เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 5338 พิธีบวงสรวงผีนาค เมืองเชียงราย พิธีที่หายสาบสูญจากเชียงราย
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


 เมื่อ 16 ม.ค. 19, 20:31

ขอนำเสนอเนื้อหาของพิธีบวงสรวงผีนาค เมืองเชียงราย ซึ่งเคยกระทำมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว โชคดีที่ หนังสือ ผีของชาวลานนาไทยโบราณ โดย แก้วมงคล ชัยสุริยันต์ ที่ระลึกเนื่องในพิธีปลงศพ นางถมยา อินทรังสี กรมศิลปากร พ.ศ.2486 ได้มีข้อมูลเรื่องการบวงสรวงผีนาค ซึ่งตัวนายแก้วมงคลได้เคยเห็นและจดจำมาเมื่องานบวงสรวงผีนาคครั้งสุดท้าย พ.ศ.2460 ซึ่งตอนนั้นนายแก้วมงคลยังเป็นบ่าวแถ่วรับใช้พระยารัตนาณาเขต(เจ้าน้อยเมืองไชย เชื้อเจ็ดตน) เจ้าหลวงเชียงรายตนสุดท้าย จึงขอนำมาเสนอเพื่อเป็นความรู้

หมายเหตุ ต้นฉบับเป็นอักษรไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงขอแก้ให้เป็นอักษรไทยปัจจุบันเพื่อให้อ่านเข้าใจง่าน
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 ม.ค. 19, 20:32

ผีนาค

ลัทธิผีนาค ว่าตามที่เชื่อกันในสมัยโบราณ ดูจะเป็นลัทธิที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนา หรือไม่ก็ได้แผ่เข้ามารุ่งเรืองอยู่ในล้านนาก่อนพุทธศาสนาเข้ามาถึง ด้วยปรากฏว่าพญานาค บางแห่งเรียก เจ้า หรือ ขุนสร้อยคอคำ เป็นผู้เชิดชูพุทธศาสนา รากเหง้าเค้าเดิมว่าพวกชาว “กูลาดำ” (ชาวอินเดีย) เป็นต้นศาสนา

เคยได้ฟังคำสั่งสอนเป็นอย่าสรรเสริญนาค ว่านาคเป็นสัตว์ประเสริฐบริสุทธิ์ยิ่งกว่าสัตว์อื่นทั้งหลาย ทรงทั้งฤทธิเดชที่สามารถบันดาลให้เกิดอันร้ายและอันดีทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่คน แต่ไม่ทำอันตรายแก่คนโดยไม่มีเหตุผลสมควร เหมือนอย่างกล่าวไว้ในโคลงโลกนิติว่า “นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า” ฉันนั้น

โดยเพราะนาคเป็นผู้รักษาศาสนา ซึ่งกล่าวว่าพุทธศาสนาได้ประดิษฐานจนรุ่งเรืองมาแล้ว 4 ครั้ง ทั้งปัจจุบัน คือประดิษฐานขึ้นแล้วก็รุ่งเรือง ครั้นรุ่งเรืองนานแล้วก็เสื่อมไป ทั้ง 4 ครั้งที่พุทธศาสนาได้ตั้งขึ้นจนรุ่งเรืองและเสื่อมลงนี้ ทอดระยะเวลาที่รุ่งเรืองและเสื่อมไว้ห่างกันนับด้วยหมื่นๆปี มีชื่อศาสดาจารย์ที่แรกประดิษฐานและฟื้นฟูมาแล้ว 4 พระองค์ คือ พระพุทธกกุสันโธ เป็นปฐม พระพุทธโกนาคมโน เป็นทุติยะ พระพุทธกัสสโป เป็นตติยะ และจตุตถพระพุทธโคตโม คือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปัจจุบัน

วันเวลาที่พุทธศาสนาเสื่อม และศาสดาจารย์ผู้มาฟื้นฟูยังไม่กำเนิดนั้น ตกเป็นหน้าที่ของพญานาครักษาพุทธจารีตไว้คอยศาสดาหรือ “เจ้าตนบุญ” จะมาฟื้นฟูให้กลับรุ่งเรืองขึ้นใหม่ ตลอดกาลที่พญานาครักษาพุทธจารีตไว้นี้เรียกว่า “ว่างศาสนา” (ที่ควรเป็น “ว่างศาสนา” เพราะพญานาครักษาพุทธจารีตอันเป็นศาสนาไว้แล้ว)

ในกาลที่ “ว่างศาสนา” นี้ พญานาคทรงสิทธิที่จะใช้อำนาจและฤทธิเดชต่างๆ ป้องกันรักษาพระพุทธศาสนา มีเช่นบันดาลให้พวกมิจฉาทิฏฐิ ผู้ไม่ประพฤติตามพระพุทธโอวาท ถึงกาลชีวิตอันตรายเป็นต้น บางครั้งก็บันดาลให้บ้านเมืองถล่มลงไปทั้งเมือง หรือบันดาลให้ “ฮ่า” (ห่า) ลงกินชาวบ้านชาวเมือง ให้พวกมิจฉาชีพถึงซึ่งกาลมรณา คงเหลือแต่ผู้ประพฤติตนเป็นสัมมาอาชีวะถูกต้องตามพระพุทธโอวาท ถ้าเจ้าบ้านเจ้าเมืองหรือกษัตริย์ตนใดประพฤติตนอยู่ในทศพิธราชธรรม มีเมตตากรุณาไม่เป็นอันธพาลต่อพลเมือง พญานาคก็นำเอา "แก้วสารพัดนึก" มีสี “แดง” ชื่อ “รตนรังสี” มาให้เป็นของคู่เมือง เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลความปรารถนาโดยสันติวิธี คือ สามารถเหนี่ยวน้าวใจเจ้าเมืองใหญ่ทั้งหลายเข้ามานอบน้อม บางครั้งก็บันดาลให้เกิดมีช้าง “นาเคนทร์หัตถี” ตัวผู้ มีลักษณะงดงาม สูง 4 ศอกเศษ สีตัวเขียวก่ำ คือ เขียวแก่ เล็บเท้ามีสีแดงครบ 24 เล็บ คือ มีเล็บสีแดงรอบเท้า (ช้างธรรมดามักมีเล็บระหว่าง 18-20 เล็บ และไม่รอบเท้า) มีงาสีดำหรือเขียว บางทีก็ให้บังเกิด ม้ามโนมัย หรือ ม้าอัศดร ซึ่งกล่าวว่ามักมาเกิดที่ข่วงหน้าคุ้ม (คือ “ท้องสนามหลวง”) เกิดแล้วก็เตะม้าแม่ตายแล้ววิ่งเข้าสู่หน้าเรือนหลวง (ปราสาท) ให้เป็นพาหนะคู่พระองค์เจ้าเองหรือกษัตริย์ บางทีก็จำแลงตนเป็นพราหมณ์หรือคนนักบวชนำเอาพระศรีขรรค์ชัย (พระขรรค์ชัยศรี) มาให้เป็นอาวุธคู่มือ เหล่านี้เพื่อสำหรับทำยุทธสงครามปราบเหล่ามิจฉาทิฏฐิให้ยอมเกรงกลัว
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 ม.ค. 19, 20:33

พญานาคนั้นสถิตอยู่ยังนาคพิภพ ว่าอยู่ใต้ดินเหนือนรกภูมิ ใช้ลำน้ำและลำห้วยลำธารหรือปล่องเปลวเหวถ้ำเป็นทางสัญจรตรวจตราดูความเป็นไปในมนุษย์โลก โดยขึ้นมาอย่างเปิดเผยบ้าง จำแลงตนเป็นพราหมณ์ เป็นมนุษย์ และจตุบททวิบาท เช่น เป็นช้าง เป็นฟาน เป็นงูพิษหนึ่งมี “คอสีแดง” และเป็นไก่ หรือนกบ้าง พญานาคมีบริวาร คือ งูทั้งหลายอยู่ประจำเมืองคน สำหรับคอยรายงานเหตุการณ์และรับคำสั่งพญานาคทำการงานเป็นบางสิ่งบางอย่างในเหตุเล็กน้อย ถ้าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ พญานาคก็กรีฑากองทัพนาคขึ้นมาปราบปรามทีเดียว

โดยปกติ พญานาคบันดาลให้ฝนตกในเมืองคน เพื่อให้เกิดมีน้ำหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์บริโภค บรรดาพืชผลทั้งหลายที่มีผลสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์นั้น ก็เป็นด้วยพญานาคบันดาลให้เป็นไปตามพฤติการณ์ของคนที่ทำชอบหรือผิด

ด้วยเหตุทั้งปวงที่บรรยายมา พญานาคเป็นผู้ทรงคุณหรือมีคุณแก่คน คนจึงเคารพเกรงกลัวพญานาค ตลอดทั้งหมู่บริวาร ถึงมีก็ต้องสังเวยบอกกล่าวพฤติการณ์ให้รู้ ในเวลาใดบังเอิญได้พบปะช้างเถื่อนยังที่ซึ่งไม่ใช่ที่อยู่ของช้างเถื่อน หรือเดินไปไหนได้พบงู ก็ต้องยกมือไหว้ขอพรให้สวัสดีมีชัย โดยถือว่านาคราชบันดาลให้เห็น

ส่วนหลักการสำคัญของลัทธิผีนาคนั้น กล่สวได้ว่าเกือบเป็นอันเดียวกันกับพุทธศาสนา กำหนดให้ถือศีลกินทานเหมือนกันทุกอย่าง ฝ่ายคฤหัสถ์ก็บัญญัติให้พ่อเมืองถือจตุปาริสุทธิศีลหรือพรหมวิหาร 4 อาจารย์หลวง โหราหลวง และพญามหาอุปราชถือศีล 8 นอกนั้นถือศีล 5 ในพุทธศาสนา
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 ม.ค. 19, 20:36

การบวงสรวงผีนาค ประกอบพิธีในเดือน 8 คือ เดือน 6 ฤกษ์เดียวกับพิธี “วิสาขบูชา” ซึ่งที่เมืองเชียงรายจะเริ่มทำพิธีวิสาขบูชามาเมื่อประมาณ 30 ปีนี้ ก่อนแต่นี้ขึ้นไปในโบราณกาล วันที่ทำพิธีวิสาขบูชาเป็นวันทำพิธีบวงสรวงผีนาค ทางจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ จะทำการบวงสรวงผีนาคด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ทางจังหวัดนาค เข้าใจว่าครั้งโบราณจะได้จัดทำเหมือนกัน ด้วยสังเกตตามชื่อเมืองเก่าแถบจังหวัดน่าน เห็นมีเมืองชื่อ โยนกนคร หรือ นาคนทรบุรี อยู่ทางซ้ายแม่น้ำโขง เมืองนี้ในปัจจุบันเห็นจะขึ้นอยู่ในจังหวัดลานช้าง ที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่ตามเรื่องเจี้ยผีนาค “นิทานเรื่องผีนาค” ที่เล่ากันอยู่ในพื้นเมือง ดูจะเกี่ยวข้องกับเมืองเชียงรายโดยเฉพาะ เพื่อให้เห็นสมจะนำเอาเรื่องเจี้ยนาคตอนสร้างเมืองเชียงรายมาเล่าในที่นี้พอให้เห็นเค้าคือมีความว่า

“เมื่อมังรายสร้างเมืองเชียงราย พญานาคได้มาช่วย ทั้งพญามังรายและพญานาคพร้อมกันหาฤกษ์ได้ในวันพุธ เวลา “มุ่งมั่งแจ้ง” คือ “เวลาค่อนรุ่ง หรือ ปัจจุสมัยใกล้รุ่ง” กำหนดจะทำการขุดคือ “ขุดคือเมือง” ตั้งแต่เวลาฤกษ์นั้นให้เสร็จทั้ง 4 ด้าน ก่อนพระอาทิตย์ส่องแสง ครั้นถึงเวลาฤกษ์ มังราย “นอนหลับลืมตื่น” มาไม่ทัน ฝ่ายพญานาคมาถึงที่สร้างตั้งแต่ก่อนเวลาฤกษ์ คอยหาพญามังรายนานเท่าไรๆ ก็ไม่เห็นมา ครั้นได้ฤกษ์จะคอยต่อไปไม่ได้ พญานาคก็ลงมือ “บุ่นพื้นแผ่นดิน” คือ “เลื้อยคุ้ยควักแผ่นดิน” ทำ “คือเมือง” แต่โดยลำพัง เพราะเหตุที่ทำแต่พญานาคผู้เดียวก็ทำเสร็จก่อนแสงพระอาทิตย์ส่องเพียงด้านเดียว คือด้านเหนืออันเป็นด้านริมน้ำกก (คูนี้ถมเสียเมื่อ พ.ศ.2460) คุ้ยควักคือเมืองมาได้เท่านี้ พระอาทิตย์ส่องแจ้งขึ้นมา พญานาคก็รีบกลับไปเมืองนาค ด้วยเกรงราษฎรจะเห็นและพากันตกใจ ฝ่ายพญามังรายนอนตื่นสาย มาถึงที่สร้างเมืองต่อ “เมื่อหล้างายแก่” ระหว่าง 9-10 นาฬิกาเศษ ไม่พบพญานาค เห็นแต่คูเมืองด้านเหนือที่พญานาคคุ้ยควักทำไว้ด้านเดียว ก็โกรธว่าพญานาคไม่คอยและทำคูเมืองค้างไว้ให้เสียฤกษ์ พญามังรายจึงหาฤกษ์ใหม่ในวันนั้นทำคูเมืองอีก 3 ด้าน เสร็จแล้วเอาชื่อพญามังรายแต่ผู้เดียว ตั้งเป็น “ชื่อเมือง” ว่า “เมืองเชียงราย” ไม่เอาชื่อพญานาคประสมด้วย ดังนี้”

หมายเหตุผู้เรียบเรียง : นอกจากนี้ยังมีเรื่องพญานาคมาช่วยพญามังรายสร้างเมืองเชียงราย ปรากฎในพื้นเมืองเชียงราย ดังความต่อไปนี้

“...ทีนี้จักจาห้องต่ำนานวัดพระหลวงเชียงรายก่อนแล สกราชได้ 600 ตัว ปีเปิกเสด พระญามังรายเกิดมาอายุได้ 21 ปลี ได้กินเมืองแทนพ่อ สกราชได้ 621 ตัว ส้างพุทธรูปแลวิหารเมือง สกราชได้ 622 ตัวนั้นท่านได้ไปตีเสิกเมืองใต้ จิ่งเอาหมู่ริพลฅืนมาเมือง สกราชได้ 624 ตัว ปีล้วงเร้าแทนพ่อเปนพระญามังราย สร้างเวียงแล ทานลัวะไว้กับวัดพระหลวง 8 ครัว และแดนที่สี่เสาไว้กับวัดพระหลวงที่นั้นก่อน....สกราชได้ 624 ตัว ปลีล้วงเล้า สร้างวัดพระแก้ว ขุดน้ำบ่อ ก่อศาลา ก่อเมฆเวียง ขุดเหมืองกลางเวียง ก่อหอกลอง เข้ามาอยู่เวียงมี 7 เยื่องสันนี้แล พญานาคออกมาหมายที่หื้อท่านสันนี้ นาคจิ่งปันเขตหื้อตั้งแต่จอมสวรรค์ไปรอดจอมแจ้งเสียในที่นั้น ปรากฏว่าจอมแจ้งและตั้งที่วัดพระหลวงทังมวลอันพระญามังรายทานไว้นั้น ในเวียงแต่องค์นาคไปรอดเหมืองสาน ต่อท่อน้ำ 300 วา ไปแผวแม่กก ขึ้นแม่กกขึ้นเมือต่อเต้ารอดดอยแดนไปจับดอยถ่านไฟ ไต่ตามดอยถ่านไฟจับดอยอี่นาค แล้วไต่สันดอยอี่นาคไปจับดอยกุ่ม แล้วลงจับขุนแม่ผง ล่องแม่ผงขึ้นไปจับข่วงนก ล่องขุนห้วยเลิ้กมาจับแม่ขวง ออกมาจับห้วยต้นกอก เลียบตีนดอยมาจับแม่สาดมาจับเหมืองกลาง ล่องเหมืองกลางมาจับเหมืองแสนตอท่อน้ำ อันนี้พระญามังรายเปนเจ้าแก่ล้านนาคามเขตได้เบิกน้ำหนังดิน ได้โอกาสหยาดน้ำตามไว้ก่อนแล...” (หมายเหตุ วัดพระแก้วในพื้นเมืองเชียงรายเป็นคนละวัดกับวัดพระแก้วในปัจจุบัน เพราะวัดพระแก้วเดิมมีชื่อว่า วัดป่าญะ)


ภาพ อนุสาวรีย์พญามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงราย


บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 ม.ค. 19, 18:13

เรื่องเจี้ย “นิทาน” ที่เล่านี้ เห็นได้ว่าตอนเอามาจากเรื่องตำนานสิงหวติ ที่ว่าด้วย “สิงหนวติกุมาร” สร้าง “เมืองนาคพันธุ์สิงหนวตินคร” ในตำนานนั้นกล่าวความว่า

“สิงหนวติกุมาร อพยพบริวารผู้คนจากเมืองนครไทยเทศหรือราชศรีห์นครหลวง มาหาที่สร้างเมืองอยู่ ได้มาตั้งพักพลอยู่สถานที่หนึ่ง พระยานาคชื่อ “พันธุนาคราช” จำแลงตนเป็น “พราหมณ์” มาบอกที่สร้างเมืองให้ สิงหนวติกุมารให้อำมาตย์ไปตรวจดูสถานที่ด้วยกันกับพันธุพรามหณ์ อำมาตย์เห็นที่ตรงนั้นเป็นชัยถฃภูมิจึงกลับไปบอกสิงหวติกุมาร ฝ่ายพันธุนาคพราหมณ์เมื่อถึงเวลากลางคืนก็กลายเพศกลับเป็นพญานาคราช บุ่นคุ้ยควักพื้นดินแผ่นดินทำเป็นคูเมืองทั้ง 4 ด้าน เว้นที่ตรงกลางสำหรับสร้างเมืองไว้ กว้าง 3000 วาจัตุรัส เสร็จแล้วก็กลับไปยังเมืองนาค ครั้นวันรุ่งขึ้นสิงหนวติกุมารไปตรวจดูสถานที่ เห็นมีคูล้อมรอบพื้นที่ทั้ง 4 ทิศ คล้ายกับคนมาสร้างไว้ก็เกิดอัศจรรย์ใจ นึกได้ว่าชะรอยพญานาคจะมาทำไว้ให้ และเชื่อว่าพันธุพราหมณ์ที่มาบอกให้นั้นคงเป็นพญานาคแปลงมา จึงสร้างเมืองอยู่ยังที่นั้น เสร็จแล้วเอานามพันธุนาคพราหมณ์กับนามสิงหนวติกุมารผสมกันตั้งเป็นนามเมืองว่า “เมืองนาคพันธุสิงหนวตินคร” ดังนี้”

เมื่อปลายปี พ.ศ.2483 ได้ลองสอบภูมิสถานของเมืองนาคพันธุฯ ตามที่อ้างไว้ในเรื่องตำนานสิงหนวติ พบหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเมืองนาคพันธุสิงหนวตินครนี้อยู่บนฝั่งเหนือแม่น้ำกกเป็นคนละฝั่งตรงข้ามกับเมืองเชียงรายปัจจุบัน และได้ค้นพบสำเนาคำแปลอักษรของอัครเสนาเมืองเชียงตุง มีมาถึงอัครเสนาเมืองเชียงรายเมื่อ พ.ศ.2387 ที่หอสมุดแห่งชาติ ออกนามเมืองเชียงรายว่า “เมืองพันธุมติสิริเตชะนครราชธานี” นามนี้ใกล้กับนาม “เมืองนาคพันธุสิงหนวตินคร” และทางความก็ดูสละสลวยฟังเข้าใจได้ง่ายกว่านาม เมืองนาคพันธุสิงหนวตินคร ทำให้เกิดความเข้าใจว่า ที่อัครเสนาเมืองเชียงตุง ออกนามเมืองเชียงรายมาในศุภอักษรนั้น จะเป็นนามเก่าแก่ตั้งขึ้นตั้งแต่โบราณ สำหรับใช้เป็นนามเมืองที่แท้จริง นามว่า เมืองเชียงราย จะเป็นนามอย่าง “ปากตลาด” อันเนื่องมาแต่ชื่อเดิมของสถานที่สร้างเมืองมีว่า “เกะสำเภาหงาย” ดังที่ปรากฏในเรื่องตำนานสุวรรณโคมคำ ประชุมพงศาวดารภาค 72

ตามเรื่องเจี้ย หรือนิทานและตำนานกับเรื่องนามเมืองดังเล่ามานี้ ส่อให้เห็นลู่ทางว่าลัทธิผีนาค อาจจะนับถือกันเฉพาะแต่ชาวเมืองเชียงรายแห่งเดียว เพราะปรากฏว่านาคมาช่วยสร้างบ้านเมืองให้ และตามเรื่องตำนานยังปรากฏต่อไปว่านาคบันดาลให้น้ำท่วมเมืองจนกลายเป็นเมืองร้าง ครั้งหนึ่งบันดาลให้เมืองถล่มจมลงกลายเป็น “หนองแสนตอ” ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบันก็อีกครั้งหนึ่ง เมืองที่ถูกน้ำท่วมกับทั้งหนองแสนตอที่ว่าเป็นซากเมืองถล่มลงนั้น ก็อยู่ติดกับเมืองเชียงรายทั้ง 2 เมือง เป็นแต่เรียกชื่อว่า เมืองสุวรรณโคมคำ และ เมืองโยนกนครหลวง เท่านั้น
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 ม.ค. 19, 18:48

การบวงสรวงผีนาค ณ เมืองเชียงรายนั้น ทำเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2460 ก่อนแต่นี้ก็ได้ว่างเว้นมาหลายปี คือได้เลิกไม่ได้ทำพิธีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2456 อันเป็นปีที่เริ่มประกอบพิธีวิสาขบูชา เหตุที่กลับมาบวงสรวงผีนาคขึ้นอีกครั้งใน พ. ศ. 2460 นั้นเนื่องมาแต่เกิด “ฮ่า” (โรคห่า) ลงเมือง โรคนี้เรียกตามภาษาชาวล้านนาว่า “ขี้ฮากสองกอง” คือ “อหิวาตกโรค” เริ่มเกิดขึ้นในสหรัฐไทใหญ่ก่อนแล้วลุกลามลงมา แทบทั่วกันหมดทุกเมือง ประชาชนตื่นเต้นวิตกกันมาก สมัยนี้เมืองเชียงรายเลิกวิธีการปกครองเมืองอย่างเก่าแล้ว ตั้งศาลากลางจังหวัดที่เมืองเชียงราย เมืองต่างๆที่มีศักดิ์เสมอกับเมืองเชียงรายมาแต่ก่อนคือ เมืองฝาง เชียงแสน เชียงของ เชียงคำ เมืองเทิง และเมืองพะเยา ล้วนเป็นอำเภอขึ้นจังหวัดเชียงราย พระยารัตนาณาเขต( เมืองไชย ณ ลำพูน) เป็นที่นายอำเภอเมือง คณะผู้ครองเมืองชุดเก่าที่ยังมีตัวอยู่ก็ได้เป็นกรมการพิเศษสำหรับเมือง

พ. ศ. 2460 อันเป็นปีที่ห่าลงเมืองนั้น พระราชโยธา(เจิม ปันยารชุน ต่อมาเป็นพระยาตรังฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ท่านได้ทราบว่า ทางเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้บัตรพลีบูชาอินต๊ะและผู้เสื้อเมือง ขับไล่โรคห่า จึงคิดจะสะเดาะเคราะห์เมืองอย่างนั้นบ้าง ได้ปรึกษากับพระยารัตนาณาเขตตกลงกันจะบวงสรวงผีนาค ด้วยขณะนั้นใกล้กับวันวิสาขบูชา พระยารัตนาฯ พร้อมด้วยกรมการพิเศษกะการที่จะประกอบส่งไปให้พระราชโยธา ผู้เรียบเรียงเรื่องนี้ยังเป็น “บ่าวแถ่ว” คือ “รุ่นหนุ่ม” มีหน้าที่รับใช้พระยารัตนาฯ ท่านใช้ให้จดหมายบันทึกรายการนั้น พอจำรายการไว้ได้บ้าง จะนำเอามาเล่าในที่นี้เพื่อให้เป็นปรากฏกับอยู่ลัทธิผีนาค

งานบวงสรวงผีหน้าคราวนี้ พระครูเมธังกรญาน (ราชครูเมือง) เจ้าคณะจังหวัด 1 พญามโนวิทูร อาจารย์หลวง 1 แสนสนิทลือไทย อาจารย์รอง 1 พระยาไชยฤกษ์วังสา โหราหลวงเก่าเรียกกันว่า “ปู่เจ้า” 1 พญาไชยเมืองชื่น โหราหลวงใหม่ 1 มาประชุมพร้อมกันที่หอขวางคุ้มหลวง ต่อหน้าพระยารัตนาณาเขต ปรึกษาตกลงกันจะจัดทำตามแบบอย่างครั้งตั้งเมือง กำหนดงาน 5 วัน เริ่มแต่วันขึ้น 12 ค่ำ จนถึงวันแรมค่ำ 1 เดือน 8 (6) มีขบวนแห่นาคและเครื่องไทยทานทุกวัน ในสมัยนั้นการพนันจำพวกโป ซีเหงาลัก และไพ่ป๊อก ไพ่ตอง เหล่านี้ยังผูกเล่นได้ในเทศกาล จึงกะให้มีการพนันตลอดงานกลางวันกลางคืน จำนวนพระสงฆ์ที่จะเข้าพิธี “ภาวนานับประคำ” (นั่งปรก) 108 รูป รับบิณฑบาตสังฆทาน 1000 รูป

ครั้นส่งรายการไปยังพระราชโยธา ท่านขอให้จัดแต่เพียงพอสมควรด้วยเป็นเวลาห่าลงเมืองเมือง เกรงจะไม่มีคนพอแก่การใหญ่ๆ จึงลดลงคงเหลือวันงาน 3 วัน และงดการเล่นพนัน กับทั้งลดจำนวนพระสงฆ์รับบิณฑบาตสังฆทานเหลือเพียง 250 รูป การกีฬาต่างๆปล่อยไว้ให้ตามใจคนที่มีศรัทธา ขบวนแห่นาค ฝ่ายทหารซึ่งอยู่ประจำเมืองในเวลานั้นรับช่วยจัด และปล่อยให้เจ้าของควายนำควายเข้ามาขบวนตามใจสมัคร เพราะควายก็ล้มตายด้วยโรคห่ามาก แต่ในส่วนพระสงฆ์นั่ง 108 รูปนั้นว่าเป็นฤกษ์แรกตั้งเมือง คงมีให้จำนวนฤกษ์ ขณะเรียงหนังสือนี้ พ.ศ. 2485 ได้ค้นดูจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ พบสำเนาตราพระราชสีห์ใหญ่กับทั้งคำแปลใบบอกเมืองเชียงใหม่ เรื่องแบ่งพลเมืองเชียงใหม่ ลำพูนอพยพขึ้นไปตั้งเมืองเชียงรายเมื่อ พ.ศ 2386 ในใบบอกมีความตอนหนึ่งว่า

“ข้าฯ ทั้งปวงพร้อมกันนิมนต์พระสงฆ์ 108 รูป เป็นขบวนแห่พระพุทธรูปนำขบวนครัว เข้าตั้งเมืองเชียงราย ได้ทำบุญเป็นการใหญ่ 3 วัน 3 คืนและได้สักการบูชาอารักษ์เสื้อเมือง ขอเอาพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานครปกเกล้าปกกระหม่อมเป็นที่พึ่ง”

ดังนี้ ที่ว่าพระสงฆ์ 108 รูปเป็นฤกษ์ตั้งเมืองนั้น คงจะเป็นฤกษ์นี้เอง

ภาพบน พระยารัตนาณาเขต (เจ้าน้อยเมืองไชย เชื้อเจ็ดตน) เจ้าหลวงเชียงรายตนสุดท้าย และนายอำเภอเมืองเชียงรายคนแรก
ภาพล่าง พระครูเมธังกรญาณ (ป๊อก นันตะรัตน์) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ ราชครูเมืองเชียงราย และเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายรูปแรก




คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 17 ม.ค. 19, 19:07

อีกประการหนึ่ง ตัวบุคคลที่สำคัญในงานนี้ จำเพาะต้องเป็นตัวพ่อเมืองและวงศ์ตระกูลกับทั้งเสนาอำมาตย์ คุณพระราชโยธามอบให้พระยารัตนาฯ เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยราชครูเมืองและกรมการพิเศษ ในพิธีนั้นมีตำแหน่งบุคคลต่างๆ ที่จะเข้าพิธีหลายอย่าง พญาไชยเมืองชื่น โหรหลวง ได้บันทึกอธิบายส่งไปให้พระยาราชโยธาเรียกชื่อว่า “กองเมืองเชียงรายโบราณ” จะนำมาเล่าไว้ในที่นี้ แต่ขอออกตัวไว้ก่อนว่ากองเมืองที่จะเล่านี้ เป็นเรื่องที่ได้รู้มานานนับเวลาได้เกือบ 30 ปีแล้วอาจจะวิปลาสหลงลืมไปบ้าง ขอท่านผู้อ่านฟังเพียงเป็นเลาๆ ในการเล่าก็จะทดเทียบกับที่นิยมกันทางข้างใต้นี้บ้าง แทรกความเห็นของผู้เรียงตามที่ได้รู้มาภายหลังลงบ้าง เพื่อให้ข้อความดีขึ้น แต่ที่จะให้เล่านี้แต่เพียงที่เกี่ยวข้องกับพิธีบวงสรวงผีนาคเท่านั้น

อันว่า “กองเมือง” นั้น คำว่า “กอง” ตรงกับว่า “คลอง” คือ “ทางเดิน” แยกออกเป็น “กองน้ำ กองบก” – “ทางบก ทางน้ำ” ที่ใช้ว่า “กองเมือง” นี้ คำว่า “กอง-คลอง” แปลว่า “แบบอย่าง” ตามนัยนี้คำว่า “กองเมือง-คลองเมือง” ก็คือ ขนบทำเนียบ หรือ จารีตประเพณีสำหรับเมือง
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 ม.ค. 19, 19:32

การครองเมือง

1. ผู้ครองเมือง เรียกว่า “พ่อเมือง” ครั้งโบราณเป็นกษัตริย์แบ่งเป็น 5 ชั้น ตามคุณสมบัติ คือ

     1. พ่อหอเป๊ก หรือ จักรพุตรา
     2. พ่อหอแสง หรือ ปะระมะราจา (บรมราชา)
     3. พ่อหอแก้ว หรือ มหาราจา (มหาราช)
     4. พ่อหอคำ   หรือ ราจา (ราชา)
     5. พ่อหอจันท หรือ อะนุราจ๊ะ (อนุราช) ประเทศราช

คำแทนชื่อพ่อเมืองหรือกษัตริย์ มีใช้หลายอย่าง จะแยกว่าอย่างใดสำหรับพ่อเมืองชั้นไหนนั้นยาก เพราะใช้กันฟั่นเผือมาเสียนานแล้ว กล่าวได้แต่ว่าเมื่อพูดด้วยใช้ว่า “พ่อเหนือหัว เจ้าเหนือหัว และพญาเหนือหัว” เมื่ออ้างถึงใช้ว่า “เจ้าหลวง พ่อเจ้า เจ้าชีวิต และพญาเจ้า” และถ้าเป็นชาวต่างเมืองหรือต่างประเทศก็เติมนามเมืองเข้าข้างท้าย เช่น “เจ้าหลวงลำพูน พ่อเจ้าลำปาง เจ้าชีวิตเชียงใหม่ และพญาเมืองฮาย” เป็นต้น ส่วนที่ใช้เป็น “ราชาศัพท์” ไม่มี คงใช้อย่างเดียวกับบุคคลสามัญ

อนึ่งที่เรียกว่า “พ่อหอ” นั้น คำว่า “หอ” หมายถึง” เรือนหลวง” อย่างเดียวก็คงว่า “ปราสาท” ที่มีคำ “เป๊ก แสง แก้ว แสง คำ และ จันท” ต่อท้ายนั้นอีก เป็นคำหมายถึง “แท่นที่นั่ง” (ราชอาสน์) อันตั้งไว้บนเรือนหลวง เรียกว่า "แท่นเป๊ก แท่นแสง แท่นแก้ว แท่นคำ และแท่นไม้จันทน์" คือเรียกตามลักษณะของแท่นที่ทำเป็น “ลงรักปิดทองประดับลวดลายและเพชรนิลจินดา” แท่น หรืออาสน์ เป็นของทำขึ้นใช้ประกอบศักดิ์ของพ่อเมืองหรือกษัตริย์ แท่นอะไรควรแก่พ่อเมืองชั้นไหน เป็นไปตามที่ได้เรียงลำดับมาแล้วข้างต้น

คำว่า “เป๊ก” สงสัยว่าจะตรงกับ “เพชร” คือจะเป็นเพชรที่ยังไม่ได้ขัดเกลา หรือเจียระไน ด้วยได้พบในตำนานพระธาตุหริภุญชัยเรียก “เมืองกำแพงเพชร” ว่า “เมืองกำแปงเป๊ก” ลักษณะของเป๊กได้เคยเห็นของท่าน พระยาจิตวงษ์วรยศรังษี พ่อเมืองเชียงของ ดูคล้ายกับ หินศิลา เว้นแต่เบาและแข็ง รูปคล้ายกับใบเสมาหรือใบพาย ขนาดโตเท่านิ้วหัวแม่มือ ยาวสัก 2 ข้อนิ้วเศษ จะเป็นวัตถุที่ประสมทำขึ้นหรือเป็นเอง ไม่ได้ถามท่านเจ้าของ สีคล้ำคล้าย “ศิลาแลง” เมื่อถูกแดดมีรัศมีสีทองแวววาว เจ้าของบอกว่าเป็นวิเศษชั้น “อนัคฆมณี” ไม่อาจตีราคา กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า “ค่าควรเมือง” ผู้ใดได้เป๊กไว้ก็เท่ากับผู้นั้นมีกำแพงแสนชั้นป้องกันตัว แต่ทว่ามี “เคล็ด” ในการบูชาขอพร อธิบายว่าต้องเป็นการ “บริสุทธิ์” จริงๆ จึงจะมีสัมฤทธิ์ ของพระยาจิตรวงษ์ฯ นั้น ท่านใส่ในถุงถักด้วยด้าย มีเส้นสายสิญจน์ร้อยสำหรับคล้องคอ ถึงวันพระเอาใส่ฝ่ามือจุ่มลงทรงในน้ำขันแลเห็นลอยน้ำได้ปริ่มๆ

“แสง” ก็เป็นเครื่องรางอีกอย่างหนึ่งซึ่งนิยมกันว่ามีคุณค่าสูง กล่าวกันว่าแสงเป็นของ “เทพอำนวย” มักเอามาประทานไว้ในรังนกลักษณะเป็นอย่างไรไม่เคยเห็น ได้ฟังแต่คำเล่าว่ารูปคล้าย “ดวงแก้ว” มีหลายขนาด ตั้งแต่เท่าเม็ดข้าวโพดขึ้นไปจนถึงฟองไข่นก สีเป็นไปตามสีไข่ในรังที่พบ ผู้ใดได้ว่า เป็นขนาดเล็กก็ถักถุงด้ายสอดสายคล้องคอ ถ้าเป็นขนาดใหญ่ก็ประดิษฐานบนพานตั้งไว้สักการะในบ้านเรือน ว่าห้ามกันได้ซึ่งอุบาทว์จัญไรทั้งหลาย
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 ม.ค. 19, 19:44

2. ตำแหน่งนางใน

     1. แม่นางเมือง คือ อัครเทวี
     2. แม่อุ่นเมือง  คือ เทวี มี 2
     3. แม่อยู่เมือง หรือ แม่อายุเมือง คือ หม่อม
     4. แม่ขวัญเมือง เห็นจะตรงกับ “บาทบริจา”

อัครเทวีนั้น เป็นชาวต่างเมือง บางทีก็วงศ์เดียวกันซึ่งแยกไปครองเมืองอื่น บางทีก็เป็นวงศ์อื่น การแต่งงานกับพ่อเมืองกับแม่นางเมืองแต่งโดยพิธี “หมาย” กันไว้ตั้งแต่ยังเป็นทารก เหมือนระเด่นมนตรีกับบุษบาในเรื่องละครอิเหนา แต่เทวี เป็นเชื้อวงศ์ต่างบิดามารดา มีหน้าที่ปกครองสาวสนมนาง 1 รักษาสมบัติและเลี้ยงดูผู้คนนาง 1 บางทีเรียก “แม่หอใต้ แม่หอเหนือ” หรือแม่ซ้าย แม่ขวา ที่เป็นขวาและซ้ายนี้เป็นซ้ายและขวาของแม่นางเมือง คือเป็นหูเป็นตาแทนนางเมือง แม่อยู่เมืองหรือหม่อมนั้นเป็นบริพาลของแม่นางเมืองและแม่อุ่นเมือง สำหรับใช้ให้บำรุงบำเรอพ่อเมืองให้เจริญรมณ์ คือให้มีความเบิกบานใจอยู่ทุกเวลาเหมือนยาอายุวัฒนะ ส่วนแม่ขวัญเมืองต่างกับที่กล่าวมาแล้วด้วยว่าเป็น “ตัวจำนำ” หรือ “นางเชลย” คือเป็นลูกสาวของพ่อเมืองที่ปราบปรามเอามาได้ นางขวัญเมืองนี้จะแต่งตั้งให้เป็นชายาชั้นไหนไม่ได้ จะเป็นแม่อุ่นเมืองก็ไม่ไว้ใจ จะให้เป็นแม่อายุเมืองก็ไม่สมศักดิ์ศรีนาง จึงยกไว้ในที่แม่ขวัญเมือง หมายความว่าได้มาประดับเกียรติยศของพ่อเมืองนั้นเป็น “มิ่งขวัญของเมือง” ดังนี้ เมืองใดจะมีแม่นางขวัญเมืองมากหรือน้อย แล้วแต่ “เตจ๊ะริทธี” ของพ่อเมืองนั้น นางนี้เรียกอีกอย่างว่า “นางซ้อนเมือง” หรือ “นางซ่อนหอ” ด้วยเหตุที่ฝากตัวอยู่ทั้งในแม่นางเมืองและแม่อุ่นเมือง

เหตุที่พ่อเมืองต้องมีแม่อุ่นเมืองนั้น เพราะถือว่าพ่อเมืองหรือกษัตริย์เป็น “พระโพธิสัตว์” เสด็จลงมาเอากำเนิดเพื่อบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้าในชาติอนาคต อันพระโพธิสัตว์นั้นมีจำนวนนับไม่ถ้วน เมื่อนิยมว่าพระโพธิสัตว์มาอุบัติ องค์อื่นมาเอากำเนิดสืบตระกูลพ่อเมืองของตน เพื่อจะได้ปกครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข เพราะพระโพธิสัตว์มีใจคอกว้างขวาง ประกอบด้วยเมตตากรุณาช่วยเหลือคณาสัตว์ให้สุขสำราญ แต่การที่พระโพธิสัตว์จะมาเอากำเนิดหรือไม่นั้น สำคัญอยู่ที่ตัวแม่นางเมือง แม่นางเมืองเป็นหมันหรือประพฤติมิชอบ พระโพธิสัตว์ก็มาปฏิสนธิไม่ได้หรือไม่มาเอากำเนิดทีเดียว จึงต้องมีนางอุ่นเมืองไว้สำรองคอยรับพระโพธิสัตว์ให้เป็นที่อุ่นใจของประชาชน ด้วยเหตุนี้นางเทวี จึงได้นามว่า “แม่นางอุ่นเมือง”
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 ม.ค. 19, 19:55

3. ตำแหน่งลูกหลวง

      ก. เกิดแต่แม่นางเมือง ชาย เรียก “พ่อท้าว” ถ้าเป็นทายาทเรียกว่า “แสงเมือง” หญิง เรียก “จ๋าวเมือง” คำ จ๋าว คือ จาว เช่น จาวตาล จาวมะพร้าวและจาวดอกไม้ ถ้าเป็นทายาทเรียก “นางดอกคำ” หรือ “ดอกไม้คำ”
      ข. เกิดแต่แม่อุ่นเมือง ชาย เรียก “ท้าว” เป็นทายาทเรียก “หน่อเมือง” หญิง เรียก “นาง” โดยปกติไม่ได้เป็นทายาท
      ค. เกิดแต่แม่อายุเมืองและขวัญเมือง คงเรียกว่า ท้าวและนาง เหมือนกันหมดโดยปกติไม่เป็นทายาท แต่ชายได้เป็นท้าวกินเมืองขึ้น

ลูกหลวงที่ได้เป็น แสงเมือง หน่อเมือง นั้น เมื่อเจริญวัยขึ้นและฝึกหัดบัญชาการบ้านเมือง เรียกว่า “พ่อเมืองเหล็ก” เป็นคุณนาม หมายความว่ากำลังหนุ่มแน่นแข็งแรง เมื่อแต่งงานแล้วเรียก “พ่อหอหน้า” ที่เป็น ท้าว เมื่อฝึกราชการเรียกว่า “เริงเมือง” เมื่อแต่งงานแล้วเรียกว่า “พ่อหอ” แล้วแต่จะปลูกหออยู่ทิศใดของคุ้มหลวงวังหลวง เช่นว่า พ่อหอเหนือ หรือหอใต้ หรือถ้าได้กินเมืองก็เรียกว่า พ่อหมอเมือง นี้เป็นต้น

ยังมีท้าวอีก 2 จำพวก จำพวกหนึ่งเป็นพ่อเมืองขึ้นที่ปราบมาได้ในเหตุการณ์เช่นนี้ตัวพ่อเมืองที่ถูกปราบ คนเก่ามักถูกทำลายหรือหลบหนีไป ฝ่ายที่ปราบได้ก็ตั้งเชื้อวงศ์ของเมืองนั้นเป็นพ่อเมืองขึ้นใหม่ และพ่อเมืองที่ปราบได้ผูกข้อมือถือขวัญเอาเป็นลูก แล้วจึงตั้งให้เป็นพ่อเมืองและให้เป็นท้าว ข้อนี้มีหลักอยู่ที่เรียกหัวเมืองขึ้นว่า “ลูกเมือง” ส่วนท้าวอีกจำพวกหนึ่งนั้นเป็นขุนนาง อธิบายว่า “ท้าว” จำพวกนี้เป็นแบบอย่างทางภาคอีสาน มิใช่เป็นธรรมเนียมเดิมของบ้านเมือง มีความปรากฏในเรื่องตำนานว่าเมื่อสมัยอยุธยา เจ้าโพธิสาร หรือบุญสาร เชื้อสายเจ้าเมืองเวียงจันทน์ ได้ขึ้นไปครองเมืองเชียงใหม่และต่อมาๆ ครองเมืองเชียงแสน สมัยนี้เมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเมืองเชียงแสน จะสันนิษฐานว่าเจ้าโพธิสารคงได้นำแบบอย่างในการแต่งตั้งขุนนางในอาณาเขตลานช้าง ขึ้นไปใช้ในลานนาตั้งแต่สมัยนั้น ตำแหน่ง ท้าว ที่เป็นขุนนางจึงมีอยู่ในภาคพายัพ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 17 ม.ค. 19, 20:06

4. เถ้าศรีเมือง

พ่อเมือง มีที่ปรึกษา 4 ท่าน เรียกทั้งคณะว่า “เถ้าศรีเมือง” หรือ “มนตรี” เรียกเป็นสามัญว่า “ต้าวตังสี่-ท้าวทั้งสี่” ถ้าเรียกรายตัวว่า

        1. ราชครูเมือง
        2. อาจารย์หลวง
        3. โหราหลวง
        4. ต๋าเมือง คือตาเมือง ในเมืองเชียงตุงเรียก “พญาปราสาท”

        ก. ราชครูเมือง เป็นพระสังฆราชา เรียกเป็นสามัญว่า “หัวหน้าคณะฝ่ายหนใน” หมายความว่า “ฝ่ายปฏิบัติตนใกล้หรือเหมือนกับพุทธจริยวัตร”
        ข. อาจารย์หลวง คือ “นักปราชญ์” เรียกเป็นสามัญว่า “หัวหน้าคณะหนฝ่ายนอก” หมายความว่า “ฝ่ายปฏิบัติไม่ครบอย่างพุทธจริยวัตร” เป็นคฤหัสถ์ได้บวชเรียนทรงความรู้เท่าๆ กับราชครูเมือง แล้วสึกออกมามีหน้าที่ให้คำแนะนำพ่อเมืองในการพิพากษา เทียบได้กับ “อธิบดีศาลฎีกา” และเป็นหัวหน้าชาวเมืองประกอบการกุศลบางครั้งก็เป็นผู้วินิจฉัยปัญหาในพระไตรปิฎก และให้คำแนะนำสั่งสอนพระภิกษุสามเณร
        ค. โหราหลวง คือ โหรหลวง มีหน้าที่ทางพยากรณ์โชคลางและพิธีในไสยศาสตร์ บางคนก็เป็น “พ่อเลี้ยง” คือแพทย์ ด้วยเรียกกันเป็นสามัญว่า “พ่อหมอเถ้า” ถ้าอยู่ในวัยชราเรียกว่า “ปู่เจ้า”
        ง. ต๋าเมือง ตาเมือง เป็นที่พระนามหาอุปราช เทียบอย่างง่ายๆ ว่า “นายกรัฐมนตรี”
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 17 ม.ค. 19, 20:21

5. ยศบริวาร

คือ เสนาอำมาตย์ แบ่งเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

1. หัวสาม อาจจะหมายถึง “อาลักษณ์” หรือ “เลขาธิการคณะรัฐบาล” มีหน้าที่ในการติดต่อสื่อสาร และการคลัง มีตำแหน่งขึ้นอยู่หัว 3 อย่างคือ
        ก. หัวศีล เห็นจะตรงกับ “สังฆการี”
        ข. หัวเมืองแก้ว ทำกิจต่างเมือง หรือ การต่างประเทศ
        ค. หัวคลังแก้ว นายคลัง
นอกจากนี้ยังมีตำแหน่ง “ม้าแข้งเหล็ก-ผู้เดินทน” กับ “ม้าแข้งไฟ-ผู้เดินเร็ว” ขึ้นอยู่กับหัวสามอีก 2 ตำแหน่ง เข้าใจว่า “ม้าแข้งเหล็ก” จะตรงกับ “ทหารรักษาวัง” ทางเมืองเชียงใหม่เรียกตำแหน่งนี้ว่า “เขน” แปลว่า “สู้ หรือต่อสู้” ส่วน “ม้าแข้งไฟ” เห็นจะตรงกับ “ตำรวจวัง” คำนี้ทางเมืองเชียงตุงเรียกว่า “แย” เห็นจะเป็นภาษาพม่าทำหน้าที่อยู่ยาม และรับใช้
2. หัวสนาม บางทีเรียก “อะธิปติ” เห็นจะได้แก่ “เจ้ากรมต่างๆ ฝ่ายพลเรือน” เรียกเป็นสามัญว่า “จ๊ะเร” คำนี้ใกล้เคียงกับภาษาเขมรว่า “สเสร” ซึ่งแปลว่า “เสมียน”
คำว่า “สนาม” ตรงกับ “ศาลากลางจังหวัด หรือศาล” ถ้าพ่อเมืองไปนั่งทำการที่สนามเป็นนิจ สนามนั้นเรียกว่า “เค้าสนามหลวง”
3. หัวสึก บางทีเรียกว่า “ขุนพล” ตรงกับ “แม่ทัพนายกอง” มีตั้งแต่หัวสิบ-นายสิบ ผู้บังคับหมู่ หัวซาว-นายหมวด ผู้บังคับหมวด หัวร้อย-นายร้อย ผู้บังคับกองร้อย หัวพัน-นายพัน ผู้บังคับกองพัน หัวหมื่น-นายพล ผู้บังคับการกองพล เจ้าแสน-แม่ทัพ ตำแหน่งชั้นเจ้าแสนนั้นบางทีเรียก “ขุนพลแก้ว” แต่เรียกตามคุณสมบัติ

ยศบริวารต่างๆ ที่สรรพนามมานี้ ต๋าเมือง หรือ พญามหาอุปราช เป็นหัวหน้า พญาอุปราชนั้นมีหน้าที่โดยเฉพาะ 2 อย่าง คือ จัดการปกครองบ้านเมือง และพิพากษาคดีต่างๆ ที่เรียกว่า “วัวพันหลัก” (เห็นจะตรงกับ “อุทลุม”) น่าจะเทียบได้กับ “อธิบดีศาลอุทธรณ์”
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 17 ม.ค. 19, 20:50

“กองเมือง” ที่สรรพนามมานี้ ต้องเข้าพิธีในการบวงสรวงผีนาคทั้งนั้น ผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าให้ฟังว่า “ยามตะก่อน” คือ “เมื่อกาลแต่ก่อน” เมืองเชียงราย เชียงแสนเป็น “เมืองสองฝ่ายฟ้า” แต่เดิมรวมอยู่ในสหรัฐไทยใหญ่ มีเมืองเชียงรุ่งเป็นประธาน แล้วเมืองเชียงตุงแยกออกไปขอร่วมกับเมืองนาย (อยู่ตะวันตกแม่น้ำคง) ต่อมาพม่าได้เมืองนาย เมืองเชียงตุงก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เมืองเชียงรายเชียงแสนยังคงเป็น “เมืองพี่เมืองน้อง” กับเมืองเชียงรุ่งตามเดิม เมืองเชียงรุ่งนั้นอยู่เหนือเมืองเชียงตุงขึ้นไป ชาวเชียงแสนเชียงรายจะขึ้นไปเมืองเชียงรุ่งแต่ก่อนเดินทางผ่านเมืองเชียงตุง ครั้นเมืองเชียงตุงไปรวมกับเมืองนาย การเดินทางลำบากด้วยม้าวิวาทฆ่าฟันกันเนืองๆ ชาวเชียงรายเชียงแสนจึงแยกทางเดินไปเมืองเชียงรุ่งไม่ผ่านเมืองเชียงตุง คือแยกที่เมืองพะยากตรงไปเมืองยอง เมืองหลวย เมืองขาก ขึ้นไปเมืองเชียงรุ่ง แม้กะนั้นบางสมัยก่อนไม่ปลอดภัยด้วยเมืองพะยากเป็นเมืองขึ้นเมืองเชียงตุง ครั้นต่อมาพม่าได้เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงแสนเชียงรายตกอยู่ระหว่างกลางอำนาจพม่า จึงจำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ทางเมืองเชียงรุ่งก็ยังไปมาติดต่อ ถึงปีก็ส่งส่วยแก่พม่าที่เมืองเชียงใหม่ และส่งของขวัญไปเยี่ยมเยือนติดต่อกับเมืองเชียงรุ่งทั้งสองฝ่าย จึงได้นามเรียกในสมัยนั้นว่า “เมืองสองฝ่ายฟ้า”

ต่อจากนี้เข้าสู่กลียุค มหายุทธสงครามระหว่างไทยกับพม่า เมืองเชียงรายทรงอยู่ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางครั้งพม่ามาตั้งการปกครองอยู่ที่เมืองเชียงแสน บางคราวไทยก็ส่งข้าหลวงขึ้นไปนั่งเมือง บางคาบเมืองเชียงรายตกเป็นเมืองไร้พ่อเมือง มีแต่พ่อนายบ้านตำบลควบคุมราษฎรเป็นแห่งๆ อย่างว่าเป็น “ซ่อง” ในที่สุดตัวเมืองเชียงรายตกเป็นเมืองร้างมาแต่เมื่อ “พระยาเสือ” คือ  เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์) ยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามพม่าที่เมืองเชียงแสนสมัยกรุงธนบุรี สมัยนี้เชียงรายขึ้นเมืองเชียงแสนมีพ่อเมืองที่พม่าแต่งตั้ง กองทัพไทยยึดเอาเมืองเชียงรายเป็นกองทัพใหญ่ต่อสู้ขับไล่พม่า พ่อเมืองเชียงรายตายในที่รบ ราษฎรถูกกวาดต้อนอพยพลงมากรุงธนบุรี ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ในเขตจังหวัดสระบุรีบ้าง ที่บ้านม้า จังหวัดลพบุรีบ้าง

ท่านผู้อ่านโปรดให้อภัย ที่นำเอาข้อความนอกเรื่องผีมากล่าวอย่างยืดยาว ที่นำมาเล่าในที่นี้ก็เพื่อจะให้ท่านพิจารณาว่า “กองเมือง” ที่ได้เล่ามา และเป็นตัวบุคคลสำคัญในการบวงสรวงผีนาคที่จะก่าวต่อไป อาจมีชาวเมืองของชาวอื่นคลุกเคล้าอยู่บ้าง เพราะเมืองเชียงรายเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้าดังกล่าวมาแล้ว กองเมืองเชียงรายโบราณที่พญาไชยเมืองชื่นบันทึกนี้ เมื่อเสร็จการบวงสรวงผีนาคแล้ว ถึง พ.ศ.2462 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จประพาสเมืองเชียงราย ได้ทรงรวบรวมเอามายังเมืองเชียงใหม่ จึงเชื่อว่าจะยังอยู่ที่ห้องสมุดคุ้มหลวงเมืองนครเชียงใหม่ปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 18 ม.ค. 19, 12:49

ผมได้ยินคำว่า "เป็ก" ครั้งแรกในกลุ่มผู้นิยมโป่งข่ามครับ
มีโป่งข่ามชนิดหนึ่งเรียกว่า "แก้วเข้าเป็ก" ว่ากันว่า มีสรรพคุณทางเสริมกำลัง ความมั่งคั่ง ทรัพย์สิน มีคนให้ผมมาเม็ดหนึ่ง ขนาดราวปลายนิ้วก้อย ลักษณะเป็นเม็ดกลมรูปไข่ ภายในมีผลึกโลหะ (น่าจะเป็นแร่ไพไรต์ แต่ผมก็ไม่ทราบหรอกครับว่าอะไร) อยู่ภายใน จะจริงจะแท้หรือไม่ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ 
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 18 ม.ค. 19, 16:46

รายการบวงสรวงผีนาคนั้น แยกตัวบุคคลออกเป็น 2 ฝ่ายๆหนึ่งเรียกว่า “ผู้ถือกั๋มม์” หรือ ผู้ถือศีล เห็นจะตรงกับ ถือบวช อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้จ๋องก๋ำม์” เห็นจะตรงกับ จองเวร

คณะผู้ถือกรรมหรือถือบวช ประกอบด้วยบุคคล
1. ตัวพ่อเมือง เป็นผู้สะเดาะเคราะห์ เรียก “หลีกเคราะห์”
2. ราชครูเมือง เป็น “สักขีบุญ” หรือ ผู้รับรอง
3. อาจารย์หลวง
4.โหราหลวงเป็นผู้ “ปัดเคราะห์” ปัดรังควาน
5. แม่นางเมือง จัดการ “อวยตาน” คือ ให้ทาน

คณะผู้จองกรรม หรือ จองเวร ประกอบด้วยตัวบุคคล คือ
1. แม่มด เรียกว่า “ย่าที่นั่ง” คือ “คนทรง”
2. แสงเมือง หรือ หน่อเมือง เป็น “ผู้ถูกเคราะห์” และเป็นผู้อำนวยการทั่วไป เรียกให้ฟังง่ายคือผู้เปิดพิธีนี้
3. ต๋าเมือง หรือ พญามหาอุปราช เป็น มหานฤมิตร คือ “พญานาค”

บุคคลอื่นๆ นอกจากนี้เป็นตัวประกอบ มีหน้าที่คนละอย่างๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 19 คำสั่ง