เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 6590 เวียงผาคราง ที่ตั้งวังพระเจ้าแผ่นดินเชียงรุ่ง
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


 เมื่อ 14 ม.ค. 19, 22:37

จะขอนำเนื้อหาซึ่งกล่าวถึงเวียงผาคราง ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเป็นเจ้าเชียงรุ่งสิบสองปันนา ศูนย์กลางการปกครองของแคว้นสิบสองปันนา จาก หนังสือ ไทยสิบสองปันนา1 ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นำมาลงในเว็บเรือนไทย เพื่อให้เห็นภาพของวังเจ้าแผ่นดินสิบสองปันนาในอดีต ซึ่งปัจจุบันถูกทำลายไปแล้วในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน

หมายเหตุ ในที่นี้แก้ต้นฉบับคำว่า เชียงรุ้ง เป็นเชียงรุ่ง ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกต้อง
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ม.ค. 19, 22:46

เชียงรุ่งมีหมู่บ้านใหญ่ๆที่ขึ้นอยู่รวมกัน๑๒ หมู่บ้าน จำนวนหลังคาเรือน สำรวจเมื่อประมาณหกปีมานี้มีอยู่๔๕๐๐ หลังคาเรือน พลเมือง๔๐๐๐๐ คนเศษ ล้วนแต่เป็นชาวไทยลื้อส่วนมาก

ถัดมาเป็นชาวเขาหรือที่เรียกกันว่า "โหเถิน" ซึ่งอาศัยตั้งบ้านเรือนทำไร่อยู่ตามภูเขาต่างๆทั่วไป ชาวไทยเมืองเหนือหรือแข่ไตเหนือมีอยู่บ้างไม่มากนัก เช่นเดียวกับพวกไตหย่า พวกไตเขินซึ่งอาศัยอยู่อย่างประปราย ชาวจีนฮ่อที่เป็นข้าราชการและพ่อค้ามีจำนวนไม่กี่คน สำหรับชนชาติผิวขาวมีชาวอเมริกัน เฉพาะเมื่อก่อนสงครามโลกคราวที่แล้วได้เข้ามาอยู่ทำการสอนศาสนาคริสเตียน ลัทธิโปรเตสแตนต์ และเป็นนายแพทย์นางพยาบาลประจำโรงพยาบาลมิชชันซึ่งสร้างขึ้น ณ เมืองนี้

ตัวเมืองเชียงรุ่งตั้งอยู่ในภูมิประเทศอันสวยงามบนเนินเขาหลายลูก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป และเนินเขาบางลูกบังหมู่บ้านและลำแม่น้ำโขง ลำน้ำฮ้า ลำน้ำออดบางตอน ขึงทำให้ความงามของเชียงรุ่งลดลงไป ถ้ามองมาจากลำแม่น้ำโขงก็จะเห็นยอดเจดีย์หรือพระธาตุวิหาร วังเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน และหมู่บ้านตั้งเรียงรายตามชายฝั่งน้ำ

ภาพ ชาวไทลื้อ สิบสองปันนา ในอดีต



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 ม.ค. 19, 23:00

บริเวณเจ้าฟ้าพระเจ้าแผ่นดินเมืองเชียงรุ่งอยู่นั้นเป็นเนินเขาเตี้ยๆลูกหนึ่งซึ่งมีเนินเขาลูกอื่นๆหลายลูกล้อมรอบทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง เรียกว่า”เวียงผาคราง” ตามที่แจ้งไว้ในตำนานว่า โอรสองค์สุดท้องของเจ้าฟ้าว้อง (กษัตริย์เมืองจีน)ยิงธนูมาตกงตรงบริเวณเวียงผาครางแห่งนี้ คำว่า”เวียง”ตรงกับความหหมายของคำว่า”นคร”ซึ่งเป็นนครหลวงที่กษัตริย์อยู่

วังของพระเจ้าแผ่นดินเชียงรุ่งนั้นแท้ที่จริงควรจะเรียกเป็นพระราชวัง แต่สภาพของตัววังไม่เหมาะที่จะเรียกเช่นนั้น เพราะเป็นโรงขนาดใหญ่ด้วยไม้นานาชนิด มียอดหลังคาเป็นลวดลายหยักๆ ข้างล่างเป็นที่ผูกม้า สมัยก่อนก่ออิฐและออกจะเป็นวังที่ใหญ่โตสง่างามแห่งหนึ่ง แต่ได้ทรุดโทรมลง โดยเมื่อครั้งเกิดการจลาจลชุลมุนวุ่นวายตอนเจ้าเมืองล่าถูกหม่อมสอยิงตาย พวกที่ติดตามมากับเจ้าเมืองล่า เจ้าเมืองพง ได้ปลงพระชนต์หม่อมสอ พระเจ้าแผ่นดินเชียงรุ่ง แล้วเผาทำลายวังพระเจ้าแผ่นดินแห่งนี้

ปัจจุบันวังพระเจ้าแผ่นดินก็นับว่าสร้างได้ดีสมกับเป็นเมืองที่ตั้งบนเชิงเขา มีผืนดินยื่นเป็นแหลมออกไปทางลำน้ำโขและหันหน้าวังไปสู่ทิศนั้นด้วย จึงสามารถมองเห็นเกาะดอนหลวงหรือเกาะดอนสบฮ้าปองของ เกาะดอนบ้านเต้อ กลางลำแม่น้ำใหญ่ได้อย่างถัด ทางขวาของวังเป็นเรือนพักของเจ้าหม่อมผู้เป็นพระราชวงศ์อันสนิทของพระองค์ เคยเป็นที่พำนักของเจ้าหม่อมมณีคำ อนุชาของเจ้าหม่อมหลวงพระเจ้าแผ่นดินเชียงรุ่งองค์ก่อน ทางซ้ายวังเป็นวังของรองพระเจ้าแผ่นดินหรืออุปราชา หรือผู้มีตำแหน่งเทียบเท่า ทั้งสองแห่งที่กล่าวนี้มีความงามและความใหญ่โตน้อยกว่าวังของพระเจ้าแผ่นดิน

ณ หน้ามีบัลลังก์ หรือเรียก "แท่นคำ" ตั้งอยู่ ใช้สำหรับประทับเวลามีงานพิธีเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น มีที่ประชุมอยู่อีกต่างหาก ภายในแขวนกลองไว้สำหรับตีเรียกประชุมบรรดาพญาเก๊าหรือท้าวพญาฝ่ายไทลื้อให้ไปประชุมกัน

ภาพบน หอคำเจ้าแผ่นดินสิบสองปันนา ใช้เป็นที่ประทับของเจ้าแผ่นดินแสนหวีฟ้าเชียงรุ่ง


ภาพล่าง ซ้าย หม่อมนางคำมูล ขวา มหาเทวีเชียงรุ่ง หม่อมสาเถาคำ มหาเทวีของเจ้าหม่อมสุวรรณผาคราง สมเด็จพระเป็นเจ้าองค์ที่43ของสิบสองปันนา เบื้องหลังคือหอคำเจ้าแผ่นดิน ถ่ายในปี ค.ศ. 1937




บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ม.ค. 19, 23:09

เนินเขาที่ตั้งอยู่เรียงรายล้อมรอบเวียงผาครางมีหลายลูกด้วยกัน คือ ม่อนจ๋อมตอง ม่อนวัดใจ(ชัย) ม่อนจ้างเผือก(ช้างเผือก) ม่อนขัวสูน ม่อนจอมหมอก หนองตุ๋ม บ้านพะสาท(ปราสาท) ม่อนกลางเจ่ง บ้านโขงจ้าง(ช้าง) ม่อนวัดหลวง

ม่อนกลางเจ่ง เป็นที่ตั้งวังของพระเจ้าแผ่นดิน บนเนินเป็นที่ราบ มีประมาณ๔๐หลังคาเรือน คำว่า "เจ่ง" แปลว่าศูนย์กลาง "ม่อน" แปลว่าเนินเขาหรือยอดเขา ภูเขาหนึ่งลูกมีหลายยอด แต่ละยอดเรียกว่า "ม่อน" หรือเนินเขาลูกเดียวเรียก "ม่อน" ก็ได้

ม่อนจ๋อมตอง หรือ จอมทอง มีวัดและเจดีย์ใหญ่ตั้งอยู่ ภายในโบสถ์เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปทองเหลืององค์ใหญ่ขนาดพระพุทธรูปในวัดเบญจมบพิตร จังหวัดพระนคร เจดีย์หรือที่เรียกพระธาตุจอมทองนั้นใช้เป็นที่เก็บเกศาพระพุทธเจ้า มีพระภิกษุสามเณรอยู่ประจำ

ม่อนวัดหลวง เป็นวัดสำคัญ สร้างอย่างงดงาม บนหลังคาได้ใช้ไม้แกะสลักไม่ต่างกับวังพระเจ้าแผ่นดิน นับถือว่าเป็นวัดใหญ่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปทำบุญในวันพิธีเข้าพรรษาทุกปี

ม่อนขัวสูน เป็นเนินสูงขนาดเดียวกันกับม่อนช้างเผือก บนเนินมีวัดเรียก "วัดขัวสูน"

บ้านพะสาท หรือปราสาท เนื้อที่ติดต่อกับบริเวณวังพระเจ้าแผ่นดิน จำนวนหลังคาเรือนประมาณ๔๐หลังคาเรือน ชาวหมู่บ้านนี้มีชื่อเสียงในการทำปราสาทสำหรับทำบุญสุนทานได้งดงาม เป็นคนซื่อสัตย์จนพระเจ้าแผ่นดินเคยแต่งตั้งให้เป็นคนสนาม บางคนในหมู่บ้านนี้มีหน้าที่รักษาเงินทองของหลวง

บ้านหนองตุ๋ม อยู่ระหว่างวัดดอนใจ(ชัย)กับวัดช้างเผือก มีประมาณ๕๐หลังคาเรือน

ภาพบน แผนที่เวียงผาครางและเมืองเชียงรุ่ง จาก หนังสือ ไทยสิบสองปันนา1 ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (ทิศใต้อยู่ข้างบน)

ภาพล่าง แผนที่เวียงผาครางและเมืองเชียงรุ่ง จาก หนังสือ ไทยสิบสองปันนา1 ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์





คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ม.ค. 19, 23:17

ม่อนพระธาตุจ๋อมตอง หรือ จอมทอง เป็นเนินสูงกว่าม่อนอื่นๆอยู่ติดกับลำแม่น้ำโขง มีพระธาตุหรือเจดีย์บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า ตีนเนินเขาลูกนี้เป็นที่อยู่ของหมู่ชาวลื้อประมาณ๒๐หลังคาเรือน สองหมู่บ้าน เรียกว่าบ้านลื้อเหนอ(เหนือ) บ้านลื้อใต้ อาชีพทางรับจ้างล่องเรือหาปลาและปั้นเผาภาชนะหม่อดินขาย โบสถ์ วิหารและพระสงฆ์ ม่อนพระธาตุจอมหมอกไม่มี มีแต่วิหารอยู่ระหว่างกลางบ้านลื้อทั้งสอง

ม่อนวัดใจ(วัดชัย) มีพระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำ ถือว่าเป็นวัดของพระเจ้าแผ่นดิน ต้องเสด็จมาขอโชคชัยเวลาจะยกกองทัพไปรบข้าศึกหรือเสด็จไปต่างเมือง ต้องไปประทับค้างแรมที่วัดหนึ่งคืน จึงจะออกจากเมืองเชียงรุ่งไปได้ บนเนินเขาลูกนี้ไม่กว้าง มีขนาดพอประมาณตั้งวัดอยู่ได้ จึงไม่มีหมู่บ้านอยู่แทรกแซงปนเปเหมือนม่อนอื่นๆ เป็นวัดเก่าแก่ไม่มีเจดีย์ ผู้จะเดินทางไปเมืองฮำ(รำ) หรือจากเมืองฮำมาเชียงรุ้งต้องผ่านตีนเนินเขาวัดใจ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเป็นป้อมปราการของเมืองแห่งหนึ่ง

อนึ่ง วัดในเมืองเชียงรุ้งหรือแคว้นสิบสองปันนานั้น สร้างโบสถ์วิหารออกจะทึบๆมืดสลัว ไม่ค่อยสว่าง มีหน้าต่างเล็กๆทางเข้าในโบสถ์วิหารสามด้าน คือตอนหน้ากับสองข้าง ฝาอิฐฉาบปูนก็มี ที่เอาอิฐก่อซ้อนๆกันไม่ได้ฉาบปูนก็มี บางแห่งเป็นฝาไม้กระดาน สร้างไม่สู้ใหญ่โตนัก ภายในจะเห็นแท่นพระและพระพุทธรูปก่อ พระพุทธรูปแกะสลัก ที่หล่อด้วยทองเหลืองมีบ้างไม่มากนัก

ภาพบน พระธาตุจอมทอง (จ๋อมตอง) ม่อนจอมทอง เวียงผาคราง ในปัจจุบัน แต่เดิมวัดนี้จะมีกลองที่ต้องตีในวันพระให้ อาระวะกะโสดา ผีเมืองเชียงรุ่งซึ่งเป็นยักษ์ ได้ยิน คนไทลื้อเชื่อว่าหากไม่ตีให้ยักษ์ได้ยินภายในสามเดือน ยักษ์จะออกมากินคน

ภาพล่าง พระธาตุจอมหมอก (จ๋อมหมอก) ม่อนจอมหมอก เวียงผาคราง ในปัจจุบัน บรรจุกระดูกส่วนพระเศียรของพระพุทธเจ้า





คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 ม.ค. 19, 23:28

ม่อนจ้างเผือก หรือเนินช้างเผือก ตั้งอยู่สูงกว่าระดับม่อนวัดใจ(ชัย) พื้นที่ข้างบนกว้างกว่า มีวัดเรียกว่าวัดช้างเผือก หรือเรียก "วัดจ้างเผิก" ตามภาษาไทยลื้อ มีนิยายปรัมปราของเชียงรุ่งเล่าถึงประวัติของวัดนี้ว่า

พระเจ้าแผ่นดินเชียงรุ่ง(ไม่ทราบนามว่าองค์ไหน)เสด็จไปประพาสตลาดในเมือง ไปประสบหญิงสาวร่างโสภานางหนึ่งก็พอพระทัย นำเอานางนั้นมาทำพิธีอภิเสกสมรสเป็นมเหสี แท้ที่จริงนางไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาสามัญ หากแต่เป็นนางพญานาคจำแลงกายมาเที่ยวเล่น เกิดพึงใจในพระเจ้าแผ่นดินจนนางมีครรภ์ วันหนึ่งให้รู้สึกร้อนกายไม่สบายใจ ใช้ให้คนไปตักน้ำมาอาบก็หาพออาบให้เย็นชุ่มชื่นกายไม่ จึงขออนุญาตพระเจ้าแผ่นดินลงไปอาบน้ำในแม่น้ำโขง พระเจ้าแผ่นดินอนุญาตและให้คนติดตามไปส่ง ครั้นลงอาบน้ำ ณ สบน้ำฮ้าปองของ(ปากน้ำฮ้าตอนบรรจบแม่น้ำโขง)ก็แหวกว่ายน้ำเพลิดเพลินจนลืมตนกลายร่างเป็นนางพญานาค ผู้ติดตามไปส่งเห็นนางเจ้ามเหสีของพระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นนาคไปเช่นนั้นก็ตกใจ วิ่งมาแจ้งให้ชาวบ้านและพระเจ้าแผ่นดินทราบ เมื่อนางรู้สึกตัว เห็นมีชาวบ้านมุงดูอยู่เช่นนั้นก็ละอายใจ ไม่กล้ากลับคืนมาหาพระเจ้าแผ่นดินดังเดิม จึงดำน้ำหนีกลับไปเมืองพญานาคของตน ต่อมาได้บังเกิดโอรส ตั้งนามว่า "เจ้าบุญปั๋น" (ปั๋น แปลว่าให้)

ครั้นเจ้าบุญปั๋นเติบโตขึ้นมาจึงไต่ถามหาพระราชบิดา นางเหลือที่จะปกปิดความลับไว้ได้ก็เล่าความหลังให้ฟัง เจ้าบุญปั๋นรบเร้าขอไปหาพระบิดายังเมืองมนุษย์ พญานาคผู้เป็นตามอบช้างเผือกรูปร่างงามมีฤทธิ์และกำลังมากให้เจ้าบุญปั๋นขี่มาหนึ่งตัว เจ้าจึงขอเอาม้าแม่ลูกหนึ่งคู่ แมวสองแม่ลูกหนึ่งคู่ หญิงแม่ลูกขนาดและดูวัยเท่ากัน ไม้แก่นจันทน์หนึ่งท่อน เพื่อนำมาไต่ถามปัญหากับบิดา ครั้นแล้วก็ขี่ช้างเผือกนำมาออกที่ฮูลม(รูลม) เข้าเขตแคว้นสิบสองปันนามาถึงเมืองเชียงรุ้ง ท้าทายให้พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นพระราชบิดาของตนนั้นทายปัญหาปริศนาสี่ข้อ ความว่า ข้อ๑ ม้าสองตัวนี้ ตัวไหนเป็นแม่ ตัวไหนเป็นลูก ข้อ๒ แมวสองตัว ตัวไหนเป็นแม่ ตัวไหนลูก ข้อ๓ หญิงสองคน คนไหนเป็นแม่ คนไหนเป็นลูก ข้อ๔ ไม้จันทน์ ตรงไหนเป็นเก๊า(ต้น) ตรงไหนเป็นปลาย ถ้าแก้ได้ก็จะนับถือเป็นพระราชบิดาและยกสิ่งเหล่านี้ให้

พระเจ้าแผ่นดินให้เรียกประชุมเสนาอำมาตย์ป่าวร้องชาวเมืองให้แก้ปัญหาปริศนา ก็หาผู้จะแก้ปริศนาปัญหาให้ครบทั้งหมดหาได้ไม่ พระเจ้าแผ่นดินจึงนัดประขุมพระสงฆ์เจ้าวัดต่างๆอยู่หลายวันก็หาสมประสงค์ไม่ มีเณรน้อยรูปหนึ่งประจำวัดอยู่นอกเมือง เห็นเจ้าอาวาสกลับมาจากการประชุมก็ไต่ถามว่าประชุมกันด้วยเรื่องอะไร เจ้าอาวาสวัดเล่าให้ฟัง สามเณรน้อยรูปบอกว่าตนสามารถแก้ปัญหาปริศนานั้นได้ เจ้าอาวาสจึงนำสามเณรน้อยรูปนั้นไปแก้ปริศนาปัญหากับเจ้าบุญปั๋น ในที่สุดก็แก้ได้ทุกข้อ คือ ข้อ๑ให้เอาน้ำมาให้ม้าทั้งสองกินตัวไหนกินน้ำก่อนตัวนั้นเป็นแม่ เพราะแม่อายุมากไม่กลัวน้ำ ข้อ๒เอาเชือกมัดปลายไม้มาแกว่งหยอกล้อแมว ตัวไหนเล่นนานตัวนั้นเป็นลูก เพราะแม่เล่นประเดี๋ยวเดียวก็เลิกเล่น ข้อ๓ให้ยกสำรับกับข้าวมาให้หญิงทั้งสอง ผู้ใดรับประทานก่อนผู้นั้นเป็นแม่ ข้อ๔ให้เอาโอ่งน้ำมาตั้งแล้วหย่อนไม้แก่นจันทน์ลงไป ทางไหนจมน้ำมากเป็นต้น ทาไหนอยู่บนเป็นปลาย

เจ้าบุญปั๋นจึงแจ้งให้พระเจ้าแผ่นดินทราบว่าตนเป็นโอรสซึ่งเกิดจากนางพญานาค พระเจ้าแผ่นดินก็ตรงเข้าสวมกอดโอรสด้วยความปีติยินดี ต่อมาไม่นานเจ้าบุญปั๋นก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนพระราชบิดา เอาสามเณรน้อยรูปนั้นเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เอาเจ้าอาวาสซึ่งลาสิกขาแล้วมาเป็นคนสนาม เดิมเชียงรุ้งไม่มีแมว มีหนูชุกชุม นับจากนั้นมาก็ได้แพร่พันธุ์แมวแพร่หลายไว้กัดหนู

ความได้ทราบไปถึงพระเจ้าแผ่นดินเมืองว้อง(จีน)ว่าสิบสองปันนามีช้างเผือกรูปร่างงามดี จึงใช้ให้คนถือสาส์นมาขอนำเอาช้างเผือกที่ประทับขึ้นไปยังเมืองว้อง ระหว่างทางช้างเผือกได้ดำดินหลบหนีมาออกที่กว๊านพุดกว๊านแพ่ ("กว๊าน" หมายถึงน้ำวนใหญ่,"พุด" ตรงกับภาษาไทยเราว่า ผุด, "แพ่" แปลว่าร้อง) แล้วขึ้นตลิ่งเดินมาถึงบริเวณบ้านหนองตุ๋มปัจจุบัน ยังไม่ทันไปถึงวังที่ประทับพระเจ้าแผ่นดินเลยมาสิ้นใจตาย ณ ที่นั้น ตัวหนอนมารุมกินช้างเผือกที่ตาย ต่อมามีชาวลื้อมาตั้งบ้านเรือนอยู่มากจึงเรียกว่าบ้านหนอนตุ๋ม (ตุ๋ม แปลว่า รุม) นานเข้าเพี้ยนเปลี่ยนไปเป็นบ้านหนองตุ๋ม ความจริงไม่มีหนองอยู่บริเวณนี้เลย

ช้างเผือกที่ตายลงนั้น ชาวเชียงรุ่งนับถือว่าเป็นเทวดาประจำเมืององค์หนึ่ง เพราะช้างตัวนี้มีฤทธิ์เดชผิดกับช้างธรรมดา สามารถดำน้ำดำดินและสู้รบข้าศึกได้เป็นอย่างดี พระเจ้าแผ่นดินรู้สึกอาลัยและระลึกถึงบุญคุณแต่หนหลัง จึงสร้างวัดเป็นอนุสรณ์และทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ เรียกวัดจ้างเผิก หรือวัดช้างเผือก ตั้งอยู่บนเนินเขาติดกับบ้านหนองตุ๋ม บนเนินไม่มีบ้านเรือน เป็นที่โล่งเตียนไม่มีต้นไม้ รูปร่างวัดแบบเดียวกันกับวัดใจ(ชัย) คือมุงกระเบื้องดิน ซึ่งชาวไทยลื้อเรียกว่า "ดินขอ" มีโบสถ์วิหาร พระภิกษุสงฆ์ประจำประมาณ๑๐-๒๐ เวลามีงานประเพณีทุกปีผู้คนทั่วเมืองเชียงรุ่งจะเดินทางมาร่วมกันทำบุญกันอย่างคับคั่ง งานทางศาสนาของวัดนับว่าใหญ่โตมโหฬาร คือระหว่างฤดูฝนหนหนึ่งกับฤดูหนาวหนหนึ่ง

ภาพ วัดแห่งหนึ่งใน เมืองเชียงเหนือ สิบสองปันนา ค.ศ.1899 (ไม่พบภาพถ่ายของวัดช้างเผือก)


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ม.ค. 19, 23:48

บ้านโขงจ้าง(โขงช้าง) อยู่ติดกับลำแม่น้ำโขง มีประมาณ๓๐หลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งโรงช้างของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ตลอดมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล และมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยเดียวกันนั้น ช้างเผือกได้ขึ้นจากน้ำมาเดินวนไปวนมาแล้วไปตาย ณ หนองตุ๋ม ปัจจุบันนี้คนรักษาช้างและช้างของพระเจ้าแผ่นดินยังอยู่ที่นั่น คนรักษาช้างเรียกว่า "เจ้าหลงจ้าง" หรือเจ้าหลวงช้าง

ใต้เนินม่อนกลางเจ่งซึ่งวังกษัตริย์ตั้งอยู่ลงมาสักเล็กน้อยก็จะพบตลาดใหญ่ อันเป็นศูนย์กลางการค้าขายของบรรดาชาวไทยลื้อในเมืองเชียงรุ้ง เรียกว่า "กาดเจ้าฟ้า" หรือกาดหลง (หลง แปลว่าหลวง) ชาวจีนเรียก "เทียนหวังเจ" (天王市) (เทียนหวัง แปลว่าเจ้าฟ้า,เจ แปลว่าตลาด) มีร้านค้าขายของสารพัดอย่างมากมาย ตลอดจนแผงไม้สำหรับวางหาบของขาย

จากวังพระเจ้าแผ่นดินและกาดหลวงเดินทางไปตามถนนซึ่งลงหิน ข้ามแม่น้ำฮ้าไปทางเหนือน้ำแล้วก็จะถึงกาดร้าน(ตลาดร้าน) ที่ว่าการอำเภอของฝ่ายจีนฮ่อ โบสถ์แห่งศาสนาคริสเตียน โรงพยาบาล เป็นระยะทางประมาณ๓-๔กิโลเมตร

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ : ไทยสิบสองปันนา เล่ม๑: พ.ศ.๒๔๙๗

ภาพ บรรยากาศของกาดเมืองฮาย


บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 ม.ค. 19, 00:00

"...ม่อนวัดหลวง เป็นวัดสำคัญ สร้างอย่างงดงาม บนหลังคาได้ใช้ไม้แกะสลักไม่ต่างกับวังพระเจ้าแผ่นดิน นับถือว่าเป็นวัดใหญ่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปทำบุญในวันพิธีเข้าพรรษาทุกปี..."

ภาพบน วัดหลวง ม่อนวัดหลวง เวียงผาคราง ปัจจุบันถูกทำลายแล้ว

ภาพล่าง ภาพวาดวัดหลวง ม่อนวัดหลวง เวียงผาคราง จากหนังสือ The Dai







คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ


บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 ม.ค. 19, 00:03

ภาพ หอสนาม เวียงผาคราง หอสนาม คือที่สำหรับประชุมปรึกษาเหล่าขุนนางเหนือสนาม คล้ายกับศาลาลูกขุนของไทย


บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 ม.ค. 19, 00:14

ภาพบน หอใต้ เป็นที่ประทับของเจ้าหม่อมมณีคำ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์ (เจ้าหม่อมคำลือ)

ภาพล่าง เจ้าหม่อมมณีคำ เจ้าเมืองฮำ และผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์สิบสองปันนา(เจ้าหม่อมคำลือ) เป็นโอรสของเจ้าหม่อมคำลือ(เจ้าหม่อมคำลือเฒ่า)กษัตริย์สิบสองปันนาองค์ที่42 ฉายภาพขณะอพยพมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่ออายุประมาณ50ปี





คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 ม.ค. 19, 20:26

ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย  ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ค่ะ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 ม.ค. 19, 20:42

หอหลวงที่เจ้าแผ่นดินสำราญ ใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนชั่วคราว



บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 ม.ค. 19, 21:51

แผนที่เวียงผาครางในปัจจุบัน หลังจากเวียงผาครางถูกเผาทำลายในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ภายหลังรัฐบาลจีนได้เปลี่ยนพื้นที่เป็น Sipsongpanna Monkey Mountain
(西雙版納猴山) คือสวนเลี้ยงลิง การเดินทางไปต้องขึ้นกระเช้าข้ามแม่น้ำของ(แม่น้ำโขง)



บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 ม.ค. 19, 22:08

ปัจจุบันนอกจากพระธาตุจอมทอง พระธาตุจอมหมอกแล้ว ก็ยังเหลือตีนเสาหินที่รองเสาไม้ของหอคำจำนวนมาก

ภาพจากเพจ ไทลื้อ/ ไตลื้อ Tai Lue



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 ม.ค. 19, 11:44

ขอแก้ไขข้อมูลนะครับ หอใต้ เป็นที่ประทับของเจ้าหม่อมแสงเมือง อนุชาของเจ้าหม่อมสุวรรณผาคราง และเป็นบิดาของเจ้าหม่อมคำลือ กษัตริย์องค์สุดท้ายของสิบสองปันนาครับ ไม่ใช่เจ้าหม่อมมณีคำ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 20 คำสั่ง