ 7 บาท และ 3 บาท ตามลักษณะเดียวกับฝ่ายชนะ

ให้รางวัลมวยเสร็จแล้ว พ่อเมืองเชิญพานอาสนะขึ้นไปประดิษฐานบนม้าหมู่ในอุโบสถ 5 รูปสวด “ภวตุ สรรพมังคลัง 3 จบ” แล้วถวายไตรและเครื่องบริขาร พระสงฆ์รองไตรใหม่แล้วสวดให้พรพระ จบแล้วเชิญพานอาสนะกลับขึ้นคานหาม เดินขบวนต่อไปยังคุ้มหลวงโดยทางใน การมหรสพที่เตรียมไว้คอยรับในคุ้มบรรเลงประกอบบนห้าหมู่ที่บนหอขวาง มีพิณพาทย์ “ซึงเถา” 3 คันบรรเลงประกอบกับการฟ้อนรำ และการฟ้อนรำตลอดถึงช้างม้าที่นั่ง เลิกขบวนไปพวกดนตรีปี่อ้อเริ่มบรรเลงตามปะรำภายในคุ้มหลวง

แผนผังคุ้มหลวงเมืองเชียงราย ทำโดย นโม ตสฺส ปัจจุบันคุ้มหลวงและวัดเชียงมั่นคือโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์


บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 20 ม.ค. 19, 17:27

“ปี่อ้อ” นั้น มี 2 สำรับๆ หนึ่งเรียกว่า “ปี่จุมสาม” คือมีปี่ 3 เล่ม คนซอหญิง 1 ชาย 1 เคล้าเสียงปี่ บางทีซอเค้าเสียงหญิงชาย บางทีก็ซอคนละบทเป็นทำนองเล่นเพลง ปี่อ้ออีกสำรับหนึ่งนั้นเรียก “ปี่จุมห้า” มีปี่อ้อ 5 เล่ม คนซอชาย 1 หญิง 4 หรือชาย 2 หญิง 5 ซอเคล้าเสียงทั้งปี่และคน การแต่งกายของพวกปี่อ้อ ชายแต่งตามปรกติ หญิงแต่งเต็มที่ เวลาฟ้อนสวมเล็บ กลางคืนหญิงฟ้อนเทียนไฟ ชายฟ้อนช่อดอกไม้ เป็นฟ้อนหยอกกัน คือ หญิงใช้ไฟลนชายและชายเป็นฝ่ายปัดป้อง วิธีฟ้อนคุกเข่าฟ้อน

ภาพ คณะช่างขับซอ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ นำลงไปกรุงเทพเพื่อจะส่งไปงานเอกษฮิบิเชน เมืองอังกฤษ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป และได้เล่นขับซอถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2428


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 20 ม.ค. 19, 20:31

“งันผีหอขวาง” งานนี้ตามวิธีที่เป็นการ “เลี้ยงข้าวผี” แต่มีการเลี้ยงดูว่าผีจะมาทำตามคำเชิญหรือไม่ด้วย คำว่า “งัน” นั้น บางทีพูดว่า “กัน” ชวนให้เข้าใจว่าน่าจะเขียน “กัลป์” คือจะตรงกับ “คัล” ในคำว่า “คมคัล เคียมคัล” ซึ่งแปลว่า “ไหว้เมื่อเข้าเฝ้าเห็นเจ้า” ตามความเข้าใจนี้ก็ได้ความหมายว่า “เฝ้าผีที่หอขวาง” แต่อีกอย่าง คำว่า “งัน” จะหมายว่า “งงงัน หรือ งันงง” ที่น่า “พิศวง” ก็อาจจะเป็นได้ (ความหมายเดิมจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ)

พิธี “งันผีหอขวาง” นั้น คือเมื่อสงบเสียงประโคมต้อนรับและเชิญพานอาสนะประดิษฐานบนม้าหมู่ในหอขวางแล้ว เอาผ้าขาวมากั้นหน้าม้าหมู่อาสนะผี ทำเป็น “ฝาประจัน” แบ่งเป็นหน้าข้างใน ให้อาสนะผีอยู่ข้างในและตั้งเครื่องสำรับคาวหวานเลี้ยงผี จุดเทียนขี้ผึ้งหนัก 1 บาท ไว้ข้างอาสนะเล่ม 1 กับมีกระด้งใส่ขี้เถ้าจนเต็มแล้วกวาดเกลี่ยให้ราบเสมอกัน นำเข้าไปตั้งไว้ข้างพานอาสนะแล้วคนออกมาอยู่ฝ่ายหน้า เว้นช่องว่างระหว่างม่านผ้าขาวไว้ราว 2 วา ให้หน่อแก้วกวงคำกับพิณพาทย์ซึ่งแถวนั่ง แถวหน้าคอยประโคมต่อออกมา พวกหน่อแก้วกวงคำรุ่นใหญ่ก็เชิญเครื่องยศนั่ง แล้วจึงถึงพ่อเมือง แม่นางเมือง และญาติพี่น้อง กับทั้งเสนาอำมาตย์นั่งลามกันมาจนนอกชาน เมื่อจัดลำดับดีแล้ว แม่มดเข้าไปในม่านและกล่าวคำเชิญให้ผีกินข้าวปลาอาหารที่ตั้งสังเวยไว้ และรินน้ำ รินเหล้า กับทั้งเปิดฝาชามสำรับเสร็จแล้วกลับออกมา ขณะนี้ที่บนเรือนหลวงให้ดับไฟมืดหมด การขับร้องฟ้อนรำต่างๆ ก็หยุดลงคราหนึ่ง พากันมาเอาใจใส่เฝ้าดูแสงเทียนที่ในม่าน ซึ่งกล่าวกันว่าถ้าผีมาและชอบใจในการต้อนรับแล้ว ผีจะบันดาลให้ไฟเทียนดับลงครู่หนึ่ง แล้วกลับลุกสว่างขึ้นใหม่โดยลำพัง จึงพากันสงบสติอารมณ์ทั้งกลัวและไม่กลัวนั่งนิ่งอยู่ราว 5 นาที ได้เห็นแปลกบ้างคือแสงเทียนนั้นค่อยๆ หรี่ลงไป จนแลเห็นเป็นสีเขียวอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็กลับลุกโพลงขึ้นดังเก่า ต่างคนต่างเงียบรออยู่จนเห็นแสงเทียนนั้นเป็นปกติแล้ว แม่มดจึงนำพ่อเมืองกับผู้ใคร่รู้ใคร่เห็นเข้าไปในม่าน พร้อมกันพิจารณาดูที่ขี้เถ้าในกระด้ง เห็นมี “รอยสามแฉก” คือ “รูปตีนกา” เคียงกันอยู่ตรงกลางกระด้ง 2 รอย (เวลาเขียนเรื่องนี้นึกเสียดายที่ไม่ได้ตรวจดูกระด้งขี้เถ้านี้เมื่อก่อนทำพิธี) แม่มดนั่งลงกราบๆ เห็นแล้วบอกว่า “ท่านมาแท้จริงแล้ว” ทุกคนก็กราบ พวกหน่อแก้วกวงคำที่เตรียมประโคมก็ประโคมขึ้น ไฟที่บนเรือนหลวงก็เริ่มจุดขึ้นใหม่ให้สว่างทั่วไป เสร็จการประโคมก็บรรเลงเพลงขับร้องเคล้าเสียงซึ่งเป็นการบำเรอ

พวกพ่อครัวแม่ครัว ยกขันข้าวขันหวาน (สำรับคาวหวาน) ออกมาตั้งเลี้ยงพ่อเมือง แม่นางเมือง และแขกเหรื่อที่บนหอขวาง ตามบริเวณคุ้มคือที่ปะรำต่างๆ ก็เลี้ยงอาหาร “ข้าวแลง” คนทั่วไป พวกปี่อ้อและคนขับซอก็ขับร้องบรรเลงตามเดิม

 ที่บนหอขวาง เมื่อเสร็จการกินเลี้ยงข้าวแลงแล้ว พ่อเมืองจุดเทียนให้กวงคำ และแม่นางเมืองให้ช่อดอกไม้แก่หน่อแก้ว ให้ฟ้อนรำขับร้องเคล้าเสียง ซึ่งเป็นคำสดุดีผีปู่ย่า 3 ลา ร้องหมู่ แต่การฟ้อนนั้นฟ้อนหยอกเย้ากันหมุนเวียนไปมา คือ

คำขับฟ้อนลา 1 ต้อนรับ
       ในวันนี้มีไจยติถี         สะหรีบุญเรืองมาเมืองมิ่งกว้าง
องค์เจ้าจ้างขึ้นสู่หอคำ        จ้อบสมัยโจ้คไจยจุ๊ก้ำ
เบื้อมาก๊ำหมู่ลูกหลานเหลน  ที่ตุ๊กร้อนจักผ่อนเป็นเย็น
ที่เคืองเข็ญจักวายขุ่นข้อง    ปวงพี่น้องจักสุขสำฮาญ
ปะจาจนทุกหนแห่งบ้าน      จักเจยจมจื้น จ้อยหน่าฯ

ลา 2 สดุดี
       ยอสิบนิ้ว                    ข้อยขึ้นไหว้สา
ถวายปู๋จาต่างดวงดอกไม้         อุติ๊สเถิงเติงเจ้าที่ไหว้
บัวบาทเหง้าไท้ติ๊ราชขวัญเมือง  เตโจเรืองฤทธิข่ามกล้า
คนตังหลายหญิงจายถ้วนหน้า   ล้วนมานบน้อมเบื้องบาทบัวทอง
ได้เปงบุญเจ้าบ่มีเศร้าหมอง      มีสุขสมป๋องเปื้อบุญเจ้ากว้าง
ล้วนจื้นจูอยู่กินแต่งสร้าง          ศัตรูมล้างป้ายพระสมปาร
เทพบันดาหื้อพระผาบแป๊         เพื่อบุญเจ้าหนักศักดิ์เจ้าเที่ยงแท้
ไผบ่อาจแก้ฤทธิ์บุญจู             แถมเอนดูหมู่จุมไพร่น้อย
จุมไพร่ไตยมีใจสร่างสร้อย        มาคมเคียงบาท ไต๊หน่าฯ
ลา 3 ขอพร
        ขอบุญฤทธิ์                 เจ้าจีวิตคุ้มขังวังสา
ปวงปะจาหลามไหลใหญ่หน้อย  ตังปงสาคณาหมู่ข้อย
ตุ๊กถี่ถ้อยตังสัตว์ตังคน            ทั่วตุ๊กหนหื้อหายห่างไฮ้
ปวงอุบาทว์พยาธิร้อนไหม้        ตังเจ็บไข้หื้อคลาดคลาหนี
หื้อได้สนุกมีสุขมีศรี               มีสวัสดีทุกหนแหล่งหล้า
ตังส้มสูกลูกไม้ข้าวกล้า           หื้อได้ไจยโจ้คอุดมหลาย
แถมฝนฟ้าตกมาหยาดยาย       ดังพระปายเจยจายปั๊ดไม้
ทั่วเตสาอาณาเก๋ตใกล้            หื้อจ้อบแบบกองเมือง
ที่ขัดเคืองหื้อคลายง่ายคิด        ขอบุญฤทธิ์เจ้าดลบันดาล
จาวตลาดก๋ารพ่องานทุกเบื้อง    อย่าหื้อยาตรเยื้องจากแบบการธัมม์
หื้อเป๋นหลักกำคติเตี้ยงหมั้น      ผะก๋ารหนึ่งนั้นนั้นพ่อเจ้าเหนือหัว
อย่าหื้อสังบังใจหื้อมัว             หื้อบานเหมือนบัวแบ่งบานก๋างน้ำ
จุมมัจสาลอยมาจุ๊ใกล้             มาดมกลิ่นซ้ำโลดคะนองจล
หื้อฝูงจาวจนทั่วหนแห่งห้อง      ทั่วผะเทศต๊องมาจื้นจมบุญ
ขอหื้อเต๋จ๊ะพ่อเจ้าอาดูร           ได้อนุกูลหมู่จุมไพร่ฟ้า
หื้ออยู่จุ้มเย็มเป็นสุขถ้วนหน้า     ด้วยบุญบัวบาท ต๊าวหน่าฯ

เมื่อฟ้อนสดุดีจบแ้ว ก็ฟ้อนขับลำนำอื่นบำเรอต่อไปจนได้เวลาราว 23.00 น. จึงเลิก ต่อนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นอาจารย์น้อยตามหมู่บ้านต่างๆ มาอยู่เฝ้าและผลัดเปลี่ยนกันหลับนอนไปจนสว่าง ในระหว่างนี้มีการสนทนาธรรมหรืออ่านคำโคลงสุภาษิตบ้าง เล่าเจี้ย-นิทาน หรืออ่านคำลิลิตซึ่งเรียกว่า “กำมาต” เป็นเรื่องประวัติและตำนานบ้างสู่กันฟัง โดยมากการอ่านกำมาต-ลิลิต นั้น ตกเป็นหน้าที่ของหญิงสาวชายหนุ่มอ่านคู่กันให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟัง พวกอาจารย์น้อยมักจะโจทนาธรรมอย่างปุจฉาวิสัชนา หรือสักรวาที่ปรวาที่ เป็นพื้น

เมื่อสว่างแล้ว ส่งสำรับคาวหวานไปถวายพระภิกษุชั้นสมภารตามวัดต่างๆ และภิกษุที่ทางสังฆมณฑลเกณฑ์มาเข้าพิธีบวงสรวงผีนาคซึ่งมาจากตำบลไกล และมักมาอย่างธุดงค์หรือมารุกขมูลอยู่ตามชายทุ่งนา และชายป่าชายเขาภายนอกเมือง สำรับคาวหวานนั้นมีสลากจารด้วยใบตาลใส่ไว้ข้างใน เป็นข้อความว่า “ขันข้าวนี้คนนั้นตานอุทิศผลให้แก่(พ่อเมืองชื่อนั้นที่ล่วงลับ)” พระรับประเคนแล้วอ่านสลาก และสวดยถาสัพพีกรวดน้ำกัลปนาผลไปยังผู้รับทันทีก่อนฉัน ส่วนที่หอขวางในคุ้มหลวงก็ตั้งสำรับเลี้ยงผี เลี้ยงคนตามธรรมดา มีซอเคล้าปี่อ้อบำเรอตลอดเวลานั้น

ถึงเพล เลี้ยงพระสงฆ์ผู้ใหญ่ 5 รูปที่บนหอขวาง คือพระคณะที่รับผีในวัดเชียงมั่นเมื่อวาน เลี้ยงพระแล้วมีเทศน์กัณฑ์หนึ่ง แล้วพระสงฆ์กลับไป พ่อเมืองตั้งสำรับเลี้ยงผีเลี้ยงคนเรียกว่า “เลี้ยงข้าวตอน” (กินข้าวกลางวัน) เสร็จแล้วโปรยทานอย่างโยนลูกมะนาวให้เด็กๆ และบริเวณแย่งกันที่บนหอขวาง
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 21 ม.ค. 19, 22:32

เข้าหว่างคาวป่า

ถึงเวลาราว 13.00 น. เตรียมขบวนเข้าหว่างคาวป่า หรือ ประเวสไพร พวกหัวสึกต่างๆ เทียบช้างม้าที่นั่งและรถที่นั่งเหมือนอย่างวานนี้ มีขบวนหัวสึกชั้นไพร่พลขี่ม้าราว 40 คน เป็นหมู่แซงสองข้างรถ ผีขี่รถที่นั่ง แะแสงเมืองเป็นผู้เชิญพานอาสนะนั่งไปบนรถ ขบวนหน่อแก้วเชิญเครื่องยศขึ้นม้าตาม การเข้าป่านี้คือพาไปประพาสอุทยานที่เวียงสวนดอกซึ่งอยู่ทางตะวันตกเมืองเชียงรายห่างกันราว 10 กิโลเมตร เดินทางโดยขบวนม้าวิ่งน้อยบ้าง เดินบ้าง ราว 3 ชั่วโมงจึงถึง เพื่อผ่อนอารมณ์จึงควรชมนกชมไม้ไปพลาง ดังต่อไปนี้

                 ปางนั้น                   จอมเจ้าธานี “ผีปู่ย่า”
ครั้นชายบ่ายแสงสุริยา                   มา “หดสง” คงคาทันใด
แต่งกายอย่างชาวไพรในพนัส           งามจำหลัดจำเริญศรีใส
เสร็จแล้วยาตราคลาไคล                 มาขึ้นรถชัยรจนาฯ

                 รถแก้ว                    งามบรรเจิดเลิศแล้วด้วยเลขา
ตามระเบียบเทียบทัดบุราญมา           เป็นสง่าคู่เคียงกับเวียงไชย
งอนแอกแปรกแบกบัง                    เทียมม้าเสรีสังข์สุกใส
เรือนรถรจนาดั่งเจียระไน                 พื้นแดงแสงไสวฉลุทอง
เป็นลายเถาไม้ช่อชัยพฤกษ์              ครื้นครึกหมู่วิหคนกเที่ยวท่อง
บ้างจับบ้างเหินบ้างเกริ่นร้อง             พลางคลาเคลื่อนกองโยธา
จากคุ้มหลวงล่วงออกนอกเวียงไชย     เข้าในดงดอยพฤกษา
ยกพวกจัตุรงค์ตรงมา                     เสียงเลื่อยสะเทือนป่าพงพี
เดินทางตามหว่างเนินไศล               ชมเขาเงาไม้ในไพรศรี
ดูระรื่นพื้นพรรณมาลี                      เป็นที่เพลิดเพลินจำเริญตา
บ้างเขียวม่วงพวงพุ่มชุมผกา             ระย้าย้อยห้อยน่านิยมยิน
ต้นเกสรนั้นโรยร่วง                        บางต้นผลพวงเฉิดฉิน
หล่นลงกลาดจนดาดดิน                  ลมรินรินชื่นรสมาลัย
พฤกษาป่าระหง                           พะยอมพะยงยูงยางหางไหล
ตะข่อยน้อยแหน่แคแตรไตร              มะเฟืองมะไฟไข่เน่าและเต่าร้าง
ขนันจันทน์จิกจิงจ้อ                       ตะไคร้ตะคร้อตะแบกตะเบียนตะเคียนข่าง
ปรงปรูหูกวาง                              อ้อยช้างปรางปริงชิงชัน
ต้นกักรักขีสมีสมอ                         กะพี้กะพ้อมะซางมะสังกะทั่งหัน
ล่ำมะเกลือมะเดื่อมะดูกไม้มูกมัน         สัตบรรณคันทรงอีกรงรัก
ลางทางเร่งรถทรง                         ดั้นดงอรัญวาป่าสัก
ไปตามเชิงดอยค่อยเยื้องยัก              ไม่พักพวกพลสกลไกร
มาตามทางพลางประพาส                 รุกขชาติดาดตอกดกไสว
ตลบอบอวลยอนใจ                        รำรำใคร่มาอยู่ในพนาลี
นกผกผินบินร่อน                           จับสารภีรี่ร้องอยู่ก้องดง
เต้าเคล้าคู่กะสันขัน                        กระสานั้นจับต้นมหาหงส์
โมงจับโมงม่ายเมียงชายพง               ฝูงหงส์จับจอมคีรีเรียง
โทนโผนจับต้นคนทา                      โกญจาเรื่อยร้องคะนองเสียง
จับมะไฟแล้วม่ายเมียง                     คลอเคลียงคาบเหยื่อมาเผื่อกัน
ให้ไก่เถื่อนกาเหว่าลาย                    อัญชันชายจับต้นอัญชันขัน
ลอคลอคู่จรจรัส                            เบญจวรรณไต่วัลย์แล้วบินไป
กาจับต้นเพกา                             โนราร่อนร้องเสียงใส
สัตวาระเวนระวังไพร                       กะในจับกะสังรังราย
มยุราเคล้าคู่มยุรี                            ฟ้อนหางหางคลี่เฉิดฉาย
ชมวิหคนกไม้ได้สบาย                      เวลาบ่ายก็มาถึงอุทยาน
หอมกลิ่นบุปผานานาพันธุ์                 ที่สรรปลูกไว้ในสวนสถาน
พาใจให้สนุกสุขสราญ                      เห็นดอกไม้เบิกบานบานฤดี
ล้วนชูดอกออกช่อตระการตา              ชี้ชมบุปผาในสวนศรี
พูดจีบพูดจามลุลี                           จำปีจำปาดาดไป
ยี่สุ่นบุนนาคก็หลากหลาย                 กลีบก้านบานขยายแย้มไสว
มะลิซ้อนซ่อนคู่พาชูใจ                     หงอนไก่อังกาบกรรณิการ์
ยี่โถยี่เข่งข่อยเข็มชบาเทศ                 มณฑาการะเกดหอมหนักหนา
เบญจมาศชาตบุตกระดังงา                 ลำดวนป่าดาวเรืองเฟื่องฟ้าขจร
เล็บมือนางนางแย้มแกมสาวหยุด          พุดซ้อนพุดตานประยงค์ส่งเกสร
แลเห็นพุ่มมะลิลาให้อาวรณ์                ดูรักซ้อนซ่อนรักให้หนักใจ
ปีบระกำชมนาดดาดดอกโมก              ได้กลิ่นโศกแลพบส้มสุกไสว
กุหลาบพวงกุหลาบกอต่อกันไป           พวงชมพูชูใจอาลัยนัก
ดูเกดแก้วแพรวพราวขาวสะอาด           ผกากรองผ่องไพลาศสวาสดิ์หนัก
กระทุ่มกระถินกลิ่นเกลี้ยงอยู่เคียงพักตร์   กาหลงรักซ้อนกาลิงให้กริ่งความ
ดอกเอื้องดินกลิ่นซ้อนดอกเอื้องไม้        อีกบานไม่รู้โรยแลเหลือหลาม
เหลืองละออทอลินจงชงโคคราม          ล้วนแต่งามพริ้มพรอยพะยอมลำไย
พอสิ้นแสงสุริยาฟ้าสว่าง                   จันทร์กระจ่างแจ่มแจ้งสุกใส
ชมบุหลันพรรณรายฉายส่องไป            ต้องมิ่งไม้ไพรวันบันดามี
ที่สีเขียวเขียวแม้นมรกต                    แดงก็สดดั่งทับทิมพริ้มพรายศรี
ที่สีเหลืองเรืองอร่ามงามรูจี                 ที่สีขาวขาวดีพระพรายตา
มัวชมเพลินเดินเลยมาเสียห่าง             ขอกลับทางย้อนรอยถอยไปหา
แสงเมืองเขาเชิญพาน “ผีปู่ย่า”            ขึ้นศาลาแท่นเทียบเรียบร้อยแล้วฯ

หมายเหตุผู้เรียบเรียง เวียงสวนดอก ปัจจุบันคือ บ้านสวนดอก ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 22 ม.ค. 19, 20:51

มาถึงได้สักครู่หนึ่ง แล้วเลี้ยงอาหารผีและคน เรียกว่า “เลี้ยงข้าวแลง” (ข้าวเย็น) ชาวบ้านศรีดอนชัยจัดซอปี่อ้อมาบรรเลง กับพวกแม้วเย้ามูเซอรำเต้น การเต้นรำของพวกเย้านั้น ตีกองไฟใหญ่ไว้ตรงกลาง ให้ผู้หญิงนั่งขับร้องล้อมกองไฟ และผู้ชายรำเต้นเวียนวนไปอย่างประทักษิณเป็นแถวเรียงคู่ เอามือเท้าสะเอวชูเท้าร่อนไปมาและห่มตัว แล้วก้าวไปข้าหงน้าพร้อมกันเป็นจังหวะช้าๆ ส่วนพวกมูเซอผิดกับพวกเย้า คือผู้ชายนั่งล้อมกองไฟและขับร้องก่อน ผู้หญิงเป็นแต่ยืนล้อมกองไฟเป็นแถวรอบนอกไม่ต้องทำอะไร มีผู้ชายนั่งเป่าปี่แนนั่งยองๆ เดินต้วมเตี้ยมๆ ไปหว่างกลางแถวผู้หญิงตลอดแถว แล้วผู้ชายที่นั่งขับร้องอยู่นั้น ลุกขึ้นนั่งยองๆ เอาไหล่ดันกันเป็นคู่ๆ คล้ายกับ “เล่นชนไก่” ผู้ใดล้มก็ลุกออกไปนอกวงทีละคนสองคนจนหมด เลิกการรื่นเริงราวเที่ยงคืนแล้วหยุดพักหลับนอน

ภาพ ชาวมูเซอเป่าแคนน้ำเต้า


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง